fbpx
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ : 85 ปี ‘ธรรมศาสตร์’ กับอนาคตบนถนนการศึกษาไทย

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ : 85 ปี ‘ธรรมศาสตร์’ กับอนาคตบนถนนการศึกษาไทย

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

“ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”

“ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา”

“บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร”

ไม่ว่าจะเรียนจบจากธรรมศาสตร์หรือไม่ หลายประโยคข้างต้นน่าจะเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วไป เมื่อเอ่ยถึงมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ที่มีประวัติศาสตร์คู่ขนานกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองไทยนับแต่ช่วงหลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา

หากนับจากวันก่อตั้ง 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 85 ปีแล้วที่ธรรมศาสตร์ทำหน้าที่บ่มเพาะคนหนุ่มสาวรุ่นแล้วรุ่นเล่า เป็นเสาหลักในด้านการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ขณะเดียวกันก็เป็นฉากหลังของเหตุการณ์สำคัญๆ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งในช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน และช่วงเผด็จการครองเมือง

วันเวลาผ่านไป โลกของการศึกษาเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยี ผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าห้องเรียน สถาบันการศึกษาหลายแห่งกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ น่าสนใจว่ามหาวิทยาลัยที่เคยทำหน้าที่เป็น ‘ตลาดวิชา’ กระทั่งเป็น ‘บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร’ นั้น รับมือกับโจทย์นี้อย่างไร

ยังไม่นับว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ผู้คนในสังคมมีความขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว ธรรมศาสตร์วางตัวเองอยู่ตรงจุดไหน ยังยึดโยงกับสังคมและประชาชนอยู่หรือไม่ กระทั่งว่าจะส่งเสริมเสรีภาพอย่างในสถานการณ์เช่นนี้

ในวาระครบรอบ 85 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย 101 ถือโอกาสสนทนายาวๆ กับ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องราวของการศึกษาในโลกยุคใหม่ การปรับตัวของมหาวิทยาลัยในมิติต่างๆ แนวทางและเป้าหมายของธรรมศาสตร์ในอนาคต ไปจนถึงอุดมการณ์และจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ในวันเวลาที่ประเทศไทยเพิ่งมีรัฐบาลชุดใหม่จากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบ คสช. มาหมาดๆ

 

นโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระทบกับทุกภาคส่วน รวมถึงการศึกษาด้วย อยากทราบว่าธรรมศาสตร์ ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ธรรมศาสตร์นั้นมีประวัติศาสตร์มายาวนาน 85 ปี ตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัย เรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การสร้างนักศึกษาในแง่ของจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ การดูแลสังคมและประชาชน ธรรมศาสตร์ปรับตัวเองอยู่เสมอเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เราต้องยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในโลกการศึกษาระยะหลังๆ จะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

ในสหรัฐอเมริกา มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 50 แคมปัสที่ต้องปิดตัวลง ซึ่งเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก ยังไม่นับอีกหลายสิบแห่งที่ประสบภาวะขาดทุน ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

เมื่อเราเห็นตัวอย่างของประเทศที่เจริญแล้ว แต่ก็ยังประสบปัญหาเช่นนั้น พอมองกลับมาที่ประเทศไทย ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เด็กเกิดน้อยลงทุกปี ในขณะที่คนสูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เราต้องกลับมารีวิวว่าในสถานการณ์แบบนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเรา ประกอบกับการที่คนเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ จากที่เคยต้องเข้าสู่โลกมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบ เช้าแต่งตัวไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน กลับกลายเป็นว่าทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยก็ได้ เพราะเขาสามารถเรียนได้ด้วยตัวเอง เด็กไทยก็มีความคิดแบบนี้จำนวนไม่น้อย เราก็เลยคิดว่าถ้าเช่นนั้น เราก็ต้องเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น

สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เราวางรากฐานไว้ คือการศึกษานั้นไม่ใช่การศึกษาสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เราต้องวางการศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่มที่จะสามารถเรียนในรั้วของธรรมศาสตร์ได้ เราก็จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศ สถาบันการศึกษาชั้นนำชื่อดัง อย่างเช่น MIT หรือ Harvard ก็เริ่มหันมาสอนโดยใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ เราจะสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้ เราต้องสอนคนทุกกลุ่มที่อยากเรียน คนที่พร้อมเข้าถึงเราได้ทุกที่ ทุกเวลา แล้วสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนั้นก็คือการที่เราสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยศาสตร์ของโลกออนไลน์ เราก็เลยเปิดแพคเกจใหม่ขึ้นมา พึ่งจะทำกันเมื่อสองปีที่แล้ว แพคเกจหนึ่งคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life-long learning เราเรียกว่า ‘Gen-Next Academy ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา’

ตอนคิด เราคิดมาจากจุดที่ว่า asset ของธรรมศาสตร์คืออะไร asset ของธรรมศาสตร์ก็คือตลาดวิชา แล้วเราจะเอาตลาดวิชามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ยังไง เราก็เอามาทำเป็นออนไลน์ ให้เขาเรียนในออนไลน์หนึ่งหน่วยกิต แล้วมาเจอกับเราอีกสองหน่วยกิต เราอยากให้เขาเรียนผสมผสาน ไม่ใช่ออนไลน์เพียวๆ เพราะการมาเจอหน้ากัน ได้ถกเถียงกัน ก็ยังมีเสน่ห์ ส่วนคนที่เข้ามาเรียน อายุเท่าไหร่ไม่ว่ากัน เราเรียกคนเหล่านี้ว่า ‘ศิษย์ธรรมศาสตร์’ เขาสามารถที่จะผสมหน่วยกิต ซึ่งเราเรียกว่า credit bank จนจบปริญญาตรีได้ภายในระยะเวลาแปดปี ซึ่งคนก็สนใจมาก

อีกเรื่องที่สำคัญคือการบูรณาการ จากเดิมที่มุ่งเน้นแค่ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง แต่โลกปัจจุบันเราจำเป็นต้องใช้หลายๆ ศาสตร์มาวิเคราะห์ ตัดสินใจ แล้วก็มองให้เห็นภาพกว้างมากขึ้น

 

อาจารย์มองว่าการศึกษาสำหรับคนยุคหน้า (Gen Next) จะเป็นอย่างไร

เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีคุณลักษณะ วิธีคิด ค่านิยม การใช้ชีวิต และวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างเป็นอย่างมากกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ ดังนั้นการจัดการศึกษาสำหรับคนยุคหน้าจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ด้วย

