fbpx
ชะเง้อดู ‘Installation Art’ ขับเคลื่อนสังคม ที่คว้ารางวัลบนเวทีโฆษณา Cannes Lion และ D&AD ปีนี้

ชะเง้อดู ‘Installation Art’ ขับเคลื่อนสังคม ที่คว้ารางวัลบนเวทีโฆษณา Cannes Lion และ D&AD ปีนี้

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เดือนพฤษภาคมและมิถุยายนที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่เวทีประกวดโฆษณาระดับยักษ์ของวงการอย่าง D&AD Awards และ Cannes Lion ประกาศรางวัลสุดยอดโฆษณาแห่งปี รางวัลสูงสุดของทั้งสองเวทีอย่าง Black Pencil และ Grand Prix ถูกมอบให้แก่โฆษณาที่โดดเด้งประจำปี ทั้งโฆษณาที่มีวิธีการขายของที่เจ๋งจนเจ้าอื่นคิดไม่ถึง หรือสร้างรูปแบบการโฆษณาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในจำนวนหลักร้อยของโฆษณาที่เรียงรายกันรับรางวัล ยังมีโฆษณาหมวดหมู่หนึ่งที่ไม่ได้พุ่งเป้าการโฆษณาไปเพื่อขายสินค้าหรือแบรนด์เพียงอย่างเดียว หากแต่ใช้แก่นหลักของโฆษณา คือการสื่อสารเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลง และสร้างสังคมใหม่ให้ดีขึ้น ที่เรารู้จักกันในชื่อว่าแคมเปญโฆษณาเพื่อสังคม’ 

เราอาจเคยเห็นโฆษณาเพื่อสังคมในรูปแบบของภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ หรือบิลบอร์ดกันบ่อยๆ จนนึกภาพออก แต่คุณจะนึกภาพออกอยู่ไหม หากเราพูดถึงโฆษณาเพื่อสังคมในรูปแบบของ ‘Installation Art’ หรือศิลปะติดตั้ง รูปแบบศิลปะที่เราเคยสัมผัสแต่ในแกลลอรี่ เทศกาลออกแบบ หรือเทศกาลดนตรี งานศิลปะที่มีไว้แค่ให้ยืนตะลึงในความงดงามอลังการ หรือมากสุดก็แค่ถ่ายรูปคู่ มันจะเปลี่ยนแปลงสังคมอีท่าไหน !?

ถ้าคุณนึกไม่ออก Third Eye View ฉบับนี้ เราชวนดูโฆษณารูปแบบ Installation Art 4 ชิ้น ที่ไม่เพียงคว้าทั้งรางวัลจากเวทีโฆษณา แต่ยังรางวัลททางใจจากมวลชน ในฐานะที่มันสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดี

 

The Unbreakable Rainbow

 

ทุกๆ ปี กลุ่มเพศหลากหลายในกรุงวอร์ซอว์ที่โปแลนด์จะสร้าง Installation Art ที่มีรูปทรงและสีสันเหมือนสายรุ้งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง แต่ขณะเดียวกัน ประติมากรรมนี้ก็กลายเป็นเป้าหมายโจมตีจากกลุ่มเกลียดชังเพศที่สาม สายรุ้งถูกเผาทำลายในทุกปี เพราะกรุงวอร์ซอว์แห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ผู้คนเกลียดกลัวเกย์ที่สุดเมืองหนึ่งในยุโรป

 

ภาพ Aljazeera.com

 

ในปี 2018 Ben & Jerry’s แบรนด์ไอศครีมที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ มาเนิ่นนาน นำ Installation Art สายรุ้งกลับมาอีกครั้งในที่เก่าเวลาเดิม หากแต่เป็นสายรุ้งในรูปแบบใหม่ที่ไฟไม่สามารถเผาทำลายได้ เพราะสายรุ้งนี้เกิดขึ้นจากม่านน้ำที่ฉายภาพด้วยเทคนิค Projection Mapping นอกจาก The Unbreakable Rainbow ชิ้นนี้จะไม่ติดไฟ ยังให้ความเย็นสบายกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่มารวมตัวกัน และในวันนั้น แบรนด์ Ben & Jerry’s ก็พ่วงการโฆษณาด้วยการแจกไอศครีมฟรีให้คนกิน

