fbpx
ออกแบบชีวิตเมืองยุค COVID-19 กับ รชพร ชูช่วย

ออกแบบชีวิตเมืองยุค COVID-19 กับ รชพร ชูช่วย

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

 

หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19  ‘บ้าน’ กลายเป็นสถานที่ที่เราใช้เวลาอยู่ด้วยมากกว่าที่เคยเป็น นอกจากจะเป็นที่พักผ่อนนอนหลับแล้ว บ้านของหลายคนต้องกลายเป็นที่ทำงานด้วย คำถามสำคัญก็คือรูปแบบการอยู่อาศัยของผู้คนจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเราต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ไม่ใช่แค่บ้าน แต่ที่ทำงาน สถานศึกษา และพื้นที่สาธารณะจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร เราจะถือโอกาสนี้ถอดบทเรียนการออกแบบอาคารว่ามีปัญหาใดซ่อนอยู่ได้หรือไม่ และเราจะเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไรผ่านการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรม

101 ชวน รชพร ชูช่วย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมคิด ร่วมถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ในรายการ 101 One-On-One Ep.147 : เมื่อเส้นแบ่งบ้านเรือนเลือนราง : มองที่อยู่อาศัยหลังโควิด-19 กับ รชพร ชูช่วย

 

 

:: มองบ้านในมุมใหม่ ::

 

 

ที่อยู่อาศัยในเมืองจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดฯ ไม่ได้ถูกออกแบบให้เหมาะต่อการอยู่อาศัยเป็นระยะเวลานาน อาจไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางหรือสะดวกสบาย มีฟังก์ชันเพียงพอสำหรับการนอนเท่านั้น พอสุดสัปดาห์ คนก็เลือกออกไปใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ นั่งทำงานอ่านหนังสือในร้านกาแฟหรือ co-working space

แต่เมื่อมาตรการปิดเมืองบังคับให้ต้องอยู่บ้านตลอดเวลา เราจะเริ่มมองเห็นรายละเอียดของบ้านในมุมที่ไม่เคยมองมาก่อน อาจค้นพบว่าการออกแบบหรือของใช้บางอย่างไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตที่ดีในบ้าน เช่น บ้านไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีจนต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ห้องครัวระบายอากาศได้ไม่ดี ไม่เหมาะกับการทำอาหาร หรือเก้าอี้ที่มีอยู่ไม่เหมาะกับการนั่งทำงาน พอนั่งนานๆ ก็ปวดหลัง ดังนั้น เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่คนเริ่มลงทุนซื้อของยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น เช่น ซื้อหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือซื้อเก้าอี้ทำงานถนอมหลังที่ช่วยให้นั่งสบายมากขึ้น

 

:: ออกแบบความเท่าเทียม ::

 

 

ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ มีกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการกำหนดราคา เมื่อราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ความสามารถในการซื้อบ้านของแต่ละคนจึงเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่ราคาคอนโดฯ สูงมากจนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าต้องทำงานเก็บเงินนานขนาดไหนจึงจะมีเงินพอซื้อ

เป็นไปไม่ได้ที่ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยคุณภาพดีหากภาครัฐไม่เข้ามาจัดการ แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะพยายามเข้ามาจัดการแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเจริญเติบโตของเมืองและเศรษฐกิจ เราเห็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ (affordable housing) ค่อนข้างช้า ในขณะเดียวกัน เมืองต้องพึ่งพาแรงงานภาคบริการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาด หรือพ่อค้าแม่ขาย แต่คนเหล่านี้กลับไม่มีทางเลือก ต้องอาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็กราคาถูกท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แออัด ไม่ปลอดภัย และไม่ถูกสุขลักษณะ

สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้การจัดการที่อยู่อาศัยสัมพันธ์กับการควบคุมการระบาดและความปลอดภัยของสุขภาพ อย่างสถานการณ์การระบาดในสิงคโปร์ก็ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหนึ่งในการแพร่ระบาดของเชื้อเกิดจากแรงงานต่างชาติอยู่อาศัยกันอย่างแออัดในเคหะที่รัฐบาลจัดหาให้ ดังนั้น หากไทยจะวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจหลัง COVID-19 ด้วยการท่องเที่ยวแบบไฮเอนด์ ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส รัฐต้องให้ความสำคัญกับการจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานภาคบริการ ต้องหากลไกเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานที่อยู่อาศัยให้พวกเขาเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และถูกสุขลักษณะ

ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยแออัด อาจเป็นผลพวงจากการที่โอกาสทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองหลวง แรงงานจากต่างจังหวัดจึงจำต้องเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะมีโอกาสได้งานและเงินมากกว่า หากจะลดความแออัดในเมือง ต้องกระจายโอกาสและความเจริญออกไปในจังหวัดอื่น เพื่อให้พวกเขาเลือกเมืองที่อยากจะอยู่ได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

:: ออกแบบที่ทำงาน ::

 

 

ในอนาคต ออฟฟิศจะยังจำเป็นอยู่ แม้ว่าเราจะนั่งทำงานอยู่ที่บ้านได้ พูดคุยผ่านโปรแกรมวิดีโอคอลได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่การพูดคุยบางรูปแบบ เช่น การระดมสมองใช้ความคิดสร้างสรรค์ การถกเถียงเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา หรือการเจรจาต่อรอง ยังคงต้องการพื้นที่ปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว เพราะในวิดีโอคอล เราไม่สามารถอ่านอากัปกิริยาภาษากายของคู่สนทนาได้ชัดเจนเท่ากับเวลาเจอกัน รวมทั้งการพบปะกันยังช่วยให้รักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในออฟฟิศ สื่อสารเข้าใจเรื่องงานได้ง่ายขึ้น

