fbpx
แฟ้มคดี ‘บิลลี่’ ชาวกะเหรี่ยง ผู้เรียกร้องสิทธิในการกลับบ้าน ‘ใจแผ่นดิน’

แฟ้มคดี ‘บิลลี่’ ชาวกะเหรี่ยง ผู้เรียกร้องสิทธิในการกลับบ้าน ‘ใจแผ่นดิน’

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เรื่อง

 

ช่วงราวๆ 3-4 ทุ่มของคืนวันที่ 2 กันยายน 2562 ผมใช้โทรศัพท์โทรหาบุคคลหลายคนที่เคยประสานข้อมูลกันมาตลอดในระหว่างที่เคยทำงานเรื่องการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ทั้งทีมทนายความ เพื่อนนักข่าวผู้ลึกลับ และเจ้าหน้าที่รัฐ หลังได้รับข้อมูลมาว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะแถลงข่าวสำคัญเกี่ยวกับการหายตัวไปเมื่อกว่า 5 ปีก่อนของชายชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่ง

‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ หลานชายแท้ๆ ของ ‘ปู่คออี้’

ข้อมูลที่ได้จากโทรศัพท์หลายสายในคืนนั้นปลุกเร้าหัวใจของผมให้เต้นไม่หยุด ภาพของ ‘สะพานแขวน’ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เราได้เห็นมาริโอ้ เมาเร่อ และ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก นั่งคู่กันในภาพยนตร์ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก ถูกส่งต่อมาทางไลน์ เป็นพิกัดสำคัญที่กำลังจะมีคำยืนยันในอีกไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นว่า ‘พบส่วนหนึ่งของบิลลี่อยู่ที่นั่น’

 

 

เพื่อให้เรื่องนี้ไม่ถูกบิดเบือนไปด้วยความรู้สึกใดๆ ของผมเอง สารภาพก่อนว่าผมไม่ได้สนิทสนม ไม่เคยพูดคุยอะไรมากนักกับชายหนุ่มชาวกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจานคนนี้ เพียงแค่พูดคุยกันบ้างในช่วงที่เขาพาปู่คออี้ลงมาจากบ้านบางกลอยล่าง และเขาเสนอตัวเข้ามาเป็นคนช่วยเก็บภาพและเก็บข้อมูลสำคัญต่างๆ อยู่เบื้องหลัง

ยิ่งจากความรู้สึกของผมเองที่ดำดิ่งอย่างหนักจากการตายของ อ.ป๊อด-ทัศน์กมล โอบอ้อม เจ้าของฉายา บุตรชายของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน แหล่งข่าวคนสำคัญที่ถูกยิงตาย ก็ทำให้บาดแผลในใจของผมใหญ่เกินไป จนไม่อนุญาตให้ผมเดินหน้าติดตามเรื่องนี้ต่อไปในฐานะแนวหน้าอีกแล้ว เพียงเป็นผู้ติดตามข้อมูลและคอยสอบถามอยู่เรื่อยๆ เท่านั้น

และบิลลี่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นหลังการจากไปของ อ.ป๊อด เขาอาสามาช่วยงานในฐานะ ‘ผู้ช่วยทนายความ’

 

เมื่อไม่มี อ.ป๊อด ทำให้บิลลี่ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงที่รู้ภาษาไทย กลายมาเป็นผู้ที่แสดงความกล้าหาญกว่าใครในฐานะ ‘หลานชายแท้ๆ ของปู่คออี้’ เขารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ ขึ้นไปเก็บข้อมูลสำคัญจำนวนมากที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน ทั้งหลักฐานจากจุดที่ถูกเผาทำลาย และหลักฐานความเป็นชุมชนดั้งเดิม

“ในย่ามประจำกายของบิลลี่ที่เขานำติดตัวไปด้วยทุกที่จึงเต็มไปด้วยหลักฐาน ทั้งไฟล์ภาพถ่ายและเอกสารสำคัญ ซึ่งแม้แต่ทีมงานที่ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด ก็ยากที่จะบอกได้ว่าในย่ามของบิลลี่มีหลักฐานสำคัญอะไรบ้า ที่หายไปพร้อมกับบิลลี่”

 

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งที่บิลลี่และทีมงานขึ้นไปเก็บภาพที่ใจแผ่นดิน 

 

