fbpx
มากที่สุด นานที่สุด วรพจน์ พันธุ์พงศ์

มากที่สุด นานที่สุด

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

‘เขาอยากอยู่ยาว’

คำกล่าวสั้นๆ พูดเพียงครั้งเดียว แต่คนสนใจการบ้านการเมืองจำได้แม่นยำ ว่าเป็นวาจาผู้ใด พาดพิงถึงใคร เนื่องในโอกาสและสถานการณ์ไหน ค่าที่มันกินความครบถ้วน คำเดียวเอาอยู่ อธิบายปรารถนาและวาระซ่อนเร้นได้แจ่มกระจ่าง

ดูกันต่อไป ว่ายักษ์ใหญ่อยากอยู่ยาวจะฝ่าคลื่นลมไปอย่างไร จะจบ จะจอดป้ายไหน กระทั่งหน้าสุสานจะมีสวนดอกไม้ หรือกลายเป็นที่หมาเยี่ยว

 

ทำไม Pink Floyd จึงให้เวลาเพลง Wish You Were Here 5.18 นาที Bob Dylan เลือกขีดเขียน Like a Rolling Stone ไว้ที่ 5.59 นาที ขณะที่ Eric Clapton จัดวาง Wonderful Tonight ตามค่าเฉลี่ยของเพลงทั่วทั้งโลก คือ 3 นาทีเศษๆ

ในฐานะผู้สร้าง พวกเขาจะโง่เง่าถึงขั้นไม่รู้จริงๆ หรือว่าผลผลิตนั้นมันดีงาม ไพเราะ ฟังกี่ทีๆ ก็หลงรัก

ไพเราะแล้วทำไมไม่ร้องและเล่นยาวๆ จัดไปสักครึ่งชั่วโมงเลยสิ หรือมากกว่านั้น เพลิดเพลินดีงามแล้วรีบเลิกทำไม

คำตอบที่เราๆ ท่านๆ คงพอเข้าใจร่วมกันได้ คือความพอดี

สั้นกว่านี้ ห้วนไป ยาวกว่านี้นับเป็นความฟุ่มเฟือย

 

เราต่างสัมพันธ์กับวันเวลาในทุกกิจกรรม ทั้งรูปธรรม นามธรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่คิด ไม่บริหารจัดการก็ไม่ได้

ทำไมมวยแต่ละยก จึงชกกัน 3 นาที

ทำไมเกมฟุตบอลถึงกำหนดไว้ที่ 90 นาที

ทำไมกติกาประชาธิปไตยจึงให้เวลารัฐบาลทำงาน 4 ปี ฯลฯ

ไม่มีอะไรลอยลงมาจากฟ้าแน่ๆ แต่ละอย่างผ่านการคิด ค้นคว้า และทดลองมาแล้วโดยละเอียด บวกด้วยข้อพิสูจน์ทางกาลเวลาที่ผ่านมานานเพียงพอจะยืนยันได้ ว่าเท่านี้แหละกำลังดี ผู้เล่นมีประสิทธิภาพ ผู้ชมกองเชียร์อารมณ์ไม่สะดุด มองในแง่ชิ้นงานก็ได้น้ำได้เนื้อ เห็นหน้าเห็นหลัง อันจะนำไปสู่การต่อยอดพัฒนา

คล้ายจะไม่เกี่ยว เหมือนจะถูกมองข้ามเสมอ ทว่าแท้จริง ‘เวลาที่เหมาะสม’ เป็นหนึ่งในปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะ เป็นแขนขาที่ประกอบส่วนให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เป็นความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ

 

ควรจะสักเท่าไร กี่นาที สำหรับการนั่งจิบกาแฟ

แล้วห้วงยามหฤหรรษ์ของการมีเซ็กซ์ล่ะ สั้นยาวอย่างไรจึงเหมาะสม

ผมใช้เวลาสามชั่วโมงต่อการสัมภาษณ์หนึ่งครั้ง โดยเฉลี่ยนะครับ สั้นกว่านั้นก็มี ยาวกว่านั้นก็มาก หากเลือกได้ ผมว่าสามชั่วโมงกำลังสวย วงเล็บไว้ด้วยว่าอาจมีนัดสองนัดสามแก้ไขเพิ่มเติม นั่นหมายถึงงานสัมภาษณ์หนึ่งชิ้น งานที่ตีพิมพ์ลงแมกกาซีน หรือสื่อออนไลน์ร่วมสมัย ความยาวต้นฉบับที่เรียบเรียงแล้วประมาณ 8-12 หน้าเอสี่

