เมื่อ 'รายได้' ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย : ทำความเข้าใจ 'ครอบครัวแหว่งกลาง' กับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู

เมื่อ ‘รายได้’ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย : ทำความเข้าใจ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ กับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ (skipped generation family) คือนิยามที่ใช้เรียกครอบครัวที่มีสมาชิกรุ่นปู่-ย่า แล้วข้ามไปที่รุ่นหลาน โดยขาดสมาชิกรุ่นพ่อ-แม่ ลักษณะครอบครัวเช่นนี้ อาจไม่ห่างไกลจากการรับรู้ของเรานัก หลายคนพอบอกได้ว่าปัญหาอาจเกิดกับครอบครัวต่างจังหวัดที่พ่อแม่ย้ายไปทำงานในเมือง ที่มักสืบเนื่องจากการดิ้นรนเพื่อปากท้อง

แต่ปัญหาเบื้องหลังครอบครัวแหว่งกลาง ยังมีมุมมองด้านอื่นอีกมากที่เราอาจมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในระยะยาวของคนรุ่นลูก ข้อจำกัดอื่นๆ ที่ตามมาหลังการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นพ่อแม่ แม้กระทั่งคำถามที่ว่า ครอบครัวแหว่งกลางอยู่ที่ไหนบ้าง

101 ขอขยายเรื่องที่มองไม่เห็นนี้ ผ่านการคุยกับ ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู  อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัย ‘บทบาทของสภาพครัวเรือนต่อการพัฒนาคุณภาพกำลังแรงงานในอนาคต’ ที่ทำร่วมกับ ดร.ธัญมัชฌ สรุงบุญมี จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ประเมิน ‘ขนาด’ และ ‘รูปแบบ’ ของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างของครัวเรือนที่แตกต่างกันต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะประเด็น ‘สภาวะครัวเรือนแหว่งกลาง’ งานวิจัยของเนื้อแพร และ ธัญมัชฌ สรุงบุญมี วิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวด้วย Townsend Thai Data การเก็บข้อมูลติดตามบุคคลระยะยาว (Longitudinal) ในช่วง ค.ศ. 1997-2015

การเก็บข้อมูลติดตามบุคคลระยะยาวนี้จะช่วยสะท้อนภาพใหญ่ ความเป็นไปของครอบครัวแหว่งกลาง ชี้ให้เห็นจุดร่วมของปัญหา พร้อมเสนอแนะทางแก้จากต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

 

 

เด็กที่เกิดในครอบครัวแหว่งกลาง เป็นอย่างไร แตกต่างจากครอบครัวอื่นอย่างไร

เราให้คำจำกัดความเด็กในครัวเรือนแหว่งกลางว่า เขาคือเด็กที่อาจจะเกิด หรือโตมาในครัวเรือนที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ตอนเขาเติบโต แหว่งกลางก็คือแหว่งไปหนึ่งรุ่น คือรุ่นพ่อรุ่นแม่ โดยมีคนรุ่นปู่ย่าตายายเป็นคนดูแล ไม่ใช่ว่าเด็กที่โตมาไม่มีพ่อแม่ เพียงแต่ว่าเขามีโอกาสที่จะอยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กคนอื่น

และไม่ใช่ว่าเขาโดนพ่อแม่ทิ้ง หรือไม่มีพ่อแม่ เพียงแต่พ่อแม่เขาฝากให้ดูแล สมมติว่าเวลา 365 วัน เวลาที่เขาจะอยู่กับพ่อแม่จริงๆ จะน้อยกว่าครัวเรือนอื่นๆ หรือครัวเรือนที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน  อาจจะกลับมาเจอกันช่วงวันหยุดยาวๆ

 

ส่วนใหญ่คือครอบครัวที่คนรุ่นพ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองหรือเปล่า

