fbpx
20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2562

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนกรกฎาคม 2562

 

ผูกขาดอย่างแท้ ‘True’ : เมื่อมหานครไร้สายต้องแลกมาด้วยการผูกขาด (ซ้ำซาก)

 

โดย สมคิด พุทธศรี

สมคิด พุทธศรี ชวนตั้งคำถามต่อกรณีกรุงเทพมหานคร เตรียมยกสิทธิผูกขาดให้แก่บริษัททรู อินเทอร์เน็ต คอร์เปอเรชั่น ในการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน พร้อมสิทธิผูกขาดรายเดียวในกิจการท่อร้อยสายสื่อสาร ปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจโทรคมนาคม

————————

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า

“โดยทั่วไป สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ ก็เท่ากับเป็นการโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน เอกชนก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผูกขาดนั้นไปแสวงหากำไร”

———————–

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าโครงการ NBTC Policy Watch

“ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานอย่างคลื่นความถี่ หรือสายสื่อสาร ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหากไม่มีหรือเข้าไม่ถึงก็ไม่สามารถให้บริการได้ ดังนั้น การยอมให้ผู้ประกอบการต้นน้ำบางรายผูกขาดปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ผูกขาดรายนั้นเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย ต่อให้เราจะกำกับดูแลอุตสาหกรรมปลายน้ำดีแค่ไหน การแข่งขันที่เป็นธรรมก็ไม่วันเกิดขึ้นได้”

————————

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

“การผูกขาดและการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย กรณีกรุงเทพธนาคมกับการให้สิทธิผูกขาดเอกชนทำท่อร้อยสาย ไม่ต่างจากกรณีดิวตี้ ฟรี ที่เพิ่งเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ สิ่งที่เราเห็นในภาพใหญ่คือ การที่รัฐไม่ส่งเสริมการแข่งขัน ไปส่งเสริมการผูกขาด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติในต่างประเทศ แต่ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ในประเทศไทย”

 

สุทิน คลังแสง : ผู้แทนราษฎร อาวุธฝ่ายค้าน และปราการเถื่อน

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“การทำการเมืองแบบตัดต่อพันธุกรรมผิดๆ หยิบกลุ่มนั้นกลุ่มนี้มารวมกันสารพัด ผมเชื่อว่าไม่นานก็แตก หน้าที่ของเราคือขยายภาพความไม่ชอบธรรมให้ชัดขึ้น เผลอๆ การเลือกตั้งครั้งหน้าเขาจะเจอปัญหาภายในทันที พลังประชารัฐอาจจะได้ไม่ถึงครึ่ง ประชาธิปัตย์ดีไม่ดีต่ำกว่ารอบล่าสุด”

วันที่ 25 กรกฎาคม ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา 101 ชวนฟังทรรศนะของ ‘สุทิน คลังแสง’ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ผู้แทนติดดิน” ส.ส.เขต 5 มหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

จากบทบาทที่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เขาตั้งธงอย่างไร, อะไรคืออาวุธของฝ่ายค้านต่อหน้าปราการเถื่อนทะมึนที่เขารู้สึกว่ายากและท้าทายที่สุดตั้งแต่อยู่ในสนามการเมืองมา, และอะไรคือสิ่งที่เขาคาดหวังต่อผู้แทนราษฎรด้วยกันโดยเฉพาะ ‘ค่ายเพื่อไทย’

“ทุกวันนี้ คนที่อยู่ในพรรคเพื่อไทย มีสองแบบ แบบหนึ่งคือมีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่สนเรื่องแพ้ชนะ กับอีกแบบคือ อยู่เพราะอยากเป็น ส.ส. อยากเป็นรัฐบาล ยิ่งถ้าฝั่งตรงข้ามพยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้เปรียบทุกอย่าง คนเหล่านี้ก็มีโอกาสโบยบินไป กลุ่มที่อ่อนไหวมากก็บินไปแล้ว กลุ่มที่ยังหวั่นไหวอยู่ก็ยังมี”

“เมื่อก่อนชาวบ้านเขาก็มาขอให้ ส.ส.ช่วย ส.ส.ก็มาวิ่งหางบลงไปช่วย ชาวบ้านก็รู้สึกว่าดี เพราะมีนักการเมืองที่พึ่งพาได้ แต่วันนี้ถ้า ส.ส.จัดการงบปุ๊บ ติดคุกปั้บ วันนี้ถ้าพบว่านายสุทินเอางบประมาณไปลงบ้านนั้นบ้านนี้แล้วขึ้นป้าย ติดคุกทันที นี่คือการทำให้นักการเมืองเป็นที่พึ่งของชาวบ้านไม่ได้”

“มันไม่ใช่ความกลัว แต่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยกว่าเดิม รู้สึกว่าภัยจะมาถึงตัวเราได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร้างกายเหมือนที่ ‘จ่านิว’ ถูกกระทำ เราอยู่ในยุคที่ผู้นำมีบุคลิกไปทางอำนาจนิยม ชอบความรุนแรง สมัยรัฐบาลก่อนๆ ผมไม่เคยรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแบบนี้”

“การเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมันมีข้อจำกัด เช่น ถ้ารัฐบาลมีนโยบายแบบนี้ออกมาแล้ว จะถูกจะผิดก็จำเป็นต้องเห็นตาม เพื่อภาพใหญ่ของรัฐบาล บางอย่างอยากพูดก็ไม่ได้พูด แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านแล้ว พูดได้ทุกอย่าง”

“สิ่งที่เราต้องทำ พูดง่ายๆ คือทำลายอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทำให้ประชาชนเห็นว่าความชอบธรรมที่เผด็จการสร้างขึ้น มันไม่ชอบธรรมอย่างไร”

 

“เราอยู่ในโลกที่เรียกร้องการคิดใหม่ทั้งหมด” – Justin Wood แห่ง World Economic Forum

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“ทุกวันนี้ มีเทรนด์อยู่ 4-5 เทรนด์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด (critical) ในการกำหนดว่าโลกที่เราอยู่เป็นแบบไหน ข้อเสนอของเราคือ เทรนด์ที่สำคัญและทรงพลังมากที่สุดคือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและหลอมรวมเข้าด้วยกัน”

สมคิด พุทธศรี สนทนาแบบกระชับกับ Justin Wood แห่ง World Economic Forumว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 รวมไปถึงเครื่องมือและวิธีคิดใหม่ๆ ในกระบวนการกำหนดนโยบายของประเทศ

“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในอัตราเร่ง นั่นหมายความว่า เราจำเป็นต้องอยู่บนคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น โลกจะหนีห่างจากเราไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถตามทันได้เลย

เป็นความจริงว่ามนุษย์ปรับตัวมาโดยตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เรียกร้องให้เราปรับตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนา ไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ก็ยังสามารถเติบโตได้ โมเดลการพัฒนาแบบเดิมเชื่อว่าปล่อยให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมไป

ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ก็รับและปรับเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งถ้าทำได้เร็วพอ ประเทศกำลังพัฒนาก็จะสามารถไล่กวดประเทศพัฒนาแล้วได้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ใช้โมเดลนี้แล้วก็ทำได้ดีพอสมควร

แต่ทุกวันนี้ โมเดลการพัฒนาแบบนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดีอีกต่อไป เพราะมันใช้ได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ ท่ามกลางคลื่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ประเทศใดที่ยังใช้โมเดลแบบเดิมนี้จะถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ แม้ยังคงเติบโตอยู่ก็ตาม

อีกแนวโน้มหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ โลกกำลังมีหลายขั้ว และหลายความคิด (multi-polar and multi-conception) กล่าวคือ ไม่ได้มีกฎกติกาแบบเดียวให้ยึดถืออีกต่อไป ในแง่นี้ แต่ละประเทศจะดำเนินนโยบายแบบเอกภาคีมากขึ้น ในขณะที่การร่วมมือภายใต้ผลประโยชน์ร่วมจะเป็นไปอย่างยากลำบาก”

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ : 85 ปี ‘ธรรมศาสตร์’ กับอนาคตบนถนนการศึกษาไทย

 

โดย  พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“เราอยากให้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็น safe zone ที่นักศึกษารู้สึกปลอดภัย และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และเคารพเสรีภาพของคนอื่น เพราะนี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องรักษาไว้ ตัวตนและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ก็คือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม”

ในวาระครบรอบ 85 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 101 ถือโอกาสสนทนายาวๆ กับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน

ไล่ตั้งแต่เรื่องราวของการศึกษาในโลกยุคใหม่ การปรับตัวของมหาวิทยาลัยในมิติต่างๆ แนวทางและเป้าหมายของธรรมศาสตร์ในอนาคต ไปจนถึงอุดมการณ์และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์–ในวันเวลาที่ประเทศไทยเพิ่งมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบ คสช. มาหมาดๆ

