fbpx
เอซี มิลาน vs อินเตอร์ มิลาน : เชื้อชาติกับชนชั้นที่แตกต่าง สู่การแบ่งเมืองเป็นสองสี

เอซี มิลาน vs อินเตอร์ มิลาน : เชื้อชาติกับชนชั้นที่แตกต่าง สู่การแบ่งเมืองเป็นสองสี

The Rivalry – คู่ปรับแห่งโลกกีฬา : วิวัฒนาการสงครามตัวแทนของความขัดแย้งในอดีต

 

สมศักดิ์ จันทวิชชประภา เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

‘มาดอนนินา’ น่าจะเป็นหนึ่งในรูปปั้นพระแม่มารีย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกซึ่งถูกประดิษฐานไว้ ณ ยอดมหาวิหารแห่งมิลาน ซึ่งกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ในเมืองชื่อดังของแคว้นลอมบาดี ทางตอนเหนือประเทศอิตาลี ที่ใครๆ ก็ต่างต้องไปเยือนเมื่อได้มายังเมืองแฟชั่นแห่งนี้

แต่สำหรับแฟนกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลแล้ว อาจจะรู้จักชื่อของ ‘มาดอนนินา’ ในชื่อเรียกอื่นมาก่อนที่จะรู้ว่ามีที่มาจากรูปปั้นทองเหลืองปิดทองที่สร้างขึ้นในปี 1774 เสียอีก เพราะพวกเขาอาจจะได้ยินคำว่า ‘ดาร์บี เดลลา มาดอนนินา’ ที่หมายถึงเกม ‘มิลานดาร์บี’ อันโด่งดังซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าร้อยปีเกมนี้

จุดเริ่มต้นของการแบ่งสีของเมืองแห่งนี้ออกเป็นสีแดงกับน้ำเงินมีประวัติศาสตร์ยาวนานนับศตวรรษ ซึ่งก็ไม่ต่างกับเรื่องราวคลาสสิกของทีมคู่แข่งในโลกกีฬาอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งธรรมดา หรือรอยร้าวเล็กๆ จนกลายเป็นความบาดหมางอันยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา และสืบเนื่องผ่านการเวลามาในรูปแบบของสงครามตัวแทนในสนามการแข่งขัน

นี่คือเรื่องราวของสองสโมสรที่ขัดแย่งกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอุดมการณ์ ฐานแฟนบอล ไปยันความหมายในชื่อ รวมไปถึงสีและสัญลักษณ์ของทีม แต่ทั้งคู่กลับอยู่ในเมืองเดียวกันและใช้สนามแห่งเดียวกันในเมืองเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพียง 181.8 ตารางกิโลเมตร นี่คือเรื่องราวของ ‘ปีศาจแดงดำ’ เอซี มิลาน และ ‘งูใหญ่’ อินเตอร์ มิลาน

 

เริ่มต้นด้วยสีแดง

 

ย้อนเวลาไปกว่า 120 ปี นับจากเกมนัดล่าสุดของเกม ‘ดาร์บี เดลลา มาดอนนินา’ ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งที่ 227 ของ 2 ทีมแห่งเมืองมิลาน กลับไปในยุคที่การก่อตั้งทีมฟุตบอลเริ่มเฟื่องฟู เมื่อราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลของอังกฤษ เริ่มแพร่หลายเข้ามาทางทิศตะวันออกสู่ภาคพื้นยุโรป และอิตาลีก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลดังกล่าวด้วย

“พวกเราจะเป็นทีมแห่งปีศาจ สีของเราคือสีแดงดุจเปลวเพลิงกับสีดำซึ่งจะชักนำความกลัวมาสู่คู่แข่งของเรา”

คำพูดสั้นๆ ของเฮอร์เบิร์ต คิลปิน กัปตันคนแรกชาวอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ผู้ก่อตั้งสโมสรที่จะกลายมาเป็นแชมป์สโมสรยุโรป 7 สมัยในอนาคต พูดกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 2 คนคือ อัลเฟรด เอ็ดเวิร์ด ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรคนแรก และ ซามูเอล ริชาร์ด เดวีส ที่ต่อมากลายเป็นกองหน้าของทีม

