fbpx
โลกของคนนอนไม่หลับ

โลกของคนนอนไม่หลับ

ชลธร วงศ์รัศมี  เรื่อง

โลกของคุณเป็นอย่างไร ? หลับเต็มอิ่ม ตื่นเช้ามาสดชื่นแจ่มใส กินอาหารสดใหม่ดีต่อสุขภาพ เดินทางไปที่ทำงานเหรอ ชิลๆ เดี๋ยวก็ถึงแล้ว งานที่ทำไม่เครียดเล้ย (เสียงสูง) มีความสุขที่สุด เลิกงานสี่โมงเย็น ไปวิ่งรับแดดอ่อนๆ เสียหน่อย หรือไม่ก็เข้าฟิตเนส กินอาหารเย็นก่อนค่ำ จากนั้นเข้านอนสองทุ่ม

หากชีวิตช่างแสนดีต่อคุณขนาดนี้ เราอยากชวนคุณมารู้จักโลกของใครหลายๆ คนที่อาจไม่ละมุนใจขนาดนั้น แต่หากคุณบอกว่า เป๊ะเลย! นี่ชีวิตข้า คุณยิ่งควรรู้จักเพื่อนของคุณเหล่านี้ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตตรงข้ามกับสิ่งที่พูดมาข้างต้นแทบทุกข้อ และสิ่งที่พวกเขาได้แถมมา คืออาการนอนไม่หลับ

ไล่ไปตั้งแต่เลเวลเบาๆ นอนไม่หลับเพราะกังวลใจเป็นพักๆ แล้วหายไป จนถึงนอนไม่หลับแบบฮาร์ดคอร์สูงสุด เห็นภาพสามมิติ กินยา 200 เม็ด

ไม่ว่าใครก็คงอยากนอนให้ได้เท่าที่ใจปรารถนา แต่โลกนี้ไม่อนุญาตให้เราทำตามใจตัวเองได้ขนาดนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะข้ามพ้น จัดสมดุลในชีวิต หรือหยุดตัวเองที่ขั้นไหน

101 ขอเปิดโลกของคนธรรมดา 4 คนที่มีการนอนไม่หลับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเขาเข้าสู่วงการนอนน้อยได้อย่างไร เอาตัวรอดในโลกที่กลางคืนไม่มีความหมายด้วยวิธีไหน และเจ็บปวดกับการนอนไม่หลับจนตกตะกอนเป็นข้อวิพากษ์ต่อสังคมอย่างไร เราได้เรียบเรียงประสบการณ์ของพวกเขาเป็น 31 ข้อ ที่ชวนคุณอ่านและตอบคำถามตัวเองว่ามีสักข้อไหม ที่ครั้งหนึ่งคุณก็เคยผ่านมาแล้ว

 

รุ่งฤทธิ์ ผู้ท้าทายนาฬิกาชีวภาพ

รุ่งฤทธิ์ ผู้ท้าทายนาฬิกาชีวภาพ ถึก สัตว์กลางคืน

1. ผมเป็นสัตว์กลางคืน (Nocturnal Animal)

ผมเป็นคนนอนน้อยมาตลอดอยู่แล้ว ถ้าเป็นเพื่อนๆ จะบอกว่าผมนอนน้อยตั้งแต่มัธยม ถ้าเป็นแม่จะบอกว่าตั้งแต่เด็กผมนอนได้แค่ครึ่งหนึ่งของเด็กทั่วๆ ไป แต่ตอนเด็กถึงชั่วโมงนอนน้อย ผมว่ายังเป็นการนอนคุณภาพดี พอโตขึ้น จำนวนไม่ดี คุณภาพก็แย่

ชินกับการใช้ชีวิตกลางคืนมากกว่ากลางวันด้วย ช่วงเรียนสถาปัตย์ฯ ปีท้ายๆ ต้องเขียนแบบ ทำโมเดลตลอด นอนตี 5 พอ 7 โมงเช้าวิ่งไปส่งงาน กับช่วงเรียนจบมาใหม่ๆ ใช้ชีวิตกลางคืนเลย ในหนังสือ Why We Sleep จะแบ่งคนเป็นสองแบบ คือ Nocturnal Animal (สัตว์กลางคืน) กับ Morning Lark (นกลาร์กตื่นเช้า) ผมเป็นสัตว์กลางคืนร้อยเปอร์เซ็นต์

ตอนนั้นไม่กระทบอะไรมาก ร่างกายวัยรุ่นทนได้ จนสะสมมานาน ช่วง 4-5  ปีหลังมานี้ อยากนอนแต่นอนไม่หลับ หมอเคยพูดว่าเหมือนร่างกายเราถอดปลั๊กออกไม่หมด มีสายไฟบางเส้นเสียบคาไว้ เหมือนคอมพิวเตอร์ที่กดโหมด sleep เหมือนปิด แต่จริงๆ ยังเปิดอยู่

2. ชายหนุ่มผู้เอาลงได้ยาก

ผมกดยามาทั้งโรงพยาบาลแล้ว เคยใช้ยานอนหลับหลายตัว ซาแนกซ์เคยทำให้ง่วงแล้วนอนได้ แต่ตอนนี้ซาแนกซ์เอาผมอยู่แค่ 3 ชั่วโมง หมอเลยจัดยาที่ออกฤทธิ์ค้างนานกว่านั้นให้ บางตัวฤทธิ์ยายาวถึงอีกวัน ทำให้ทำงานไม่ได้ หรือรู้สึกมึนๆ ตอนเช้า เดินแล้วเซล้มก็มี

