fbpx
‘ช้าง’ ในมหาวิทยาลัย

‘ช้าง’ ในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

สังคมไทยมี ‘ช้าง’ อยู่มากมายและมันไม่ได้อยู่แค่ในห้องเท่านั้น (elephant in the room) หากกระจายอยู่ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ทุกสถานที่ ทุกหน่วยงาน มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างก็มองเห็นและรับรู้ แต่ก็แสร้งทำราวกับมองไม่เห็นเหมือนว่าไม่มีสิ่งนั้นดำรงอยู่ ไม่มีการอภิปราย การโต้แย้ง หรือแม้กระทั่งการกล่าวถึง ทั้งที่ต่างก็ตระหนักอยู่เต็มเปี่ยมว่ามีช้างอยู่ที่นั่นจริงๆ

แม้จะเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูงซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและการใช้ปัญญาในการพิจารณาและถกเถียงต่อประเด็นปัญหาต่างๆ แต่มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นแต่อย่างใด มีช้างถือกำเนิดและเจริญเติบโตอยู่ในมหาวิทยาลัยไทยเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาผ่านประสบการณ์ของผู้เขียนจะพบว่าอย่างน้อยก็ประกอบด้วยช้าง 4 สายพันธ์ุ

 

ช้างอำนาจนิยม

 

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การแสดงความเห็นและการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการเมืองในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในการเคลื่อนไหวเพื่อล้มระบอบประชาธิปไตยก่อนการรัฐประหาร 2557 บรรดาผู้บริหารและคณาจารย์จำนวนมากต่างก็ออกมาให้การสนับสนุนกับแนวทาง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ การเป่านกหวีดที่เซ็งแซ่ไปทั่วมหาวิทยาลัยเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัยที่ขนานนามตนเองว่าเป็นเสาหลัก เป็นปัญญา หรือเป็นสมองของแผ่นดิน

ไม่เพียงเท่านั้น ภายหลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็ตบเท้าเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ถูกจัดตั้งโดยคณะรัฐประหาร ตำแหน่งซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากก็ได้แก่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นโรงงานในการปั๊มกฎหมายออกมาขนานใหญ่ อีกจำนวนไม่น้อยก็กระจัดกระจายไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ, องค์กรอิสระ, คณะกรรมการสมานฉันท์ปรองดอง ฯลฯ อันติดตามมาด้วยประโยชน์โภชผลทั้งที่เป็นรูปธรรมหรือการสร้างเครือข่ายสานสัมพันธ์กันต่อไปในระยะยาว

ตรงกันข้าม หากมีบุคลาการหรือนักศึกษาแสดงความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับผู้มีอำนาจรัฐ นอกจากจะไม่มีการแสดงการปกป้องต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นเกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมีความพยายามในการควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพของผู้คนให้หดแคบลง ไม่ว่าจะด้วยการรับงานมาจากฝ่ายความมั่นคงหรือเป็นการริเริ่มจากความคิดของตนเองก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง

และมักเป็นไปด้วยการกล่าวอ้างถึงเหตุผลว่ามหาวิทยาลัยต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองบ้าง มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลางทางการเมืองบ้าง โดยที่ลืมเลือนอดีตอันไม่ไกลไปว่าได้เคยป่าวประกาศและเข้าร่วมกับฝ่ายล้มประชาธิปไตยเมื่อไม่นานมานี้ ภาพถ่ายและหลักฐานจำนวนมากก็ปรากฏให้เห็นอยู่เต็มตา เอาเข้าจริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นชิงชังต่อการแสดงความเห็นที่แตกต่างไปจากจุดยืนของตนเองเป็นสำคัญ

ในมหาวิทยาลัยที่บุคลากรยังไม่มีความเข้มแข็ง ผู้ซึ่ง ‘ชูสามนิ้ว’ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความเจริญก้าวหน้าของตนเองได้มากกว่าในมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่

 

ช้างทุนนิยม

 

การปรับเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยในสังคมไทยให้กลายสถานะเป็นองค์กร ‘นอกระบบ’ มีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะยังคงได้งบประมาณสนับสนุนจากทางรัฐแต่ก็จะจำกัดอยู่เพียงรายจ่ายประจำ ได้แก่เงินเดือนของบุคลากรเป็นสำคัญ ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นก็จะมีจำนวนลดน้อยลง เช่น ค่าใช้จ่ายซ่อมแซมอาคารสถานที่ ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น ไม่ต้องพูดการสนับสนุนกิจกรรมในทางวิชาการที่แทบจะไม่หลงเหลือแต่อย่างใด

คณะหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องพยายามเปิดหลักสูตรหรือแสวงหารายได้ในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น การปรับค่าเล่าเรียนก็สามารถเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความพยายามหารายได้ในแบบที่สะดวกที่สุด นอกจากนี้แล้ว หลักสูตรหรือสาขาวิชาที่ไม่ได้รับความสนใจหรือมีผู้ที่เข้าศึกษาเป็นจำนวนมากจนไม่คุ้มกับ ‘ต้นทุน’ ของการบริหารจัดการก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไป การเปิดและปิดหลักสูตรจึงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมากกว่าการคำนึงถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ สาขาวิชาจำนวนมากซึ่งมีความสำคัญ แต่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพโดยตรงก็สามารถที่จะถูกปิดไปได้ไม่ยากลำบาก

อิทธิพลของแนวคิดที่มุ่งเน้นกำไรขาดทุนปรากฏให้เห็นในภาษาของระบบการประกันคุณภาพ ผู้เรียนได้กลายเป็น ‘ลูกค้า’ ที่มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การรับฟังเสียงของลูกค้า กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อกลายเป็นบุคคลสำคัญในสายตามหาวิทยาลัย

พร้อมกันไปกับความเปลี่ยนแปลงนี้ การทำงานวิจัยซึ่งจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัยก็มักจะเป็นงานชนิดที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ หรือพูดให้ง่ายที่สุดก็คือการวิจัยเพื่อให้สามารถผลิตของขายได้ เช่น การทำปลาร้ากระป๋อง การแปรรูปทุเรียน เป็นต้น ส่วนการวิจัยชนิดที่ไม่สามารถขายให้กับบริษัทธุรกิจเอกชนเพื่อไปสร้างรายได้ก็จะต้องเผชิญกับวิบากกรรมในการแสวงหาแหล่งทุน หรือการได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยในฐานะงานวิชาการประเภทหนึ่ง

การวิจัยจำพวกการประกอบสร้างความหมาย, วาทกรรมว่าด้วยความเป็นชาย/หญิง, การเมืองของความรู้, ความรู้เชิงซ้อน, ทฤษฎีแบบหลังสมัยสมัยใหม่/หลังอาณานิคม หรืออะไรต่อมิอะไรที่ไม่สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้ (นอกจากพิมพ์เป็นหนังสือขาย) ก็อาจกลายเป็นเพียงการละเล่นทางปัญญาในสายตาของช้างทุนนิยม รวมทั้งอาจมีการโปรยเศษเงินจำนวนหนึ่งหล่นมาถึงมือบุคลากรเพื่อปิดปากเสียงต่อต้านให้เบาลง

 

ช้างจารีตนิยม

 

ขณะที่มีการเปลี่ยนนักศึกษาให้เป็นลูกค้า อันดูเหมือนจะปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางด้านความรู้ขายแก่ลูกค้า แต่ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยกลับยังคงเชิดชูแนวทางจารีตนิยมควบคู่กันไปอย่างน่าอัศจรรย์

แนวทางแบบจารีตนิยมในที่นี้มีความหมายถึงการยกย่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการยึดมั่นในคุณธรรมและศีลธรรมที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เพราะฉะนั้น กฎระเบียบต่างๆ ที่ได้รับความสำคัญเป็นอย่างมากจะได้แก่ เสื้อผ้าหน้าผม รวมไปถึงการวางตนของผู้เรียนในความสัมพันธ์กับผู้สอนว่าจะต้องเป็นไปด้วยการเคารพนบนอบ ถ้อยคำประเภท “การให้เกียรติต่อสถานที่” หรือ “การให้เกียรติต่อครูอาจารย์” กลายเป็นมาตรฐานสำคัญที่ผู้เรียนต้องยึดถือ

จารีตประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงการจัดลำดับสูงต่ำระหว่างผู้สอนและผู้เรียนจึงเป็นกิจกรรมอันสำคัญที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การไหว้ครู พิธีการรับปริญญา การรับน้องใหม่ เป็นต้น แม้มหาวิทยาลัยอาจเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพแต่ก็จะต้องเป็นเสรีภาพชนิดที่รู้จักที่ต่ำที่สูง เสรีภาพที่ไร้ลำดับชั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับจารีตอันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจยอมรับได้

