fbpx
เมื่อการเมืองเมียนมาใกล้ถึงทางตัน และไทยอาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการหาทางออก

เมื่อการเมืองเมียนมาใกล้ถึงทางตัน และไทยอาจจะเป็นกุญแจสำคัญในการหาทางออก

ปิติ ศรีแสงนาม เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2021) เป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องจับตาดูสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เนื่องจากเป็นวาระที่รัฐบาลภายใต้การนำของ State Administration Council (SAC) ซึ่งมีประธานคือ พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ต้องนำตัวที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counseller) คือ นางอองซาน ซูจี ขึ้นสู่การพิจารณาคดีโดยศาลในข้อหาการครอบครองวิทยุสื่อสารโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นข้ออ้างในการควบคุม จับกุม คุมขัง ผู้นำที่มีศักยภาพสูงที่สุดในการโค่นล้มระบอบ SAC ซึ่งการพิจารณาคดีดังกล่าวถูกเลื่อนระยะเวลาออกมาแล้วครึ่งหนึ่ง

ท่ามกลางการควบคุมฝูงชนอย่างเข้มงวด การเข้าจับตัวผู้ที่รัฐสงสัยว่าเป็นผู้นำในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และการเริ่มปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เนต ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ว่าผลการพิจารณาคดีในวันนี้จะออกมาเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นผลดีกับฝ่าย SAC ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะถ้าศาลให้ปล่อยตัวนางซูจี เท่ากับว่ามวลชนจะกล้าแกร่งขึ้นและเพิ่มแรงกดดันต่อ SAC แต่ในทางตรงข้าม หากศาลพิจารณาให้คุมขังนางซูจี นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับกลุ่มผู้ต่อต้าน SAC รวมทั้งเพิ่มแรงกดดันจากต่างชาติให้ยิ่งบีบคั้นรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของกองทัพเพิ่มขึ้นไปอีก หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มมาตรการจำกัดการเข้าถึงทรัพย์สินของผู้นำ SAC และกิจการของพวกเขาที่มีธุรกรรมในสหรัฐฯ และเชื่อว่าจะมีอีกหลายประเทศที่ใช้มาตรการเช่นนี้ตามมา เมื่อผู้นำ SAC ไม่สามารถเข้าถึงความมั่งคั่งจากการทำธุรกิจของเขาได้ แรงกดดันนี้ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาเดือดร้อนยิ่งขึ้น

กลับมาดูทางฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกองทัพบ้าง เราเห็นจำนวนของผู้ชุมนุมทั้งประชาชน นักศึกษา พระสงฆ์ และที่สำคัญคือ กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางสังคมสูง อาทิ แพทย์ วิศวกร ดารา นักแสดง ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ เราเห็นจิตใจเข้มแข็งที่ไม่ต้องการถูกควบคุม กดขี่ ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยมเพิ่มขึ้น เราเห็นการรับมือกับการอุ้ม การเข้าจับกุมตัวผู้ที่รัฐสงสัยว่าจะเป็นแกนนำ ที่เดิมพวกเขาป้องกันตัวโดยการ Facebook Live เรียกฝูงชนออกมาช่วยเป็นโล่มนุษย์ แต่เมื่อรัฐเริ่มปิดกั้นอินเทอร์เนตโดยเฉพาะในยามวิกาล พวกเขาก็พัฒนาระบบจิตอาสาขึ้นมาเพื่อลาดตระเวนป้องกันการอุ้มหายของประชาชน ในขณะเดียวกัน ก็พัฒนารูปแบบการออกมาชุมนุมเรียกร้องต่อต้านรัฐบาล SAC ในหลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับกองทัพที่ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่กุมอำนาจรัฐ พวกเขาได้พัฒนาองค์ความรู้ในการควบคุมฝูงชน และตลอดระยะเวลาเดียวกันนั้น ประชาชนก็พัฒนาองค์ความรู้และเท่าทันรัฐอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่ก็เช่นเดียวกับกองทัพที่ต้องทนอยู่ในสภาวะที่ถูกกดดัน ทั้งจากในประเทศและจากประชาคมนานาชาติ ประชาชนเองก็อยู่ในสภาวะกดดันเช่นกัน เนื่องจากยังมองไม่เห็นหนทางว่าชุมนุมต่อไปแล้วจะสามารถกดดันจนขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของ SAC ได้อย่างไร เพราะต้องอย่าลืมว่า นครย่างกุ้งไม่ใช่เมืองหลวงที่เป็นจุดศูนย์กลางการบริหารจัดการประเทศอีกต่อไป ชุมนุมต่อไปอีกนานรัฐก็ยังสามารถบริหารประเทศได้อยู่ดี เนื่องจากจุดศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินถูกย้ายไปอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองที่กองทัพสร้างขึ้นด้วยองค์ความรู้ในการควบคุมฝูงชนผู้ต่อต้านอย่างเต็มที่ ทั้งถนนขนาดใหญ่ 10-20 เลน หน่วยราชการที่อยู่ไกลกัน และความสะดวกในการเคลื่อนย้ายรถถังออกมาจากที่ทำการของกองทัพ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้การชุมนุมที่เนปิดอว์ยากจะสำเร็จ ที่สำคัญคือ รัฐบาลก็เริ่มใช้กำลังในการสลายฝูงชนที่รุนแรงยิ่งขึ้น จนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ราย