“ธรรมศาสตร์แห่งอนาคตจะไม่เป็นเพียงมหาวิทยาลัย … เราจะเป็น Hub ของบูรณาการศาสตร์แห่งอนาคต เป็น Platform ของการเรียนรู้สำหรับคนทุกเจน ของแรงงานในอนาคต เป็น Marketplace ของทางออกให้กับประเทศทั้งในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม เป็น Community ของนักวิชาการชั้นนำจากนานาชาติ และเป็น Flagship ของจิตวิญญาณในการรับใช้ประชาชน”

“ถ้าดูข้อมูลจาก World Economic Forum จะพบว่า 65% ของเด็กประถมในวันนี้ จะจบการศึกษาไปทำงานในอาชีพที่ไม่มีอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นหากระบบการศึกษาจะมุ่งเติมเต็มเป้าหมายทางอาชีพ ก็อาจทำได้อย่างมากแค่เพียง 35% ของเด็กเหล่านี้เท่านั้น เราจึงไม่แปลกใจที่คนที่จบแล้วไม่ได้ทำอาชีพตามที่ตนตั้งใจไว้

เราควรเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นเส้นทางเรียนรู้เพื่อเติมเต็มความฝันของชีวิต (Life goal) ด้วยการจัดกระบวนการค้นหาตัวตน ทำความรู้จักกับสังคมและโลก และตั้งเป้าหมายของชีวิตที่มีคุณค่า เปลี่ยนการสอนให้เป็นการมุ่งสร้างความพร้อมในการลุกขึ้นมาทำความฝันให้เป็นจริง เปลี่ยนอาจารย์ที่เน้นเฉพาะการสอนความรู้การประกอบอาชีพ เป็นอาจารย์โค้ชที่แนะแนวทางสู่เป้าหมายชีวิตของผู้เรียน”

“ดิฉันมีเฟซบุ๊กที่เด็กสามารถติดต่อได้โดยตรง เวลาเด็กมีปัญหา สามารถอินบ็อกซ์มาหาเราได้ทันที มันใกล้ชิดกันขนาดนั้น มีที่ไหนที่เด็กตัดต่อรูปอธิการบดีใส่ชุด BNK48 (หัวเราะ) บางคนอาจมองว่าไม่เหมาะสมหรือเกินเลย แต่เรารู้สึกว่ามันสร้างสรรค์ น่ารักดี แล้วเราน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่เด็กสามารถปิดประตูคุยกับผู้บริหารได้”

“เรื่องการแสดงความเห็น หรือการแสดงออกทางการเมือง เราก็ไม่ได้ปิดกั้น คุณอยากแสดงความเห็น เชิญ แต่ถ้ามันออกนอกลู่นอกทางมากจริงๆ ก็ต้องบอกกัน คอยตักเตือนให้เขารู้ขอบเขต เพื่อประโยชน์ของตัวเขา ถ้าคุณไม่เชื่อก็รอรับผลที่จะตามมา ส่วนใหญ่เราจะปล่อย ไม่ไปบังคับอะไรเขาอยู่แล้ว แต่พอเกิดอะไรขึ้นมา เราก็ไปช่วยประกันตัว…”

 

 

“ผมเป็นพวกสากลนิยม” จรัล ดิษฐาอภิชัย จากกรรมการสิทธิฯ สู่ชีวิตลี้ภัยการเมือง

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ถ้าผมเลิกสู้ ชีวิตก็ไม่มีความหมาย พูดในแง่นี้คือเห็นแก่ตัว เพราะการต่อสู้ทำให้ผมมีชีวิต ทำให้ผมมีความหมาย มีความสุข มีความหวัง ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์และที่ผ่านมาก็แพ้มากกว่าชนะ แต่ผมชอบวิถีชีวิตแบบนี้ ถ้าเลิกสู้ ผมจะทุกข์มาก”

วจนา วรรลยางกูร พูดคุยกับ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีต กสม. และอดีตแกนนำ นปช. ถึงชีวิต 5 ปีในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองบนแผ่นดินฝรั่งเศส และความใฝ่ฝันถึง ‘สังคมอุดมคติ’

“ที่เพื่อนๆ คุณมาด่าผมทุกวันเพราะเขาคิดว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนขายชาติ เป็นคนทำร้ายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ เป็นพวกลัทธิอุบาทว์ เพราะงั้นผมจึงไม่โกรธเพื่อนๆ คุณเลยที่มาด่าผม มาถุยน้ำลาย มาเยี่ยวใส่ ผมไม่โกรธ เพราะเขาคิดว่าผมขายชาติไง ถ้าผมเป็นเขา แล้วผมรักชาติมาก เผลอๆ ผมอาจปฏิบัติยิ่งกว่าที่เขาปฏิบัติกับผม เรารู้กฎของการต่อสู้”

“อุดมการณ์ประชาธิปไตยต้องมีความเชื่อมั่นว่าจะชนะในการต่อสู้ ถ้าไม่เชื่อมั่นคนก็ไม่อยากสู้ ยกเว้นนักต่อสู้ที่สู้กันมายาวนานแล้ว แม้เห็นว่าแพ้ก็จะยังสู้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น ซึ่งเข้าใจได้ เพราะเวลานี้ก็ยังไม่มีใครเสนอแนวทางที่คนเชื่อว่าสู้แล้วจะชนะได้”

“ผมเชื่อในมนุษยชาติที่จะหาทางแก้ปัญหาและแสวงหาสังคมที่ดี ไม่เช่นนั้นมนุษยชาติจะอยู่ไม่ได้ หรืออยู่แบบที่คนส่วนใหญ่ทุกข์ทรมาน”

 

เมื่อ ‘รายได้’ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย : ทำความเข้าใจ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ กับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนใกล้เคียงที่ได้อยู่กับพ่อแม่ ด้วยสภาวะการเงินที่ใกล้เคียงกัน พบว่าเด็กที่โตมาในครอบครัวแหว่งกลาง มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำกว่าครอบครัวอื่นประมาณปีถึงปีครึ่ง”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ สนทนากับ ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัย ‘บทบาทของสภาพครัวเรือนต่อการพัฒนาคุณภาพกำลังแรงงานในอนาคต’ ว่าด้วยต้นตอ ผลกระทบ และข้อเสนอแนะต่อปัญหา ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ หรือครอบครัวที่มีสมาชิกรุ่นปู่-ย่า แล้วข้ามไปที่รุ่นหลาน โดยขาดสมาชิกรุ่นพ่อ-แม่

“เราไม่ได้บอกว่าเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของปู่ย่าตายายในครัวเรือนไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เพียงแต่ว่ามันไม่เหมือนกับได้รับการดูแลจากพ่อแม่ คนแต่ละรุ่นก็มีวิธีการเลี้ยงดูลูกบุตรหลานที่แตกต่างกัน หากมีพ่อแม่ที่อยู่ในวัยที่สามารถรับความรู้ ข้อมูลในการเลี้ยงดูได้เร็ว เด็กก็อาจได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้องกว่า”

“ตอนนี้งานไม่ได้อยู่ที่ชนบท งานอยู่ที่เมืองใหญ่ๆ ตามแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าคนทางนู้นเขาอยากได้แรงงาน คนทางนี้ก็ต้องย้ายไป แล้วคอนเซ็ปต์ของประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายบังคับที่ว่า ต้องมีศูนย์หรือสถานที่ช่วยเลี้ยงเด็กอย่างที่หลายๆ ประเทศมีกัน ในต่างประเทศพอมีการย้ายงาน เขามี childcare ให้ ลูกก็สามารถตามพ่อแม่ไปได้”

“ทุกคนพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกตัวเอง เช่น การปั๊มนมส่งไป ถึงแม้ว่าตัวจะไม่อยู่ ลูกก็ได้กินนมครบ 6 เดือน วิธีการส่งนมกลับ อย่างแรกก็ต้องปั๊มนม ปั๊มนมเสร็จก็ต้องแช่ แช่เสร็จก็ต้องให้รถตู้วิ่งจากกรุงเทพฯ กลับไปอุบลฯ อะไรแบบนี้ ณ ตอนนี้ คนก็ทำกันเอง ไม่ได้มีนโยบายที่ช่วยเอื้อเท่าไหร่เลย”

“ถามว่าคุณภาพของคนที่ทำงานให้คุณมาจากไหน ก็มาจากการที่เขาได้รับการดูแลดีๆ ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นการที่ทำให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่ดี มันก็ดีต่อสวัสดิภาพของคนทำงานในปัจจุบันเอง ถ้าพูดถึงความพึงพอใจในการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมผลิตภาพของพนักงานได้หมดเลย”