จากที่เราเจอเป็นอย่างนั้น ในหลายงานวิจัยจะเห็นว่า เขามีคุณพ่อคุณแม่อยู่ เพียงแต่ตัวพ่อแม่เองเป็นวัยทำงาน หรือตัวพ่อแม่ค่อนข้างอายุน้อย 20-30 กว่าๆ ที่ไปทำงานในเมือง กลับบ้างบางอาทิตย์ ส่วนใหญ่คือจะกลับแค่ช่วงเทศกาลเพราะไปทำไกล เขาก็ต้องฝากลูกให้คุณพ่อคุณแม่ที่ต่างจังหวัดช่วยดูแล

อายุน้อยในที่นี้หมายความว่าไม่ใช่วัยเยาวชน แต่เป็นวัยทำงานที่อยู่นิ่งไม่ได้อยู่แล้ว ต้อง active ในตลาดแรงงาน เราอาจคุ้นเคยกับรูปแบบในการแต่งงานที่อายุ 27-28 ใช่ไหม แต่ถ้าในต่างจังหวัด อายุ 20 ต้นๆ เขาก็แต่งงาน มีลูกแล้ว

 

จำนวนครอบครัวแหว่งกลางปัจจุบันมีมากขนาดไหน แล้วสังคมที่มักจะพบในครอบครัวที่มีเด็กแหว่งกลางเป็นยังไง

สมมติเทียบว่ามีเด็กๆ ร้อยคน ร้อยครอบครัว สัดส่วนของครัวเรือนแหว่งกลางก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ดูจากผลสำรวจเด็กและเยาวชนของสำนักงานสถิติฯ จากที่เคยมีครอบครัวแหว่งกลางประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็ขึ้นสูงถึงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนคนที่อยู่ในตัวเมือง สภาพของครัวเรือนก็มีลักษณะคล้ายกัน แต่มีครอบครัวแหว่งกลางน้อยหน่อย

 

มีแนวโน้มไหมว่าครอบครัวแหว่งกลางอยู่ส่วนไหนของประเทศมากเป็นพิเศษ

เราเห็นค่อนข้างกระจาย เป็นไปตามรูปแบบของการย้ายถิ่นที่เราจะเจอมากหน่อยในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งคำว่าย้ายถิ่น ก็คือเข้ามาทำงานทั้งในกรุงเทพฯ และในภาคตะวันออก จริงๆ เขาก็ย้ายตามโอกาสงานแหละ ถ้าเกิดเขาอยู่ในพื้นที่ ก็ไม่มีงาน ก็ต้องย้ายถิ่นไปตามแรงผลักของเศรษฐกิจ

 

ทำไมเราต้องอาศัยข้อมูลที่เก็บในระยะยาวในการมองปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ข้อมูลระยะยาวแตกต่างจากข้อมูลทั่วไปอย่างไร

คือเวลาเราดูการพัฒนาด้านการศึกษา หรือการพัฒนาทักษะของคน ที่ผ่านมา เราจะเห็นเป็นขมวดหนึ่งช่วงเวลา เราเจอเขาครั้งเดียว แล้วใช้การถามย้อนหลังเอา ดังนั้นมันอาจจะมีความบิดเบี้ยวของข้อมูลด้วย มากกว่านั้นก็คือว่า เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาต่อไปในอนาคต

แต่อย่าง Townsend Thai Data เป็นข้อมูลที่ longitudinal เป็นข้อมูลที่เจอคนคนหนึ่ง แล้วเราก็ตามเขาไปเรื่อยๆ 10 หรือ 20 ปี ทำให้เรารู้การเปลี่ยนแปลง รู้มุมมองของประเทศ เขาเน้นอะไรที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต คนก็จะได้รู้ว่าที่เขาเป็นแบบนี้ เป็นเพราะอะไร เขาเคยเป็นอะไรมาในอดีต แล้วอดีตที่ผ่านมาจะส่งผลกับเขายังไงในอนาคต ก็เลยเพิ่มเทคนิคในการเรียนรู้ ชี้ประเด็นอะไรให้ถูกต้อง

