ธาดา เฮงทรัพย์กูล : โลกบาดาล งานคอลลาจ และประวัติศาสตร์แห่งการจมดิ่ง

ธาดา เฮงทรัพย์กูล : โลกบาดาล งานคอลลาจ และประวัติศาสตร์แห่งการจมดิ่ง

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่องและภาพ

 

You lead me down, to the ocean
So lead me down, by the ocean
You know it’s been a long time,
You always leave me tongue tied.

 

ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งจากเพลง ‘The ocean’ ของ Richard Hawley บทเพลงหวานเศร้าที่ค่อยๆ ฉุดให้เราให้ดำดิ่งในอารมณ์ จมสู่ความเวิ้งว้างของมหาสมุทรแห่งความโดดเดี่ยว

ธาดา เฮงทรัพย์กูล ช่างภาพ-ศิลปินอิสระ นำประโยคเดียวกันนี้มาตั้งเป็นชื่อนิทรรศการล่าสุดของเขา งานที่พาเราดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำ ต่างออกไปตรงที่มหาสมุทรของธาดานั้นประกอบสร้างขึ้นจากเศษซากสงคราม

รถถังที่ถูกทำให้เป็นปะการังเทียม จดหมายของคู่รักในช่วงสงครามเวียดนาม วิดีโออาร์ตที่สกัดเม็ดสีจากชุดลายพราง ภาพเปลือยเปล่าของศิลปิน คือองค์ประกอบที่ถูกนำมาจัดแสดงในรูปของงานคอลลาจ ให้ความรู้สึกประหลาดเมื่อย่างกรายเข้าไปอยู่กลางโถงใหญ่ ทั้งสงบและหวาดหวั่น อบอุ่นแต่เยือกเย็นในเวลาเดียวกัน

“เราทุกคนต่างถูกทอดทิ้งไว้อยู่ใต้น้ำ” คือใจความสำคัญที่ก่อให้เกิดเป็นงานชิ้นนี้

ธาดาบอกว่าโลกใต้น้ำที่เขาสร้างขึ้นมา อาจเหมือนประเทศไทยในความรู้สึกของใครหลายคน เป็นโลกที่แปลก ลึกลับ ต่างกับอีกโลกที่อยู่บนบกโดยสิ้นเชิง

โลกที่ว่านั้นเป็นอย่างไร การจมดิ่งเกิดจากตัวเราเองหรือน้ำมือของใคร เศษซากประวัติศาสตร์น่าสนใจกว่าเศษซากปะการังตรงไหน

บทสนทนาต่อไปนี้คือการแหวกว่ายไปในทะเลขุ่น ทุกอย่างจะชัดเจนต่อเมื่ออยู่ใกล้ และใช้เวลาพินิจนานพอ

 

 

ที่มาที่ไปของนิทรรศการ You lead me down, to the ocean

เริ่มจากตอนที่ผมทำรีเสิร์ชเรื่องสงครามเวียดนาม ได้เจอสิ่งของ เจอคน เจอจดหมาย แล้วตอนช่วงที่มีรัฐประหาร จะมีสารคดีฉายในทีวีว่าทหารทำความดีอะไรบ้าง มีช็อตหนึ่งที่เขาทิ้งรถถังลงทะเล ผมเห็นว่าน่าสนใจ ก็เริ่มรีเสิร์ชหาข้อมูล รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เขาซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ หรืออาจใช้แล้วแต่ไม่เวิร์ก ก็เลยเอาไปทิ้งทะเล แล้วซื้อใหม่มาเรื่อยๆ ผมคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นตัวเชื่อมอะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับความคิดของทหาร

ตอนทำรีเสิร์ช ผมไปเจอมาหลายอย่างมาก แต่เลือกที่จะเอาจดหมายมาแสดงในงาน ซึ่งเป็นจดหมายที่คู่รักเขียนถึงกัน มันมี message ที่ส่งมาถึงตอนนี้ เช่น ทหารที่ออกไปรบ ถูกทำให้เชื่อว่าการไปรบแล้วจะได้เงินส่งกลับมาที่บ้าน หรือการเป็นทหารแล้วได้เงินเดือนที่ดี กระทั่งความคิดแบบชาตินิยมของคนที่ออกไปฆ่าคน โดยรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

 