ในหน้าสื่อ บิลลี่เป็นล่ามให้ปู่คออี้ คำพูดของเขาในการพิจารณาคดีจึงเป็นคำพูดในนามของปู่คออี้ และเป็นตัวแทนพี่น้องชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ส่งคำร้องไปยังศาลปกครองในฐานะผู้เสียหายที่ถูกขับไล่ด้วยวิธีการรุนแรง เผาบ้านเรือน ถูกตั้งข้อหาต่างๆ นานา พร้อมทั้งยืนยันความเป็น ‘คน’ ที่มีสิทธิอย่างสมบูรณ์แบบที่จะอยู่ในบ้านเก่าที่ถูกขับไล่ลงมาทั้งที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ในฐานะ ‘เจ้าของบ้าน” ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่ ‘ป่า’ จะถูกเรียกขานโดยการตีตารางในแผนที่ของรัฐว่า ‘อุทยานแห่งชาติ’ ซึ่งครอบคลุม ‘บ้าน’ ของพวกเขาไปด้วย

น่าเสียดายที่บิลลี่ไม่ได้อยู่ในวันที่ผลงานของเขาออกดอกออกผล 12 มิถุนายน 2561 วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยว่า การขับไล่ด้วยวิธีการรุนแรง เผาบ้าน ทำลายสิ่งของโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน เป็นการกระทำโดยมิชอบ ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ต้องชดใช้ให้ชาวกะเหรี่ยง พร้อมรับรองว่าใจแผ่นดินเป็นชุมชนดั้งเดิม มีมานานก่อนจะมีอุทยาน

 

 บทบาทของบิลลี่ในระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย 

 

ก่อนจะไปพลิกแฟ้มคดีของบิลลี่ บริบทที่สำคัญคือคำแถลงของ DSI ในวันที่ 3 กันยายน 2562 ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในวันนั้น ถูกโต้แย้งจากอัยการ

DSI แถลงยืนยันว่า ‘บิลลี่ตายแล้ว’ และ ‘ถูกทำให้ตาย’ ซึ่งหมายความว่า สถานภาพของคดีจะเปลี่ยนจากคดีคนหายไปเป็นคดีฆาตกรรม

‘ชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ส่วนด้านใน ค่อนไปทางท้ายทอยจนถึงข้างหู’ คือชิ้นส่วนสำคัญที่ DSI ใช้เป็นวัตถุพยานยืนยันว่า ‘บิลลี่’ เสียชีวิตแล้ว ด้วยข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า ‘ถ้าชิ้นส่วนนี้ไม่อยู่ในร่างกาย คนผู้นั้นจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้’

 

ชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่

 

ส่วนข้อมูลที่ยืนยันว่าชิ้นส่วนนี้เป็นของบิลลี่ ถูกเปิดเผยโดย นพ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งใช้การตรวจด้วยวิธีไมโตรคอนเดรียดีเอ็นเอ วิธีตรวจสารพันธุกรรมที่เป็นความสัมพันธ์จากแม่สู่ลูกที่ใช้ในงานโบราณคดี ผลตรวจชี้ว่าชิ้นส่วนกะโหลกชิ้นนี้มีสารพันธุกรรมที่สัมพันธ์โดยตรงสืบทอดมาจาก ‘แม่ของบิลลี่’ ในขณะที่พี่น้องคนอื่นของบิลลี่ที่มีแม่คนเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ทุกคน จึงสรุปได้ว่าเป็นชิ้นส่วนกะโหลกของบิลลี่

 

วิธีตรวจสารพันธุกรรมแบบไมโตรคอนเดรียดีเอ็นเอ 

 

จากคำแถลงของ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดี DSI ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นอธิบดี DSI) ชี้ว่าจุดที่พบชิ้นส่วนนี้อยู่บริเวณใต้สะพานแขวน แหล่งท่องเที่ยวชมวิวในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งยังพบถังขนาด 200 ลิตร 1 ถังถูกเจาะรู พบเหล็กเส้น 2 ชิ้น พบชิ้นส่วนไม้ และพบชิ้นส่วนกระดูกอยู่ใต้ถัง วัตถุทั้งหมดมีรอยถูกเผาไหม้ ตรวจภายหลังพบว่าวัตถุทุกชิ้นผ่านความร้อนมากกว่า 200-300 องศาเซลเซียส

