fbpx
ความเหลื่อมล้ำในอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นิวนอร์มอลของความไม่เท่าเทียมในสังคม

ความเหลื่อมล้ำในอาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร นิวนอร์มอลของความไม่เท่าเทียมในสังคม

ภวินทร์ เตวียนันท์ และ กัลป์ กรุยรุ่งโรจน์ เรื่อง

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้การใช้บริการธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Grab, LINE MAN และ Food Panda กลายมาเป็นหนึ่งในชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การขยายตัวของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของช่องทางการหารายได้มากขึ้น นอกจากร้านอาหารจะได้ช่องทางการขายที่เปิดกว้างขึ้นแล้ว แรงงานที่ต้องการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลักหรือรายได้เสริม ก็สามารถเข้ามาทำงานเป็นผู้ขับรถส่งอาหาร (ไรเดอร์) ให้กับแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้

คำถามสำคัญที่ตามมาคือ การเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารจะสามารถกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับแรงงานที่เข้าเป็นไรเดอร์ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่ บทความนี้จึงพยายามตอบคำถามนี้ โดยวิเคราะห์ว่าบรรดาไรเดอร์ของแพลตฟอร์มส่งอาหารจะต้องพบเจออุปสรรคหรือความเหลื่อมล้ำในลักษณะใดบ้าง

การวิเคราะห์ครอบคลุมทั้งหมดสามแง่มุม แง่มุมแรกคือ ต้นทุนและอุปสรรคต่างๆ ในการเข้าทำงานเป็นไรเดอร์ มีอะไรบ้าง แง่มุมที่สองคือ การที่ไรเดอร์แต่ละคนอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแรงงานที่เข้ามาทำงานเป็นไรเดอร์อย่างไร และแง่มุมสุดท้ายคือ ระดับรายได้ของผู้ให้บริการส่งอาหารในแต่ละจังหวัดมีความเชื่อมโยงกันกับระดับรายได้ รายจ่าย และหนี้สินของครัวเรือนในแต่ละจังหวัดอย่างไร

ต้นทุนในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ
ผู้ขับขี่ขนส่งอาหาร

ต้นทุนของการเข้าทำงานเป็นไรเดอร์แบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรกคือต้นทุนในการมีพาหนะในการขนส่ง ซึ่งมักจะเป็นรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครัวเรือนในประเทศไทยที่จะมีรถจักรยานยนต์ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนยากจนที่มีระดับรายจ่ายต่อเดือนไม่ถึง 7,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 6.24% ของประชากรทั้งประเทศ สำหรับครัวเรือนกลุ่มนี้ การจะแบกรับค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ที่อาจจะสูงถึง 2,000-3,000 พันบาทต่อเดือน รวมถึงต้นทุนการดูแลรักษาจักรยานยนต์ด้วยอีกส่วนหนึ่งนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ต้นทุนในส่วนที่สองก็คือค่าสมัคร ซึ่งอยู่ในช่วงราคาประมาณ 200-400 บาท แต่ทั้งนี้ในบางแพลตฟอร์มยังมีต้นทุนเพิ่มเติมที่แตกต่างกันออกไปเช่น Grab ที่ให้พาร์ทเนอร์ในกรุงเทพมหานครซื้อเสื้อและกล่องสำหรับใส่อาหารราคาประมาณ 1,150 – 1,650 บาท (ราคาขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นในช่วงเวลานั้น) ต้นทุนทั้งค่าสมัครและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังกล่าวนี้เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 20-30 เปอร์เซนต์ของรายจ่ายทั้งเดือนสำหรับกลุ่มครัวเรือนยากจน (หรือคิดเป็น 50-75 เปอร์เซนต์ของรายจ่ายทั้งเดือนของกลุ่มยากเมื่อแยกเป็นรายคน) ถือว่าเป็นอีกอุปสรรคที่ทำให้กลุ่มแรงงานยากจนมีโอกาสเข้าถึงอาชีพนี้ได้ยากขึ้น

แม้ว่าแพลตฟอร์มอย่าง Grab จะเปิดให้บริการ Grab Walk ซึ่งผู้ให้บริการสามารถซื้อและส่งของให้ลูกค้าได้ด้วยการเดินเท้า ทำให้ผู้ที่ไม่มีจักรยานยนต์สามารถสมัครเข้าไปเป็นผู้บริการได้ แต่บริเวณที่มีความหนาแน่นของร้านค้าและชุมชนโดยส่วนใหญ่จะเป็นโซนในตัวเมืองทั้งสิ้น และไม่ใช่ทุกคนที่จะอยู่ในโซนดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ความหนาแน่นของร้านค้าและค่าตอบแทน

แง่มุมต่อมา เราทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการกระจายตัวของร้านค้ากับโอกาสในการได้รับรายได้ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เราสามารถวิเคราะห์ความหนาแน่นของร้านค้าแต่ละพื้นที่ผ่านข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้าต่างๆ จาก Open Street Map (OSM) หากพื้นที่ใดมีร้านค้ากระจุกตัวอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านขนม ร้านขายเนื้อสัตว์ บาร์ และห้างสรรพสินค้า เราก็สามารถอนุมานได้ว่าพื้นที่นั้นน่าจะมีความต้องการใช้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหารเยอะ

เมื่อนำข้อมูลนี้มาสร้างเป็นแผนที่ความหนาแน่นของร้านค้า ก็จะออกมาเป็นดังรูปด้านล่างนี้ ยิ่งพื้นที่ไหนมีสีเขียวเข้มมาก ก็แสดงว่าพื้นที่นั้นมีปริมาณร้านค้าหนาแน่นมาก

รูปที่ 1 : แผนที่แสดงความหนาแน่นของร้านค้า ร้านอาหารที่อาจเป็นพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์มส่งอาหาร ด้วยการใช้ข้อมูลจาก Open Street Map

จากภาพ เราจะเห็นได้ว่าความหนาแน่นของร้านค้าที่เป็นไปได้ที่จะมีความต้องการสั่งอาหารของลูกค้าผ่านทาง Grab มักจะอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล และเชียงใหม่ มากกว่ากลุ่มจังหวัดอื่นมาก เราจึงอนุมานได้ว่าปริมาณงานส่งอาหารที่ผู้ให้บริการจะได้รับนั้นจะกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดเหล่านี้มากกว่าจังหวัดอื่นเช่นกัน ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในโอกาสการได้รับงานระหว่างแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ร้านค้าหนาแน่นกับพื้นที่อื่น

ในแง่ค่าตอบแทน ระบบค่าตอบแทนที่จูงใจให้คนเข้ามาทำงานเป็นไรเดอร์ให้กับแพลตฟอร์มส่งอาหารมักแบ่งออกได้เป็นสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือค่าตอบแทนปกติเมื่อขับส่งอาหาร ซึ่งคิดเป็นค่าบริการแบบคงที่รอบละ 30 บาท บวกกับอัตราค่าบริการต่อระยะทาง เช่น 4.75 บาทต่อกิโลเมตร รูปแบบที่สองคือโบนัส ซึ่งมีทั้งโบนัสเงินสดที่คิดตามจำนวนรอบในการขับส่งอาหาร (ดังตัวอย่างตามตารางที่ 1 ด้านล่าง) และโบนัสจากการสะสมเพชร ซึ่งได้ตามจำนวนรอบ แล้วตีออกมาเป็นจำนวนเงิน เช่น การส่งอาหารได้ 1 รอบ คิดเป็น 5 กะรัต หากสะสมครบ 80 กะรัตภายใน 12 ชั่วโมง ก็จะได้โบนัส 175 บาท การให้โบนัสผ่านการสะสมรอบและการสะสมเพชรนี้เป็นเครื่องมือจูงใจให้คนขับทำรอบการส่งมากขึ้น โดยที่แพลตฟอร์มจะเปลี่ยนอัตราโบนัสไปเรื่อยๆ

ภายใต้ระบบจูงใจให้ไรเดอร์ทำรอบให้ได้เยอะๆ เพื่อจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมนี้ ไรเดอร์ที่ทำงานอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของร้านค้าสูง ก็จะมีโอกาสในการได้รับรายได้และโบนัสมากกว่าไรเดอร์ที่ทำงานในพื้นที่ที่มีร้านค้ากระจุกตัวน้อย นี่จึงสะท้อนถึงสภาพความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่หลายประการที่เกิดกับแรงงานที่เข้ามาทำงานในแพลตฟอร์มส่งอาหาร

ตารางที่ 1 : แสดงตัวอย่างค่าโบนัสที่ได้รับจากการขับส่งอาหาร                                      ที่มา : https://grabdriverth.com/grabschool-2/incentive

ความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัด

แง่มุมสุดท้ายคือการศึกษาว่า ความเหลื่อมล้ำในรายได้จากการส่งอาหารในแต่ละพื้นที่นั้นมีความเชื่อมโยงกับระดับรายได้ รายจ่าย และหนี้สินของครัวเรือนในแต่ละจังหวัดอย่างไร

การวิเคราะห์ทำได้โดยการนำเอาข้อมูลโครงสร้างค่าจ้างการขนส่งของพาร์ทเนอร์ของ Grab ที่มีระดับราคาเริ่มต้นสามระดับที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด (15, 30 และ 40 บาทต่อเที่ยว) มาเปรียบเทียบกับแผนที่ความหนาแน่นของร้านค้าตามที่ปรากฎในรูปที่ 1 ด้านบน เราจะพบว่ากลุ่มจังหวัดที่มีความหนาแน่นของร้านค้ามากก็จะมีระดับค่าจ้างเริ่มต้นต่อเที่ยวที่มากตามไปด้วย ความแตกต่างนี้ยิ่งสะท้อนว่านอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำในด้านปริมาณงานที่มีโอกาสได้รับในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในค่าจ้างขนส่งด้วย

รูปที่ 2 : แผนที่แสดงระดับค่าจ้างต่อเที่ยวที่จะได้รับเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของร้านค้า

ด้านซ้าย – จำนวนความหนาแน่นร้านค้าจากข้อมูล Open Street Map
ด้านขวา – ค่าขนส่งขั้นต่ำที่ได้รับรายจังหวัดโดยสรุปจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Grab

