fbpx
‘ครึ่งหลัง’ ของโลกอินเทอร์เน็ต : 3 เทรนด์ใหญ่ที่ต้องจับตา

‘ครึ่งหลัง’ ของโลกอินเทอร์เน็ต : 3 เทรนด์ใหญ่ที่ต้องจับตา

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

วันก่อนผมได้มีโอกาสคุยแลกเปลี่ยนกับทีมของ Mary Meeker ผู้ได้สมญานามว่า ‘ราชินีแห่งโลกอินเทอร์เน็ต’ ซึ่งเป็นผู้ทำ Internet Trends Report หรือ รายงานเทรนด์อินเทอร์เน็ตที่กลายมาเป็น ‘คัมภีร์’ ที่ทุกคนในวงการเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ การเงินและลงทุนทั่วโลกต้องอ่านมาตลอด 24 ปี เพราะความเห็นและบทวิเคราะห์ของเธอมักแม่นยำและจับเทรนด์ดิจิทัลใหม่ๆ ในโลกได้อย่างเหนือชั้

ธีมที่ Mary สนใจเป็นพิเศษตอนนี้คือเรื่องการที่ประชากรชาวเน็ตโลกเพิ่งมีมากกว่าประชากรที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อยู่ที่ 3.8 พันล้านคน พูดอีกอย่างคือสัดส่วนคนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่งก้าวข้ามสัดส่วน 50% ของประชากรโลก มองด้านหนึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่อีกด้านหนึ่ง เธอบอกว่ามันแปลว่าการเจริญเติบโตของอินเทอร์เน็ตต่อไปนั้นอาจไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกแล้ว 

ผลไม้ที่ห้อยต่ำอยู่ใต้ต้นได้ถูกเก็บไปหมดแล้ว” (Low hanging fruits) เหลือแต่ที่อยู่สูงขึ้นไปและเก็บได้ยากขึ้น และบางตัวเลขก็ชี้ให้เห็นว่าอัตราการเจริญเติบโตชะลอตัวลงจริงๆ เช่น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัวเพียง 6% ในปี 2018 ช้ากว่าอัตราเฉลี่ยกว่า 10% เมื่อเทียบกับ 2-3 ปีก่อน ระยะเวลาที่คนทั่วโลกใช้เล่นโซเชียลต่อวันโตช้าลงเหลือแค่ 1% ในปี 2018 เทียบกับปีก่อนที่โต 6% 

คำถามสำคัญคือบริษัทเทคโนโลยีและนักลงทุนต่างๆ ทั่วโลก มีการปรับตัวอย่างไรบ้างเพื่อค้นหาและพัฒนาเครื่องยนต์แห่งการเจริญเติบโตตัวใหม่

ด้วยเหตุนี้ ทีมของ Mary จึงสนใจประสบการณ์ของ ช้อปปี้ (Shopee) บริษัทในกลุ่มของ Sea ในฐานะที่เป็นอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ในวงการที่อายุแค่สามขวบกว่า แต่สามารถโตก้าวกระโดดจนเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคที่แสนจะหลากหลายและแตกต่างอย่างอาเซียน และได้พูดถึงแพลตฟอร์มนี้ในรายงานด้วย

อย่างไรก็ดี การคุยกันกับ Mary ไม่ได้จบที่เรื่องของช้อปปี้เท่านั้ แต่ครอบคลุมเทรนด์น่าสนใจทั่วโลกและได้ให้ไอเดียใหม่ๆ กับผมมากมายเพื่อไปค้นคว้าต่อจนกลั่นออกมาเป็นสามเทรนด์สำคัญที่ต้องจับตามองเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในยุคที่ผมขอเรียกว่า ‘ครึ่งหลัง’ ของโลกอินเทอร์เน็ต (The Second Half of Internet) คือ 1. การแสวงหาผู้ใช้ใหม่ 2. การสร้างความผูกพัน (Engagement) กับผู้ใช้ 3. การมุ่งสู่โลกอินเทอร์เน็ตแห่งธุรกิจ (Industrial Internet)

 

ผู้ใช้พันล้านคนถัดไป (The Next Billion Users)

 

