fbpx
‘มิลเลนเนียลส์’ เจเนอเรชันอับโชคของโลก

‘มิลเลนเนียลส์’ เจเนอเรชันอับโชคของโลก

พิมพ์ชนก พุกสุข เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เดือนมกราคมเพิ่งพ้นไปอย่างทุลักทุเล เปิดสัปดาห์แรกเจอข่าวฝั่งขวาจัดบุกทำเนียบขาวในอเมริกา, การจับกุมนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, คุณปู่ เบอร์นี แซนเดอร์ส กลายเป็นมีมไวรัลไปทั่วโลกทั้งที่แค่นั่งสวมเสื้อโค้ตตัวเก่งเฉยๆ (ดูไว้นะนายคนนั้นอะ) และล่าสุดกับการตั้งคำถามถึงอภิสิทธิ์ของคนดังกับท่าทีโอนอ่อนของฝ่ายรัฐกับการบังคับใช้ข้อกำหนดว่าด้วยการควบคุมโรคต่างๆ ฯลฯ

และทั้งหมดนี้ มีข้อถกเถียงเล็กๆ ในโลกออนไลน์ที่จับใจเราพอสมควร เมื่อคนเกิดก่อนปี 1997 กลายเป็นเป้าโจมตีของ (คาดว่า) ชาวเจนแซด – ที่ตามนิยามแล้วคือคนที่เกิดปลายยุค 90s เรื่อยมาจนถึงต้นยุค 2010 – คนหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตว่าคนเหล่านี้เกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตและถ้าแค่เก็งกำไรถูกก็รวย ทั้งยังทันยุคที่ค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ถูก ได้โบนัสก้อนใหญ่

จริงๆ มันก็อาจเป็นทวิตหนึ่งที่เกิดจากความอัดอั้นหรือบ่นเบื่อตามประสา เพียงแค่ว่ามีชาวมิลเลนเนียลส์หรือเจนวาย หรือก็คือคนที่เกิดต้นยุค 1980s เรื่อยลงมาถึงต้นยุค 1990s แย้งอย่างดุเดือดว่าไม่เห็นจะจริง คนที่โชคดีในช่วงเวลานั้นน่าจะมีแค่พวกคนทำงานแล้วอย่างชาวบูมเมอร์ (คนที่เกิดหลังยุคสงครามโลก) เท่านั้นแหละ ที่พอฉวยความโชคดีอะไรเอาไว้ได้

ในฐานะที่เราเองเป็นชาวเจนวายตามนิยามส่วนใหญ่ ที่เพิ่งอายุครบสามสิบไปเมื่อไม่กี่เดือน เห็นทวิตนี้แล้วหันกลับมาทบทวนตัวเองทันทีว่า นอกจากโรคปวดหลังและความชิงชังต่อโลกแล้ว นี่เรายังมีอะไรเป็นของตัวเองอีกบ้างไหมนะ

นึกถึงฉากหนึ่งของ Fight Club (1999, เดวิด ฟินเชอร์) ไทเลอร์ เดอร์เดนต์ ตัวละครจอมขบถลุกขึ้นปราศรัยในห้องใต้ดินชื้นกลิ่นเหงื่อและคาวเลือด

“แม่งเหอะ คนรุ่นเราทั้งรุ่นทำงานเป็นเด็กปั๊ม, เป็นพนักงานเสิร์ฟอาหารให้พวกพนักงานบริษัท ไล่ซื้อหาเสื้อผ้าและรถยนต์ตามที่โฆษณากล่อม ทำงานที่เราเกลียดเพื่อซื้อของห่าเหวที่เราไม่ได้อยากได้ เราคือลูกคนกลางของประวัติศาสตร์โว้ย เราไม่มีเป้าหมายใดๆ ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ ไม่มีสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เจอเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สงครามเดียวที่เรามีคือสงครามต่อจิตวิญญาณของตัวเอง สิ่งที่ตกต่ำกลายเป็นชีวิตเราเอง เราถูกเลี้ยงมาด้วยโทรทัศน์ที่กล่อมเราว่าวันหนึ่งเราจะกลายเป็นมหาเศรษฐี เป็นดาราหนัง เป็นร็อกสตาร์ แต่เราเป็นไม่ได้หรอก และเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องที่ว่านี้ ซึ่งมันทำให้พวกเราหงุดหงิดฉิบหายเลย”

