fbpx
ฉันสวมใส่สิทธิบนเรือนร่างของฉัน

ฉันสวมใส่สิทธิบนเรือนร่างของฉัน

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คุณคิดอะไรเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าในตอนเช้า

สำหรับฉันบางครั้งก็ไม่คิดอะไรเลย บางครั้งก็แค่อยากแต่งตัวสวยให้ตัวเองรู้สึกดี หรือบางครั้งเสื้อผ้าที่สวมก็มีจุดประสงค์เจาะจง

วันนี้ฉันจะสวมเสื้อเชิ้ต ทางการหน่อย ต้องเจอลูกค้า

วันนี้เผยผิวสักนิดแล้วกัน ร้อน

วันนี้ต้องเปรี้ยว ปั๊วะ ยั่ว บด! เอาเขาให้อยู่หมัด

แม้แต่วันที่ไม่คิด หยิบกางเกงที่ใส่ซ้ำ ไม่ได้รีด ก็หมายว่า อยากจะมีวันสบายๆ ขลุกตัวในออฟฟิศได้เช้าจดเย็น

 

ไม่นานมานี้ Billie Eilish นักร้องสาวชาวอเมริกันวัย 17 ปี ที่กำลังโด่งดังจากความสามารถในการร้องและแต่งเพลง กล่าวถึงความคิดภายใต้เสื้อผ้าของเธอ ในวีดีโอแคมเปญของ Calvin Klein ว่า

“ฉันไม่เคยต้องการให้โลกรู้ทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับฉัน นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันมักจะใส่เสื้อผ้าโคร่งๆ เมื่อไม่สามารถเห็นร่างกายใต้เสื้อผ้า ก็ไม่มีใครสามารถมีความเห็นต่อมันได้ ไม่มีใครสามารถพูดว่า เธอซ่อนรูป เธอมีสะโพกเบ้อเริ่ม ไม่มีใครพูดอะไรได้ทั้งนั้น เพราะพวกเขาไม่รู้”

 

YouTube video

 

หากคุณรู้จักบิลลี่ หรือลองเสิร์ชภาพของเธอทางอินเทอร์เน็ต เอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ เธอมักจะสวมใส่เสื้อผ้าหลวมโคร่งเสมอ สเว็ตเตอร์ตัวใหญ่ลุคสตรีท หรือเสื้อยืดโอเวอร์ไซซ์ เหล่านี้คือสไตล์ประจำตัวของบิลลี่

และเพียงครั้งเดียวที่เธอใส่เสื้อกล้ามสีขาวพอดีตัว เผยสัดส่วนอย่างที่คนไม่เคยเห็น ทับด้วยเสื้อคลุมตัวใหญ่ สิ่งที่เธอไม่ต้องการมาตลอดก็พลันเกิด หลายความคิดเห็นบนโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ร่างกายของเธอ บ้างลวนลามทางคำพูด ความเห็นชวนโมโหก็มีให้เห็น เช่น “ฉันมีสิทธิ์จะ sexualise และพูดถึงร่างกายของเธออย่างไรก็ได้” ขณะที่หลายคนปกป้องเธอจากการคุกคามและลวนลามทั้งหลาย

ทั้งหมดนี้ต้นเหตุเริ่มจาก ‘เสื้อกล้าม’ ตัวเดียว

ชาวเน็ตส่วนหนึ่งแสดงความเห็นว่า เธอไม่ควรต้องสวมเสื้อผ้าเพื่อปิดบังร่างกาย และปกป้องตัวเองจากใครอื่นด้วยซ้ำ ผู้ที่วิจารณ์และคุกคามเธอต่างหากละ ที่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อน

ไม่รู้สิ บางทีฉันก็คิดว่าบิลลี่วัย 17 ปี รู้ตัวดีเลยละว่า จะใส่หรือไม่ใส่เสื้อผ้าแบบไหน ไม่ใช่เธอที่ต้องเป็นเดือดเป็นร้อน แต่เธอก็ยังเลือกปกป้องตัวเองออกจากสิ่งที่เธอไม่ต้องการ ออกจากความเห็นที่เธอไม่อยากฟัง แต่รู้ว่าต้องมี จากโลกทั้งใบ