ผ่านไปอีกเกือบ 3 เดือน DSI ลงพื้นที่เก็บพยานหลักฐานเพิ่มเติมจำนวนมาก จึงมีความเห็นส่งฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 4 คน ในข้อหาฆาตกรรมบิลลี่

แต่ในชั้นอัยการคดีพิเศษมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยอัยการมีความเห็นแย้งต่อ ‘วัตถุพยานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์’ พร้อมระบุว่าการตรวจยืนยันชิ้นส่วนกระดูกด้วยวิธีไมโตรคอนเดรียดีเอ็นเอยังไม่สามารถเชื่อถือได้

มาถึงวันนี้ ทุกคนที่ถูกกล่าวหาจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม

 

 วัตถุพยาน 

 

เพื่อให้ภาพทั้งหมดกระจ่างชัด เราจะย้อนกลับไปในวันที่ 17 เมษายน 2557 วันสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นบิลลี่

และเพื่อให้การย้อนเวลาในบทความชิ้นนี้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เราจะไม่ย้อนผ่านความทรงจำของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราจะย้อนเวลาผ่าน ‘สำนวนการสืบสวนสอบสวน’ ของตำรวจ

การแถลงด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ของ DSI ทำให้ผมตัดสินใจได้ทันทีว่าจะกลับมาติดตามเรื่องราวของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานอีกครั้ง จริงๆ แล้วบาดแผลที่เคยฝังลึกก็ยังไม่ได้หายไปไหน แต่เวลาหลายปีที่เติบโตขึ้น อาจช่วยให้ผมมีภูมิต้านทานมากขึ้น

จากประสบการณ์ที่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกและผ่านการสูญเสียมาแล้ว ทำให้ผมเข้าใจไปเองไว้ก่อนว่า นี่เป็นเรื่องที่อ่อนไหว อันตราย และต้องต่อสู้กับอำนาจบางอย่างที่ทำให้คนผู้หนึ่งหายไปอย่างเงียบงันได้ถึง 5 ปี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทีมสืบสวนของ DSI จะพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาด้วยเสียงของเจ้าหน้าที่ DSI เอง เพราะอาจส่งผลต่อการทำงานในพื้นที่ของพวกเขา แต่การย้อนเหตุการณ์กลับไป ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องบอกกล่าวต่อสังคมให้เข้าใจที่มาที่ไปของเรื่อง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

 

พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 

 

ผมอาศัยจังหวะที่ DSI ลงพื้นที่ กลับไปที่แก่งกระจานอีกครั้งในรอบหลายปี และยกหูโทรศัพท์ไปหามิตรสหายเก่าที่เคยติดตามเรื่องนี้มาด้วยกัน เพื่อขอช่องทางติดต่อกับคนผู้หนึ่งคือ ‘เจ้าของสำนวนคดีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับบิลลี่’  โดยใช้การการันตีจากสหายเก่าเป็นใบผ่านทาง

บ่ายวันหนึ่งในเดือนกันยายน ปี 2562 ผมออกจากแก่งกระจานไปที่บ้านของอดีตรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 ชื่อ พ.ต.อ.ไตรวิช น้ำทองไทย ผู้รับผิดชอบในการหาคำตอบว่า ‘บิลลี่ถูกปล่อยตัวไปแล้วจริงหรือไม่’

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า พ.ต.อ.ไตรวิช ไม่ใช่ตำรวจคนแรกที่เข้าไปสืบสวนหาตัวบิลลี่ เขาไม่ได้ทำคดีการหายตัวไปของบิลลี่ในช่วงแรก แต่คดีในช่วงแรกมีความคืบหน้าไปช้ามาก ไม่พบหลักฐานว่าบิลลี่หายไปไหน มีเพียงข้อมูลที่ระบุว่า

“บิลลี่ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายระหว่างถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้ เพราะครอบครองน้ำผึ้งป่า 3 ขวด และเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเพียงแค่ตักเตือน พร้อมปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว เพราะเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย”

หลังจากนั้น ก็ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย นั่นทำให้สำนวนแรกของคดียังไม่เป็นที่สิ้นสงสัย คดีนี้จึงถูกส่งมาให้ พ.ต.อ.ไตรวิชไปหาคำตอบเพิ่มว่า ‘บิลลี่ถูกปล่อยตัวแล้วจริงหรือไม่’

