fbpx
มองหลายมุมกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่

มองหลายมุมกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่

                                                                                            ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

 

7 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564[1] สาระสำคัญของกฎหมายใหม่คือการเปิดให้มีการทำแท้งได้ตามความต้องการของผู้หญิงโดยไม่มีความผิดทั้งผู้หญิงและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมาย นับว่าเป็นชัยชนะของกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีซึ่งสู้เรื่องนี้มาเป็นเวลานาน กฎหมายใหม่สรุปความได้ดังนี้

1) ผู้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) ทำแท้งเองหรือไปให้แพทย์ทำแท้งได้ไม่มีความผิดใดๆ อีกต่อไป เรียกว่าการทำแท้งตามคำขอของหญิง (on request) ตามมาตรา 301

2) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เท่าใดก็ได้ที่ตั้งครรภ์ต่อไปแล้วจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายหรือจิตใจของผู้หญิงเอง สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (1)

3) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เท่าใดก็ได้ที่หากคลอดออกมาแล้วทารกจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง ก็สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (2)

4) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เท่าใดก็ได้ที่ตั้งครรภ์เพราะถูกกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ถูกข่มขืนกระทำชำเรา สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (3)

5) ผู้หญิงที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ (3 เดือน) แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ (5 เดือน) ที่ได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามที่กฎหมายกำหนด สามารถให้แพทย์ทำแท้งได้ ตามมาตรา 305 (5) ซึ่งเรียกว่าการทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง (on request) อีกมาตราหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่อายุครรภ์ที่มากขึ้นช่วงนี้จะต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือก (counselling) ก่อนที่จะทำแท้ง

กฎหมายฉบับใหม่รับรอง ‘การทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง’ (on request) ขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมกฎหมายไทยยอมให้มีการทำแท้งได้เฉพาะเมื่อปรากฏเหตุที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เช่น มีเหตุจากการถูกข่มขืน มีเหตุจากสุขภาพของผู้หญิง

การออกกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่เป็นผลมาจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563[2] ที่วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 (เดิม) ที่ลงโทษหญิงที่ทำแท้งตั้งแต่ตั้งครรภ์วันแรกเป็นการขัดรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ผู้หญิงควรมีสิทธิตัดสินใจกับเนื้อตัวร่างกายตนเองในอายุครรภ์ที่เหมาะสม

แม้ว่ามีการแก้ไขกฎหมายเรื่องทำแท้งแล้ว ยังมีเรื่องที่ควรต้องดำเนินการอยู่อีกหนึ่งเรื่อง คือ เรื่องกฎเกณฑ์ของแพทยสภาที่กำหนดรายละเอียดของการทำแท้ง และเรื่องที่ควรพิจารณาอย่างรอบด้าน หากจะมีการปรับปรุงกฎหมายต่อไปในอนาคต คือ เรื่องอายุครรภ์ที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ตามคำขอของหญิง

 

1

กฎเกณฑ์ของแพทยสภา

 

ประมวลกฎหมายอาญาไม่อาจระบุรายละเอียดการดำเนินการทำแท้งได้ทั้งหมด จึงมีการกำหนดให้แพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปออกรายละเอียดในการทำแท้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ต้องปรึกษาใครก่อน ต้องให้เวลาหญิงคิดทบทวนเท่าไร ทำแท้งได้ที่ไหน ต้องดำเนินการอย่างไร เป็นต้น

รายละเอียดที่จะออกเป็นหลักเกณฑ์ของแพทยสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญไม่แพ้ตัวบทกฎหมาย ซึ่งควรพิจารณาจากมุมมองทั้งผู้หญิง แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้

 

มุมของผู้หญิง

แม้กฎหมายจะเปิดให้มีการทำแท้งตามคำขอของหญิงในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และหากผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาทางเลือกแล้วจะสามารถทำได้จนถึงอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ แพทยสภาคงต้องออกหลักเกณฑ์ในเรื่องการให้คำปรึกษาทางเลือกกับผู้หญิงก่อนที่จะตัดสินใจทำแท้งในทุกอายุครรภ์ โดยหลักเกณฑ์ในการให้คำปรึกษาทางเลือกควรจะมีลักษณะ ‘รู้’ – ‘เร็ว’ – ‘ลับ’