Townsend Thai Data เป็นข้อมูลที่เก็บมาตั้งแต่ปี 1997 หนึ่งปีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง แล้วเพิ่งมาจบเมื่อปี 2016 ฐานข้อมูลอาจจะไม่ได้ใหญ่ คือเราไม่ได้พูดถึงคนเป็นล้าน มีไม่ถึงหนึ่งหมื่นครัวเรือน ไม่ได้เก็บทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่สามารถเป็นตัวแทนของคนในประเทศได้ เราไม่ได้เก็บข้อมูลคนมีฐานะสูง ส่วนใหญ่จะเป็นคนฐานะกลาง ถึงฐานะล่างๆ ตามเด็กประมาณ 5,000 คน

 

จากงานวิจัยของอาจารย์ มีข้อพบเห็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

อย่างแรกคือ เราจะเห็นว่ารูปแบบของครอบครัวแหว่งกลางมีค่อนข้างเยอะขึ้น ถึงจะไม่ได้เยอะมาก แต่เยอะขึ้น แล้ว ณ ตอนนี้ จากที่ตามเก็บข้อมูลของเด็กสภาวะใกล้เคียงกัน เป็นเวลา 10-20 ปี ทำให้รู้ว่าเขามีรูปแบบในการเข้าโรงเรียนเป็นอย่างไร การไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง เราพบว่าในแง่หนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ที่ฝากลูกไว้กับคุณตาคุณยายเพื่อไปทำงานที่อื่น สิ่งที่เขาได้คือเก็บเงินส่งกลับบ้าน ช่วยส่งเสริมให้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัว

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาอยู่ที่พื้นที่นั้น เขาอาจจะไม่มีอะไรทำ สถานะทางเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ดีมาก คือจริงๆ แล้ว การที่พ่อแม่ออกไปทำงานข้างนอกแล้วส่งเงินกลับมา ทำให้รายรับของครัวเรือนนั้นๆ ไม่ต่างกับครอบครัวรูปแบบอื่น เพียงแต่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนใกล้เคียงที่ได้อยู่กับพ่อแม่ ด้วยสภาวะการเงินที่ใกล้เคียงกัน พบว่าแม้จะมีเงินส่งกลับมา แต่เด็กที่โตมาในครอบครัวแหว่งกลาง มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำกว่าครอบครัวอื่นประมาณปีถึงปีครึ่ง

 

ในเมื่อครอบครัวมีรายได้ไม่ต่างกัน เราจะอธิบายเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

จากการศึกษางานวิจัยในประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เขาก็บอกว่า จริงๆ แล้วการเลี้ยงดู ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้เงินเท่าไหร่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีเวลาให้เขาขนาดไหน เราไม่ได้บอกว่าเด็กที่อยู่ภายใต้การดูแลของปู่ย่าตายายในครัวเรือนไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เพียงแต่ว่ามันไม่เหมือนกับได้รับการดูแลจากพ่อแม่ อาจจะด้วยวัยของปู่ย่าตายายที่ต้องเลี้ยงดู คนแต่ละรุ่นก็มีวิธีการเลี้ยงดูลูกบุตรหลานที่แตกต่างกัน แต่หากมีพ่อแม่ที่อยู่ในวัยที่สามารถรับความรู้ ข้อมูลในการเลี้ยงดูได้เร็ว เด็กก็อาจได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้องกว่า เลยเป็นหนึ่งในเส้นทางที่เราพบว่า เด็กบางกลุ่มสู้เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่จริงๆ ไม่ได้ แต่ว่าถ้าพ่อแม่เขาไม่ไปทำงานเลย เขาก็จะเสียประโยชน์ในเรื่องของรายได้เหมือนกัน

 

 

นอกจากปัญหาเรื่องการเรียนแล้ว มีปัญหาด้านอื่นอีกไหมที่พบจากงานวิจัย

พอมีปัญหาด้านการเรียน ก็เชื่อมโยงไปได้อีกหลายอย่าง เพราะพอไม่ได้เรียนเยอะ คนก็อาจจะมีปัญหาในชีวิตด้านอื่นได้ เช่น ด้านสุขภาพ คือเด็กในครอบครัวแหว่งกลางอาจจะเสี่ยงต่อการกลายเป็นพ่อแม่วัยใสในอนาคต ไม่ได้บอกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า