ภาพสำคัญหลายภาพในคดีนี้ถูกนำมาวางกองอยู่ข้างหน้าผม “เอาไปได้เลย แต่เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟัง” พ.ต.อ.ไตรวิช ซึ่งในปี 2562 เกษียนราชการไปแล้ว ยินดีที่จะเปิดเผยเรื่องในสำนวนทั้งหมดกับผม

ตามบันทึกในสำนวนของ พ.ต.อ.ไตรวิช จุดที่สิ้นสงสัยว่ามีผู้พบเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้ายคือ ‘ด่านตรวจเขามะเร็ว’ จุดนี้เป็นทางหลักที่จะขึ้นไปยังบ้านโป่งลึก-บางกลอย หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกกันว่า ‘บางกลอยล่าง’ ซึ่งในวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ถูกควบคุมตัวไว้ที่นี่ โดยมีผู้ที่ให้การว่าพบเห็นเขารวม 8 คน

ใน 8 คนนี้ เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 5 คน รวมถึงนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ในเวลานั้น นักศึกษาฝึกงานที่อุทยาน 2 คน และมีชาวกะเหรี่ยง 1 คนที่ขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา

ในสำนวนระบุคำให้การว่า “ในช่วงเวลาก่อน 16.00 น. วิทยุสื่อสารของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ประจำด่านเขามะเร็วได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้พร้อมน้ำผึ้งป่าจำนวนหนึ่ง ระหว่างบิลลี่ลงมาจากบางกลอยล่าง จากนั้นจึงมีรถของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 1 คันเข้ามาที่ด่าน ในรถมีทั้งหมด 6 คน คือ หัวหน้าอุทยานฯ เจ้าหน้าที่อีก 3 คน และนักศึกษาฝึกงาน 2 คน”

ระหว่างทางมาที่ด่านเขามะเร็ว มีกล้องวงจรปิดของเอกชน 1 ตัว เรียกว่า ‘จุดพุไทร’ จับภาพไว้ได้ ระบุเวลาที่รถคันนี้ผ่านเข้ามา คือ 16.02 น. และลักษณะของรถคันนั้น คือรถที่หัวหน้าอุทยานฯ เป็นผู้ใช้งาน เพราะมีสีของโครงเหล็กที่ท้ายกระบะแตกต่างจากรถคันอื่นของอุทยานฯ

 

กล้องจุดพุไทร ขาเข้า 

 

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยอมรับว่า ระหว่างนั้นได้ควบคุมตัวบิลลี่ขึ้นไปในรถ “พร้อมนำรถจักรยานยนต์ที่บิลลี่ขับมาขึ้นไว้ที่ท้ายกระบะ” เท่ากับว่า ในเบาะที่นั่งด้านหน้ารถจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ 3 คน และบิลลี่ ส่วนเจ้าหน้าที่อีก 1 คน ย้ายไปนั่งข้างหลังกับรถจักรยานยนต์ จากนี้ไปเราจะเรียกรถคันนี้ว่า ‘คันที่ 1’

ส่วนนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ถูกบอกให้ย้ายไปนั่งรถ ‘คันที่ 2’ ซึ่งก็คือ รถของเจ้าหน้าที่ประจำด่านเขามะเร็ว

กล้องตัวเดิมที่ ‘จุดพุไทร’ จับภาพรถคันที่ 1 กลับออกมาจากด่านเขามะเร็ว ในเวลา 16.17 น. ส่วนรถคันที่ 2 วิ่งผ่านกล้องในเวลา 16.20 น. ใช้เวลาห่างกัน 3 นาที นี่เป็นตัวเลขที่มีความสำคัญอย่างมาก

 

กล้องจุดพุไทร ขาออก (สังเกตเวลาในกล้อง) 

 

อย่างที่บอกไปแล้ว ในสำนวนเดิมระบุไว้ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้การยืนยัน “ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว” พ.ต.อ.ไตรวิชจึงขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ คนหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยชื่อ) ไประบุจุดที่ปล่อยตัว

 

 แผนที่ รถอุทยานฯ ออกจากเขามะเร็วไปแยกหนองมะค่า

 

จากแผนที่จะเห็นว่า เมื่อออกจากด่านเขามะเร็ว ผ่านกล้องที่จุดพุไทร จะไปถึงแยกที่เรียกว่า ‘หนองมะค่า’ ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯให้การกับ พ.ต.อ.ไตรวิช ในครั้งแรกว่า จุดที่ปล่อยตัวบิลลี่อยู่ก่อนถึงแยกหนองมะค่าประมาณ 20 เมตร ซึ่งต่างจากคำให้การในเอกสารก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ คนเดียวกันระบุพิกัด GPS ว่าจุดที่ปล่อยตัวบิลลี่ อยู่ก่อนถึงแยกหนองมะค่า 400 เมตร