ปัจจุบันในเอเชียมีประชากรชาวเน็ตอยู่ถึง 53% ของโลก (ในอเมริกาและยุโรปรวมกันมีไม่ถึง 25%) แต่ยังมีสัดส่วนคนยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเกินครึ่งของประชากรทั้งหมด และคนจำนวนมากกำลังได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกผ่านทางมือถือสมาร์ทโฟนที่ราคาถูกลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ดังนั้นยังมีช่องทางในการหา User ใหม่อีกมาก

เพียงแต่วิธีการสร้างแรงจูงใจดึงคนให้เข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกนั้นอาจไม่ใช่วิธีแบบที่หลายคนคิด ศาสตราจารย์ Payal Arora ผู้เขียนหนังสือ The Next Billion Users กล่าวว่า เรามักมีความเชื่อว่าคนรายได้น้อยจะเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อต้องการหางาน เพิ่มรายได้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจของตนเอง 

แต่ผลการศึกษาจากการลงพื้นที่หลายปีชี้ให้เห็นว่าความคิดนี้ผิด เพราะความจริงแล้วผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่มักเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อ ‘ความเพลิดเพลิน’ และเพื่อ ‘สังคม’ มากกว่าเรื่อง ‘งาน’ เป็นการใช้เพราะ ‘อยากทำ’ มากกว่า ‘จำเป็น’ เช่น อยากคุยกับลูกหลาน อยากดูละคร เล่นเกมและดูคลิปตลกๆ มากกว่าเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง ดังนั้น แม้บางครั้งแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสารและความบันเทิงอาจดูไร้สาระ แต่อีกแง่มันอาจกลายเป็น ‘เบ็ด’ ที่ทำให้คนที่ยังไม่ยอมใช้อินเทอร์เน็ต ยอมก้าวเข้ามาทำความคุ้นเคยกับโลกดิจิทัลได้ แล้วจึงค่อยดึงให้ไปใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยเรื่องงานได้ทีหลัง

นอกจากนี้การสื่อสารด้วยภาพและวิดีโอจะมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับอีกครึ่งโลกที่ยังไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเพราะปัจจัยทางภาษาและความสามารถในการอ่านเขียนอาจเป็นอุปสรรคที่หนักขึ้นสำหรับบางคนในกลุ่มนี้ที่อาจไม่รู้ภาษาอังกฤษหรืออ่านเขียนไม่คล่อง รายงาน Internet Trends Report ยกตัวอย่างว่า ขนาดทวิตเตอร์ Tweet impression ที่เคยมีแต่ text เป็นหลักแต่ทุกวันนี้กว่า 50% เป็นรูปภาพหรือวิดีโอ ในขณะที่ทั้งอินสตาแกรมหรือ Pinterest ที่เน้นภาพอยู่แล้วต่างก็โตเร็วและเพิ่มฟีเจอร์ด้านภาพและวิดีโอขึ้นอีก ซึ่งมองมุมหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมนุษย์โลกนั้นใช้ภาพในการสื่อสารมาเป็นหมื่นๆ ปีแล้ว

รายงานของแมรี่พูดถึงวงการเกมโลกไว้น่าสนใจว่า สมัยนี้เกมไม่ได้เป็นแค่สิ่งสร้างความบันเทิงแต่เป็นสื่อที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้มีปฏิสังคมและกิจกรรมร่วมกัน เช่น เมื่อเพื่อนไปเจอกันในโลกออนไลน์เล่นเกมกันเป็นทีม ดูงานแข่งเกม หรือ eSports ด้วยกันคล้ายกับที่สมัยก่อนคนไปเชียร์กีฬาด้วยกัน บางครั้งก็สามารถสร้างสังคมที่ก้าวข้ามกำแพงทางภาษาวัฒนธรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ กลายเป็นเสมือน ‘โซเชียลมีเดียของคนรุ่นใหม่’ ก็ว่าได้

 

สร้างความผูกพัน ดึงดูดเวลา

 

มีอีกวิธีที่อินเทอร์เน็ตจะโตต่อไปได้โดยไม่ต้องหาผู้ใช้ใหม่ นั่นคือการดึงดูดผู้ใช้เดิมให้ทำกิจกรรมในโลกออนไลน์มากขึ้น ใช้เวลาในโลกดิจิทัลมากขึ้นกว่าเดิม โดยปีนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างตรงที่ เป็นครั้งแรกที่คนใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันในการดูจอโทรศัพท์ (226 นาทีมากกว่าจอทีวี (216 นาที)

