fbpx
ไลฟ์โค้ช หรือ ลัทธิ ? หนทางแสวงสุขที่อาจได้ผลและยังคงน่าสงสัย

ไลฟ์โค้ช หรือ ลัทธิ ? หนทางแสวงสุขที่อาจได้ผลและยังคงน่าสงสัย

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์, เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ไลฟ์โค้ช คอร์สการพัฒนาตนเอง หรือ ศาสตร์ที่ให้แนวทางแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวันในปัจจุบัน อาจเพราะชีวิตของคนเราต้องการที่พึ่งพาทางความเชื่อบางอย่าง ประกอบกับความวุ่นวายที่มีมากในสังคม คนจึงหันพึ่งศาสตร์เหล่านี้มากขึ้น แม้แต่ในไทม์ไลน์บนโซเชียลมีเดียเราก็สามารถพบเห็นคำคม หรือข้อความสะท้อนแนวคิดจากไลฟ์โค้ชถูกแชร์ต่อกันได้บ่อยๆ

ขณะที่กระแสความนิยมถูกแชร์ต่ออกไปนั้น ข่าวคราว หรือกระแสด้านลบของไลฟ์โค้ชและศาสตร์การพัฒนาตัวเอง ก็มีให้เห็นไม่น้อยเหมือนกัน เช่น ข่าวความขัดแย้งระหว่างไลฟ์โค้ชชื่อดังกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงเมื่อสองปีก่อน หรือกระทู้ในกระดานสนทนาออนไลน์ ที่ตั้งคำถามถึงพฤติกรรมที่เข้าข่ายสร้างภาพของไลฟ์โค้ชชื่อดังในปัจจุบัน

ทั้งความนิยมและข่าวด้านลบที่มีอยู่เป็นพักๆ นี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไลฟ์โค้ชกลายเป็นปรากฎการณ์ของยุคสมัยปัจจุบันที่น่าจับตามอง

เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของฉันก็เป็นหนึ่งคนที่เลือกเข้ากลุ่มไลฟ์โค้ชเพื่อบรรลุเป้าหมายของชีวิตเช่นกัน บนพื้นที่ออนไลน์ เธอมักจะเขียนสเตตัสด้วยใจความดื่มด่ำกับชีวิต ตัวหนังสือของเธอจะแสดงความขอบคุณต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาสู่ชีวิตเสมอ ทั้งยามทุกข์และยามสุข ดูเหมือนไลฟ์โค้ชจะได้ผลดีกับเธอ แม้ฉันจะระแคะระคายอยู่บ้างว่าเธอผ่านกระบวนการอะไรมา แต่ความสุขสมที่เห็นก็ทำให้ฉันเลือกจะเก็บความสงสัยแผ่วเบานั้นไว้

กระทั่งค่ำของวันธรรมดาวันหนึ่ง เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นข้างกาย เมื่อกดรับ เสียงสั่นเครือก็ปกคลุมความเงียบของค่ำคืน

“เธอ… ช่วยด้วย”

เป็นรุ่นน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่โทรเข้ามา คล้ายจะขอความช่วยเหลือ และขอให้รับฟังเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับเธอ เธอเล่าด้วยความร้อนรนว่าเพิ่งไปเข้ากลุ่มไลฟ์โค้ชกลุ่มหนึ่งมา กระบวนการหลายอย่างที่เธอเจอนั้นมีลักษณะแปลกประหลาด ให้อ้วก ให้ตะโกนด่าวิญญาณ มีความพยายามหาคนร่วมกลุ่มเพิ่ม และมีผู้นำที่ทุกคนเทิดทูนหลงใหล อย่างที่เธอบรรยายว่า คล้ายเป็นลัทธิ ขณะที่กลุ่มไลฟ์โค้ชนี้มีผู้เลื่อมใสจำนวนมาก เธอกลับขวัญเสียอย่างหนัก และเดินออกจากการอบรมของกลุ่มด้วยความกลัวจับใจ

การสร้างความสุข ความสำเร็จ ให้กับบางคน ขณะที่ก่อความกลัวให้กับใครอีกหลายคน ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้ไลฟ์โค้ช เป็นประเด็นที่เรียกร้องการสำรวจให้ลึกขึ้น ในบทความนี้จึงยกน้ำเสียงของหญิงผู้เข้ากลุ่มไลฟ์โค้ชมา เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เธอเผชิญ ควบคู่ไปกับความเห็นจาก พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น เพื่อสะท้อนมุมมองเชิงจิตวิทยา ต่อศาสตร์ชีวิตรูปแบบนี้ เพื่อตอบคำถามที่ว่า เส้นแบ่งของการเป็นไลฟ์โค้ชและลัทธิอยู่ตรงไหน อะไรที่ทำให้ไลฟ์โค้ชประสบความสำเร็จ และข้อควรระมัดระวังสำหรับการเข้าร่วมกลุ่มคืออะไร

 

– 1 –

 

 

‘แหวน’ (นามสมมติ) รุ่นน้องที่ได้เข้าร่วมกลุ่มไลฟ์โค้ชเล่าว่า จุดหมายแรกในการเข้ากลุ่มไลฟ์โค้ชของเธอ คือความต้องการบรรเทาทุกข์ออกจากจิตใจ และหาเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อใช้ชีวิตได้ดีขึ้น

