fbpx
human equality

เคารพใน “ความเป็นอื่น” จึงจะเห็น “คนเท่ากัน”

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

คนไทยทั่วไปคงเริ่มคุ้นเคยชินหูกับวลีที่ว่า “คนเท่ากัน” ที่มีใครต่อใครออกมาให้ความเห็นกันมากมาย ซึ่งในบางกรณี ดูเป็นการตีความที่แตกต่างหรือแม้แต่ตรงข้ามกันได้อย่างน่าประหลาดใจ!

เรื่องราวต่างๆ ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ทำให้ผมคิดว่าหากเราอยากเข้าใจความหมายของวลีนี้ เราคงต้องเรียนรู้ที่จะให้ความเคารพต่อ ‘คนอื่น’ และ ‘ความเป็นอื่น’ ของ ‘พวกเขา’ ซึ่งอาจแตกต่างโดยสิ้นเชิงจาก ‘พวกเรา’ และพยายามที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างที่มากมายเหล่านี้อย่างสงบสุข เพราะพวกเราก็เป็น ‘คนอื่น’ ในสายตาของพวกเขาเช่นกัน

 

คุณค่าที่ทุนนิยมไม่สนใจ

 

รายงานข่าวเล็กๆ ในสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่คนไทยส่วนใหญ่คงมิได้สนใจ แต่สำหรับผม น่าสนใจมาก คือข่าวการระเบิดถ้ำสองแห่งในออสเตรเลียตะวันตก ซึ่งมีรายละเอียดคือราวปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่นาม Rio Tinto ที่เชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองแร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แร่เหล็ก ทองแดง เพชร ทองคำและยูเรเนียม ใหญ่เป็นที่สองรองจาก BHP ได้ทำการระเบิดถ้ำสองแห่งในบริเวณ Juukan Gorge ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อทำเหมืองแร่เหล็ก แต่พื้นที่แห่งนี้มีชนพื้นเมืองออสเตรเลียเผ่า “Puutu Kunti Kurrama and Pinikura People” เรียกสั้นๆ ว่า “PKKP” เป็นเจ้าของตามจารีต ซึ่งเชื่อว่าถ้ำเหล่านี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ในด้านโบราณคดี ถ้ำเหล่านี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะได้มีการค้นพบวัตถุโบราณที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น มีอายุเก่าแก่ราว 46,000 ปี เทียบได้เท่ากับยุคน้ำแข็ง (Ice Age)[1]

ถึงกระนั้น บรรษัทริโอตินโตก็มิได้แยแส แม้ว่าชนพื้นเมือง PKKP จะไม่เห็นด้วยกับการระเบิด แต่บรรษัทฯ ก็เดินหน้า ทำการระเบิดถ้ำ (คงเพราะถือว่าตนได้สัมปทานจากรัฐบาลแล้ว) เพื่อขุดหาแร่เหล็ก หลังข่าวการระเบิดถ้ำไม่กี่วันก็เกิดการประท้วงขึ้น ผู้ประท้วงมีทั้งชนพื้นเมืองและคนผิวขาว จนบรรษัทริโอตินโต้ต้องออกมาขอโทษ และในเดือนธันวาคม ก็มีรายงานข่าวว่าบรรษัทฯ ถูกสั่งให้สร้างถ้ำที่ถูกระเบิดขึ้นมาใหม่ (rebuild) และให้ส่งวัตถุโบราณต่างๆ ที่พบในถ้ำคืนให้ชนพื้นเมืองผู้เป็นเจ้าของเพื่อเป็นการชดใช้ความเสียหาย[2]

อุปสรรคสำคัญในเรื่องนี้คือกฎหมายของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันการกระทำในลักษณะที่คล้ายๆ กันที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมือง การเปลี่ยนแปลงกฏหมายนี้จึงมีนัยของการให้ความสำคัญต่อชนพื้นเมืองในเรื่องสิทธิและอำนาจโดยชอบธรรมในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการใช้ที่ดินและทรัพยากรต่างๆ[3]

