fbpx
ผูกขาดอย่างแท้ 'True' : เมื่อมหานครไร้สายต้องแลกมาด้วยการผูกขาด (ซ้ำซาก)

ผูกขาดอย่างแท้ ‘True’ : เมื่อมหานครไร้สายต้องแลกมาด้วยการผูกขาด (ซ้ำซาก)

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวเล็กๆ แต่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยตามหน้าสื่อว่า กรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของตนดำเนิน “โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร  ที่เป็นเรื่องก็เพราะกรุงเทพธนาคมมิได้ลงมือทำเองโดยตรง แต่กลับคัดเลือกให้บริษัททรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ดำเนินการแทน พร้อมทั้งให้สิทธิในการแสวงหาผลประโยชน์จากท่อร้อยสายของรัฐได้ถึงร้อยละ 80 เป็นเวลา 30 ปี โดยค่าดำเนินการติดตั้งและค่าทำการตลาดของโครงการทั้งหมดมีมูลค่าสูงถึง 25,000 ล้านบาท

ในทางปฏิบัติ การนำสายสื่อสารลงใต้ดิน คือ การนำสายเคเบิลต่างๆ ที่แขวนระโยงระยาง รกหูรกตา ย้ายลงใต้ดิน เก็บไว้ใน ‘ท่อร้อยสายสื่อสาร’ ซึ่งกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าของโครงการตั้งเป้าว่า โครงการนี้จะช่วยปรับภูมิทัศน์กรุงเทพฯ ให้เป็น ‘มหานครไร้สาย’ ที่แลดูสบายตาขึ้น ทั้งยังช่วยลดอันตรายที่เกิดจากความไร้ระเบียบของสายเคเบิลแบบเดิมด้วย

แม้เป้าหมายของโครงการนี้ดูจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่กลับทำให้แวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกลายมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากเพิ่งซาไปจากเรื่อง การใช้มาตรา 44 อุ้มผู้ประกอบการโทรคมนาคม มาหมาดๆ เพราะการได้สิทธิผูกขาดรายเดียวในกิจการท่อร้อยสายสื่อสารไม่ได้หมายถึงผลประโยชน์มูลค่าหลายหมื่นล้านเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

ทันทีที่มีข่าวออกมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ผู้เกาะติดศึกษาวงการโทรคมนาคมมาอย่างยาวนาน ก็ออกมาท้วงติงทันทีว่า กรณีดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดใหม่ขึ้นในวงการโทรคมนาคมไทย เพิ่มเติมจากการผูกขาดที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน โดยภาคธุรกิจ ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น และลดทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

“ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น ผู้ประกอบการที่ได้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายอาจกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของตนในตลาดโทรคมนาคมไม่ให้สามารถใช้ท่อได้ โดยอ้างเหตุต่างๆ ทางเทคนิค เช่น สัญญาณรบกวนกัน หรือให้ใช้ได้ แต่คิดค่าบริการแพงๆ หรือให้บริการช้าๆ หรือทำให้สายของคู่แข่งเสียบ่อยๆ จนไม่สามารถแข่งขันได้ …

แต่เดิมเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งหลายสามารถปักเสาสื่อสารเอง หรือพาดสายของตนบนเสาไฟฟ้าได้ แต่เรื่องที่เคยทำกันได้มานานก็กำลังจะกลายเป็นปัญหาในไม่ช้า เพราะเมื่อมีท่อร้อยสายใต้ดินแล้ว กทม. ก็จะห้ามพาดสายในที่สาธารณะ โดยอ้างเหตุผลด้านความสะอาดและความเป็นระเบียบ ตามกฎหมายรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางกฎหมาย และถูกสั่งให้รื้อถอนได้ …