เพื่อนสนิทของเธอเป็นคนแนะนำกลุ่มไลฟ์โค้ชนี้ให้เธอรู้จัก เบื้องต้นแหวนและเพื่อนคนนี้มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง ทั้งแนวคิด และวิธีแก้ปัญหา ทั้งคู่เป็นแฟนหนังสือ ‘The Secret’ ที่เชื่อว่า สิ่งต่างๆ ทีเกิดขึ้นในชีวิต ล้วนเกิดจากความคิดของเราเอง เช่น ถ้าเราอยากได้อะไรบางอย่าง ให้เชื่อว่าเราได้มันจริงๆ แล้วจักรวาลจะดึงดูดเราไปอยู่ใกล้เป้าหมาย และได้มันมาในที่สุด แนวความคิดที่ใกล้เคียงกันนี้ทำให้เพื่อนคนนี้มีอิทธิพลทางความคิดกับแหวนอยู่มาก

กระทั่งวันหนึ่ง แหวนได้เผชิญสถานการณ์ที่ล้างความเชื่อแบบ The Secret การเติบโตขึ้นในทุกวันก็ทำให้เธอเริ่มคิดต่างไป ความลำบากในชีวิตการทำงาน บวกกับการสูญเสียสมาชิกครอบครัว ผลักให้เธอมีความคิดลบๆ เกิดขึ้นในจิตใจจนอยากหาทางออก เมื่อแหวนเอาปัญหานี้ไปคุยกับเพื่อนสนิท จึงได้รับคำแนะนำให้ไปเข้าคอร์สของกลุ่มไลฟ์โค้ชที่เพื่อนเป็นสมาชิกอยู่ ประจวบกับที่กลุ่มไลฟ์โค้ชนี้จะจัดคอร์สอบรมในวันรุ่งขึ้น โดยเป็นการเข้าอบรม ‘ฟรี’ พอดี แหวนจึงตัดสินใจไปเข้าร่วมตามคำแนะนำ

“วิธีการที่จะได้ไปคือ ต้องให้สมาชิกของกลุ่มพาเข้าไป สมาชิกหนึ่งคนจะนำคนใหม่ๆ เข้าไปได้แค่คนเดียวเท่านั้น เขาจะเรียกคนที่พาเราเข้าไปว่าเป็น ‘ต้นบุญ’ ต้นบุญของเราก็คือเพื่อนคนนี้”

การร่วมกิจกรรมในคอร์สจะต้องนอนค้างสองคืน “ให้ความรู้สึกเหมือนไปเข้าค่ายนั่นแหละ” แหวนว่า

ทันทีที่ไปถึงทุกคนก็มารวมตัวกันในห้องขนาดใหญ่ มีคนหน้าใหม่แบบแหวนประมาณหนึ่งร้อยคน มีสมาชิกและต้นบุญที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่อีกจำนวนหนึ่ง และมีหัวหน้ากลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ด็อกเตอร์’ หนึ่งคน โดยด็อกเตอร์จะเป็นเหมือนศูนย์กลาง หัวหน้า และเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของกลุ่ม

“พอเข้าไปเราจะเห็นว่าในกลุ่มมีลำดับขั้น มีผู้นำ มีศิษย์เอก มีต้นบุญหรือสมาชิกที่คอยชักนำคนหน้าใหม่เข้ามา เราสังเกตได้ว่าทุกคนจะให้ความเคารพและเทิดทูนด็อกเตอร์คนนั้นมาก เขาจะเรียกด็อกเตอร์ว่าคุณพ่อ และคอยย้ำว่าด็อกเตอร์คือคนที่ประสบความสำเร็จมาก สามารถดึงดูดความสุขและความสำเร็จมาสู่ตัวเองได้”

“เขาบอกว่าด็อกเตอร์เป็นคนมีความรู้ในระดับสากล คอยเปิดวีดีโอที่ด็อกเตอร์เคยไปบรรยายตามที่ต่างๆ แต่เราไม่รู้ว่า เขาได้คำว่าด็อกเตอร์มาจากสาขาวิชาความรู้อะไร” แหวนเล่า

หลังจากรวมตัวกัน จะมีสมาชิกออกมาเล่าประสบการณ์ของตัวเองว่า ก่อนหน้าที่จะมาเข้าคอร์สเป็นอย่างไร หลังเข้าคอร์สชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ต้นบุญบางคนเล่าว่าเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และการเข้าคอร์สนี้ทำให้เขาไม่ได้ต้องพึ่งยาเพื่อรักษาอีก ตัวแหวนเองเป็นคนที่พยายามทำความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต และมีคนสนิทป่วยเป็นโรคซีมเศร้า เรื่องเล่าของสมาชิกคนนี้ กับท่าทีปฏิเสธการกินยาและรักษากับจิตแพทย์ จึงสะกิดใจเธอเล็กน้อย แต่เธอก็พยายามเปิดใจว่า การบำบัดนั้นมีหลายทาง และไลฟ์โค้ชอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นกัน

หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน การอบรมก็เริ่มต้นขึ้น กิจกรรมแรกคือ ‘การกอดตัวเอง’ โดยให้ผู้อบรมกอดตัวเองแล้วสื่อสารกับความคิด ความรู้สึกที่อยู่ภายในใจ ระหว่างนั้นจะมีการเรียกคนออกไปสาธิตด้วย