กรอบคิดเดิมของการศึกษาเพื่อสร้างให้คนมีความรู้และนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ตลอดชีวิตกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เพราะนอกจากความรู้จะเปลี่ยนและเกิดใหม่อย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากแล้ว อาชีพต่างๆ ก็ยังมีการปรับเปลี่ยน ถูกทดแทน และเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ทักษะที่ดูเหมือนจะสำคัญและจำเป็นในวันนี้อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ในช่วงข้ามคืน เช่นที่เราเห็นตัวอย่างในวงการการเงิน การธนาคาร การขนส่ง การขายปลีก และการออกแบบ ที่ล้วนแต่ถูก disrupt จนต้องปรับเปลี่ยนการทำงานจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภาคการศึกษาก็เช่นกัน ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนที่จะถูกสังคมบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยน คำถามสำคัญที่มักตามมาคือเราต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ดิฉันขอแยกตอบคำถามนี้ใน 4 ประเด็น

ประเด็นแรก คือเปลี่ยนจาก ‘Goal-based education’ เป็น ‘Life goal-based education’

ถ้าดูข้อมูลจาก World Economic Forum จะพบว่า 65% ของเด็กประถมในวันนี้ จะจบการศึกษาไปทำงานในอาชีพที่ไม่มีอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นหากระบบการศึกษาจะมุ่งเติมเต็มเป้าหมายทางอาชีพ ก็อาจทำได้อย่างมากแค่เพียง 35% ของเด็กเหล่านี้เท่านั้น เราจึงไม่แปลกใจที่คนที่จบแล้วไม่ได้ทำอาชีพตามที่ตนตั้งใจไว้ เราควรเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นเส้นทางเรียนรู้เพื่อเติมเต็มความฝันของชีวิต (Life goal) ด้วยการจัดกระบวนการค้นหาตัวตน ทำความรู้จักกับสังคมและโลก และตั้งเป้าหมายของชีวิตที่มีคุณค่า เปลี่ยนการสอนให้เป็นการมุ่งสร้างความพร้อมในการลุกขึ้นมาทำความฝันให้เป็นจริง เปลี่ยนอาจารย์ที่เน้นเฉพาะการสอนความรู้การประกอบอาชีพ เป็นอาจารย์โค้ชที่แนะแนวทางสู่เป้าหมายชีวิตของผู้เรียน

ประเด็นที่สอง เปลี่ยน ‘Content-based learning’ เป็น ‘Solution-based learning’

แม้ว่าการทำนายอนาคตจะเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ เราจะยังอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้จะมีบริบทที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นบทบาทของการศึกษายุคหน้าคือผู้สร้างการเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของสังคมและโลก ถึงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาองค์กรตนเองเป็นพื้นที่ (platform) ในการหล่อหลอมผู้คนในทุกช่วงวัยให้สามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคม เปลี่ยนการสอนที่ให้เฉพาะความรู้เป็นการสอนที่สร้างทักษะและสมรรถนะในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ สามารถรับมือกับปัญหาที่ยังไม่มีในวันนี้ได้ เช่น การทำงานเป็นทีม การมี growth mindset หรือทักษะการจัดการความเปลี่ยนแปลง (agility management) เป็นต้น

ประเด็นที่สาม เปลี่ยนจาก ‘Pre-designed curriculum’ เป็น ‘Self-designed curriculum’

หลายศตวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างการเรียนมักยึดโยงกับหลักสูตรที่เป็นแบบแผน มีความตายตัวในหัวข้อการเรียน ซึ่งสามารถใช้งานได้ดีในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงของตลาดงานและอาชีพไม่รวดเร็วนัก แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ระบบสังคมและเศรษฐกิจมีพลวัตที่มากกว่ายุคก่อนหน้าอย่างทวีคูณ ทำให้การออกแบบหลักสูตรล่วงหน้าแล้วนำมาจัดการสอน ไม่สามารถสร้างบัณฑิตที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้

ขณะเดียวกัน การวัดผลการเรียนรู้ผ่านเกรดและคะแนนสอบควรกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยแล้ว เพราะไม่สามารถบอกถึงสมรรถนะของคนที่จบการศึกษาได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนหลักสูตรให้ผู้เรียนเป็นผู้ออกแบบเส้นทางการเรียนที่เหมาะสมกับตนเอง โดยเน้นการพัฒนาสมรรถนะรายบุคคล ต่อยอดต้นทุนเดิมเพื่อไปตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตตนเอง สถาบันอุดมศึกษาต้องพัฒนาและออกแบบระบบการเรียนรู้รายบุคคล โดยต่อยอดจากการค้นหาตัวตนและการตั้งเป้าหมายชีวิตที่ไกลกว่าแค่เป้าหมายด้านอาชีพ ต้องทำลายกำแพงระหว่างคณะ ทำให้ศาสตร์ที่อยู่แยกกันกลับมาหลอมรวมกันเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนในยุคหน้าได้อย่างลงตัว

ประเด็นสุดท้าย เปลี่ยนจาก ‘Classroom-based teaching’ เป็น ‘Real world-based teaching’

การเรียนรู้ในยุคหน้าต้องสามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างเกิดการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าขอบเขตของห้องเรียนด้วยการนำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกระบวนการเรียนรู้สอน สอนให้ผู้เรียนมีทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเป็นระบบ โดยนำกระบวนการวิจัยและสร้างนวัตกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เพราะการแก้ปัญหาของสังคมในยุคหน้าจะมีความท้าทาย และต้องการวิธีการใหม่ๆ ที่ผ่านการคิดอย่างรอบด้าน เราจึงต้องพัฒนาครูให้เป็นผู้ที่ชี้แนะ สร้างเงื่อนไข ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ลองผิดลองถูกสำหรับผู้เรียน

 

แล้วธรรมศาสตร์เอง วางเป้าหมายในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง

เราวางเป้าหมายไว้ 5 ด้านหลัก คือเป็น Hub เป็น Platform เป็น Marketplace เป็น Community และเป็น Flagship

หนึ่ง การเป็น ‘Hub of Sciences for the Future’ หรือศูนย์รวมของศาสตร์แห่งอนาคต

สอง คือการเป็น ‘Platform for Future Workforce’ เนื่องจากความรู้ที่มีอยู่ต่อนี้ มันไม่มีวันพออีกต่อไป มันต้องกลับมาเติมอยู่ตลอดเวลา คำถามคือทำยังไงให้ธรรมศาสตร์เป็น platform for future workforce เปิดโอกาสให้เรากลับมาเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ เวลาไหนก็ได้ เรื่องอะไรก็ได้ นี่คือเรื่องที่เราพยายามผลักดัน เป็น platform ที่เปิดให้ทุกคนมาเรียนอะไรก็ได้อยู่ตลอด เอา degree หรือไม่เอา degree ก็ได้ จะเปลี่ยนสกิลก็ได้ จะอัพเดทสกิลก็ได้