“การดำเนินการของ กทม. … จะสร้างปัญหาด้วย 2 เหตุผลคือ หนึ่ง เป็นการโอนการผูกขาดของรัฐไปให้แก่เอกชน โดยเป็นการโอน 2 ต่อ ต่อแรกคือ โอนจาก กทม. ไปให้กรุงเทพธนาคมที่เป็นบริษัทลูกที่แสวงหาผลกำไร ต่อที่สองคือ โอนจากกรุงเทพธนาคมไปให้แก่เอกชนอีกที แน่นอนว่า เอกชนย่อมมีแรงจูงใจในการทำกำไรมากกว่ารัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการคิดบริการที่แพงกว่า ยิ่งการโอนสิทธิผูกขาดสองต่อ ก็จะยิ่งทำให้มีการบวกกำไรที่สูง 2 ครั้ง ราคาค่าบริการก็จะยิ่งแพงขึ้น

สอง เอกชนที่ได้สิทธิผูกขาดยังเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งแข่งกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นๆ ด้วย จึงเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมกีดกันการแข่งขันของผู้ประกอบการรายอื่น

หากเราปล่อยให้การดำเนินการเช่นนี้เกิดขึ้นในกรุงเทพ อีกไม่นานก็อาจเกิดการผูกขาดแบบเดียวกันทั่วประเทศ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น เทศบาลก็อาจจะทำตามในลักษณะเดียวกัน ถึงเวลานั้น ต้นทุนของบริการโทรคมนาคมทั้งประเทศไทยก็จะสูงขึ้นไปอีก และทำให้เราไม่สามารถแข่งขันใน “เศรษฐกิจดิจิทัล” ได้”

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

ดร.สมเกียรติ เสนอว่า ถ้า กทม. ไม่ยอมถอย ก็ให้ผู้บริโภครวมตัวกันไปร้องเรียนต่อองค์กรกำกับดูแลอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (OTCC) องค์กรอิสระใหม่เอี่ยมที่มีหน้าที่ป้องกันการผูกขาดและการค้าไม่เป็นธรรม และทิ้งท้ายอย่างแอบหวังว่า แนวคิดเรื่อง “สมาร์ทซิตี้” ที่ควรจะเป็นข่าวดีของประชาชน จะไม่จบลงด้วยการกลายเป็นข่าวร้าย ที่มีหน่วยงานรัฐโอนสิทธิผูกขาดให้เอกชน และสร้างต้นทุนให้แก่ประเทศและประชาชนแบบที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสังคมไทย

ต่อมา วันที่ 24 มิถุนายน 2562 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น มหาชน (จำกัด) ในฐานะบริษัทแม่ของบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ออกหนังสือชี้แจงต่อสาธารณะว่า ปัจจุบันบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น เพิ่งผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เบื้องต้นของกรุงเทพธนาคมเท่านั้น และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ โดยยังไม่มีการสรุปและไม่มีการลงนามในสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประกาศของทรูดูจะไม่เป็นผลนัก เพราะ วันที่ 27 มิถุนายน 2562 ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่เกือบทุกราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมออกแถลงการณ์ขอให้นายกรัฐมนตรีห้ามมิให้กรุงเทพมหานครให้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสารแก่เอกชนเพียงรายเดียว ทั้งนี้บริษัททั้ง 6 รายได้นำเสนอผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการโทรคมนาคมและต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจากดีลผูกขาดนี้ด้วย

ไม่บ่อยครั้งนักที่ผู้ประกอบการตัวหลักจะรวมตัวกันประสานเสียงคัดค้านผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา ถึงขั้นผู้บริหารระดับสูงเซ็นหนังสือคัดค้านถึงนายกรัฐมนตรี นั่นย่อมมีนัยสะท้อนว่า การที่กรุงเทพธนาคมทำสัญญาให้สิทธิทรูเป็นผู้รับเหมาบริการโครงข่ายท่อร้อยสายใต้ดินทั้งหมด และให้สิทธิผูกขาดรายเดียวเป็นเวลา 30 ปี เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อกังวลเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดเพื่อกีดกันทางการค้า และสร้างอุปสรรคต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด


รัฐไม่ควรโอนอำนาจผูกขาดให้เอกชน
:

มุมมองจากประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า

 

โดยหลักเศรษฐศาสตร์ กิจการท่อร้อยสายมีลักษณะที่เรียกว่า ‘การผูกขาดโดยธรรมชาติ’ (natural monopoly) คล้ายกับบริการเสาไฟฟ้าและท่อน้ำประปา กล่าวคือ เป็นกิจการที่ควรมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียวหรือน้อยราย เพราะต้องลงทุนสูงมาก จึงต้องการตลาดขนาดใหญ่มาก เพื่อทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ หากมีผู้ประกอบการหลายรายมาแย่งชิงตลาดกัน แต่ละรายมีโอกาสขาดทุนสูง เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงมากได้ และเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น ตามหลักการแล้ว กิจการที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ รัฐจะไม่ยอมปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ผูกขาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภค

“โดยทั่วไป สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเอง เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ ก็เท่ากับเป็นการโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน เอกชนก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจผูกขาดนั้นไปแสวงหากำไร ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้าและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวยืนยันตามหลักวิชาการที่เข้าใจกันเป็นสากล

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีความซับซ้อนมากกว่าการโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชนตามปกติทั่วไป เพราะผู้ได้รับสิทธิผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสารมีสถานะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย หากมองด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ การที่ผู้ผูกขาดในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย ย่อมเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล

มีความพยายามอธิบายว่า การได้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาให้บริการ เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสักเท่าไหร่ เพราะสุดท้ายแล้วองค์กรกำกับดูแลคงเข้ามาดูแลเรื่องราคา แต่ที่เป็นประเด็นจริงๆ คือ การผูกขาดโดยตัวมันเอง และหลักการเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะในกรณีนี้เอกชนที่ควบคุมท่อร้อยสายสื่อสารจะกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดที่สามารถกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ เขาคือผู้กำหนดเกมว่าจะให้ใครใช้หรือไม่ อย่างไร  มีโอกาสใช้อำนาจเหนือตลาดแบบผิดๆ โดยสามารถกีดกันคู่แข่งได้” ศ.ดร.สกนธ์ กล่าว

 

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เมื่อถามว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการผูกขาดจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง ศ.ดร.สกนธ์ ให้ความเห็นว่า ณ ปัจจุบัน ประเด็นนี้ยังไม่อยู่ในขอบข่ายหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพราะกฎหมายได้ยกเว้นไม่ให้บังคับใช้กฎหมายนี้กับรัฐวิสาหกิจ (กรุงเทพธนาคม) ในกิจการที่ถือว่าเป็น ‘ประโยชน์สาธารณะ’ อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก็จะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด

ศ.ดร.สกนธ์ กล่าวถึงบทบาทของตัวเขาและองค์กรว่า “ตามกฎหมาย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ายังมีอำนาจในการให้ความคิดเห็นต่อนโยบายของรัฐ หรือกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าอยู่ โดยเป็นการให้คำแนะนำกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราก็คงทำหน้าที่ตามกรอบนี้ อย่างไรก็ตาม หากการให้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสารเกิดขึ้นแล้ว และมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการท่อร้อยสายสื่อสารใช้อำนาจผูกขาดเอาเปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถึงตอนนั้น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายเข้าไปดูแล

 

ไทยแลนด์ only :

กำกับดูแลด้วยหลักการที่ไม่เหมือนใครในโลก (โนสนโนแคร์)

 

หากว่ากันตามเป้าหมาย การดำเนินกิจการท่อร้อยสายสื่อสารตามแผนของกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นการลงทุนสร้าง ‘สินค้าและบริการสาธารณะ’ (public goods and services) ที่จำเป็นและเหมาะสม เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางตรงแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยปรับภูมิทัศน์และลดอุบัติเหตุในกรุงเทพมหานครด้วย หากโครงการสำเร็จลุล่วงด้วยดี ผลประโยชน์ย่อมตกแก่ผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงร่วมสิบล้านคน

