fbpx
'กำไลมูเตลู' แฟชั่น หรือ ความเชื่อ

‘กำไลมูเตลู’ แฟชั่น หรือ ความเชื่อ

ศุภิษฐา นาราวงศ์ เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ดูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่ หากมีร้านขนมใหม่เปิดตัวขึ้นใจกลางเมือง แล้วเราจะพบแถวยาวลากออกไปจนถึงประตูห้าง อย่างกรณีของร้านโดนัท Krispy Kream หรือร้านแพนเค้กน้องใหม่อย่าง Gram แต่เมื่อทิ้งระยะไว้ 2-3 เดือน แถวก็จะเริ่มซาลง ซาลง จนระยะเวลาในการต่อคิวลดลงเหลือเพืยงไม่ถึงห้านาที จากที่เคยรอเป็นชั่วโมงๆ

เมื่อช่วงต้นปี ณ ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ห้างที่ตั้งอยู่บนย่านรถติดอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ ก็มีปรากฏการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้น เพียงแต่รอบนี้ไม่ใช่ขนมนมเนยอีกต่อไป ปรากฏการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นกับร้าน ‘ไลลา อมูเลตส์’ (Leila Amulets) ร้านเครื่องรางของขลังขนาดหนึ่งห้องแถว แต่กลับมีแถวคิวคดแล้วคดอีก กลายเป็นปรากฏการณ์ ‘มู(เตลู)’ ที่สังคมจับตามอง

คำว่า ‘มูเตลู’ เป็นภาษาปากที่วัยรุ่นนิยมใช้ ความหมายที่แท้จริงไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่ถูกนำมาใช้หลังจากภาพยนตร์อินโดนีเซียชื่อ ‘มูเตลู ศึกไสยศาสตร์’ ถูกนำมาฉายในไทยเมื่อ 25 ปีก่อน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีตัวละครสองสาวที่พยายามใช้มนต์คาถาแย่งชิงผู้ชายที่ตนต่างหลงใหล ผู้คนจึงหยิบคำๆ นี้มาใช้กับเรื่องเหนือธรรมชาติ รวมไปถึงเครื่องรางของขลัง

 

 

ไลลา อมูเลตส์ เป็นแบรนด์เครื่องประดับที่ถือกำเนิดขึ้นในเดือนกรกฏาคม 2018 โดย จันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย ซึ่งนำกำไลหินมาดัดแปลงเข้ากับ ตะกรุดจากวัดดัง และเครื่องรางของขลังอีกหลายอย่าง การบูชาเครื่องรางเหล่านี้มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปตามเครื่องรางแต่ละรุ่น ตั้งแต่เรื่องความรัก การงาน การเรียน และการเงิน

จากแต่เดิมที่เครื่องรางมักได้รับความนิยมจากลูกค้าหน้าเก่า หรือคนรุ่นก่อน การเกิดขึ้นของ ‘ไลลา’ พร้อมการบอกปากต่อปากและการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนแห่มาซื้อเครื่องรางจากไลลากันไม่หวาดไม่ไหว ได้รับความนิยมจากคนหลายวัย ถึงขั้นที่มีบัญชีผู้ใช้ Instagram ที่คอยรับหิ้วหรือรับร้อยหินหลากสีเพิ่มขึ้นเกือบทุกวัน ขณะเดียวกันตัวแบรนด์เอง ก็ขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสยามเซ็นเตอร์, เซ็นทรัล ชิดลม, เซ็นทรัล เวิลด์, เอ็มควอเทียร์ และ คิงพาวเวอร์

กราฟความรุ่งเรืองของไลลาถือว่าพุ่งขึ้นเร็วมาก ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปีด้วยซ้ำในการเรียกลูกค้าจนเป็นกระแส แต่กราฟก็ลงเร็วมากเช่นกัน พอไลลาเริ่มดัง ก็เริ่มมีข่าวและความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไลลาเอาวัตถุบูชา ‘สายดำ’ มาใช้ คนใช้เจอผี เจอวิญญาณตามติด ตามไปบูชาพระที่ผลิตไลลาแล้วพบว่าท่านเสียชีวิตแล้ว ไปจนถึงว่าไลลาลงคาถาบูชาผิด นำคาถาเรียกผีมาให้ลูกค้าบูชา

กระแสโจมตีจากสังคมเหล่านี้ นอกจากจะทำให้แถวที่คนเคยยืนต่อจนรากงอก เริ่มเงียบและไม่ครึกครื้นเหมือนแต่ก่อน ยังทำให้สังคมตั้งคำถามกับอิทธิพลความเชื่อ และทำให้ใครหลายคนได้รู้ว่าสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่คนรุ่นใหม่ เอาจริงเอาจังกับเครื่องรางของขลัง ผี และความศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้