อย่างประเด็นการศึกษา งานศึกษาหนึ่งของกองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเสมอภาค ของ ดร.ไกรยส (ไกรยส ภัทราวาท – ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา) เขาก็พบรายละเอียดว่า กลุ่มเด็กที่อยู่ในสภาพเสี่ยง คือกลุ่มเด็กที่ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ เด็กเหล่านี้อาจจะลงทะเบียนเรียน แต่สุดท้ายไม่ได้ไปเรียนทุกวันตามที่เขาควรจะเรียน ถ้ากระทรวงศึกษาตรวจ ก็จะพบว่าเขาลงทะเบียนเรียนนะ แต่อาจไม่ได้ใช้เวลาในการเรียนจริงๆ

 

ที่อาจารย์บอกว่าจำนวนครอบครัวแหว่งกลางเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นมานานเท่าไหร่แล้ว และปัจจัยอะไรที่คิดว่าทำให้เพิ่มขึ้น

เพิ่มขึ้นในระยะ 30 ปีที่เราตามกันมา คิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงผลักของเศรษฐกิจนั่นแหละ ตอนนี้งานไม่ได้อยู่ที่ชนบท งานอยู่ที่เมืองใหญ่ๆ ตามแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าคนทางนู้นเขาอยากได้แรงงาน แล้วคนทางนี้ไม่มีงาน คนทางนี้ก็ต้องย้ายไป แล้วคอนเซ็ปต์ของประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายบังคับที่ว่า ต้องมีศูนย์หรือสถานที่ช่วยเลี้ยงเด็กอย่างที่หลายๆ ประเทศมีกัน ในต่างประเทศพอมีการย้ายงาน เขามี childcare ให้ ลูกก็สามารถตามพ่อแม่ไปได้ แต่แนวคิด การพัฒนาของเรายังไม่ได้คิดถึงเรื่องของประเด็นครอบครัวเท่าไหร่ คนอยากได้แรงงานมากขึ้น แต่การที่เขาจะกระเตงลูกไปอยู่ในอุตสาหกรรม มันเป็นไปไม่ได้ จริงๆ แล้ว ปล่อยลูกอยู่กับปู่ย่าตายายอาจจะดีกว่าก็ได้

 

แปลว่าถ้าไอเดียคือเด็กควรอยู่กับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ย้ายมาทำงานที่โรงงานในเมือง จริงๆ โรงงานก็ควรจะมีสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อให้พ่อแม่ได้อยู่กับเด็ก

เด็กควรจะได้อยู่กับพ่อแม่ในแนวคิดที่ว่า พ่อแม่มีเวลาให้เขาด้วย สมมติว่าเขาย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ แต่สุดท้ายแล้วโรงงานก็ยังให้เขาทำงานทั้งวันไปเรื่อยๆ จริงๆ อาจจะแย่ลงก็ได้ งานวิจัยของเราจะดูว่าเด็กคนนี้ พ่อแม่ย้ายออกไปทำงานเมื่อไหร่ ก็จะมีแบบที่ไม่อยู่เลยตั้งแต่เกิด กับแบบที่ไม่อยู่ตอนเข้ามัธยมไปแล้ว หรือเข้าประถมไปแล้ว แต่สิ่งที่เราพบคือเด็กที่เสี่ยงที่สุด เด็กที่มีพัฒนาการแย่ที่สุด คือเด็กที่พ่อแม่ย้ายไปตอนที่เขายังเป็นเด็กเล็กอยู่

ถึงแม้ว่าพ่อแม่ย้ายกลับมา ก็ยังช่วยไม่ค่อยได้มาก ผลก็ยังแย่กว่า สมมติว่าช่วง 2-5 ขวบ พ่อแม่ไม่อยู่ แต่หลังจากนั้นพ่อแม่ย้ายกลับมาอยู่ด้วย เด็กกลุ่มนี้ก็ยังแย่กว่ากลุ่มที่พ่อแม่อยู่ด้วยตั้งแต่เด็กแล้วย้ายไปทำงานภายหลัง เพราะช่วงวัย 2-5 ขวบ เป็นช่วงที่ในทางการแพทย์มองว่า เป็นวัยสำคัญที่สุดกับการพัฒนาสภาพจิตใจ สภาพสมอง เพราะฉะนั้นมันก็เป็นช่วงที่เขาให้คุณค่าที่สุด

