fbpx
ผลประโยชน์ของจีนภายใต้ BRI และความเกี่ยวพันโยงใยกับไทย

ผลประโยชน์ของจีนภายใต้ BRI และความเกี่ยวพันโยงใยกับไทย

อักษรศรี พานิชสาส์น เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

น่ายินดีที่แวดวงวิชาการไทยเริ่มตื่นตัวทำความเข้าใจ “ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative : BRI” ของจีน หรือภาษาไทยใช้คำว่า “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กันมากขึ้น

BRI เป็นยุทธศาสตร์หลักของจีนในยุคสีจิ้นผิงที่หวังจะให้จีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างยิ่งใหญ่ ล่าสุดมีประเทศต่างๆ เข้าเป็นแนวร่วมให้การสนับสนุน BRI กว่า 70 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จนทำให้ยุทธศาสตร์ BRI กลาย เป็น Talk of the World ไปแล้ว

จีนทุ่มทุนผลักดัน BRI เพื่ออะไร บทความนี้จะเน้นวิเคราะห์ผลประโยชน์ของจีนภายใต้ BRI และความเกี่ยวพันโยงใยทางเศรษฐกิจกับไทย เพื่อรู้จีนอย่างรู้จริงต่อไป

จากผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของจีนภายใต้ BRI ทำไมจีนจึงผลักดันยุทธศาสตร์ BRI และทุ่มเงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ รวมทั้งทำไมจีนต้องยกทัพนักลงทุนออกไปปักหลักลงทุนในต่างประเทศตามแนวเส้นทาง BRI ผู้เขียนขอสรุปในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก เพื่อแสวงหาช่องทางกระจายความเสี่ยงจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ  ที่ผ่านมา จีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ของโลก (มูลค่าราว 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2019)[1] ทำให้จีนต้องหาทางระบายออกไปซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมต่างๆ ที่ทำในรูปสกุลดอลลาร์ ส่งผลให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้อันดับต้นของสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 22 ของพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ถือครองโดยบุคคลที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันด้วยมูลค่ากว่า 1.12 ล้านล้านดอลลาร์ฯ)[2]

แต่ในขณะเดียวกัน การถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็สร้างความเสี่ยงทางการเงินให้กับจีน ทั้งในแง่มูลค่าที่ไม่แน่นอนผันแปรไปตามค่าเงินดอลลาร์ และยังต้องอ่อนไหวผูกติดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาการเกินดุลชำระเงินระหว่างประเทศจำนวนมาก จีนในยุคสีจิ้นผิงจึงต้องการลดความเสี่ยงฯ และหันมาเน้นการกระจายการออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าการทุ่มเงินไปกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

ภายใต้ BRI จีนจึงเน้นออกไปลงทุนในต่างประเทศ (outward FDI) และให้เงินช่วยเหลือ/ปล่อยกู้เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ร่วมมือกับจีน ทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลประเทศต่างๆ เช่น โครงการรถไฟจีน-ลาว ที่ได้สร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับรัฐบาลลาวเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบต่อจีดีพีรวมของลาว[3]

ประเด็นที่สอง เพื่อแสวงหาแหล่งสร้างงานและแหล่งลงทุนในต่างประเทศให้กับทุนจีน  การผลักดันยุทธศาสตร์  BRI ของรัฐบาลจีนยังเป็นการช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับรัฐวิสาหกิจจีน/บริษัทเอกชนจีนได้ออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลจีนนำทัพหน้าออกไปผูกสัมพันธ์ หรือให้ความช่วยเหลือผ่านกลไกต่างๆ ภายใต้ BRI รวมไปถึงการสร้างงานสร้างโอกาสให้กับคนจีนที่จะออกไปทำงานหรือไปตั้งถิ่นฐานในประเทศเหล่านั้น

ภายหลังจากปี 2013 ที่เริ่มประกาศยุทธศาสตร์ BRI (ภาษาจีนกลาง คือ “อีไต้อีลู่” Yi Dai Yi Lu ) จีนได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศตามแนวเส้นทาง BRI

จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์จีนในปี 2018 จีนออกไปลงทุนในประเทศต่างๆ ภายใต้ BRI เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ด้วยมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์[4]

 

ที่มา: http://iboninternational.org/sites/ibon/files/resources/Policy%20Brief_BRI%202019.pdf

 

ประเด็นที่สาม เพื่อแสวงหาตลาดส่งออกสินค้าและเทคโนโลยี  ภายใต้ BRI จีนสามารถขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งออก/ระบายสินค้าที่จีนผลิตล้นเกิน overcapacity ไปยังประเทศต่างๆ ตามแนวเส้นทาง BRI และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ยังเอื้อให้จีนสามารถกระจายสินค้าส่งออกได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นผ่านเส้นทางทางทะเล ทางบก และทางราง เช่น การขนส่งผ่านรถไฟจีนไปถึงลอนดอน ด้วยระยะทาง 12,000 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 18 วัน ซึ่งรวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลา 30-45 วัน[5] รวมไปถึงการขยายการค้าผ่านระบบการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะการออกไปลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มอาลีบาบา