จากจุดนั้นสโมสรเอซี มิลาน ในปัจจุบันได้กำเนิดขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม 1899 แต่ในตอนนั้นพวกเขายังไม่ได้มีชื่อแบบที่เป็นในปัจจุบันนี้ ซึ่งคือ Associazione Calcio Milan (A.C. Milan) และจริงๆ แล้ว กว่าจะมีชื่อเป็นแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ สโมสรต้องผ่านการต่อสู้และเปลี่ยนแปลงอย่างยาวนานกว่า 50 ปี กว่าจะมีชื่อแบบที่เราคุ้นหูกัน

แรกเริ่มเดิมที ทั้ง คิลปิน เอ็ดเวิร์ด และเดวีส ต้องการให้สโมสรจากเมืองมิลานแห่งนี้ เอาดีทางด้านคริกเก็ตอีกอย่างด้วยซ้ำไป เพราะชื่อแรกของสโมสรนี้คือ สโมสรฟุตบอลและคริกเกตแห่งมิลาน (Milan Football and Cricket Club) แต่ด้วยความเข้าถึงง่ายกว่าและไม่ต้องมีอุปกรณ์มากมายเท่า ทำให้ฟุตบอลเป็นที่นิยมมากกว่า และต่อมาทำให้อีก 2 ทศวรรษ คำว่า ‘คริกเกต’ ก็หายไปจากชื่อสโมสรแห่งนี้ เหลือเพียงแค่ สโมสรฟุตบอลมิลาน (Milan Football Club) เท่านั้น ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 1936 เป็น สมาคมกีฬามิลาน (Milan Associazione Sportiva) แต่ก็ใช้ชื่อนี้ได้เพียงแค่ 2 ปี พวกเขาก็ต้องกลับมาใช้ชื่อเกี่ยวกับฟุตบอลอย่างเดียวอีกครั้ง คือ สมาคมกีฬาฟุตบอลมิลาน (Associazione Calcio Milano) ก่อนที่สุดท้ายจะเป็น Associazione Calcio Milan แบบในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การมีผู้ก่อตั้งเป็นชาวอังกฤษถึง 3 คน ทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมาภายหลังและต่อเนื่องยาวมาจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับเรื่องของตราสัญลักษณ์สโมสรที่มีกางเขนแดงบนพื้นขาวเสมือนธงเซนต์จอร์จของประเทศอังกฤษ โดยหลายคนเข้าใจว่านั่นคือธงชาติอังกฤษ ที่สโมสรต้องการให้เกียรติกับผู้ก่อตั้งที่เป็นชาวอังกฤษ แต่จากข้อมูลของสโมสรกลับอธิบายว่ากางเขนดังกล่าวมีที่มาจาก กางเขนแห่งเซนต์แอมโบรส นักบุญอุปถัมภ์ของเมืองมิลาน และตราสัญลักษณ์ของเมืองอันนี้ก็ถูกใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 หรือกว่า 1,200 ปีก่อนที่อังกฤษจะสถาปนาธงเซนต์จอร์จด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ความคล้ายคลึงกันของสัญลักษณ์เมืองมิลานกับบ้านเกิดคนทั้ง 3 ที่เป็นผู้ก่อตั้งสโมสรอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญไปเสียทีเดียว เพราะไม่มีใครรู้ว่าทำไมทั้ง คิลปิน เอ็ดเวิร์ด และเดวีส มาก่อตั้งทีมฟุตบอลที่มิลานทั้งที่ในยุคนั้นยังมีเมืองอื่นๆ ในอิตาลีที่น่าสนใจกว่าให้พวกเขาลงหลักปักฐานอย่าง เวนิส หรือ ฟลอเรนซ์ นั่นทำให้ยังมีคนบางส่วนเชื่อว่า ที่ทั้ง 3 คนนั้นเลือกมิลาน เพราะความคล้ายคลึงกันของธงอังกฤษและสัญลักษณ์ของมิลานก็ได้

 

ความขัดแย้งสีน้ำเงิน

 