ในต่างประเทศ เทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มักจะเป็นผู้ดำเนินการท่อร้อยสายด้วยตนเอง และเปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาใช้ประโยชน์ โดยคิดค่าบริการตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม รูปแบบการลงทุนไม่ได้มีเพียงแค่รูปแบบเดียว แต่ละท้องที่สามารถเลือกลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่และข้อจำกัดของตนเองได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าโครงการจับตานโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อธิบายว่า ในหลายประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ใช้วิธีตั้งบริษัทลูกคล้ายกับกรุงเทพธนาคมไปทำสัญญากับเอกชนเจ้าอื่น แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือการยึดหลักความเป็นกลางต่อผู้ประกอบการ (operator neutral) กล่าวคือ เอกชนที่เข้ามาดำเนินการทำท่อร้อยสายจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับกรณีของไทย บริษัทอย่างทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จะไม่สามารถเข้ามาดำเนินโครงการนี้ได้เลย

“ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD การกำกับดูแลจะระมัดระวังเรื่องการควบรวมแนวดิ่ง (vertical integration) อย่างมาก โดยจะมีเกณฑ์ที่เข้มงวดมากในการกำกับไม่ให้ บริษัทต้นน้ำที่ผูกขาดปัจจัยการผลิตไปควบรวมกับผู้เล่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ สำหรับกรณีกรุงเทพธนาคมให้สิทธิทรูในการควบคุมท่อร้อยสายนั้น  ขัดกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างแน่นอน

“ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานอย่างคลื่นความถี่ หรือสายสื่อสาร ถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหากไม่มีหรือเข้าไม่ถึงก็ไม่สามารถให้บริการได้ ดังนั้น การยอมให้ผู้ประกอบการต้นน้ำบางรายผูกขาดปัจจัยการผลิตเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ผูกขาดรายนั้นเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย ต่อให้เราจะกำกับดูแลอุตสาหกรรมปลายน้ำดีแค่ไหน การแข่งขันที่เป็นธรรมก็ไม่วันเกิดขึ้นได้ ”

 

ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตหัวหน้าโครงการจับตานโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

นอกจากนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว การให้บริการท่อร้อยสายในพื้นที่หนึ่งๆ ไม่จำเป็นต้องผูกขาดกับผู้ประกอบการเพียงรายเดียว โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีพื้นที่หนาแน่น

“การมีผู้ให้บริการหลายรายอาจมีปัญหาเรื่องความมีประสิทธิภาพและต้นทุน แต่ประเด็นก็คือ ถ้าเอกชนมองว่าคุ้มที่จะลงทุน เขาจะตัดสินใจลงทุนเอง ส่วนรัฐต้องมองเห็นถึงความเป็นไปได้ของทางเลือก ไม่ใช่คิดเอาเองว่าต้องมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวเท่านั้น … ที่สำคัญคือ ผู้ให้บริการไม่ควรมีวาระที่นานเกินไป ตลาดควรมีโอกาสเลือกผู้ให้บริการรายใหม่ในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เงื่อนไขของตลาดและอุตสาหกรรมก็ยิ่งเปลี่ยนเร็วตามไปด้วย การให้สัญญาระยะยาวมากๆ อย่าง 30 ปีเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ” ผศ.ดร.พรเทพ ถอดบทเรียนจากตัวอย่างในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดร.พรเทพชี้ให้เห็นว่า ต่อให้การกำกับดูแลในต้นทางจะดีแค่ไหน การใช้อำนาจเหนือตลาดก็เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อผู้เล่นในตลาดมีขนาดไม่เท่ากัน ดังนั้น การกำกับดูแลจะต้องทำตั้งแต่ต้นทาง (ex ante) ซึ่งได้แก่การออกแบบโครงสร้างตลาด ตลอดไปจนถึงการกำกับดูแลปลายทาง (ex post) เช่น การควบคุมราคา หรือกระทั่งการเข้าไปควบคุมแผนธุรกิจ เป็นต้น