ด้วยเทคนิคที่คิดไม่ถึง แถมยังได้ความหมายลึกซึ้ง ทำให้งานนี้คว้ารางวัล Wood Pencil (เทียบเท่ารางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง) ในหมวด Spatial design หรือการออกแบบพื้นที่ จากเวที D&AD Awards ไปครอง ไม่รู้ว่าสายรุ้งม่านน้ำจะขึ้นในปีต่อไปมั้ย แต่ที่แน่ๆ มันได้เป็นจุดเริ่มต้นการเผชิญหน้ากันอย่างน่ารักและสันติของทั้งสองฝ่าย โดยมีไอศครีมเป็นตัวเชื่อมให้ใจร่ม หลังจากนี้เมื่อเราตัก Ben & Jerry’s เข้าปาก เราไม่ได้กินเพียงไอศครีมอีกต่อไป แต่กำลังลิ้มรสจุดยืนและทัศนคติที่ดีของแบรนด์เข้าไปด้วย

ไม่แน่ คนที่เคยเผาสายรุ้งและสนับสนุนความรุนแรงในปีก่อนๆ อาจอยากมาต่อคิวรับไอศครีมกับเขาเหมือนกัน

 

 

The Toxic Flag

 

เลบานอนกำลังเจอปัญหาขยะล้นเมือง และรัฐบาลก็มีแผนจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างเตาเผาขยะ ซึ่งมีแววสร้างปัญหามลพิษที่ร้ายแรงตามมา จากการวิจัย สารพิษที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาขยะที่รัฐบาลมีแผนจะสร้าง จะส่งผลกระทบรุนแรงกับคนกว่าหนึ่งล้านภายในเวลา 30 ปี ปัญหาหนักหนา แต่ประชาชนกลับถูกปิดตาไม่ให้รู้

แทนที่ The Waste Management Coalition หรือองค์กรจัดการขยะ จะเลือกทำโฆษณาด้วยหนังรณรงค์ทางโทรทัศน์ หรือใช้พรีเซนเตอร์หน้าตาดีเชียร์ให้คนเก็บขยะอย่างที่เราคุ้นเคย กลับเลือกที่จะสร้างอิมแพคด้วยการเปิดตาให้คนเห็นปัญหา และเผชิญหน้ากับความจริง ผ่าน Installation Art

 

 

Make the invisible, visible คือคำบรรยายของแคมเปญ The Toxic Flag ซึ่งเป็น Installation Art ที่ได้แรงบันดาลใจจากเสาธงความสูง 12 เมตร ตั้งกลางเมืองหลวงอย่าง Beirut ทว่าสิ่งที่อยู่บนยอดเสาแทนที่จะเป็นผืนธงชาติเลบานอน กลับเป็นควันสีดำ (ที่สร้างโดยวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) พวยพุ่งออกมาตลอดเวลา คล้ายกับมลพิษจากเตาเผาขยะ ยืนตระหง่านเป็นสัญญาณเตือนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเสาธง The Toxic Flag นี้ทำงานร่วมกับสื่ออื่นๆ ที่ช่วยสื่อสารแคมเปญไปพร้อมกัน เช่น บิลบอร์ดและเว็บไซต์ บัดนี้กองขยะที่รัฐบาลได้สะสมหมักหมมไว้ใต้พรมได้ถูกเปิดเผย 

 

 

เสน่ห์ของงานโฆษณาแบบ Installation Art บนพื้นที่จริง คือการล้อเล่นกับความจริง บางครั้งคนที่มองเห็นเสาธงควันโขมงในแวบแรกอาจคิดไม่ถึงว่ามันคืองานโฆษณา และอาจถามว่าเกิดอะไรขึ้น ? ไฟไหม้ที่ไหน ? ควันที่เราเห็นมันคืออะไร ? ทันทีที่ The Toxic Flag ขึ้นสู่ยอดเสา ภาพถ่ายและข้อความเกี่ยวกับมันก็กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ 

 

 

ในที่สุด บทสนทนาเหล่านี้ก็นำกลับไปสู่การพูดถึงประเด็นปัญหาที่เป็นต้นเหตุอย่างโรงงานเผาขยะของรัฐบาล คนในสังคมออกมาเคลื่อนไหว นำไปสู่วาระพูดคุยในสภาอย่างจริงจัง