 

“Because it’s there.”: ทัศนคติคนผิวขาว

 

การระเบิดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมืองออสเตรเลียในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของการไม่แยแสใส่ใจต่อ ‘ความเป็นมนุษย์’ ของชนพื้นเมืองโดยคนผิวขาว ซึ่งดำเนินมานานกว่าศตวรรษในออสเตรเลีย และความเป็นจริงในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่โหดร้ายกว่านี้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรมหมู่ชนพื้นเมืองที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง การออกกฏหมายที่ให้อำนาจรัฐในการแยกเด็กที่เกิดจากแม่ชนพื้นเมืองและพ่อผิวขาวโดยไม่ต้องขออนุญาตผู้เป็นแม่ แล้วนำไปอยู่ในสถาบันเลี้ยงดูของรัฐ ซึ่งเรียกขานกันในนาม “stolen generations” ไปจนถึงการแย่งทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินของชนพื้นเมืองที่มักมีแร่ธาตุอันมีค่ามหาศาล (ดังเช่นกรณีของบรรษัทริโอตินโต) ปฎิบัติการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมิได้เป็นเพียงการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองเท่านั้น ในหลายกรณีก็เป็นการทารุณกรรม หรือแม้แต่การฆาตกรรมที่รัฐในอดีตมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ จนอาจกล่าวได้ว่ามีการเหยียดผิวเชิงสถาบัน (institutional racism) ซึ่งมีนัยว่าเป็นการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบ ดำเนินอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม นับตั้งแต่ด้านกฎหมาย ความยุติธรรม การว่าจ้างงาน การศึกษา ระบบการดูแลรักษาสุขภาพและสาธารณสุข อำนาจทางการเมือง ฯลฯ แอบแฝงอยู่ในสังคมออสเตรเลีย

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ก่อให้เกิดการเหยียดผิวในออสเตรเลียมีรากฐานมาจากความคิดและทัศนคติที่มีต่อชนพื้นเมืองในฐานะที่ไม่ใช่มนุษย์ ส่งผลให้เกิดการดูหมิ่นดูแคลน ไม่เชื่อว่าชนพื้นเมืองจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมต่างๆ ได้ คิดว่าความคิดความเชื่อของชนพื้นเมืองเป็นเรื่องงมงาย ไร้สาระ ดังเช่นกรณีของ “Uluru” หรืออีกชื่อหนึ่งในภาษาอังกฤษว่า “Ayers Rock” ในภาษาไทยว่า “โขดหินอุลูรู”

อุลูรูเป็นผาหินทรายขนาดมหึมา ตั้งอยู่ทางใต้ของเขต Northern Territory ของออสเตรเลีย มีความสูง 348 เมตร มีเส้นรอบวงหรือปริมณฑลราว 9.4 กิโลเมตร ความน่าทึ่งของอุลูรู นอกจากเป็นผาหินที่ตั้งโดดเด่นอยู่เกือบกึ่งกลางประเทศและทวีปแล้ว ยังมีทัศนียภาพและสีที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของวัน เดือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันกลายเป็นสีแดงในตอนย่ำรุ่งและพระอาทิตย์ตก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความยิ่งใหญ่และน่าพิศวงของที่แห่งนี้จะทำให้พวก Pitjantjatjara (ที่เรียกตัวเองว่า “Aṉangu” ซึ่งแปลว่า “คน”) ชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยในบริเวณโดยรอบ สร้างปกรณัมปรัมปราเรื่อง “Dreamtime” ตำนานต่างๆ จักรวาลวิทยา ความเชื่อและพิธีกรรมที่แอบอิง-สัมพันธ์กับผาหินทรายอุลูรู ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่งของชนพื้นเมือง