ถึงแม้ว่าดราม่าทั้งหลายแหล่จะแผ่วลง ลูกค้าไลลาค่อยๆ จางหายไปทีละนิด แต่ลูกค้าหลายคนก็ยังไม่เปลี่ยนใจและเชื่อมั่นในไลลาอยู่ ส่วนมากแล้วลูกค้าประจำของไลลาจะเป็นผู้หญิง สังเกตได้จากคนที่มารอต่อคิว การโพสต์รูปรีวิวและการแลกเปลี่ยนความคิดผ่านทาง Instagram

จากปรากฏการณ์ที่ว่ามา 101 ได้พูดคุยกับลูกค้าไลลาบางส่วนที่ยังคงใช้ไลลาอยู่ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมผู้ที่ใช้ไลลาส่วนมากจึงเป็นผู้หญิง และไลลาเป็นเพียงแค่แฟชั่นเทรนด์ใหม่หรือเครื่องรางของขลังกันแน่

 

 ต่างวัย ต่างตะกรุด ต่างจุดประสงค์

 

จุดเริ่มต้นการบูชาไลลาของแต่ละคนมีความหลากหลาย นักแสดงฟรีแลนซ์สาววัย 20 ปีเล่าให้ฟังว่า เริ่มใส่ไลลาเพราะเพื่อนในสายงานเดียวกันบอกว่า ใส่แล้วมีแต่งานเข้ามา นอกจากนั้นพี่ๆ ในวงการเดียวกันที่แต่งตัวจัด แต่งตัวเก่งก็ใส่ ใส่แล้วดูเท่ สวย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวไลลาเองก็ได้รับความสนใจจากการที่ดารานำไปใส่ ผู้ใช้คนอื่นๆ รู้จักไลลาจาก Instagram ของดารา ไม่ใช่เพียงแต่แค่ดาราไทย แต่ไอดอลชาวไทยที่ไปโด่งดังที่เกาหลีอย่าง ‘ลิซ่า’ สมาชิกวง Black Pink ก็ถูกแชะรูปใส่ไลลาก่อนออกจากสนามบินสุวรรณภูมิด้วย

ดูเผินๆ แล้วหลายคนอาจมองว่าเครื่องรางร้อยลูกปัดเป็นเพียงแค่เทรนด์แฟชั่นใหม่ ที่มาเร็ว ไปเร็วเท่านั้น แต่คำตอบของพนักงานคลินิกความงามวัย 32 พิสูจน์ว่ามันไม่ใช่แค่นั้นเสมอไป

“เราไปรับจากคนรู้จักมาอีกที ซึ่งคนรู้จักเนี่ยไปรับจากมือพระที่เชียงใหม่เลยนะ เราไม่เคยมองว่ามันเป็นแฟชั่นหรือแค่เทรนด์ เพราะเวลาขออะไรก็มักจะได้ตามที่ขอจริงๆ”

ขณะที่พนักงานออฟฟิศอายุ 36 ปี เชื่อว่าไลลาเป็นการผสมกันของทั้งความเชื่อและแฟชั่น “เครื่องรางเหล่านี้มันมีมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ไลลาดีตรงที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้มันขึ้นมาได้ ก็เท่านั้นเอง”

สำหรับบางคน ก็ชอบไลลาเพราะสามารถตกแต่ง เลือกหิน เลือกลูกปัดให้กับตะกรุดได้เอง มองเป็นเพียงแค่เครื่องประดับ พอมีดราม่าเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จำนวนผู้บูชาจะลดลง อย่างไรก็ตาม หลายคนยังเลือกที่จะเก็บรักษาไว้

จากการพูดคุยกับผู้ใช้ บางคนก็นำไปเก็บไว้ที่หัวเตียงแทน บางคนก็มองว่าดราม่าไม่ใช่ปัญหาที่ติดค้างอะไร เพราะเข้าใจว่ามันก็เป็นโลกธุรกิจ โลกการค้า ส่วนบางคนก็เลิกใส่ไปเลย แต่ไม่กล้าที่จะปล่อย ส่งต่อ หรือขายต่อไลลา เพราะก่อนที่ผู้บูชาจะสามารถส่งต่อได้อย่างสบายใจจริงๆ ต้องท่องคาถาปล่อยตะกรุดเสียก่อน