ปัญหาของประเทศไทยคือ ทั้งการกำกับดูแลต้นทาง ซึ่ง กสทช. ทำหน้าที่รับผิดชอบหลัก และการกำกับดูแลปลายทาง ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่ผ่านมาล้วนอ่อนแอทั้งคู่” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าวสรุป

เทรนด์ใหญ่ไทยแลนด์ :

รัฐไม่ส่งเสริมการแข่งขัน กลับส่งเสริมการผูกขาด 

 

หนึ่งในปมสำคัญที่ถูกตั้งคำถามจากสาธารณะอย่างมากคือ กระบวนการคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งแม้จะมีผู้มารับเอกสารเชิญชวนจำนวน 16 ราย แต่บริษัททรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้มายื่นเอกสารข้อเสนอดังกล่าว และผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์เบื้องต้น

ต่อเรื่องนี้ กรุงเทพธนาคมชี้แจงว่า บริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนด้วยความโปร่งใส มีการประกาศผ่านหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รวมถึงเปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีผู้มาแสดงเจตจำนง 9 ราย จากนั้นได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองอีกจำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย และมีผู้มารับเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 16 ราย แต่สุดท้ายมีเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอ ได้แก่ บริษัททรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น นั่นเอง

 

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

อย่างไรก็ตาม ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งมีผลงานวิจัยมากมายในด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น ธรรมาภิบาล และกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ไว้ว่า กระบวนการการคัดเลือกผู้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชวนให้สงสัยว่าอาจขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่ เพราะจากข้อมูลที่เปิดเผยออกมา ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่หลายจุด

“ต้องกลับไปตรวจสอบดูว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ไหม โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ กฎหมายมักจะกำหนดขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่คำชี้แจงของกรุงเทพธนาคมไม่ได้ให้รายละเอียดเลยว่าแต่ละกระบวนการ แต่ละขั้นตอนทำอย่างไร ณ ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่า สรุปแล้วกระบวนการจัดจ้างเป็นอย่างไรกันแน่ … ซึ่งกรณีนี้ก็ชวนให้สงสัยว่าจะคล้ายกับปัญหาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐไทยหรือเปล่า เพราะแต่ไหนแต่ไรมากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีปัญหาอย่างมาก เช่น การไม่มีความโปร่งใส เกณฑ์การพิจารณาไม่ชัดเจน แล้วข้อมูลก็ไม่ค่อยมีการเปิดเผย กระบวนการตรวจสอบจากภายนอกจึงทำได้ยาก” ดร.เดือนเด่นกล่าว

เมื่อถามว่ากรณีนี้สะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมเศรษฐกิจไทย ดร.เดือนเด่นให้ความเห็นไว้อย่างแหลมคมว่า  “การผูกขาดและการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย กรณีกรุงเทพธนาคมกับการให้สิทธิผูกขาดเอกชนทำท่อร้อยสาย ไม่ต่างจากกรณีดิวตี้ ฟรี ที่เพิ่งเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ สิ่งที่เราเห็นในภาพใหญ่คือ การที่รัฐไม่ส่งเสริมการแข่งขัน ไปส่งเสริมการผูกขาด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติในต่างประเทศ แต่ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ในประเทศไทย”

 

[box]

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม

จากการคัดเลือกให้สิทธิแก่เอกชนเพียงรายเดียวในการผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสาร

 

ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมแถลงการณ์ขอให้นายกรัฐมนตรีห้ามมิให้กรุงเทพมหานครให้สิทธิผูกขาดท่อร้อยสายสื่อสารแก่เอกชนเพียงรายเดียว ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ทั้ง 6 รายได้แนบท้ายด้วยบทวิเคราะห์ว่าด้วยผลกระทบของการผูกขาดที่อาจเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้บริโภค