หากเป็นการทำหนังสือเล่มก็ว่ากันเป็นปีๆ ครึ่งปี ตามข้อตกลงและเงื่อนไขข้อจำกัดของทั้งสองฝ่าย

ถามว่าชั่วโมงเศษๆ หรือสองชั่วโมง ทำงานได้ไหม สัมภาษณ์ได้เรื่องได้ราวหรือเปล่า คำตอบคือได้ ยิ่งมีชั่วโมงบิน ผ่านประสบการณ์ในวิชาชีพสื่อมวลชนมาเป็นสิบปี ไปถึงซัดเปรี้ยงๆ ไม่ต้องร่ายรำไหว้ครูหรือมัวโอ้โลมปฏิโลมกันอยู่ เลิกแล้วก็แยกย้าย ทางใครทางมัน ทำได้ งานแบบนั้นก็ทำได้ แต่จะให้รู้สึกเหมือนกินข้าวแล้วอิ่มก็คงไม่ใช่ คล้ายมันยังค้างๆ คาๆ ไม่แล้วใจ

ขอกาแฟร้อนตบท้ายอีกสักแก้วน่า หรือจะเอาเบียร์ก็ไม่ปฏิเสธ

 

ภาพวาดโดย สุมาลี เอกชนนิยม

 

ในความหมายหนึ่ง บทสัมภาษณ์มันคือการงานของคนโง่

ทำมาก ทำนาน เพื่อเอาน้อย ไม่โง่อย่างไรไหว

เรียกร้องความรอบรู้สูง ลงแรงเยอะ ใช้เวลามาก ซ้ำค่าแรงต่ำ สังคมไทยเขาไม่ชายตามองคนจำพวกนี้อยู่แล้ว ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของสังคม เป็นมุมมองผู้อื่น ฝ่ายเรา–คนรักที่จะทำงานสัมภาษณ์ เราเห็นความหมายของมัน เห็นความสำคัญ เห็นเสน่ห์ที่หาไม่ได้ในอาชีพอื่นๆ

ทำไมต้องคุยนาน ก็เพราะเรารู้น่ะสิ ว่าบางคำตอบไม่ได้มาจากคำถาม บางเรื่องเล่ามันจะหลั่งไหลออกมาหลังผ่านชั่วโมงที่สอง ที่สาม ที่สี่..

ทำไมต้องคุยนาน ก็เพราะเรารู้น่ะสิ ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจไม่ใช่รักแรกพบ ความไว้ใจมันเกิดจากการมองเห็นลึกเข้าไปในจิตใจ และความไว้ใจมันเกิดจากการให้ใจ

ทำไมต้องคุยนาน ก็เพราะคุยสั้นมันไม่รู้เรื่อง ข้อมูลผิดพลาดคลาดเคลื่อนง่าย คุยสั้นมันคล้ายนั่งไกลๆ กัน ต่อไม่ติด สัมผัสมือไม่ถึง กล่าวโดยสรุป คุยสั้น คุยกระชับ หาใช่ความบกพร่อง หละหลวม หากมันเหมาะกับสื่อสารมวลชนบางประเภท บางเรื่องต้องถามตอบกันตอนนี้ ตอบมาเร็วๆ บางเรื่องมันรอไม่ได้

ต้องพินิจให้ถี่ถ้วนว่ารสนิยม หรือคนอย่างเรายืนอยู่ฝ่ายไหน เลือกทำงานสื่อสารมวลชนแบบใด เอาเรื่องหรือเอารส เอาเร็วหรือเอาลึก

หรือเอามันหมดทุกอย่าง

 

กาแฟแก้วแค่นั้น กินสองนาทีก็หมด

นี่คือสัจจะ

เซ็กซ์สองนาทีก็มี

นี่ก็เป็นสัจจะ

ไม่ว่ากันนะครับ เราไม่ล่วงละเมิดตัวตน จุดยืน หรือความเชื่อของกันและกัน ท่านจะใช้เวลาสองนาทีสำหรับการยกซดกาแฟหนึ่งแก้วแล้วกระโดดขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ศรัทธาของท่านเป็นของท่าน เราไม่ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพของกันและกัน

สำหรับผม เวลาที่เหมาะสมของกาแฟน่าจะอยู่สักชั่วโมงหนึ่ง

ไม่ว่ากันนะครับ เราไม่ล่วงละเมิดตัวตน จุดยืน หรือความเชื่อของกันและกัน หากท่านจะใช้เวลาสองนาทีสำหรับการมีเซ็กซ์ แล้วนับเวลานอน หรือตั้งนาฬิกาปลุกตอนตีห้า เตรียมตัวออกไปหาเงินหาทอง ศรัทธาของท่านเป็นของท่าน เราไม่ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพของกันและกัน

สำหรับผม ขอยืนยันเหมือนเคยว่าเวลาสามชั่วโมงน่าจะกำลังดี น้อยกว่านี้ไม่มัน คุยกันไม่สนุก ถอดเทปและเรียบเรียงเป็นบทสัมภาษณ์ออกมาแล้วอ่านไม่อิ่ม

 

มากที่สุด นานที่สุด–ผมคิดว่าหลักการคือแบบนั้น

หนึ่ง หรือสอง หรือสามชั่วโมง บางทีทั้งเราและฝ่ายผู้ให้สัมภาษณ์ก็คาดเดาล่วงหน้าลำบาก วางแผน ออกแบบ กระทั่งเงื่อนไขทีแรกเป็นอย่างหนึ่ง พอคุยสนุก ก็อาจยืดหยุ่น อนุโลม ซึ่งแน่นอนว่าคุยนาน โอกาสได้งานที่ดีย่อมมีมากกว่าคุยน้อย รีบไป รีบกลับ เช่นเดียวกับความพร้อมทางร่างกาย ถ้าเหนื่อยเกินไป หรือเริ่มต้นพูดคุยดึกเกินไป เรื่องเล่าย่อมอ่อนแรง

บางคำถามมันจะหยาบเกินไปทันที บางคำถามมันจะทำร้ายกันทันที ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์ไม่อยู่ในสภาพพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจ

ตอบให้ตรงใจที่สุด ระยะเวลาที่เหมาะสมของการสัมภาษณ์ไม่ใช่สามชั่วโมง จุดยืนผมคือมากที่สุด นานที่สุด ซึ่งผมรู้ว่าหน้างาน อาจได้แค่หนึ่ง ผมรู้ว่าบางทีดูนาฬิกาแล้วตกใจ เพราะบทสนทนาอาจไหลยาวไปสี่ห้าชั่วโมง เรื่องพวกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งที่ทำได้และจำเป็นต้องทำข้อแรกคือเตรียมร่างกายให้พร้อมเสมอ เพราะถ้าจะมีฝ่ายไหนเหนื่อยอ่อน ยอมยกธง มันไม่ควรเป็นฝ่ายเรา

ข้อสอง ต้องมองแหล่งข่าวหรือผู้ให้สัมภาษณ์ให้ทะลุ ทุกวินาทีต่อหน้าเขาและเธอ หน้าที่ของเราคือฟัง มอง คิด สังเกต แม้หลักการและจุดยืนคือใช้เวลาให้ยาวนานที่สุด แต่หากมองแล้วเขาไม่พร้อม ไม่สะดวก ไม่สนุก หากมองแล้ว คำถามต่อไปคือการทำร้าย เราต้องพร้อมจะหยุด

ทำงานกับมนุษย์ เราละทิ้งความเป็นมนุษย์ไม่ได้

เตรียมตัวอ่านข้อมูลมาดีแล้ว นั่งรถฝ่าจราจรนรกไปถึงที่หมายแล้ว เจอตัวละครที่รักที่รอนั่งอยู่ตรงหน้าแล้ว เนื้องานเราอยากได้แน่ๆ แต่หากมีเหตุให้มันพลาด ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้วันนี้ วันหน้าว่ากันใหม่

นานที่สุด มากที่สุด–เบื้องต้นเรายืนยันเช่นนี้ก่อน เพราะสุดท้าย ยังไงมันก็มีเหตุให้หยุด ให้พอ มีวาระที่เหมาะสม ไม่ต้องกลัวว่าจะ ‘อยู่ยาว’ คุยไม่เลิกไม่รา ไม่ต้องรีบกลับบ้านเร็วๆ คนบ้าอำนาจต่างหากที่สังคมต้องช่วยกันขับไล่ให้ออกไปเร็วที่สุด เผด็จการต่างหากที่สังคมต้องช่วยกันขับไล่ออกไปให้เร็วที่สุด

เรื่องการทำสัมภาษณ์ หรือความตั้งใจออกแรงทำงาน อย่ากังวลว่ามันจะนานเกินไป

คล้ายๆ ระยะเวลาของความรัก คำว่านานเกินไป ไม่มี.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save