“ส่วนใหญ่คนที่ได้ออกไป จะกอดตัวเองแล้วพูดถึงความผิดบาปที่ทำกับพ่อแม่ ความรู้สึกผิดต่อตัวเอง แล้วคนที่เหลือก็จะคอยปรบมือให้

“เขาให้เราออกไปพูดบ้างเหมือนกัน เราก็พูดไปตามที่ตัวเองเชื่อว่า การกอดตัวเองของเราเชื่อมโยงกับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว เราเล่าความคิดถึงและความเสียดายที่อยู่ในใจ ส่วนตัวเราก็ค่อนข้างรู้สึกโอเคกับการทำกิจกรรมนี้นะ แต่มีสมาชิกอยู่คนหนึ่งเขาออกมาพูดถึงน้องชายตัวเอง บอกว่าน้องไม่มั่นใจในตัวเอง น้องมีปมปัญหาในชีวิต เรื่องราวมันส่วนตัวมากๆ เราเลยรู้สึกอึดอัดมาก เหมือนเขาเอาปัญหาของน้องมาประจาน ก็เลยกอดตัวเองไปพร้อมกับใจที่เริ่มตั้งคำถาม”

 

 

“ทุกครั้งที่มีกิจกรรมอะไร เขาจะให้คนฟังคอยปรบมือ แต่เราไม่ได้ปรบมือเลยตั้งแต่เริ่มไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะเราพยายามตั้งใจฟัง และส่วนตัวไม่ใช่คนแสดงออกอะไรอย่างโจ่งแจ้งอยู่แล้ว” แหวนเล่า

ในช่วงพักกลางวัน พี่เลี้ยงจะยกถาดอาหารมาให้กิน พร้อมกับพูดคุยถามไถ่ ส่วนใหญ่จะบอกผู้เข้าอบรม ให้พยายามเปิดใจ อย่าใช้เหตุผล ให้ใช้ใจในการทำกิจกรรม แหวนก็รับคำ

ขณะที่พักอยู่นั้นแหวนรู้สึกไม่สบาย มีอาการคลื่นไส้ พี่เลี้ยงคนหนึ่งก็เข้ามาถามอาการ หายาให้ และเริ่มพูดด้วยเสียงกดดันว่า “คลื่นไส้มันทำให้ปรบมือไม่ได้เลยหรอ ทำไมไม่ปรบมือตอนทำกิจกรรม” ความกดดันที่ได้รับทำให้เธอเริ่มกลัว

หลังจากทานข้าว ก็เข้าสู่กิจกรรมที่แหวนเล่าว่าทำให้สติของเธอขาดผึง เธอเรียกมันว่ากิจกรรม ‘โอม’

“พี่เลี้ยงจะออกมายืนเรียงกัน ให้ผู้เข้าอบรมหน้าใหม่มาหันหน้าเข้าหา แล้วพี่เลี้ยงก็เริ่มสาธิตการทำกิจกรรม พี่เลี้ยงเริ่มเปล่งเสียงคำว่า ‘โอม’ ออกมา เสียงดังฟังชัด ไล่ระดับเสียงไปเรื่อยๆ พอเปล่งเสียงโอมถึงขั้นที่ดังที่สุด ทุกคนจะตะโกนอย่างรุนแรง กำมือ ตัวเกร็ง แล้วสุดท้ายก็อ้วกออกมาใส่กระโถนของตัวเอง

“บางคนก็อ้วกจริงๆ บางคนอ้วกออกมาเป็นน้ำลาย บางคนออกมาแค่เสียง เราตกใจมาก แต่พอหันไปดูคนรอบข้าง หลายคนมีแววตาเลื่อมใส พร้อมจะทำตาม ตอนนั้นเราคิดว่าคนที่อ้วกน่าจะเกิดจากการระคายเคืองที่คอ เพราะใช้คอเปล่งเสียง

“ช่วงที่ทุกคนอ้วก ด็อกเตอร์หรือผู้นำกลุ่มก็จะเริ่มพูดว่า ‘สิ่งที่อ้วกออกมาคือ มาร มารที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวของทุกคน มารที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณและร่างกายของเรา พออ้วกออกมาแล้ว เราก็พร้อมที่จะเป็นคนใหม่”

“พอเขาบอกให้สมาชิกใหม่ทำ เราจึงเริ่มออกเสียงโดยใช้ท้องเปล่งเสียงเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บคอ ในขณะที่ทุกคนเริ่มอ้วก เราก็หลับตาเปล่งเสียง เพราะกลัวสิ่งที่เกิดขึ้น พี่เลี้ยงรอบๆ คอยตะโกนว่า อย่าเก็บเสียง มีคนเข้ามากระซิบข้างหูเราว่าให้ลืมตา สุดท้าย เราก็ไม่อ้วก ขณะที่ทุกคนอ้วกหมด”

แหวนรู้สึกสับสนมาก เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกลไกทางร่างกาย ทุกๆ คนตะเบ็งเสียงจากคออย่างแรง จนร่างกายอ้วกออกมา ไม่ได้คิดว่ามันคืออภินิหาร เมื่อแหวนเริ่มออกอาการกลัว และอ้วกออกมาไม่ได้ ก็เริ่มตกเป็นเป้าสายตา

