fbpx
‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ การต่อสู้ฟาดฟันภายใต้ทุนนิยม

‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ การต่อสู้ฟาดฟันภายใต้ทุนนิยม

ปฐมพงศ์ กวางทอง เรื่อง

 

*Spoiler Alert : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์*

 

หากคุณเห็นรถไฟในภาพยนตร์เรื่อง Snowpiercer (2013) แล้วนึกถึงเรื่องทุนนิยม ก็คงไม่แปลกนักถ้าผมจะบอกว่ารถไฟ 無限  ที่ทีมงานภาษาไทยเขาแปลว่านิรันดร์ ในภาพยนตร์ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ สามารถตีความได้ไม่ต่างกัน ในแง่ที่ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาและสันดานของทุนนิยมที่ต้องการสูบเอามูลค่าจากแรงงานและธรรมชาติ และเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยการที่นักล่าอสูรของเราขึ้นรถไฟขบวนดังกล่าวเพื่อปฏิบัติภารกิจสืบหาสาเหตุการหายตัวไปของคนจำนวนมาก แรกเริ่มเดิมทีนักล่าอสูรรุ่นเยาว์ทั้งสามเข้าใจว่ามีอสูรอยู่ที่ปลายทาง แต่ เร็นโงคุ เคียวจูโร่ ก็เฉลยให้ อากาทสึมะ เซ็นอิตทสึ ตกอกตกใจร้องไห้ออกมาว่าแท้จริงแล้ว อสูรไม่ได้อยู่ ‘นอก’ แต่กลับอยู่ ‘ใน’ รถไฟนี่แหละ คำพูดนี้เป็นการเตือนสติเราทั้งหลายว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เราต้องเจอไม่ได้อยู่รอคอยเราภายภาคหน้า แต่อยู่รอบตัวเราหรือจะบอกว่าเราอยู่ในมันนั่นเอง

ภาพยนตร์เรื่องนี้รวบรวมหลากหลายเรื่องราวเข้ามาให้เราได้พิจารณาราวกับว่ามันไม่มีกรอบโครงเรื่องขนาดใหญ่เลย แต่ผมเห็นว่าทั้งหมดยังคงสามารถอธิบายภายใต้กรอบความเบียวของลัทธิมาร์กซ์ได้ โดยอาศัยกรอบทฤษฎีการอธิบายคล้ายบทปริทัศน์ Snowpiercer (2013) ของอ.สรวิศ ชัยนาม[1]  อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ดาบพิฆาตอสูรเดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ ให้ภาพการต่อสู้ที่(ยัง)ไม่จบสิ้นได้ดีกว่า

ความฝันแสนหอมหวาน กับการตื่นขึ้นมาพบความเจ็บปวดในโลกที่ไม่อาจเห็นอนาคตอันสดใส

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดในเรื่องคงเป็นการนำประเด็นความฝันแสนหอมหวานที่คอยตอบสนองความปรารถนาของคนเรามายำเล่นอย่างไม่ไยดี ตัวเรื่องเล่นกับทฤษฎีความฝันของฟรอยด์อย่างชัดแจ้ง คงต้องชมทีมงานแปลภาษาไทยที่ใช้คำแปลว่า ‘จิตไร้สำนึก’ ได้ถูกต้องแม่นยำ เพราะในที่นี้ จิตไร้สำนึกไม่ใช่สิ่งที่อยู่ใต้การควบคุม ไม่ใช่สิ่งลี้ลับมหัศจรรย์ป่าเถื่อนแต่อย่างใด มันเป็นส่วนที่บุคคลไม่อาจเข้าถึง เป็นส่วนที่อยู่นอกการรับรู้ของจิตสำนึก[2]  ดังจะเห็นว่าในเรื่องไม่มีนักล่าอสูรผู้ใดเลยที่ได้ตามเหล่าเด็กๆ ผู้บุกรุกเข้าไปในจิตไร้สำนึกของตัวเอง

ทั้งนี้ การเข้าถึงจิตไร้สำนึกมีหลากหลายวิธี และความฝันเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงได้เช่นกัน