ดังนั้น สถานการณ์ ณ ขณะนี้คือทั้ง 2 ฝ่ายต่างถูกกดดันมหาศาล กองทัพก็เจอทางตัน ประชาชนก็ไม่เห็นหนทางที่จะทำการล้มรัฐบาลที่มีอาวุธได้สำเร็จ

หากพิจารณาถึงฉากทัศน์ (Scenario) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) คือ การที่ประชาชนกับกองทัพปะทะกันในระดับนองเลือด ประเทศเดินย้อนหลัง การปฏิรูปการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 กลายเป็นแค่อดีต รัฐบาล SAC จัดการขั้นเด็ดขาดกับประชาชนของตนเอง ปกครองด้วยการสร้างความหวาดกลัว แน่นอนว่า ประชาคมนานาชาติก็คงจะไม่คบค้าสมาคมด้วย ทำให้เมียนมาย้อนหลังกลับไปเป็นฤาษีแห่งเอเชียอีกรอบ และเที่ยวนี้ การที่ประชาชนเคยได้รับเสรีภาพ และได้ลิ้มรสชาติความเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว แม้จะเป็นในช่วงสั้นๆ (2013-2021) ก็อาจจะทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำรุนแรงยิ่งขึ้นด้วยสื่อออนไลน์ ประชาชนจะยิ่งทนไม่ได้ จากอารยะขัดขืนก็จะกลายเป็นการสร้างกองกำลังต่อต้านรัฐบาล และในที่สุด ความรุนแรงอาจจะถึงขั้นที่ต่างชาติ โดยเฉพาะมหาอำนาจที่ตนเองก็มีผลประโยชน์มหาศาล จะใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซง ส่งกองกำลังเข้ามาโค่นล้มระบบ เกิดความรุนแรง สูญเสียเลือดเนื้อ โดยต่างชาติที่เข้ามาต่างก็หวังเพียงแค่ทรัพยากรและสิทธิในการทำกำไรในเมียนมาเป็นเบี้ยติดปลายนวมจากการส่งกองกำลังเข้ามา นั่นคือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่รัฐบาล SAC และประชาชนเมียนมา รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและอาเซียนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ในขณะที่ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด (Best Case Scenario) คือ การเจรจาต่อรองเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นโดยสันติ แน่นอนว่าหลายคนย่อมอยากให้ทหารคืนอำนาจให้ประชาชนและยกเลิกการรัฐประหารไปเสีย แต่เมื่อนึกถึงสภาพความเป็นจริง การยกเลิกการทำรัฐประหารคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะหากยกเลิกแล้ว ผู้นำระดับสูงในกองทัพจะไม่มีที่ยืน ไม่มีอนาคต และถูกไล่ล่าด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งคนที่ถืออาวุธอยู่คงไม่ยอมยกเลิกสิ่งที่เขาลงมือทำไปแล้วแน่นอน ดังนั้น Second Best Case Scenario ที่อาจจะเป็นไปได้คือ ‘การทำตามสัญญา’ คือ SAC เข้ามาเป็นรัฐบาลในสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะเวลาเพียง 1 ปี (หรือเร็วกว่านั้น) จากนั้นจะให้มีการเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้นำ NLD และผู้นำทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวได้รับการปล่อยตัว