หรือในบางวันเธออาจแค่เคยชินกับเสื้อตัวใหญ่เพียงเท่านั้นก็ได้

‘ผึ้ง’ เพื่อนสาวผู้รักการแต่งตัวของฉัน พูดกับฉันขณะไล่มือไปตามราวเสื้อผ้าในร้านว่า “แม้แต่คนรูปร่างผอมโปร่งอย่างชั้น คนก็วิจารณ์อยู่ดี นมแบน ไม้กระดาน ลูกเกดติดนม หลุมดำ โดนมาหมดแล้ว”

ต่างจากบิลลี่ คนเคยชินที่จะเห็นผึ้งสวมเสื้อผ้าเปิดเผย ในสายตาของใครหลายคนผึ้งคือเจ้าแม่แฟชั่น สไตล์ดี หากวันไหนจะลุกขึ้นมาใส่เสื้อกล้าม สายเดี่ยว หรือแต่งตัวหลุดโลก ก็ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้ใคร ถึงอย่างนั้น คำวิจารณ์ถึงทรวดทรง รูปร่าง ก็ไม่ละเว้นใคร

“เวลาอยู่ด้วยกัน แกโดนแซวเรื่องหน้าอกใหญ่ใช่มะ คนจะชอบเปรียบเทียบทรงแบบแกกับแบนแบบชั้น แต่แล้วไง มันจำเป็นตรงไหนต้องมาวิจารณ์ว่านมเล็กหรือใหญ่วะ” พูดพร้อมกับหยิบบอดี้สูทมาทาบตัวฉัน ผ้าลายสีแดง ไร้กระดุม โชว์ลำคอลึก ที่เธอว่าเหมาะกับฉัน

ผึ้งแสดงความเห็นเรื่องบิลลี่ว่า ลึกๆ ผึ้งก็รู้สึกแย่ ที่คนคนนึงต้องเลือกใส่เสื้อผ้าเพื่อป้องกันตัวเองจากการลวนลาม แต่นั่นก็เป็นจุดประสงค์หนึ่งที่คนเลือกใช้เสื้อผ้าเหมือนกัน เช่น ตอนเด็กผึ้งไม่เคยใส่ขาสั้นเลย เพราะเมื่อใส่คนจะแสดงความเห็นทันที

“ทำไมมีขนแบบนั้น ทำไมใส่สั้นแบบนี้ ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไง ก็ต้องอยู่กับคำแซวไปเรื่อยๆ พอโตมาก็โดนเรื่องหน้าอกอีก จนจุดนึงก็คิดว่า ชั้นผิดอะไรวะที่เป็นแบบนี้ คนอื่นมาทำให้เรารู้สึกไม่ชอบตัวเอง ไม่กล้าใส่ ไม่ปลอดภัย แต่ไม่มีใครอยู่กับเราเลยเมื่อรู้สึกแบบนี้ มีแต่ตัวเราเองนะ ที่ต้องอยู่กับมัน

“เสื้อผ้ามีหลายฟังก์ชั่น ปฏิเสธไม่ได้ว่า flaws (ข้อบกพร่อง) ต่างๆ ที่มี มีเสื้อผ้าปกป้องอยู่ จะเรียกว่าปิดกลบก็คงได้ในบางครั้ง ขณะเดียวกันเราก็หาความมั่นใจจากพวกเสื้อผ้าได้ เอาความสุข ความรัก ความภาคภูมิใจในตัวเองใส่ไว้กับเสื้อผ้าได้เหมือนกัน

“เชื่อไหม ชั้นไม่เคยแนะนำให้ใครใส่เสื้อผ้าให้ดูผอมเลย เสื้อผ้ามีหลายหน้าที่ในตัวมันเอง ก็แล้วแต่ว่าจะเลือกใส่เพราะอะไร เคยคิดนะว่าที่ชั้นไม่มีหน้าอก ก็ใส่เสื้อผ้าให้ดูใหญ่ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ทำ ชั้นใส่โชว์กว่าเดิมอีก นานๆ เข้า ยิ่งคนแซวว่านมแบน ชั้นก็ยิ่งเถียงในใจว่า ไม่อะ ก็ชั้นรู้สึกสวยของชั้นแบบนี้ ต่อให้ชั้นนมใหญ่ มันก็เป็นเรือนร่างของฉันคนเดียวอยู่ดีอะ”

สำหรับผึ้งเธอคิดว่าการแต่งตัวของคนเรามักถูกตกเป็นเป้าวิจารณ์เสมอ และไม่รู้ทำไมคนจึงชอบรวมเอาเรื่องเพศกับเสื้อผ้าไว้ด้วยกันตลอด แต่ท้ายที่สุด เธอรู้ดีว่าคนเรามีสิทธิ์ที่จะแสดงความเห็น