การเกิดขึ้นของสโมสรฟุตบอลและคริกเกตแห่งมิลาน สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการฟุตบอลอิตาลีอย่างทันทีทันใด พวกเขาเป็นสโมสรที่ 4 ในอิตาเลียน ฟุตบอล แชมเปียนชิป และหลังจากเข้าร่วมแค่ปีเดียว พวกเขาก็คว้าแชมป์เหนือทีมที่มาก่อนอย่าง ยูเวนตุส ยิมนาสติกา โตริโน และเมดิโอลานัม ได้สำเร็จ พร้อมคว้าแชมป์ได้ในปี 1904 และ 1907 ด้วย

แม้ทุกอย่างจะดูสวยหรู แต่คลื่นใต้น้ำได้ก่อตัวมาสักระยะแล้ว และมันก็ขึ้นมาเหนือน้ำก่อนซัดเข้าฝั่งอย่างแรงในปี 1908 เมื่อนักเตะส่วนหนึ่งของสโมสรไม่พอใจแนวทางและนโยบายการทำทีมที่มีการกีดกันชาวต่างชาติในการลงสนาม รวมไปถึงพวกเขามองว่าสโมสรฟุตบอลและคริกเกตแห่งมิลาน มีนโยบายชาตินิยมและเน้นพวกพ้องมากเกินไป ทำให้พวกเขาแยกตัวออกตั้งสโมสรฟุตบอลอีกทีมหนึ่งในเมืองมิลาน โดยใช้ชื่อว่า สโมสรฟุตบอลอินเตอร์นาซิอองนาเล มิลาโน (Football Club Internazionale Milano)

แม้สโมสรจะออกมานิยามสีประจำทีมตัวเองว่า การใช้สีน้ำเงิน-ดำ คือการแสดงออกถึงกลางวันและกลางคืน โดยสีดำถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของกลางคืน และสีน้ำเงินถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของท้องฟ้า แต่บรรดาแฟนบอลเก่าแก่และสื่อมวลชนสายกีฬาในอิตาลีบางส่วนก็เชื่อว่าการใช้สีของพวกเขานั้นต้องการแสดงออกถึงการเป็นทีมตรงข้ามกับสโมสรต้นกำเนิด เพราะอุดมการณ์ที่ต่างกันคนละขั้ว

แรกเริ่มเดิมที ‘อินเตอร์’ ต้องการจะใช้คู่สีน้ำเงิน-ขาว ด้วยซ้ำไป หากแต่ตอนนั้น สโมสรอังเดรีย โดเรีย (ปัจจุบันคือ ซามพ์โดเรีย) ใช้คู่สีนั้นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้พวกเขาจึงจำใจใช้สีน้ำเงิน-ดำแทน ขณะที่ทางฝั่ง ‘มิลาน’ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษแบบเต็มตัวในตอนนั้นว่า สโมสรฟุตบอลและคริกเกตแห่งมิลาน (Milan Football and Cricket Club) พวกเขาก็ตั้งชื่อสโมสรด้วยภาษาอิตาเลียนแบบเต็มตัวเช่นกันว่า อินเตอร์นาซิอองนาเล มิลาโน (Internazionale Milano)

นอกจากนี้ การใช้ตราสัญลักษณ์ทีมเป็น อิล บิสซิโอเน (Il Biscione) หรืองูใหญ่นั้น เป็นการพยายามสื่อว่าพวกเขาคือทีมของมิลานอย่างแท้จริง เนื่องจาก อิล บิสซิโอเน หรือ ตรางูใหญ่กำลังกินคนอยู่ในปากนั้น เป็นหนึ่งในตราสัญลักษณ์สำคัญของเมืองมิลานไม่แพ้กับธงแห่งเซนต์แอมโบรส เพราะมันเป็นที่รู้จักในฐานะกองทหารส่วนตัวของตระกูล สฟอร์ซี ซึ่งเคยปกครองอิตาลีจากเมืองมิลาน และสืบทอดมาเป็นตราประจำตระกูลวิสคอนติ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองมิลานเก่าและยังเคยเป็นประธานสโมสรในช่วงสั้นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ตราสโมสรรูปงูใหญ่ ก็ถูกใช้กับทีมในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นตราสโมสรรูปตัวอักษร F C I และ M แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน หลังพวกเขาได้ ‘จอร์โจ มักกีอานี’ ศิลปินและหนึ่งในผู้ก่อตั้งสโมสร เป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์นี้ขึ้นมา