ความฝัน ความปรารถนาเป็นสิ่งที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งเฉพาะเจาะจง (singular) ของแต่ละบุคคล กระนั้นความฝันก็ไม่เคยแยกออกจากความเป็นจริง ความจริงกับความฝันมีปฏิสัมพันธ์กันแนบแน่นจนไม่อาจเข้าใจความหมายของสิ่งหนึ่งโดยปราศจากอีกสิ่งได้[3] การติดกับดักความฝันแล้วไม่ยอมตื่นจึงเป็นการปฏิเสธความจริงตามตัวอักษร ทำราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงตื่นอยู่ไม่มีความหมาย เป็นการปฏิเสธชีวิต จนอาจต้องเจอจุดจบดั่งเช่นผู้ไม่ยอมตื่นในรถไฟนิรันดร์นี้เจอในบั้นปลายหากไม่ฝืนตนตัดขาดจากมัน

แล้วทำไมการตื่นขึ้นของ คามาโดะ ทันจิโร่ จึงต้องใช้วิธีบั่นเศียรตัวเอง? เพราะการตื่นจากความฝันที่ทุนนิยมหลอกหลอนเรานั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้โดยไม่เจ็บปวด การละทิ้งความปรารถนาที่ถูกสั่งสมมาเพื่อเจอกับความจริงอันแสนเจ็บปวดไม่ใช่แค่การลืมตาขึ้นมาแต่อย่างใด กระบวนการตื่นหรือตาสว่างจากอุดมการณ์ของทุนนิยมไม่อาจทำได้ง่ายราวดีดนิ้ว แต่มันต้องการความรุนแรง ความรุนแรงต่อตัวเองอย่างโหดร้าย[4] เราต้องทำลายตัวตนเก่าอย่างสิ้นเชิง และการกระทำเหล่านี้หลีกเลี่ยงความเจ็บปวดไม่ได้

กระนั้นคามาโดะ ทันจิโร่ก็ยอมทำเพื่อให้ตัวเองได้ลืมตาตื่นขึ้น เพื่อออกจากฝันอันหอมหวานจอมหลอกลวงว่าคุณจะมีแต่ชีวิตที่ดี ชีวิตเปี่ยมสุขที่ทุนนิยมหยิบยื่นให้ ขอเพียงคุณหลับตา มองไปแค่ตัวคุณเอง คนที่คุณรัก มิตรสหาย หรือครอบครัวคุณก็พอ โดยไม่ต้องสนใจผู้คนในรถไฟที่เหลือ สิ่งที่น่าสนใจคือการที่คุณพ่อของคามาโดะ ทันจิโร่เป็นผู้บอกวิธีให้คามาโดะ ทันจิโร่ใช้ปลุกตัวเองตื่น ไม่ต่างจากภูมิปัญญาของการต่อสู้ทางชนชั้นที่สั่งสมกันมาแล้วบอกต่อรุ่นสู่รุ่น

แล้วทำไมคามาโดะ ทันจิโร่ต้องขอโทษ ต้องบอกว่าจะไม่ลืมครอบครัวของเขาในฝันแม้ว่าฝันนั้นจะไม่ใช่ความจริงกันเล่า? เพราะความจริงไม่ได้ตัดขาดจากความฝันเสียทีเดียวดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น แม้ว่าความปรารถนาจะถูกยัดเข้ามาจากภายนอก แต่ทุนนิยมก็ไม่ได้สร้างมันขึ้นมาโดดๆ มันเล่นกับเรื่องราวของชีวิตเราเสมอ เราเก่งอะไร เราชอบอะไร มันพร้อมจะหยิบยื่นให้ พร้อมเสนอความสำเร็จอันสวยงามให้เรา

คามาโดะ ทันจิโร่ จึงขอโทษที่ทำผิดพลาด ให้อภัยตัวเองในอดีต และจดจำความล้มเหลวทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อทุนนิยม แต่เพื่อให้ตัวเองตื่นขึ้นมาสู้ต่อในโลกความจริง เราไม่อาจโค่นล้มทุนนิยมได้หากเราไม่ดำเนินชีวิตต่อไป ไม่ว่าบาดแผลนั้นจะร้าวลึกแค่ไหนก็ต้องกัดฟัน จดจำ แม้จะร้องไห้ออกมาก็ตาม คามาโดะ ทันจิโร่ไม่ลังเลที่จะบั่นเศียรไม่ว่ากี่ครั้งเพื่อจะตื่นขึ้นมาต่อสู้ เพื่อปลดปล่อย ปกป้องมิตรสหายทุกคนบนรถไฟขบวนนี้