หลังจากกิจกรรมโอม ก็เข้าสู่กิจกรรมถัดไปที่แหวนเรียกว่า ‘กระจกส่องวิญญาณ’ โดยจะมีกระจกหนึ่งบาน ให้สมาชิกมองในกระจก มองเข้าไปในนัยน์ตาของตัวเอง พร้อมกับเสียงของด็อกเตอร์ดังขึ้นเป็นระยะว่า ‘นี่คือคนที่ทำผิดมาแล้วหลายร้อยชาติ นี่คือมารที่อยู่ในตัว ทุกคนต้องมองให้เห็นว่ามารนั้นทำอะไรอยู่’

“ตอนที่เขาพูดว่าในตัวเรามีมาร เป็นดวงจิตและวิญญาณที่เวียนว่ายตายเกิด ทำผิดมาหลายภพชาติ ทำบาปมามาก เราสับสนมาก เพราะส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องภพชาติ และไม่มีสัญญาณที่บอกว่ากลุ่มนี้ใช้หลักการที่อิงกับความเชื่อเรื่องภพชาติ หรือศาสนาด้วย”

“พอเขาให้พี่เลี้ยงออกมาสาธิต พี่เลี้ยงคนที่เคยบอกว่าตัวเองเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาก็มองเข้าไปในกระจกแล้วกรี้ดออกมา พูดใส่กระจกว่า ‘มึงมันเหี้ย มึงมันเลว สิ่งที่มึงเป็นทำให้แม่เจ็บปวด’ แล้วเขาก็กรี้ด พยายามพุ่งตัวเข้าไปในกระจก โดยมีกลุ่มพี่เลี้ยงคนอื่นคอยรั้งตัวเขา และเอาผ้าขาวม้ามัดตัวเอาไว้”

“เราสังเกตว่าใครที่ทำกิจกรรมนี้แล้วไม่ร้องไห้หรือแสดงอารมณ์รุนแรง จะรู้สึกผิดหวังในตัวเอง เหมือนผิดหวังที่ทำไม่ได้เหมือนคนอื่น รวมถึงด็อกเตอร์ที่มองอยู่ก็จะแสดงอาการผิดหวัง พี่เลี้ยงก็จะเริ่มกดดันหนักขึ้น บอกให้ร้องไห้ออกมา

“ตอนนั้นเรากลัวมากและวางแผนว่าจะเลี่ยงออกไปเข้าห้องน้ำ เพื่อจะไม่ต้องทำกิจกรรมนี้ แต่พอกลับจากห้องน้ำ เขาก็บอกให้เราทำ เอาผ้าขาวม้ามามัดเรา เราคิดว่าหากมีใครไม่ร้องให้ หรือไม่อิน มันคงจะกระทบความเชื่อคนอื่น จึงต้องถูกพี่เลี้ยงกดดัน พอเห็นแบบนั้น เหมือนเราได้บทเรียนว่า ถ้าไม่ร้องไห้จะโดนแบบนั้น ก็เลยพยายามทำให้ตัวเองร้องไห้ จนเราร้องออกมาได้จริงๆ แล้วทุกคนก็เข้ามากอด บอกว่าเราเก่งมาก ทั้งที่เราไม่ได้รู้สึกร่วมด้วยเลย สิ่งที่เราพูดกับตัวเองในตอนนั้นเป็นการเอาตัวรอด ถ้าไม่ทำอาจจะเจอความกดดันอีกก็ได้”

แหวนเริ่มสังเกตเห็นลักษณะร่วมของกิจกรรมที่เน้นการกระตุ้นอารมณ์ ให้ทุกคนต้องร้องไห้ ให้ปลดปล่อยความรู้สึก เช่น กิจกรรมถัดมา ที่ให้ผู้อบรมหัวเราะและร้องไห้สลับไปมา

“เขาจะบอกให้เราหัวเราะให้กับความสิ้นหวัง ให้ความโกรธ หัวเราะให้กับโรคซึมเศร้า บอกว่า ถ้าเราหัวเราะในวันนี้ เราจะไม่ต้องกลับไปกินยาแล้ว เราจะหายแล้ว หัวเราะไล่ซึมเศร้าออกไป กิจกรรมนี้ทำให้เราไม่โอเคเข้าไปอีก เพราะรู้ว่าในที่นั้นมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอยู่ด้วย เรากลัวว่าเขาจะรู้สึกแย่ เหมือนบอกว่าการเป็นซีมเศร้ามันผิด”

หลังจากหัวเราะไปเรื่อยๆ ประมาณสิบนาที ก็จะมีการเป่านกหวีดเพื่อให้เปลี่ยนไปร้องไห้ ทุกคนก็จะร้องออกมาเสียงดัง สิบนาทีผ่านไปก็เป่านกหวีดให้กลับไปหัวเราะอีกครั้ง

“ถ้าใครไม่ร้องก็จะโดนถามว่าทำไมไม่มีน้ำตา” แหวนกล่าว

แม้จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม แต่ไลฟ์โค้ชแห่งนี้ขายประกาศนียบัตรหลังจบคอร์สในราคา 500 บาท แหวนเล่าว่าคนส่วนใหญ่เลือกจ่ายเงินซื้อ เพราะพี่เลี้ยงคอยบอกว่าจะได้มีเครื่องยืนยันว่าจบหลักสูตรนี้แล้ว