“พอเขาระบุว่า ปล่อยบิลลี่ก่อนถึงแยกหนองมะค่า 20 เมตร ผมก็ลงไปดู ปรากฏว่า ตรงนั้นมีร้านค้าอยู่ทางขวามือ ผมก็ไปสอบถามร้านค้า ว่าเคยเห็นรถอุทยานฯ มาจอดปล่อยตัวบิลลี่ที่ตรงนี้ไหม ทางร้านค้าก็ยืนยันว่าไม่เคยเห็น พอเราไปบอกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ให้การว่า ร้านค้าไม่เคยเห็นการปล่อยตัวตามที่คุณบอกนะ เขาก็เลยกลับคำให้การ ไปยืนยันตามเอกสารแทน บอกว่าปล่อยตัวบิลลี่ห่างจากแยกหนองมะค่า 400 เมตร ซึ่งตรงนั้นสองข้างทางเป็นป่า ไม่มีบ้านคน จึงไม่มีพยานอื่นให้สอบถามได้อีก” พ.ต.อ.ไตรวิช เล่าถึงเหตุการณ์ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน

สรุปว่า เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยืนยันว่าจุดที่ปล่อยตัวบิลลี่อยู่ก่อนถึงแยกหนองมะค่า 400 เมตร

 

มาต่อกันที่ ‘พยานนักศึกษาฝึกงาน 2 คน’

ในสำนวนของ พ.ต.อ.ไตรวิช เดิมทีมีคำให้การของพยาน 2 คน ที่เป็นนักศึกษาฝึกงานของอุทยานฯ ซึ่ง ‘เคย’ ให้การว่า เป็นผู้พบเห็น ‘บิลลี่ที่ถูกปล่อยตัวแล้ว’ โดยในคำให้การระบุว่า “เห็นบิลลี่กำลังขับรถจักรยานยนต์เลยจากแยกหนองมะค่า เลี้ยวซ้ายขึ้นไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร”

ทวนกันอีกที นักศึกษาฝึกงาน 2 คนนี้ อยู่ในรถคันที่ 2 นั่งมากับ นาย ก. เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจเขามะเร็ว หมายความว่ามีคนที่อ้างว่าเห็นบิลลี่ขับรถจักรยานยนต์อยู่ 3 คน

ย้ำเรื่องเวลา รถคันที่ 1 ผ่านกล้องพุไทร 16.17 น. รถคันที่ 2 ผ่านกล้องตัวเดียวกัน 16.20 น. ใช้เวลาห่างกัน 3 นาที

จากคำให้การนี้ พ.ต.อ.ไตรวิช ให้พนักงานสอบสวนไปจำลองเหตุการณ์หลายครั้ง โดยหาความสัมพันธ์ของเวลา จากจุดที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นจุดปล่อยตัวบิลลี่ และสรุปได้ว่า

รถคันที่ 2 ที่พานักศึกษาฝึกงานมาด้วย ตามหลังรถคันที่ 1 ในเวลาที่ห่างกัน 3 นาที จึงควรจะมาเห็นบิลลี่ ระหว่างนำรถจักรยานยนต์ลงจากรถกระบะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรต้องใช้เวลามากกว่า 3 นาที สรุปได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไปเห็นบิลลี่ในจุดที่ห่างจากแยกหนองมะค่าไปอีก 3 กิโลเมตร

“3 นาทีนี้ มีความหมาย เราจำลองเหตุการณ์ สมมติปล่อยบิลลี่ที่จุดนั้น จะเจอบิลลี่ที่ไหน ถ้าปล่อยบิลลี่ที่แยกหนองมะค่า ต้องเจอที่นั่น ไม่มีทางเจอที่อื่น และจุดที่บอกว่าเจอห่างออกไปอีก 3 กิโลฯ ก็เป็นจุดที่ซ่อมถนน ผมเลยเรียกเจ้าหน้าที่ด่านเขามะเร็วมาถามใหม่ สุดท้ายเขาก็กลับคำให้การ บอกว่าไม่เห็นบิลลี่ถูกปล่อยตัว” หัวหน้าชุดสืบสวน ขยายความ