เมื่อออฟฟิศยังจำเป็น แต่โรคระบาดก็ยังไม่หมดไป สถาปนิกจึงต้องคิดเรื่องการออกแบบออฟฟิศให้ยืดหยุ่นในการจัดสรรพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้นตามพฤติกรรมเว้นระยะห่างของคน เช่น จัดที่นั่งไม่ให้คนอยู่รวมกันหนาแน่นเกินไป ทั้งในห้องทำงานและห้องประชุม อย่างในห้องประชุม อาจเปลี่ยนจากโต๊ะยาวที่คนต้องนั่งชิดกันไปใช้โต๊ะแยกกันก็ได้

ส่วนปัญหาการไม่มีห้องพักสำหรับพนักงานทำความสะอาดและพนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่ตามมาจาก COVID-19 แต่เป็นปัญหาเก่าที่ถูกซุกไว้ใต้พรม นี่เป็นโอกาสดีที่สถาปนิกจะคิดเรื่องการออกแบบสำหรับพนักงานรักษาความปลอดภัยและพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานอยู่ในอาคารสำนักงาน ก่อนหน้านี้ คนกลุ่มนี้ไม่มีแม้แต่ห้องพักด้วยซ้ำ จากนี้ไป เราควรยกระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของพวกเขาโดยออกแบบอาคารให้มีห้องพัก ซึ่งต้องเป็นห้องที่มีการระบายอากาศเพียงพอ มีแสงสว่าง และสะอาด ทั้งตัวพนักงานและผู้ใช้อาคารคนอื่นๆ จะได้ไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

 :: ออกแบบการเรียน ::

 

 

เรายังจำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับสถานการณ์การระบาด กล่าวได้ว่า COVID-19 กำลังเขย่าให้มหาวิทยาลัยต้องคิดว่าจะปรับการศึกษาอย่างไรดี

บางกรณี การนำการสอนออน์ไลน์เข้ามาใช้อาจช่วยให้นักศึกษาเรียนได้มีประสิทธิภาพมากกว่า อย่างเช่น กรณีวิชาบรรยายที่ห้องเรียนมีขนาดใหญ่ มีนักศึกษาจำนวนมาก อาจารย์และนักศึกษาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน การเรียนหน้าจอคอมพิวเตอร์น่าจะช่วยให้มีสมาธิจดจ่อได้มากขึ้น รวมถึงยังย้อนกลับไปทบทวนบทเรียนได้อีกด้วย

แต่ในบางกรณี การเรียนการสอนยังจำเป็นต้องเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย วิชาปฏิบัติการไม่สามารถสอนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนผ่าตัด หรือการสอนเขียนแบบ ซึ่งนักศึกษาจำเป็นต้องมาเขียนแบบต่อหน้าอาจารย์ แล้วรับคำแนะนำเพื่อปรับแก้ทันที  ยิ่งไปกว่านั้น การฝึกทักษะบางอย่างต้องอาศัยการศึกษาและเปรียบเทียบงานของตัวเองกับงานของเพื่อน จึงจะพัฒนาทักษะได้

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไม่ได้จำเป็นแค่ในฐานะพื้นที่ศึกษาหาความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่จำลองสังคมก่อนใช้ชีวิตจริง ฝึกเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน

ส่วนโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม ซึ่งมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันค่อนข้างตายตัว มีการยืนเข้าแถวหน้าเสาธงพร้อมกัน นั่งเรียนใกล้กัน ในเชิงการออกแบบแก้ไขพื้นที่อาจปรับไม่ได้ทันที ก็ต้องปรับวิธีการสอนและช่วงเวลาเรียนแทน สำหรับเด็กมัธยมอาจใช้การบรรยายออนไลน์เข้ามาช่วยเพื่อไม่ให้โรงเรียนแออัดเกินไป แล้วนัดมาที่โรงเรียนเพื่อพบปะพูดคุยถามคำถามเท่านั้น ส่วนเด็กประถมที่ยังต้องให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากกว่าเด็กมัธยม ก็อาจเปลี่ยนจากการนั่งเรียนเรียงเป็นแถวเบียดกันในห้องไปทำกิจกรรมนอกห้อง หรือนั่งเรียนใต้ต้นไม้แทน

 

:: ออกแบบวงการสถาปนิกไทย ::

 

 

งานวิจัยด้านสถาปัตยกรรมมีค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว สถาปนิกไทยที่ออกแบบโดยใช้งานวิจัยก็ยิ่งมีน้อยขึ้นไปอีก ตรงนี้ส่งผลให้งานออกแบบในไทยยังแหลมคมไม่พอ สู้งานระดับโลกที่อิงกับงานวิจัยไม่ได้ สถาปนิกไทยจึงควรนำงานวิจัย องค์ความรู้เชิงทฤษฎี องค์ความรู้ข้ามศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีสภาพแวดล้อม หรือวัสดุศาสตร์เข้ามาประกอบการออกแบบให้มากยิ่งขึ้น

วงการสถาปนิกไทยจะพัฒนาได้หากเปิดให้มีการแข่งขันประกวดออกแบบสถานที่ราชการ ปัจจุบัน ระบบประกวดเปิดให้สถาปนิกเข้าไปรับออกแบบสถานที่ราชการได้ยากมาก จึงมีเพียงแค่คนจำหนวนหยิบมือเท่านั้นที่มีโอกาส ในขณะที่ในต่างประเทศ การประกวดออกแบบสถานที่ราชการคือการเปิดพื้นที่ให้สถาปนิกหน้าใหม่หรือสถาปนิกรายย่อยแข่งขันประชันฝีมือการออกแบบและสะสมประสบการณ์ หากไทยทำได้เช่นนี้ วงการสถาปนิกจะคึกคักขึ้นมาก และยังช่วยให้มีการผลักดันองค์ความรู้ไปข้างหน้าอีกด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save