เทรนด์หนึ่งที่เริ่มจากในประเทศจีนคือการสร้าง Superapps หรือกลุ่มของแอปพลิเคชันที่จะเข้ามาสัมผัสทุกส่วนของชีวิตเรา ตั้งแต่ตื่นเช้ายันนอนหลับทุกๆ วัน ตั้งแต่การนัดกับเพื่อน ออกกำลังกาย เล่นเกม ซื้อของ ดูหนัง หาร้านอาหาร จองโต๊ะ เรียกรถ จ่ายเงิน ไปจนถึงบริการต่อยอด เช่น กู้เงิน ลงทุน ซื้อประกัน เป็นต้น โดยแม่แบบของโมเดลนี้ก็คือแอพ WeChat ของบริษัท Tencent หนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

อีกเทรนด์คือ การสร้าง Engagement จากผู้ใช้มากขึ้น ด้วยการผสมผสาน ความบันเทิง (Entertainment) การพบปะพูดคุย (socialise) และช้อปปิ้ง เข้าด้วยกัน ยกตัวอย่างในโลกของอีคอมเมิร์ซที่ปกติเราอาจจะคุ้นว่าเป็นแอพที่จะเปิดใช้ก็เมื่อมีสิ่งที่ต้องการจะซื้อ พอซื้อเสร็จก็ปิดโปรแกรม แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกแล้วเพราะผู้ใช้รุ่นใหม่ในเอเชียเริ่มเข้าแอพช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อความบันเทิง ความเพลิดเพลิน และสังคม คล้ายกับการไปเดินในห้าง 

อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มเริ่มมีฟีเจอร์อย่างมินิเกม ที่สามารถเล่นพร้อมๆ กันกับเพื่อนหรือครอบครัวเพื่อชิงส่วนลด มีให้คนขายทำ live stream กับผู้ใช้เพื่อให้ทั้งความบันเทิงและความรู้กับผู้ซื้อในเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แบบ Machine Learning เพื่อแนะนำสินค้าและดีลที่เหมาะกับรสนิยมความสนใจผู้ใช้แต่ละคนๆ ให้เสมือนสามารถทำ window shopping (ดูสินค้าเล่นๆได้จากโทรศัพท์มือถือ

แต่การแย่งเวลาอินเทอร์เน็ตกันก็มีด้านมืดเช่นกัน เช่นการนำเสนอข่าวในทางลบเพื่อดึงความสนใจของคนที่มีจำกัดในโลกที่ข่าวสารดูเหมือนจะมีไม่จำกัด รายงานของ Mary พูดถึงการศึกษาวิชาการที่บ่งชี้ว่า คนเรามักให้ความสนใจกับข่าวที่เป็นลบมากกว่าบวก ทำให้คนทำข่าวบางกลุ่มมีแรงจูงใจที่จะพาดหัวข่าวแบบลบหรือใช้รูปภาพกระตุกอารมณ์ เพื่อให้ ‘ข่าว’ นั้นแพร่สะพัดไปตามโลกโซเชียลที่อาจยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประเด็นนั้นในสังคม ยิ่งในยุคที่ข่าวปลอมมีอยู่มากมาย เทรนด์เสนอข่าวทางลบเพื่อดึงความสนใจและเวลาอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้อาจยิ่งสร้างหรือขยายรอยร้าวในสังคมได้ง่าย

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่บางเจ้าจึงลงทุนลงแรงกับการคัดกรองคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อถอดข่าวปลอมหรือโพสต์ที่สร้างความรุนแรงในสังคมออก ขณะเดียวกันจำนวนของ Independent Fact-Checking Organisations หรือองค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกจากประมาณ 100 แห่งในปี 2016 มาเป็นกว่า 150 แห่งในปี 2018 