รู้ คือ ผู้ให้คำปรึกษาควรจะเป็นผู้ ‘รู้’ ทางเลือกต่างๆ ที่ผู้หญิงมีและเสนอทางเลือกต่างๆ ที่เป็นไปได้ให้กับผู้หญิง รวมทั้งวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม และต้องเคารพการตัดสินใจของผู้หญิง เพราะเป็นสิทธิของเขาที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติให้ และควรเป็นผู้ประสานงานส่งต่อให้กับทีมที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้หญิงได้ หากผู้หญิงเลือกตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ผู้รู้ในที่นี้ไม่น่าจะใช่ผู้รู้ทางศาสนาหรือศีลธรรม

เร็ว คือ การให้คำปรึกษาที่รวดเร็ว การตั้งทีมให้คำปรึกษาทางเลือกไม่ควรเป็นทีมใหญ่ หรือคณะกรรมการใหญ่โตให้วุ่นวาย  เพราะทุกนาทีของอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นมีผลต่ออันตรายต่อผู้หญิง รวมทั้งสิทธิที่เพิ่มขึ้นของตัวอ่อน

ลับ คือ การทำแท้งควรเป็นเรื่องลับสุดยอดของผู้หญิง คนที่รู้ควรจะจำกัดวงให้แคบที่สุดแค่ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือก แพทย์และทีมงาน การให้คำปรึกษาและกระบวนการต่างๆ ควรเป็นความลับ

ปัญหาจะละเอียดอ่อนขึ้นถ้าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยทั่วไปแล้วก็ควรจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน แต่อย่างไรก็ดี หากเด็กผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเลือกที่จะไม่บอกผู้ปกครอง หลักเกณฑ์แพทยสภาก็ควรกำหนดให้เด็กสามารถทำแท้งได้โดยอย่างน้อยต้องมีผู้ใหญ่ที่เด็กไว้ใจมาร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจด้วย ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฝรั่งเศส[3]

สำคัญที่สุดคือ ต้องหลีกเลี่ยงการสร้างกระบวนการให้คำปรึกษาที่เปิดเผยจนลุงป้าข้างบ้านรู้ หากกระบวนการให้คำปรึกษาและการทำแท้งไม่สามารถรักษาความลับของผู้หญิงได้ โดยเฉพาะกรณีเด็กผู้หญิง คนก็จะเลือกกลับไปทำแท้งที่ผิดกฎหมายอย่างลับๆ อยู่ดี

 

มุมของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ 

ความกังวลแรกของบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งคือ “กฎหมายเขียนยกเว้นความผิดให้กับเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ซึ่งหมายถึงแพทย์) แต่ไม่เห็นเขียนยกเว้นความผิดให้กับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เลย เช่น พยาบาล เภสัชกร ผู้ช่วยพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ฯลฯ ?”  

เรื่องดังกล่าวอธิบายได้ตามหลักกฎหมายอาญาทั่วไป คือ การกระทำที่ไม่เป็นความผิด (justification) เป็นอำนาจกระทำที่กฎหมายรับรองให้กระทำได้ ดังนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดกับการทำแท้งที่ถูกกฎหมายก็ไม่มีความผิดไปด้วย กฎหมายไม่อาจเขียนยกเว้นไปได้ทุกคนเพราะกฎหมายจะเยิ่นเย้อและสุดท้ายก็ไม่ครอบคลุมทุกคนอยู่ดี  ดังนั้น หากการทำแท้งที่ชอบด้วยกฎหมายที่กระทำโดยแพทย์แล้ว บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกคนไปจนกระทั่งพนักงานเข็นเตียงหรือ รปภ. ก็ไม่มีความผิดใดๆ เช่นกัน

ลองเทียบกับตำรวจที่จับกุมตามหมายจับของศาล  ตำรวจมีอำนาจกระทำตามกฎหมายจึงไม่มีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ถูกจับ คนช่วยตำรวจจับผู้ร้ายก็ไม่มีความผิดหน่วยเหนี่ยวกักขังผู้ถูกจับด้วยเช่นเดียวกัน

เรื่องที่สองในมุมของแพทย์คือ “แพทย์มีสิทธิปฏิเสธไม่ทำแท้งให้ผู้หญิงได้หรือไม่?” 

