fbpx
เด็กไทยกับการสอบ PISA : มายาคติกับความเป็นจริง

เด็กไทยกับการสอบ PISA : มายาคติกับความเป็นจริง

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค เรื่อง

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีกระแสข่าวว่าผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการขู่ว่าจะไม่เข้าร่วมทดสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ Programme for International Student Assessment (PISA) หากผู้จัดสอบไม่อนุญาตให้ตรวจสอบความถูกต้องของการแปลข้อสอบจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และเรียกร้องให้ไม่ต้องนำผลสอบของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กมาร่วมคำนวณในการคิดคะแนนรวมทั้งประเทศ [1]

การแสดงออกอย่างไม่ค่อยพอใจต่อแนวทางการสอบ PISA เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังการประกาศผลสอบรอบล่าสุด (PISA 2015) เมื่อปลายปี 2560 ซึ่งนักเรียนไทยได้คะแนนน้อยลงกว่ารอบก่อนหน้านี้มาก จนมีความพยายามกล่าวโทษถึงปัจจัยต่างๆ ว่าไม่ยุติธรรมต่อการประเมินผลเด็กไทย[2]

แม้เหตุผลของผู้ต้องการยกเลิกการเข้าร่วมสอบ PISA จะอ้างถึงปัญหาเรื่องความยุติธรรมในการประเมินคุณภาพของการศึกษาไทย แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะแสดงให้เห็นว่าข้ออ้างหรือความกังวลเหล่านั้นหาได้มีพื้นฐานมาจากข้อมูลในเชิงประจักษ์แต่อย่างใด

และในแวดวงการศึกษาไทยเต็มไปด้วยมายาคติเกี่ยวกับการสอบ PISA ที่ห่างไกลจากความเป็นจริง

การสอบ PISA คืออะไร?

การสอบ PISA เป็นการจัดทดสอบความสามารถในด้าน ‘การรู้เรื่อง’ (Competency) ของนักเรียนอายุ 15 ปีจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก จัดทดสอบโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD)

ข้อสอบ PISA จะประเมิน ‘การรู้เรื่อง’ ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยที่ไม่ได้อ้างอิงกับเนื้อหาหรือหลักสูตรใดๆ เป็นการเฉพาะ

สาเหตุที่เลือกนักเรียนในช่วงอายุ 15 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่สิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับและจะต้องออกไปประกอบอาชีพในตลาดแรงงาน คุณภาพของนักเรียนในกลุ่มนี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในอนาคต

การสอบ PISA เริ่มต้นขึ้นในปี 2000 และจัดสอบทุก 3 ปี การสอบครั้งล่าสุดในปี 2015 มีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมเพิ่มขึ้นจาก 43 ประเทศ (นักเรียน 256,000 คน) ในครั้งแรก เป็น 72 ประเทศ (นักเรียน 510,000 คน) ในครั้งล่าสุด ถือว่าเป็นการประเมินทักษะความรู้ความสามารถของนักเรียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศไทยนับเป็นประเทศในกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมการสอบ PISA ทุกรอบตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากนานาชาติถือว่า PISA เป็นข้อสอบที่มีคุณภาพและมีนักเรียนจำนวนมากจากทั่วโลกเข้าร่วมทดสอบ ผลการสอบจึงเป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพทางการศึกษาที่น่าเชื่อถืออันหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากหน่วยงานจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันต่างๆ เช่น World Competitiveness Center (IMD) หรือ World Economic Forum (WEF) ล้วนใช้ผลสอบ PISA เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านทรัพยากรของประเทศต่างๆ  สำหรับประเทศไทย ในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ได้ตั้งเป้าหมายให้เด็กไทยมีคะแนน PISA อยู่ในระดับมาตรฐานสากลหรือระดับค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD ให้ได้

นับวันสังคมโลกยิ่งให้ความสนใจต่อผลสอบ PISA มากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยเองก็เช่นกัน แต่บ่อยครั้งผู้บริหารการศึกษาไทยมักออกมาให้ความเห็นที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลสอบ PISA อาจเป็นเพราะ ‘ผู้ใหญ่’ ในแวดวงการศึกษา ไม่มีเวลาวิเคราะห์ทำความเข้าใจข้อมูล PISA อย่างลึกซึ้ง ในขณะที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ก็ไม่ออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคมในวงกว้าง

ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลผลสอบ PISA ของนักเรียนไทย นำมาเสนอเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง อันที่จริงข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลสาธารณะ ที่สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ PISA ได้ไม่ยาก เป็นคลังข้อมูลที่มีค่าสำหรับการทำวิจัยเรื่องการศึกษาไทย เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งของการสอบ PISA คือการเก็บข้อมูลเบื้องหลังด้านการศึกษาที่ละเอียดและหลากหลาย ทั้งในส่วนของ นักเรียน โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง เพื่อให้นักวิชาการและนักการศึกษาสามารถนำไปวิจัยขยายผลต่อได้[3]

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผลสอบ PISA ผู้เขียนพบว่า ในสังคมไทยมีมายาคติเกี่ยวกับผลสอบ PISA ที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ดังนี้

มายาคติที่ 1 : ถ้านำคะแนนสอบของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสออกไปจากการคำนวณรวม คะแนน PISA ของไทยจะสูงขึ้น

ความเป็นจริง : ในการวัดผลรอบล่าสุด มีโรงเรียนไทยเข้าร่วมการสอบ PISA จำนวน 273 โรงเรียน มีโรงเรียนที่รู้ขนาดของโรงเรียนแน่ชัด 263 แห่ง โดยโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งถือเป็น ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ตามนิยามของกระทรวงศึกษาธิการ มีจำนวนเพียง 13 แห่งเท่านั้น

สำหรับกลุ่ม ‘โรงเรียนขยายโอกาส’ ซึ่งหมายถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดกรุงเทพมหานคร หรือสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งแต่เดิมมีเพียงระดับประถมศึกษา แต่ได้ขยายระดับช่วงชั้นขึ้นไปถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น ในการสอบ PISA ครั้งล่าสุด ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าโรงเรียนใดเป็นโรงเรียนขยายโอกาส[4] ผู้เขียนจึงวิเคราะห์โดยตั้งสมมติฐานว่าโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เข้าสอบ PISA โดยมากน่าจะเป็นโรงเรียนกลุ่มขยายโอกาส (แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีความคลาดเคลื่อนในกรณีโรงเรียนซึ่งไม่ใช่กลุ่มขยายโอกาส มีเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เท่านั้นที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์การสอบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำมาก)

เป็นความจริงที่ว่า นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาสเหล่านี้มีคะแนนเฉลี่ยในวิชาต่างๆ ต่ำกว่าค่ามาตรฐานของประเทศมาก คือมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ยของประเทศอยู่มาก ถึงเกือบหนึ่งปีการศึกษา (PISA ประมาณการว่าทุกๆ สามสิบคะแนนที่ต่างกัน เทียบเท่ากับความห่างในการเรียนรู้ 1 ปีการศึกษา)

แต่อย่างไรก็ตาม หากนำคะแนนของนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสออกไป ก็ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยของประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยคะแนนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพิ่มขึ้น 1-2 คะแนน ส่วนคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้น 1-3 คะแนน ดังนั้น ในภาพรวมถือว่าไม่มีผลต่อลำดับของประเทศในการสอบ PISA แต่อย่างใด

ตารางที่ 1 : คะแนน PISA ของไทย กรณีรวมและไม่รวมคะแนนจากโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส

คะแนน PISA ของไทย กรณีรวมและไม่รวมคะแนนจากโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส

ตารางที่ 2 : คะแนนเฉลี่ย PISA 2015 จำแนกตามเนื้อหาและประเทศที่เข้าสอบ

คะแนนเฉลี่ย PISA 2015 จำแนกตามเนื้อหาและประเทศที่เข้าสอบ

ผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในกลุ่มโรงเรียนที่มีศักยภาพสูงด้วย เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนสาธิตฯ โรงเรียนจุฬาภรณ์ ซึ่งเน้นวิทยาศาสตร์ ถึงแม้จะมีนักเรียนที่สอบได้คะแนนสูงมากๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คะแนนเฉลี่ยของประเทศสูงขึ้นมากนัก