 

สิ่งที่ตอกย้ำความต่างคือ ‘ชนชั้น’

 

หลังการเกิดขึ้นของอินเตอร์ มิลาน ฐานแฟนบอลในเมืองก็ยังไม่ได้ถูกแบ่งอย่างชัดเจนดุจดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากในยุคต้นศตวรรษที่ 20  แม้มิลานจะเป็นเมืองสำคัญทางตอนเหนือของอิตาลี แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเมืองใหญ่ และมีประชากรมากมายขนาดนี้ ทั้งสองทีมจึงต่างได้รับการสนับสนุนจากชาวเมืองไม่ต่างกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป การแบ่งฝักฝ่ายก็เริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น

แม้เอซี มิลาน จะเกิดมาก่อนเกือบทศวรรษ แต่การมีผู้ก่อตั้งเป็นชาวต่างชาติชนชั้นกลางทำให้พวกเขายึดโยงกับคนชนชั้นกลางค่อนไปทางชนชั้นรากหญ้าได้มากกว่า ขณะที่ทางฝั่งอินเตอร์ถึงแม้จะก่อตั้งทีหลัง แต่ด้วยการวางตัวรวมไปถึงการใช้ตราสัญลักษณ์ซึ่งเคยเป็นของตระกูลชนชั้นขุนนาง ทั้งยังมีชนชั้นพ่อค้ากับขุนนางเก่ามาเป็นประธานสโมสร แถมพวกเขายังตอกย้ำฐานะของตัวเองจากการได้รับการออกแบบตราสโมสรจากฝีมือจิตรกรชื่อดัง ทำให้ทางฝั่ง ‘งูใหญ่’ ดูเป็นทีมของชนชั้นบนมากกว่า ‘ปีศาจแดงดำ’

สิ่งเหล่านั้นยิ่งสะท้อนออกมาในการเก็บค่าตั๋วชมเกม ที่อินเตอร์จะวางตัวเหนือคู่แข่งร่วมเมืองของพวกเขาด้วยการเก็บค่าตั๋วแพงกว่าเล็กน้อย ซึ่งส่วนต่างตรงนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชนชั้นบนที่จะเข้ามาดูเกม แต่กับชนชั้นรากหญ้าแล้ว ส่วนต่างที่ว่าเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาซื้อบุหรี่หรือเครื่องดื่มเพื่อเข้ามาชมเกมในสนามเพิ่มได้ ดังนั้นภาพลักษณ์ของทั้งสองสโมสรยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อการแข่งขันระหว่างทั้งสองทีมรุนแรงขึ้น คำเหยียดใส่แฟนบอลของอีกฝ่ายก็เริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยฝั่งอินเตอร์จะเรียกแฟนบอลของมิลานว่า ‘คาสเซียวิด’ (Casciavid) ซึ่งแปลว่า ‘ไขควง’ มาจากการที่พวกเขาเป็นชนชั้นแรงงาน ต้องพกอุปกรณ์อย่างไขควงหรือประแจเป็นเครื่องมือในการทำงาน และเนื้อตัวมักเปรอะเปื้อนคราบน้ำมันจากโรงงานอุตสาหกรรมเสมอๆ

ขณะที่ฝั่งมิลานก็มักจะเรียกแฟนอินเตอร์ว่า ‘เบาส์เซีย’ (Bauscia) ซึ่งมีความหมายในเชิงล้อเลียนว่า ‘พวกขี้โม้’ โดยมาจากการที่บรรดาแฟนอินเตอร์ชอบคุยโวและทับถมแฟน ‘ปีศาจแดงดำ’ ในยุคราว 1927-1938 ซึ่งทีม ‘งูใหญ่’ เป็นฝ่ายทำผลงานข่มอยู่ข้างเดียว