พอจะระบุได้ไหมว่า สถานที่ทำงานที่แตกต่างกัน เช่น บางคนทำงานออฟฟิศ ทำงานโรงงาน มีผลกับเด็กในครอบครัวแหว่งกลางบ้างไหม

ณ ตอนนี้ไม่ได้แยกผลว่าการที่พ่อแม่ไปทำในที่ต่างๆ เป็นยังไง แต่เราจะรู้สถานะเศรษฐกิจของครัวเรือนนั้นๆ ว่าเขาทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่หรือว่าเขาทำธุรกิจของเขาเอง เช่น ธุรกิจค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า คนหรือครัวเรือนที่มีงานทำในชุมชน โอกาสที่จะเป็นครัวเรือนแหว่งกลางจะน้อยกว่า ตอบคำถามแรกว่าการที่เด็กๆ เติบโตขึ้นมาในสภาวะครัวเรือนแหว่งกลางเป็นเพราะเขาไปหางานที่อื่น เราเห็นว่าถ้าเขามีอะไรให้ทำที่ชุมชนของเขา มีโรงงานในชุมชน หรือว่าอยู่ในพื้นที่ที่เขาสามารถเดินทางไปเองได้ภายใน 2 ชั่วโมงต่อวัน โอกาสที่ชุมชนนั้นจะมีครัวเรือนแหว่งกลางก็จะน้อยลง

 

เราเห็นพฤติกรรมอะไรที่ต่างจากครอบครัวทั่วไปอีกบ้าง นอกจากไปทำงานต่างที่แล้วส่งเงินกลับมาบ้าน

คือข้อมูลอาจไม่ชัดเจน แต่ว่าจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนว่าพ่อแม่เป็นห่วงลูก โดยเฉพาะครอบครัวที่พ่อแม่เข้ามาทำงานในเมืองกรุง เขาจะตอบสนองกับข้อมูลต่างๆ ในการเลี้ยงดูบุตรของเขาสูงมาก คือทุกคนพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกตัวเอง เช่น การปั๊มนมส่งไป ถึงแม้ว่าตัวจะไม่อยู่ ลูกก็ได้กินนมครบ 6 เดือน วิธีการส่งนมกลับ อย่างแรกก็ต้องปั๊มนม ปั๊มนมเสร็จก็ต้องแช่ แช่เสร็จก็ต้องให้รถตู้วิ่งจากกรุงเทพฯ กลับไปอุบลฯ อะไรแบบนี้

ณ ตอนนี้ คนก็ทำกันเอง ไม่ได้มีนโยบายที่ช่วยเอื้อเท่าไหร่เลย เพราะฉะนั้นก็เลยมีประเด็นว่า ถ้าเรายังอยากให้เขาทำงานในเมืองอยู่ และยังอยากให้เขาทำประโยชน์เพื่อลูกได้ จะต้องมีกลไกทางนโยบายให้ เช่น ถ้าเขาอยากปั๊มนม ต้องมีห้องปั๊มนมให้สะดวกสบาย แล้วถ้าเขาต้องการจะส่งนมกลับในช่วงนี้ ระบบการขนส่งเป็นยังไง ถ้าเกิดรถบัส รถทัวร์ตัด รถหายไป กระบวนการเหล่านี้ก็จะแย่ สุดท้ายนมเน่าเสีย แล้วพอไปอยู่ที่ต่างจังหวัดจริงๆ ถ้าเกิดไฟฟ้าไม่คงที่ ก็แย่อยู่ดี เพราะฉะนั้นจึงมีหลายขั้นตอนที่เราจะสามารถเอื้อให้คนเหล่านี้ เพื่อจะพูดได้ว่า แรงงานคือกำลังสำคัญ ต้องให้เขามีโอกาสได้ดูแลลูกอย่างที่ต้องการ

