fbpx
"เราอยู่ในโลกที่เรียกร้องการคิดใหม่ทั้งหมด" - Justin Wood แห่ง World Economic Forum

“เราอยู่ในโลกที่เรียกร้องการคิดใหม่ทั้งหมด” – Justin Wood แห่ง World Economic Forum

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ตลอด 40 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง World Economic Forum (WEF) ไม่เพียงแต่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างใกล้ชิดเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตคำอธิบายและความรู้เกี่ยวกับโลก มิพักต้องพูดถึงว่า WEF ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการผลักดันให้ความรู้ของพวกเขากลายเป็นวาระระดับโลก

มุมมองต่อโลกของสถาบันแห่งนี้ จึงทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิธีคิดและกระบวนการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

แต่ในอีกด้านหนึ่ง WEF ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น ‘กลุ่มชนชั้นนำโลก’ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมา WEF พยายามที่จะสนับสนุนโลกาภิวัตน์มาตลอด และมีแต่คนรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้

101 ชวน Justin Wood หัวหน้าฝ่ายวาระภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจโลก (Head of Regional Agenda – Asia Pacific, World Economic Forum) สนทนาแบบกระชับเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 รวมไปถึงเครื่องมือและวิธีคิดใหม่ๆ ในกระบวนการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องมือใหม่อย่าง ‘Global Competitiveness Index 4.0’ (GCI 4.0) ที่ WEF อ้างว่าเป็นเสมือน ‘เข็มทิศทางเศรษฐกิจ’ ของโลกยุคใหม่

 

ในรอบ 2 -3 ปี WEF พยายามเข้าไปมีส่วนกำหนดวาระ (shape) เรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The 4th Industrial Revolution) อย่างเข้มข้น ทำไมวาระดังกล่าวถึงมีความสำคัญในโลกยุคใหม่

ทุกวันนี้ มีเทรนด์อยู่ 4- 5 เทรนด์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด (critical) ในการกำหนดว่าโลกที่เราอยู่เป็นแบบไหน ข้อเสนอของเราคือ เทรนด์ที่สำคัญและทรงพลังมากที่สุดคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งก็คือปรากฏการณ์ที่เทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและหลอมรวมเข้าด้วยกัน

เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ทุกวันนี้แทบไม่มีอะไรเลยด้วยซ้ำที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง ระบบอภิบาล (governance) ระบบธุรกิจ ความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม หรือกระทั่งวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร มีความหมายอย่างไร และจะนำพาพวกเราไปที่ไหน ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในโลกที่เรียกร้องการคิดใหม่ทั้งหมด

 

มนุษย์เป็นสิ่งมีชิวิตที่ปรับตัวอยู่ตลอด จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 จนมาถึงปัจจุบัน ชีวิตพวกเราก็เปลี่ยนแปลงไปมาก อะไรคือสิ่งที่ทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต่างออกไป

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในอัตราเร่ง นั่นหมายความว่า เราจำเป็นต้องอยู่บนคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น โลกจะหนีห่างจากเราไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถตามทันได้เลย

เป็นความจริงว่ามนุษย์ปรับตัวมาโดยตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เรียกร้องให้เราปรับตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดก็ยังสามารถเติบโตได้ โมเดลการพัฒนาแบบเดิมเชื่อว่าปล่อยให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมไป ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็รับและปรับเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งถ้าทำได้เร็วพอ ประเทศกำลังพัฒนาก็จะสามารถไล่กวดประเทศพัฒนาแล้วได้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ใช้โมเดลนี้ ซึ่งก็ทำได้ดีพอสมควร

อันที่จริงต้องบอกว่า ในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา โมเดลการพัฒนาแบบนี้ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก สิ่งที่เราเห็นคือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไล่กวดประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก จนทำให้ช่องว่างของแต่ละประเทศลดน้อยลง

แต่ทุกวันนี้ โมเดลการพัฒนาแบบนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดีอีกต่อไป เพราะมันใช้ได้ผลน้อยลงเรื่อยๆ ท่ามกลางคลื่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ประเทศใดที่ยังใช้โมเดลแบบเดิมนี้จะถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ แม้ยังคงเติบโตอยู่ก็ตาม

 