ชื่อนิทรรศการ You lead me down, to the ocean มาจากไหน

เป็นเนื้อเพลงที่ผมชอบครับ มันเป็นความรู้สึกของการถูกทิ้งไว้ใต้น้ำ ไม่ใช่แค่รถถัง แต่คนที่ออกไปรบ กระทั่งคนที่ยังมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ในพื้นที่เดียวกันนี้ ผมว่ามันมีความรู้สึกร่วมแบบเดียวกัน เราต่างตกอยู่ในภาวะเดียวกัน

เวลาฟังเพลง มันทำให้เห็นภาพเชิงนามธรรมว่าเรายังอยู่ใต้น้ำ ซึ่งมองได้หลายอย่าง ถ้าถามผม การอยู่ใต้น้ำก็เหมือนเราอยู่อีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่โลกธรรมดา ไม่ใช่โลกปกติ

 

ในนิทรรศการนี้ object อย่างหนึ่งที่สำคัญและถูกใช้เป็นตัวเดินเรื่องคือ จดหมายของคู่รักที่เขียนถึงกันในช่วงสงครามเวียดนาม คุณไปเจอจดหมายเหล่านี้มาจากไหน

ที่โคราช บ้านเกิดผม จะมีคนเล่นของเก่าเยอะ โดยเฉพาะของที่เกี่ยวกับทหาร กองทัพ มีเยอะมาก จดหมายชุดนี้ผมได้มาจากเพื่อนพ่อที่เป็นคนขายของเก่า เขาเก็บพวกจดหมายกับภาพถ่ายในยุคนั้นไว้เยอะมาก แต่ผมเลือกมาเฉพาะของครอบครัวนี้ เพราะเห็นว่ามันมีการโต้ตอบกัน แล้วเอามาคัดอีกทีกับพี่โป่ง (ธนาวิ โชติประดิษฐ – ภัณฑารักษ์) เลือกมาโชว์แค่ส่วนหนึ่ง

 

 

 

 

แล้วจดหมายที่ว่า มันสะท้อนภาวะของสังคมช่วงนั้นหรือช่วงนี้ยังไงบ้าง

สะท้อนได้เหมือนกันเลย ผมว่ามันแทบไม่เปลี่ยนเลย สภาพสังคมวันนั้นกับทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น การเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู แล้วเราต้องฆ่าเขา หรือบางคนก็ทำเพื่อผลประโยชน์ เพื่อเงิน

ในเนื้อจดหมาย คนที่อยู่ฝั่งประเทศไทยแล้วไม่ได้ไปรบ จะเล่าว่าประเทศตอนนั้นเป็นยังไง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเราแทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ยังมีภาวะที่คล้ายๆ กันอยู่ กระทั่งระบบความเชื่อต่างๆ คนเป็นภรรยาเฝ้าภาวนากับหลวงพ่อ ขอให้สามีได้กลับมาจากสงคราม โดยส่วนตัวรู้สึกว่าภาวะแบบนี้มันมีความ contrast กันมาก ระหว่างความเป็นพุทธศาสนากับการใช้ความรุนแรง

 

พอต้องเอามานำเสนอหรือทำเป็นงานศิลปะ อยากให้เล่าวิธีคิดว่ามันออกมาเป็นรูปแบบนี้ได้ยังไง

วิธีการคัดเลือกแต่ละชิ้นงาน มันเหมือนงานคอลลาจ แต่ละอย่างมีความหมายของมัน มีบริบทแวดล้อมของมัน เราก็เอามาหาความสัมพันธ์ เชื่อมโยง แล้วจับมารวมกัน ถ้ามองนิทรรศการนี้ว่าอยู่ในหน้ากระดาษแผ่นนึง จะเห็นว่ามันมีความเป็นคอลลาจกันอยู่

 

อีกส่วนหนึ่งที่เป็นจุดดึงดูดในนิทรรศการ คือการฉายภาพเคลื่อนไหวของรถถังที่จมอยู่ใต้น้ำ อยากทราบว่าไปถ่ายที่ไหน ไอเดียของมันคืออะไร

มันเป็นสถานที่สาธารณะที่การท่องเที่ยวเขาผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว คือที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส เป็นจุดดำน้ำของนักท่องเที่ยว มีปะการังเทียมที่เกิดจากการเอารถถังและยุทโธปกรณ์ทั้งหลายไปจมอยู่ใต้ทะเล ช่วงปี 2553