แหวนยังกล่าวว่า ตลอดกิจกรรม สมาชิกต้นบุญจะพยายามขยายกลุ่มด้วยการชวนให้ผู้อบรมหาคนมาเข้าคอร์สเพิ่ม เพื่อจะได้กลายเป็นต้นบุญ เป็นการขยายบุญออกไป ขณะเปิดวิดีโอให้ดูสมาชิกเก่าหรือคนที่เคยเข้าอบรม แหวนเห็นว่ามีหลายองค์กรที่มาอบรมกับไลฟ์โค้ชนี้ บางครั้งมีสมาชิกที่มีอำนาจหรือมีผู้ใต้บังคับบัญชา เกณฑ์คนมาเข้าร่วม ตลอดเวลาการอบรมสมาชิกทุกคนจะคอยย้ำว่าต้องการให้ไลฟ์โค้ชกลายเป็นศาสตร์ระดับโลก

ท้ายที่สุด แหวนตัดสินใจไม่ซื้อประกาศนียบัตร เพราะไม่ประทับใจกับกิจกรรม และยังไม่ทราบที่มาที่ไปอันแน่ชัดของผู้นำกลุ่ม หลังออกจากการอบรม แหวนรู้สึกเปลี่ยนไปกับเพื่อนสนิทเล็กน้อย และไม่พูดคุยกันไปสักพักใหญ่

“ไม่ได้เคลียร์กันด้วย เพราะเรารู้สึกว่ามันเซนซิทีฟ สิ่งนี้มันมีอิทธิพลกับเพื่อนเรามากๆ เพื่อนบอกว่าด็อกเตอร์ทำให้เพื่อนเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ และได้ทำอาชีพที่อยากทำ กลุ่มยังมีอิทธิพลกับครอบครัวของเพื่อนด้วย ทั้งครอบครัวเข้าอบรมหมด

“ลึกๆ เราก็อยากแชร์มุมของเรา แต่น่าจะเป็นเรื่องยาก ที่เพื่อนจะยอมทำความเข้าใจ หลังจากกลับมาคุยกัน เพื่อนก็ยังพูดถึงศาสตร์นี้อยู่เรื่อยๆ บอกว่าจะเอาวีซีดีมาให้บ้าง ให้ลองใช้วิธีการที่ไปอบรมมาจัดการปัญหาบ้าง เราก็พยายามปล่อยผ่านไป ไม่รู้จะพูดอะไร”

จากประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้หลังการอบรม แหวนต้องรีบนัดพบนักจิตบำบัด เพราะเธอรู้สึกเสียขวัญ และทำให้ตกอยู่ในความเครียด แหวนจึงฝากถึงคนที่อยากจะเข้าคอร์สไลฟ์โค้ชไว้ว่า “สำหรับเรา คนที่ต้องระวังเป็นพิเศษหากจะไปเข้าอบรม หรือเรียนคอร์สที่ไม่รู้ว่าจะไปเจออะไรบ้าง คือคนที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต หรือคนที่มีสภาวะไม่มั่นคงทางอารมณ์อย่างเรา เพราะถ้ามันไม่ช่วยคุณไปเลย ก็อาจจะรู้สึกไม่ดีกับมันไปเลยก็ได้”

 

 

 

– 2 –

 

หลังจากได้ฟังประสบการณ์ของแหวน ด้วยกิจกรรมแปลกประหลาดเหล่านั้น ฉันจึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความเป็นลัทธิ หรือ Cult อย่างที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น ลัทธิ Buddhafield โดยการนำของ Michel Rostand ในยุค 80 ประเทศสหรัฐอเมริกา หนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้าร่วมกลุ่มเพื่อแสวงหาเสรีภาพ ร่วมกันประกอบพิธีกรรมประหลาดๆ เช่น เปลือยกายร้องเล่นเต้นรำอย่างไร้ขอบเขต ล้มหมดสติเพียงแค่ผู้นำกลุ่มแตะที่หน้าผาก หรือลัทธิที่เป็นข่าวดังอย่าง Manson Family ในยุคของบุปผาชน ผู้ร่วมกลุ่มมีศรัทธาในเสียงเพลง และแนวคิดต่อต้านสงครามของผู้นำ กิจกรรมในกลุ่มยังมีการใช้ยาเสพติด และการประกอบกิจกรรมทางเพศระหว่างสมาชิก และความเลื่อมใสโดยไม่ตั้งคำถามของลัทธินี้ยังผลักให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ฆาตกรรมผู้บริสุทธิในภายหลังด้วย

แม้เรื่องราวของแหวนจะไม่ได้ดำเนินไปอย่างรุนแรงเหมือนกับลัทธิในต่างประเทศ แต่จุดร่วมที่เกิดขึ้นคือกิจกรรมที่แปลก และความเลื่อมใสในตัวผู้นำ