แต่เนื่องจากผาหินแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน Uluru-Kata Tjuta National Park และตั้งแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมาได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งชาวออสเตรเลียและต่างชาติเดินทางไปชมและปีนขึ้นไปบนยอดผา ในมุมมองของการท่องเที่ยว อุลูรูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การปีนขึ้นไปบนยอดผาหินก็มีอันตรายมากทีเดียว ดังปรากฏรายงานว่านับตั้งแต่ปี 1948 อันเป็นปีที่ถนนที่เข้าสู่ผาหินแห่งนี้สร้างเสร็จ มีคนพยายามปีนผาหินแล้วต้องเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 37 คน[4] นอกจากนี้ ชาว Aṉangu ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่โดยจารีตและเชื่อว่าผาหินแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ก็ได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานให้ห้ามการปีนป่ายผาหิน แต่ก็ไร้ผล จนกระทั่งเมื่อตัวแทนของชนพื้นเมืองและเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ สามารถบรรลุข้อยุติกันได้ มีความเห็นพ้องกันว่าควรออกกฎห้ามปีนขึ้นไปบนอุลูรู แต่ยังอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในอุทยานฯ และชมผาหินแห่งนี้ได้ ข้อห้ามนี้มีผลใช้บังคับในเดือนตุลาคม ปี 2019 เป็นต้นมา[5] ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยไม่พอใจที่ถูกห้ามปีน อย่างไรก็ตาม มีชนพื้นเมืองที่เห็นว่าการห้ามปีนอุลูรูมีทั้งผลดีและผลเสีย เพราะการห้ามปีนอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวมาน้อยลง และทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นแย่ลง[6] เพราะชนพื้นเมืองจำนวนไม่น้อยมีรายได้จากการท่องเที่ยว

เหตุใดผู้คนมากมายจึงอยากปีนป่ายผาหินแห่งนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมือง? คำตอบสั้นๆ ก็คือพวกเขาไม่สนใจใยดีว่าความเชื่อความศรัทธาของชนพื้นเมืองคืออะไร และส่วนใหญ่ก็ไม่แยแสที่จะเรียนรู้ด้วยซ้ำ แต่ที่แย่กว่านั้นคือนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยมีทัศนคติที่ผมอยากเรียกว่าเป็นทัศนคติแบบคนผิวขาวผู้ต้องการพิชิต ดังจะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของนักท่องเที่ยวบางคนถึงเหตุผลที่ต้องการปีนอุลูรู เช่น ชายวัยกลางคนออสเตรเลียผู้หนึ่งที่บอกผู้สื่อข่าวว่าเขาเคยปีนผาหินนี้มาแล้ว แต่ครั้งนี้ไปได้แค่หนึ่งทางเท่านั้น เขายืนยันว่าเขามีสิทธิที่จะทำเพราะได้เสียภาษีมากมายให้แก่รัฐบาลออสเตรเลีย และกล่าวทำนองประชดประชันว่าย้อนกลับไปในยุคของปกรณัมปรัมปรา Dreamtime คงมีคนดำผู้เฒ่า (เขาใช้คำว่า “old blackfella” ซึ่งหมายถึงชนพื้นเมืองออสเตรเลีย) ปีนผาหินนี้แต่พบว่ามันปีนยากมาก จึงกลับลงมาข้างล่างและบอกคนอื่นๆ ว่า “Rainbow Serpent” (สัตว์ที่ชนพื้นเมืองออสเตรเลียเชื่อกันว่าเป็นเทพผู้นิมิตรสิ่งต่างๆ) ไม่อนุญาตให้ปีน[7] นักท่องเที่ยวอีกคนเป็นผู้หญิงที่เดินทางมาจากเกาะฮาวาย เธอไม่เห็นด้วยกับการห้ามปีน โดยกล่าวว่าจู่ๆ ชนพื้นเมืองก็มาอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และว่า “พวกเขา (ชนพื้นเมือง) บอกคุณว่าคุณไม่ควรปีนเพราะมันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ฉันเคารพความเชื่อพวกเขาแต่ก็ยังปีนมันได้เช่นกัน”[8]