แล้วเด็กน้อยที่เข้าไปทำลายแก่นแท้ตัวตนของเหล่านักล่าอสูรนั้นหมายถึงอะไรถ้าไม่ใช่ผู้ใช้แรงงานอย่างเราๆ ท่านๆ หลายคนที่มีความเห็นอกเห็นใจสนิทชิดเชื้อ (solidarity) กับชนชั้นนายทุนและระบอบทุนนิยม โดยหวังว่ามันจะมอบความฝันอันสวยงามเพื่อเยียวยาความเปราะบางและปวดร้าวในชีวิตของเราได้  ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานหลากหลายระดับทางสังคม ตั้งแต่แรงงานโดยทั่วไป หรือแรงงานเปราะบาง (precarious worker) กระทั่งผู้ตกงานอย่างเด็กชายผู้เป็นวัณโรค  กระทั่งหากเราสังเกตดีๆ แล้ว พนักงานตรวจตั๋วก็ไม่ต่างจากตำรวจชั้นผู้น้อยที่คอยทำตาม ‘นายสั่ง’ หรือตัวแทนของเจ้าหน้าที่ระบบรัฐราชการต่างๆ ไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงที่คอยปกป้อง ‘คอ’ ของอสูร อันเป็นที่มั่นแกนกลางของระบอบทุนนิยมก็เป็นแรงงานด้วยกันทั้งหมด แต่กลับเห็นใจและต่อต้านการทำลายทุนนิยมที่สัญญาว่าจะให้ความฝันแก่พวกเขา

อย่างไรก็ตาม เขตแดนจิตไร้สำนึกของคามาโดะ ทันจิโร่สอนเราว่าชนชั้นแรงงานทั้งผองสามารถเข้าใจเราได้ หากเราโอบกอดและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้พวกเราด้วยกัน  เมื่อเราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (mutual aid) และยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กัน (solidarity) เราก็สามารถร่วมกันต่อสู้และทำให้ขบวนการเติบโตขึ้นได้  โปรดสังเกตว่าคามาโดะ ทันจิโร่ไม่ได้สังหารเด็กน้อยเหล่านั้นแม้แต่คนเดียวเลย เพราะศัตรูเราไม่ใช่ชนชั้นแรงงานด้วยกันแต่เป็นทุนนิยมต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราสามารถกล่าวได้อีกอย่างว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เรียกร้องให้ต่อต้านการเมืองแบบขวาประชานิยมที่คอยปั่นหัวให้พวกเราชนชั้นแรงงานชี้นิ้วประณามพวกเรากันเองอยู่ตลอดเวลา

 

ทุนนิยมคือระบบธรรมชาติจำเพาะทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ เท่านั้น (specific historical nature)[5]

 

อสูรในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้คนในรถไฟทั้งหมดหลับใหลไปพร้อมกับใช้เวลานี้ ‘รวมร่าง’ กับรถไฟนิรันดร์  นั่นหมายความว่าแม้คามาโดะ ทันจิโร่จะบั่นเศียรอสูรที่อยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์ก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด อสูรทุนนิยมไม่ตายจากการบั่นเศียรภายนอก แต่ต้องแหลกสลายจากการทำลาย ‘คอ’ ที่ผนวกรวมไปกับรถไฟ

การรวมร่างและกลายเป็นหนึ่งเดียวกับรถไฟของอสูรนั้นไม่ต่างการจากกระบวนการแผ่ซ่านและก่อรูปธรรมชาติแบบจำเพาะทางประวัติศาสตร์ของทุนนิยมขึ้นมา ทุนนิยมใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อยก็ห้าร้อยปีเร่งกระบวนการต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยใส่ความฝันถึงความก้าวหน้าเข้าไปในมนุษยชาติ ขณะเดียวกัน ทุนก็พยายามดูดกลืนมูลค่าจากแรงงานและพลังงานธรรมชาติเข้าไป ไม่ต่างจากการที่อสูรในเรื่องนี้ต้องการสูบเลือดเนื้อของผู้คนในรถไฟไปฟรีๆ

ทุนนิยมสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ จากป่ากลายเป็นไร่พืชเชิงเดี่ยว จากท้องทะเลกลายเป็นที่เดินเรือ และอนาคตอันไม่ไกลก็อาจเข้าไปกอบโกยในอวกาศด้วยซ้ำ สิ่งนี้ไม่ต่างจากขบวนรถไฟที่เดินทางหลายรอบและนำผู้โดยสารใหม่ๆ เข้ามาเสมอ  ในแง่นี้ทุนนิยมเป็นเสมือนรถไฟที่มีความจำเพาะในประวัติศาสตร์ มันสร้างธรรมชาติหรือมองธรรมชาติในลักษณะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา  มันมองธรรมชาติในลักษณะที่มันสามารถชั่ง ตวง วัดเพื่อเข้าครอบครอง (appropriation) และเปลี่ยนให้เป็นทุน (capitalization) เพื่อทำการสะสม (accumulation) และขูดรีด (exploitation) มูลค่าส่วนเกินของแรงงานที่ทำการผลิตได้เสมอ  กระบวนการสะสมทุนจึงมีทั้งการครอบครองมนุษย์และธรรมชาตินอกมนุษย์ (extra-human nature) เพื่อให้ได้ใช้ฟรีๆ เช่น ครอบครองแรงงานของผู้หญิงเพื่อการทำงานบ้านและผลิตแรงงานรุ่นถัดไป ครอบครองแผ่นผืนน้ำเพื่อปล่อยน้ำเสีย และการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินเพื่อเป็นกำไรในพื้นที่ของการผลิต

ทั้งนี้ พื้นที่ของการผลิตที่ทุนมองว่าต้องจ่าย กลับถูกมองเสมือนว่าแยกขาดจากพื้นที่ของการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน (reproduction) ที่ในอดีต (และปัจจุบัน?) ทุนไม่ยอมจ่ายเลยแม้แต่น้อย เช่น งานบ้าน การตั้งครรภ์ และงานอื่นๆ ที่ส่วนมากเป็นงานของผู้หญิง เพื่อให้ชนชั้นแรงงานผู้ชายได้พักผ่อนและมีแรงไปทำงานในวันถัดไปได้  ทั้งที่แท้จริงแล้วทุนนิยมไม่สามารถขาดพื้นที่ของการผลิตซ้ำเหล่านี้ไปได้เลย เพราะทั้งสองอย่างเป็นเงื่อนไขให้ทุนทำงานต่อไปได้

ทุนขูดรีดมูลค่าแรงงานในภาคการผลิตไปพร้อมๆ กับการฉวยใช้ครอบครองแรงงาน/พลังงานที่ทุนยังไม่ยอมให้มูลค่ามาฟรีๆ ด้วย  โดยทุนจะขยับขยายและสร้างพื้นที่ทั้งแบบกว้าง (ครอบครองมากขึ้น) และลึก (ขูดรีดเข้มข้นขึ้น) ไปเรื่อยๆ เนื่องด้วยมโนทัศน์ความก้าวหน้าที่เราต่างรู้กันดี เพราะในตรรกะของระบบทุนนิยมที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ การไม่เติบโตหรือตัวเลข GDP ไม่เป็นบวกนั้นเป็นสิ่งที่ชนชั้นกระฎุมพียอมรับไม่ได้

อสูรในภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องสูบกินเลือดของผู้โดยสารเพื่อเพิ่มความสามารถให้ตัวเองไม่ต่างจากกระบวนการเข้าครอบครองและสะสมทุนข้างต้น  กระนั้นการต่อสู้ขัดขืนภายใต้ระบบนี้โดยผู้ที่ไม่ยอมจำนนก็เกิดขึ้นเช่นกัน การต่อสู้ของชนชั้นผู้ถูกกดขี่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจนกระทั่งถึงปัจจุบัน และการต่อสู้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่มนุษย์เท่านั้น องคาพยพอื่นๆ ของธรรมชาติที่พ้นจากมนุษย์ (extra-human nature) ก็ร่วมต่อสู้ด้วย เหมือนดัง อากาทสึมะ เซ็นอิตทสึ ที่แม้ไม่ลืมตาตื่นก็ยังจับดาบขึ้นร่วมสู้กับผู้ที่ตื่นขึ้นมาได้ ไม่ต่างจากการต่อต้านขัดขืนในโลกความเป็นจริงที่นอกจากขบวนการต่อสู้ของแรงงานก็ยังมีวัชพืชดื้อยาและเชื้อโรคที่คอยขัดขวางการสะสมทุนอย่างไม่รู้จักอิ่มของทุนนิยมด้วย