สาม เป็น ‘Marketplace of Solutions’ โดยทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคประชาสังคม พูดง่ายๆ คือ ใครมีปัญหาอะไร มาที่ธรรมศาสตร์ได้หมด

สี่ เป็น ‘Community of World-class Scholars’ เนื่องจากเราอยากเห็นงานวิจัยของธรรมศาสตร์มีมากขึ้นๆ และ practical ด้วย เราก็เลยไปร่วมมือกับทางธนาคารกรุงเทพ เกิดเป็นโครงการ Bualuang ASEAN Shared Professorship ทำให้เราเอานักวิจัยของธรรมศาสตร์ไปทำงานกับนักวิจัยในต่างประเทศได้ และให้ professor เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนที่ธรรมศาสตร์ เพื่อจะได้ใกล้ชิดกัน ปรึกษาหารือกัน ทำวิจัยร่วมกัน จากนั้นก็จะเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยมาเผยแพร่พูดคุย จัดเป็นเวที ‘Thammasat Talk Series’ เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการ และผลงานที่นำมาเสนอนั้นก็จะได้ตีพิมพ์ในฐานข้อมูลนานาชาติที่เรียกว่า Scopus

และห้า เป็น ‘Flagship of Spirit for the People’ โดยเน้นหลักการ 3 ข้อคือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม ซึ่งเป็นแก่นที่เรายึดถือเสมอมา

 

จากเป้าหมายแต่ละด้านที่ว่ามา อยากให้ลองยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้ฟังหน่อย

ย้อนไปหลายปีก่อน ตอนที่ดิฉันเป็นคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เราสร้างหลักสูตรตรีควบโทเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ฮือฮามาก คือเรียน 5 ปี แต่คุณได้วุฒิตรีควบโทเลย ซึ่งนอกจากการเรียนบัญชีบวกการเงิน บวกการตลาด เราคิดว่ามันต้องมีอย่างอื่นอีก จึงนำไปสู่การที่ให้เด็กไปฝึกงาน ซึ่งไม่ใช่แบบเด็กฝึกงานทั่วไป แต่เป็นการฝึกงานแบบที่เข้าไปทำงานจริง เราไปคุยกับบริษัทที่เราส่งเด็กเราไปฝึก เข้าไปคุยกับบิ๊กโฟว์ทั้งหลาย (PwC, Deloitte, EY และ KPMG) ที่เป็นบริษัท finance company ขนาดใหญ่ ไปเจรจาว่าคุณพัฒนาพนักงานใหม่ของคุณอย่างไร แล้วคุณก็ต้องเอาแพคเกจนั้นมาพัฒนาเด็กเราเช่นเดียวกัน คุณต้องปฏิบัติกับเด็กของเราเสมือนพนักงานคุณ ต้องให้เขาเรียนรู้ ถ้าเขาทำไม่ถูก ก็สามารถสอนเขาได้

ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ เด็กสามารถทำงานได้ ทั้งเรื่องการตัดสินใจ การมองปัญหา หรือกระทั่งการดูงบการเงิน ก็ไม่ใช่งบการเงินทั่วๆ ไป แต่เราสามารถมองได้ลึกซึ้งถึงปัญหารากเหง้าของมัน สุดท้ายก็กลายเป็นโปรแกรมที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งตัวเด็กเอง รวมถึงตัวบริษัท เราให้เด็กไปฝึกตอนปีสาม หนึ่งเทอม กลับมาเรียนซัมเมอร์ แล้วก็กลับมาเรียนอีกปี เขาก็รอว่าเมื่อไหร่เด็กกลุ่มนี้จะจบ ปรากฏว่าเด็กกลุ่มนี้ก็ได้งานทำทั้งหมดอย่างรวดเร็ว แล้วก็ได้เงินเดือนเหมือนคนจบปริญญาโท

จากตรงนั้น เราก็ได้เรียนรู้ว่าการเรียนการสอนจะต้องเรียนแบบข้ามศาสตร์ เอาหลายๆ ศาสตร์มาผสมกัน แล้ววิธีการเรียนการสอนก็ต้องบูรณาการจริงๆ ไม่ใช่สอนแบบยึดจากตำราอย่างเดียว ต้องสอนแบบเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง มันถึงจะเรียกว่าบูรณาการ

อีกข้อที่เราตระหนักคือ ต้องเป็นหลักสูตรที่เราร่วมกันสร้างกับผู้ประกอบการ ตอนสร้างนี่เราคิดของเราเอง แต่ตอนที่ส่งเด็กไปฝึกงาน ทำให้เรารับรู้ว่าอะไรที่เราคิดกันไว้มันดี และอะไรที่เรายังควรปรับปรุงแก้ไข เราก็เลยรู้ว่าเราต้องร่วมมือกัน ต้องเอาศาสตร์มาผสมผสาน ต้องฝึกงานจริง แล้วก็มีการปฏิบัติจริง เช่นเดียวกับการวางหลักสูตร ต้องเน้นให้สามารถนำไปทำงานได้จริง

ถามว่าทำยังไง ก็ต้องเริ่มจากอาจารย์ที่มาสอน ถ้าเราแค่โยนหนังสือไปให้ หรือให้ส่ง course outline แบบเดิมๆ ในที่สุดเขาจะสอนอย่างที่เขาเคยสอน เราก็จะใช้วิธีว่า ก่อนเปิดเทอมเรามาคุยกันว่าวิชาที่คุณจะสอน เราคาดหวังอะไร เขามีความเห็นอย่างไร แล้วก็จูนกัน

 

หัวใจของความสำเร็จคือคุณภาพของอาจารย์ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยก็มักจะเชื่อมั่นในตัวเอง หรือแนวทางของตัวเอง จนไม่ยอมปรับเปลี่ยน ธรรมศาสตร์จะสร้างอาจารย์พันธุ์ใหม่ และเปลี่ยนอาจารย์พันธุ์เก่า ให้รับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่เราคุยกันยังไง