ในความเห็นของผม นักท่องเที่ยวทั้งสองมีทัศนคติแบบคนผิวขาวผู้ต้องการพิชิต ทว่า ทัศนคติเช่นนี้คืออะไร? หนึ่งในเว็บไซด์ของนักปีนเขา มีการพาดพิงถึงคำพูดของนักปีนเขาผู้โด่งดังนาม George Mallory ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ The New York Times ในปี 1923 ว่า “เพราะมันอยู่ที่นั่น” (Because it’s there.)

มัลโลรี่เป็นนักปีนเขาผู้มีประสบการณ์ในการพิชิตภูเขาในอังกฤษและเทือกเขาแอลป์ จึงมีความทะเยอทะยานที่จะปีนภูเขาสูงที่อื่น ในปี 1921 เขาเริ่มปีน Everest เทือกเขาที่สูงที่สุดในโลก แต่ต้องพยายามปีนถึงสามครั้งจึงประสบความสำเร็จในการปีนไปจนถึงยอดเขาที่สูงสุดได้ เมื่อมีคนถามถึงเหตุผลที่เขาพยามยามปีนเขาเอฟเวอเรส ก็ตอบว่าเพราะมันอยู่ที่นั่น ซึ่งมีนัยว่าเขาต้องทำให้ได้ คำพูดนี้ได้กลายเป็นที่กล่าวขานกันในวัฒนธรรมตะวันตกในเวลาต่อมา[9] เป็นทัศนคติที่สะท้อนถึงความทะเยอทะยานของปัจเจกบุคคลในการทำบางสิ่งบางอย่างที่ดูไร้เหตุผล (จะปีนเขาสูงขึ้นไปทำไม เพราะไม่มีอะไรบนนั้น เป็นการกระทำที่ดูไร้สาระอย่างยิ่ง แต่มีผู้คนมากมายที่ต้องการจะทำ)

ผมจึงไม่แปลกใจหากนักท่องเที่ยวที่ต้องการปีนผาหินอุลูรูเพียงเพราะคิดว่า “เพราะมันอยู่ที่นั่น” จึงต้องการที่จะพิชิตมันด้วยการปีนไปจนถึงยอดผาหิน มิได้มีเหตุผลอื่น และไม่สนใจว่าชนพื้นเมืองผู้เป็นเจ้าของโดยจารีตจะคิดอย่างไร หรือเชื่ออะไร ถ้าคนอื่นทำได้ ปีนได้ พวกเขาก็ต้องได้ปีนมันเช่นกัน

 

ไม่ใช่ “วัตถุ” แต่เป็น “คน”

 

ทว่า ในสังคมตะวันตกก็มิได้มีแต่คนที่มีทัศนคติเช่นนี้อย่างเดียว แต่มีความพยายามที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนที่แตกต่างไปจากตน เริ่มเรียนรู้ที่จะให้ความเคารพต่อ ‘ความเป็นอื่น’ ของคนเหล่านั้น และละอายใจต่อการกระทำของบรรพบุรุษในอดีตที่เป็นการละเมิดหรือทำร้าย ‘คนอื่น’ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างข้างล่าง