การรวมร่างสร้างรถไฟนิรันดร์ที่เปรียบได้กับความพยายามครอบครองทั้งมนุษย์และธรรมชาติจึงเป็นตัวแทนของความจริงที่ว่า ระบบทุนนิยมเป็นมากกว่าเศรษฐกิจ มันเป็นระบบธรรมชาติที่มีความจำเพาะทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ ที่รวมทุกพื้นที่ของชีวิตเอาไว้ด้วยกัน

 

นักล่าอสูรในฐานะพรรคปฏิวัติ ผู้กระทำการทางประวัติศาสตร์อื่นๆ 

 

หากมองอสูรและการรวมร่างกับรถไฟด้วยกรอบการตีความเรื่องทุนนิยม นักล่าอสูรจึงไม่ต่างจากพรรคปฏิวัติ ซึ่งเป็นรูปแบบการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานที่เด่นชัดในประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 19 และ 20  ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนระเบียบวินัย ศึกษาทฤษฎีปฏิวัติอย่างจริงจัง แบ่งหน้าที่ทำงานการเมืองอย่างชัดเจน และรับการสั่งการในระบบพรรคอย่างเคร่งครัด เป็นรูปแบบที่เชื่อว่าการเมืองเพื่อการปลดปล่อยจำเป็นต้องใช้นักปฏิวัติมืออาชีพ[6]

ทั้งนี้ เราจะลืม คามาโดะ เนซึโกะ ไปไม่ได้ เธอเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยหนุนให้คามาโดะ ทันจิโร่ตื่นขึ้นจนเธอเองต้องเลือดตกยางออก และคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่หลับใหลอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ผมเสนอว่าเราสามารถมองคามาโดะ เนซึโกะว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองผู้หญิงที่ลุกขึ้นออกเดินสู้ระบอบกดขี่ทั้งหลายเป็นกลุ่มแรก กระทั่งเป็นแนวหน้าอย่างในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 การปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลา 1917 รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองของไทยในปัจจุบัน

อีกแง่หนึ่ง เธออาจเปรียบเสมือนชนชั้นกระฎุมพีน้อยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ากับชนชั้นนายทุนเสมอไป แม้คามาโดะ เนซึโกะมีข้อจำกัดในลักษณะบางอย่างไม่ต่างจากพวกนายทุนอันสะท้อนออกมาเป็นการไม่สามารถสู้แดดได้ แต่เธอกลับมีความอิสระและเป็นผู้กระทำการ (agency) เองได้บางส่วน ทำให้สามารถหลุดออกจากฝั่งต่อต้านชนชั้นแรงงานทั้งหลาย หรือหลุดออกจากฝั่งอสูรได้เพราะเธอไม่ยอมกินเลือดมนุษย์นั่นเอง แน่นอนว่าเธอย่อมโดนรังเกียจเดียดฉันท์จากส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิวัติดั่งเช่นบนหน้าประวัติศาสตร์ที่มีผู้หญิงในพรรคปฏิวัติยุโรปบางส่วน หรือนักศึกษาที่เข้าไปร่วมการต่อสู้ในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดนค่อนขอดเช่นกัน[7]

ถึงแม้ถ่านหินในเรื่องเป็นสัญลักษณ์คล้ายคลึงกับปัจจัยทางการผลิตที่ทำให้รถไฟแล่นไปได้ ทว่า ‘คอ’ ที่เราต้องตัดนั้นคือระบบควบคุมหัวรถจักร  จึงดูราวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ย้ำเตือนเราว่า สิ่งที่เราต้องทำลายก็คือความสัมพันธ์ทางการผลิต (ระบบควบคุมหัวรถจักร) แบบนี้ เพราะตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาไม่ใช่ปัจจัยการผลิตอย่างถ่านหินหรือเทคโนโลยีที่ใช้ในตัวมันเอง แต่เป็นความสัมพันธ์ทางการผลิตต่างหาก

