fbpx
อาเซียนวางตัวอย่างไร ภายใต้ศึกจีน-สหรัฐฯ

อาเซียนวางตัวอย่างไร ภายใต้ศึกจีน-สหรัฐฯ

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

วันนี้ถ้าใครถามว่า เราอยู่ในภูมิภาคอะไร คนที่ตอบว่า “เอเชีย” ขอบอกว่าล้าสมัยไปแล้วนะครับ คำตอบทันยุคทันสมัยต้องเป็นภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก”

ไฮไลท์สำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือการออกแถลงการณ์ร่วมกันของ 10 ประเทศอาเซียนเกี่ยวกับทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP)

นับว่าเป็นลีลาการทูตของอาเซียนในการเลือกใช้คำศัพท์ “อินโด-แปซิฟิก” ที่สหรัฐฯ ชอบใช้ ในขณะเดียวกัน ก็เลือกใส่เนื้อหาบางเรื่องตามแนวทางที่เป็นมิตรกับจีน

“อินโด-แปซิฟิก” เป็นคำศัพท์ใหม่ที่สหรัฐฯ เลือกใช้เรียกภูมิภาคของเรา โดยรวมพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของอินเดียไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก

เห็นได้ชัดว่าการเลือกคำครั้งนี้ เน้นหลีกเลี่ยงความสำคัญของจีน และขยายภาพของภูมิภาคให้กว้างมากขึ้น เพราะถ้ามองภาพแคบแค่ “เอเชีย” แบบเดิมๆ (ซึ่งคนมักนึกถึงเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก) หลายคนมักมองว่าจีนเป็นพี่ใหญ่ของเอเชีย แต่เมื่อขยายภาพใหญ่ขึ้นเป็น “อินโด-แปซิฟิก” ก็จะรวมยักษ์ใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างอินเดียและออสเตรเลีย และหากมองว่ามหาสมุทรแปซิฟิกเชื่อมถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ก็ย่อมทำให้สหรัฐฯ เองกลายมาเป็นหุ้นส่วนสำคัญของภูมิภาคนี้ด้วย

เคยมีคนถามนายกฯ มหาเธร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซียว่า คิดอย่างไรกับคำว่า “อินโด-แปซิฟิก” นายกฯ มหาเธร์ก็ตอบอย่างติดตลกว่า แนวคิดอาณาบริเวณของภูมิภาคหนึ่งไม่น่าจะขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ ได้ เพราะขืนเป็นอย่างนั้น ต่อไปเอเชียก็คงกว้างใหญ่คลุมทั้ง United Nations แน่

จริงๆ ไม่ใช่เพียงแนวคิด “อินโด-แปซิฟิก” หรอกครับที่ขยายพื้นที่กว้างใหญ่ เพราะถ้าดูอย่างแนวคิด Belt and Road (BRI) ของจีนเอง ก็จะเห็นว่าขยายขอบเขตกินไปเกือบครึ่งค่อนโลกเช่นกัน โดยจีนพยายามรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมในอดีต (ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง) ขึ้นมาใหม่ ประกอบไปด้วย เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) หรือชื่อย่อว่า One Belt เชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลาง คอเคซัส รัสเซีย ยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันตก กับเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) หรือชื่อย่อว่า One Road ตามเส้นทางเดินเรือในอดีตที่เชื่อมจีนเข้ากับเกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และตะวันออกกลาง เข้าไปในทะเลแดง สิ้นสุดที่ตุรกีและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรืออาจไปต่อทางมหาสมุทรอินเดีย ทะลุไปถึงแอฟริกา

ในการประชุม APEC CEO Summit ที่เวียดนาม เมื่อปลายปี 2560 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศแนวคิด FOIP ซึ่งชื่อเต็มคือ “อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” (Free and Open Indo-Pacific) โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นการวางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อทัดทานบทบาทเชิงรุกของจีนในภูมิภาค ตามที่จีนได้ดำเนินการผ่านแนวคิด Belt and Road (BRI) ดังนั้น เมื่อมองจากมุมจีน คำว่า “อินโด-แปซิฟิก” จึงเป็นศัพท์แสลงยิ่งนัก เพราะเป็นความมุ่งหมายที่สหรัฐฯ และพันธมิตรต้องการปิดล้อม ถ่วงดุล และแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์กับจีน

ดังนั้น การที่อาเซียนเลือกใช้ศัพท์ “อินโด-แปซิฟิก” จึงส่งสัญญาณกลายๆ ว่า อาเซียนต้องการเพื่อนมาช่วยถ่วงดุลบทบาทเชิงรุกของจีนในภูมิภาค เพราะคำว่า “อินโด-แปซิฟิก” ย่อมหมายถึงบทบาทร่วมของอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ พูดง่ายๆ ก็คือ อาเซียนต้องการขยายกรอบความคิดเชิงพื้นที่ของเอเชียให้กว้างขึ้น