สาเหตุที่คะแนนเฉลี่ยโดยรวมของประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นเพราะการเก็บข้อมูล PISA มีการถ่วงน้ำหนัก (weighted scale) ตามสัดส่วนของประชากรที่แท้จริงในประเทศ นักเรียนที่ได้คะแนนสูงจากโรงเรียนดัง หรือนักเรียนคะแนนต่ำในโรงเรียนขนาดเล็กถือเป็นประชากรนักเรียนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทั้งหมด จึงไม่ได้มีผลต่อภาพรวมเท่าไรนัก

นอกจากนี้ คะแนนสอบ PISA ยังช่วยยืนยันว่า การมุ่งแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมักมีปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา โดยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึงเกือบ 1 ปีการศึกษา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง งานวิจัยหลายชิ้นพยายามอธิบายปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยและแนวทางการแก้ปัญหา เช่นงานวิจัยของธนาคารโลกที่ทำเรื่องนี้มายาวนาน[5] แต่ก็ยังไม่เห็นความมุ่งมั่นทางการเมืองในการแก้ปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ

การคาดหมายว่าคะแนน PISA ของไทยจะสูงขึ้นเพียงแค่ตัดคะแนนของโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสออกไป จึงไม่เพียงแต่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง หากยังมองข้ามปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กด้วย

 

มายาคติที่ 2 : เด็กเก่งในโรงเรียนดีของไทยมีผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับเทียบเท่ากับประเทศชั้นนำ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

ความเป็นจริง : นี่เป็นวาทกรรมที่เราได้ยินบ่อยที่สุดจากผู้บริหารในแวดวงการศึกษาไทย ปัญหาคือเหตุผลเช่นนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างการปลอบใจตนเองและความไม่รู้เรื่องสถิติ แม้แต่เอกสารประกอบเรื่อง PISA ของ สสวท. ก็มักจะย้ำประเด็นที่ว่านักเรียนในโรงเรียนคุณภาพดี เช่น โรงเรียนสาธิตฯ โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ สามารถทำคะแนนเทียบเท่ากับประเทศที่ได้คะแนนสูงต่างๆ[6]

จากการวิเคราะห์ข้อมูล ผลสอบของนักเรียนในโรงเรียนคุณภาพดีของไทยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย แม้แต่ของประเทศที่มีคะแนนสูงสุดอย่างสิงคโปร์ (โรงเรียนที่ได้คะแนนสูงสุดของไทย มีคะแนนเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน 606, 594 และ 570 คะแนนตามลำดับ ในขณะที่สิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยในสามวิชานั้น 555, 564 และ 533 คะแนน) แต่การเปรียบเทียบแบบนี้เป็นการเปรียบเทียบที่ผิดหลักสถิติ

จริงๆ แล้ว การวัดผลในระดับประเทศจะต้องทำการวัดผลโรงเรียนทุกรูปแบบของประเทศนั้น ทั้งโรงเรียนที่เน้นวิชาการ โรงเรียนที่เน้นการปฏิบัติ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา โรงเรียนกลุ่มเด็กด้อยโอกาส โรงเรียนสำหรับนักเรียนกลุ่มพิเศษ เป็นต้น แต่ละประเทศล้วนมีโรงเรียนในประเภทต่างๆ เหล่านี้ทั้งสิ้น ในสัดส่วนที่มากน้อยแตกต่างกัน การอ้างว่าโรงเรียนชั้นนำของไทยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นๆ จึงเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว คือเอาโรงเรียนที่เน้นวิชาการของไทยไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียนหลากหลายประเภท

ถ้าอยากทดสอบว่าเด็กหัวกะทิของไทยอยู่ระดับไหนในเวทีโลก การเปรียบเทียบที่ให้ภาพชัดกว่าคือ การเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนหรือโรงเรียนเก่งๆ ของไทย กับนักเรียนหรือโรงเรียนเก่งของประเทศอื่นๆ ที่ร่วมสอบ PISA

ผู้เขียนลองวิเคราะห์ข้อมูลดูแล้ว ก็แปลกใจไม่น้อยที่เห็นว่า แม้แต่โรงเรียนเก่งหรือเด็กเก่งของไทยก็ไม่ได้มีคะแนนสูงนัก เมื่อเทียบกับโรงเรียนเก่งหรือเด็กหัวกะทิของประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมสอบ PISA