ด่านสุดท้ายที่ คามาโดะ ทันจิโร่ กับ ฮาชิบิระ อิโนสึเกะ ต้องเจอคือความโหดร้ายรุนแรงที่ทุนนิยมจะย้ำเตือนเราเสมอหากเราต้องการทำลายมันว่าความฝันของคุณจะพังทลาย จะมีเพียงนรกรออยู่ เราต้องยืนยันเหมือนที่คามาโดะ ทันจิโร่ทำ คือบั่นเศียรตัวเองเพื่อตื่นจากความฝันอันหลอกลวงจอมปลอมนั้นเสีย แล้วเดินหน้าล้มระบบผีเปรตที่อยู่ได้ด้วยการดูดกลืนส่วนบุญนี่ลงไป และสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ย้ำเตือนเราเสมอ คือเราไม่อาจทำสิ่งนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว  เราต้องร่วมมือกัน ทั้งกรรมาชีพ ชนชั้นกระฎุมพีน้อย และธรรมชาติที่พ้นไปจากมนุษย์ด้วย  เหมือนดังความร่วมมือของทุกคนในเรื่องจนสามารถโค่นล้มรถไฟเฮงซวยคันนี้ลงไปได้ เปรียบเสมือนการล้มลงของระบอบทุนบางส่วนของศตวรรษที่ 20 ซึ่งกดดันให้โลกทุนนิยมที่เหลืออยู่ต้องปรับตัวให้ดีขึ้นและมีระบบรัฐสวัสดิการตามมา เพื่อไม่ให้ขบวนการคอมมิวนิสต์แผ่ขยายได้เต็มที่

 

อสูรข้างขึ้นในฐานะทุนนิยมรูปแบบใหม่ และหนทางการต่อสู้ในปัจจุบัน

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างไปจาก Snowpiercer (2013) ในแง่ที่การล่มสลายของรถไฟไม่ได้เป็นจุดจบของเรื่อง แต่กลับมีอสูรข้างขึ้นโผล่มาโดยไม่ให้ตั้งตัว นั่นเป็นเพราะทุนนิยมไม่ได้มีเทคนิควิธีในการขูดรีดและสูบเอามูลค่าไปเพียงแบบเดียวเท่านั้น  เมื่อทุนนิยมระบบสายพานการผลิตในศตวรรษที่ 20 ถูกขบวนการต่อสู้ของแรงงานและการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลกกดดันอย่างต่อเนื่องมาบั่นทอน ‘ประสิทธิภาพ’ ในการขูดรีดและยึดครองของมัน ทำให้เกิดสวัสดิการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ การเข้าถึงการรักษา การศึกษา การลาคลอด หรือกระทั่งการหย่าร้างและทำแท้ง อันเป็นสิ่งที่ระบบทุนไม่อาจแบกรับได้ไหว ทุนนิยมจึงต้องเปลี่ยนไปใช้รูปแบบที่โหดเหี้ยมกว่าเดิมที่เราเรียกกันว่า ‘เสรีนิยมใหม่’ ซึ่งมาพร้อมกับระบบหนี้ ทุนการเงิน นโยบายรัดเข็มขัด