นอกจากเทคโนโลยีแล้ว อะไรเป็นความท้าทายสำคัญที่คุณมองเห็นอีก

ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ซับซ้อน และอาจไม่ได้เป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก สถาบันและกรอบคิดเกี่ยวกับระเบียบโลก อาทิ สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก กำลังเผชิญหน้าความท้าทายอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเห็นว่า ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมและกลไกต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโลกมาตลอด 70 กว่าปี ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดังเดิมแล้ว

สิ่งที่ต้องตอบคือ แล้วเรากำลังเข้าสู่ระเบียบโลกแบบไหน? แนวโน้มหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ คือ โลกกำลังมีหลายขั้ว และหลายความคิด (multi-polar and multi-conception) กล่าวคือ ไม่ได้มีกฎกติกาแบบเดียวให้ยึดถืออีกต่อไป ในแง่นี้ แต่ละประเทศจะดำเนินนโยบายแบบเอกภาคีมากขึ้น ในขณะที่การร่วมมือภายใต้ผลประโยชน์ร่วมจะเป็นไปอย่างยากลำบาก

ภายใต้โลกแบบนี้ สิ่งที่ตามมาคือความไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วว่า ไม่ใช่สิ่งที่เป็นมิตรกับการพัฒนาเศรษฐกิจเลย

 

 

เมื่อปลายปี 2018 WEF ได้เปิด Global Competitiveness Index 4.0 (GCI 4.0) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันแบบใหม่ พร้อมทั้งอธิบายว่านี่คือ ‘เข็มทิศทางเศรษฐกิจ’ ของโลกใหม่ อยากให้เล่าเบื้องหลังความคิดให้ฟังหน่อย

WEF สร้างและใช้ Global Competiveness Index (GCI) มากว่า 40 ปี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ใช้อธิบายว่า ‘องค์ประกอบของผลิตภาพ’ (ingredient of productivity) ของประเทศหนึ่งๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งผลิตภาพนี้เองที่เป็นฐานที่มาของรายได้ พูดแบบง่ายก็คือ ถ้าอยากรวยขึ้น ประเทศหนึ่งๆ ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ นี่คือแก่นของการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งของ GCI คือ เราต้องการให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลและภาคเอกชน มองเห็นว่า ประเทศตนเองอยู่ตรงไหน อะไรคือจุดแข็ง-จุดอ่อน จากนั้นก็แก้ปัญหาในด้านที่เป็นจุดอ่อน

แต่หลังจากที่ใช้ตัวชี้วัดนี้มากว่า 40 ปี WEF เริ่มมองเห็นแล้วว่า ในบริบทที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและรวดเร็ว องค์ประกอบของผลิตภาพ ไม่ว่าจะเป็นทักษะแรงงาน การค้าระหว่างประเทศ หรือนวัตกรรม ก็ล้วนเปลี่ยนไปด้วย พูดอีกแบบก็คือ สิ่งที่ประเทศจำเป็นต้องมีเพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตนั้นเปลี่ยนไป

 

ถ้าเทียบกับ GCI เดิมแล้ว GCI 4.0 มององค์ประกอบของผลิตภาพเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ในภาพรวม GCI 4.0 ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านอ่อน (soft factors) มากขึ้น ใน GCI เดิมมีตัวชี้วัดย่อย 114 ตัวชี้วัด ส่วนใน GCI 4.0 เหลือแค่ 98 ตัวชี้วัด แต่มีตัวชี้วัดใหม่มากถึง 64 ตัวชี้วัด

แน่นอนว่า องค์ประกอบดั้งเดิมของผลิตภาพ เช่น ปัจจัยเชิงสถาบัน (institutions) โครงสร้างพื้นฐานที่ดี หรือคุณภาพการศึกษา ยังคงสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ก็มีองค์ประกอบใหม่อีกชุดที่ทวีความสำคัญขึ้นมา เช่น ความปราดเปรียวของระบบเศรษฐกิจ (agility) ซึ่งเป็นการวัดว่า เศรษฐกิจสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีแค่ไหน ความยืดหยุ่นของระบบเศรษฐกิจ (resilient) ซึ่งวัดว่าเศรษฐกิจสามารถรองรับวิกฤตที่ไม่คาดคิดได้ดีแค่ไหน และการปรับตัว (adaptability) ซึ่งวัดว่าเศรษฐกิจเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดอื่นที่น่าสนใจ เช่น การมองไกลของรัฐบาล ซึ่งพยายามวัดว่ารัฐบาลมองไปข้างหน้า หรือคิดแค่เรื่องเฉพาะหน้า ฯลฯ

ในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา เดิม GCI มองว่า ถ้ามีการวิจัยและพัฒนาก็เพียงพอแล้ว แต่ GCI 4.0 จะมองถึงความเป็นไปได้ที่งานวิจัยจะถูกนำไปไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งทำให้เราต้องนิยามทักษะที่จำเป็นของแรงงานใหม่ด้วยเช่นกัน

การนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาสร้างเป็นตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขัน คือความท้าทายของการสร้าง GCI 4.0 ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเองก็บอกว่า ตัวชี้วัดนี้มีลักษณะของ ‘ความเป็นอนาคต’ (Future-oriented) ค่อนข้างมาก นั่นคือ มันให้น้ำหนักกับการรับมืออนาคตที่ไม่แน่นอน มากกว่า GCI แบบเก่า

 

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า GCI 4.0 เป็นเครื่องมือที่ใหม่และดีพอในการรับมือความเปลี่ยนแปลงในโลกใหม่ เพราะคุณเองก็ย้ำตลอดถึงความแรงและความเร็วของการเปลี่ยนแปลง

เป็นคำถามที่ชวนย้อนแย้งมาก (หัวเราะ)

ถ้าดูให้ดี GCI 4.0 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีแบบใดแบบหนึ่งเลย มันไม่ได้บอกว่า เทคโนโลยีอะไรจะไป อะไรจะมา แต่มันให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว GCI 4.0 ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้ประเทศหนึ่งๆ สามารถออกแบบนโยบายที่รองรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่มีใครรู้ได้

ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดเรื่องความปราดเปรียว (agility) คงไม่ใช่เรื่องที่จะเปลี่ยนในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า เป็นความจริงว่า เทคโนโลยีอาจจะเปลี่ยน ความคิดใหม่อาจจะเปลี่ยน แต่ความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญอยู่  ลักษณะเช่นนี้ต่างหากคือหัวใจของ GCI 4.0

 

ถ้าเป็นแบบนี้ GCI 4.0 อาจจะเป็นตัวชี้วัดสุดท้ายแล้วหรือเปล่า เพราะถ้าอธิบายแบบที่คุณบอก มันก็อาจไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีก

ตอบไม่ได้ว่า GCI 4.0 จะมีลักษณะแบบนั้นไหม แต่ ณ ตอนนี้มันก็เป็นความรู้ที่ดีที่สุดที่เรามี

GCI 4.0 เป็นความร่วมมือกันของสถาบันวิชาการและนักวิชาการเป็นจำนวนมาก WEF กล้าพูดว่า ดัชนีนี้ถูกสร้างบนพื้นฐานของงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดชุดหนึ่งของโลก

บางทีอีก 40 ปีข้างหน้า ถ้าย้อนมามองอีกครั้ง มันอาจจะโบราณมากๆ เลยก็ได้ แต่ถึงตอนนั้นก็คงมีความคิดใหม่ๆ ออกมาอีก (หัวเราะ)

 

อะไรคือข้อจำกัดของ GCI 4.0

มีหลายประเด็นที่ต้องระวังในการนำ GCI 4.0 ไปใช้  ประเด็นแรกคือ GCI 4.0 เป็นเครื่องมือในการสำรวจตัวเอง มากกว่าที่จะใช้เป็นเป้าหมาย หลายประเทศพยายามที่จะไต่อันดับใน GCI จนลืมไปว่า นี่เป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยเสริม

ประเด็นที่สองคือ ตัว GCI 4.0 ไม่ใช่ตัวแปรที่ใช้ทำนายสภาวะทางเศรษฐกิจ เพราะในทางวิชาการเราไม่สามารถเคลมได้ว่า GCI 4.0 เป็นต้นตอของ GDP แต่สิ่งหนึ่งที่เราบอกได้แน่ๆ คือ มันมีความสัมพันธ์ที่เป็นบวกต่อกันอย่างสูง กล่าวคือ ประเทศที่มีคะแนน GCI 4.0 ที่ดี มักจะเป็นประเทศที่รายได้สูงด้วย

 

 

ที่คุณอธิบายมาทั้งหมด คล้ายกับว่า GCI 4.0 มีความเป็นกลางเชิงนโยบาย แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตเหมือนกันว่า ท้ายที่สุด GCI 4.0 ก็มีนัยเชิงนโยบายแบบเสรีนิยม เช่น การเปิดประเทศ (openness) เป็นต้น ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง แนวนโยบายแบบนี้เองหรือเปล่าที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนเป็นเหตุของความปั่นป่วนในโลกปัจจุบัน