 

#SAVETHAILAND : สิ้นยุค คสช. เข้าสู่ระบอบขาวสามด้าน กระแสลมขวาจัดพัดแรง

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงการเมืองไทยหลังสิ้นยุค คสช. ตั้งแต่โฉมหน้ารัฐมนตรีชุดใหม่ ปาหี่ในสภา น้ำยาของฝ่ายค้าน พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงกระแสขวาจัดที่เด่นชัดและส่อเค้ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

“น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง กับปฏิกิริยา ปรากฏการณ์สร้างกระแสปลุกระดมความเกลียดชังของปีกการเมืองขวาจัด ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีนางสาวพรรณิการ์ วานิช ด้วยข้อกล่าวหาชักสีหน้าประกอบภาพ หรือแม้แต่การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม ทำถึงขนาดปลุกปั่นให้มีการใช้กำลังดักตบกันเลยทีเดียว

มีการสร้างวาทกรรมชังชาติ กล่าวหาผู้คนซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบรัฐบาล พยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475 โดยมุ่งทำลายเกียรติภูมิของคณะราษฎร ฯลฯ

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ที่ปัญหาผู้อพยพ การก่อการร้าย ร้อยรัดเกี่ยวพันกับประเด็นทางศาสนา ชาติพันธ์ุและสีผิว ทำให้การเมืองปีกขวากลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในชาติตะวันตกหลายประเทศ

การที่ประชากรท้องถิ่นหวั่นกลัวผลกระทบที่ตัวเองจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้การเมืองปีกขวา ลัทธิชาตินิยมหรืออัตลักษณ์นิยม กลับมาเติบโตอีกครั้ง เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก

แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับประเทศไทย ซึ่งปกครองภายใต้ระบอบเลือกตั้ง สลับสับเปลี่ยนกับการทำรัฐประหารโดยกองทัพ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเอื้ออำนวยต่อการดำรงอยู่และเติบโตของฝ่ายขวามาโดยตลอด

วันดีคืนดีก็ทวีความรุนแรง ปลุกระดมสร้างกระแสขวาจัดขึ้นมา พร้อมที่จะเข่นฆ่า ทำลายฝ่ายตรงกันข้ามที่มีความคิดเห็นผิดแปลกแตกต่างไปจากตัวเอง

ไม่ได้มีเหตุมีผล ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวมแต่ประการใด

ที่พยายามสร้างกระแสยั่วยุ ปลุกปั่นให้ผู้คนเผชิญหน้า ห้ำหั่นกันเอง ทำเพื่อใครลองคิดดู”

 

อำนาจของสถาปัตยกรรมต่อ ‘คน’ และ ‘เมือง’ : ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ไม่ได้เห็นภาพใหญ่ในการแก้ปัญหา คือเราภูมิใจในความมีอิสระในการทำนู่นนี่นั่น ซึ่งก็มีข้อดีนะ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานแย่มาก คนไทยเลยมีความคิดสร้างสรรค์สูงมากในการใช้เมือง ดิฉันว่านวัตกรรมในการใช้เมืองที่อลังการที่สุดเบอร์หนึ่งคือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เนื่องจากเมืองเราไม่มีประสิทธิภาพ คนที่อยู่อาศัยก็ต้องคิดเรื่องนี้ คือทำยังไงให้อยู่รอด

“ถามว่าสวยมั้ย ไม่สวยหรอก ของเรามันเละ เดินไปบนฟุตปาธก็ไม่มีท่อระบายน้ำ วันก่อนเพิ่งอ่านที่คนญี่ปุ่นในเมืองไทยทำวิจัยว่ามีพื้นที่ตรงไหนในกรุงเทพฯ ที่เวลาฝนตกแล้วน้ำจะไม่ท่วมบ้าง ปรากฏคือไม่มี”

บทสัมภาษณ์ชิ้นแรกจาก 101 Spotlight ซีรีส์ ‘บางคอก’ คุยกับ ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย ว่าด้วยออฟฟิศในโลกยุคใหม่ วันหยุดกับวิถีคนเมือง หน้าตาของอาคารในโลกเมื่อ 20 ปีที่แล้วต่างจากตอนนี้อย่างไร พื้นที่สาธารณะหมายถึงอะไร อาคารส่งผลต่อวิถีชีวิตผู้คนอย่างไร และสถาปัตยกรรมที่เราเห็นสะท้อนภาพสังคมแบบใดบ้าง

“ในอาคารของประเทศไทย ไม่มีกฎหมายเรื่องพื้นที่ของพนักงาน มีบางตึก ดิฉันเห็นแม่บ้านกินข้าวในห้องน้ำ คุณจะให้สังคมสงบสุขได้ยังไง ถึงจุดหนึ่งคนก็ต้องมีความเป็นคนในระดับนึง คือคุณไม่มีพื้นที่ให้เขาเปลี่ยนเสื้อผ้า เก็บของ กินข้าว โหดไปนะ นี่คือสังคมที่ไม่นับรวมเขา (inclusive) เราลืมคน

“ตึกสวยๆ ที่เห็นอยู่อลังการ มันสวยได้ เพราะมีคนดูแลนะ คนดูแลเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่า แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องเหยียบเขา

“คือการที่เราจะทำให้เขาอยู่ในสังคมนี้ได้ เราก็ต้องเคารพวิธีใช้ชีวิตของเขาในระดับนึงนะ ควรมีที่ให้กินข้าว มีที่ให้เปลี่ยนเสื้อผ้า มีล็อคเกอร์มั้ย ดิฉันเห็นแม่บ้านเก็บของตัวเองไว้ในห้องเก็บอุปกรณ์ ทำไมเรามีห้องเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด แต่เราไม่มีห้องที่แม่บ้านจะเปลี่ยนเสื้อเก็บของ คือคุณเอาของเขาไปเก็บกับไม้กวาด เราอยากเก็บสมบัติเรากับไม้กวาดมั้ยล่ะ

“นี่เป็นเรื่องที่ดิฉันต่อสู้ตลอดเวลาว่าให้เจ้าของโครงการคิดถึงเรื่องนี้ ต้องมีนะ คุณจะให้เขาอยู่ยังไง ทำไมเราไม่มีพื้นที่ให้คนเหล่านี้เลย”

 

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : ความหมายใหม่และโทษใหม่ของการข่มขืนกระทำชำเรา

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท เขียนถึงความหมายใหม่และโทษใหม่ของ ‘การข่มขืนกระทำชำเรา’ กับ ‘อนาจาร’ ซึ่งปรากฏในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2562 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

“ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดความหมายของการกระทำชำเราใหม่ ดังนี้ ‘กระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น’

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายเดิมคือ การใช้สิ่งอื่นใดหรืออวัยวะอื่นใดของผู้กระทำ สอดใส่อวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้เสียหายเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ ได้ถูกย้ายไปเป็นเหตุเพิ่มโทษของการอนาจาร

ดังนั้น การที่ผู้กระทำใช้นิ้วสอดใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย จากเดิมผู้กระทำเคยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape) แต่ปัจจุบันผู้กระทำจะมีความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำ (sexual assault by penetration)

ทั้งนี้ หากพิจารณาเรื่องความเสียหาย (harm) การที่ผู้เสียหายถูกบังคับสอดใส่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ไม่ว่าด้วยสิ่งใดก็ตาม น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายที่เท่ากัน ไม่ว่ามองจากผู้เสียหายหรือมองจากสังคม

แม้ว่าความผิดฐานอนาจารโดยการสอดใส่ตามมาตรา 278 วรรค 2 จะกำหนดโทษเท่ากับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความรุนแรงของทั้งสองความผิดให้เห็นว่าเท่ากันได้ แต่การถูกประณามจากสังคมยังคงต่างกัน ระหว่าง ข้อหา ‘ข่มขืน’ กับข้อหา ‘อนาจาร’

“สำหรับคำถามที่ว่า การแก้ไขกฎหมายโดยยกเว้นโทษให้เด็กที่สมัครใจมีเพศสัมพันธ์กันเองในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่

ผมเห็นว่าหน้าที่ในการสั่งสอนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อมและป้องกันตัวเองอย่างถูกต้อง ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ชุมชน สังคม โรงเรียน ซึ่งอาจรวมถึงหน้าที่ของรัฐ แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของกฎหมายอาญาที่มีไว้เพื่อลงโทษคนที่เป็นอาชญากร”

 