ตอนนี้ยังไม่เจอยาที่ลงตัวเสียทีเดียว เพราะเช้าๆ ตื่นขึ้นมายังมีอาการหัวทิ่มอยู่บ้าง เหมือนจิตใต้สำนึกอยากตื่นแต่ร่างกายถูกเคมีกดไว้ไม่ให้ตื่น ผมเลยลุกขึ้นมานั่งหลับแบบมึนๆ เคยเดินไปโต๊ะกินข้าว หยิบขนมปัง แล้วนั่งหลับ พอสะดุ้งตื่นก็ ฮะ! เกิดอะไรขึ้นเหรอ แล้วคลานกลับไปนอน พีคสุดคือพบว่าตัวเองยืนอยู่นอกบ้านแล้วสะดุ้งขึ้นมา กูมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไง! ถ้ามีอาการแบบนี้หมอจะเช็กกับเภสัชกรว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือเปล่า อย่างอาการคล้ายๆ ละเมอ หมอบอกว่ามาจากการใช้ยาตัวล่าสุด คนนอนไม่หลับจึงต้องเปลี่ยนยาไปเรื่อยๆ

3. งานไล่ล่าถึงในฝัน

ผมพะวงเรื่องงานหนักมาก เคยเก็บเรื่องงานมาฝัน แต่ฝันว่านั่งทำงานนี่เบาไป เคยฝันว่าเพื่อนทั้งออฟฟิศมาประชุมงานอยู่ในห้องนอน โคตรพีค (หัวเราะ) เคยไปทริปปั่นจักรยานที่อินเดีย อยู่บนภูเขา สัญญาณเน็ตแทบไม่มี ปลอดงาน แต่พอมีสัญญาณเน็ตก็เปิดดูงาน จริงๆ ไม่ได้เป็นห่วงมากหรอก เพราะคนอื่นทำแทนได้ เหมือนจะแยกตั้งแต่แรกแล้วว่ามาเที่ยว แต่ลึกๆ ข้างในไม่ยอมแยก

ผมเป็นคนเครียด เมื่อก่อนเล่นดนตรีคลายเครียดบ้าง แต่ให้เวลากับมันน้อยไป พอไม่ได้เล่นก็เครียดที่ไม่ได้เล่น ไม่ได้ออกกำลังกายก็รู้สึกผิด หมอเคยพูดว่าคุณต้องหัดใช้คำว่าช่างแม่งบ้าง พอมาคิดดู เราช่างแม่งบ้างก็ได้นี่หว่า แต่บางทีก็ช่างแม่งไม่ลง เก็บอะไรไว้เยอะโดยอัตโนมัติ

4. เมื่อลองท้าทายนาฬิกาชีวภาพ

นาฬิกาชีวภาพมีจริง คนทำงานกลางคืน คนทำงานเป็นกะ เช่น พยาบาล สาวโรงงาน ดีเจ ฯลฯ ยังไงก็สุขภาพไม่ดีหรอก เพราะนาฬิกาชีวภาพของร่างกายสัมพันธ์กับแสงอาทิตย์ ต่อให้เราหลบแสง นอนกลางวันแล้วเอาม่านหนาๆ หนักๆ มาปิดไม่ให้แสงลอดเข้ามาแล้วก็ตาม แต่มันเป็นนาฬิกาตายตัวของสิ่งมีชีวิต

ผมเคยฝืน ปกติถ้าอดนอนคืนหนึ่ง วันต่อมาจะหมดแรง ผมมีวิธีช็อตตัวเอง คืออดนอนต่ออีกคืนหนึ่ง เหมือนให้ร่างกายเสียบปลั๊กค้างไว้เลย พอวันที่สามจะเริ่มมีแรง ทำงานได้ แต่พอตกเย็นปุ๊บจะล้มฟึ่บเลยนะ เคยใช้วิธีนี้สมัยเรียน เล่าให้หมอฟัง หมอแทบถีบ เขาบอกว่าเป็นวิธีที่เลวมาก จะทำไปทำไม เพื่อให้ได้ระยะเวลาเพิ่มอีกนิดหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นพัง อีกคืนหนึ่งนี่น็อคเลย ร่างกายคนอยู่แบบนั้นไม่ได้

5. เหตุการณ์ในห้องนอนรวม

หมอจะบอกว่า ถ้าไม่ง่วงอย่าพยายามนอน ไม่อย่างนั้นความคิดความพยายามของเราจะยิ่งทำให้เรานอนไม่หลับ ร่างกายจะยิ่งรวน แล้วสักพักจะบ่นว่า เชี่ย! แม่งไม่หลับสักทีวะ สิ่งที่ถูกต้องคือต้องนอนเพราะง่วง ถึงจะเป็นการนอนที่ดี

ผมเคยไปทริปจักรยานต่างจังหวัด ตอนกลางคืนเพื่อนๆ อยู่กันถึงดึก กินเหล้ากินเบียร์เรียบร้อยทุกคนก็นอนรวมกัน ผมจำเป็นต้องนอน เพราะไม่สามารถเปิดไฟ หรือลุกขึ้นมาทำอย่างอื่นได้ ผมนอนกลิ้งไปกลิ้งมาจนถึงเช้า ไม่ได้นอนเลยแม้แต่นิดเดียว

มีบางสูตรบอกว่าให้กินเหล้ากินเบียร์ พอเมาแล้วอาจช่วยให้หลับได้ แต่กับผมไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ ทำให้ไม่สบายตัวด้วย ไม่เคยเมาแล้วนอนดี

6. โลกไซไฟของเขา

ในเชิงวิทยาศาสตร์ มีภาวะหนึ่งเรียกว่าการนอนไม่พอ (Sleep deprivation) ถ้าสะสมมานานๆ จะทำให้เห็นภาพไม่ชัด ซึ่งผมเป็น

เคยดูภาพสามมิติไหม ที่มีภาพซ้ายขวา แล้วเราต้องทำตาเบลอๆ ถึงเห็นภาพมาซ้อนกัน ภาพที่เราเห็นเบลอประมาณนั้น ตอนขับรถแล้วต้องเปลี่ยนเลนจะลำบากมาก ต้องเพ่ง เพราะตาจะไม่โฟกัส จะคล้ายๆ คนสายตาสั้น แต่ไม่ใช่ ผมลองไปวัดสายตาแล้ว

ผมเคยรู้สึกว่าภาพที่เห็นหยุดนิ่งไปครั้งหนึ่งตรงสี่แยกมาบุญครอง รถทุกคันไปหมดแล้ว เหลือรถผมคันเดียว ผมไม่ได้หลับตา แต่เหมือนทุกอย่างถูกแช่แข็งไว้ จนมอเตอร์ไซค์ข้างหลังบีบแตร

7. ทำเหี้ยอะไรกับกูนักหนาวะ!