WEF ไม่เคยปฏิเสธว่า เราเชื่อในแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม เราเชื่อว่าการเปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเทศ เปิดรับไอเดียใหม่ เปิดให้มีการค้าและการลงทุน มีความสำคัญต่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้าม เราเชื่อว่าการผูกขาดและการแข่งขันที่น้อยเกินไปเป็นเหตุของความไร้ประสิทธิภาพ

ในประเด็นนี้มีงานวิชาการที่สนับสนุนอย่างแข็งแรง ธุรกิจที่ผูกขาดอยู่ในประเทศมักจะล้าหลังกว่าธุรกิจที่ต้องออกไปสู้ข้างนอก และเมื่อถึงคราวที่ถูกบังคับให้แข่ง พวกเขาก็มักจะฝ่ายพ่ายแพ้ ประเด็นสำคัญคือ การผูกขาดและความไร้ประสิทธิภาพไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อบริษัทนั้นๆ แต่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ซึ่งกระทบทุกคนทั้งหมด

ในประเทศไทยมีหลายภาคเศรษฐกิจที่ GCI 4.0 ชี้ว่ายังมีการแข่งขันน้อยเกินไป โดยเฉพาะภาคบริการอย่างภาคธนาคาร โทรคมนาคม และสาธารณสุข ซึ่งผมคิดว่าในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมเท่าไหร่นัก

นอกจากนี้ ในโลกใหม่ การเปิดกว้างยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ข้อมูลข่าวสาร ความคิด เทคโนโลยี และผู้คน เกิดการแลกเปลี่ยนไหลเวียนได้ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

ซิลิคอนวัลเลย์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในเรื่องนี้ เพราะคนทำงานในนั้นไม่ใช่แค่เก่งเท่านั้น แต่พวกเขามีความหลากหลายมาก และวัฒนธรรมที่นั่นก็เปิดรับความหลากหลายนั้น

ถ้าคุณอยากให้ประเทศสามารถสร้างนวัตกรรมได้จริง การเปิดประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ

 

แต่การยืนยันที่จะเปิดประเทศก็ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะในบริบทที่สงครามการค้ากำลังเกิดขึ้น รวมถึงความเหลื่อมล้ำที่ลุกลามจนสร้างความไม่พอใจให้กับคนที่เชื่อว่าตัวเองเสียประโยชน์จากการเปิดประเทศ

สงครามการค้าคือความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเผชิญ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้จุดชนวนเอง แต่ข้อมูลชี้ชัดว่า ประเทศที่ยังสามารถยืนหยัดต่อการค้าเสรี จะยังคงได้ประโยชน์อยู่

แต่แน่นอน โลกาภิวัตน์หรือการเปิดประเทศไม่ได้เป็นผลดีกับทุกคน แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลของการปิดประเทศ หรือทำสงครามการค้า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือการออกแบบนโยบายที่ทำให้ประเทศยังคงได้รับผลประโยชน์จากการเปิดประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถดูแลคนที่ไม่ได้ผลประโยชน์จากการเปิดประเทศด้วย

 

โดยหลักการ การเปิดประเทศนำมาซึ่งประโยชน์กับประเทศ แต่ในความเป็นจริง ประเทศเล็กๆ อย่างไทยจะดำเนินนโยบายตามหลักได้อย่างไร สมมติว่าเราอยากเปิดประเทศ แต่เมื่อมองออกไป เรากลับเจอสงครามการค้ารออยู่

สงครามการค้าอาจสร้างความตึงเครียด แต่ถ้ามองดูให้ดีจะเห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสอยู่มาก เช่น การมุ่งไปที่ตลาดอาเซียน ซึ่งไม่ได้อยู่ในสมรภูมิรบ และผมเชื่อว่าประเทศในอาเซียนต่างรู้ดีว่าตัวเองได้ประโยชน์จากการค้าอย่างไร ดังนั้น ทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือ การหันมายกระดับการเปิดประเทศระหว่างอาเซียนด้วยกัน