ในสหรัฐอเมริกา ว่ากันว่าวิกฤต The Great Recession ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2007-2009 เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบโครมใหญ่ใส่ชาวมิลเลนเนียลส์ที่กำลังอยู่ในช่วงทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว โดยเริ่มมาจากช่วงเวลาก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตนั้น ธนาคารในอเมริกาเชื่อว่าชาวอเมริกันทุกคนต้องผ่อนบ้านอยู่แล้ว (ไม่อย่างนั้นจะอยู่อาศัยที่ไหน) และก็ผ่อนบ้านหลายหลัง เนื่องจากตลาดการเงินลดมาตรฐานการกู้ ใครอยากกู้ ก็กู้ซื้อได้ง่ายกว่าที่เคย จนเกิดปรากฏการณ์คนมีบ้านสองสามหลัง (ง่ายขนาดว่า ไม่มีอะไร ไม่มีรายได้ แต่ก็กู้ผ่านจนเกิดเป็นศัพท์ว่า ‘สินเชื่อซัพไพร์ม’ หรือสินเชื่อสำหรับปล่อยให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ)

แต่แล้วช่วงหลังๆ อัตราดอกเบี้ยก็สูงขึ้นสวนทางกับราคาบ้านที่ต่ำลง หลายคนไม่มีเงินชำระหนี้จนผิดนัดหรือถูกยึดทรัพย์ กลายเป็นว่าการล่มสลายของตลาดบ้านในอเมริกานั้นส่งผลสะเทือนถึงเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ความน่าเชื่อถือของตลาดสินเชื่อและระบบธนาคารต่ำลงอย่างน่าใจหาย กลางปี 2008 มีบันทึกว่ายอดขาดทุนพุ่งทะลุไปที่ 4.35 แสนล้านเหรียญฯ (คำอธิบายที่มาที่ไปของวิกฤตครั้งนี้หาดูได้ใน The Big Short (2015) หนังรางวัลออสการ์สาขาเขียนบทยอดเยี่ยม)

คนมิลเลนเนียลส์กลุ่มแรกๆ ที่เพิ่งเรียนจบและเพิ่งเข้าสู่ตลาดการทำงานเลยต้องเจอกำปั้นยักษ์ทุบโครมใหญ่ นอกจากเศรษฐกิจจะฝืดจนงานหายากแล้ว รายได้โดยภาพรวมก็ลดลงไปอีก มากไปกว่านั้น คือชาวมิลเลนเนียลส์ในสหรัฐฯ ยังเป็นกลุ่มคนที่กลุ่มหนึ่งโตมาจากการกู้เงินเรียน

บทความจากฟอร์บส์บอกว่า คนกลุ่มนี้เกิดและโตในยุคที่ระบบเศรษฐกิจของอเมริกาเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง หมายความว่าพวกเขาเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้มากขึ้นก็ด้วยการกู้เงินเรียน ชาวมิลเลนเนียลส์ในสหรัฐฯ ราว 57 เปอร์เซ็นต์บอกว่า หนี้จากการกู้เงินเพื่อไปเรียนคือหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขา เรื่องจะซื้อบ้านเพื่อมาอยู่เองตัวคนเดียวอย่างที่รุ่นพ่อรุ่นแม่พวกเขาทำนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย (สุดท้าย กลุ่มคนที่ซื้อบ้านได้ก็คือชาวบูมเมอร์ที่มีกำลังซื้ออยู่ดี)

บทความของเว็บไซต์ Thriveglobal บอกว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลส์เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง พวกเขาคือคนที่เกิดในครอบครัวของพ่อแม่รุ่นบูมเมอร์ โตมาในยุคอินเทอร์เน็ต (ซึ่งสร้างและพัฒนาโดยคนรุ่นก่อนหน้าเขาอย่างเจนเอ็กซ์) รับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีทัศนคติคนละอย่างกับพ่อแม่ตัวเอง วัยทำงานก็อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของชาวบูมเมอร์และอาจจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกแปะป้ายทับว่า ‘คนรุ่นใหม่ไม่เอาไหน เปราะบางและอ่อนไหว ไม่สู้งาน’ จากหัวหน้าที่ใช้ชีวิตอยู่ในทัศนคติและโลกแบบเก่า และแม้จะพยายามทุบทำลายกรอบกรงทุกอย่างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ถ้าไม่พ่ายแพ้ไปเสียก่อน ก็บาดเจ็บจนต้องกลับมาใช้ชีวิตตามคำสั่งอย่างเงียบเชียบ

มีผลวิจัยว่าในปี 2013 ชาวมิลเลนเนียลส์วัย 17-33 ปี มีอัตราเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้าสูงกว่าคนรุ่นอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ อาจไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่ชี้ชัดได้ว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงมีแนวโน้มจะป่วยมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ บรรยากาศทางสังคมแบบไหนที่ค่อยๆ กัดกร่อนชีวิตจนเหลือเพียงความแล้งไร้สิ้นหวัง