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนตระหนักดีว่า การเปรียบเทียบข้างต้นนี้อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักการสุ่มตัวอย่างทางสถิติ เพราะจำนวนโรงเรียนหรือนักเรียนแต่ละประเทศไม่ได้ถูกสุ่มมาเพื่อเปรียบเทียบในลักษณะการจัดลำดับ ไม่ได้มีการถ่วงน้ำหนักในทำนองเดียวกับการคำนวณคะแนนเฉลี่ยของประเทศ (เช่นประเทศขนาดใหญ่ มีโรงเรียนหรือนักเรียนเข้าสอบมาก ก็มีโอกาสอยู่ในลำดับสูงได้มากกว่าประเทศที่มีนักเรียนเข้าสอบน้อย) แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นภาพของโรงเรียนหรือนักเรียนไทยในระดับนานาชาติได้ในระดับหนึ่ง

ตารางที่ 3 : จำนวนโรงเรียนของแต่ละประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์สูงสุด

จำนวนโรงเรียนของแต่ละประเทศที่ได้คะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์สูงสุด

ตารางที่ 4 : โรงเรียนที่ได้คะแนน PISA วิทยาศาสตร์สูงสุด 100 อันดับแรกของโลก

โรงเรียนที่ได้คะแนน PISA วิทยาศาสตร์สูงสุด 100 อันดับแรกของโลก

เมื่อทดลองหาโรงเรียนที่มีคะแนนสูงสุด 100, 500 และ 1,000 อันดับแรกของการสอบ PISA พบว่า โรงเรียนที่ดีที่สุดของไทยอยู่ในอันดับที่ 335 เทียบกับโรงเรียนทั้งหมดที่เข้าสอบ PISA จำนวน 17,911 โรงเรียน และมีโรงเรียนไทย 5 แห่งที่ติดกลุ่ม 1,000 อันดับแรกของโรงเรียนที่เข้าสอบ PISA ทั้งหมด (อันดับ 335, 551, 794, 829, 923 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีคะแนนชั้นนำทั้งหลาย จะเห็นว่าโรงเรียนเก่งๆ ของไทยนั้น ก็ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานที่สูงมากนัก ไม่มีแม้แต่โรงเรียนที่ติด 300 อันดับแรกของโลก

ตารางที่ 5 : โรงเรียนที่ได้คะแนน PISA วิทยาศาสตร์สูงที่สุด 20 อันดับแรกของไทยเทียบกับนานาชาติ

โรงเรียนที่ได้คะแนน PISA วิทยาศาสตร์สูงที่สุด 20 อันดับแรกของไทยเทียบกับนานาชาติ

ส่วนนักเรียนไทยที่ได้คะแนนสูงสุดในวิชาวิทยาศาสตร์ ติดอันดับที่ 1,498 ของโลก เทียบกับนักเรียนที่เก่งที่สุดของสิงคโปร์ (อันดับ 1 ของโลก) เวียดนาม (อันดับ 75) ฟินแลนด์ (อันดับ 14) ในขณะที่นักเรียนไทยที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 10 ติดอันดับที่ 5,744 ของโลก เทียบกับสิงคโปร์ (อันดับ 44) เวียดนาม (อันดับ 464) ฟินแลนด์ (อันดับ 238)

แน่นอนว่าประเทศไทยมีนักเรียนประเภทตัวแทนโอลิมปิควิชาการ หรือเด็กอัจฉริยะต่างๆ ที่มีความสามารถในระดับโลกอยู่ไม่น้อย แต่เด็กกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับการสุ่มให้เข้าสอบ PISA กระนั้น ทุกประเทศก็มีเด็กอัจฉริยะกลุ่มนี้ด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉลี่ยแล้วจึงถือว่าน่าจะพอเปรียบเทียบกันได้

ตารางที่ 6 : ลำดับของนักเรียนที่ได้คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์สูงที่สุดในแต่ละประเทศ

ตารางที่ 6 : ลำดับของนักเรียนที่ได้คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์สูงที่สุดในแต่ละประเทศ

มายาคติที่ 3 : เด็กไทยคะแนนน้อย เพราะการแปลข้อสอบจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความชัดเจน 