ในเรื่องดังกล่าวไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมายเพราะมันไม่ใช่เรื่องของประมวลกฎหมายอาญาที่เป็นกฎหมายกำหนดความผิดและโทษทางอาญา แต่เรื่องดังกล่าวควรจะมีอยู่ในหลักเกณฑ์แพทยสภามากกว่า

ในประเทศฝรั่งเศส แพทย์มีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ทำแท้งให้ผู้หญิง แต่แพทย์ต้องมีหน้าที่ส่งต่อ (refer) ไปยังแพทย์ที่เขาสมัครใจรับทำแท้งให้[4]

ความคิดเรื่องการทำแท้งในสังคมมีทั้งคนที่สนับสนุนสิทธิ (right) และสนับสนุนชีวิต (life) กฎหมายบังคับทัศนคติของคนไม่ได้  แต่กฎหมายสามารถเขียนให้คนที่คิดต่างกันอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้น แพทย์ควรมีสิทธิปฏิเสธที่จะไม่ทำแท้งให้ผู้หญิงเช่นเดียวกับที่ผู้หญิงมีสิทธิขอทำแท้ง แต่แพทย์ควรมีหน้าที่ส่งต่อให้แพทย์ที่เขายินดีรับทำแท้ง

แพทยสภาควรกำหนดเรื่องสิทธิของแพทย์ที่จะปฏิเสธไม่ทำแท้งแบบ on request และหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องส่งต่อหากตนปฏิเสธไม่รับทำแท้ง

 

 2

อายุครรภ์ที่อนุญาตให้ทำแท้งได้

แม้ว่าจะสายเกินไปที่จะพูดเรื่องอายุครรภ์ที่เหมาะสม (gestational limit) ในการทำแท้งตามคำขอของผู้หญิง เพราะกฎหมายได้ประกาศใช้แล้วว่าประเทศไทยใช้อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี เรื่องอายุครรภ์ที่เหมาะสมก็ยังควรค่าแก่การอภิปราย

ร่างกฎหมายที่ออกจากรัฐบาลได้กำหนดอายุครรภ์ที่อนุญาตให้หญิงทำแท้งตามคำขอ (on request) ไว้ที่ 12 สัปดาห์ แต่ในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรมีการเพิ่มมาตรา 305 (5) ขยายอายุครรภ์ไปที่ 20 สัปดาห์ แล้วท้ายสุดกฎหมายก็ออกมาตามความเห็นของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร

การทำแท้งตามความต้องการของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ (on request) เป็นการถกเถียงกันทั่วโลกว่า ทำได้หรือไม่ และทำได้ด้วยเงื่อนไขอะไร เรื่องดังกล่าวอธิบายได้จากสิทธิที่บางกรณีเกิดความขัดแย้งกัน ระหว่าง ‘สิทธิของตัวอ่อน’ ตามธรรมชาติคงต้องการที่จะเกิดมามีชีวิต เพราะถ้าธรรมชาติไม่ต้องการให้เกิด ร่างกายก็มีกระบวนการคัดสรรทำให้ผู้หญิงเกิดการแท้งเองโดยไม่ต้องมีคนมาทำ กับ ‘สิทธิของผู้หญิง’ ในที่นี้คือสิทธิของผู้หญิงในการจัดการกับเนื้อตัวร่างกายตัวเอง หากผู้หญิงไปตัดนิ้วคนอื่น ย่อมมีความผิดอาญาในทุกประเทศฐานทำร้ายร่างกาย แต่หากผู้หญิงอยากจะตัดนิ้วตัวเอง ก็คงเป็นสิทธิของเขาในการจัดการเนื้อตัวร่างกายที่ไม่มีความผิดอาญาใดๆ

กฎหมายเดิม (ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ) มุ่งคุ้มครองสิทธิตัวอ่อนแต่เพียงด้านเดียว โดยไม่มีการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงที่จะจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตนเองเลยไม่ว่าจะมีอายุครรภ์กี่วัน

การกำเนิดขึ้นของการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงในเรื่องทำแท้งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสหภาพโซเวียตโดยนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีชื่อ Alexandra Kollantai ในปี ค.ศ. 1920 นับจากนั้นกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้งจะถูกอธิบายผ่านทางสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจกับเนื้อตัวร่างกายตนเอง ประกอบกับความรู้และการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของสตรีในยุคใหม่ รวมทั้งขยายไปถึงการให้เหตุผลทางสังคมและเศรษฐกิจเรื่องการควบคุมจำนวนประชากร[5] การแก้ไขกฎหมายทำแท้งโดยมีแนวคิดการคุ้มครองผู้หญิงจึงเกิดขึ้นในหลายประเทศในเวลาต่อมา ผ่านแนวคิดที่ว่าผู้หญิงควรมีสิทธิที่จะตัดสินใจกับเนื้อตัวร่างกายของตนด้วย