ถ้าไปค้นหนังสือพิมพ์หรือข่าวช่วงนั้น ก็จะเจอเรื่องนี้ ที่เอารถถังไปจม ทำเป็นปะการัง กระทั่งช่วงหลังๆ ก็มีกระทู้พันทิปที่คนไปดำน้ำดูรถถังเต็มไปหมด

ผมดีไซน์ว่าอยากได้ภาพเป็นกล้องนิ่งๆ ใต้น้ำ แล้วกระบอกปืนหันมาทางคนดู อยากจำลองนิทรรศการนี้ให้เป็นโลกใต้น้ำจริงๆ พยายามทำให้ใกล้เคียงที่สุด แล้วให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่นั้น เพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเรานี่แหละที่อยู่ใต้น้ำด้วย ไม่ใช่แค่ตัวรถถัง

 

ที่บอกว่าอยากให้กระบอกปืนหันมาทางกล้อง ต้องการจะสื่ออะไร

ผมอยากให้ตัวรถถังดูมีพลัง มีอำนาจ ขณะเดียวกันก็มีความคุกคามคน ผมรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนกลัว สยบยอม หรือศิโรราบกับมัน

 

 

พอขึ้นไปบนนิทรรศการชั้น 2 จะเจอรูปถ่ายพอร์เทรตจัดแสดงอยู่ชุดหนึ่ง อันนั้นคืออะไร

มาจากงาน editon แรกที่ไปโชว์ที่ออสเตรเลีย เราจะมีแค่หนังสือที่เป็น introduction เพื่อให้คนที่นั่นเข้าใจว่าประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น เหมือนเล่าที่มาที่ไปของความเป็นปัจจุบันของประเทศ ก็เลยทำหนังสือประวัติศาสตร์เชิงคอลลาจขึ้นมา

วิธีการคือ ผมทำงานร่วมกับกราฟิกดีไซเนอร์ เอารูปที่ผมจัดเก็บไว้ทั้งหมดประมาณพันรูป ตั้งแต่รูปที่สแกนเอง รูปจากอินเทอร์เน็ต หรือจากข่าวชาวบ้าน แล้วให้โจทย์กราฟิกดีไซน์เนอร์ว่าผมต้องการเลือนเส้นแบ่งของภาพเหล่านี้ทั้งหมด ทำให้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมา merge และ dissolve อยู่ด้วยกัน

ผมก็เรียงรูปให้เขาดูว่าหน้านี้ มีรูปนี้นะ แล้วเขาก็เอาไปทำเป็นคอลลาจ โดยใช้เทคนิคเชิงดิจิทัล ค่อยๆ ไล่ narrative มา แล้วผมบอกให้เขายืดเส้นภาพในประวัติศาสตร์ให้มันยาวที่สุด ที่สำคัญคือต้องลากผ่านรูปที่ผมไปถ่ายที่ซอยรางน้ำ รูปรอยกระสุนที่ทางการบอกว่าใช้กระสุนปลอมในการสลายการชุมนุม แล้วค่อยไปจบที่ภาพเพื่อนๆ ของผมในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งทุกคนถูกทำให้หยุดนิ่ง ทำอะไรไม่ได้

ในหนังสือเล่มนี้ มันคือภาพถ่ายที่เบลอขอบรูปออก แล้วเอามาคอลลาจกัน จะมีเรื่องความเป็นรัฐชาติ ความเป็นชาตินิยม มีรูปน้องเมยที่ถูกซ้อมแล้วเสียชีวิต มีรูปรัฐที่พยายามสร้างภาพให้คนมุสลิมตักบาตรกับพระ สามจังหวัดชายแดน อะไรเหล่านี้มารวมอยู่ด้วยกันผ่านงานคอลลาจ แล้วผมก็เขียนคำอุทิศว่า ‘แด่คนที่ยังถูกทอดทิ้งไว้อยู่ใต้น้ำ’ ซึ่งก็หมายถึงคนไทยนั่นแหละ