สำนักข่าวชื่อดังอย่าง The Washington Post ในอเมริกา รายงานว่าจำนวนคนอ่านที่ให้ความสนใจกับการตรวจสอบข่าวหาความจริงนั้นสูงขึ้นมาก อาจกล่าวได้ว่าสำนักข่าวหลายแห่งได้เริ่มผันตัวมาเป็นเสมือน สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ที่เราเห็นกันในโลกการเงินเพื่อช่วยตรวจสอบว่าข่าวไหนน่าเชื่อถือ

 

สู่โลกอินเทอร์เน็ตแห่งธุรกิจ

 

ในวงการอินเทอร์เน็ตประเทศจีนคำว่า ‘ครึ่งหลังของอินเทอร์เน็ต’ มีความหมายที่แตกต่างจากที่อื่นและในบทความนี้ โดยจีนมองว่าครึ่งแรกของอินเทอร์เน็ตคือยุคของอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้บริโภค เช่น โซเชียลมีเดีย เกม อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว ฯลฯ แต่เมื่อการเจริญเติบโตด้านนั้นเริ่มอิ่มตัว ธุรกิจต้องมุ่งเข้าหา ‘อินเทอร์เน็ตเพื่อธุรกิจ’ (Industrial Internet) ที่เกิดขึ้นเมื่อธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยีโลกดิจิทัล เช่น Cloud, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, Blockchain เข้ามาใช้พัฒนาการบริหาร กระบวนการ ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆมากขึ้น (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ 

หากยุคอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้บริโภคเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติผู้บริโภค ยุคอินเทอร์เน็ตแห่งภาคธุรกิจคือการปรับตัวของธุรกิจและองค์กรต่างๆ ซึ่งอาจจะยากและต้องใช้เวลานานยิ่งกว่าเพราะวัฒนธรรมองค์กรเคยชินกับวิธีการทำงานแบบเดิมๆ มานานและอาจไม่กล้าออกนอกกรอบที่ตนเองคุ้นเคย รวมถึงต้องใช้ทักษะและหลักการบริหารใหม่ๆ ที่ธุรกิจดั้งเดิมอาจยังไม่มี เช่น การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูล บริษัทอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาให้บริการตลาดธุรกิจ หรือ Busines to Business (B2B) จึงต้องใช้ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างจากการเจาะตลาดผู้บริโภคอย่างมาก

ในรายงาน Internet Trends Report ปีนี้มีการชี้ให้เห็นว่า ปีที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ปริมาณข้อมูลที่ถูกเก็บบันทึกโดยฝั่งธุรกิจทั่วโลกสูงกว่าฝั่งผู้บริโภค นอกจากนี้การเก็บบันทึกข้อมูลใน Cloud เติบโตเร็วที่สุด และน่าจะมีสัดส่วนมากกว่าทั้งฝั่งผู้บริโภคและธุรกิจภายในปี 2022 สะท้อนให้เห็นถึงการที่ธุรกิจต่างๆ หันไปใช้ระบบ Cloud เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองในเอเชียก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจของสตาร์ทอัพจำนวนมาก จากแข่งขันเพื่อโค่นยักษ์ใหญ่เจ้าถิ่นมาเป็นจับมือกันเพื่อพัฒนาวงการ โดยสตาร์ทอัพหลายแห่งผันตัวมาเป็นเสมือนผู้ให้บริการทางเทคโนโลยีกับบริษัทดั้งเดิม เช่น ฟินเทคจับมือกับธนาคาร บริษัทค้าปลีกร่วมมือกับอีคอมเมิร์ซ healthtech ร่วมงานกับโรงพยาบาล เป็นต้น

สรุป มองมุมหนึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ในปี 2018 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโลกมีถึง 3.8 ล้านคน หรือเกินครึ่งโลก แต่มองอีกมุมก็น่าตกใจว่าอีกประมาณ 3.8 ล้านคนยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเช่นกัน การจะดึงให้คนกลุ่มนี้มาใช้อินเทอร์เน็ต การสร้างบริการใหม่ๆ สร้างความผูกพันกับมนุษย์ที่ออนไลน์อยู่แล้ และการช่วยภาคธุรกิจเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น จะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง growth ในครึ่งหลังของโลกอินเทอร์เน็ต

ครึ่งหลัง kick off แล้วครับ ผู้เล่นเราพร้อมหรือยัง?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save