The Toxic Flag ติด Shortlist จากเวที D&AD Awards สาขา Spatial design เช่นเดียวกับสายรุ้งที่โปแลนด์ นั่นคือรางวัลจากเวทีโฆษณา ที่ดูจิ๊บจ๊อยไปเลยหากเทียบกับรางวัลที่ชาวเลบานอนได้จาก Installation Art ชิ้นนี้ นั่นคือ คำสั่งจากรัฐบาลให้ระงับการก่อสร้างโรงงานเผาขยะถึงสามแห่ง

 

 

Project 84

 

จากผืนควันโบกสะบัดที่ยอดเสาในเลบานอน สู่ยอดตึกในอังกฤษ กับแคมเปญที่ใช้ท่าไม้ตายสูตรเดียวกัน

ทำสิ่งที่มองไม่เห็น ให้ถูกมองเห็น, ทำสิ่งที่ไม่ถูกพูดถึง ให้ถูกพูดถึง

ประเทศอังกฤษสถิติการฆ่าตัวตายสูงจนน่าวิตก ทุกๆ หนึ่งสัปดาห์จะมีการฆ่าตัวตายเฉลี่ยน 84 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ชายที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต หลายคนยังไม่พ้นวัยรุ่นด้วยซ้ำ ปัญหาดูใหญ่ แต่กลับไม่เคยได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังซะที นั่นจึงเป็นที่มาของ Project 84 โดยองค์กรการกุศลที่ชื่อ CALM  (The Campaign Against Living Miserably)

โปรเจคต์นี้องค์กรร่วมมือกับศิลปิน Mark Jenkins สร้าง Installation Art รูปคนขนาดเท่าจริง 84 คน ตั้งไว้บนยอดตึกกลางกรุงลอนดอน ภาพที่มองจากเบื้องล่างราวกับว่าทุกคนกำลังจะกระโดดลงมาปลิดชีวิตตัวเอง โดย Installation Art รูปคนแต่ะชิ้น สร้างจากเรื่องราวของผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย 84 คน โดยการสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดหรือครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ ใช้ร่างกายของพวกเขาเป็นบล็อกในการทำหุ่นแต่ละตัว โดยให้พวกเขาฝากข้อความลงในนั้น เรื่องราวทั้งหมดยังถูกรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในเว็บไซต์ www.projecteightyfour.com ให้คนเข้าไปศึกษาได้ด้วย 

 

ผลที่ตามมาหลังจากนั้น ภาพคนบนยอดตึกถูกแชร์กระหน่ำในโลกโซเชียล ท่ามกลางความตกอกตกใจปนสงสัย จากอินเทอร์เน็ตกระจายต่อกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จนทำให้ประเด็นการฆ่าตัวตายถูกยกขึ้นมาพูดถึงเป็นวาระแห่งชาติในช่วงเวลานั้น 

 

 

จนเมื่อวันสุขภาพจิตโลกเมื่อปี 2018 แรงกระเพื่อมจากประติมากรรมบนยอดตึกก็ออกดอกออกผล เพราะนายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ แห่งอังกฤษ ได้ประกาศก่อตั้งกระทรวงป้องกันการฆ่าตัวตายขึ้นมาเป็นครั้งแรก นั่นถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และภาคภูมิที่สุด นอกเหนือจากรางวัล Silver และ Bronze ที่ Project 84 ได้รับบนเวทีโฆษณา Cannes Lion ในปีนี้

 

https://www.youtube.com/watch?v=15neXcMJ3Yk

 

Treatment Box

 

truth คือองค์กรในอเมริกาที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น โดยทำแคมเปญโฆษณาออกมารณรงค์งดสูบบุหรี่ด้วยวิธีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้องค์กรย้ายประเด็นจากเรื่องบุหรี่มายังปัญหาที่หนักข้อขึ้นอย่างการเสพติดเฮโรอีนและฝิ่นในวัยรุ่น

โดยปกติโฆษณารณรงค์ต่อต้านยาเสพติดมักจะพูดถึงพิษภัยซึ่งยากจะทำให้เห็นและรู้สึกอย่างเป็นรูปธรรม บางทีก็ใช้ภาพจำของคนติดยาตัวผอมโซมาหลอกให้คนกลัว แต่กับครั้งนี้ truth เลือกจะเอาความจริงของการบำบัดยาเสพติด ขั้นตอนที่ว่ากันว่าทรมานที่สุด มาเผชิญหน้ากับคน