นั่นคือเวอร์ชั่นที่เป็นหนังสือ introduction แต่พอมาที่ไทย เราเอามาโชว์แค่ 4 ภาพสุดท้ายในหนังสือ เอามาติดตั้งไว้ที่นี่ ให้มีความรู้สึกว่าคนเหล่านี้ก็อยู่ใต้น้ำเหมือนกัน

 

โดยส่วนตัวคุณคาดหวังอะไรจากคนที่ไปเข้าชมนิทรรศการนี้

ผมอยากเล่นกับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ เวลาคุณเข้าไปอยู่ในงาน คุณคือส่วนหนึ่งของมันแล้ว กระทั่งประโยคที่ว่า ‘you lead me down’ คำว่า ‘me’ ก็หมายถึงคนที่กำลังอ่านประโยคนี้อยู่ด้วย

ข้อดีของงานศิลปะคือมันเป็นพื้นที่เปิดให้คนเข้ามาตีความ และให้น้ำหนักในสิ่งที่ตนเองสนใจ ไม่ว่าเราจะโฟกัสอะไร สิ่งนั้นมันจะเพิ่ม value โดยตัวคนดูเอง สำหรับผมทุกองค์ประกอบมันน่าสนใจหมดเลย เพราะว่าเราคัดมาแล้ว เลือกมาแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า เวลาคุณเข้ามาดู คุณให้ความสำคัญกับอะไร โฟกัสจุดไหนเป็นพิเศษ หลังจากนั้นจะรู้สึกอย่างไรก็เป็นเรื่องของคุณแล้ว

 

 

 

หากย้อนไปช่วง 4-5 ปีก่อน คนรู้จักคุณจากการเป็นช่างภาพ ต่อมาจึงเริ่มขยับมาทำงานศิลปะ อยากทราบว่าอะไรที่ทำให้คุณขยับจากการถ่ายภาพไปสู่ศิลปะรูปแบบอื่นๆ

ตอนแรกที่เริ่มถ่ายรูป ผมเริ่มจากการมองวัตถุต่างๆ มองพอร์เทรต มองคน มองแลนด์สเคป แล้วก็บันทึกผ่านการถ่ายรูป พอผ่านไปสักพัก เรารู้สึกว่าแต่ละสิ่งที่เรามอง มันมีความเรียลลิสติก มีความแอ็บสแตรค มีความหมายหลายๆ อย่างมากกว่าสิ่งที่เห็น แล้วในเมื่อเราอยากบันทึก เราน่าจะบันทึกด้วยวิธีการอื่นๆ ด้วย ก็เลยเริ่มฝึกอย่างอื่นเรื่อยมา

บางอย่างมันอธิบายเป็นภาพถ่ายไม่ได้ ผมเลยรู้สึกว่าต้องหาวิธีอื่น หาภาษาที่จะอธิบายมัน หรือทำให้เห็นภาพได้ง่ายกว่าภาพถ่าย เพราะภาพถ่ายก็มีข้อจำกัดของมันอยู่

 

สังเกตว่าช่วงหลังๆ คุณค่อนข้างหมกมุ่นกับการทำงานคอลลาจ รวมถึงนิทรรศการนี้ด้วย อยากให้อธิบายว่าการทำงานประเภทนี้มันน่าสนใจยังไง

บางทีเรามีไอเดียหรือข้อมูลมีวัตถุดิบอยู่เยอะ แล้วอยากอธิบายออกมาในครั้งเดียว ซึ่งการหยิบสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมา เพื่อเสนอในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เรารู้สึกว่าไม่พอ

แต่การทำงานคอลลาจ มันคือการหาความสัมพันธ์ หาความเชื่อมโยง หรืออาจไม่เชื่อมโยงก็ได้ แต่สามารถเอามาปะทะกันแล้วทำให้คนสัมผัสและเกิดความรู้สึกบางอย่างได้ คนดูอาจไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร แต่อย่างน้อยจะเข้าใจเซนส์บางอย่างที่เราเอาสิ่งเหล่านี้มาผสมกัน จัดองค์ประกอบใหม่ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงหรือขัดแย้งบางอย่าง

 

พอเชื่อมมาถึงงานล่าสุด คอนเซ็ปต์ของงานก็มีความเป็นคอลลาจ คือนำหลายๆ องค์ประกอบมาจัดแสดงร่วมกัน วิธีนี้ช่วยสื่อสารเรื่องที่คุณอยากนำเสนอยังไงบ้าง