สำนักข่าว NBC ตั้งข้อสังเกตว่า คนมิลเลนเนียลส์ยังมีแนวโน้มที่จะถูกคนรุ่นก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ตราหน้าว่าเป็นคนไม่เอาไหน เพราะไม่อาจไต่ระดับหรือสร้างสถิติได้มากเท่าเมื่อสมัยอายุเท่าๆ กัน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ค่านิยมแบบอเมริกันดรีมเป็นเสาหลักแข็งแรง มันคือการที่คุณฝ่าฟันอุปสรรคในดินแดนแห่งความหวังแห่งนี้แล้วประสบความสำเร็จจนร่ำรวย มีชีวิตที่ดีขึ้น มีบ้าน มีรถ และสร้างครอบครัวอบอุ่น

ตัดภาพกลับมาที่ชาวมิลเลนเนียลส์ ที่แค่จ่ายหนี้เงินกู้เรียนกูยังทำไม่ไหวเลย จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อบ้าน “ค่านิยมแบบอเมริกันดรีมอีกด้านหนึ่งมันคือการบอกว่า คนแต่ละรุ่นจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ดีว่าคนรุ่นก่อนๆ เสมอ แล้วถ้าคนรุ่นใหม่เอาตัวเองไปเทียบกับพ่อแม่ของตัวเอง พวกเขาย่อมรู้สึกผิดหวังเป็นธรรมดาแหละ” เดวิด กรัสคี นักสังคมวิทยาว่าไว้

คนรุ่นหลังจำนวนมากจึงรู้สึกราวกับเป็นคนไร้ความสามารถ ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าหลายคนอาจรู้อยู่แก่ใจ ว่าโลกที่พวกเขาเผชิญอยู่นั้นการแข่งขันสูงกว่าคนรุ่นก่อนมาก แต่ความอึดอัดใจของการเป็นคน ‘ไม่เอาไหน’ ทั้งในสายตาคนอื่นหรือแม้แต่ในสายตาตัวเองก็กัดกินพวกเขาจนลึกถึงตัวตนอยู่ดี ความรู้สึกหลักที่ห่อหุ้มปกคลุมคือความ ‘ไม่มั่นใจ’ หวาดกลัวอนาคต หลีกเลี่ยงจะซื้อบ้าน หรือสร้างครอบครัวจนกว่าจะรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงแล้ว ซึ่งนั่นก็อาจกินเวลายาวนานขึ้นไปอีก มีการเปรียบเทียบสถิติจังหวะการใช้ชีวิตของคนสองรุ่นในอเมริกาและพบว่า คนยุค 1965 หรือบูมเมอร์นั้น โดยทั่วไปแล้วแต่งงานกันเมื่ออายุ 22 ปี ขณะที่คนในปี 2017 ขยับไปแต่งงานกันตอนอายุ 28 ปี และมีแนวโน้มจะลากยาวกว่านี้ไปเรื่อยๆ

หรือถ้าเป็นประเทศไทย มิลเลนเนียลส์คือกลุ่มคนที่จนถึงทุกวันนี้ พวกเขาได้เห็นการรัฐประหารในบ้านตัวเองไปแล้วสามครั้งใหญ่ๆ นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2534 จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในอีกปีต่อมา โตมาอีกหน่อย พวกเขาก็เผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่เปลี่ยนนักลงทุนหน้าใหม่กำเงินล้านกลายเป็นคนจนในพริบตาเดียว และอีกไม่กี่ปีนับจากนั้น พวกเขาก็กำซาบรสชาติของเกมล้มกระดานการเมืองอีกครั้งในปี 2549 และเป็นประจักษ์พยานการกำเนิดและความตายของคนเสื้อแดงด้วยความรุนแรงจากรัฐในปี 2553 ก่อนจะยาวมาถึงการรัฐประหารปี 2557 อันน่าอดสู…

ว่ากันว่าความรุ่งโรจน์เดียวที่คนกลุ่มนี้พอจะสัมผัสได้ คือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองราวๆ ปี 2546 ภายหลังไทยปลดหนี้ IMF ได้จนเกิดกระแสความเชื่อมั่นและคนเริ่มกล้าใช้เงิน เพียงแค่ว่าตอนนั้นหลายคนยังเด็กและอยู่ห่างไกลจากการลงทุนหรือเก็งกำไรใดๆ (จริงๆ แล้วตอนนั้นชาวมิลเลนเนียลส์ส่วนใหญ่ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการต้องตัดผมทรงนักเรียนอยู่เลย)