หากจะยึดถือการคุ้มครองสิทธิของตัวอ่อนอย่างสมบูรณ์ การทำแท้งตามความต้องการของผู้หญิงย่อมทำไม่ได้เลยและผิดกฎหมายตั้งแต่การตั้งครรภ์ในวันแรก แต่หากยึดการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ การทำแท้งย่อมทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเลยจนวันสุดท้ายที่ตั้งครรภ์ก่อนคลอด

ประเทศที่อนุญาตให้มีการทำแท้งตามคำขอของหญิง (on request) ปัจจุบันมี 67 ประเทศ[6] ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ยึดการคุ้มครองสิทธิทั้งสองอย่างสมบูรณ์ แต่เลือกวิธีสร้างสมดุลของการคุ้มครองสิทธิทั้งสอง โดยในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์  สิทธิของผู้หญิงจะชนะสิทธิของตัวอ่อน จึงอนุญาตให้ทำแท้งได้ตามความประสงค์ของผู้หญิง แต่ในช่วงระยะหลังของการตั้งครรภ์ สิทธิของตัวอ่อนในการจะคลอดและมีชีวิตอยู่ชนะสิทธิของผู้หญิง การทำแท้งตามความประสงค์ของผู้หญิงเพียงอย่างเดียวจึงถูกห้ามโดยกฎหมาย

ระยะเวลาที่เป็นจุดตัดระหว่างสิทธิของผู้หญิงในการตัดสินใจกับเนื้อตัวร่างกายตนเอง กับสิทธิของตัวอ่อนที่จะมีชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับบริบทและการต่อสู้ทางความคิดของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนมากจะกำหนดจุดตัดไว้ที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (3 เดือน)[7]

 

 

ประเทศฝรั่งเศสกำหนดจุดตัดระหว่างสิทธิของผู้หญิงกับสิทธิของตัวอ่อนไว้ที่เวลา 12 สัปดาห์[8] ของการตั้งครรภ์ (หรือ 14 สัปดาห์นับแต่ประจำเดือนวันสุดท้าย) ในอังกฤษแม้จะกำหนดอายุครรภ์ถึง 24 สัปดาห์ แต่กฎหมายอังกฤษก็ไม่อนุญาตการทำแท้งตามคำขอ (on request)[9] จะทำแท้งในอังกฤษต้องปรากฏเหตุที่กำหนด เช่น อันตรายต่อสุขภาพหญิงหรือเด็ก โดยคำนึงถึงเหตุผลรอบด้านของผู้หญิงทั้งทางเศรษฐกิจสังคม[10]

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไทยก็ได้กล่าวว่ากฎหมายควรคำนึงถึงสิทธิของผู้หญิงที่จะทำแท้งได้ในช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสม แต่ศาลก็ไม่ได้บอกว่าอายุครรภ์ที่เหมาะสมคืออายุครรภ์เท่าใด

ผมเห็นว่าการกำหนดอายุครรภ์ที่อาจทำแท้งได้ตามคำขอของหญิง (on request) ที่ 12 สัปดาห์น่าจะสมเหตุสมผลกว่า 20 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลดังนี้

1) อายุครรภ์ที่น้อย การทำแท้งย่อมทำให้ผู้หญิงมีความปลอดภัยมากขึ้น

2) ตัวอ่อนอายุเกิน 12 สัปดาห์ โตมากแล้วและมีลักษณะหลายอย่างที่บ่งบอกถึงสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่

3) ระยะเวลา 12 สัปดาห์น่าจะมากพอที่จะให้ผู้หญิงตัดสินใจ

4) หากจะบอกว่าทารกที่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ คลอดออกมาก็ตายอยู่ดี เป็นการกล่าวที่คำนึงถึงสิทธิผู้หญิงด้านเดียวโดยไม่สนใจถึงสิทธิของตัวอ่อนหรือทารก

5) ข้อมูลทั่วโลกและในประเทศไทยที่มีการทำแท้งส่วนมากในปัจจุบันก็ทำกันอยู่ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์

6) การทำแท้งที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ที่ปรากฏเหตุอื่นก็ยังเปิดช่องให้ทำได้อยู่ เช่น การตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายหรือจิตใจของผู้หญิงหรือของเด็ก

 