ข้อแรกคือ งานนี้มัน base on time พูดถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติศาสตร์ในความรู้สึกของผม มันมีความทับซ้อนกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน บางทีเราแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอันนี้มันเก่าหรือใหม่

บางสิ่งที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มันมีมานานแล้ว แต่คนที่ไม่รู้ อาจคิดว่าสิ่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ ทั้งที่มันมีมานานแล้ว และมันเกิดจากจุดเล็กๆ ในอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เหมือนเราคัดเลือกเหตุการณ์เหล่านั้นออกมา แล้วเอามาใส่รวมในพื้นที่เดียวกันอีกทีเพื่อให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ข้อต่อมาคือ งานนี้เราหยิบสิ่งที่รีเสิร์ชมา เอามาหาแกนของมัน ก็คือเรื่องระบบโครงสร้างของทหาร การใช้โฆษณาชวนเชื่อหรือความรุนแรงของรัฐที่เป็นทหาร

 

เป็นเพราะสภาพสังคมช่วงนี้ด้วยไหม เลยทำให้อยากพูดเรื่องนี้เป็นพิเศษ

จริงๆ ผมก็พูดเรื่องพวกนี้มานานแล้วนะ (หัวเราะ) แน่นอนว่าตอนนี้ก็ควรพูดอยู่แล้ว แต่วิธีที่ผมดีไซน์งานนี้คือ ทำยังไงก็ได้ให้พูดแล้วไม่โดนเซ็นเซอร์ เพราะงานก่อนเคยมีเจ้าหน้าที่มาคุกคาม ทำให้เราตัดสินใจเก็บงานตัวเองลงจากแกลลอรี่

งานนี้คือทำยังไงก็ได้ให้ไม่ถูกเซ็นเซอร์ และต้องไม่มีใครมาเซ็นเซอร์ได้ เพราะวัตถุดิบที่เราใช้อย่างรถถัง มันก็เป็นของที่มีอยู่ในสาธารณะ เราไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการล้วงความลับที่กองทัพไม่อยากให้รู้ มันเป็นเรื่องเปิดเผยอยู่แล้ว ถามว่ามันมีอันตรายต่อความเสี่ยงที่จะถูกปิดไหม ไม่มีเลย

ขณะเดียวกัน ด้วยความเป็นศิลปิน เราก็อยากทดลองไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็จะเจอขอบเขตบางอย่างที่กักเราไว้

 

งานก่อนหน้านี้ที่บอกว่าต้องเก็บ รูปแบบเป็นยังไง

ชื่องานว่า ‘The Shards Would Shatter At Touch – สุขสลาย’ ถ้าเดินเข้าไปในแกลอรี่ จะเห็นแผ่นผ้าสีดำวางเรียงกันอยู่ เวลาคนเข้าไปดู จะงงว่านี่มันงานศิลปะอะไร เป็นงานมินิมอลหรือเปล่า เพราะมีแต่ป้ายสีดำ

แต่พอเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะมีป้ายที่เขียนว่าให้หยิบผลงานขึ้นมา แล้วกอดผลงานไว้ประมาณ 1 นาที กอดให้แน่นๆ เสร็จปุ๊บก็เอาออกจากตัวเรา สีดำที่เคลือบอยู่จะหายไป แล้วจะเห็นเป็นรูปพอร์เทรตของบุคคล มีหมายเลขกำกับไว้ แล้วเราก็ต้องเอาหมายเลขไปเทียบกับแผ่นรายละเอียดที่อยู่บนกำแพงว่าเขาคือใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถูกกระทำโดยรัฐอย่างไร

จริงๆ ไม่ต้องกอดก็ได้ เอาฝ่ามือ ความร้อนจากร่างกายของเราไปสัมผัส ก็จะทำให้ภาพค่อยๆ ปรากฏขึ้นมา เหมือนว่าเราไปให้ความอบอุ่น ให้ชีวิตกับเขา มองเห็นตัวตนของเขา

 

ในแง่หนึ่ง การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็ดูเป็นข้อจำกัด แต่อีกแง่หนึ่งก็ช่วยผลักดันความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินด้วยเหมือนกันรึเปล่า

ก็ใช่ แต่มันไม่โอเคเลย (หัวเราะ)

