fbpx
อัยการในร่มเงา คสช.

อัยการในร่มเงา คสช.

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในความอิ่มหมีพีมันร่วมกับองค์กรอิสระ

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (หรือ สนช. อันมาจากการแต่งตั้งของ คสช.) นอกจากผ่านกฎหมายซึ่งขึ้นเงินเดือนกับบุคลากรในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ แล้ว ก็ยังได้มีการผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนให้กับบุคลากรในองค์กรอัยการด้วยเช่นกัน

โดยตามกฎหมายเดิมเมื่อ พ.ศ. 2558 อัยการสูงสุดได้รับเงินเดือน 73,240 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวมเป็น 115,740 บาทต่อเดือน แต่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการที่ผ่าน สนช. ทำให้อัยการสูงสุด ได้รับเงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวมได้รับ 131,920 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าในอัยการสูงสุดได้รับเงินเดือนเพิ่มจากเดิม 16,180 บาท หรือคิดเป็นการขึ้นเพดานเงินเดือนจำนวน 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องถือว่าเป็นการปรับขึ้นในจำนวนที่ไม่น้อยเลย

รวมทั้งกฎหมายกำหนดให้ประธานและกรรมการองค์กรอิสระ รวมทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงอัยการสูงสุดได้รับเงินเดือน ‘ย้อนหลัง’ จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 อันถือเป็นการขึ้นเงินเดือนให้กับองค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นโดยองค์กรที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง และอยู่ในห้วงเวลาที่การปกครองอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าเงินทั้งหมดมิใช่เป็นเงินส่วนตัวของ คสช. หรือ สนช. แต่อย่างใด

ในระยะเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แทบทุกครั้งที่มีการขึ้นเงินให้กับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ อัยการก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลพลอยได้ด้วยเช่นกัน ภายใต้เหตุผลที่คล้ายคลึงกันว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมจึงควรมีผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างจากองค์กรอื่นซึ่งก็คือศาล รวมถึงเพื่อให้อัยการสามารถมีความเป็นอิสระและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยจำนวนเงินเดือนในระดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการอื่นๆ จึงย่อมเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนย่อมคาดหวังต่อประสิทธิภาพในการทำงานของอัยการในระดับที่สูงด้วยเช่นกัน เพราะเงินเดือนทั้งหมดมาจากภาษีของประชาชน

 

ทนายของรัฐบาล หรือผู้อำนวยความยุติธรรมแก่สังคม

 

“เราไม่ได้ปล่อยปละละเลยแน่นอน คดีนี้ที่เราไม่ได้ตัวมาฟ้องจนหมดอายุความ ก็จะมีสุภรณ์กับจักรภพ ที่หนีไปต่างประเทศ การไปตามจับก็ไม่ใช่หน้าที่อัยการ แต่เราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง” [1]

ข่าวของ ‘แรมโบ้อีสาน’ หรือนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลุดจากการถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นแกนนำ ‘เสื้อแดง’ บุกการประชุมอาเซียนที่พัทยาเมื่อ พ.ศ. 2552 เนื่องจากทางอัยการไม่สามารถนำตัวนายสุภรณ์ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จนกระทั่งคดีของเขาหมดอายุความลงในวันที่ 11 เมษายน 2562 ขณะที่แกนนำ ‘เสื้อแดง’ (ที่ไม่ได้ย้ายค่าย) ร่วมเหตุการณ์คนอื่นๆ ต่างถูกดำเนินคดีอย่างถ้วนหน้า ปรากฏการณ์นี้ได้สร้างความเคลือบแคลงว่าอาจเป็นเหตุผลมาจากปัจจัยทางการเมือง และได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

กรณีการรอดพ้นจากคดีของแรมโบ้อีสาน อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการนั้นไม่ได้มีความเป็นอิสระหรือเป็นกลางในทางการเมือง ข้อสงสัยดังกล่าวจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม คงเป็นสิ่งที่ต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์ถึงความจริงกันต่อไปว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดปรากฏการณ์หลุดรอดคดีของบุคคลบางคนในคดีอาญาได้อย่างง่ายดาย และการหลุดรอดในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นโดยไม่ได้สัมพันธ์กับปัจจัยทางการเมืองใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยทางอ้อมกับข้อพิพาททางกฎหมายในหลายคดี ผู้เขียนได้เห็นการทำหน้าที่ของอัยการอันนำมาซึ่งคำถามว่าอัยการในสังคมไทยมีบทบาทในฐานะของทนายของรัฐบาลหรือผู้อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนกันแน่