กฎหมายทำแท้งใหม่ที่มีผลใช้บังคับแล้วเป็นการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการถึงสิทธิของผู้หญิงในการจัดการกับเนื้อตัวร่างกายของตนเอง แต่ยังมีประเด็นที่จะต้องลงในรายละเอียดในกฎเกณฑ์ของแพทยสภาเพื่อให้การทำแท้งที่ถูกกฎหมายปลอดภัยและเป็นทางออกให้ผู้หญิงอย่างแท้จริง การสร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรกับผู้หญิง เช่น ไม่เป็นความลับ สร้างขั้นตอนวุ่นวาย ก็จะทำให้ผู้หญิงกลับไปสู่การทำแท้งเถื่อนอยู่นั่นเอง นอกจากนี้ หากจะพูดถึงประเด็นเรื่องอายุครรภ์ที่อนุญาตให้ทำแท้งตามคำขอของผู้หญิงได้ถึง 20 สัปดาห์ ดูเหมือนกฎหมายไทยจะคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงก้าวหน้ากว่าอีกหลายๆ ประเทศที่เขาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมั่นคง ซึ่งแน่นอนที่สุดย่อมไปเบียดสิทธิของตัวอ่อนที่ต้องการมีชีวิตอยู่เกินไป

 

 


[1] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564

[2] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2563

[3] ประมวลกฎหมายสุขภาพ (Code de la santé publique)

มาตรา L.2212-4 วรรคสอง

“Pour la femme mineure non émancipée, cette consultation préalable est obligatoire et l’organisme concerné doit lui délivrer une attestation de consultation. Si elle exprime le désir de garder le secret à l’égard des titulaires de l’autorité parentale ou de son représentant légal, elle doit être conseillée sur le choix de la personne majeure mentionnée à l’article L. 2212-7 susceptible de l’accompagner dans sa démarche.”

มาตรา 2212-7

“Si la femme est mineure non émancipée, le consentement de l’un des titulaires de l’autorité parentale ou, le cas échéant, du représentant légal est recueilli. Ce consentement est joint à la demande qu’elle présente au médecin ou à la sage-femme en dehors de la présence de toute autre personne.

“Si la femme mineure non émancipée désire garder le secret, le médecin ou la sage-femme doit s’efforcer, dans l’intérêt de celle-ci, d’obtenir son consentement pour que le ou les titulaires de l’autorité parentale ou, le cas échéant, le représentant légal soient consultés ou doit vérifier que cette démarche a été faite lors de l’entretien mentionné à l’article L. 2212-4.

“Si la mineure ne veut pas effectuer cette démarche ou si le consentement n’est pas obtenu, l’interruption volontaire de grossesse ainsi que les actes médicaux et les soins qui lui sont liés peuvent être pratiqués à la demande de l’intéressée, présentée dans les conditions prévues au premier alinéa. Dans ce cas, la mineure se fait accompagner dans sa démarche par la personne majeure de son choix.

“Après l’intervention, une deuxième consultation, ayant notamment pour but une nouvelle information sur la contraception, est obligatoirement proposée aux mineures.”

[4] ประมวลกฎหมายสุขภาพ มาตรา L. 2212

“Un médecin ou une sage-femme n’est jamais tenu de pratiquer une interruption volontaire de grossesse mais il doit informer, sans délai, l’intéressée de son refus et lui communiquer immédiatement le nom de praticiens ou de sages-femmes susceptibles de réaliser cette intervention selon les modalités prévues à l’article L. 2212-2.”

[5] Marge Berer  Abortion Law and Policy Around the World

In Search of Decriminalization Abortion Law and Policy Around the World (nih.gov)

[6] ตั้งแต่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 รวมประเทศไทยด้วยก็จะเพิ่มเป็น 68 ประเทศ

[7] The World’s Abortion Laws | Center for Reproductive Rights

[8] ประมวลกฎหมายสุขภาพ มาตรา L2212-1 (Code de la santé publique)

La femme enceinte qui ne veut pas poursuivre une grossesse peut demander à un médecin ou à une sage-femme l’interruption de sa grossesse. Cette interruption ne peut être pratiquée qu’avant la fin de la douzième semaine de grossesse.

Toute personne a le droit d’être informée sur les méthodes abortives et d’en choisir une librement.

Cette information incombe à tout professionnel de santé dans le cadre de ses compétences et dans le respect des règles professionnelles qui lui sont applicables.

[9] Britain’s Abortion Law | Briefings | Advocacy | BPAS

[10] Abortion Act 1967 (legislation.gov.uk)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save