แต่ในขณะเดียวกัน อาเซียนเองก็ประกาศ “ทัศนะของตัวเอง” (ASEAN Outlook) ต่ออินโด-แปซิฟิกความหมายก็คือ ขอฉันเลือกตีความเอง แม้ว่าอาเซียนจะยืมคำศัพท์ที่สหรัฐฯ ชอบใช้ แต่ก็ไม่ได้ใช้ความหมายของสหรัฐฯ ของอินเดีย หรือของออสเตรเลีย แต่เป็นมุมมองเฉพาะของอาเซียนเอง ซึ่งมีข้อน่าสนใจ ดังนี้

ในด้านแนวคิด อาเซียนเน้นย้ำว่าอาเซียนเป็นศูนย์กลางของอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Centrality) โดยเมื่อพิจารณาเชิงภูมิศาสตร์แล้ว ถ้าด้านซ้ายเป็นมหาสมุทรอินเดีย ด้านขวาเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก ตรงกลางก็คือภูมิภาคอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง

อาเซียนไม่ได้บอกว่า คำว่า “อินโด-แปซิฟิก” เป็นคำที่สหรัฐฯ ประดิษฐ์ขึ้น หรือเป็นคำที่คู่แข่งต่างๆ ของจีนมักเลือกใช้ แต่ตีเนียนว่า “อินโด-แปซิฟิก” เป็นการมองแผนที่แบบปกติ และทุกประเทศในเอเชีย (รวมทั้งจีน) ก็เป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของอินโด-แปซิฟิกด้วย

ในด้านแนวทาง อาเซียนเน้นย้ำว่า ต้องการส่งเสริมความร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ดังนั้น ทัศนะของอาเซียนจึงไม่ใช่การเลือกข้าง แต่เป็นการเรียกร้องให้มหาอำนาจต่างๆ หันมามองถึงการแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน

ในด้านเนื้อหาความร่วมมือ อาเซียนเน้น 3 เรื่อง หนึ่งคือ ความร่วมมือทางทะเล (ซึ่งมีนัยยะต้องการถ่วงดุลการรุกคืบของจีนในทะเลจีนใต้ แม้ไม่ได้กล่าวออกมาตรงๆ) สองคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ตามวิสัยทัศน์ของ UN (ซึ่งมีนัยยะว่าอาเซียนไม่ได้เลือกแนวคิดการพัฒนาแบบจีน หรือแนวคิดเสรีและเปิดกว้างแบบสหรัฐฯ แต่เลือกแนวคิดกลางๆ ของ UN) สามคือ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (ซึ่งหมายความว่าอาเซียนเปิดรับ Belt and Road ของจีน แต่ในขณะเดียวกันก็พร้อมแสวงหาความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานกับญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย)

อาเซียนบอกในแถลงการณ์ว่า นี่ไม่ใช่การสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ กรอบความร่วมมือเดิมต่างๆ ก็จะยังคงอยู่และดำเนินต่อไป นี่เป็นเพียงก้าวแรกของการประกาศแนวคิดและจุดยืนร่วมกันของอาเซียนเกี่ยวกับภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” เป็นการวางบทบาทตนในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างจีนและสหรัฐฯ ท่ามกลางความร้อนระอุของสงครามการค้า

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ทัศนะอาเซียนว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific: AOIP) ที่แถลงออกมามีเนื้อหาไม่ชัดเจน จึงไม่รู้ว่าจะเสนอข่าวให้โดดเด่นอย่างไร เพราะไม่เหมือน FOIP ของสหรัฐฯ ที่มีใจความชัดเจนว่าเป็นการปิดล้อมจีน และไม่เหมือน Belt and Road ที่ชัดเจนว่า จีนจะรุกออกไปลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทั่วภูมิภาค

แต่จริงๆ แล้ว ความชัดเจนของ AOIP อยู่ที่การประกาศแนวทางไม่เลือกข้าง และการประกาศแนวคิด ASEAN Centrality (ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีการไฮไลท์และต่อยอดต่อไปมากกว่านี้ในอนาคต) รวมทั้งต้องการขยายภาพการมองภูมิภาคให้กว้างขึ้น เพื่อเปิดให้มหาอำนาจต่างๆ เข้ามาคานและถ่วงดุลอำนาจระหว่างกันเพื่อประโยชน์ของอาเซียนเอง

AOIP จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเกมการเล่นตัวในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของอาเซียน ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสองยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ในเวทีภูมิรัฐศาสตร์โลกครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save