ทุกวันนี้ผมออกกำลังกายทุกวันนะ เข้าฟิตเนส เพราะรู้สึกโกรธอาการนอนไม่หลับนี่ล่ะ ว่าทำเหี้ยอะไรกับกูนักหนาวะ! ก็สู้กัน คิดว่าเหนื่อยแล้วจะช่วย มันไม่ช่วยเท่าที่คิด ต้องเหนื่อยกว่านั้นอีก เหมือนต้องทำให้หมดแรงไปเลย

นอนไม่หลับส่งผลต่อชีวิตทุกด้าน ผมชอบคิดว่าเราเคยทำหลายอย่างได้ดีกว่านี้ หมอบอกว่าคุณต้องยอมรับสภาพ ว่าคุณไม่ได้อยู่ในสภาพนักวิ่งเหมือนเดิม เวลาคุณต้องเดิน คุณก็ต้องเดิน คุณต้องรู้ว่าขาคุณเจ็บ คุณจะวิ่งได้ยังไง โอเค เข้าใจ แต่ข้างในมันไม่เข้าใจไง ผมอยากวิ่งได้ในบางจังหวะ พอทำไม่ได้ก็ค่อนข้างมีความชิงชังตัวเองอยู่พอสมควร

 8. 6 และ 8 ชั่วโมงทอง

มีอยู่วันหนึ่งเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมได้นอน 6 ชม. เฮ้ย! ดีว่ะ พอไปถึงออฟฟิศบอกน้องๆ ว่านอนได้ 6 ชม. แล้วนะเว้ย วันนี้เรารู้สึกสดชื่นมากเลย

ผมอยากนอนจะตาย คนมีปัญหานอนไม่พอเขาอยากนอนทั้งนั้นแหละ เป็นเหมือนภารกิจอันสูงสุด เคยมีวันหนึ่งนอนได้ 8 ชม. แล้วโพสต์เฟซบุ๊ก มีคนมายินดีเยอะอยู่ ตอนนั้นนอนได้ช่วงไปทริปจักรยาน นอนเต็นท์ด้วย บังเอิญหลับแฮะ เกิดขึ้นได้ยังไงไม่รู้ ผมคิดว่าเป็นโชค

9. เขวี้ยงทุกอย่างออกจากเตียง

หลักคิดสำคัญของคนมีปัญหาเรื่องการนอน นอกจากจัดห้องนอนให้มีแสง เสียง อุณหภูมิ เหมาะสม คือให้เตียงนอนมีไว้นอนกับมีเซ็กซ์เท่านั้น ห้ามทำอย่างอื่น ซึ่งผมทำหมดทุกอย่าง เอาคอมไปวาง นั่งเล่นมือถือ เล่นเกม อ่านหนังสือ ไอแพดนี่อยู่ใต้หมอน ไปเล่าให้ใครฟัง เขาก็ด่า พี่ก็รู้แล้วพี่ทำทำไม มันอดไม่ได้ที่จะกลิ้งๆ ดูอะไรสักอย่างก่อนนอน

ผมรู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคือต้องเขวี้ยงทุกอย่างออกจากเตียง แต่ผมไม่ทำ มันรู้ แต่มันดื้อ และชอบคิดอะไรออกตอนกลางคืน หาข้อมูลดีๆ ได้ตอนกลางคืน ตอนกลางวันผมทำงาน ไม่มีเวลาดูทวิตเตอร์ข่าวต่างประเทศมาก พอกลางคืนเจอข่าว เจอข้อมูลน่าสนใจปุ๊บก็อ่าน บางทีเจอแล้วสงสัย มันคืออะไรวะ หาลิงก์ต่อ เข้ากูเกิลสิ เชี่ย! วิกิพีเดียมีว่ะ แตกรากเลย ยิ่งกระตุ้นให้ร่างกายไม่ถอดปลั๊ก

ปิดม่านสองชั้นก็แล้ว เหลือแต่ปิดมือถือนี่แหละ เคยเอามือถือไปวางไกลๆ ผมหงุดหงิดจนหยิบมาดูจนได้ มันต้องเลิกดื้อ

สวรรยา กับ นาฬิกา / เช็กลิสต์ / และโปรแกรมคำนวณเกรด

 

สวรรยา กับ นาฬิกา / เช็กลิสต์ / และโปรแกรมคำนวณเกรด

10. นาฬิกาเรืองแสงในห้อง

ปกติเราเป็นคนนอนหลับง่ายมาก หัวถึงหมอนก็หลับ แต่ตอน ม.1 อายุ 13 ปี  ที่บ้านซื้อนาฬิกาดิจิทัลมาใหม่ เป็นนาฬิกาแบบเรืองแสงตอนกลางคืน เราไม่คุ้น เห็นแล้วจะพะวงว่ากี่โมงแล้ว เฮ้ย! นี่ตั้งกี่โมงแล้ว ชั้นยังนอนไม่หลับ ตีห้าก็แล้ว หกโมงแล้ว แล้วเกิดอาการนอนไม่หลับจากความเครียด เพราะตัวเองนอนไม่หลับ เครียดซ้อนเครียด ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอื่นเลย

11. พบจิตแพทย์ตอน ม. 3

ตอนนั้นเราเด็กมาก ม.1 แล้วจะเรียนยังไง จะใช้ชีวิตยังไง เราหลับ 10-15 นาที แล้วตื่นยาว ไปเรียนตอนเช้าแบบสะลึมสะลือ กังวลสุดๆ อยู่เกือบเดือน แล้วหม่าม้าก็พาไปโรงพยาบาล พอหมอบอกว่าเราจะถูกส่งไปแผนกจิตเวชเพื่อพบจิตแพทย์ ความรู้สึกคือ ทำไมชั้นต้องไป (เสียงสูง)

 