เพื่อทำความเข้าใจเส้นแบ่ง หรือเกณฑ์การจำแนกระหว่างไลฟ์โค้ช กับ ลัทธิ ฉันจึงนัดพบกับ พญ.วินิทรา แก้วพิลา อาจารย์ประจำสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น เพื่อสอบถามถึงมุมมองทางจิตวิทยา โดยพญ. วินิทรา ได้แบ่งอัตลักษณ์ของทั้งสองอย่างไว้ว่า ไลฟ์โค้ช มีลักษณะการให้คำปรึกษาก็จริง แต่ไม่ได้ต่อยอดจากสายสุขภาพจิตจากบุคลากรด้านสาธารณสุขโดยตรง กล่าวคือ แยกออกจากการทำจิตบำบัด หรือ counselling ที่มีหลักสูตร กระบวนการฝึกอย่างเป็นระบบ และมีระบบการประเมินรับรองการศึกษาอย่างชัดเจน

กลุ่มไลฟ์โค้ชหรือคอร์สพัฒนาตัวเองอาจดำเนินกิจกรรมให้คำปรึกษาในหลากหลายด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ เรื่องเป้าหมายในอนาคต เรื่องส่วนตัว โดยเน้นการบรรลุเป้าหมาย โดยไลฟ์โค้ชมีหลากหลายมาก หลายกลุ่มอาจมีการฝึกฝน และวิทยากรที่ผ่านการศึกษาอย่างมีระบบ แต่ก็มีหลายกลุ่มที่ไม่มีระบบที่ชัดเจนว่า ผู้นำกลุ่มหรือวิทยากรต้องผ่านการเรียน หรือได้ใบรับรองด้านไหนมา

 

 

“ไลฟ์โค้ชบางที่ก็มีระบบ license ของเขาเอง ต้องฝึกฝน ต้องใช้เวลา แต่ในขณะเดียวกัน บางกลุ่มหรือบางคนก็เข้าใจและเรียกตัวเองว่าไลฟ์โค้ชเลย บางคนไปเทรนด์ 3 วัน หรือ 3 ชั่วโมง ก็เรียกตัวเองว่าโค้ชแล้ว ฉะนั้นมันเลยยากที่เราจะบอกว่า ไลฟ์โค้ชแต่ละที่ดีหรือไม่ดียังไง เพราะมันขึ้นอยู่กับบุคคลและการเทรนด์ของเขา

“ในฐานะผู้รับบริการ เราจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังอคติและวิธีคิดแบบสุดโต่ง เหมารวม และตัดสินโดยที่ยังไม่รู้อย่างดีพอว่า กลุ่มคน แนวคิด หรือวิถีชีวิตหลายอย่างที่เกิดขึ้น ถูกผิด ดีประเสริฐ หรือชั่วร้ายไปหมด ”

ส่วนคำว่า ลัทธิ หลายคนอาจใช้เรียกกลุ่มคนที่มีความเชื่อหรืออุดมการณ์แปลกๆ แต่แท้จริงแล้ว ลัทธิ เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อบางอย่างที่เกี่ยวกับวิถีชีวิต โดยต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ 1. ต้องมีผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ  2. มีระบบชนชั้น มีระบบควบคุมดูแล และ  3. มีการแบ่งแยก กลุ่มเขากลุ่มเรา

ลัทธิเป็นเรื่องของความเชื่อ และระบบความเชื่อก็มีอยู่ทุกที่ ทั้งในครอบครัว ในสังคม กฎหมาย หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังมีระบบความเชื่อของตัวเอง แต่การจำแนกว่าการรวมกลุ่มแบบไหนที่เป็นอันตราย และเข้าข่ายเป็นลัทธิ สามารถสังเกตได้จากลักษณะบางประการ

พญ.วินิทรา กล่าวว่า ลัทธิมักจะสร้างระบบหรือกิจกรรมให้เป็นระบบปิด ตัวกิจกรรมจะมีลักษณะควบคุมความคิด มีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยน mindset ของผู้เข้าร่วม นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มในการขยายกลุ่ม หรือเพิ่มสมาชิกของลัทธิด้วย

“ลัทธิมักมีเบื้องหลังความต้องการนอกเหนือไปจากเรื่องจิตวิญญาณ ถึงแม้เบื้องหน้าจะเน้นเรื่องจิตวิญญาณ แต่เบื้องหลังส่วนใหญ่เป็นเรื่องการอยู่รอด ไม่ว่าจะทางธุรกิจ การเมือง เงิน หรืออำนาจ เพราะฉะนั้นลัทธิจึงต้องหาสมาชิกเพิ่ม โดยเอาคนเข้ามาปรับเปลี่ยนความคิด ทำให้รู้สึกว่าความเชื่อเราถูกต้อง ความเชื่อคนอื่นผิด คนอื่นไม่เข้าใจเรา และปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของคนที่อยู่ในกลุ่มให้ไปด้วยกันได้”

“อีกลักษณะคือ ลองสังเกตดูว่าแนวคิดหรือแนวความเชื่อที่เขาขาย มัน extreme มากหรือเปล่า บางที่อาจจะขายความสุข หรืออิสรภาพที่มันดีเวอร์ๆ มีคำตอบที่ชัดเจนให้ปัญหา ง่ายไปหมด ดีไปหมด ทุกคนทำสำเร็จได้”

คนส่วนใหญ่อาจเข้ากลุ่มหรือกระบวนการพัฒนาตัวเอง เพราะเชื่อว่าอาจช่วยทำให้เรามีความสุขมากขึ้น มีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จ และในหลายครั้งก็มักถูกดึงดูดด้วย community ความเป็นสังคมที่ดี หรือการเป็นครอบครัวที่คอยช่วยเหลือกัน