ชาวเมารี ชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ มีธรรมเนียมปฏิบัติในอดีตที่เลิกทำกันไปแล้วที่เรียกว่า “โทอิโมโคะ” (Toi moko) อันหมายถึงศีรษะของคนตายที่ถูกตัดออกมาเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้เน่าเสียเพื่อการเก็บรักษาไว้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำเช่นนี้อาจมีเหตุผล 2 ประการ ประการแรก การเก็บศีรษะของผู้ตายที่อนุรักษ์ไว้นี้มักเป็นศีรษะของผู้ที่รักใคร่หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องการเก็บไว้เสมือนวัตถุแห่งความรัก แทนความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับผู้ตายและความเศร้าโศกที่สูญเสียคนรักไป ประการที่สอง ศีรษะที่เก็บไว้นี้เป็นเสมือนวัตถุแห่งชัยชนะเหนือศัตรู ที่มีนัยของการประจานและการประชดประชันเย้ยหยัน[10] และบางครั้งก็มอบให้เป็นของขวัญพิเศษแห่งชัยชนะ เพราะความเชื่อที่ว่าใบหน้าที่มีรอยสัก[11]มี “มานะ” (mana)[12] ของบุคคลนั้นๆ อยู่ ดังนั้น จึงมีนัยของการที่ผู้ชนะจะมีมานะเพิ่มพูนขึ้น แต่มานะของผู้แพ้จะลดน้อยลง อีกทั้งยังมีรายงานว่าในช่วงเวลาแห่งความสงบสุข จะมีการรวบรวมศีรษะที่ชาวเมารีเผ่าหนึ่งยืดได้จากอีกเผ่าหนึ่ง แล้วจัดงานฉลองขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนศีรษะ ต่างฝ่ายต่างคืนศีรษะให้เผ่าของผู้ตาย เสมือนเป็นตัวแทนของการสมานฉันท์[13]

อันที่จริง ลักษณะของโทอิโมโคะไม่น่าดูเลยอันเนื่องมาจากวิธีการอนุรักษ์ กล่าวคือศีรษะจะถูกตัดออกจากร่างในระดับฟันกราม สมองและลูกตาทั้งสองข้างถูกควักออก แล้วเย็บเปลือกตาบนและล่างติดกัน ริมฝีปากถูกตัดออกเพื่อให้เห็นฟัน แล้วนำศีรษะนั้นไปตากแดดและรมควันจนแห้ง ผลลัพธ์ที่ได้คือศีรษะ (และกระโหลก) ที่กลวงโบ๋จนเอามือสอดเข้าไปได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งคือรอยสักบนใบหน้ายังคงอยู่อย่างชัดเจน[14]

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 หลังจากที่คนอังกฤษสำรวจพบประเทศนิวซีแลนด์ และรู้ว่าโทอิโมโคะคืออะไร ก็เริ่มสนใจและต้องการที่จะเก็บสะสมไว้เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่แปลกประหลาด (แต่มิได้ใส่ใจว่ามันมีความหมายอะไรในความคิดความเชื่อของคนเมารี) ในเวลาต่อมามันก็กลายเป็นที่ต้องการของคนยุโรปชาติอื่นๆ ด้วย และกลายเป็นวัตถุล้ำค่าที่ทั้งปัจเจกบุคคลและในระดับสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์หรือโรงพยาบาลต่างๆ ปรารถนาที่จะมีไว้ในครอบครอง

ทว่า อย่างน้อยตั้งแต่ปี 1987 สถาบันหลายแห่งนอกประเทศนิวซีแลนด์ได้เริ่มส่งโทอิโมโคะที่ครอบครองไว้คืนสู่คนเมารีด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ตัวแทนของเผ่าเมารีภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลนิวซีแลนด์จะอ้างเหตุผลว่าศีรษะที่ตนต้องการได้คืน — ซึ่งมักเป็นคนเผ่าเดียวกัน — เป็นซากศพมนุษย์ (human remains) มิใช่งานศิลปะ (art works) ทำให้บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ยินดีที่ส่งคืนให้ (เพราะไม่ใช่งานศิลปะที่ฝรั่งเศสยึดมาจากประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก) ใน ค.ศ. 2004 อังกฤษออกกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้ซากศพมนุษย์ที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งพันปีส่งคืนประเทศที่เป็นเจ้าของได้ หลังจากนั้น พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาก็ปฏิบัติตาม ด้วยการส่งศีรษะ (และโครงกระดูก) ของคนเมารีที่ครอบครองไว้คืนให้แก่เผ่าเมารี[15]

เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนทัศนคติของชาวตะวันตกต่อคนพื้นเมือง จากทัศนคติหรือมุมมองที่เคยเห็นว่าคนพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อน ล้าหลัง โง่เขลา หรือเป็นพวกกินคน กระทั่งคิดว่าผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่มนุษย์ เป็นสิ่งแปลกประหลาด ตามมาด้วยความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับคนพื้นเมือง ดังจะเห็นได้ว่าในมุมมองของชาวตะวันตก เครื่องมือ เครื่องประดับหรือสิ่งของอื่นๆ ที่คนพื้นเมืองประดิษฐ์ขึ้น หรือแม้แต่ร่างกายและใบหน้าอย่างโทอิโมโคะ ล้วนเป็นวัตถุที่มีราคา ควรค่าแก่การเก็บสะสมไว้ แต่ในปัจจุบันทัศนคติเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับกันอีกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก ในด้านหนึ่ง ชนพื้นเมืองในประเทศต่างๆ มีความกระตือรือร้นในการเรียกร้องและต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมกันทางสังคม-การเมือง ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบของคนกลุ่มอื่นต่อชนพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดความเชื่อที่ว่าชนพื้นเมืองมิใช่มนุษย์ หรือเป็นพวกที่ป่าเถื่อน โหดร้าย กินเนื้อมนุษย์ ซึ่งจำต้องถูกลบล้างให้หมดไป นำไปสู่การผันแปรทางความคิดและทัศนคติในสังคมทั่วไป และตัวอย่างที่ดีของการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและทัศนคติต่อชนพื้นเมืองจะเห็นได้จากการส่งคืนโทอิโมโคะที่เก็บสะสมไว้ตามสถาบันต่างๆ

พิพิธภัณฑ์บางแห่ง เช่น Guernsey Museums ของอังกฤษ มีวัตถุที่มีคุณค่าเชิงวิชาการและศิลปะ และมีราคาค่างวดเชิงการค้า เป็นจำนวนมาก แต่ก็มิได้จัดแสดงวัตถุอย่างโทอิโมโคะมานานหลายทศวรรษแล้ว เพราะไม่มีใครอยากดู แม้แต่ภาพถ่ายโทอิโมโคะก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ทำให้คนไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้จึงถูกเก็บอยู่ในห้องเก็บวัตถุของพิพิธภัณฑ์[16] หรือมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ซึ่งได้เก็บสะสมโทอิโมโคะและวัตถุที่เป็นซากหรือชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์ไว้เป็นจำนวนมากมานานนับศตวรรษ ก็ได้พยายามที่จะส่งวัตถุเหล่านี้คืนให้แก่ชนพื้นเมืองผู้เป็นเจ้าของในประเทศต่างๆ เพราะคิดว่าวัตถุเหล่านี้อาจถูกขโมยหรือซื้อขายมา ซึ่งเป็นการกระทำในอดีตที่คนปัจจุบันรู้สึกละอายใจและไม่ถูกต้องที่จะเก็บมันไว้ เมื่อมหาวิทยาลัยส่งคืนวัตถุเหล่านี้ให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ ผู้อาวุโสเมารีได้เดินทางไปรับมอบด้วย และได้กล่าวผู้สื่อข่าวว่าการส่งคืนชิ้นส่วนของร่างกายคนเมารีเป็นเรื่องพิเศษเสมอ เพราะมันคือ “การกลับคืนสู่บ้านของบรรพบุรุษเมารี”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ส่งซากของร่างกายมนุษย์คืนให้แก่ชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย สำหรับชนพื้นเมือง มันไม่ได้เป็นแค่กระดูกมนุษย์ แต่เป็นการได้ “มรดก (heritage) ของเผ่า” กลับคืนสู่พวกตน มหาวิทยาลัยแอบเบอร์ดีนก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่อ้างว่ามีวัตถุที่เกี่ยวข้องกับเมารีจำนวนมากมายอยู่ในครอบครอง และได้ส่งคืนให้นิวซีแลนด์ไปบ้างแล้ว ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นไว้ว่าสิ่งเหล่านี้มิได้เป็นเพียงวัตถุ แต่มันคือ ‘ผู้คน’ (people)[17]