ในยุคสมัยที่สนามซาน ซิโร เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่นาน ชาวเมืองมิลานสามารถแบ่งแยกแฟนบอลทั้งสองทีมได้ไม่ยากด้วยการสังเกตวิธีการเดินทางไปสนามของพวกเขา โดยบรรดา ‘เนรัซซูรี’ มักจะเป็นพวก ‘โมโตเร็ตตา’ (Motoretta) หรือสิงห์นักบิด ที่นิยมเดินทางไปสนามด้วยจักรยานยนต์ส่วนตัว ในทางกลับกันสาวก ‘รอสโซเนรี’ จะถูกเรียกว่า ‘แทรมวี’ (Tramvee) คือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเดินทางไปยังสนาม ซึ่งในยุคนั้นคือยุคสมัยของรถรางนั่นเอง

 

สนามสองสี

 

ปัจจุบันมิลานมีประชากรราว 1.4 ล้านคน ถือเป็นเมืองที่มีประชากรไม่มาก และหากไม่ใช่ช่วงสถานการณ์โควิดเช่นนี้ มิลานถือเป็นหนึ่งในปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนสหภาพยุโรป โดยในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองแห่งนี้ราว 8.81 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 15 ในบรรดาเมืองต่างๆ ของภาคพื้นยุโรป และสามสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมักจะไม่พลาดเมื่อมาเยือนเมืองแห่งนี้ ประกอบไปด้วย มหาวิหารแห่งมิลาน โรงละครโอเปรา ลา สกาลา และ ซาน ซิโร สเตเดียม

ซาน ซิโร สเตเดียม สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของทวีปยุโรป กำลังจะมีอายุครบร้อยปีในอีก 5 ปีข้างหน้า กลายมาเป็นจุดที่ทำให้ความขัดแย่งแห่งเมืองมิลานไม่เหมือนใคร เพราะแม้จะเกลียดกันแค่ไหน ทั้งอินเตอร์และมิลานก็ยังต้องใช้สนามเดียวกันในการแข่งขันอยู่ดี

แรกเริ่มเดิมที สนามแห่งนี้มีชื่อว่า สตาดิโอ ซานซิโร ตามชื่อพื้นที่ แต่ต่อมามันถูกเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า สตาดิโอ จูเซ็ปเป เมียซซา ตามชื่อของตำนานนักฟุตบอลชาวอิตาลีผู้ยิ่งใหญ่ ที่เล่นให้ทั้งเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลานเป็นคนแรก แต่ถึงอย่างนั้น แค่ชื่อสนามก็ยังกลายเป็นเรื่องดรามาได้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างไม่ชอบหน้ากัน

แม้จูเซ็ปเป เมียซซา จะเล่นให้ทั้ง ‘ปีศาจแดงดำ’ และ ‘งูใหญ่’ แต่เขามีช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมในอาชีพกับอินเตอร์ ก่อนจะย้ายมาค้าแข้งในบั้นปลายกับมิลาน นั่นทำให้แฟนเอซี มิลาน ไม่ชอบที่จะใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อเรียกสนามของตัวเองสักเท่าไหร่ สาวก ‘รอสโซเนรี’ มักเรียกสนามแห่งนี้ด้วยชื่อเก่าอย่างซาน ซิโร มากกว่า ขณะที่พลพรรค ‘เนรัซซูรี’ กลับยินดีที่จะเรียกสนามแห่งนี้ด้วยชื่อตำนานของพวกเขา