ฉันสวมใส่สิทธิบนเรือนร่างของฉัน

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“หลายครั้งโอกาสในการแต่งตัวโป๊ถูกฉวยไป เพราะความเข้าใจผิดว่าตัวเองคือผู้ชม คิดว่าผิวที่เผยสู่สายตา ไม่มีเสื้อผ้าปิดไว้ หรือทรวดทรงที่คัดแน่นใต้เสื้อรัดรูป เป็นคำอนุญาตให้ใครๆ มีสิทธิเหนือร่างกายผู้สวมใส่”

คอลัมน์ Sex Appear ตอนใหม่ ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เขียนถึงการสวมใส่เสื้อผ้า ที่มักจะมาพร้อมคำวิจารณ์เรือนร่าง และการผูกโยงเรื่องเพศ

หากคุณรู้จัก Billie Eilish หรือลองเสิร์ชภาพของเธอทางอินเทอร์เน็ต เอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ เธอมักจะสวมใส่เสื้อผ้าหลวมโคร่งเสมอ

และเพียงครั้งเดียวที่เธอใส่เสื้อกล้ามสีขาวพอดีตัว เผยสัดส่วนอย่างที่คนไม่เคยเห็น สิ่งที่เธอไม่ต้องการมาตลอดก็พลันเกิด หลายความคิดเห็นบนโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ร่างกายของเธอ บ้างลวนลามทางคำพูด ความเห็นชวนโมโหก็มีให้เห็น เช่น “ฉันมีสิทธิ์จะ sexualise และพูดถึงร่างกายของเธออย่างไรก็ได้”

“คนเราสามารถมีความคิดที่ดีที่สุด ร้ายที่สุด มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้อง speak it out ทุกครั้งป่ะ เมื่อมันเกี่ยวกับสิทธิบนร่างกายคนอื่น ซื่อสัตย์กับตัวเองได้ แต่ถามตัวเองด้วยว่าพูดออกไปทำไม…”

ชายคนหนึ่งถามฉันว่า ผู้หญิงคิดอะไรเวลาใส่ชุดนอนไม่ได้นอน ฉันและพี่ผู้หญิงอีกคน ระเบิดพลังเพื่อนหญิงพลังหญิง อธิบายกับชายคนนั้นว่า โอเค บางครั้งชุดนอนไม่ได้นอนก็มีเป้าประสงค์ตามชื่อ ก็ไม่อยากนอน อยากทำอย่างอื่น เลยใส่เพิ่มรสรักกับแฟน

แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หลายครั้งและน่าจะมากครั้งกว่าการอยากทำอย่างอื่น ผู้หญิงแค่อยากรู้สึกสวย พอใจจะใส่ผ้าลื่น แพนตี้ลูกไม้ จีสตริง ฯลฯ

“ใส่ให้ใครดู” นั่นแน่ะ สงสัยยังไม่เข้าใจ

“ไม่มี! ใส่ให้ตัวเองพอใจ” สองเสียงประสานเป็นหนึ่งเดียว

 

ไลฟ์โค้ช หรือ ลัทธิ ? หนทางแสวงสุขที่อาจได้ผลและยังคงน่าสงสัย

 

โดย ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

“พี่เลี้ยงเริ่มเปล่งเสียงคำว่า ‘โอม’ ออกมา เสียงดังฟังชัด ไล่ระดับเสียงไปเรื่อยๆ พอเปล่งเสียงโอมถึงขั้นที่ดังที่สุด ทุกคนตะโกนอย่างรุนแรง กำมือ ตัวเกร็ง แล้วสุดท้ายก็อ้วกออกมาใส่กระโถนของตัวเอง”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ พาไปสำรวจโลกของ Life Coaching หรือศาสตร์แห่งการพัฒนาตัวเอง ทั้งสาเหตุความนิยม เส้นแบ่งระหว่างไลฟ์โค้ชและลัทธิ ไปจนถึงข้อควรระวัง ผ่านน้ำเสียงของผู้มีประสบการณ์เข้ากลุ่มไลฟ์โค้ช และมุมมองทางจิตวิทยาของ พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น

“ช่วงที่ทุกคนอ้วก ผู้นำกลุ่มก็จะเริ่มพูดว่า ‘สิ่งที่อ้วกออกมาคือ มาร มารที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวของทุกคน มารที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณและร่างกายของเรา พออ้วกออกมาแล้ว เราก็พร้อมที่จะเป็นคนใหม่”

“สำหรับเรา คนที่ต้องระวังเป็นพิเศษหากจะไปเข้าอบรม หรือเรียนคอร์สที่ไม่รู้ว่าจะไปเจออะไรบ้าง คือคนที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต หรือคนที่มีสภาวะไม่มั่นคงทางอารมณ์อย่างเรา เพราะถ้ามันไม่ช่วยคุณไปเลย ก็อาจจะรู้สึกไม่ดีกับมันไปเลยก็ได้”

“ไลฟ์โค้ชมีหลากหลายมาก หลายกลุ่มอาจมีการฝึกฝน และมีวิทยากรที่ผ่านการศึกษาอย่างมีระบบ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ไม่มีระบบที่ชัดเจนว่า ผู้นำกลุ่มหรือวิทยากรต้องผ่านการเรียน หรือได้ใบรับรองด้านไหนมา”

“ลัทธิ เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อบางอย่างที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต โดยต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ 1. ต้องมีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ 2. มีระบบชนชั้น มีระบบควบคุมดูแล และ 3. มีการแบ่งแยก กลุ่มเขากลุ่มเรา”

“เหตุผลที่มนุษย์ซึ่งรักอิสรภาพ ยอมมอบอำนาจ หรือคล้อยตามผู้นำเป็นเพราะคนเราอาจเติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่เห็นในอำนาจในตัวเอง หลายครั้งระบบและโครงสร้างของสังคมก็ทำให้เรารู้สึกไม่มีอำนาจ หรือไม่สามารถควบคุมอะไรได้ คนก็เลยไปเชื่อว่าอาจมีอำนาจที่เหนือกว่าเรา และในบางครั้งก็มาในรูปแบบของผู้นำ”

 

‘ครึ่งหลัง’ ของโลกอินเทอร์เน็ต : 3 เทรนด์ใหญ่ที่ต้องจับตา

 

โดย สันติธาร เสถียรไทย 

สันติธาร เสถียรไทย มีโอกาสพูดคุยกับทีมของ Mary Meeker ผู้จัดทำ Internet Trends Report ที่กลายมาเป็นคัมภีร์ที่คนในวงการเทคโนโลยีต้องอ่านมาตลอด 24 ปี

สิ่งที่ต้องจับตาตอนนี้คือประชากรชาวเน็ตโลก ถือว่ามีจำนวนมากกว่าประชากรที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่หลังจากนี้การเจริญเติบโตของอินเทอร์เน็ตอาจไม่ง่ายเหมือนเดิม เพราะ “ผลไม้ที่ห้อยต่ำอยู่ใต้ต้นได้ถูกเก็บไปหมดแล้ว”

ในบทความนี้ สันติธารชี้ให้เห็น 3 เทรนด์สำคัญที่ต้องจับตามองของอุตสาหกรรมดิจิทัลในยุคครึ่งหลังของโลกอินเทอร์เน็ต (The Second Half of Internet)

“การสื่อสารด้วยภาพและวิดีโอจะมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับอีกครึ่งโลกที่ยังไม่ใช้อินเทอร์เน็ต เพราะปัจจัยทางภาษาและความสามารถในการอ่านเขียน อาจเป็นอุปสรรคที่หนักขึ้นสำหรับบางคนในกลุ่มนี้ที่อาจไม่รู้ภาษาอังกฤษหรืออ่านเขียนไม่คล่อง”

“มีอีกวิธีที่อินเทอร์เน็ตจะโตต่อไปได้โดยไม่ต้องหาผู้ใช้ใหม่ นั่นคือการดึงดูดผู้ใช้เดิมให้ทำกิจกรรมในโลกออนไลน์มากขึ้น ใช้เวลาในโลกดิจิทัลมากขึ้นกว่าเดิม โดยปีนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างตรงที่ เป็นครั้งแรกที่คนใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันในการดูจอโทรศัพท์ (226 นาที) มากกว่าจอทีวี (216 นาที)”

“หากยุคอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้บริโภค เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติผู้บริโภค ยุคอินเทอร์เน็ตแห่งภาคธุรกิจก็คือการปรับตัวของธุรกิจและองค์กรต่างๆ ซึ่งอาจจะยากและต้องใช้เวลานานยิ่งกว่า เพราะวัฒนธรรมองค์กรเคยชินกับวิธีการทำงานแบบเดิมๆ มานาน และอาจไม่กล้าออกนอกกรอบที่ตนเองคุ้นเคย รวมถึงต้องใช้ทักษะและหลักการบริหารใหม่ๆ ที่ธุรกิจดั้งเดิมอาจยังไม่มี”