ในห้วงระยะเวลานับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินคดีกับประชาชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและบุคคลที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะประเด็นปัญหาทางการเมืองโดยตรง หรือไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับอำนาจรัฐในห้วงเวลานี้เท่านั้น มีผู้คนถูกดำเนินคดีด้วยการใช้กฎหมายหลายฉบับเป็นเครื่องมือเป็นจำนวนมาก

ผู้เขียนได้ไปร่วมเป็นพยานในคดีที่ผู้หญิง 7 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด คัดค้านเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดเลย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาละเมิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ จากการเข้าร่วมการนั่งประท้วงบริเวณด้านนอกที่ทำการ อบต. ภายหลังจากการเข้าร่วมประชุมและทางหน่วยงานได้ยกเลิกการประชุมอย่างกะทันหัน ต่อมามีการดำเนินคดีกับกลุ่มดังกล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่าการชุมนุมสาธารณะไม่รวมถึง “การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย …” [2]

จะเห็นได้ว่าในกรณีปัญหาในคดีดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การนั่งประท้วงของกลุ่มคนรักบ้านเกิดมาจากการชุมนุมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ทางอัยการก็ได้สั่งฟ้องคดีอันเป็นเหตุให้ทั้ง 7 คน ตกเป็นจำเลยและต้องใช้เวลาในกระบวนการในชั้นศาลเป็นระยะเวลาข้ามปี ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งหมดเมื่อเดือนเมษายน 2561 [3]

แม้ว่าในท้ายที่สุด ศาลจะได้มีคำตัดสินให้ยกฟ้องอันถือได้ว่ากลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้ไม่ใช่ข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำเฉกเช่นอัยการ การถูกดำเนินคดีมีภาระจำนวนมากที่ต้องแบกรับไว้บนไหล่ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การเสียเวลาจากการงาน ชื่อเสียงที่ต้องถูกกระทบ เป็นต้น

การปล่อยให้คดีทั้งหมดต้องไปถูกตัดสินในชั้นศาลโดยไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองอย่างรอบคอบ จึงไม่ใช่เพียงการทำให้คดีรกโรงรกศาลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น

เป็นที่น่าสังเกตว่าภายใต้ห้วงเวลานับจากการรัฐประหารเป็นต้นมา มีคดีอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลทั้งที่หากพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว มีหลายคดีที่ยากจะเป็นความผิดในทางกฎหมายแต่ทั้งหมดก็ถูกโยนไปให้ถูกตัดสินในชั้นศาล ลองนึกถึงคดียืนเฉยๆ, คดีแจกแผ่นพับเผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ, คดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เป็นต้น ตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของภูเขาน้ำแข็งที่ดำรงอยู่และรับรู้กันอย่างกว้างขวางในสังคมแห่งนี้

ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากระทั่งกลายเป็นความเข้าใจว่าการสั่งคดีของอัยการนั้น แม้พิจารณาแล้วผู้ต้องสงสัยมีโอกาสที่จะไม่ได้มีความผิดจริงตามข้อกล่าวหา แต่ก็เป็นเรื่องที่บุคคลดังกล่าวจะต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาลเอาเอง ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่ คสช. เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อัยการไม่ได้มีหน้าที่ใดๆ เกี่ยวข้องในส่วนนี้แม้แต่น้อย

นี่คือการอำนวยความยุติธรรมแบบไทยๆ ในมุมมองของอัยการ ใช่หรือไม่

 

อัยการในอุดมคติ และโลกของความเป็นจริง

 

พนักงานอัยการในอุดมคติของระบบกฎหมายเป็นอย่างไร

อัยการถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 [4] การก่อตั้งองค์กรนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมก่อนหน้าการปฏิวัติ โดยในห้วงเวลาก่อนหน้านี้อำนาจในการสอบสวน ฟ้องร้องและตัดสินอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรเพียงองค์กรเดียว ซึ่งทำให้เกิดการใช้อำนาจอย่างปราศจากหลักเกณฑ์และลงโทษบุคคลอย่างอยุติธรรม

ความเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศสได้นำมาสู่การแยกองค์กรตุลาการให้ทำหน้าที่ในการตัดสินชี้ขาดคดีออกจากองค์กรที่ทำหน้าที่สอบสวนและฟ้องร้อง และก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรอัยการขึ้นโดยมีลักษณะเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ และทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในฝ่ายบริหารก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล แม้จะอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารแต่ก็ได้มีการสร้างหลักประกันความเป็นอิสระเพื่อที่จะทำให้อัยการสามารถทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม โดยปราศจากการแทรกแซงหรือกดดันจากฝ่ายบริหาร