หัวใจสำคัญของฉากทัศน์นี้คือ ทั้งกองทัพกับฝ่าย NLD จะต้องอยู่ในสถานะที่ต่างฝ่ายต่างมีอำนาจต่อรองที่ทั้งคู่ต่างก็ยอมรับได้ และต้องยอมลดราวาศอกกัน รอเวลาไปสู่การเลือกตั้ง แสวงหาทางออกที่จะอยู่ร่วมกัน อีกทั้งกองทัพกับ NLD ต่างก็ต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง การเดินหน้าประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็ใช้ 1 ปีนี้ในการร่วมกันสร้างกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

แน่นอนว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้โดยทั้ง 2 ฝ่ายคงต้องมีการให้สัตยาบันซึ่งกันและกันว่า ใครจะทำอะไรได้หรือไม่ได้อย่างไรบ้าง และกระบวนการตรงนี้คงต้องเป็นกระบวนการที่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถเชื่อมั่นอีกฝ่ายหนึ่งได้ รวมทั้งประชาคมโลกและประชาชนเมียนมาก็สามารถเชื่อมั่นในกระบวนการดังกล่าวได้ แต่การที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้หมายความว่า ต้องมี ‘ตัวกลาง’ ระหว่างฝ่าย SAC ของกองทัพและฝ่าย NLD ซึ่งนำอองซานซูจี

ผู้เขียนขอเสนอให้ประเทศไทยเล่นบทบาทนำในเวทีอาเซียน เสนอตัวในการให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจากันในประเทศไทย เพราะหากจะเจรจากันในประเทศเมียนมา ก็จะมีแรงกดดันที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน กองทัพก็คงไม่พอใจแรงกดดันจากมวลชน ในขณะที่มวลชนก็หวาดระแวงคนถืออาวุธ ดังนั้นหากทั้ง 2 ฝ่ายออกมานอกประเทศในพื้นที่ที่มีไทยเป็นผู้บริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้ได้พบกันอย่างสมเกียรติ สมศักดิ์ศรี และมีสักขีพยานเป็นเพื่อนบ้านอาเซียนที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ใกล้ชิด ในขณะที่ทั้งโลกก็พอใจว่าทั้ง 2 ฝ่ายสามารถแสวงหาทางออกด้วยกันได้อย่างสันติ

ขณะที่อาเซียนเองก็ยังรักษาหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา เพราะเราเพียงเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาเปิดห้องคุยกันเองในพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีแรงกดดัน เราไม่แทรกแซง แต่เราอำนวยความสะดวก จะใช้เวลากี่ชั่วโมง กี่วัน กี่รอบ เราพร้อมให้มีการเจรจา โดยมีตัวแทนจากอาเซียนทั้ง 9 ประเทศร่วมกับเลขาธิการอาเซียนเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