“คนที่มีปัญหาอยู่แล้วเช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหา self esteem น้อย การเข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้อาจทำให้เขาได้รับการชื่นชม ได้รับความรัก เขาก็จะรู้สึกว่ามันเติมเต็มชีวิตเขา การที่มีกลุ่มเพื่อพัฒนาตนเองแบบ coaching เยอะขึ้น อาจเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความปรารถนาของมนุษย์ เช่น ต้องการความรัก ความเข้าใจ การยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความมั่นคง หรือคุณค่าความหมายที่เป็นอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ คือเมื่อคนเราต้องการ เขาก็เอาสิ่งเหล่านี้มาขายเพื่อดึงเราเข้าไปอยู่ในนั้น”

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมช่วงนี้คนถึงให้ความสนใจกับกลุ่มพัฒนาตนเองมากขึ้น พญ.วินิทรามองว่า ถ้าเรามองภาพรวมของสังคม และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของสังคมโลก มีหลักฐานมากมายที่บอกว่า ชีวิตคนยืนยาวมากขึ้น เรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็น้อยลง รักษาได้มากขึ้น ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นในชีวิตของมนุษย์ ก็เข้าถึงได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมนุษย์อาจจัดการความทุกข์ได้น้อยลง คนจำนวนมากไม่มีภูมิคุ้มกันต่อความทุกข์ และต้องการความสุขมากขึ้น

“ความสุขมันไม่ใช่แค่ความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว ถ้าเป็นยุคสมัยของพ่อแม่เรา เขาทำงานหนักเพื่อให้ได้ความมั่นคง แต่ตอนนี้มันไม่พอแล้วสำหรับคนรุ่นใหม่ ชีวิตอาจต้องมีอิสรภาพ ต้องทำตามความฝัน ต้องมี passion ต้องประสบความสำเร็จ แตต้องง่าย ต้องเร็วด้วย ความต้องการของคนมันเขยิบขึ้นไปอีก

“ถ้ามองในมุมมองแบบจิตวิทยา ก็อาจจะใกล้เคียงกับ ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ขั้นต้นคือความต้องการทางกายภาพ ความอยู่รอด มีปัจจัย 4 ให้ดำรงชีวิต หลังจากนั้นคือความมั่นคงปลอดภัย จะมีเงิน มีปัจจัย 4 ไปตลอดไหม แล้วก็ต้องเริ่มมีความต้องการทางจิตใจ ได้รับความรัก ไปจนถึงมีสังคม ได้การยอมรับ มากขึ้นไปอีกคือ ต้องเข้าถึงศักยภาพขั้นสูงสุดของตัวเอง เราเป็นใคร เราเกิดมาเพื่ออะไร เราจะทำงานแบบไหน ฉะนั้นไลฟ์โค้ชจึงมีมากขึ้น ตามความต้องการที่ก้าวไปอีกขั้นนี่แหละ”

ทั้งไลฟ์โค้ชและลัทธิมีแนวโน้มที่จะยึดติดกับตัวผู้นำ หรือโค้ช ในฐานะผู้สอนกระบวนการ นำหนทางออกมาให้ พญ.วินิทราได้ให้เหตุผลที่มนุษย์ซึ่งรักอิสรภาพ ยอมมอบอำนาจ หรือคล้อยตามผู้นำไว้ว่า เป็นเพราะคนเราอาจเติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่เห็นในอำนาจในตัวเอง หลายครั้งระบบและโครงสร้างของสังคมก็ทำให้เรารู้สึกไม่มีอำนาจ หรือไม่สามารถควบคุมอะไรได้ คนก็เลยไปเชื่อว่าอาจมีอำนาจที่เหนือกว่าเรา และในบางครั้งก็มาในรูปแบบของผู้นำ

“มันเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมองหาสิ่งที่เหนือกว่าเรา เพราะมันทำให้เรามีพลัง อย่างคนที่ไปรบ คนที่ยอมพลีชีพเพื่อชาติ คนที่สู้เพื่ออุดมการณ์อะไรบางอย่าง จะเห็นว่าเขาได้พลังงานมาเยอะมาก เพราะเขาเชื่ออะไรที่มากไปกว่าตัวเขา ความเชื่อเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติครองโลกได้ ทำให้เรายอมทุกข์ ยอมทน รวมกลุ่มกันสู้ และสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่

“แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาได้ และอาจนำไปสู่สงครามก็ได้ เราจึงเห็นคนสู้กันในเรื่องศาสนา เราฆ่ากันด้วยความเชื่อที่เราคิดว่าดี เราถึงต้องมีความพอดี และต้องเห็นภาพทั้งระบบ ไม่ใช่ว่าความเชื่อเราถูกอย่างเดียว”

 

 

เมื่อถาม พญ.วินิทราถึงความเป็นไปได้ที่คนเราจะเปลี่ยนความเชื่อของตัวเอง หรือทำความเข้าใจความเชื่อด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ในสถานการณ์ของแหวนและเพื่อนสนิท เป็นไปได้หรือไม่ที่เพื่อนสนิทของแหวนจะเข้าใจความกลัว หรือรับรู้ว่ากระบวนการของไลฟ์โค้ชนั้นอาจไม่เวิร์กกับทุกคนเสมอไป พญ.วินิทรา ตอบว่า