 

ชะเง้อดู ‘Installation Art’ ขับเคลื่อนสังคม ที่คว้ารางวัลบนเวทีโฆษณา Cannes Lion และ D&AD ปีนี้

 

โดย Eyedropper Fill

เดือนพฤษภาคมและมิถุยายนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่เวทีประกวดโฆษณาระดับยักษ์ของวงการอย่าง D&AD Awards และ Cannes Lion ประกาศรางวัลสุดยอดโฆษณาแห่งปี รางวัลสูงสุดของทั้งสองเวทีอย่าง Black Pencil และ Grand Prix ถูกมอบให้แก่โฆษณาที่โดดเด้งประจำปี ทั้งโฆษณาที่มีวิธีการขายของที่เจ๋งจนเจ้าอื่นคิดไม่ถึง หรือสร้างรูปแบบการโฆษณาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในจำนวนหลักร้อยของโฆษณาที่เรียงรายกันรับรางวัล ยังมีโฆษณาหมวดหมู่หนึ่งที่ไม่ได้พุ่งเป้าการโฆษณาไปเพื่อขายสินค้าหรือแบรนด์เพียงอย่างเดียว หากแต่ใช้แก่นหลักของโฆษณา คือ ‘การสื่อสาร’ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง และสร้างสังคมใหม่ให้ดีขึ้น ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ‘แคมเปญโฆษณาเพื่อสังคม’

เราอาจเคยเห็นโฆษณาเพื่อสังคมในรูปแบบของภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ หรือบิลบอร์ดกันบ่อยๆ จนนึกภาพออก แต่คุณจะนึกภาพออกอยู่ไหม หากเราพูดถึงโฆษณาเพื่อสังคมในรูปแบบของ ‘Installation Art’ หรือศิลปะติดตั้ง รูปแบบศิลปะที่เราเคยสัมผัสแต่ในแกลลอรี่ เทศกาลออกแบบ หรือเทศกาลดนตรี งานศิลปะที่มีไว้แค่ให้ยืนตะลึงในความงดงามอลังการ หรือมากสุดก็แค่ถ่ายรูปคู่ มันจะเปลี่ยนแปลงสังคมอีท่าไหน !?

ถ้าคุณนึกไม่ออก Third Eye View ฉบับนี้ เราชวนดูโฆษณารูปแบบ Installation Art 4 ชิ้น ที่ไม่เพียงคว้าทั้งรางวัลจากเวทีโฆษณา แต่ยังได้รางวัลททางใจจากมวลชน ในฐานะที่มันสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดี

คอลัมน์ Third – Eye View สัปดาห์นี้ Eyedropper Fill หยิบเอา Installation Art ที่ว่าด้วยประเด็นสังคมที่ชนะรางวัลบนเวทีโฆษณา Cannes Lion และ D&AD มีทั้งประเด็นการเหยียดเพศ มลภาวะ การฆ่าตัวตาย และยาเสพติด

 

ธาดา เฮงทรัพย์กูล : โลกบาดาล งานคอลลาจ และประวัติศาสตร์แห่งการจมดิ่ง

 

โดย  พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

“ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่ง เหมือนโลกใต้ทะเล มันไม่ใช่ระบบนิเวศของคนบนบก ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องสากลของคนบนบก กลายเป็นเรื่องผิดแปลกในโลกนี้ เหมือนประเทศเราถูกดีไซน์มาไม่เหมือนคนอื่น…”

101 สนทนากับ ธาดา เฮงทรัพย์กูล เจ้าของนิทรรศการ ‘You lead me down, to the ocean’ ที่นำเศษซากของประวัติศาสตร์และสงคราม มาร้อยเรียงเป็นงานศิลปะที่น่าตื่นตาตื่นใจ และชวนให้เกิดคำถามในเวลาเดียวกัน

นิทรรศการของธาดาพาเราดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำ มีทั้งรถถังที่ถูกทำให้เป็นปะการังเทียม จดหมายของคู่รักในช่วงสงครามเวียดนาม วิดีโออาร์ตที่สกัดเม็ดสีจากชุดลายพราง ไปจนถึงภาพเปลือยเปล่าของศิลปิน

“ช่วงที่มีรัฐประหาร จะมีหนังสารคดีฉายในทีวีว่าทหารทำความดีอะไรบ้าง มีช็อตหนึ่งที่เขาเอารถถังไปทิ้งลงทะเล ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยไปรีเสิร์ชหาข้อมูลต่อ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เขาซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ หรืออาจใช้แล้วแต่ไม่เวิร์ก ก็เลยเอาไปทิ้งทะเล แล้วก็ซื้อใหม่มาเรื่อยๆ”

“การฉายภาพเคลื่อนไหวของรถถังที่จมอยู่ใต้น้ำ ผมดีไซน์ว่าอยากได้ภาพเป็นกล้องนิ่งๆ ใต้น้ำ แล้วกระบอกปืนหันมาทางคนดู อยากให้ตัวรถถังดูมีพลัง มีอำนาจ ขณะเดียวกันก็คุกคามคน ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนกลัว สยบยอม หรือศิโรราบกับมัน”

“จดหมายที่นำมาจัดแสดง เป็นจดหมายที่คู่รักเขียนถึงกันช่วงสงคราม คนที่อยู่ฝั่งประเทศไทยแล้วไม่ได้ไปรบ จะเล่าว่าประเทศตอนนั้นเป็นยังไง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเราแทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ยังมีภาวะที่คล้ายๆ กันอยู่”

“กระทั่งระบบความเชื่อบางอย่าง เช่น คนเป็นภรรยา ไปเฝ้าภาวนากับหลวงพ่อ ขอให้สามีได้กลับมาจากสงคราม ภาวะแบบนี้มันมีความ contrast กันมาก ระหว่างความเป็นพุทธศาสนากับการใช้ความรุนแรง

“เราอธิบายความก้าวหน้าในประเทศนี้ไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่เราเห็นอยู่มันโคตรไม่ก้าวหน้าเลย ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะอธิบายความล้าหลังที่เป็นอยู่นี้ยังไงมากกว่า…”

 

อาเซียนวางตัวอย่างไร ภายใต้ศึกจีน-สหรัฐฯ

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงลีลาการทูตของอาเซียน ภายใต้ศึกจีน-สหรัฐในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผ่านการเลือกใช้คำว่า ‘อินโด-แปซิฟิก’ ที่สหรัฐฯ ชอบใช้ ขณะที่ยังระบุเนื้อหาบางเรื่องตามแนวทางที่เป็นมิตรกับจีน

“เห็นได้ชัดว่าการเลือกคำครั้งนี้ เน้นหลีกเลี่ยงความสำคัญของจีน และขยายภาพของภูมิภาคให้กว้างมากขึ้น เพราะถ้ามองภาพแคบแค่ “เอเชีย” แบบเดิมๆ (ซึ่งคนมักนึกถึงเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก) หลายคนมักมองว่าจีนเป็นพี่ใหญ่ของเอเชีย

“แต่เมื่อขยายภาพใหญ่ขึ้นเป็น “อินโด-แปซิฟิก” ก็จะรวมยักษ์ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างอินเดียและออสเตรเลีย และหากมองว่ามหาสมุทรแปซิฟิกเชื่อมถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ก็ย่อมทำให้สหรัฐฯ เองกลายมาเป็นหุ้นส่วนสำคัญของภูมิภาคนี้ด้วย”

“ในด้านแนวทาง อาเซียนเน้นย้ำว่า ต้องการส่งเสริมความร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ดังนั้น ทัศนะของอาเซียนจึงไม่ใช่การเลือกข้าง แต่เป็นการเรียกร้องให้มหาอำนาจต่างๆ หันมามองถึงการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน”

 

ปฏิบัติการทวงคืน ‘อนาคต’ ของคนรุ่นใหม่: จากโลกถึงไทย

 

โดย จันจิรา สมบัติพูนศิริ 

“ก้าวร้าว-ดื้อดึง-ไม่เชื่อฟัง-ไร้ประสบการณ์-มีกลุ่มการเมืองเบื้องหลัง”

หลากคำที่ถูกยกขึ้นมาเมื่อเยาวชนลุกขึ้นมาประท้วงสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นด้วยในสังคมไทย

ขณะที่ในวันนี้พลังเยาวชนในหลายที่ทั่วโลกกำลังถูกปลุกขึ้นมาเพื่อเตือนสติผู้ใหญ่ให้หยุดยั้งการทำลายอนาคตของพวกเขา