หรืออสูรข้างขึ้นนั้นเป็นความท้าทายใหม่ที่พรรคปฏิวัติไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป? ทุนนิยมไม่ต่างจากอสูรข้างขึ้นหมายเลขสามที่บอกเราว่าความแข็งแกร่งของมันมาจากการสั่งสมประสบการณ์การต่อสู้มาตลอดชั่วอายุที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุดของมัน ในขณะที่ขบวนการแรงงานต่อสู้มาตลอดกว่าห้าร้อยปี ทุนนิยมก็มีการปรับตัวเสมอ เมื่ออสูรตนเก่าถูกกำจัดไป อสูรตนใหม่ก็โผล่มาให้เห็น ทุนนิยมพัฒนาไปพร้อมๆ กับขบวนการแรงงานด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ทุนนิยมย่อมเจอวิกฤตเสมอ วิกฤตวนเวียนมาเป็นรอบๆ ไม่ต่างจากแสงแดดที่เร่งเร้าให้อสูรต้องหลบเข้าที่มืด อันเปรียบดั่งภาวะชะงักงันและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของทุนนิยมที่วนมาไม่จบไม่สิ้น  กระนั้นสิ่งที่อสูรข้างขึ้นหมายเลขสามบอกว่าอสูรมีชีวิตอย่างไม่มีขีดจำกัด พวกมันจะคงอยู่ตลอดกาล ส่วนมนุษย์นั้นเดี๋ยวก็ตายไปมันเป็นเรื่องจริงแท้แน่หรือ?  การที่เราต้องเสีย เร็นโงคุ เคียวจูโร่ ไปในการต่อสู้กับอสูรข้างขึ้นหมายเลขสามนั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่?  เร็นโงคุ เคียวจูโร่แสดงความหมายของการต่อสู้และการมีชีวิตให้เราเห็นอย่างไรบ้าง? ชีวิต ความตาย และความหมายของการต่อสู้คืออะไร?

ผมเชื่อว่าผู้ชมทุกท่านคงให้ความหมายต่อสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หากเราไม่คิดว่าจะชนะ เราก็ย่อมแพ้อย่างแน่นอน หรือที่เรียกว่าภาวะไร้สมรรถภาพจากการคิด (reflexive impotence)[8]  แม้ว่าเราจะร่ำไห้ออกมาจนน้ำตากลายเป็นสายฝน เราก็ต้องเชื่อเหมือนที่ฮาชิบิระ อิโนสึเกะบอก นั่นคือต้องเชื่อว่าเราทำได้ เพราะมันเป็นทางเดียวที่เราจะได้เริ่มทำ หากเราเชื่อในสัจนิยมแบบทุน คือเชื่อว่าเราไม่มีทางชนะอสูรข้างขึ้นได้ เชื่อว่าทุนนิยมจะไม่มีวันล่มสลาย เชื่อว่าอสูรจะไม่มีวันตาย เพราะมนุษย์มีเวลาจำกัดแล้วล่ะก็ เราอาจละเลยคำพูดของเร็นโงคุ เคียวจูโร่ที่โอบกอดสหายร่วมรบทุกคน ที่ยืนยันว่าเราทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน ชนชั้นใด ก็สามารถรับไม้ต่อของขบวนการต่อสู้ของแรงงานในศตวรรษก่อนๆ มาได้เช่นกัน

เราอาจไม่จำเป็นต้องต่อสู้ในรูปแบบเดิมก็ได้ ขอเพียงแค่เราเชื่อมั่นและต่อสู้เท่านั้น ไม่มีใครรับประกันชัยชนะในบั้นปลายได้ แต่ถ้าเราไม่สู้แล้วล่ะก็ เลือดเนื้อเราและเพื่อนเราย่อมต้องถูกสูบกินโดยอสูรทุนนิยมไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน…

 

เชิงอรรถ

[1] สรวิศ ชัยนาม, จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์: ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกเชิงวิพากษ์ผ่านสื่อภาพยนตร์ (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2012).

[2] โปรดดู The Radical Revolution, Slavoj Zizek — What People Get Wrong About the Unconscious, 2020

[3] Darian Leader, Why Can’t We Sleep (London: Penguin Books, Limited, 2019).

[4] Sophie Fiennes, The Pervert’s Guide to Ideology (Blinder Films,  British Film Institute (BFI),  Film4, 2012).

[5] สำหรับรายละเอียดในหัวข้อนี้ โปรดดู Jason W. Moore, Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital, 1st Edition (New York: Verso, 2015).

[6] สำหรับตัวอย่างการทำงานของพรรคปฏิวัติ โปรดดู ตวงทิพย์ พรมเขต, ทีปะ นุสันตารา ไอดิต กับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (กรุงเทพฯ: Illuminations Editions, 2020).

[7] สำหรับกรณีของไทย โปรดดู สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, น้ำป่า: บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2015).

[8] Mark Fisher, Capitalist Realism: Is There No Alternative?, Zero Books (Winchester: O Books, 2009).

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save