นอกจากนี้ เมื่อเรานำข้อมูลระดับค่าจ้างเริ่มต้นที่ได้รับจากการขับส่งอาหารมาเปรียบเทียบกับแผนที่ระดับหนี้สิน ระดับรายได้ และระดับรายจ่าย ที่ได้จากข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประชากรในปี 2562 ดังแสดงตามรูปที่ 3 ด้านล่าง จะเห็นได้ว่าระดับรายได้และรายจ่ายในแต่ละจังหวัดก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับระดับค่าจ้างเริ่มต้นต่อเที่ยวที่จะได้รับ เราจึงกล่าวได้ว่า โอกาสในการได้รับรายได้ของไรเดอร์ขึ้นอยู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจของจังหวัดที่ตนเองทำงานอยู่

นอกจากนั้น หากพิจารณาระดับค่าจ้างเริ่มต้นจากการขับส่งอาหารเทียบกับระดับหนี้สินครัวเรือน เรากลับพบว่ามีทิศทางที่ตรงกันข้าม กล่าวคือจังหวัดที่ได้ค่าขนส่งต่อเที่ยวต่ำ กลับเป็นจังหวัดที่มีหนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่สูงกว่าจังหวัดที่มีค่าจ้างที่สูง นี่ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่มากขึ้น

รูปที่ 3 : แผนที่แสดงระดับรายได้ หนี้สิน และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือน รายจังหวัดในปี พ.ศ. 2562
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

จากการวิเคราะห์ในทั้งสามแง่มุม เราจะเห็นได้ว่ากระแส new normal ที่อาชีพไรเดอร์ของแพลตฟอร์มส่งอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น ไม่ได้เป็นการสร้างโอกาสที่แรงงานทุกคนจะเข้าถึงได้อย่างทัดเทียมกัน เพราะแรงงานที่ได้เปรียบก็คือแรงงานที่มีความสามารถในการแบกรับต้นทุน และอยู่ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของร้านค้าสูง สิ่งที่น่าคิดต่อไปจากข้อสังเกตเหล่านี้ก็คือว่า กระแสการดำเนินกิจวัตรประจำวันใหม่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยหรือไม่

ทางออกของปัญหา?

ถึงแม้ว่าการมาของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะมาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจอันมหาศาล และยังเป็น ‘ทางรอด’ ของแรงงานจำนวนมากในภาวะโรคระบาด แต่สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้มีการกระจายอย่างเท่าเทียม เพราะโดยธรรมชาติ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายขนาดใหญ่ ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด ยิ่งมีผู้ใช้กระจุกตัวในแพลตฟอร์มมากเท่าไหร่ โอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

โอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของธุรกิจส่งอาหารจึงซ้อนทับกับปัญหาโครงสร้างที่มีการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่เมืองศูนย์กลาง ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของแพลตฟอร์มส่งอาหารจึงมิได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางเศรษฐกิจนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่แรงงานบนแพลตฟอร์มต้องเผชิญ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่กลุ่มไรเดอร์แสดงความไม่พอใจ จนมีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แพลตฟอร์มปรับปรุงกติกาแล้วสองครั้ง ซึ่งมีทั้งประเด็นต้นทุนแรกเข้า และประเด็นค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมอยู่ในข้อเรียกร้องด้วย

การระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ new normal ทำให้การส่งอาหารโดยธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวคนทั่วไปมากขึ้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภคก็ตาม ดังนั้น การพิจารณาความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศของธุรกิจส่งอาหารจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือความเป็นธรรมของค่าจ้าง การออกมาเรียกร้องของเหล่าไรเดอร์ชวนให้สังคมต้องกลับมาทบทวนว่า การคำนวณค่าจ้างในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างที่เป็นอยู่นี้มีความเป็นธรรมหรือไม่ และจะออกแบบระบบอย่างไรเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับแรงงาน การสร้างแรงกดดันให้ธุรกิจแพลตฟอร์มปรับปรุงระบบและกติกาเพื่อให้มีการกระจายประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม ถือเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้น

ประเด็นที่สอง หากธรรมชาติของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มคือการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายขนาดใหญ่และการประหยัดจากขนาด นั่นหมายความว่า แพลตฟอร์มบางประเภท เช่น การบริการส่งอาหาร อาจไม่ใช่เครื่องมือที่ตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ สังคมไทยอาจจะต้องคิดหาทางสนับสนุนเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสร้างงานและตอบโจทย์พื้นที่ที่มีความกระจุกตัวของประชากรน้อย

ประเด็นสุดท้าย ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่เกิดขึ้นกับไรเดอร์ในธุรกิจแพลตฟอร์มส่งอาหารเป็นสิ่งสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่าที่สร้างการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจที่เมืองศูนย์กลาง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยโดยที่ไม่คำนึงถึงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำเดิม อาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้น

ดังนั้น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงไม่อาจทำได้แค่ในระดับกติกาของแพลตฟอร์ม หากแต่ต้องแก้ถึงในระดับโครงสร้างใหญ่ของสังคม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save