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เขียนถึงการลุกฮือของ ‘เด็ก’ ในสวีเดน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ในประเด็นสิ่งแวดล้อม ความรุนแรง และประชาธิปไตย อันทำให้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่หวังสร้างความเปลี่ยนแปลง

“เยาวชนเหล่านี้กำลังเตือนสติผู้ใหญ่ให้หยุดยั้งการทำลายอนาคตของพวกเขา วันหนึ่งผู้ใหญ่เหล่านี้จะลาโลกไป พวกเขาต่างหากที่ต้องอยู่รับผลกรรมจากการกระทำของพวกผู้ใหญ่”

“ผู้ใหญ่จำนวนมากมักปรามาสการประท้วงของ ‘เด็ก’ ว่าไม่จริงจัง ตามกระแส เดี๋ยวก็หายไปเพราะวัยรุ่นเบื่อง่ายและไม่ชอบลำบากไปประท้วงบนท้องถนน แคมเปญ วันศุกร์เพื่ออนาคต, การเดินขบวนเพื่อชีวิต และการชุมนุมในฮ่องกง ล้วนแต่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ทั้งยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดง่ายๆ”

“กลุ่มเยาวชนซึ่งออกแบบกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมแพ้เมื่อเจอกระแสโจมตีจากผู้ใหญ่ฝั่งอนุรักษนิยม หรือเมื่อถูกตำรวจปราบปราม อีกทั้งยังยอมสละเวลา กำลังกายและทรัพย์ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มีอนาคตเป็นเดิมพัน”

 

‘กำไลมูเตลู’ แฟชั่น หรือ ความเชื่อ

 

โดย ศุภิษฐา นาราวงศ์

ศุภิษฐา นาราวงศ์ เขียนถึงปรากฏการณ์กำไลมูเตลู เครื่องรางของขลังร้อยลูกปัดที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และพูดคุยกับผู้ใช้หลายคน เพื่อสำรวจเหตุผลการใช้งาน และหาคำตอบว่ากำไลมูเตลู เป็นเพียงแฟชั่น หรือ ความเชื่อกันแน่

จากแต่เดิมที่เครื่องรางมักได้รับความนิยมจากลูกค้าหน้าเก่า หรือคนรุ่นก่อน การเกิดขึ้นของ ‘ไลลา’ พร้อมการบอกปากต่อปากและการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนแห่มาซื้อเครื่องรางจากไลลากันไม่หวาดไม่ไหว ได้รับความนิยมจากคนหลายวัย ถึงขั้นที่มีบัญชีผู้ใช้ Instagram ที่คอยรับหิ้วหรือรับร้อยหินหลากสีเพิ่มขึ้นเกือบทุกวัน

ดูเผินๆ แล้วหลายคนอาจมองว่าเครื่องรางร้อยลูกปัดเป็นเพียงแค่เทรนด์แฟชั่นใหม่ ที่มาเร็ว ไปเร็วเท่านั้น แต่คำตอบของพนักงานคลินิกความงามวัย 32 พิสูจน์ว่ามันไม่ใช่แค่นั้นเสมอไป “เราไปรับจากคนรู้จักมาอีกที ซึ่งคนรู้จักเนี่ยไปรับจากมือพระที่เชียงใหม่เลยนะ เราไม่เคยมองว่ามันเป็นแฟชั่นหรือแค่เทรนด์ เพราะเวลาขออะไรก็มักจะได้ตามที่ขอจริงๆ”

ขณะที่พนักงานออฟฟิศอายุ 36 ปี เชื่อว่าไลลาเป็นการผสมกันของทั้งความเชื่อและแฟชั่น “เครื่องรางเหล่านี้มันมีมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ไลลาดีตรงที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้มันขึ้นมาได้ ก็เท่านั้นเอง”

Phil Zuckerman นักเขียนด้านจิตวิทยาและอาจารย์จาก Pitzer College รัฐแคลิฟอร์เนีย ในอเมริกา ที่เชื่อว่านี่เป็นผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจาก ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ (Male Dominated Power Society)

เมื่อผู้ชายส่วนใหญ่มีอำนาจมากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นทางทรัพย์สินเงินทอง เศรษฐกิจ หรือการเมือง ผู้หญิงอาจรู้สึกถึงการถูกแบ่งแยกและถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยความรู้สึกเหล่านี้จะนำไปสู่การหาที่พึ่งพาทางจิตใจ

 

ผลประโยชน์ของจีนภายใต้ BRI และความเกี่ยวพันโยงใยกับไทย

 

โดย อักษรศรี พานิชสาส์น

อักษรศรี พานิชสาส์น เล่างานวิจัยใหม่ล่าสุด ว่าด้วยผลประโยชน์ของจีนภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง พร้อมวิเคราะห์ให้เห็นถึงอิทธิพลของเศรษฐกิจจีนต่อไทยที่กำลังมากขึ้นเรื่อยๆ

“จีนค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปมีบทบาทและสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมในประเทศที่เข้าร่วม BRI อย่างเนียนๆ ไม่โฉ่งฉ่าง โดยการใช้กลไก soft power ผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลและประชาชนในประเทศเหล่านั้น ทั้งในรูปแบบของการแจกทุน การให้เงินสนับสนุนจัดคณะเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานหรือใช้ชีวิตในจีน การส่งครูจีนไปสอนภาษาจีนและศิลปะจีนในต่างประเทศ และการตั้งสถาบันขงจื้อมากกว่า 525 แห่งในกว่า 138 ประเทศทั่วโลก เป็นต้น

จนถึงขณะนี้ จีนมีประเทศแนวร่วมจากทั่วโลกที่พร้อมจะเคียงข้างจีน และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับจีน ที่สำคัญคือเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพา (ฝากอนาคต) ไว้กับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีตัวอย่างที่สำคัญในขณะนี้ คือการที่เศรษฐกิจไทยผูกพันโยงใยกับเศรษฐกิจจีนอย่างยิ่งยวด จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 16 ของการค้ารวมของไทย จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.11 ของการนำเข้าทั้งหมด และจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.98 ของการส่งออกทั้งหมด

ด้านการลงทุน จีนกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับต้นของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน (ระยอง) ที่มีบริษัทจีนกว่า 110 แห่งเข้ามาลงทุนด้วยมูลค่าลงทุนมากกว่า 2,900 ล้านดอลลาร์ฯ และจ้างงานในท้องถิ่น 30,000 กว่าตำแหน่ง

โดยสรุป ผลประโยชน์ของจีนจากยุทธศาสตร์ BRI มีหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ จะช่วยให้จีนสามารถแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งในแง่การแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าและส่งออกเทคโนโลยีจีนไปทั่วโลก รวมถึงการเปิดโอกาสให้จีนสร้างห่วงโซ่อุปทาน (global supply chain) ที่หลากหลายและขยายครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและสามารถตอบสนองการสร้างเครือข่ายการผลิตการค้าให้ทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ย่อมจะช่วยติดอาวุธให้จีนสามารถรับมือกับการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใดนั่นเอง”

 

อัยการในร่มเงา คสช.

 

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล

หลัง ‘แรมโบ้อีสาน’ หลุดคดีบุกการประชุมอาเซียนที่พัทยา ทั้งที่แกนนำเสื้อแดงคนอื่นโดนดำเนินคดีกันถ้วนหน้า ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางและเกิดกระแส #โปรย้ายค่าย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ตั้งข้อสงสัยถึงบทบาทหน้าที่ของอัยการว่าเป็น ‘ทนายของรัฐบาล’ หรือ ผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน’ เมื่อเกิดปรากฏการณ์หลุดรอดคดีอาญาของบางคนอย่างง่ายดาย

“เป็นที่น่าสังเกตว่าภายใต้ห้วงเวลานับจากการรัฐประหารเป็นต้นมา มีคดีอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลทั้งที่หากพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว มีหลายคดีที่ยากจะเป็นความผิดในทางกฎหมายแต่ทั้งหมดก็ถูกโยนไปให้ถูกตัดสินในชั้นศาล”

“ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งกลายเป็นความเข้าใจว่าการสั่งคดีของอัยการนั้น แม้พิจารณาแล้วผู้ต้องสงสัยมีโอกาสที่จะไม่ได้มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา แต่ก็เป็นเรื่องที่บุคคลดังกล่าวจะต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาลเอาเอง ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่ คสช. เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อัยการไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ เกี่ยวข้องในส่วนนี้แม้แต่น้อย”

“นี่คือการอำนวยความยุติธรรมแบบไทยๆ ในมุมมองของอัยการ ใช่หรือไม่”

 

มากที่สุด นานที่สุด

 

โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ 

คอลัมน์ Interview101 คราวนี้ ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’ เขียนถึงระยะเวลาของการสัมภาษณ์ ที่ใช้ความรู้สึกอิ่มเป็นเครื่องจับเวลา

“ทำไมมวยแต่ละยก จึงชกกัน 3 นาที
ทำไมเกมฟุตบอลถึงกำหนดไว้ที่ 90 นาที
ทำไมกติกาประชาธิปไตยจึงให้เวลารัฐบาลทำงาน 4 ปี ฯลฯ

ไม่มีอะไรลอยลงมาจากฟ้าแน่ๆ แต่ละอย่างผ่านการคิด ค้นคว้า และทดลองมาแล้วโดยละเอียด บวกด้วยข้อพิสูจน์ทางกาลเวลาที่ผ่านมานานเพียงพอจะยืนยันได้ ว่าเท่านี้แหละกำลังดี ผู้เล่นมีประสิทธิภาพ ผู้ชมกองเชียร์อารมณ์ไม่สะดุด มองในแง่ชิ้นงานก็ได้น้ำได้เนื้อ เห็นหน้าเห็นหลัง อันจะนำไปสู่การต่อยอดพัฒนา

ผมใช้เวลาสามชั่วโมงต่อการสัมภาษณ์หนึ่งครั้ง โดยเฉลี่ยนะครับ สั้นกว่านั้นก็มี ยาวกว่านั้นก็มาก หากเลือกได้ ผมว่าสามชั่วโมงกำลังสวย วงเล็บไว้ด้วยว่าอาจมีนัดสองนัดสามแก้ไขเพิ่มเติม นั่นหมายถึงงานสัมภาษณ์หนึ่งชิ้น

ในความหมายหนึ่ง บทสัมภาษณ์มันคือการงานของคนโง่
ทำมาก ทำนาน เพื่อเอาน้อย ไม่โง่อย่างไรไหว
เรียกร้องความรอบรู้สูง ลงแรงเยอะ ใช้เวลามาก ซ้ำค่าแรงต่ำ สังคมไทยเขาไม่ชายตามองคนจำพวกนี้อยู่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของสังคม เป็นมุมมองผู้อื่น ฝ่ายเรา–คนรักที่จะทำงานสัมภาษณ์ เราเห็นความหมายของมัน เห็นความสำคัญ เห็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้ในอาชีพอื่นๆ”

 

ผลงาน ‘อ่านใหม่’ ยอดนิยม เดือนกรกฎาคม 2562

 

เด็กไทยกับการสอบ PISA : มายาคติกับความเป็นจริง

 

โดย ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการขู่ถอนตัวจากการเข้าร่วมสอบ PISA หากผู้จัดสอบไม่อนุญาตให้ตรวจสอบความถูกต้องของการแปลข้อสอบจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และเรียกร้องให้เลิกนำผลสอบของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมาคำนวณในการคิดคะแนนรวมของประเทศ

ถ้าตัดคะแนนจากโรงเรียนขนาดเล็กทิ้งไป คะแนน PISA ของเด็กไทยจะสูงขึ้นจริงหรือ

แล้วจริงหรือที่เด็กเก่งในโรงเรียนดีของไทยมีผลสอบไม่แพ้นักเรียนประเทศชั้นนำ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

“ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค” นักวิจัยด้านระบบการศึกษาไทย ลงมือวิเคราะห์ข้อมูลผลการสอบ PISA ครั้งล่าสุดของเด็กไทย แล้วสรุปชัดๆ ให้อ่านกันว่า อะไรคือมายาคติ และอะไรคือความเป็นจริงที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการศึกษาควรรู้

 

สมชัย ภัทรธนานันท์ : อ่านการเมืองอีสาน ยุคก่อนทักษิณ ถึงหลังคสช.

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

:: อ่านการเมืองอีสาน จากยุคก่อนทักษิณ ถึงยุคหลัง คสช. กับ สมชัย ภัทรธนานันท์ ::

“ชาวบ้านต้องการเลือกรัฐบาล เขารู้ว่ารัฐประหารมันไม่ถูกกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าอยากเป็นนายกก็มาลงเลือกตั้งสิ แล้วชาวบ้านจะเลือกใครก็เป็นสิทธิของเขา สิ่งสำคัญคือเขารู้จักรอ คิดดูสิ สามปีก็ยังรอ…”

ในฐานะคนที่เกิดและเติบโตมาในภาคอีสาน และในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องราวของคนอีสานอย่างจริงจัง ผ่านการลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามอย่างเข้มข้น – รศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าให้เราฟังว่าภาพที่คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับคนอีสาน แตกต่างจากสิ่งที่เขาได้สัมผัสมาอยู่พอสมควร และส่วนใหญ่ล้วนเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นจากส่วนกลาง

คนอีสานยัง ‘โง่ จน เจ็บ’ จริงหรือไม่ , ทำไมทักษิณถึงมีอิทธิพลต่อคนอีสานจำนวนมาก , รากฐานความคิดทางการเมืองของคนอีสานเป็นอย่างไร , ขบวนการเสื้อแดงในภาคอีสานมีความเคลื่อนไหวอย่างไรหลังการยึดอำนาจของคสช. ฯลฯ

ต่อไปนี้คือบทสนทนาชุดใหญ่ กับ สมชัย ภัทรธนานันท์ ว่าด้วยสารพัดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเมืองในภาคอีสาน ซึ่งเชื่อมโยงถึงกับวิกฤตการเมืองไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

 

โลกของคนนอนไม่หลับ

 

โดย ชลธร วงศ์รัศมี

มีโลกของใครหลายคนที่ใช้ชีวิตราวกับไม่เคยมีกลางคืน นาฬิกาฟ้องว่าดึกก็แล้ว ใกล้เช้าวันใหม่ก็แล้ว แต่ยังพลิกตัวไปมาบนที่นอน ข่มตาหลับไม่ได้

101 ได้รวบรวมประสบการณ์ 31 ข้อ จากคนนอนไม่หลับทั้งคนเรียนหนัก ครุ่นคิดเรื่องงานเป็นลมหายใจ ซึมเศร้า ใช้ชีวิตไม่เป็นเวลา ไล่ระดับของอาการหลากหลาย ตั้งแต่นอนไม่หลับเป็นครั้งคราวแล้วหายไป จนถึงนอนไม่หลับแบบฮาร์ดคอร์ มองเห็นภาพ 3 มิติ กินยา 200 เม็ด ในเดือนเดียว และนี่คือประสบการณ์ส่วนหนึ่งของพวกเขา

“ปิดม่านสองชั้นก็แล้ว เหลือแต่ปิดมือถือนี่แหละ เคยเอามือถือไปวางไกลๆ ผมหงุดหงิดจนหยิบมาดูจนได้”
(ข้อ 9 : เขวี้ยงทุกอย่างออกจากเตียง)

“เราคิดว่ามาหาหมอเพื่อให้ได้ยาบางตัวกลับไป เพื่อความสบายใจ หรือเพื่อจะได้ฟังหมอพูดออกจากปากหมอว่าเราไม่ได้เป็นอะไร เราปกติดี เหมือนอยากได้ผลทางใจมากกว่า”
(ข้อ 12 : ปกปิดความจริงกับแพทย์)

“พองานเสร็จ ปล่อยตัวตามสบายได้แล้ว เรากลับมีอาการตึงๆ ค้างๆ ซึ่งทำให้นอนหลับทันทีอย่างที่อยากหลับไม่ได้ เรา ‘คลาย’ ด้วยการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ แต่กลายเป็นว่าเราใช้เวลาเลยช่วงควรหลับ”
(ข้อ 20 : เมื่อร่างกายไม่คุ้นชินกับเวลาว่าง)

“ผมทำงานในสายกฎหมาย ตั้งแต่บอกกับคนอื่นๆ ว่าผมเป็นซึมเศร้า นอนไม่หลับ ใช้ชีวิตไม่ปกติ คนที่รู้จักในสาขากฎหมาย มาปรึกษาผมเรื่องที่ตัวเองเครียด นอนไม่หลับ อารมณ์ผิดปกติกันเยอะมาก”
(ข้อ 26 : เปิดหน้ารักษา)

ลองเช็กลิสต์ ว่าคุณเข้าข่ายเคยมีประสบการณ์ร่วมกับพวกเขาบ้างหรือไม่

 

รายการ 101 One-on-One เดือนกรกฎาคม 2562

 

101 One-on-One Ep.80 “อนาคตเมือง เมือง(ไร้)อนาคต” กับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

 

โดย 101 One-On-One 

:: Live :: 101 one-on-one Ep.80

“อนาคตเมือง เมือง(ไร้)อนาคต”

คุยกับ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปิดท้ายซีรีส์ ‘Bangkok-บางคอก’ ด้วยการคุยเรื่องเมืองอย่างถึงแก่น เพื่อตอบคำถามว่า ภายใต้โครงสร้างและข้อจำกัดของเมืองในประเทศไทย อะไรคือความท้าทายที่แท้จริงกันแน่

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคมนี้ สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

 

101 one-on-one Ep.79 “อ่านการเมืองญี่ปุ่น” กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล

 

โดย 101 One-On-One 

:: Live ::  101 one-on-one Ep.79

อ่านการเมืองญุี่ปุ่นกับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้จะเป็นประเทศพ่ายแพ้สงคราม แต่ญี่ปุ่นสร้างชาติใหม่จนได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจและเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาหลายทศวรรษ แต่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายใน และภูมิศาสตร์การเมืองโลก ญุี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่ อันสมกับสถานะมหาอำนาจ

ญุี่ปุ่นมองการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวอย่างไร?