“คนเราสามารถมีความคิดที่ดีที่สุด ร้ายที่สุด มีประโยชน์ หรือไม่มีประโยชน์ก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้อง speak it out ทุกครั้งป่ะ เมื่อมันเกี่ยวกับสิทธิบนร่างกายคนอื่น ซื่อสัตย์กับตัวเองได้ แต่ถามตัวเองด้วยว่าพูดออกไปทำไม พูดเพราะห่วง หรือแค่อยากพูดเฉยๆ แล้วคนฟังจะรู้สึกยังไงกับเสื้อผ้า กับร่างกายตัวเอง”

พูดจบก็กรีดกรายไปยังผ้าราวอื่น ปล่อยฉันหิ้วบอดี้สูทไม่พรางเรือนร่างตัวนั้นเข้าห้องลองไป

 

ครั้งหนึ่ง ขณะจิบเบียร์ ชายคนหนึ่งถามฉันว่า ผู้หญิงคิดอะไรเวลาใส่ชุดนอนไม่ได้นอน ฉันและพี่ผู้หญิงอีกคน รวมแก๊งเฉพาะกิจ ระเบิดพลังเพื่อนหญิงพลังหญิง แล้วอธิบายกับชายคนนั้นว่า โอเค บางครั้งชุดนอนไม่ได้นอนก็มีเป้าประสงค์ตามชื่อ ก็ไม่อยากนอน อยากทำอย่างอื่น เลยใส่เพิ่มรสรักกับแฟน

แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

หลายครั้งและน่าจะมากครั้งกว่าการอยากทำอย่างอื่น ผู้หญิงแค่อยากรู้สึกสวย พอใจจะใส่ผ้าลื่น แพนตี้ลูกไม้ จีสตริง ฯลฯ

“ใส่ให้ใครดู” นั่นแน่ะ สงสัยยังไม่เข้าใจ

“ไม่มี! ใส่ให้ตัวเองพอใจ” สองเสียงประสานเป็นหนึ่งเดียว

ฉันว่า โอกาสในการแต่งตัวโป๊ไม่ได้เรียกร้องหาผู้ชมทุกครั้ง สังคมถึงรณรงค์กันปาวๆ ว่า อย่าบอกให้ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิดเพื่อจะได้ไม่ถูกข่มขืน อย่าผลักภาระให้ผู้หญิงซื้อสเปรย์พริกไทย เรียนเทควันโด ก่อนจะแต่งตัววับๆ แวมๆ

โอกาสในการแต่งตัว โป๊หรือไม่โป๊ ไม่ใช่เหตุผลของการคุกคามทางเพศ นิทรรศการหนึ่งที่นำเสื้อผ้าของผู้หญิงที่เคยถูกลวนลามทางเพศมาแขวนโชว์ แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้หญิงที่ถูกคุกคาม ใส่เสื้อผ้าทุกแบบ ขาสั้น และ ขายาว ผ้าบาง และ ผ้าหนา แล้วสุดท้าย มิดชิดหรือไม่ ก็ยังมีคนถูกคุกคาม

 

 

หลายครั้งโอกาสในการแต่งตัวโป๊ถูกฉวยไป เพราะความเข้าใจผิดว่าตัวเองคือผู้ชม คิดว่าผิวที่เผยสู่สายตา ไม่มีเสื้อผ้าปิดไว้ หรือทรวดทรงที่คัดแน่นใต้เสื้อรัดรูป เป็นคำอนุญาตให้ใครๆ มีสิทธิเหนือร่างกายผู้สวมใส่ ซึ่งผิดถนัด

“ใส่ให้ใครดู” นั่นแน่ะ สงสัยยังไม่เข้าใจ

“ไม่มี! ใส่ให้ตัวเองพอใจ”

“ถ้างั้น อยากให้คนคิดอะไร เวลาเลือกใส่เสื้อผ้า”

แบบนี้แล้วกัน… บางครั้งก็ไม่ต้องคิดอะไรเลย บางครั้งก็คิดว่าเซ็กซี่ สวย ตลก บางครั้งก็มองว่าแต่งแบบนี้ไม่รอด แต่… หลายๆ ครั้ง ก็คิดว่าเราสวมใส่สิทธิในเรือนร่างของตัวเองก็ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save