“ที่ไม่ปล่อยเนี่ย ไม่ใช่ว่าไม่เชื่อว่าคาถาปล่อยจะไม่ได้ผล แต่เราก็กลัว กลัวจะมีคนเอาโชค เอาดวงเราไปใช้ต่อ ยิ่งถ้ามีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นกับเราขึ้นมา เราก็คอยแต่จะไปโทษว่าเพราะส่งมูต่อแน่ๆ” ว่าที่ทันตแพทย์หญิงอายุย่าง 25 ปีให้เหตุผลการเลือกที่จะเก็บไลลาไว้

 

 

ไลลา กับ ความรัก

 

ลูกค้าไลลาหลายคนมีตะกรุดครบทุกเรื่อง เลือกบูชาตามโอกาสและสถานการณ์ที่เหมาะสมต่อตะกรุดนั้นๆ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ของไลลาจะอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี และเป็นช่วงวัยที่สนใจในเรื่องความรัก หลายคนตั้งคำถามว่าจะเจอเนื้อคู่เมื่อไหร่ แล้วคู่ที่คบกันอยู่นั้นคือคนที่ใช่ไหม เขาแอบมีคนอื่นอยู่หรือเปล่า ดังนั้นเครื่องรางของไลลาที่ครอบคลุมแทบทุกด้านของชีวิต แน่นอนว่าจะขาดด้านของความรักไปไม่ได้ ตัวตะกรุดเรื่องความรักที่ได้รับความนิยมมาก คือตะกรุดจูงนาง นะอกแตก, ตะกรุดจูงนางเข้าห้องข้ามธรณีประตู, ตะกรุดเสกตัณหา, ตะกรุดร้อยชู้, ตะกรุดโคยเคียวร่านสวาท, ตะกรุดนะป่วนจิต

พนักงานออฟฟิศวัย 31 ปี เล่าว่า “มันก็ช่วยเสริมความมั่นใจให้เรานะ เวลาไปทำงาน ก็ใส่เรื่องงาน เวลาไปเที่ยว ก็เปลี่ยนมาใส่เรื่องรัก อย่างเรื่องความรัก แรกๆ เราก็รู้สึกว่าเวิร์ค หลังๆ รู้สึกเฉยๆ แล้ว ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไม่ค่อยได้สวดแล้วหรือเปล่า”

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะกล้าใส่ตะกรุดเรื่องความรัก

“ไม่กล้าใส่เรื่องความรัก เพราะเห็นคนรู้จักบางคนใส่แล้วก็แรงไป ต้องมีเรื่องให้ทะเลาะกับเพื่อน หลายคนบอกว่าพอใส่ ต้องเจอเรื่องร้ายๆ ก่อน ถึงจะมีเรื่องดีๆ เข้ามาด้วยซ้ำ ก็เลยคิดว่ามันแรงไป” คำบอกเล่าจากนักศึกษาวัย 20 ปี

สิ่งที่น่าสนใจคือ ไลลาไม่เหมือนกับการดูดวงที่เป็นการถามถึงอนาคต แต่เป็นเครื่องมือที่บอกว่า การใส่และบูชาสิ่งนี้ จะทำให้มีคนเข้ามาในชีวิต คำถามที่เกิดขึ้นคือการที่มีเครื่องรางเช่นนี้ มีส่วนให้ผู้หญิงต้องการความรักมากขึ้นไหม คำตอบที่ได้รับจากฟรีแลนซ์นักแสดงสาววัย 20 ปีคือ “เหมือนมีตัวช่วยเพิ่มเข้ามาไง จากที่ต้องเต๊าะ ต้องอ่อยอย่างเดียว มันก็มีอย่างอื่นเข้ามาช่วยด้วย”

เมื่อลองสอบถามว่าทำไมผู้หญิงถึงต้องการเครื่องรางเรื่องความรัก ความสัมพันธ์คือเรื่องระหว่างคนสองคน หรือจำเป็นต้องมีเครื่องรางและตัวช่วยเข้ามาเกี่ยวด้วย นักศึกษาคณะทันตแพทย์วัย 25 ปี ให้คำตอบว่า มันเป็นการเปลี่ยนจากอะไรที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น “ความอยากมีอยากได้พวกนี้ มันกลายมาเป็นอะไรที่มองเห็นตรงข้อมือทุกวัน เหมือนเป็นการบอกว่า เออ พร้อมแล้วแหละ อยากมีแล้วจริงๆ”

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ที่ไม่เห็นด้วยก็แย้งกลับมาว่า “มันไม่ได้เกี่ยวกับไลลาหรอก ผู้หญิงอยากมีความรักเองมากกว่าเลยไปซื้อไลลา ไม่ใช่ไลลาสนับสนุนให้ผู้หญิงอยากมี” นักศึกษาวัย 20 ปีกล่าว