12. ปกปิดความจริงกับแพทย์

พอไปหาจิตแพทย์ เขาชวนเราคุยว่าเราเครียดอะไร เราไม่กล้าบอกหมดว่าต้นเหตุมาจากเรื่องนาฬิกา คิดว่าถ้าเล่าไปคิดว่าหมอต้องมองเป็นเรื่องไร้สาระ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรเล่าหรือเปล่า ทั้งที่เราก็คิดว่าเกิดจากสาเหตุนี้  อีกใจหนึ่ง เราคิดว่ามาหาหมอเพื่อให้ได้ยาบางตัวกลับไป เพื่อความสบายใจ หรือเพื่อจะได้ฟังหมอพูดออกจากปากหมอว่าเราไม่ได้เป็นอะไร เราปกติดี เหมือนอยากได้ผลทางใจมากกว่า เลยไม่พูดออกไป

 

13. ตัดสินใจเลิกยา

หมอจ่ายยามา เป็นยาคลายเครียด เม็ดเล็กๆ ฤทธิ์อ่อนหน่อย กินอยู่โดสหนึ่ง ประมาณสัปดาห์เดียว ครบโดสแล้วยังไม่ดีขึ้น แถมหนักกว่าเดิมเพราะเราต้องพึ่งยาแล้ว เราคิดว่าเราไม่ควรอยู่ได้ด้วยยา ถ้าพึ่งยาเราก็ต้องเพิ่มขนาดขึ้นไปเรื่อยๆ โตไปเราน่าจะลำบาก เลยตัดสินใจไม่ไปหาหมอแล้วหยุดยา มาตีแบด 3 ชม. ต่อวัน ทำตัวให้เหนื่อยที่สุดเพื่อให้หลับ แล้วอาการนอนไม่หลับในวัยเด็กหายไป

 

14. โปรแกรมคำนวนเกรด

อาการนอนไม่หลับกลับมาอีกครั้ง ตอนเรียนปี 3  ตอนนั้นมีวิชาเขียนข่าว เราได้คะแนนเปเปอร์แรกด้วยคะแนนติดลบสูงที่สุดในห้อง เราจับต้นชนปลายกับการเขียนข่าวยังไม่ถูก เลยเครียดว่าต้องทำได้เท่าไหร่ถึงจะผ่านเกณฑ์ ต้องทำรายงานเพิ่มไหม เสี่ยงว่าจะได้ F ไหม คิดไปถึงตารางเรียนตอนปีสี่ ว่าถ้าไม่ผ่านจริงๆ จะมีแผนสำรองอย่างไร ที่มหาวิทยาลัยมีโปรแกรมคำนวนเกรดว่าเราควรได้เกรดแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่ เพื่อตอนจบเราจะได้เกรด 3 ขึ้นไป พอเรามีธงไว้แล้วว่าจะทำอะไร จะทำให้ได้แบบไหน เกิดจุดพลิกผันขึ้นมา เราก็นอนไม่หลับอีกรอบ

15. ความเครียดจากการเรียน

มีนักศึกษาเครียดเรื่องเรียนจนส่งผลต่อการนอนเยอะนะคะ มีทั้งโรคนอนไม่หลับ หรือบางคนนอนไม่หลับประมาณหนึ่งเดือน หรือหนึ่งสัปดาห์ อย่างกรณีเราเพื่อนบอกว่าไม่ต้องไปคิด เดี๋ยวก็ผ่านไป แต่แกไม่ได้มาเป็นชั้นนี่ (หัวเราะ) อาจารย์พูดเหมือนเพื่อนว่าเอ็งจะไปคิดอะไร แค่เรียนใหม่ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้นี่ ทรานสคริปต์ต้องไม่มี F สิ เราเครียดอยู่เกือบเทอม ซึม เศร้า กินข้าวไม่ลง รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ฉันทำอะไรไม่ได้ดีเลยเหรอ ช่วงนั้นจะตื่นตี 2 ตี 3 เป็นประจำ แล้วนอนไม่หลับถึงเช้า เป็นอยู่หนึ่งเทอมเต็มๆ

16. แล้วผลจากความพยายามก็ปรากฏ

วิธีแก้ครั้งนี้เราไม่แตะยาเลย เรากลัวยา เรารู้ว่าถ้าใช้ยาอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าเราจะหลับ แต่อีก 1-2 ปีข้างหน้านับจากนี้เราจะใช้มันอีกเหรอ เราไม่อยากอยู่กับมัน เราใช้วิธีทำกิจกรรมให้เหนื่อย เราอยู่ชมรมจิตอาสา เหมือนเราเปลี่ยนจากตีแบดมาเป็นการทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย  แล้วพอคลุกคลีกับเพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรม ซึ่งเป็นพวกสนุกกับทุกอย่างในชีวิต เราได้ส่วนหนึ่งจากเขา จากที่เราเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ ถ้าเช็กลิสต์ไม่เรียบร้อยนี่ไม่ได้เลย ทำให้มาคิดว่าเราจะเครียดทำไม แล้วเริ่มอ่านข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ เข้าห้องสมุด พยายามฝึกวิธีเขียนข่าวของเราให้ดีขึ้น จนหลังๆ คะแนนดีขึ้น อาการนอนไม่หลับก็หายไป

17. การกลับมาของอาการนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับที่ผ่านมาไม่มีผลกับเรื่องการเรียน กับการทำงานปัจจุบันก็ไม่มี ตอนนี้ทำงานมา 3 ปีแล้วค่ะ แต่มีผลกับคนใกล้ตัวอย่างหม่าม้าที่ต้องคอยมารองรับอารมณ์เหวี่ยงของเรา ตอนเราหงุดหงิดเพราะนอนไม่พอ

อาการนอนไม่หลับมีย้อนกลับมาเรื่อยๆ นะคะ ถ้าช่วงไหนเครียดหรือครุ่นคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องงานที่เรากำหนดมาตรฐานให้ตัวเองค่อนข้างสูง แต่เรากลับมานอนปกติได้ง่ายขึ้น เราฝึกตระหนักรู้ว่าเรานอนไม่หลับนะ เรากำลังเจอภาวะอย่างนี้อยู่ เดี๋ยวนี้นอนไม่หลับติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน อย่างมากที่สุดไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ พอเคลียร์ปัญหาได้จบก็โอเค