หาคำตอบพร้อมกันทาง The101.world ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม 2562 เวลาสองทุ่มตรง

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ

 

101 one-on-one Ep.78 “ศิลปะแห่งการช่วงชิงความทรงจำ (ทางการเมือง)” กับ ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

โดย 101 One-On-One 

:: Live :: 101 one-on-one Ep.78

‘ศิลปะแห่งการช่วงชิงความทรงจำ (ทางการเมือง)’

คุยกับ ‘ธนาวิ โชติประดิษฐ’ ภัณฑารักษ์อิสระ และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 

อ่านประวัติศาสตร์ผ่านศิลปะและวัตถุทางการเมือง จากหมุดคณะราษฎรถึงหมุดหน้าใส จากพระบรมรูปทรงม้าถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อศิลปะถูกนำมาใช้ในการช่วงชิง-รื้อสร้าง ความทรงจำ

ติดตามชมพร้อมกันสดๆ วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมนี้
สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

101 one on one Ep.77 “สันติวิธีหายไปไหน?” กับ เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep.77 “สันติวิธีหายไปไหน?” สนทนากับ ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

จากกรณีทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างทางการเมือง ถึงปัญหาความรุนแรงไม่รู้จบในจังหวัดชายแดนใต้

สันติวิธียังมีน้ำยาอยู่ไหมในสังคมไทย และทำอย่างไรให้สันติวิธีมีพลัง

ชวนสนทนาโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

จันทร์ที่ 8 กรกฎาคม สองทุ่มตรง ถ่ายทอดสดทาง The101.world

 

101 One-on-One Ep.76 “ปัจฉิมลิขิตของความสัมพันธ์” กับ ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล

 

โดย 101 One-On-One 

101 One-on-One Ep.76 พุธที่ 3 กรกฎาคม เวลา 2 ทุ่มตรง

‘ปัจฉิมลิขิตของความสัมพันธ์’
สนทนาว่าด้วย ‘หนังสือ ความหวามไหวของชีวิต และการเมือง!’ กับเจ้าสำนัก P.S. Book – ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล

คุยยาวๆ กับบรรณาธิการและนักเขียนสำนักพิมพ์ P.S. Book ที่สร้างนิยามใหม่ให้วรรณกรรมยุค ‘สบตากันบนรถไฟฟ้า แล้วจากลากันสถานีหน้า’ หนังสือที่ว่าด้วยความสัมพันธ์มีประเด็นอะไรซ่อนอยู่ น้ำเสียงของผู้หญิงในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างไร และทำอย่างไรให้หนังสือเล่มรอดท่ามกลางกระแสนิยายออนไลน์ไหลหลาก

ถามตอบสไตล์ ‘ยั่วๆ บดๆ’ นินทาผู้ชาย ว่าร้ายผู้หญิง จิกกัดเผด็จการ

ดำเนินรายการโดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

 

ผลงานคลิปวิดีโอ ยอดนิยม เดือนกรกฎาคม 2562

 

SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ชาวบ้านรุกป่า”

 

หลังการรัฐประหารปี 2557 คสช. ออกคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 หรือที่เรียกกันว่า “นโยบายทวงคืนผืนป่า” ดำเนินการภายใต้หน่วยงานความมั่นคง ร่วมมือกันระหว่างทหารกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้-อุทยานฯ เดินหน้าขับไล่ผู้บุกรุกป่า และดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด

ในรอบ 5 ปีรัฐประหาร มีคดีจากการทวงคืนผืนป่าหลายพันคดี มีที่ดินทำกินกว่า 5 แสนไร่ถูกยึดเป็นของรัฐ เฉพาะ 6 เดือนแรกของปี 2562 มีคดีบุกรุกป่ากว่า 1,830 คดี แต่ผู้ต้องหามักเป็นชาวบ้านยากจน

ข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ว่าคนอยู่มาก่อนป่า ? หรือป่าอยู่มาก่อนคน ? ยังเป็นข้อพิพาทที่ไม่เคยคลี่คลาย

ท่ามกลางการติดคุกของชาวบ้าน และถูกปรับเงินหลายแสนบาท รัฐบาลคสช.​ กลับอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าสัมปทานป่าเพื่อทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

หากการจัดการป่าไม้เลือกวิธีแยกคนออกจากป่า โดยใช้กำลังฝ่ายความมั่นคง อนาคตประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบจากภาครัฐ

101 ชวนฟังทรรศนะจาก ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ผ่านสารคดีข่าวสั้น SIDE B อีกเสียงจากที่เขาบอกว่า… “ชาวบ้านรุกป่า”

 

The Weeping Wall

 

โดย  ธิติ มีแต้ม, เมธิชัย เตียวนะ 

อาจจะเริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่าเวลาเราจะตัดใครออกไปจากชีวิต เราจะทำอย่างไร

ในความสัมพันธ์ระดับบุคคลอาจง่าย ใช่, ลืมๆ กันไป ไม่ต้องพบเจอหน้ากันอีก

แต่เรามีสิทธิ์ไล่ใครออกไปจากชีวิตให้พ้นหูพ้นตาได้จริงๆ หรือ ถ้าเผื่อว่าเราไม่ชอบเขา ไม่อยากเห็นเขามีชีวิตอยู่ให้รกหูรกตา กระทั่งว่าถึงที่สุดต้องใช้กำลังบังคับขับไล่ไสส่งกัน

ในมุมของการพัฒนาเมืองที่เราต่างท่องกันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า “กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง” ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ อาจเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่สุดของการจัดการด้วยความสัมพันธ์ในระดับไร้ความใยดี

แถมพ่วงด้วยอำนาจมาตรา 44 ที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการรื้อถอนบ้านเรือนประชาชนได้ฉับไวขึ้น ยังไม่ต้องนับคุณค่าของชีวิตคนและพื้นที่ที่สั่งสมมากว่าสองร้อยปี

ข้อเท็จจริงหนึ่งคือชาวชุมชนป้อมมหากาฬหลายสิบครอบครัวถูกบังคับให้ย้ายออกเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2018 หลังวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 236 ปี เพียง 1 วัน และหลังจากนั้นพื้นที่ที่ครอบครัวสามัญชนคนธรรมดาอาศัยสืบทอดกันมากว่า 6 ชั่วอายุคน ก็กลายเป็นสวนสาธารณะที่ใช้งบประมาณก่อสร้างถึง 69 ล้านบาท

101 documentary ชวนติดตามชีวิตของหนึ่งในครอบครัวชาวป้อมมหากาฬหลังการไล่รื้อในสารคดีเรื่อง ‘The Weeping Wall’ หนึ่งในซีรีย์ ‘Bangkok – บางคอก’ ประจำเดือนกรกฎาคม เผื่อเราอาจจะหวนกลับมาเริ่มจากคำถามง่ายๆ กันใหม่ว่า เมืองที่เราอยากอาศัยอยู่ร่วมกัน เราสามารถเลือกหรือตัดใครออกไปได้จริงๆ หรือไม่.

 

101 Side-Seeing : Ep.01 | Happy Family, Happy Workplace at Dtac

 

โดย The101.world

‘101 Side-Seeing’

รายการที่จะพาไปคุณไปสัมผัสเรื่องจริง คนจริง ในพื้นที่จริง โดยสองพิธีกร พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

สำหรับเทปแรกนี้ พันธวัฒน์ กับ ปาณิส พาไปทัวร์สำนักงานของ ‘ดีแทค’ ออฟฟิศที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘Happy Workplace’ ตั้งแต่ระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมพนักงานทุกเพศทุกวัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสำนักงาน ไปจนถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ทั้งในเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงการสร้างครอบครัวยุคใหม่

จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย!

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save