สิ่งที่ธรรมศาสตร์พยายามทำคือการส่งสัญญาณให้ประชาคมอาจารย์ได้ทราบว่า เราให้ความสำคัญกับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนมากเท่าๆ กับการทำงานวิจัย เรามีการจัดอบรมพัฒนาคุณภาพอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง สำหรับทั้งอาจารย์เก่าและอาจารย์ใหม่ มีระบบการให้รางวัลครูดีเด่นสำหรับอาจารย์ที่มีความสามารถในด้านการจัดการเรียนการสอน ที่ถูกเสนอชื่อจากคณะ และมีคณะกรรมการพิจารณาในระดับมหาวิทยาลัย

อีกสิ่งหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือรางวัลสำหรับอาจารย์ที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ active learning เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับอาจารย์ที่ให้ความสำคัญและทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานพัฒนาตนเองด้านการสอนอย่างต่อเนื่อง ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ ธรรมศาสตร์กำลังพิจารณานโยบายการให้อาจารย์ใหม่ทุกคนเข้าร่วมกระบวนการพัฒนาเชิงวิชาชีพด้านการจัดการเรียนการสอน โดยใช้มาตรฐานระดับนานาชาติเป็นเกณฑ์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในมหาวิทยาลัยต่อไป

 

อาจารย์เล่านวัตกรรมของคณะพาณิชย์ฯ ให้เราฟังแล้ว อยากทราบว่าคณะอื่นๆ มีการปรับตัวทำนองนี้บ้างไหม

มีค่ะ ล่าสุดที่เพิ่งทำเมื่อปีที่แล้ว คือรัฐศาสตร์กับสถาปัตย์ฯ เราน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่รัฐศาสตร์ได้เรียนเรื่องผังเมืองด้วย เพราะคนจบรัฐศาสตร์ ออกไปเป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่าฯ นอกจากที่เขาต้องรู้เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องสังคม ก็มีจะเรื่องผังเมืองด้วย

หรืออย่างวิศวะ ก็มีโปรแกรม Double degree เป็นหลักสูตรห้าปี เรียนวิศวะ กับ management พอเรียนจบก็มีทั้งความรู้วิศวะ ทั้งด้านการจัดการ ส่วนทางด้านสถาปัตย์ ก็มีโปรแกรม DBTM design business เอาความรู้ด้านสถาปัตย์ มาบวกดีไซน์ บวกเทคโนโลยี บวกธุรกิจ อันนี้ก็เรียน 5 ปี

ฉะนั้นแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนจะได้เรียนหลากหลายศาสตร์ ซึ่งอาจใช้เวลาเพิ่มขึ้นหน่อย แต่เราจะได้คนที่มีความสามารถหลายด้าน เอาศาสตร์หลายศาสตร์มาประยุกต์ได้ เพราะถ้าคุณรู้แค่ศาสตร์เดียว พอแก้ปัญหาอย่างหนึ่งได้ ก็ไปเจอปัญหาอีกอย่าง โจทย์คือจะทำยังไงให้เขาเรียนรู้ได้หลายศาสตร์ แล้วต้องเป็นความรู้หลายศาสตร์ที่ผสมกันอย่างลงตัว ไม่ใช่เรียนทีละศาสตร์ๆ แล้วคอยมาผสมรวมกัน ศาสตร์ที่ว่านี้แหละที่เราเรียกว่า ‘ศาสตร์แห่งอนาคต’ หรือ Sciences for the future

พอมันผสานรวมกันแบบนี้ การแยกเป็นคณะ สาขา หรือภาควิชา มันจะค่อยๆ สลายไป โดยที่แต่ละศาสตร์จะหลอมรวมกันมากขึ้น แน่นอนว่าในอนาคตจำนวนคณะจะน้อยลง จำนวนภาคสาขาก็จะน้อยลง คุณจะเรียนแต่วิศวะไม่ได้แล้ว คุณต้องเรียน computer science, human touch ไปจนถึง psychology

ยกตัวอย่างการออกแบบหุ่นยนต์ มันต้องมี facial expression แสดงสีหน้าแบบเดียวกันกับคน แปลว่าอะไร คุณต้องเรียนรู้เรื่องกล้ามเนื้อ ต้องเข้าใจอารมณ์ นี่คือศาสตร์แห่งอนาคตซึ่งต้องมีการผสานหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ในแง่หนึ่งมันอาจย้อนไปเหมือนยุคกรีกโรมัน ถ้าเรานึกถึงคนยุคนั้น อย่างดาวินชี่ หรือนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังทั้งหลาย เขาเป็นหลายอย่างในตัวคนเดียว เพราะทุกศาสตร์มันรวมกันหมด แต่พอโลกมันเปลี่ยน ศาสตร์ก็ถูกแยกออกจากกัน สุดท้ายพอโลกเคลื่อนมาปัจจุบัน มันจะกลับหลอมรวมกันอีกครั้ง

แม้กระทั่งธรรมศาสตร์เอง ทีแรกก็เริ่มจากกฎหมายเป็นหลัก ต่อมาก็แยกเป็นบัญชี เป็นเศรษฐศาสตร์ และอีกมากมาย ล่าสุดเรามี 27 คณะ พอมาถึงตอนนี้กลายเป็นว่าเราต้องเอาสิ่งที่แยกกันมารวมกันใหม่ ต้องบูรณาการมากขึ้น ขืนปล่อยแบบนี้ไป ยังไงก็ไม่รอด

 

ในแง่ของตลาดแรงงาน แนวโน้มหนึ่งซึ่งพบมากในปัจจุบัน คือคนเริ่มหันมาประกอบธุรกิจของตัวเองมากขึ้น แทนที่จะมุ่งเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ ธรรมศาสตร์มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างไร

ตอนนี้เราเริ่มทำแล้ว ข้อแรกที่เสริมเข้ามาคือหลักสูตร entrepreneur เราพัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการขึ้นมา แล้วเปิดให้นักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์เรียนวิชานี้ เพราะเรามองว่าการทำงานในปัจจุบัน นักศึกษาไม่ได้วิ่งไปทำงานที่บริษัทใหญ่ๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว เด็กเขาอยากทำงานด้วยตัวเอง อยากตั้งบริษัทตัวเอง แต่คุณจบวิศวะ จบเภสัช จบหมอ คุณจะตั้งบริษัทยังไง หลักสูตร entrepreneur จะเป็นตัวกลาง ทุกคนมาเรียนได้หมด ตั้งบริษัทได้หมด เป็นสตาร์ทอัพได้หมด