 

18. ใช้สูตรหมาจิ้งจอกกับเจ้าชายน้อย

ปีแรกๆ ที่ทำงาน พอห้าโมงครึ่งเพื่อนร่วมงานเลิกงานกลับกัน เราจะนั่งกังวลว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไร บางทีนั่งจนค่ำ บางทีแคร์คนอื่นด้วยว่าฉันกลับเร็วจะเป็นอะไรหรือเปล่า บางทีเอางานกลับมาทำที่บ้าน

ทุกวันนี้ความคาดหวังเรื่องความสมบูรณ์แบบลดลงมาแล้ว ผ่อนคลายมากขึ้น ยอมรับความผิดพลาดได้ คิดว่ามันก็มีโอกาสทำผิดพลาดได้หมดทุกคน งานไหนทำไม่ไหวก็ปฏิเสธ เราปรับตัวกับการทำงานได้มากขึ้น แต่ละวันเราจะดูเช็กลิสต์ ถ้าเช็กแล้วไม่หลุด เอ้า! งานเสร็จแล้วนี่ วันพรุ่งนี้เราก็วางแผนไว้แล้ว กลับได้!

เดี๋ยวนี้พอ 5 โมง เราเริ่มรู้สึกสบาย ผ่อนคลายแล้ว เหมือนในหนังสือเรื่อง เจ้าชายน้อย หมาจิ้งจอกขอให้เจ้าชายน้อยมาพบเวลาเดิมทุกวัน เพื่อที่มันจะได้รู้ว่าจะได้ดีใจเวลาไหน นี่ก็เหมือนกันค่ะ การรู้ว่าเราจะดีใจได้ในช่วงเวลาไหนเป็นเรื่องสำคัญ

นริศรา กับวันหลับดีของฟรีแลนซ์

นริศรา กับวันหลับดีของฟรีแลนซ์

19. วันหลับดีวันล่าสุด

วันที่นอนอิ่มมีน้อยมากเลย จำแทบไม่ได้แล้วว่าวันที่นอนสบาย หลับสนิทเป็นยังไง นอกจากนอนหลับไม่ตรงเวลาแล้ว เวลาหลับจะหลับๆ ตื่นๆ น่าจะเป็นผลมาจากออฟฟิศซินโดรม เพราะพอกล้ามเนื้อตึง เครียด ก็ทำให้เรานอนไม่สบาย

20. เมื่อร่างกายไม่คุ้นชินกับเวลาว่าง

เราเป็นฟรีแลนซ์ จะมีช่วงลูกค้าพรั่งพรูมาพร้อมกันเยอะๆ ทุกคนอยากได้งานช่วงนี้ แล้วปิดงานพร้อมๆ กัน หายไป กลับมาเยอะ หายไป สลับกันไปตลอด

ช่วงงานเร่งติดๆ กัน ขั้นแรก เรากลั้นใจทำงานให้เสร็จ ในระยะเวลาที่งานแน่นและยาวนานประมาณ 2-3 เดือน ความเครียดช่วงนี้เยอะก็จริง แต่หลับนะ เพราะเราบังคับตัวเอง เช่น ให้ตัวเองนอนดึกที่สุดไม่เกิดตีหนึ่ง แล้วค่อยตื่นมาทำต่อตอนเช้า

แต่พองานเสร็จ ปล่อยตัวตามสบายได้แล้ว เรากลับมีอาการตึงๆ ค้างๆ ซึ่งทำให้นอนหลับทันทีอย่างที่อยากหลับไม่ได้ เรา ‘คลาย’ ด้วยการอ่านหนังสือ ดูซีรีส์ แต่กลายเป็นว่าเราใช้เวลาเลยช่วงควรหลับ แล้วไปหลับตี 3 ตี 4  ติดกัน 2-3 คืน หลังจากนั้นจะนอนไม่หลับติดๆ กัน เพราะวงจรเสียไปแล้ว

21. ธรรมชาติจัดสรร

การพยายามกลับมานอนให้เป็นเวลาจะยากมาก ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ กว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม ซึ่งเราสังเกตว่าทุกครั้งที่กลับมาหลับเป็นเวลาได้ จะเป็นช่วงประจำเดือนมา ซึ่งช่วงนั้นเราคงจะเหนื่อย แล้วได้การหลับที่มีคุณภาพกลับมา

22. วิถีฟรีแลนซ์

เราไม่หาหมอ ไม่กินยานอนหลับ แต่ปรับพฤติกรรม ปกติเราชอบกินชา แต่ช่วงนอนไม่หลับเราจะบังคับตัวเองให้ไม่กินชาหลัง 4 โมงเย็น ปิดไฟ ปิดคอมพิวเตอร์สัก 5 ทุ่ม แล้วนอนเลย หรือทำสมาธิบ้าง แต่ชีวิตฟรีแลนซ์ใช้เวลาไม่แน่นอน บางช่วงอยากทำสมาธิก็ทำไม่ได้ เวลาจะทำอย่างอื่นยังไม่มีเลย แต่เราสังเกตตัวเองว่าช่วงไหนถ้าเราทำสมาธิติดต่อกันได้ ช่วงนั้นจะหลับได้ดี เหมือนเราได้จัดระเบียบคลื่นสมองใหม่ เอาเรื่องค้างคาไม่จำเป็นออกไป และทำให้เราปิดคอมไวขึ้นเพราะต้องบังคับตัวเองมานั่งสมาธิด้วย

 

23. งานและชีวิตที่ อยู่ตัว

ช่วงทรมานที่สุดคือตอนอายุน้อยกว่านี้ เรานอนกลิ้งไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตี 4 พยายามนอนให้หลับจนกระทั่งหมดแรง หลับไป แล้วตื่นตอนเที่ยง เพลีย และเหลือเวลากลางวันให้ทำอะไรน้อยมาก ยิ่งช่วงไหนมีเรื่องกังวลเยอะ แล้วเพิ่มการนอนไม่หลับเข้าไปอีก จะยิ่งคิดลบเยอะ มีความคิดลบแบบที่เราห้ามไม่ได้โผล่มา