เอาเข้าจริงๆ โดยส่วนตัวเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่โตมาอย่าง ‘ถูกจังหวะ’ ของประเทศนี้เลย หรือถ้าพูดให้ไกลกว่านั้น ไอ้ประเทศนี้มันมีจังหวะไหนบ้างไหมที่ชวนให้รู้สึกว่าโชคดีที่เกิดถูกยุคเสียเหลือเกิน โดยทั่วไปแล้วความรู้สึก ‘โชคดี’ แบบนี้จะเกิดขึ้นก็เมื่อโตในครอบครัวคนรวยและเป็นอีลีตของสังคม ที่ไม่ว่าประเทศจะหมุนไปจังหวะไหน คุณก็อาจยังรู้สึกโชคดีอยู่ร่ำไปนั่นแหละ

เราคือคนที่โตมากับสื่อที่พร่ำบอกให้เรา ‘ต้อง’ มีความฝันและพิชิตมันให้ได้ เพื่อที่โตมาจะตั้งคำถามว่าพิชิตอะไรกัน แค่ตื่นมาถูไถชีวิตให้หมดวันก็ปวดหลังจะตายแล้ว

เราคือคนที่เห็นการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก และมากกว่าหนึ่งครั้งในรัฐประหารเหล่านี้ก็ได้ใบอนุญาตมาจากบูมเมอร์ในชีวิตจริงที่ยิ่งชวนให้เคารพยกมือไหว้ไม่ลง

เราคือคนที่ผิดหวังในตัวผู้ใหญ่เหล่านี้ที่ครั้งหนึ่งอาจเคยเป็นฮีโร่ของเราเมื่อสมัยยังเด็ก และความฝัน ความหวังในการใช้ชีวิตของเราตายลงไปช้าๆ ตายโดยที่เราก็ไม่ได้มีความปรารถนาใดจะปลุกมันขึ้นมาอีกครั้ง

เราคือคนที่รู้สึกเสมอว่าพ่ายแพ้ให้ชีวิต คือคนที่พบว่าถูกคนอายุน้อยกว่าแซงหน้าไปเรื่อยๆ กลายเป็นหญิงสาวที่จนป่านนี้แล้วก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน (นอกจากอาการปวดหลังและติดคาเฟอีน) ชื่นชมคนรุ่นใหม่มากความสามารถไปพร้อมกับทับถมตัวเองที่เหลือแค่เศษซากลุกขึ้นมาหายใจไปวันๆ

แต่ในแง่หนึ่ง เราก็เข้าใจความอัดอั้นและเจ็บช้ำของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเกิดและโตใน ‘จังหวะนรก’ นี้เช่นกัน

หากว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ คือคนที่เพิ่งมาสัมผัสความหมายของเสรีภาพและความเท่าเทียมในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟูเมื่อเกือบสองทศวรรษก่อนและเจ็บใจที่ประเทศนี้ไม่แยแสมัน คนเจนแซดหรือหลังจากนี้ ที่เกิดและโตมาพร้อมการรู้เห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเขาให้เกียรติประชาชนในบ้านเกิดตัวเองอย่างไร มันก็ชวนให้เจ็บช้ำและอาจต้องกล้ำกลืนความรู้สึกนี้กันตั้งแต่อายุยังน้อย น้อยชนิดว่าในวัยที่คุณควรเรียนรู้ ควรได้สนุก คุณอาจต้องลงถนนมาเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ ยังทำไม่ได้

อันที่จริง เราอาจจะพูดแบบเหมารวมหน่อยก็ได้ว่า คนทุกช่วงวัยล้วนต้องเจอบาดแผลฉกรรจ์ในแต่ละยุคอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณเกิดมาในประเทศที่ไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์ ริบเอาความฝัน ความหวัง กระทั่งการแสดงความเห็นของผู้คนไปทิ้ง คุณก็อาจจะร้าวรานและสิ้นหวังกว่าที่ควรเป็น คุณมองไม่เห็นอนาคตเพราะมันไม่มี สิ่งเดียวที่พอจะเห็นได้คือเศษอะไรสักอย่างที่ผู้ใหญ่ในประเทศนี้คายทิ้งไว้ให้ กับซากชีวิตทั้งในสังคมและอาจจะในแววตาผู้คนที่ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เราเจ็บปวด เราโกรธแค้นได้ แต่ก็จงอย่าลืมว่าศัตรูที่แท้จริงคือใคร และในฐานะคนมิลเลนเนียลส์คนหนึ่ง แม้เราจะรู้สึกพ่ายแพ้หรือโดนชีวิตกำราบหมดรูปไปแล้ว แต่ก็ยังหวังให้คนรุ่นต่อไปมีความสุขมากกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดคือได้อยู่ในประเทศที่มีประชาธิปไตย และไม่ปวดหลัง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save