สาเหตุที่ผู้เขียนพิจารณาว่าไทยเหมาะสมที่สุด เพราะแน่นอนว่า สปป.ลาว เวียดนาม และบรูไน ต่างไม่อยู่ในระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ฝั่งกัมพูชาเอง ผู้นำก็คงไม่ได้มีสถานะที่จะสามารถเข้ามาเป็นตัวกลางได้ เพราะหลายๆ ฝ่ายก็พิจารณาว่ามีความใกล้ชิดกับบางประเทศมหาอำนาจมากเป็นพิเศษ ส่วนฟิลิปปินส์ ถึงแม้จะเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ แต่ตัวประธานาธิบดีเองก็ยังมีข้อสงสัยในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิงคโปร์อาจจะเหมาะ เพราะหลายๆ ครั้งการประชุมสุดยอดผู้นำแบบ 4-eyes 2 ต่อ 2 ก็เคยเกิดขึ้นในสิงคโปร์ แต่ข้อสงสัยคือ สิงคโปร์มีผลประโยชน์มหาศาลในการค้าการลงทุน ที่พึ่งจะเริ่มขยายตัวเข้าไปในเมียนมาในช่วงรัฐบาลพลเรือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น กองทัพคงจะไม่ค่อยไว้ใจสิงคโปร์เท่าไร เช่นเดียวกับกรณีของอินโดนีเซีย ที่การพัฒนาการทางการเมืองได้ผ่านการปฏิรูปไปแล้ว ดังนั้น ฝ่ายกองทัพเมียนมาอาจจะพิจารณาว่า ทั้งอินโดนีเซียและสิงคโปร์อาจจะมีแนวโน้มเข้าข้างฝ่ายรัฐบาลพลเรือน NLD

ในขณะที่มาเลเซียเอง รัฐบาลเสียงข้างน้อยของนายกรัฐมนตรี Muhyiddin ก็ใช้วิธีการคล้ายๆ กองทัพเมียนมาในขณะนี้คือ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอ้าง COVID-19 เพื่อเลี่ยงการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปจนถึงเดือนสิงหาคม ดังนั้น เขาไม่อยู่ในสถานะที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ และแน่นอนว่า ข้อเสนอของมาเลเซียและอินโดนีเซียที่อยากเชิญประชุมผู้นำอาเซียนคงไม่น่าสำเร็จ เพราะผู้นำเมียนมาคงไม่ยอมมาให้ตนเองถูกกดดัน และหากผู้นำเมียนมาไม่มา การประชุมของผู้นำเพียง 9 คนลับหลังเพื่อนบ้านก็คงไม่มีผลสำเร็จ หรือถึงสำเร็จก็คงสร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

จึงเหลือแต่ประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลไฮบริดคล้ายกับพม่าอยู่พอสมควร อีกทั้งผู้นำรัฐบาลก็เคยเป็นอดีตผู้นำกองทัพที่ใกล้ชิดกับทั้งพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย และนางอองซาน ซูจี เราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด เราทำการค้า การลงทุน กับเมียนมาตลอดในทุกระบอบ ทั้งรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน กองทัพเมียนมากับกองทัพไทยก็อยู่ในจุดที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันดีที่สุดตลอดประวัติศาสตร์ การมาเมืองไทยของทั้ง 2 ฝ่ายก็เป็นการมาประเทศเพื่อนบ้านซึ่งทั้งฝ่าย SAC และ NLD คงจะมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย

ผู้เขียนถึงกล่าวว่า ไทยเหมาะสมที่สุดในการเป็นสะพาน ในการเชื่อมโยง และกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็มีประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องยาวนานในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการหารือระหว่าง 2 ฝ่ายโดยไม่แทรกแซง การเปิดห้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายพบกัน โดยมีอาเซียนเป็นผู้สังเกตการณ์ ที่สำคัญที่สุด คือ Hospitality ของคนไทย ที่จะทำให้ทุกฝ่าย ทั้งในเมียนมา ในอาเซียน และในประชาคมโลกยอมรับ ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ไทยเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์นี้

มาถึงจุดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ภาวะผู้นำของไทย ในการที่กล้าจะเดินหน้า แสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำในเวทีอาเซียน ใช้ศาสตร์และศิลป์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในการสร้างสันติสุข และเดินหน้ากระบวนการประชาธิปไตยในภูมิภาค เพราะถ้าเพื่อนบ้านไม่สงบ ทั้งภูมิภาคก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ถ้าความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ผลประโยชน์ของไทยและอาเซียนก็พลอยได้รับกระทบไปด้วยเช่นกัน และในทางตรงกันข้าม ถ้าประเทศเพื่อนบ้านเกิดความสุขสงบได้เพราะไทยและอาเซียน พวกเราประชาคมอาเซียนก็พลอยได้รับผลประโยชน์ร่วมกันได้ด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save