หลังๆ พออายุมากขึ้น เรามีสติมากขึ้น รู้แล้วว่าคิดลบก็ปล่อยมันลบไป เดี๋ยวพอหลับแล้วตื่นขึ้นมาก็หายเอง ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือเปล่า แต่เดี๋ยวนี้ร่างกายเรานอนไม่หลับมากขนาดนั้นไม่ไหวแล้ว ได้แค่ตี 2 ตี 3 ไม่ถึงกับเช้าเท่าหลายปีก่อน เป็นความอยู่ตัว เคยมีความคิดอยากเปลี่ยนงานอยู่บ้าง แต่ไม่ได้คิดจริงจัง งานเราก็อยู่ตัวและไปได้เรื่อยๆ ด้วยตัวเองแล้วเหมือนกัน

กฤตนัน ความกล้าหาญและการขับไล่ความเศร้า

กฤตนัน ความกล้าหาญและการขับไล่ความเศร้า ควบคุมร่างกาย

24. พยายามควบคุมร่างกาย จนร่างกายไม่ให้ควบคุม

โรคนอนไม่หลับแบบควบคุมไม่ได้ของผม เริ่มเมื่ออายุ 25 ปี ก่อนหน้านั้นผมทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำไม่นอน 3-4 วันติดก็ยังทำงานได้ เป็นความสมัครใจที่จะไม่นอนและทำงาน แต่พอถึงจุดหนึ่ง ผมเริ่มรู้สึกว่าร่างกายผิดปกติตอนอายุ 27 ปี รู้สึกว่าร่างกายรับไม่ไหว ต้องการมีชีวิตที่เป็นระบบแต่ทำไม่ได้ เพราะมีความบีบรัด ความจำเป็นในทางการงาน และเงื่อนไขจากครอบครัว

นอกจากเวลาทำงานในชั่วโมงปกติ กลับบ้านมา ตี 1 ตี 2 ผมยังทำงานต่อ ผมโบยตีและเคี่ยวกรำตัวเองจนสูญเสียความสามารถในการนอนหลับอย่างเป็นธรรมชาติ ไปฝืนตัวเองก่อน จนหลุด แล้วเริ่มทำตัวเป็นเภสัชกร สั่งซื้อเมลาโทนินให้ตัวเองกิน เป็นเรื่องผิดพลาดอย่างหนึ่งในชีวิตมาก

25. เลือกยาผิดชีวิตเปลี่ยน

ผมสูญเสียการนอนจนควบคุมไม่ได้ถึงขนาดที่ว่า ใช้เมลาโทนินเยอะสุดคือ 30 มิลลิกรัม ก็ยังนอนไม่หลับ ซึ่งปกติคนทั่วไปใช้ไม่เกิน 5 มิลลิกรัมก็หลับแล้ว ระบบการนอนของผมเสียหาย ร่างกายผลิตฮอร์โมนเกี่ยวกับการนอนและการควบคุมอารมณ์ ความคิด ผิดปกติไปหมด จนสุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้าประเภทอารมณ์ซึมเศร้าชั่วครั้งชั่วคราวแบบ F320 โดยหมอวินิจฉัยว่าเริ่มมาจากการนอนไม่หลับ

ยานอนหลับมีหลายประเภท ผมเคยใช้ยานอนหลับที่หาซื้อเองได้อย่างซาแน็กซ์ ที่เป็นยาซึ่งโรงพยาบาลไม่จ่ายกันแล้วเพราะทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่น และเคยสั่งเมลาโทนินให้ตัวเองกิน ตอนพบจิตแพทย์ทำให้ผมรู้ว่าเมลาโทนินไม่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งมีอาการซึมเศร้าแฝงอยู่ การกินเมลาโทนินที่ผ่านมาทำให้อาการต่างๆ ทั้งเครียด ทั้งนอนไม่หลับนั้นแย่ลงจนเข้าสู่ภาวะเป็นโรค ในขณะที่สำหรับคนอื่นกินแล้วอาจไม่มีผลอะไร

เราต้องคอยสังเกตตัวเองและให้จิตแพทย์กับเภสัชกรช่วยวินิจฉัย เช่น ผมกินยาอทิแวนซึ่งเป็นยาต้านเศร้าชนิดหนึ่ง กินแล้วหลับง่าย ไม่มีผลข้างเคียง ผมก็ต้องกินอทิแวน จะใช้เมลาโทนินไม่ได้ การรักษาโรคซึมเศร้า แต่ละคนจะได้รับยาต่างกัน แล้วแต่คนว่าเหมาะกับยาอะไร

26. เปิดหน้ารักษา

ผมทำงานในสายกฎหมาย ตั้งแต่บอกกับคนอื่นๆ ว่าผมเป็นเป็นซึมเศร้า นอนไม่หลับ ใช้ชีวิตไม่ปกติ คนที่รู้จักในสาขากฎหมาย มาปรึกษาผมเรื่องที่ตัวเองเครียด นอนไม่หลับ อารมณ์ผิดปกติกันเยอะมาก ทั้งผู้พิพากษา ผู้ช่วยผู้พิพากษา อัยการ ผู้ช่วยอัยการ ทนายความ ตำรวจ ฯลฯ คนในกระบวนการยุติธรรมเครียดและเป็นโรคนี้เยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีใครกล้าเปิดตัว เพราะคุณจะถูกพิพากษาว่าเป็นโรคจิตเภทแบบติดตัวถาวรแล้วคุณจะถูกริบใบประกอบวิชาชีพ ทำงานไม่ได้อีก และจะถูกสังคมซ้ำเติม

นี่คือความแย่ที่สังคมกำลังทำกับคน แล้วทำให้คนไม่ยอมรับตัวเอง ทำให้คนไม่กล้าแม้แต่จะบอกว่าตัวเองมีปัญหาอะไร แล้วก้าวเข้ามารับการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่แปลกที่จะมีข้อสันนิษฐานว่า บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ทำงานด้านกฎหมายอย่างพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ หรือกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ต้องใช้แอลกอฮอล์ เพราะความเครียดหรือนอนไม่หลับ