ที่สำคัญคือการส่งออกเทคโนโลยีของจีนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น เทคโนโลยีด้านรถไฟ รวมทั้งความพยายามในการส่งออกเทคโนโลยี 5G ของบริษัท Huawei ซึ่งมีมิติด้านความมั่นคงมาเกี่ยวข้องด้วย

ประเด็นสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก คือเพื่อแสวงหาพรรคพวกและแนวร่วม จีนค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปมีบทบาทและสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมในประเทศที่เข้าร่วม BRI อย่างเนียนๆ ไม่โฉ่งฉ่าง โดยการใช้กลไก soft power ผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลและประชาชนในประเทศเหล่านั้น ทั้งในรูปแบบของการแจกทุน การให้เงินสนับสนุนจัดคณะเดินทางไปทัศนศึกษาดูงานหรือใช้ชีวิตในจีน การส่งครูจีนไปสอนภาษาจีนและศิลปะจีนในต่างประเทศ และการตั้งสถาบันขงจื้อมากกว่า 525 แห่งในกว่า 138 ประเทศทั่วโลก[6] เป็นต้น

จนถึงขณะนี้ จีนมีประเทศแนวร่วมจากทั่วโลกที่พร้อมจะเคียงข้างจีน และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับจีน ที่สำคัญคือเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพา (ฝากอนาคต) ไว้กับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีตัวอย่างที่สำคัญในขณะนี้ คือการที่เศรษฐกิจไทยผูกพันโยงใยกับเศรษฐกิจจีนอย่างยิ่งยวด จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 16 ของการค้ารวมของไทย[7]  จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.11 ของการนำเข้าทั้งหมด[8] และจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.98 ของการส่งออกทั้งหมด[9]

แหล่งรายได้หลักจากการส่งออกของไทยจึงต้องพึ่งพาตลาดจีน รวมถึงชาวจีนยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย ในแต่ละปีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเฉลี่ย 9-10 ล้านคนและสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ไทยประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี

ด้านการลงทุน จีนกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับต้นของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน (ระยอง) ที่มีบริษัทจีนกว่า 110 แห่งเข้ามาลงทุนด้วยมูลค่าลงทุนมากกว่า 2,900 ล้านดอลลาร์ฯ และจ้างงานในท้องถิ่น 30,000 กว่าตำแหน่ง

ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยก็มีชาวจีนเป็นลูกค้าสำคัญ จากรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย คนจีนนิยมโอนเงินมาซื้อคอนโดในไทย โดยมีมูลค่าของเงินโอนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยของชาวจีนฯ สูงถึงเกือบ 40,000 ล้านบาท และขยายตัวร้อยละ 65.9 จากปีก่อนหน้า นอกจากนี้ นักศึกษาจีนที่มาเรียนในไทยมีราว 37,000 คน คิดเป็นสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติที่มากที่สุดในไทย ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาไทยในจีนกว่า 27,000 คนด้วย

โดยสรุป ผลประโยชน์ของจีนจากยุทธศาสตร์ BRI มีหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ จะช่วยให้จีนสามารถแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งในแง่การแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ ตลาดใหม่ๆ เพื่อส่งออกสินค้าและส่งออกเทคโนโลยีจีนไปทั่วโลก รวมถึงการเปิดโอกาสให้จีนสร้างห่วงโซ่อุปทาน (global supply chain) ที่หลากหลายและขยายครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและสามารถตอบสนองการสร้างเครือข่ายการผลิตการค้าให้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมจะช่วยติดอาวุธให้จีนสามารถรับมือกับการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใดนั่นเอง  

 

หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ดิฉันและทีมงานกำลังศึกษาให้กับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD


 

อ้างอิง

 

เชิงอรรถ

[1] https://www.ceicdata.com/en/indicator/china/foreign-exchange-reserves

[2] https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-05-15/china-s-u-s-treasury-holdings-post-first-decline-since-november

[3] https://www.npr.org/2019/04/26/707091267/in-laos-a-chinese-funded-railway-sparks-hope-for-growth-and-fears-of-debt

[4] https://beltandroad.ventures/beltandroadblog/china-2018-overseas-investment-odi

[5] https://en.wikipedia.org/wiki/Yiwu%E2%80%93London_railway_line

[6] https://www.caixinglobal.com/2018-11-30/chart-of-the-day-the-growth-of-chinas-confucius-institutes-101354066.html

[7] http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=TradeThCountryTrade

[8] http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=4&Lang=Th&ImExType=0

[9] http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNRecode&Option=3&Lang=Th&ImExType=1

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save