อย่างหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ศูนย์รังสิต จะมีโต๊ะสำหรับบริษัทที่ทำสตาร์ทอัพ เราปรับเป็น co-working space เปิดให้บริษัทข้างนอกเข้ามาเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่ง ให้เขาได้เจอกับนักศึกษาของเรา ได้พบปะกันแล้วมีโอกาสทำงานร่วมกัน ถ้าเกิดทำๆ ไปแล้วมีปัญหา เขาก็กลับไปถามครูบาอาจารย์ได้ เป็นการเรียนการสอนแบบ problem-based มากขึ้น ตรงนี้คือการพยายามทลายกำแพงระหว่างมหาวิทยาลัยกับคนข้างนอกมากขึ้น เอาอุตสาหกรรมเข้ามา เอาเด็กออกไป เอาโปรเจ็กต์ข้างนอกมาให้เขาได้สัมผัส หรือให้เขาออกไปเรียนในชุมชน ไปเรียนในสถานประกอบการจริง

บางคนที่เป็นศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ ทำธุรกิจ เขาไม่รู้ว่าจะเข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ได้ยังไง พอเรามีโต๊ะให้เช่า เขาก็มีโอกาสมากขึ้น มาจ้างเด็กเราไปทำงานได้ มาสอนได้

 

สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทั้งในไทยและต่างประเทศ เริ่มประสบปัญหาจำนวนผู้เข้าเรียนน้อยลง บ้างประสบภาวะขาดทุน ธรรมศาสตร์เจอปัญหาดังกล่าวรึยัง

ยังไม่เจอ เรายังรับมือได้อยู่ อย่างที่เล่ารายละเอียดต่างๆ ไปว่า เรามีการปรับตัวและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่กิจกรรมนอกห้องก็สำคัญ เราน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชุมนุม ชมรมกิจกรรมมากที่สุด ถ้าเด็กอยากทำ อยากได้อะไร เราก็เสริมให้ได้ ขณะเดียวกันก็เปิดให้นักศึกษาได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ดิฉันมีเฟซบุ๊กที่เด็กสามารถติดต่อได้โดยตรง เวลาเด็กมีปัญหา สามารถอินบ็อกซ์มาหาเราได้ทันที มันใกล้ชิดกันขนาดนั้น มีที่ไหนที่เด็กตัดต่อรูปอธิการใส่ชุด BNK48 (หัวเราะ) บางคนอาจมองว่าไม่เหมาะสมหรือเกินเลย แต่เรารู้สึกว่ามันสร้างสรรค์ น่ารักดี แล้วเราน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่เด็กสามารถปิดประตูคุยกับผู้บริหารได้

 

ยังไง

ทุกปีเราจะเปิดเวทีอธิการบดีพบนักศึกษา ให้นักศึกษาเข้ามาแลกเปลี่ยนเรื่องที่เขารู้สึกว่าเป็นปัญหา ถามได้ทุกเรื่อง เขาก็จะเซตทีมของเขามา พร้อมด้วยปัญหาที่เขาจดมา เช่น เอาตัวอย่างน้ำเน่าใส่ขวดมาให้ดู หรือทำไมโควต้าปรินต์ที่เคยได้ ไม่ได้แล้ว เปิดให้เขาได้ซักฟอก สอบถาม แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่มหาลัย เจ้าหน้าที่คณะ ซึ่งเป็นลูกจ้างของอีกบริษัทหนึ่ง ทำไมไม่ได้รับค่าจ้าง อธิการลงไปดูหน่อยได้ไหม เราเปิดให้เขาแสดงออกได้ นักศึกษาซักฟอกอธิการได้

นี่คือการเปิดกว้างให้เขาได้แสดงออก แล้วเราก็แสดงออกว่าเรารับผิดชอบ รับปากกับเขาว่าภายในวันไหน เราจะจัดการให้เขาได้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งก็ดี เราก็ขอบคุณเขาด้วยที่ทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องลุกขึ้นไปแก้ปัญหาที่เขาเจอ เพียงแต่เราก็ต้องฝึกให้เขารู้มารยาท รู้ความพอเหมาะพอควร และทำงานไปด้วยกัน ที่สำคัญคือเรารับฟังแล้วก็แก้ไข ไม่ได้มาแค่เป็นพิธีการ

ด้านหนึ่งคือคือการสอนให้เขาเห็นถึงความรับผิดรับชอบด้วย เพราะสิ่งที่เราเรียกกันว่า governance มันก็เริ่มจากอะไรที่เล็กๆ แบบนี้แหละ ยังมีนักศึกษามาหยอกเราเลย ว่าเวลามีปัญหาอะไรให้บอก ‘คุณแม่อธิการ’ เดี๋ยวคุณแม่จัดการให้ (หัวเราะ)

เราอยากให้มันใกล้ชิด อยากรู้ว่าเขาสุขทุกข์อย่างไร บางทีเด็กมีปัญหา เรียนจบ เรียนไม่จบ ก็ส่งมาบอก เราก็ส่งเรื่องต่อไปให้คณะนั้น คณะนี้ ให้เขาไปจัดการให้เรียบร้อย

 

 

ชวนคุยต่อเรื่องธรรมศาสตร์กับสังคมไทย แต่ก่อนเราจะได้ยินคำขวัญ ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน หรือ ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว พอมาถึงปัจจุบัน อาจารย์คิดว่าคำขวัญดังกล่าวยังใช้ได้อยู่ไหม

ยังใช้ได้อยู่ ดีอยู่ เพียงแต่ก็ต้องย้ำว่าเสรีภาพตรงนี้ ต้องเป็นเสรีภาพที่ไม่เกินเลย ไม่ไปย้อนแย้งหรือกระทบกระเทือนสิทธิของคนอื่น นักศึกษาก็ต้องเรียนรู้ว่าขอบเขตแค่ไหนคือเสรีภาพของเรา

แน่นอนว่าเรายังเปิดกว้างอยู่ ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ก็ยังใช้ได้อยู่ ความที่เราใกล้ชิดประชาชน ความที่เราติดดิน ก็ยังเหมือนเดิม เราพาเด็กของเราลงไปหาประชาชน ไปดูสารทุกข์สุขดิบของเขา ให้เขาได้เห็นชีวิตจริงๆ นี่เป็นสปิริตที่ผูกติดตัวคนธรรมศาสตร์เสมอมา

ตอนนี้เรามีสามคำที่ชูขึ้นมา คือ democracy, freedom, justice ซึ่งอยู่ส่วนของเป้าหมายด้าน ‘Flagship spirit of the people’ โดยหลักเรายังเน้นเรื่องของประชาธิปไตย ปกป้องเสรีภาพ สู้เพื่อความยุติธรรม ไม่ไกลจากคำที่มีอยู่เดิม เพียงแต่รีแบรนด์ใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย

 

จากกระแสการเมืองช่วงที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่ม ทำนองว่าปลูกฝังให้นักศึกษาเป็นคนหัวรุนแรง ไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน อาจารย์มองประเด็นนี้อย่างไร

ก็ขอบคุณเขา แล้วก็ย้อนกลับมาดูอีกทีว่ามันเป็นความจริงไหม มีอะไรที่เกินเลยไปหรือเปล่า ถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริง ก็อาจเรียกเด็กมาคุย ถ้ามีโอกาส ก็มาคุยกัน แต่เราไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาอะไร

ส่วนเรื่องการแสดงความเห็น หรือการแสดงออกทางการเมือง เราก็ไม่ได้ปิดกั้น ใครที่แสดงความคิดเห็นออกไปในทางล่อแหลม หรือ controversial เขาก็อาจโดนโซเชียลกระหน่ำ แต่โดยหน้าที่เรา เราไม่สามารถปล่อยให้เขาโดนกระหน่ำตลอดเวลาได้ ต้องคอยห้ามปรามบ้าง กลั่นกรองบ้าง ช่วยหล่อหลอมให้เขาเติบโต คุณอยากแสดงความเห็น เชิญ แต่ถ้ามันออกนอกลู่นอกทางมากจริงๆ ก็ต้องบอกกัน คุยกัน คอยตักเตือนให้เขารู้ขอบเขต เพื่อประโยชน์ของตัวเขา ถ้าคุณไม่เชื่อก็รอรับผลที่จะตามมา ส่วนใหญ่เราจะปล่อย ไม่ไปบังคับอะไรเขาอยู่แล้ว แต่พอเกิดอะไรขึ้นมา เราก็ไปช่วยประกันตัว

 

นิยามคำว่า ออกนอกลู่นอกทางก็ขึ้นอยู่กับการตีความ หลายกรณีปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่นักศึกษา พวกเขาก็แสดงออกทางความคิดเห็นอย่างเสรีภายใต้กรอบของกฎหมาย เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเป็นธรรม เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งต่างหากที่ไปคุกคาม ด่าว่าเขาเสียหาย ธรรมศาสตร์ปกป้องนักศึกษาเหล่านี้อย่างไร กระทั่งส่งเสริมให้เขาได้ทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างไร ทางออกคงไม่ใช่ให้เขาคอยเซ็นเซอร์ตัวเอง

ชาวธรรมศาสตร์มักพูดกันถึง “การมีเสรีภาพ” เพราะเราเชื่อว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ที่ทำให้นักศึกษาและผู้คนในสังคมเรียนรู้และเข้าใจว่า ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติ เราจึงเปิดพื้นที่ให้มีการทำกิจกรรมจากหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะคนในประชาคมธรรมศาสตร์ อยู่บนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น และคนอื่นก็มีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยภายใต้กรอบกติกาของกฎหมาย

ทุกครั้ง เมื่อมีการแสดงออกทางความคิดทางการเมือง นักศึกษาก็จะแจ้งบอกกล่าวให้ผู้ดูแลพื้นที่ทราบ และขออนุญาต มีการบอกกล่าวต่อตำรวจเจ้าของพื้นที่ อีกด้านหนึ่ง การเข้ามาสังเกตการณ์ในมหาวิทยาลัยของฝ่ายทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องประสานและขออนุญาตมหาวิทยาลัยเช่นกัน

การเปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รักษาดุลยภาพของความแตกต่างทางการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย และเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ฝึกการเรียนรู้แล้วเข้าใจในการใช้สิทธิและเสรีภาพของตน ในขณะที่ก็ต้องเคารพเสรีภาพของคนอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น การทำกิจกรรมทางการเมืองในแต่ละครั้ง มหาวิทยาลัยก็จะให้การสนับสนุนในเรื่องการใช้พื้นที่ และเฝ้าระมัดระวังร่วมกัน เราอยากให้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็น safe zone ที่นักศึกษารู้สึกปลอดภัย และสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และเคารพเสรีภาพของคนอื่น เพราะนี่คือสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องรักษาไว้ ตัวตนและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ก็คือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม

 

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นผลพวงโดยตรงของการอภิวัฒน์สยาม 2475 ถ้าไม่มี 2475 ก็ไม่มีธรรมศาสตร์  ทีนี้ นสังคมการเมืองปัจจุบัน ผู้คนจำนวนหนึ่งมอง 2475 ในด้านลบ เช่น วาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม หรือคิดว่าเป็นเรื่องชิงอำนาจของคณะบุคคลจำนวนน้อย ประชาชนทั่วไปไม่เห็นเกี่ยวอะไร หรือ 2475 เท่ากับล้มเจ้า  ในฐานะคนธรรมศาสตร์ เราจะสนทนากับคนหรือวาทกรรมเหล่านี้อย่างไร

ถ้าคนคิดแบบเดียวกันหมดคงเป็นเรื่องน่าแปลก ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่มิอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ คนรุ่นปัจจุบันต่างหากที่ต้องทำความเข้าใจบริบททางการเมือง ณ ขณะนั้น และเลือกที่จะทำให้อนาคตสังคมไทยดียิ่งขึ้น ในส่วนของวาทกรรมต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไปมันก็เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แล้ว อย่างช่วงหลังยุค 2500 ชื่อเสียงท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ถูกดิสเครดิตมาก มันล้อไปตามบริบทการเมืองสมัยนั้น กว่าจะกู้ชื่อท่านมาได้ก็ไม่กี่สิบปีมานี้เอง

สำหรับเรื่องธรรมศาสตร์กับ 2475 วิธีหนึ่งที่จะยืนยันข้อเท็จจริงตรงนี้ในปัจจุบันได้ก็คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งขึ้นมาตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางปัญญาและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา เรายังคงทำหน้าที่ตามหลักนั้นอยู่

หากมองในแง่ความเป็นประชาธิปไตย วาทกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่สวยงาม เพราะเป็นการฝึกการถกเถียง การคิดไตร่ตรอง และการเลือกที่จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ กระบวนการถกเถียงนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า การนำวาทกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบมาพูดคุยกันอย่างมีอารยะ อย่างสันติ ทำให้บทเรียนในอดีตสามารถนำพาสังคมไปสู่สังคมที่ดี เช่นนี้แล้ว ธรรมศาสตร์ถึงจะเป็น “บ่อน้ำ” บำบัดความกระหายความรู้ของราษฎรได้อย่างแท้จริง

 

 