 

นอกจากผลกระทบที่เกิดกับเด็กแล้ว มีผลกระทบกับผู้ดูแลเด็กอย่างไรบ้างไหม

เวลาที่คุณมาดูแลเด็ก คุณก็ไม่มีเวลาหารายได้ คุณจะไปนา ถ้าคุณตัดสินใจว่าจะเลี้ยงลูก อยู่ดูแลลูกทั้งหกเดือนเลย กฎหมายไทยตอนนี้ให้คุณลาแค่เท่าไหร่ 2 เดือน 3 เดือน เท่านั้น เพราะฉะนั้น อีก 3 เดือนก็เป็นความเสี่ยงของอาชีพทั้งของตัวพ่อและแม่ ก็เลยเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ว่าหลายๆ คนที่มีพื้นเพ มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด เขาก็จะกลับไปคลอดลูกที่นั่น แล้วก็มีเวลาเพียง 3 เดือนก็ต้องกลับมาทำงาน เพราะฉะนั้น นั่นเป็นเวลาเดียวที่เขาได้อยู่กับลูก หลังจากนั้นปู่ย่าตายายก็มีหน้าที่ดูแลต่อ

 

ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่ยังอยู่กับเด็ก เช่น ตา ยาย ก็ยังมีอาชีพของเขาด้วยใช่ไหม ไม่ได้ถือว่าอยู่กับเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์

มี แต่มันทำได้หรือเปล่า ถ้าเกิดคุณดูแลเด็กเล็กอยู่ คุณก็ต้องอยู่ในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นก็ยังมีประเด็นการจัดการหมู่บ้านอีก ถ้าคุณไม่ทำเกษตรกรรมในพื้นที่หลังหมู่บ้าน การเดินทางในอำเภอไม่ได้ง่าย

ณ ตอนนี้ ในชุมชนมีศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ดูแลจัดการโดย อบต. ซึ่งคุณภาพของศูนย์ดูแลเด็กเล็กก็แตกต่างกันออกไปตามความตั้งใจของ อบต. นั้นๆ

ศูนย์ดูแลเด็กเล็กจะเป็นที่แบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง มาส่งลูกตั้งแต่ 8 โมง มารับอีกทีบ่าย 2 ช่วงเวลานั้นผู้ปกครองก็จะมีเวลาไปทำงาน ไปนา ทำเสร็จเขาก็กลับมารับหลานพอดี ถ้าศูนย์เด็กเล็กมันดี เด็กมีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะ เด็กในพื้นที่นั้นก็จะโชคดีไป การทำศูนย์เด็กเล็กก็ต้องมี structured curriculum คือมีการทำหลักสูตรและรู้วิธีการสอนอย่างถูกวิธี เด็กก็จะได้พัฒนาการที่ดี แล้วทั้งปู่ย่าตายายก็ได้มีโอกาสหารายได้ด้วย เพราะไม่งั้นเขาอาจจะพลาดโอกาส หรือเวลาที่จะไปทำอะไรที่ intensive หรือใช้เวลาทั้งวัน

 

ส่วนใหญ่เด็กก็จะอยู่กับปู่ย่าตายายไปตลอดเลยหรือเปล่า

ที่เราเจอ จะเป็นรูปแบบประมาณว่า พอโตสักหน่อย ก็ค่อยเอาลูกมาดูแล เพียงแต่ว่าช่วงเวลาที่เขาไม่ได้อยู่ร่วมกัน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดที่เขาจะสามารถพัฒนาคน พัฒนาเด็ก 0-5 ปี มันก็เลยเป็นช่วงเวลาที่น่าเสียดาย  ด้วยความจำเป็นหลายๆ อย่าง ทำให้เขาไม่มีโอกาส

 

 

ถ้าเราพูดในความเข้าใจของคนทั่วไป คนอาจจะมองว่าปัญหาของครอบครัวแหว่งกลางเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เป็นภาวะจำยอม ถ้าจะให้เรื่องนี้ดีขึ้น ก็ต้องไปทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วเรามีทางออกอื่น ที่จะช่วยปัญหานี้ทางตรงไหม เช่น การปรับปรุงทำให้ชีวิตคนงานสามารถมีลูกติดไปด้วยได้