อีกกรณีหนึ่งเป็นซากโครงกระดูกของชนพื้นเมืองออสเตรเลียที่รู้จักกันในนาม “Mungo Man” ซึ่งประมาณว่ามีอายุราว 42,000 ปีที่แล้ว และเป็นซากกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในออสเตรเลีย ถูกพบโดยนักธรณีวิทยาชื่อ Jim Bowler ในปี 1974 ในบริเวณก้นทะเลสาปที่แห้งมานานแล้วในอุทยาน Mungo National Park ที่ตั้งอยู่ราว 750 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกของนครซิดนีย์ ก่อนหน้านั้น โบว์เลอร์ก็ขุดพบซากกระดูกเพศหญิงที่เรียกกันว่า “Mungo Lady” ในปี 1967 หลังจากที่ถูกค้นพบ ซากกระดูกก็ถูกส่งไปที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเพื่อทำการศึกษา ซึ่งระบุว่าเป็นศพของชายนักล่าสัตว์และหาอาหารป่า (a hunter-gatherer) ผู้มีอายุราว 50 ปีที่ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบ (arthritis) ที่น่าสนใจกว่านั้นคือมีการทำพิธีศพ โดยฝังศพในท่านอนหงาย แขนทั้งสองวางขวางกันอยู่บนตัก และมีผงดินแดง (red ochre) โรยอยู่บนร่างกาย ชนพื้นเมืองออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียส่ง Mungo Man คืนให้พวกตนมานานหลายทศวรรษ จนในที่สุดมหาวิทยาลัยฯ ได้กล่าวขอโทษต่อชนพื้นเมืองในการกระทำของตน และส่งซากกระดูกคืนให้ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2017 Mungo Man ได้รับการฝังตามพิธีของชนพื้นเมืองในจุดที่ไม่เปิดเผยในบริเวณอุทยาน Mungo National Park ส่วน Mungo Lady นั้นถูกฝังตามพิธีตั้งแต่ปี 1991 แล้ว[18]

 

คนอื่นเท่ากับเรา: อุดมคติแห่งยุคสมัย

 

กรณีต่างๆ ที่พาดพิงถึงข้างบนนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่มีความสำคัญ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าทัศนคติในสังคมตะวันตกที่มีต่อผู้คนที่แตกต่างไปจากพวกตนไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว เป็นทัศนคติที่พยายามทำความเข้าใจ ‘คนอื่น’ ที่อยู่รอบข้างคนตะวันตก เริ่มเรียนรู้ว่า ‘ความเป็นอื่น’ เหล่านั้นคืออะไร เริ่มละทิ้งทัศนคติเดิมที่เห็นความแตกต่างเป็นเรื่องประหลาด ทำให้มองผู้ที่แตกต่างจากตนว่าไม่ใช่คน และรู้สึกละอายใจต่อทัศนคติเช่นนี้ นำไปสู่การเรียนรู้ที่จะเคารพต่อความหลากหลายของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เหมือนตนเอง เรียนรู้ที่จะเข้าใจว่าในความหลากหลายของความเป็นอื่น — คนเท่ากันได้

แน่นอน ผมไม่ปฏิเสธว่าความคิดเรื่องคนเท่ากันต้องได้รับการสนับสนุนเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายด้วย ซึ่งคงเป็นกระบวนการที่ยาวไกลและมีอุปสรรคมหาศาล ทว่า ผมคิดว่าการสร้างทัศนคติชุดใหม่ที่มีนัยเชิงอุดมคตินั้นสำคัญอย่างยิ่ง

เพราะหากเราไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นและทัศนคติเดิมๆ ที่มีอคติ เราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้?!