“คนเราชอบความต่อเนื่อง ชอบความชัดเจน ฉะนั้นเวลาเราเชื่ออะไรไปแล้ว แต่ดันมีความเชื่ออื่นมาขัด สิ่งที่คนเราทำอันดับแรกเลยคือ ปรับเปลี่ยน และหาเหตุผลให้สิ่งที่เราเชื่ออยู่แล้วมันถูก มันเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเราควรจะใช้เวลาในการทบทวนความเชื่อของเราด้วยว่า สิ่งที่เราเชื่อ อาจไม่ถูกต้องเสมอไป

“บางลัทธิที่ใช้ความเชื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้ บางลัทธิหากินกับความเชื่อที่ว่า เดี๋ยวโลกจะแตก สิ่งแวดล้อมมันแย่ ภายใน 5 ปีนี้ จะเกิดภัยพิบัติ สิ่งเหล่านี้พอเราเชื่อ เราก็จะมองว่ามันจริง เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างซึ่งมีมูลความจริง แต่เมื่อถึงเวลา 5 ปี แล้วไม่เกิดภัยพิบัติขึ้น เราก็จะบอกว่า ก็กลุ่มเราปฏิบัติดี ตั้งใจสวดมนต์ ตั้งใจปฏิบัติธรรม กลุ่มของเรามีส่วนช่วยทำให้ภัยพิบัติเลื่อนออกไป แล้วเราก็ยิ่งเชื่อเข้าไปใหญ่ เพราะว่าเราอยากจะเชื่อ

“มันยากมากที่อยู่ดีๆ เราจะตั้งคำถามกับตัวเอง การตั้งคำถามมันเจ็บปวดมากนะ เหมือนการถามตัวเองว่านี่เราโง่หรือ และมันทำให้สมองเราเครียดมาก การสร้างเหตุผลให้สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องง่ายกว่า

“จะเห็นได้เลยว่า เวลาเราเสพข่าวการเมือง เราเลือกเสพสิ่งที่มันเป็นไปตามความเชื่อของเรา ยากมากเลยที่เราจะอ่านสิ่งที่ไม่ตรงตามความเชื่อเดิม หรือถ้าเราอ่าน ก็จะมีเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมเราไม่ควรเชื่อข้อมูลอีกแบบอยู่ดี”

พญ.วินิทรา แนะนำว่า หากเราต้องการบอกคนรอบข้างให้เห็นความเชื่ออีกด้าน เราต้องสำรวจดูว่าความเชื่อของเขามันแรงแค่ไหน บางครั้งการที่เราไปสวนกระแส หรือไปตั้งแง่กับสิ่งที่เขาเชื่อ อาจทำให้การสื่อสารมีแนวโน้มแย่ลง เราควรจะรับฟังเขาและให้ข้อสังเกตบางอย่างที่เป็นความจริง พร้อมกับแสดงความรู้สึกบ้าง เช่น ให้ข้อมูล พร้อมบอกความรู้สึกว่า เราเป็นห่วงเขาเรื่องอะไร เราเห็นผลกระทบที่ตามมาจากความเชื่อของเขาอย่างไรบ้าง โดยที่ไม่ได้บอกว่าความเชื่อของเขาผิด

ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการกลุ่มเพื่อพัฒนาตนเองแบบ coaching อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตคนหลายคนหรือทำให้ชีวิตคนดีขึ้นได้จริงๆ แต่ พญ.วินิทรา ให้ความเห็นอีกด้านว่า ชีวิตที่ดีขึ้นก็อาจเป็นเพราะตัวบุคคลได้พาตัวเองเข้าไปอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา ไม่ว่าวิธีการจะเป็นอย่างไร หรือบางครั้งก็อาจดีขึ้นด้วยแรงศรัทธา แต่ไม่ว่าอย่างไร การที่เราดีขึ้น ไม่อาจสรุปได้เสมอไปว่านั่นคือวิถีชีวิตที่ถูกต้อง และหากเราเริ่มเห็นพฤติกรรมของกลุ่ม หรือระบบที่ไม่ตรงไปตรงมา เราต้องมีสติ มองด้วยใจเป็นกลาง และไม่เชื่อจนสุดโต่ง เพราะมันอาจเป็นสัญญาณให้เราย้อนกลับมาทบทวน หรือหาข้อมูลเพิ่มต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

กระบวนการกลุ่ม coaching บางอย่าง มันเวิร์กกับบางคน แต่อาจจะไม่เวิร์กหรืออาจเกิดผลข้างเคียงกับหลายคน ลองนึกถึงยาแรง บางคนใช้แล้วหาย แต่กลับทำให้บางคนป่วยเพิ่มขึ้นไปอีก กระบวนการของบางที่จะมีกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์และอาการทางกายที่รุนแรงมาก วิธีการแบบนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ป่วยหรือมีปัญหาทางใจเยอะ เพราะอาจทำให้อาการกำเริบ โดยที่ตัวโค้ชไม่รู้ว่าจะช่วยเขายังไงต่อ

“คำถามก็คือ แล้วสิ่งนี้มันควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้หรือเปล่า ถ้าเราปล่อยให้ใครเข้าถึงก็ได้ จะเป็นอันตรายไหม หรือมันควรจะต้องมีระบบเพื่อควบคุมอะไรบางอย่างด้วย” พญ.วินิทรา ทิ้งท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save