เรารู้สึกว่าวิธีการแบบนั้นคือการหนี ซึ่งมันไม่ควรหนีเพื่อที่เราจะพูดแบบนี้ได้ สิ่งที่ควรเป็นคือ ใครทำอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ อธิบายอะไรก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องมานั่งกังวลว่าถ้าทำแบบนี้ พูดแบบนี้ แล้วจะโดนปิดไหม

 

 

 

ถ้าสังคมเปิดกว่านี้ มีสิทธิเสรีภาพกว่านี้ คิดว่านิทรรศการ You lead me down, to the ocean จะยังออกมาในรูปแบบนี้ไหม

มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง ถ้าเป็นสังคมที่เปิดเลย เป็นประชาธิปไตย ใครอยากทำอะไรแบบไหนก็ได้ งานนี้ก็อาจออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้ หรืออาจไม่เป็นแบบนี้ก็ได้

บางทีความไม่ตรงไปตรงมาของศิลปะ อาจไม่ได้เกี่ยวกับว่ามันอยู่ในสังคมไหน แต่เป็นกลวิธีในการทำงานของเขาเอง ดังนั้นถ้าถามว่าการที่สังคมไม่ปกติแบบนี้ จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้งานศิลปะดูน่าสนใจมากขึ้นหรือเปล่า ก็อาจจะใช่ แต่ไม่มีอะไรรับประกันว่าถ้าสังคมปกติ มันจะไม่เป็นแบบนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วมันก็จะมีทั้งศิลปินที่ทำงานแบบตรงไปตรงมา กับไม่ตรงไปตรงมา ไม่ว่าสังคมเป็นแบบไหน

เพียงแต่ว่าพอเป็นสังคมที่ไม่ปกติ เราก็ต้องคิดมากกว่าเดิม เรื่องพวกนี้จะต้องถูกคำนวณเข้ามาด้วย แทนที่จะคิดเรื่องว่าฉันจะพูดเรื่องที่ฉันอยากพูดอย่างไรในวิธีที่ฉันอยากจะพูด โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขภายนอก จบ แต่พอมันไม่ปกติ คุณต้องเอาเรื่องความเสี่ยงเหล่านี้เข้ามาคำนวณด้วย ต้องมานั่งคิดว่าความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ซึ่งแน่นอน มันอาจจะไม่เกิดก็ได้ แต่ต้องเอามาคิด จริงๆ แล้วภาวะแบบนี้มันไม่ได้ดีเท่าไรหรอก เพราะเราก็ไม่ได้อยากมานั่งกังวลในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานโดยตรง

 

แล้วในฐานะศิลปิน ทำไมต้องพูดเรื่องพวกนี้ ทำไมต้องทำคอนเทนต์เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้

ผมชอบเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว อย่างช่วงวัยรุ่นก็เคยไปเป็นเยาวชนอาสาสมัคร NGO มาก่อน แล้วผมเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นคนโดนเอาเปรียบ เวลาได้ยินคนบอกว่าประเทศนี้มันโอเคแล้ว ผมจะรู้สึกว่า ความงามของประเทศนี้มันยังไปได้ไกลได้กว่านี้อีก

ยิ่งพอได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ได้รีเสิร์ชข้อมูลเพื่อมาทำงาน ยิ่งรู้สึกว่าการจะพูดเรื่องปัจจุบันได้ ต้องศึกษาจากอดีตก่อน คุณต้องเอาอดีตมากาง แผ่ให้ดูว่ามันเป็นยังไง แล้วมันนำมาสู่ปัจจุบันได้ยังไง

 

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณทำมาต่อเนื่องคือเรื่องสงคราม ทำไมถึงสนใจประเด็นนี้

อย่างเหตุการณ์ช่วงปี 2553 สำหรับผมมันคือสงคราม คำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ ทำไมคนถึงรักสัตว์ แต่ไม่รักกันเอง ทำไมเวลาเราเจอคนที่คิดเห็นต่าง ก็ยังต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน หรืออย่างกรณีจ่านิวล่าสุด สำหรับผมมันคือสงครามเย็นเหมือนกันนะ

ผมเชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรจะเป็นแบบนี้แล้ว นี่ปี 2019 แล้ว จิตใจของมนุษย์มันควรจะดีกว่านี้ แต่ที่มันยังเป็นแบบนี้ เพราะในห้องเรียนประวัติศาสตร์ไทย เราแทบไม่เคยเรียนเรื่องพวกนี้เลย สงครามเวียดนามเอย เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ เอย เรารู้สึกว่าเราอยากพูดเรื่องนี้

 

เบื่อไหมที่ต้องทำประเด็นซ้ำๆ ซากๆ

ไม่เลย

 

ทำไม

อธิบายไม่ได้เหมือนกันว่าทำไม อาจเพราะเราอธิบายความก้าวหน้าในประเทศนี้ไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่เราเห็นอยู่มันโคตรไม่ก้าวหน้าเลย ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะอธิบายความล้าหลังที่เป็นอยู่นี้ยังไงมากกว่า

อย่างงานใหม่ที่กำลังจะทำ ก็จะพูดเรื่องเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เอามาพูดใหม่อีกรอบ เพราะรู้สึกว่ามันยังไม่ไปไหน เราอยากสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้คนในวงเราหรือคนอื่นได้เห็น ซึ่งเราเชื่อว่าวงนักวิชาการ วงนักสังคมศาสตร์ NGO คนทั่วไป หรือนักธุรกิจ เขาก็มองเห็นเหมือนกัน แต่ใครจะทำอะไรได้แค่ไหนก็อีกเรื่อง

 

พูดง่ายๆ ว่าในเมื่อสังคมยังล้าหลังอยู่ ก็เล่าเรื่องความล้าหลังนี่แหละ

ใช่ ต่อให้เราไปอยู่เมืองนอกแล้วมองกลับมา ก็ยังเห็นเหมือนเดิม รู้สึกเหมือนเดิม ยกตัวอย่างเรื่องศิลปะ เรื่องความงาม มันจะไปได้ไกลกว่านี้มากถ้าประเทศนี้ไม่ล้าหลัง ปัญหาคือรัฐของเราเป็นรัฐที่ไม่สนใจความงามเลย

เคยมีความรู้สึกหดหู่หรือท้อแท้ไหม ว่าทำไปเพื่ออะไร

ไม่ท้อนะ บางทีอ่านข่าวแล้วท้อกว่าอีก มีเรื่องน่าท้อแท้เต็มไปหมด ส่วนงานที่เราทำ ถึงมันจะพูดซ้ำเรื่องเดิมๆ แต่เราไม่ท้อนะ เราทำอะไรไม่เป็นนอกจากศิลปะ

 

ย้อนกลับมานิทรรศการนี้ คุณเกริ่นไว้ตอนแรกว่า เหมือนเราทุกคนกำลังจมอยู่ อยากให้ขยายความว่า เราทุกคน หรือกระทั่งสังคมนี้ มันจมหรือถูกทำให้จมยังไง

ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่ง เปรียบง่ายๆ อาจเหมือนโลกใต้ทะเล มันไม่ใช่ระบบนิเวศของคนบนบก คนไทยถูกทิ้งอยู่ใต้บาดาล มีนักล่า มีผู้ถูกล่า นักล่าก็คือกลุ่มคนที่อยู่ข้างบน เป็นผู้ที่ควบคุมทุกอย่างได้ผ่านกฎหมาย ผ่านกลไกต่างๆ ที่เขาสร้างมา โดยที่คนตัวเล็กตัวน้อยทำอะไรไม่ได้ เอาง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยที่เป็นเรื่องสากลของคนบนบก กลายเป็นเรื่องผิดแปลกในโลกนี้ เหมือนประเทศนี้ถูกดีไซน์มาไม่เหมือนคนอื่น

 

แล้วคิดว่าเรามีทางที่จะหลุดพ้นจากโลกนี้ ไปสู่โลกบนบกได้ไหม

ยากมาก เหมือนเราจุดไฟไม่ติดสักที ดูอย่างธนาธรสิ ตอนแรกเป็นเหมือนไฟที่สว่างวาบขึ้นมา สุดท้ายก็โดนจี้ให้ดับอยู่ดี พูดง่ายๆ คือเป็นประเทศที่จุดไฟไม่ติด.

 

 


หมายเหตุ : นิทรรศการ You lead me down, to the ocean จัดแสดงที่ Nova Contemporary ถึงวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

 

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save