ที่สำคัญไปกว่านั้น การค้าระหว่างอาเซียนไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาวจะเป็นการช่วยสร้างหลักประกันและเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีมากๆ ในบริบทที่การค้าโลกกำลังถูกท้าทาย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ผมคิดว่าในด้านอื่นๆ หลักคิดค่อนข้างคล้ายกันคือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีโอกาสใหม่อยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือคุณต้องปรับตัวให้เร็ว

 

มีคนวิจารณ์ WEF ค่อนข้างรุนแรงว่าเป็น ‘กลุ่มชนชั้นนำโลก’ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมา WEF พยายามที่จะสนับสนุนโลกาภิวัตน์มาตลอด และก็มีแต่คนรวยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้

เป็นข้อวิจารณ์ที่ผมได้ยินบ่อยมาก ผมเข้าใจได้ว่าทำไมผู้คนถึงคิดแบบนั้น แต่นี่เป็นการจัดประเภทที่ผิดพลาดและไม่จริง

เป็นความจริงที่เราเป็น ‘แชมเปี้ยนของโลกาภิวัตน์’ แต่ถ้าคุณลองไปประเมินผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อมนุษยชาติ คุณจะพบว่ามันใหญ่จนแทบจะประเมินมูลค่าไม่ได้เลย เช่น ในประเทศจีนมีคนหลายร้อยล้านคนสามารถหลุดออกมาจากความยากจนได้ เพราะจีนเลือกที่จะเปิดประเทศและหันหน้าเข้าสู่โลกาภิวัตน์

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงเช่นกันว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่มักจะละเลยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น และเราอาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ถ้าย้อนกลับมาดูที่ GCI 4.0 จะเห็นว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านความเหลื่อมล้ำอย่างมาก โดยเฉพาะการให้น้ำหนักกับการเติบโตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive growth)

จะเห็นว่า GCI 4.0 มีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและการลดความเหลื่อมล้ำอยู่หลายตัว เช่น คุณภาพการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่รัฐบาลต้องลงทุน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปภาษี ซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน

ศาสตราจารย์ เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ประธานและผู้ก่อตั้ง WEF เองก็เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้ออกมานำเสนอไอเดีย ‘Globalisation 4.0’ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เราต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องจัดการโลกาภิวัตน์ในแนวทางใหม่ ต้องหานโยบายหรือนวัตกรรมใหม่ที่ไม่ให้ใครถูกโลกาภิวัตน์ทิ้งไว้ข้างหลัง

 

ข้อสังเกตหนึ่งเวลาอ่านงานหรือความคิดของ WEF คือ จะไม่มีการใช้คำหรือคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย แต่จะใช้คำที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น ความโปร่งใส (transparency) การรับผิด (accountability) จริงๆ แล้ว ความสามารถในการแข่งขันต้องการประชาธิปไตยหรือเปล่า

นี่เป็นคำถามเชิงปรัชญาเลยนะ (หัวเราะ)

ผมคิดว่าเรื่องนี้มีสองประเด็น ประเด็นแรก คงไม่มีใครเถียงว่าความโปร่งใส และการรับผิด เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในสังคม และมันสมเหตุสมผลอย่างยิ่งว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ไม่ว่าจะมองจากสามัญสำนึก หรือเชิงวิชาการ ประเด็นคือไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใสและการรับผิดเป็นสิ่งที่จำเป็นและควรมี

ประเด็นที่สอง ระบอบการปกครองมีหลายรูปแบบ คุณต้องมาเถียงกันว่าแบบไหนที่สามารถนำมาซึ่งความโปร่งใสและความรับผิดได้ ส่วนตัวผม (เน้นย้ำ) เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ในการสร้างความโปร่งใสและการรับผิด แต่แน่นอนว่าอาจมีคนไม่เห็นด้วย เพราะเขาอาจยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์มาแย้งก็ได้ ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว

 

การถดถอยของกระแสประชาธิปไตยโลก ส่งผลอะไรหรือไม่ต่อการมองเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน

หากมองผ่านแว่น GCI 4.0 ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่มากนัก เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ตัวชี้วัดหลักของเรา อีกทั้งเรายังให้ความสำคัญกับการปรับตัวค่อนข้างมาก แต่บางสถาบันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เช่น The Economist Intelligence Unit (EIU) ที่พยายามเสนอว่า การถดถอยของประชาธิปไตยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่เชื่อว่า ประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบและสังคมที่ดี การถดถอยลงของกระแสประชาธิปไตยในโลกเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังทีเดียว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save