จริงอยู่ที่ยุคสมัยนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว คือยุคที่ผู้หญิงที่เข้าไปจีบผู้ชายก่อนจะถูกมองไม่ดี แต่ผู้หญิงบางส่วนก็ยังเคอะเขินและไม่กล้าพอที่จะเข้าหาผู้ชาย การได้สวมใส่ไลลาอาจเพิ่มความมั่นใจเล็กๆ น้อยๆ หรือเป็นการบอกตัวเองว่าเราพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นกับใครสักคนหนึ่ง

ไลลาไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มคนที่โสดเท่านั้น ตะกรุดสำหรับคนที่มีคู่ก็มีเช่นกัน หลายๆ ตะกรุดมีจุดประสงค์ที่จะทำให้แฟนรัก แฟนหลง ทะเลาะกันน้อยลงได้ ถึงกระนั้นแล้ว ผลลัพธ์ไม่จำเป็นว่าจะต้องออกมาเช่นนั้นเสมอไป เช่นกรณีของเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าวัย 26 ปี

“หลังจากใส่ตะกรุดตัวนี้ กลับทะเลาะกับแฟนหนักขึ้น ทั้งๆ ที่ปกติไม่หนักขนาดนี้ เลยตัดสินใจเลิกใส่ตะกรุดตัวนี้ไป แล้วใส่เรื่องอื่นๆ แทน พอมานั่งคิดๆ ดูแล้ว การใส่เนี่ย ทำให้เราจดจ่อกับเขามากขึ้น เก็บดีเทลมากขึ้น จนมันเป็นปัญหา”

 

 

สาวไลลา กับความเชื่อรูปแบบอื่น

 

ก่อนที่ไลลาจะเริ่มได้รับความนิยม การเป็น ‘สายมู’ ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว บรรดาสาวๆ ไลลาทุกคนล้วนเคยเชื่อหรือเคยลองอย่างอื่นมาก่อน โดยส่วนมากจะชื่นชอบการดูดวงเป็นพิเศษ เพราะชอบฟังเวลาหมอดูพูดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีต หรือแม้แต่ทำนายอนาคตได้

นักศึกษาวัย 20 ที่ใช้ไลลา ให้เหตุผลในการดูดวงว่า “ชอบดูดวง เพราะชอบไปฟังเวลาเขาพูดถึงอนาคต ฟังแล้วกลับมาก็สบายใจขึ้นอย่างบอกไม่ถูก”

นอกจากดูดวง สาวๆ ไลลาบางคนก็เคยเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เป็นเบอร์มงคล เคยไปไหว้พระขอพรเรื่องความรักตามวัดต่างๆ ในต่างประเทศมาแล้ว “เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ก็ทำ ไปวัดก็ไป ทำมาหมด แต่อย่างดูดวงก็ดูเรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยบ่อย ปีละ 1-2 ครั้ง” พนักงานออฟฟิศอายุ 36 ปีกล่าว

คำตอบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงให้ความสนใจไม่น้อยกับศาสตร์ความเชื่อ สถิตินับไม่ถ้วนก็บอกเล่าเป็นเสียงเดียวกัน เช่นในปี 2009 Pew Research Center Poll เผยว่า 1 ใน 4 ของคนอเมริกาชอบดูดวง และผู้หญิงมีโอกาสเป็นสองเท่าของผู้ชายที่จะพูดคุยกับหมอดูและซื้อสิ่งของเสริมดวง หรือผลสำรวจจาก The American Religious Identification Survey ในปี 2014 สรุปว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะยึดติดและประกอบพิธีกรรมทางด้านศาสนามากกว่าผู้ชาย

ไม่เพียงแต่แค่ในอเมริกาเท่านั้น หนังสือ Oxford Handbook of Atheism ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2013 ก็พบว่าผู้ชายในยูเครน, โปรตุเกส, อุรุกวัย, ญี่ปุ่น, อิสราเอล, เม็กซิโก, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายๆ ประเทศ มักจะไม่เชื่อในศาสนาและไสยศาสตร์ต่างๆ

ทำไมผลลัพธ์ถึงเป็นเช่นนี้ อาจยากที่จะตอบหรือด่วนสรุป เพราะศาสตร์นี้กว้างขวางมาก ผู้หญิงแต่ละคนย่อมมีความเชื่อและมีแนวทางที่จะเลือกบูชาไม่ซ้ำกัน อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยบางชิ้นที่วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ เช่น Phil Zuckerman นักเขียนด้านจิตวิทยาและอาจารย์จาก Pitzer College รัฐแคลิฟอร์เนีย ในอเมริกา ที่เชื่อว่านี่เป็นผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจาก ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ (Male Dominated Power Society)