 

อ้างอิง

[1] BBC News, “Mining firm Rio Tinto sorry for destroying Aboriginal caves”, 31 May 2020

[2] BBC News, “Rio Tinto ordered to rebuild ancient Aboriginal caves”, 9 December 2020

[3] Al Jazeera, “‘Never again’: Rio Tinto blasted over Juukan Gorge destruction. Mining giant blew up sacred Aboriginal sites in Western Australia as it sought to extract $135m worth of iron ore”, 10 Dec 2020

[4] CBS News, “Uluru climbed for the last time before ban on scaling Australia’s sacred rock kicks in”, October 25, 2019

[5] Johnny Lieu, “Tourists will no longer be able to climb Australia’s Uluru in 2019”, Mashable, Nov. 1, 2017

[6] CBS News, “Uluru climbed for the last time before ban on scaling Australia’s sacred rock kicks in”

[7] Louise Maher, “The message is clear: please don’t climb Uluru”, The Drum, ABC News, 3 June 2013

[8] CBS News, “Uluru climbed for the last time before ban on scaling Australia’s sacred rock kicks in”

[9] ดู Sean Sullivan, ““Because It’s There” The Quotable George Mallory”, The Clymb

[10] ถ้อยความในภาษาอังกฤษคือ “as a trophy of war to be “reviled” and “ridiculed”” – ดู Amber Aranui, “Research into the Early Collection and Trade of Toi moko”, 26/04/2011

[11] ในสมัยก่อนคนเมารีมีรอยสักที่เรียกว่า “moko” บนใบหน้า ซึ่งบ่งบอกถึงบรรพบุรุษและประวัติของปัจเจกชนแต่ละคน ยิ่งในยุคแรกๆ ก็ยิ่งเป็นสัญญะที่สำคัญมาก เพราะแสดงถึงตำแหน่งทางสังคม (social rank) ความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการแต่งงาน รอยสักบนใบหน้าเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์เมารี เนื่องจากคนเมารีเชื่อว่าศีรษะเป็นอวัยวะที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของร่างกาย รอยสักบนใบหน้าจึงมีนัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด – ดู Matt Crawford, “The Meaning of Ta Moko, Traditional Maori Tattoos

[12] ชาวเมลานิเชียและโพลินิเชีย ซึ่งรวมถึงคนเมารีด้วย ล้วนมีความเชื่อในเรื่อง “mana” ซึ่งหมายถึงพลังเหนือธรรมชาติ (supernatural force or power) ที่มีในบุคคล ภูตผีวิญญาณหรือวัตถุก็ได้ มานะอาจเป็นสิ่งที่ดีหรือชั่วร้ายก็ได้ อาจมีคุณหรือโทษก็ได้ มีการถกเถียงในหมู่นักวิชาการว่ามานะอาจเกี่ยวข้องกับการที่บุคคล หรือสิ่งอื่น ได้มาซึ่งพลังหรืออำนาจนั้น บ้างก็แย้งว่ามานะปรากฏในสังคมเมลานิเชียที่มีการจัดระเบียบอย่างซับซ้อน เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่แสดงถึงคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลที่มีสถานภาพทางสังคมและอำนาจ (authority) ของผู้นั้น – ดู The Editors of Encyclopaedia Britannica, “Mana, Polynesian and Melanesian Religion

[13] Aranui, “Research into the Early Collection and Trade of Toi moko”

[14] Anthony Hubbard, “The trade in preserved Maori heads”, Sunday Star Times, Stuff, Feb. 18, 2009

[15] Hubbard, “The trade in preserved Maori heads”

[16] BBC News, “Maori head in Guernsey museum to return to New Zealand”, 8 October 2013

[17] Faye Chambers, “What to do with an ancient skull and head collection?”, BBC News, 23 November 2013

[18] BBC News, “Mungo Man: Australia’s oldest remains taken to ancestral home”, 17 November 2017

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save