ในการพร่ำสอนตามตำราถึงบทบาทหน้าที่ของอัยการ จึงมักจะกล่าวถึงภาระหน้าที่ไว้ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1. การอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา 2. การรักษาผลประโยชน์ของรัฐ 3. การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันว่าอัยการไม่ใช่ทนายของรัฐหรือแม้กระทั่งทนายของรัฐบาล การอำนวยความยุติธรรมมีความหมายว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการต้องเป็นไปเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทางอาญา เฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา

หากเป็นไปตามระบบดังกล่าว ก็ย่อมหมายความว่าหากมีการกล่าวหาต่อบุคคล ทางอัยการก็จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและวินิจฉัยด้วยหลักวิชาที่ตรงไปตรงมาว่ากรณีดังกล่าวมีเหตุผลที่ควรจะสั่งฟ้องต่อไปในชั้นศาลหรือไม่ ในกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือยังไม่ได้เป็นความผิดทางกฎหมาย อัยการก็สามารถที่จะสั่งยุติคดีได้ การสั่งยุติคดีอันสืบเนื่องมาจากเหตุผลเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้

แต่อัยการของไทยทำหน้าที่อย่างไรในโลกของความเป็นจริง ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะในฐานะของนักวิชาการอาวุโสเท่านั้น แต่ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดมาก่อน ย่อมจะช่วยสะท้อนภาพความเป็นจริงของทั้งกระบวนการยุติธรรมและอัยการได้เป็นอย่างดี

“กระบวนการยุติธรรมของเรามีความแย่ 3 อย่าง คือ 1. ทำงานสบายๆ ไม่ทำให้มันถูกหลัก ไม่ทำให้มีความเป็นภววิสัยจริง เช่น การสอบสวน เขาให้สอบสวนทั้งที่เป็นผลดีและผลร้าย แต่เราทำแต่ส่วนหลัง บางทีสำนวนไม่สมบูรณ์ อัยการก็ฟ้องไปแล้ว ศาลเองก็ไม่ active (กระตือรือร้น) ในการทำงาน ก็ passive (วางเฉย) 2. ทำงานแบบกลัว โดยเฉพาะกลัวการเมือง ถ้ากระบวนการยุติธรรมกลัวการเมืองก็จบเลย 3. ทำงานแบบประจบประแจง นี่คือคนในกระบวนการยุติธรรม” [5]

ข้อสังเกตบางประการต่อความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการยุติธรรมนี้ได้บังเกิดขึ้นในห้วงเวลาก่อนการรัฐประหาร (ความเห็นนี้เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2555) อันชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไว้อย่างสำคัญ และหากมาพิจารณาบทบาทของอัยการนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา คำถามที่ชวนให้ขบคิดก็คือ อัยการพลิกเปลี่ยนกลับมาทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการยืนเป็นเสาหลักในกระบวนการยุติธรรม หรือว่าเพียงเพื่อให้รอดพ้นจากอำนาจรัฐประหารไปวันๆ

คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ก็คงเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดอยู่จากปรากฏการณ์ที่เห็นกันอย่างตำตาโดยที่ผู้เขียนไม่ต้องสรุปให้เสียเวลาแต่อย่างใด

 

 


อ้างอิง 

[1] นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

[2] พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 3 (5)

[3] ศาลพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 ข้อหา โดยเหตุผลที่ศาลยกฟ้องนั้น เนื่องจากศาลมองว่าในวันนั้นที่ อบต. เขาหลวง จัดให้มีการประชุมสภาและเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมรับฟัง การที่ อบต. จัดการประชุมและเชิญชาวบ้านเข้าไปร่วมรับฟังนั้น ศาลมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมขึ้น แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปร่วมรับฟังการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยทางราชการ โดยการประชุมของ อบต. นั้นเป็นการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งใน พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ ไม่ใช้บังคับแก่การประชุมในลักษณะอย่างนี้

[4] กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, กระบวนการยุติธรรมบนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2541) หน้า 215

[5] คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด 16 พฤษภาคม 2556 ใน “คณิต ณ นคร” ยุ “อัยการ” ถอนฟ้องม็อบ ใช้ “ยุติธรรม” ต้านปฏิวัติ

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save