Treatment Box คือ Installation Art ทรงลูกบาศก์ ตั้งอยู่กลางจตุรัส Aster Place ในนิวยอร์ค ทั้งสี่ด้านคือจอที่ฉายภาพวิดีโอจริงจากห้องบำบัดยาเสพติดของ Rebekkah – วัยรุ่นสาวที่เคยเสพติดเฮโรอีน ทางองค์กรทำข้อตกลงขออนุญาตถ่ายทำกระบวนการบำบัดยาระยะเริ่มต้นของเธอ ตลอด 5 วัน แบบเรียลไทม์ และนำภาพทั้งหมดออกมามอบเป็นวิทยาทานให้กับคนอื่นผ่าน Treatment Box นี้ กระบวนการทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และจิตแพทย์

 

 

ตลอดหลายวันที่ Treatment Box ตั้งอยู่ ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาราวกับได้มองเข้าไปในห้องบำบัดของ Rebekkah ด้วยขนาดของห้องที่ใกล้เคียงความจริงทำให้หลายคนรู้สึกเหมือนได้เฝ้ามองเธอจากข้างนอกห้องที่มีเพียงกระจกกั้น บางคนร้องไห้และเอาใจช่วยให้เธอผ่านกระบวนการนี้ไปให้ได้ ท้ายที่สุดสิ่งที่ทุกคนได้เห็นคือความทรมานของ Rebekkah จากกระบวนการบำบัดยา และคงทำให้วัยรุ่นหลายคนไม่คิดอยากจะเข้าไปเป็นคนในกล่อง

ปัจจุบัน Rebekkah มีอาการดีขึ้น และกำลังจะหายเป็นปกติในเร็ววัน

 

 

ทำไมแคมเปญเหล่านี้ถึงเลือกสื่อสารประเด็นสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่หนักข้ออย่างการเหยียดเพศ  มลภาวะ  การฆ่าตัวตาย และยาเสพติด ผ่านสื่อ Installation Art กันนะ ? เรานึกสงสัยหลังเข้าไปทำความรู้จักกับทั้งสี่แคมเปญ

Installation Art เป็นสื่อที่ทำงานกับพื้นที่สาธารณะ ผู้ชมได้เห็นแบบตาต่อตาผ่านมุมมองของตัวเอง แบบ 360 องศา ไม่ใช่แค่มุมมองแต่ทัศนคติที่ใช้มองก็ต่าง คนหนึ่งเห็นสายรุ้งอาจรู้สึกอิ่มใจ แต่อีกคนอาจรู้สึกขยะแขยง เมื่อมีพื้นที่ให้ความคิดเห็นที่แตกต่างวงสนทนาจึงเกิดขึ้น

ยิ่งในยุคที่เรื่องราวในโลกความจริง ไหลเข้าไปสู่โลกโซเชียลมีเดียด้วยเวลาไม่กี่วิฯ Installation Art ที่สร้างอิมแพคเปรี้ยงแรกในโลกออฟไลน์ ก็ไหลเข้าไปสร้างอิมแพค และสร้างวงสนทนาที่ใหญ่ขึ้น หลากหลายความคิดมากขึ้นในโลกโซเชียลมีเดีย จาก Installation คนที่อยู่บนยอดตึกเล็กๆ มองเห็นได้แค่ระยะใกล้ๆ ของ Project 84  จึงสามารถไปไกลได้ถึงนายกรัฐมนตรี

การแก้ปัญหาสังคมต้องการอิมแพค ต้องพื้นที่สาธารณะ ต้องการความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องการวงสนทนา และต้องการการขยายเสียงไปให้ไกล คุณสมบัติเหล่านี้จึงทำให้ Installation Art และโซเชียลมีเดีย มีอานุภาพเปลี่ยนแปลงสังคมที่วอร์ซอว์ เบรุต  ลอนดอน และนิวยอร์ค ให้ดีขึ้นได้

แต่จะเวิร์คกับประเทศเรามั้ย อันนี้ขอคิดดูอีกทีนะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save