ความเป็นจริง : ปัญหานี้ผู้เขียนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ แต่เชื่อว่ามาตรฐานของกรรมการจัดสอบ PISA ทั้งใน OECD และตัวแทนของประเทศไทย (สสวท.) อยู่ในระดับสูงมากพอสมควร

เท่าที่ทราบ ทาง PISA จะทำงานอย่างละเอียดรอบคอบในทุกกระบวนการ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกตั้งแต่การออกข้อสอบ การสุ่มตัวอย่างประชากร การประเมินผล การทดสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อถือได้ของข้อสอบ ฯลฯ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลสอบข้ามประเทศได้อย่างน่าเชื่อถือที่สุด ประเทศใดที่ไม่สามารถทำตามมาตรฐานได้ ก็จะถูกตัดออกไปจากการวิเคราะห์

ทุกปีจะมีประเทศที่ไม่ผ่านมาตรฐานในการเก็บข้อมูล เช่น ในรอบปี 2015 มาเลเซียมีปัญหาเรื่องการสุ่มประชากรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงถูกตัดออกไปจากการนำคะแนนมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบ

ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลที่นำเสนอคงจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของระบบการศึกษาไทย ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่า การที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมการทดสอบมาตรฐานนานาชาติ เช่น PISA หรือการทดสอบอื่นๆ ในระดับนานาชาติ[7] เป็นผลดีสำหรับการประเมินความสามารถของนักเรียนไทยหรือสถาบันการศึกษาไทยในเวทีนานาชาติ

ผลที่ได้มิใช่แค่ประโยชน์ในการวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการศึกษาแนวทางปฏิบัติ และจุดอ่อน-จุดแข็งของประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการศึกษาและการออกแบบนโยบายทางการศึกษาให้ตรงเป้าหมาย

ในทางตรงกันข้าม การถอนตัวจากการทดสอบที่มีมาตรฐานสูงในระดับนานาชาติจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะทำให้ประเทศขาดโอกาสในการประเมินตนเองอย่างเที่ยงธรรม และไม่สามารถนำผลการทดสอบมาใช้ปรับปรุงแก้ไขปัญหา

การเข้าใจและยอมรับความจริง แม้เป็นความจริงที่ไม่ถูกใจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพของระบบการศึกษาไทย

เชิงอรรถ

[1] Thailand threatens to quit Pisa test (Bangkok Post 22 June 2018)

[2] ตัวอย่างการอภิปรายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง การเตรียมความพร้อมนักเรียน เพื่อการประเมินคุณภาพการศึกษาร่วมกับนานาชาติที่จัดขึ้นโดยองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดย ดร.โกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้ตั้งคำถาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ตอบ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560

[3] ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของ PISA สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ PISA ของ OECD

[4] โรงเรียนที่เข้าร่วมการสอบ PISA 2015 จำแนกได้เป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนมัธยมในสังกัด สพฐ. โรงเรียนขยายโอกาสของ สพฐ. โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสังกัด กทม. โรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนสาธิตฯ วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ วิทยาลัยอาชีวศึกษาของเอกชน โรงเรียนกลุ่มเน้นวิทยาศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่สามารถจำแนกได้ว่าโรงเรียนในฐานข้อมูลอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลของ PISA ในอดีต เช่น ในปี 2012 ที่มีการระบุประเภทของโรงเรียนในฐานข้อมูล

[5] รายงานของธนาคารโลกที่ศึกษาปัญหาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ได้แก่ งานวิจัยของดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ เช่น

Thailand – Wanted : a quality education for all

ความเหลื่อมล้ำคุณภาพโรงเรียน นัยต่อผลสัมฤทธิ์ที่วัดโดยคะแนน PISA 2015

ความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาในประเทศไทย

[6] สรุปผลการรายงาน PISA 2015 จัดทำโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

[7] ประเทศไทยได้เข้าร่วมการทดสอบในระดับนานาชาติหลายอย่างนอกเหนือจาก PISA เช่น TIMSS (Trends in Mathematics and Science Studies), TEDS-M (Teacher Education and Development Study in Mathematics) รวมไปถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนานาชาติของ Times Higher Education(THE) หรือ QS University Ranking และอนาคตอาจจะมีการเข้าร่วมทดสอบ Survey of Adult Skills (PIAAC) โดย OECD

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save