นอกจากนักศึกษาแล้ว สังคมส่วนหนึ่งก็วิพากษ์วิจารณ์บทบาททางการเมืองของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอดีต ตัวอย่างเช่น เข้าไปเป็นนั่งร้านรัฐประหาร เช่น รับตำแหน่ง สนช. รับตำแหน่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายคนรู้สึกว่าขัดกับจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เรื่องประชาธิปไตย ตัวอาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร เส้นทางประชาธิปไตยก็ชะงักงัน แต่ประวัติศาสตร์ชาติเราตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมาก็บอกเราว่า รัฐประหารเป็นเพียงการสะดุดชั่วคราว แล้วก็กลับเข้าเส้นทางประชาธิปไตยใหม่อีกครั้ง และภายใต้ภาวะชั่วคราวที่ไม่ปกตินั้น แต่ละคนก็มีเหตุผล มีเงื่อนไข มีทางเลือกที่ไม่เหมือนกัน บางกลุ่มเลือกที่จะต่อต้าน หลายคนก็เลือกที่จะสังเกตการณ์ควบคู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ ในขณะที่บางคนอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง การไม่ร่วมมือแล้วปล่อยให้คนที่อยากมีบทบาทเข้ามาทำจนสถานการณ์กลับคืนสู่ประชาธิปไตย กับ การร่วมมือโดยมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถเข้าไปร่วมกำหนดเส้นทางใหม่ของประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นหลังออกจากภาวะชั่วคราวที่ว่านี้

ดิฉันคิดว่า เหตุผลและการตัดสินใจ ไม่ว่าจะทางเลือกใดก็ไม่เคยง่ายในสถานการณ์เช่นนี้ และเราก็ไม่อาจก้าวล่วงไปถึงการตัดสินใจของแต่ละท่านได้ เพราะเราในฐานะผู้สังเกตการณ์ กับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ย่อมเผชิญกับเงื่อนไขและแรงกดดันที่แตกต่างกัน

แต่ดิฉันเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าชาวธรรมศาสตร์ จะเข้าไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่อะไร ย่อมไม่ละทิ้งจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ อันนี้เป็นลักษณะเฉพาะของชาวธรรมศาสตร์ที่อยากเห็นประเทศชาติ อยากเห็นสังคมที่พัฒนาขึ้น เพียงแต่สิ่งที่เขาไปร่วมทำ อาจจะเห็นต่างกับบางกลุ่มเท่านั้นเอง และนี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย ที่สอนให้เราเคารพกันและกัน แม้ว่าเราจะเห็นต่างกัน หรือมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่สามารถถกเถียงกันด้วยเหตุผล และอยู่ร่วมกันได้ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์แห่งนี้

 

กลับมาที่เรื่องการศึกษา ในแง่ของการเข้าถึงการศึกษา ธรรมศาสตร์มีแนวทางอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม

เรามีหลักสำคัญอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือ การเปิดโอกาสทางการศึกษา พันธกิจสำคัญที่เรายึดตลอดมาคือการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้คนในสังคมอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเสมอภาคและการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อีกเรื่องคือเสรีภาพทางการศึกษา เรามีหลักอยู่ว่า การจัดการการศึกษาของมหาวิทยาลัยต้องให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเลือกแสวงหาความรู้ตามความสมัครใจ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษา และทำให้เขาสามารถนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายชีวิตที่วางไว้ได้

สองหลักที่ว่ามา เราดำเนินการผ่านหลายโครงการ เช่น โครงการช้างเผือก คือให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจน หรือโครงการที่เปิดรับนักศึกษาพิการ ปัจจุบันเรามีนักศึกษาระดับปริญญาตรีในโครงการนี้อยู่ 70 คน และรุ่นก่อนๆ ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วอีก 127 คน อีกโครงการที่สำคัญคือ โครงการรับนักเรียนจิตอาสา ซึ่งเปิดรับนักเรียนที่เป็นนักกิจกรรม ใช้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาเป็นชี้วัดในการเข้าศึกษาต่อ แทนที่จะใช้เกณฑ์ด้านการเรียนเป็นตัววัดอย่างเดียว

โดยสรุปคือ เรายังยึดมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน เป็นตลาดวิชาของคนทุกระดับ ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและมีเสรีภาพในการศึกษามากที่สุด

 

ในเมื่อโลกมันเคลื่อนมาถึงจุดนี้ คนอาจไม่ได้หวังพึ่งการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยขนาดนั้นแล้ว สุดท้ายแล้อาจารย์คิดว่ามหาวิทยาลัยจะตายไหม

ไม่ตายหรอก เพราะมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นแหล่งที่คนยึดถือ เป็นแหล่งที่คนจะเข้ามาแสวงหาความรู้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอยู่ดี  ยังเป็นแหล่งค้นคว้าที่เชื่อถือได้ มีผลงานที่อ้างอิงได้ มีอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะนำพาความคิดของเราไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ เพราะบางทีเราคิดเอง หรือแลกเปลี่ยนในกลุ่มเพื่อนฝูง ในกลุ่มญาติพี่น้อง มันอาจจะยังไม่ถูกต้อง หรือตกผลึก แต่มหาวิทยาลัยจะยังคงเป็นแหล่งพึ่งพิงที่เชื่อถือได้ ฉะนั้นมันไม่ตายหรอก แต่ยังไงก็ต้องเปลี่ยนบทบาทไปในทิศทางใหม่ๆ มากขึ้น

แต่ถ้าเรามองมหาวิทยาลัยเป็นแห่งๆ มหาวิทยาลัยในแง่ที่เป็น infrastructure แน่นอนว่าหลายๆ แห่งก็ต้องปิดตัว บางคณะบางสาขาต้องปิดตัว หรือต้องควบรวม มองไปในอนาคตมหาวิทยาลัยน่าจะน้อยลง คณะและสาขาน่าจะน้อยลง ฉะนั้นธรรมศาสตร์จึงต้องไม่เป็นแค่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป ไม่เป็นแค่โรงเรียนที่ผลิตคนออกไปทำงาน แต่ต้องเป็น hub ของ future science หรือศาสตร์แห่งอนาคต ต้องเป็น platform สำหรับคนที่อยากจะเรียนรู้ให้ได้

 

อาจารย์ทำหน้าที่อธิการบดีมาเกือบปีครึ่งแล้ว ผลงาน เปลี่ยนธรรมศาสตร์ อะไรที่ภาคภูมิใจที่สุด

เราทำหลายเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ “ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา” แต่เป็นตลาดวิชาออนไลน์ที่ตอบโจทย์โลก ตอบโจทย์เจนใหม่ๆ จะเรียกว่า Back to the Future ก็ว่าได้ เราเปิด Gen Next Academy นำร่องด้วยปริญญาโทออนไลน์ 3 หลักสูตร โดยร่วมมือกับสตาร์ทอัพชั้นนำของไทย

เป้าหมายใหญ่ที่เราทำเรื่องนี้ คือไม่ใช่การศึกษาเพื่อปริญญา แต่เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัย ทุกอาชีพ จะอยู่ที่ไหนในโลกก็เรียนธรรมศาสตร์ได้ ธรรมศาสตร์ตลาดวิชาจะส่งเสริมให้คนเรียน เพื่อรู้ เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อต่อยอดทักษะเดิม และสามารถเป็นแรงงานแห่งอนาคตให้ได้อย่างแท้จริง

 

 

แล้วมีเรื่องอะไรบ้างที่ตั้งใจอยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ ทำไม่สำเร็จ หรืออยากทำให้ดีขึ้นไปอีก

เรื่องใหญ่ที่ดิฉันได้ริเริ่ม ผลักดัน และจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องไปก็คือ Thammasat Transformation Project ที่จะเปลี่ยนธรรมศาสตร์ในหลากหลายมิติ เพื่อให้เท่ากันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคที่โลกกำลังเข้าสู่ 5G อุตสาหกรรมถูก disrupt ไม่เว้นแม้แต่ระบบอุดมศึกษา ธรรมศาสตร์จึงมีโจทย์ใหญ่ที่จะต้องเปลี่ยนตัวเองให้รองรับการเปลี่ยนของทั้งเทคโนโลยี โครงสร้างประชากรไทย และประชากรโลกที่มุ่งไปสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงจำนวนเด็กที่ลดลงอย่างมโหฬาร

ที่สำคัญคือถนนทุกสายไม่ได้มุ่งมาสู่มหาวิทยาลัยอีกต่อไป ธรรมศาสตร์จะใช้โมเดลการดำเนินงานแบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างมหาวิทยาลัยให้ยืดหยุ่นและบูรณาการ เพื่อสร้างศาสตร์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน ต้องใช้เทคโนโลยีให้เชื่อมต่อทุกมิติของการบริหาร การเรียนรู้ และการหาแหล่งทุน พูดง่ายๆ คือต้องเปลี่ยน Business Model ของมหาวิทยาลัยไปจากเดิม ต้องหาทางเลือกใหม่ๆ ในแง่แหล่งรายได้ในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยไม่อาจพึ่งพิงเพียงเงินอุดหนุนจากรัฐ หรือรายได้ค่าหน่วยกิตจากนักศึกษาอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติขององค์กรที่เก่าแก่และประสบความสำเร็จมายาวนาน ก็มักจะเปลี่ยนแปลงไม่ง่าย และไม่เร็ว ดังนั้น Thammasat Transformation Project จึงเป็นโครงการที่ดิฉันหวังว่าจะมีการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยอีก 4-5 ปีข้างหน้า

 

าจารย์เป็นลูกหม้อธรรมศาสตร์ อยู่ในธรรมศาสตร์มาทั้งชีวิต อะไรคือบทเรียนล้ำค่าที่สุดที่ชีวิตในธรรมศาสตร์สอนอาจารย์

ธรรมศาสตร์สอนให้ดิฉันมีความสุขกับการทำงานรับใช้ประชาชน สอนให้ดิฉันคิดอะไร ทำอะไร เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์ส่วนตน ซึ่งก็เป็นแรงผลักดันให้ดิฉันตื่นขึ้นมาทำงานทุกวันอย่างมีพลัง และมีความสุข เพราะถ้าเราทำงานเพื่อเงิน ทำเท่าไหร่ก็คงไม่พอ ทำไปทุกวันก็เหนื่อยทุกวัน ทำเพื่อชื่อเสียงส่วนตัวก็เช่นกัน แต่การทำงานที่ธรรมศาสตร์คือการทำงานเพื่อให้ชีวิตคนดีขึ้น สังคมดีขึ้น

ตั้งแต่ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นมาเมื่อ 85 ปีที่แล้ว ก็ทำหน้าที่สร้างโอกาสให้คนในวงกว้าง เปลี่ยนชีวิตเขาเหล่านั้นให้มีอาชีพ มีความหมาย ให้มีเป้าหมายในการทำอะไรเพื่อความเจริญงอกงามในสังคม และให้มีความสุขที่ได้เห็นความเจริญงอกงามเหล่านั้น สิ่งที่ว่ามาน่าจะเป็นสิ่งที่ผูกพันดิฉันและศิษย์เก่าจำนวนมากมายไว้กับธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม

 

คำถามสุดท้าย อีก 85 ปีข้างหน้า ธรรมศาสตร์จะเป็นยังไง

เราจะยังคงรักษามหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกของนักศึกษาที่อยู่ในวัยแห่งการค้นหา ไขว่คว้า และพัฒนาตัวตน เรามุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย เห็นความหลากหลายเป็นความงาม อดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง การที่ธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย แน่นอนว่าเราจะเจอกับสิ่งที่ไม่ถูกตาต้องใจเรา แต่คนธรรมศาสตร์ก็จะอดทนอดกลั้นต่อความต่างได้มากกว่าที่อื่นๆ และจะรักษาวัฒนธรรมนี้ให้เป็นอัตลักษณ์ของธรรมศาสตร์ต่อไป

ย้ำอีกทีว่า ธรรมศาสตร์แห่งอนาคตจะไม่เป็นเพียงมหาวิทยาลัย เราจะเป็น Hub เป็น Platform เป็น Marketplace เป็น Community และเป็น Flagship นี่คือ 5 บทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคต คือ เราจะเป็น Hub ของบูรณาการศาสตร์แห่งอนาคต เป็น Platform ของการเรียนรู้สำหรับคนทุกเจน ของแรงงานในอนาคต เป็น Marketplace ของทางออกให้กับประเทศทั้งในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม เป็น Community ของนักวิชาการชั้นนำจากนานาชาติ และเป็น Flagship ของจิตวิญญาณในการรับใช้ประชาชน

ในแง่ของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ คนธรรมศาสตร์ต้องธำรงไว้ซึ่งความรักในประชาธิปไตย ยึดมั่นในเสรีภาพ และสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อให้คำขวัญ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เป็นสัจจะที่มั่นคงเคียงคู่ชื่อธรรมศาสตร์ตลอดไป

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save