นักกฎหมาย ตำรวจ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนเครียดจนเป็นโรคทางจิตเวชกันเยอะ แต่เขาเปิดเผยกันไม่ได้หรอก ต้องไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งค่ารักษาและค่ายาแพงมาก ทั้งที่ถ้าเปิดเผยได้ก็จะเข้าไปใช้สิทธิการรักษาตามที่มีอยู่ได้ แต่องค์ความรู้เรื่องโรคจิตเภทในสังคมไทยยังแย่อยู่ แม้แต่กรมสุขภาพจิตเองก็ไม่ค่อยให้ความเข้าใจกับหน่วยงานในราชการว่ามีโรคจิตเภทที่เริ่มต้นมาจากการนอนไม่หลับหรือความเครียดที่เกิดจากการทำงาน

27. สังคมที่ยอมรับความจริง

เราควรมีมุมมองว่า การที่คนเปิดเผยตัวเองว่าเป็นโรคจิตเภทต่างๆ เป็นเรื่องดี เพราะหมายความว่าคนที่มีภาวะป่วยไข้ได้เข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาแล้ว

ในเกาหลีใต้ หลังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมช่วงปี 2013 ในสถาบันการศึกษากฎหมายทั้งระดับวิทยาลัย และชั้นเนติบัณฑิต หากพบคนมีอาการทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ วิตกกังวล มีความเครียด หรือกระทั่งนอนไม่หลับ เขาจะช่วยเหลือ แล้วติดตามผลเพื่อทำให้กลับมาเป็นปกติ ด้วยหลักคิดที่ว่าตอนคุณสอบเข้าเรียนได้ คุณอาจมีความบกพร่องบางอย่างที่ต้องได้รับการแก้ไขติดมา ซึ่งไม่ใช่โรคจิตเภทแบบติดตัวถาวร เขาจะฟื้นฟูให้ในระหว่างการเรียนหรืออบรมเนติบัณฑิต

สังคมเขายอมรับความจริง และช่วยเหลือตั้งแต่ต้นทาง ไม่ให้บุคลากรของเขาไปเป็นผู้พิพากษา ทนายความ พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ที่ใช้ความคิดไม่ได้เหมือนเดิม ไม่มีไหวพริบ ตัดสินใจสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่ได้ หรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

28. ผจญความซับซ้อนในระบบการรักษา

สำหรับตัวผม หมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องช่วยกันอย่างเป็นระบบ ทำให้ผมรู้ตัวเองและจัดการตัวเองได้ดีขึ้น แต่พอผมออกจากงานประจำในองค์กรอิสระ ก็มีปัญหาเรื่องการใช้สิทธิการรักษา

สิ่งที่ผมเจอคล้ายๆ กับที่หลายคนเจอ คือเราจะหาทางเข้าเพื่อรักษาโรคแบบนี้ยังไง พอคนรู้ตัวว่าเครียด นอนไม่หลับ แล้วเริ่มอยากรักษา จะเจอความซับซ้อนในระบบการรักษา เช่น พอเปลี่ยนโรงพยาบาล สิทธิการรักษาจะเปลี่ยน เปลี่ยนอาชีพสิทธิการรักษาเปลี่ยน อย่างกรณีของผม การเปลี่ยนงานทำให้ต้องเปลี่ยนยาต้านเศร้าจากวัลด็อกแซมที่มีราคาแพงมารับยาโซล็อฟ ซึ่งหลังจากกินตัวนี้ ผมเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เคยตกบันไดบ้านแล้วออกจากบ้านไม่ได้เพราะไม่มีแรง ก็เปลี่ยนมาเป็นยาอีกตัวคือ ฟลูอ็อกซิทิน ซึ่งกินแล้วคิดอะไรไม่ออก พูดไม่รู้เรื่อง

อาการข้างเคียงผมชัดมากจนล่าสุด ผมไม่กินยาต้านเศร้าเลย กินแต่ยานอนหลับคืออทิแวน ที่ต้องรับจากโรงพยาบาลอย่างเดียว หาซื้อจากร้านขายยาไม่ได้

29. ใกล้ถึงทางออก

หลังเข้ารับการรักษามาได้ 2-3 ปี ผมเริ่มรับมือได้ดีขึ้น แม้ว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมนอนไม่หลับจนหงุดหงิด กรอกยาสามตัวที่ใช้รักษารวมๆ กัน เดือนเดียวเกือบๆ 200 เม็ด ทำให้กระทบการรักษาไปบ้าง ตอนนี้ผมปลอดภัยจากภาวะฆ่าตัวตายแล้ว ส่วนภาวะซึมเศร้าและภาวะนอนไม่หลับยังมีอยู่ เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีวันที่หลับดีมาก การหลับเริ่มกลับมาสู่วงจรปกติ

วิธีการรักษาของผมตอนนี้ คือผมพยายามหายาต้านเศร้า ยาปรับอารมณ์ที่ไม่มีผลข้างเคียง และยานอนหลับอย่างอทิแวนร่วมกัน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ชีวิตกลับมามีวงจรปกติ ควบคุมพฤติกรรมตัวเองเพื่อจะหลับได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผมอยากกลับไปมีธรรมชาติของร่างกายเหมือนตัวผมเมื่อตอนก่อนอายุ 25 ปี  ตอนนี้ผมอายุ 30 ปี ผมรู้สึกว่าถ้าไม่รีบกลับไป จะมีผลกระทบมากกว่านี้

ส่วนสิ่งที่อยากทำเร็วๆ นี้ คือผมอยากกลับไปตรวจเลือดเพื่อเช็กระดับยาและฮอร์โมนใหม่ เพราะไม่แน่ใจว่าการกินยาเยอะๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ส่งผลกระทบอะไรกับร่างกายหรือเปล่า สองคือกลับไปทำกิจกรรมที่เคยทำแล้วเกิดสมาธิ เช่นเล่นซิตาร์ เล่นโยคะ ตีสควอทช์คนเดียว ซึ่งการจะทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ไม่ได้ง่ายนัก ในสังคมที่มีรัฐสวัสดิการเราเข้าถึงกิจกรรมเหล่านี้ได้โดยมีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก แต่ในสังคมที่ไม่มีรัฐสวัสดิการกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมฟุ่มเฟือย

30. เราจะให้ราคากับชีวิตเราในช่วงไหน ?