เพื่อนอาจารย์บางคนเล่าให้ฟังว่า นักศึกษาระดับปริญญาโทในสถาบันเก่าแก่แห่งหนึ่ง เมื่อยามพบอาจารย์ที่ปรึกษาก็ถึงกับต้องคุกเข่าเข้าหา ทั้งที่อาจารย์คนดังกล่าวมีชื่อเสียงอย่างมากในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ตาม

จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เพราะเหตุใดหากนักศึกษาจัดกิจกรรมอภิปรายหน้าตึกอธิการบดีแล้วถึงได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ประเด็นสำคัญไม่ใช่เป็นเพราะความปลอดภัยของบรรดาผู้บริหารมากเท่ากับเพราะการกระทำดังกล่าวกำลังทำให้เพดานของลำดับชั้นตามจารีตแบบผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่พังทะลายลง

 

ช้าง Scopus

 

การประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยติดตามมาด้วยการจัดลำดับ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและการเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาในประเทศต่างๆ มหาวิทยาลัยในสังคมไทยได้กระโดดเข้าอยู่ในกระบวนการนี้อย่างสุดตัวและหัวใจ

การตีพิมพ์บทความในวารสารระดับโลกถือเป็นผลงานที่มีคุณค่าเป็นอย่างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่น ทำให้ในหลายสถาบันการศึกษามีระบบการจ่ายค่าตอบแทนเป็นพิเศษแก่การตีพิมพ์งานในวารสารที่ถูกจัดอันดับสูง หรือแม้กระทั่งระบบการจ้างนักวิชาการฝรั่งมาเขียนบทความตีพิมพ์ในนามของมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถรักษาหรือเพิ่มจำนวนการเผยแพร่บทความให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ

การตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารที่ได้การจัดอันดับจาก Scopus เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเข้าใจว่าหากสามารถผลักดันให้คณาจารย์ นักวิจัย รวมทั้งนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สามารถพิมพ์งานในวารสารดังกล่าวได้แล้วจะแสดงถึง ‘ความเป็นเลิศทางวิชาการ’ ของสถาบันนั้นๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพิมพ์งานเผยแพร่ออกสู่สาธารณะย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางวิชาการของบุคลากรได้ แต่การผูกติดอยู่กับวารสารที่อยู่ภายใต้การครอบงำของธุรกิจเอกชนอย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะขององค์กรที่ทำหน้าที่จัดลำดับและการจัดทำวารสารที่มีผลตอบแทนทางธุรกิจอันมหาศาลจะทำให้สามารถไว้วางใจถึงความโปร่งใสของระบบเช่นนี้ได้จริงหรือ ทั้งนี้ ยังไม่หมายรวมไปถึงความเป็นกลางต่องานวิชาการอันมีอยู่หลากหลาย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ที่ล้วนมีมาตรฐานในการประเมินวัดอันแตกต่าง, ความสำคัญของชิ้นงานที่อาจมีความหมายต่อวิชาความรู้บางด้านแต่ไม่ได้ถูกจัดวางความสำคัญในโลกของตะวันตก, ภาษาของวารสารที่เปิดโอกาสให้เจ้าของภาษาสามารถผูกขาดหรือมีความได้เปรียบมากกว่าคนอื่น ฯลฯ

แต่ทั้งหมดแทบไม่เคยถูกตั้งคำถามต่อเงื่อนงำหรือผลประโยชน์ที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลังแม้แต่น้อย มันได้กลายเป็น ‘ช้าง’ อันศักดิ์สิทธิ์อีกตัวหนึ่งในมหาวิทยาลัย และถูกผลักให้มาอยู่บนหลังและไหล่ของบุคลากรในห้วงเวลาปัจจุบัน

 

ช้างมันตัวโตไม่เบา

 

เช่นเดียวกันกับ ‘ช้างที่อยู่ในห้อง’ ตราบเท่าที่มันยังไม่ถูกมองเห็น ไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นในการถกเถียง ไม่สามารถอภิปรายในที่สาธารณะได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ช้างในมหาวิทยาลัยก็จะยังคงอยู่ต่อไป หากต้องการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของช้างก็ต้องเริ่มมีการแตะต้อง วิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้งอย่างจริงจัง แน่นอนว่าในหลายมหาวิทยาลัยที่ระบอบอำนาจนิยมมีอิทธิพลอยู่สูงก็อาจสร้างความยุ่งยากให้แก่บรรดาผู้ซึ่งปรารถนาเห็นความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

แต่อาจไม่มีหนทางอื่นใดให้เลือกมากนัก เฉกเช่นเดียวกันกับความพยายามในการ ‘ล้มช้าง’ ที่อยู่ในห้องซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save