เมื่อผู้ชายส่วนใหญ่มีอำนาจมากกว่าผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นทางทรัพย์สินเงินทอง เศรษฐกิจ หรือการเมือง ผู้หญิงอาจรู้สึกถึงการถูกแบ่งแยกและถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยความรู้สึกเหล่านี้จะนำไปสู่การหาที่พึ่งพาทางจิตใจ นอกจากนั้น หน้าที่ทางสังคมที่ต่างกันก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน ผู้ชายจำนวนมากได้รับโอกาสมากกว่าในการเลือกงาน ขณะที่ผู้หญิงยังคงเป็นแม่บ้านหรือเลือกทำงานอยู่ที่บ้าน

ตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา จำนวนตัวเลขของแม่บ้านค่อนข้างไม่แน่นอนและขึ้นลงตลอดเวลา แต่ถ้านับแค่ช่วงปี 2018 ที่ผ่านมา พบว่าผู้หญิงทำงานที่บ้านมีจำนวนสูงถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าปี 1999 ถึง 6 เปอร์เซ็นต์  Phil กล่าวว่าการทำงานนอกบ้านและในบ้านส่งผลต่อเรื่องความเชื่อของผู้หญิง โดยอ้างถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเยอะที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ผู้หญิงให้ความสนใจด้านความเชื่อน้อยที่สุด

ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่อาจเป็นเพียงงานวิจัยส่วนเดียว ที่ยังไม่สามารถตัดสินอะไรได้ทั้งหมด ท้ายที่สุดแล้วเหตุผลที่ผู้หญิงหลงใหลในพลังที่จับต้องไม่ได้เหล่านี้ อาจลึกลับพอๆ กับตัวคาถาทั้งหมดทั้งมวล

 

เทรนด์แฟชั่น หรือ ของขลังแต่โบราณ

 

เครื่องรางสายมูอยู่คู่กับไสยศาสตร์ที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์มายาวนาน คนไทยเชื่อในเรื่องของผีและพราหมณ์มาโดยตลอด และได้นำมาพัฒนาต่อร่วมกับศาสนาหรือวัฒนธรรมภายหลัง จนเกิดเป็นเวทย์มนตร์คาถาต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น คาถาสายดำ เสกหนังควายเข้าท้อง ปล่อยหุ่นขี้ผึ้งไปทำร้าย หรือคาถาสายขาว ใช้เรียกหาเมตตามหานิยม

นอกจากคาถาเหล่านี้ ไสยศาสตร์ยังมีพัฒนาการอย่างแพร่หลาย กลายเป็นทั้งเครื่องราง ของขลัง สายสิญจน์ และตะกรุด การที่ไลลาถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นผู้คนหันกลับมาให้ความสนใจกับเครื่องรางของขลังมากขึ้น จากการทำ branding หรือ design ต่างๆ ที่กลายเป็นเครื่องประดับ การนำตะกรุดมาร้อยเป็นทั้งสร้อยและกำไล ช่วยเพิ่มความทันสมัยให้กับเครื่องราง ตะกรุดหรือความเชื่อจึงไม่ได้ติดอยู่แค่ในวัดอีกต่อไป แต่กลับเข้าถึงวัยรุ่นได้ง่ายดายขึ้น ด้วยการกระจายตัวอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าออนไลน์ผ่านทาง Instagram

ในช่วงเวลาหนึ่ง เครื่องรางของขลังอาจถูกมองว่าเป็นอะไรที่น่ากลัว จับต้องไม่ได้ หรือแม้แต่ ‘เชย’ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีส่วนผลักดันให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะใส่และเชื่อในศาสตร์เหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ทำให้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นควบคู่ไปด้วย

หลายคนบอกว่า เรื่องไสยศาสตร์เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เชย งมงาย ไร้การศึกษา แต่พอคิดดูดีๆ แล้ว สิ่ง ‘ลี้ลับและพลังวิเศษ’ เป็นที่สนใจของทุกเพศ ชนชั้น และระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ‘แฟชั่น’ หรือ ‘ความเชื่อ’ แต่ปรากฏการณ์มูเตลูก็ชวนให้เราต้องขบคิดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอยู่ในหลายมิติเลยทีเดียว

 


 

อ้างอิง

https://mashable.com/2014/12/06/astrology-women/

https://medium.com/the-establishment/the-real-reason-women-love-witches-647d48517f66

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-secular-life/201409/why-are-women-more-religious-men

https://www.verywellfamily.com/research-stay-at-home-moms-4047911

https://www.youtube.com/watch?v=ZjgIN9KeNTM

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save