กลับมาสู่เรื่องที่ว่า เราจะให้ราคากับชีวิตเราในช่วงเวลาไหน ตอนเรายังมีกำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นคือ 18-23 ปี เป็นช่วงเวลาที่เราอดหลับอดนอนได้จริง เราสามารถฟื้นฟูตัวเองได้เร็วจากภาวะที่เราอดหลับอดนอนนั้นมาได้ แต่หลังจากนั้นผมคิดว่าคนเราควรต้องรู้จักตัวเองได้แล้ว

การรู้จักตัวเอง อย่างแรกคืออย่าไปตกหลุมทัศนคติเรื่องการเป็นคนไม่เอาไหนเพราะเป็นคนนอนเยอะหรือคนที่อดหลับอดนอนไม่ได้ นี่คือเรื่องแรกที่ควรตั้งเป้า เพราะการนอนไม่หลับในระยะยาวทำให้เกิดความผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจอย่างคาดไม่ถึง

ผมโตมาช่วงหลังปี 2540 ช่วงการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้ยินวาทกรรมที่ถูกย้ำมาตลอด 12 ปี ตั้งแต่ช่วง ม.ปลายจนถึงมหาวิทยาลัย ว่าคนนอนคือคนขี้เกียจ เวลานอนในหลุมมีตั้งมากมาย สื่อมวลชนกระแสหลักก็คอยปลุกเร้า เช่น คุณต้องอ่านหนังสือดึกดื่นให้ได้ ถ้าไม่ไหวเรามีอาหารเสริม (ของเรา) เป็นตัวช่วยนะ ซึ่งผมรู้สึกว่านี่คือการทำลายคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั้งสังคม

แม้สังคมยังก้าวข้ามความเข้าใจเรื่องนี้ไม่พ้น ไม่เป็นไร เราต้องก้าวให้พ้น ต้องยืนยันว่าเราจะนอน การนอนเป็นชีวิตของเรา ต้องยืนยันเรื่องนี้ก่อน แล้วใครจะตัดสินอะไรก็ช่างมันเถอะ เราต้องรักตัวเองก่อน

สอง เราต้องทบทวนกันอย่างจริงจังว่า 24 ชั่วโมงของเรา การนอนที่มีประสิทธิภาพคืออะไร เรียนแค่ไหนพอแล้ว แค่ไหนเกินความจำเป็น เรื่องที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำ เรารู้จักตัวเองแค่ไหน ถ้าชีวิตในวัยเด็ก-วัยรุ่น เราได้ลองทำกิจกรรมต่างๆ เต็มที่แล้ว เราจะรู้ว่ากิจกรรมไหนที่เรามีน้ำอดน้ำทนจริงๆ กิจกรรมไหนจำเป็นต่อชีวิต เรารู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตดีเมื่อได้ทำอะไร สิ่งเหล่านี้ควรสรุปตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้ว หลังจากนั้นคือช่วงรู้ตัวเองแล้วว่าเหมาะกับอะไร

ถ้าเราได้จัดการชีวิตให้ใช้ได้เต็มที่แล้ว เรารู้ว่านอนหลับแค่ไหนพอ แค่ไหนคืออดนอนได้ ถ้าเป็นคนอดนอนแล้วมีปัญหา ก็นอนเถอะครับ

31. ฝากไว้ให้คิด

การที่คุณเป็นคนนอนได้ตามปกติ หรืออดนอนได้ อย่าไปพูดกับคนอื่นที่มีเงื่อนไขในชีวิตไม่เหมือนคุณ หรือบอกคนที่อดนอนแล้วมีปัญหาเรื่องอารมณ์หรือร่างกายให้เขาทำได้เหมือนคุณ เรียกร้องให้เขาเป็นเหมือนตัวเอง เราควรเคารพชีวิต เคารพความแตกต่างของคนอื่น

ประโยคอย่าง “ใช้เวลาเดินทางเยอะ ก็ย้ายบ้านไปใกล้ที่ทำงานสิ” หรือ “ทำไมไม่ซื้อรถล่ะ” ไม่ควรพูดนะครับ จำเป็นเหรอที่เราต้องซื้อเวลานอนด้วยวิธีการเหล่านี้ ทั้งที่เราทำให้ระบบสังคมดีขึ้นได้ ทำให้สวัสดิการสังคมดี การคมนาคมดี คุณจะมีเวลาเหลือ ไว้นอน ไว้ดูหนัง ไว้พัฒนาตัวเอง

ผมมองว่าการนอน การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ไม่อย่างนั้นหลักการสากลว่าด้วยสิทธิแรงงาน ILO1798 จะกำหนดว่า คนเราควรทำงาน 8 ชั่วโมง นอนหลับ 8 ชั่วโมง และใช้เวลาเพื่อสันทนาการหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ 8 ชั่วโมงไปเพื่ออะไร

เราโตมาด้วยความเชื่อว่า การใช้เวลาพักผ่อนเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย โดยไม่ได้ดูในรายกิจกรรมเลย ว่าเราหมดเวลาไปเพราะอะไร เช่น นั่งรถไปเรียนพิเศษไกลๆ ตื่นแต่เช้าไปทำงานแล้วเจอการจราจรเลวร้าย ต้องใช้ชีวิตในเมืองที่วางแผนหรือจัดการเวลาได้ยากมาก ฯลฯ เรื่องพวกนี้แทบไม่ถูกพูดถึง มีแค่การโยนบาปให้คนนอนไม่พออย่างเดียว ทั้งที่จริงๆ ถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกจัดการ เราจะเหลือเวลานอนเยอะมาก

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save