 

ส่วนคำให้การของนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ยังมีพิรุธข้ออื่นด้วย เพราะนักศึกษา 1 ใน 2 คน ไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน 2 สำนัก แต่คำให้สัมภาษณ์กลับไม่ตรงกัน ครั้งแรกที่ให้สัมภาษณ์ เขาบอกว่าเห็นบิลลี่ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมา แต่เมื่อให้สัมภาษณ์สื่ออีกสำนักหนึ่ง กลับบอกว่า รถคันที่ 2 ขับตามบิลลี่มา พนักงานสอบสวนจึงนำคลิปทั้ง 2 ครั้งมาให้นักศึกษาดูพร้อมผู้ปกครองและอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้ปกครองบอกให้นักศึกษาให้การใหม่ตามข้อเท็จจริง

นักศึกษาฝึกงานทั้ง 2 คน จึงกลับคำให้การเช่นกันว่า “ไม่ได้เห็นบิลลี่ที่ถูกปล่อยตัวแล้ว”

 

“เราให้เขาดูคลิปที่เขาสัมภาษณ์กับสื่อซึ่งเขาพูดไม่ตรงกัน ให้ผู้ปกครอง อาจารย์มาดูด้วย แล้วก็ให้เขาคุยกันเอง แล้วผู้ปกครองเขาก็บอกว่าให้ลูกให้การไปตามความจริง เขาก็เลยกลับคำให้การ รับว่าไม่เห็นบิลลี่” พ.ต.อ.ไตรวิช กล่าว

จากนั้น พ.ต.อ.ไตรวิช จึงไล่ภาพจากกล้องวงจรปิดทั้งหมด เปรียบเทียบกับคำให้การของเจ้าหน้าที่อุทยาน ที่อ้างว่า “ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว”

 

มีกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ตัว (ดูแผนที่ประกอบ) คือ 1.จุดพุไทร (เอ่ยถึงไปแล้ว) 2.จุดคุ้มนางพญา 3.จุดหนองปืนแตก 4.จุดร้านสมร

คำให้การของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยืนยันตรงกันว่า หลังปล่อยตัวบิลลี่ที่แยกหนองมะค่า รถคันที่ 1 มุ่งหน้าตรงไปที่บ้านไร่ชัยราชพฤกษ์ บ้านพักของนายชัยวัฒน์ทันที จากข้อมูลนี้ พ.ต.อ.ไตรวิช จึงขอให้ช่วยระบุเส้นทางที่ใช้ลงในแผนที่อีกแผ่นหนึ่ง ว่าใช้เส้นทางไหนในการกลับไปที่นั่น โดยในแผนที่แผ่นนั้นไม่ได้ระบุถึงจุดที่มีกล้องวงจรปิด

และเมื่อได้เส้นทางที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อ้างว่าใช้เป็นเส้นทางกลับไปที่บ้านไร่ชัยราชพฤกษ์ทันทีหลังจากปล่อยตัวบิลลี่ หากเป็นเช่นนั้น รถคันที่ 1 จะต้องขับผ่านกล้องที่ 3 คือ จุดหนองปืนแตก แต่เมื่อไปไล่ดูภาพที่บันทึกไว้ในวันที่ 17 เมษายน 2557 ตั้งแต่ 16.00 น. ไปจนถึงค่ำ ก็ไม่พบว่ามีรถคันที่ 1 วิ่งผ่าน

 

 แผนที่จำลองเส้นทาง ถ้ารถอุทยานฯ กลับไปบ้านไร่ชัยราชพฤกษ์ตามคำให้การ ต้องผ่านกล้อง ‘หนองปืนแตก’

 

จุดที่น่าสนใจคือตำรวจไปพบว่ามีรถของอุทยานฯ วิ่งผ่านกล้องตัวที่ 2 คือ จุดคุ้มนางพญา ในเวลา 16.43 น. ซึ่งเป็นคนละทิศ คนละเส้นทางกับทางไปบ้านไร่ชัยราชพฤกษ์ แต่เป็นทางวิ่งขึ้นสู่เขาพะเนินทุ่ง และรถคันนี้มีลักษณะเฉพาะคือสีของโครงเหล็กท้ายกระบะคล้ายกับรถคันที่ควบคุมตัวบิลลี่ออกมา

 

กล้องจุดที่ 2 ยังสามารถจับภาพรถของอุทยานฯ วิ่งกลับลงมาในเวลา 19.50 น.