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ ดาร์บี เดลลา มาดอนนินา ไม่เหมือนเกมดาร์บีที่ไหนในโลก คือการยึดพื้นที่แบบตายตัวของแฟนบอลทั้งสองทีม เพราะถึงแม้ทั้งสองทีมจะใช้สนามแห่งเดียวกัน แต่ก็มีการแบ่งพื้นที่ให้กองเชียร์เดนตาย (Ultras) ไว้อย่างชัดเจน โดยถ้าหาก เอซี มิลานได้เป็นเจ้าบ้าน พื้นที่สำหรับทีมเยือนคือหลังประตูฝั่งเหนือ แต่ถ้าอินเตอร์เป็นเจ้าบ้าน พื้นที่สำหรับทีมเยือนคือหลังประตูฝั่งใต้ ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นเจ้าบ้านในเกมดาร์บีของทั้งคู่ก็ตาม เราก็จะได้เห็นการเผชิญหน้าของสาวกทั้งสองทีม จากทิศเดิมเสมอ โดนแฟนมิลานจะประจำอยู่ที่เคอร์วาซุด (Curva Sud) ส่วนแฟนอินเตอร์จะปักหลักที่เคอร์วานอร์ด (Curva Nord) อย่างแน่นอน และมันจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แฟนบอลของอีกทีม “ไม่มีสิทธิ์” (เสียงพี่ตั๊ก บริบูรณ์) ย่างกรายเข้ามา

 

ดาร์บีที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งกำลังจะหายไป

 

แม้เรื่องราวของ ‘เคอร์วาซุด’ และ ‘เคอร์วานอร์ด’ ในสนามซาน ซิโร กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ดาร์บี เดลลา มาดอนนินา ไม่เหมือนดาร์บีที่ไหนในโลก แต่เราอาจจะได้เห็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมายาวนานเกือบร้อยปีนี้อีกไม่นานแล้ว เพราะทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ถึงแม้สนามจูเซ็ปเป เมียซซา กำลังจะมีอายุครบร้อยปีอีกไม่นาน แต่ด้วยความที่เป็นสนามขนาดใหญ่เกินไป ทำให้แฟนบอลมักเข้ามาชมเกมไม่เต็มความจุสนามในเกมที่ไม่ใช่เกมใหญ่ ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างเก่าเกินไป ยากแก่การบูรณะ ทำให้ทั้งเอซี มิลาน และอินเตอร์ มิลาน ต่างอยากมีสนามแห่งใหม่เป็นของตัวเอง โดยโปรเจ็กต์ดังกล่าวเริ่มเดินหน้าไปแล้วด้วย

ทั้งสองสโมสรตกลงร่วมกันแล้วว่าจะสร้างสนามใหม่ความจุ 60,000 ที่นั่ง มูลค่ากว่า 1.2 พันล้านยูโร หรือราว 43,500 ล้านบาท เริ่มจากการรื้อถอนสนามเดิมเพื่อก่อสร้างสนามแห่งใหม่ หลังส่งคำร้องถึงสภาเมืองเรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้ ทั้งสองทีมมีความกังวลว่า องค์กรมรดกทางวัฒนธรรมอาจไม่อนุญาตให้ทุบหรือทำลายสนามซาน ซิโร เนื่องจากเป็นสิ่งปลูกสร้างอันเก่าแก่ของประเทศและยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

แต่ล่าสุดพวกเขาได้รับไฟเขียวเมื่อองค์กรดังกล่าวจะไม่ขัดขวางการรื้อถอนสนามที่มีอายุเกือบร้อยปีแห่งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากองค์กรดังกล่าวไม่ใช่หน่วยงานตัดสินใจ นั่นทำให้ทั้งสองสโมสรเตรียมเดินหน้าโครงการนี้ต่อ และเตรียมจะทิ้งให้สตาดิโอ ซาน ซิโร เป็นเพียงแค่ความทรงจำ

แม้ทางฝั่งสโมสรทั้งสองทีมจะยืนยันว่า การทุบสนามเก่าเพื่อสร้างสนามใหม่นั้น มันไม่ได้ลบเลือนความทรงจำของทีมออกไปอย่างที่หลายฝ่ายห่วงใยก็ตาม แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์แล้ว โบราณสถานอายุร่วมร้อยปีที่มีความผูกพันกับชาวเมืองแห่งนี้ อาจจะมีความหมายมากกว่าสนามฟุตบอลและสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องมาเยือน เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่มาพร้อมกับมัน

และเมื่อมันหายไป ใครบ้างจะยังกล้าบอกว่าดาร์บี เดลลา มาดอนนินา แห่งเมืองมิลานนี้…จะยังเหมือนเดิม?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save