แม้จะเป็นการวิเคราะห์ในเบื้องต้น แต่ผลกระทบที่ปรากฏในบทความก็สะท้อนถึงผลเสียของการผูกขาดตามหลักเศรษฐศาสตร์ในหลายประเด็น อาทิ การค้าที่ไม่เป็นธรรม การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ การบิดเบือนการแข่งขัน ซึ่งทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพและต้นทุนที่ไม่จำเป็นในอุตสาหกรรม ดังนี้

1. การผูกขาดทำให้เกิดการบิดเบือนการแข่งขัน

การผูกขาดย่อมส่งผลเสียต่อการแข่งขันและส่งผลกระทบผู้บริโภคในที่สุด เพราะการผูกขาดย่อมทำให้เกิดกำไรส่วนเกินระยะยาว (monopoly profit) เปรียบเสมือน ค่าสัมปทานที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น อันเป็นการบิดเบือนการแข่งขัน ซึ่งเมื่อการแข่งขันถูกบิดเบือน ผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ได้รับความเสียหายในท้ายที่สุด

2. แนวทางที่กรุงเทพมหานครใช้ทำให้เกิดต้นทุนค่าร้อยสายที่สูงเกินควร

กลุ่มผู้ประกอบการ 6 รายได้ทำตารางเปรียบเทียบแนวทางการบริหารจัดการสายสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า แต่ละวิธีการมีต้นทุนที่แตกต่างกันอย่างมาก ดังนี้

(1) การจัดระเบียบสายบนเสาไฟฟ้าใหม่ใช้งบประมาณ 490 ล้านบาท

(2) การนำสายสื่อสารลงใต้ดินโดยใช้ท่อร้อยสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาแต่เดิม ใช้งบประมาณ 6,860 ล้านบาท

(3) การนำสายสื่อสารลงใต้ดินโดยใช้ท่อร้อยสายของกรุงเทพธนาคมใช้งบประมาณ 6,860 ล้านบาท

ผู้ประกอบการทั้ง 6 รายเห็นว่า หากดำเนินการภายใต้กฎกติกาที่กรุงเทพธนาคมและทรูกำหนด ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะต้องรับภาระการลงทุนใหม่ประมาณ 6,860 ล้านบาท และมีต้นทุนเพิ่มจากการเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินที่สูงอย่างมีนัยสำคัญประมาณ 205.80 – 235.2 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นภาระที่ไม่สมเหตุสมผล และส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจเกินสมควร

3. การรื้อสายสื่อสารที่พาดเสาโดยไม่จำเป็นนับเป็นการสูญเปล่า

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ลงทุนทำสายสื่อสารเดิมตามเสาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประมูลคลื่นความถี่ ของ กสทช. ว่าด้วยการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องครอบคลุมพื้นที่ตามที่กำหนด การรื้อทิ้งสายสื่อสารที่พาดตามเสาในปัจจุบันจึงเป็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหาอาจเลือกใช้วิธีการอื่น เช่น การจัดระเบียบสาย หรือการนำสายลงใต้ดินเฉพาะในพื้นที่ที่จำเป็น

4. การไม่บูรณะท่อร้อยสายของหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เดิมเป็นความสิ้นเปลือง

บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาแต่เดิม ทั้งสองหน่วยงานมีท่อร้อยสายสื่อสารจำนวนมากในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพียงแต่อาจมีการชำรุดที่ต้องซ่อมแซม และต้องสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพผังเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยต่างๆ ดังนั้น การไม่บูรณะท่อร้อยสายเดิมและหันไปสร้างท่อร้อยสายใหม่ทั้งหมดจึงเป็นความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น

5. การผูกขาดย่อมทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลพัฒนาได้ช้า

ในระยะยาว การผูกขาดและการจำกัดการแข่งขันจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมพัฒนาได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะภาระต้นทุนที่สูงขึ้นย่อมทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวม

[/box]

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save