 

 กล้องจุดคุ้มนางพญา รถอุทยานฯ ผ่านกล้องไปทางเขาพะเนินทุ่ง 16.43 น. 

 

 ลักษณะเฉพาะของรถอุทยานฯ มีโครงเหล็กด้านหลังสีเงิน ต่างจากคันอื่น 

 

 กล้องจุดคุ้มนางพญา รถอุทยานฯ ผ่านกล้องกลับจากเส้นทางเขาพะเนินทุ่ง 19.50 น. 

 

 แผนที่จำลองเส้นทาง รถอุทยานวิ่งผ่านกล้องคุ้มนางพญา เวลา 16.43 น. วันที่ 17 เมษายน 2557

 

ส่วนกล้องตัวที่ 4 จุดร้านสมร เป็นกล้องที่ไม่สามารถจับภาพใดๆ ได้เลย แต่ถูกนำมาใช้ประกอบในสำนวน โดย พ.ต.อ.ไตรวิช ระบุว่า หากบิลลี่ถูกปล่อยตัวและขับรถจักรยานยนต์ไปตามคำให้การจริง ควรจะต้องผ่านกล้องตัวนี้ แต่ไม่พบภาพของบิลลี่ หรือหากบิลลี่จะกลับไปที่บางกลอยล่าง ก็ต้องผ่านกล้องตัวที่ 1 จุดพุไทร แต่ก็ไม่พบภาพบิลลี่เช่นกัน

จากสำนวนนี้ ทำให้ พ.ต.อ.ไตรวิช สรุปสำนวนคดีส่งไปว่า “ไม่พบว่าบิลลี่ถูกปล่อยตัว”

 

ย้ำแรงๆ ว่า นี่เป็นเพียงสำนวนที่หาคำตอบว่า ‘บิลลี่ถูกปล่อยตัวจริงหรือไม่’ ไม่ได้ระบุมากไปกว่านี้ ไม่ได้ระบุว่าบิลลี่หายไปไหน หายไปกับใคร ดังนั้นจึงเป็นเพียงหนึ่งในข้อมูลประกอบการสืบสวนสอบสวน ที่ถูกนำไปประกอบกับหลักฐานอื่นๆ อีกหลายชิ้น ซึ่งหลักฐานส่วนอื่น ผมเองก็ไม่มีข้อมูลเช่นกัน

 

รู้เพียงแต่ว่า จนถึงขณะนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2564) พนักสอบสวนทั้งของตำรวจและ DSI ก็ยังไม่พบรถจักรยานยนต์ของบิลลี่ รวมทั้งสิ่งที่ต้องการที่สุด คือ ‘กระเป๋าย่าม’ ที่บิลลี่พกติดตัวตลอดเวลา ซึ่งถูกระบุจากคนใกล้ชิดว่า มีข้อมูลสำคัญที่บิลลี่เก็บไว้มากมายอยู่ในนั้น

 

จนถึงวันนี้ คดีของบิลลี่อยู่ระหว่างช่วงที่อธิบดี DSI ยื่นแสดงความเห็นแย้งต่ออัยการคดีพิเศษที่สั่งไม่ฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน กลับไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง เช่นเดียวกับที่ ‘มึนอ’ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ได้ส่งหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดเช่นกัน และทั้ง 2 เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด

 

เมื่อการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ถึงบทสรุป คงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการหายตัวไปของบิลลี่จะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบทบาทที่เขาเป็นคนสำคัญในการเรียกร้องสิทธิที่จะกลับบ้าน ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ หรือไม่

แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเมื่อไม่มีบิลลี่ ประกอบกับการเสียชีวิตของปู่คออี้ในปี 2561 ทำให้กระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบนและใจแผ่นดินก็ยิ่งยากเย็นไปกว่าเดิมหลายเท่า

 

ผมไม่มีเรื่องราวของบิลลี่ที่จะเล่าอีกแล้ว แต่ก็สงสัยเหมือนคนอื่นๆ ที่สนิทกับบิลลี่ และผู้ที่เคยร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่มากับบิลลี่ ต่างก็มีคำถามเดียวกัน

“ในย่ามที่ติดตัวบิลลี่อยู่เสมอ มีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง”

 

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save