ใช่ค่ะ อันนั้นก็อย่างหนึ่ง หรือถ้ายังไงเขาก็ต้องฝากให้ที่บ้านดูแลเด็กจริงๆ ก็น่าจะมีตัวที่ช่วยเสริมพัฒนาเด็ก อย่างศูนย์เลี้ยงเด็กครึ่งวัน เป็นต้น เพราะอย่างที่บอกว่าปู่ย่าตายายเลี้ยงลูกมาด้วยวิธีการเก่าๆ ของเขา แต่ถ้าเราบอกว่ามีวิธีการใหม่ๆ ผ่านศูนย์เลี้ยงเด็กขึ้นมา จะดีกว่าไหม

ณ ตอนนี้ พวกนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหัวเมืองใหญ่ ต้องคิดคำนึงด้วยว่าแรงงานส่วนใหญ่มาจากไหน และเขา give up อะไรในชีวิตไปบ้างเพื่อทำงาน ต้องคิดถึงเบื้องหลังในชีวิตเขาด้วย แม้ว่าเราจะเปิด Eastern Economic Corridor (EEC) เราก็รู้อยู่แล้วว่าแรงงานไม่ใช่คนในพื้นที่ เขามาจากอีสาน มาจากเหนือ คำถามคือว่า คุณจะกระตุ้นเศรษฐกิจ คุณอย่าลืมว่าเศรษฐกิจอีก 20 ปี ขึ้นอยู่กับลูกของคนกลุ่มนั้นเลย ถ้าเกิดคุณเอาคนมาให้พัฒนาตอนนี้ก่อน อีก 20-30 ปีข้างหน้า แล้วลูกของพวกเขาล่ะ เขาควรเป็นเด็กที่มีศักยภาพที่ดีกว่านี้ได้ แต่กลับเป็นไม่ได้ เพราะคุณไปดึงพ่อแม่เขามา แบบนี้แย่กับประเทศด้วย ต้องคิดกันยาวๆ หน่อยค่ะ

 

ผู้ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวแหว่งกลาง ทั้งครอบครัว เด็ก หรือชุมชน เขามองหรือมีข้อเสนอแนะกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง

จริงๆ คุณภาพศูนย์เลี้ยงเด็กเป็นหนึ่งในค่า KPI (Key Performance Indicator) ของ อบต. นะ เพราะฉะนั้น คนในพื้นที่ก็อยากให้ศูนย์เลี้ยงเด็กดี เขาอยากให้เด็กของเขาไปได้ไกล กระทรวงศึกษา อาจารย์ ครูแต่ละคนก็อยากให้เด็กเรียนได้คะแนนดีๆ เพราะฉะนั้นทุกคนเห็นด้วยด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าตอนนี้เมื่อเราสามารถระบุปัญหาได้ ก็ต้องพยายามคุยให้รู้ว่านี่คือปัญหา และก็มาหาทางแก้ไขด้วยกัน

 

อาจารย์มีข้อเสนอต่อพ่อแม่ ต่อปู่ย่าตายาย ต่อเด็กอย่างไร

ถ้าเป็นข้อเสนอต่อพ่อแม่เด็ก ไม่กล้าเสนออะไรมาก เพราะเราคิดว่าทุกคนที่มีหน้าที่ดูแลบุตรหลาน รักและเป็นห่วงบุตรหลาน แต่ก็มีข้อกังวลให้เขาทราบด้วยว่า บางครั้งการที่เขาไม่มีเวลา ก็มีข้อเสียนะ ถึงแม้ว่าคุณไม่มีเงิน ไม่มีเวลาจริง แล้วมีทางเลือกไหนบ้างที่สามารถช่วยคุณได้ เช่น กดดันให้ อบต. สร้างศูนย์เลี้ยงเด็กดีๆ จะได้ช่วยคุณดูแล อันนั้นคือสิ่งที่เราอยากผลักดัน

อีกเรื่องคือ ในเมื่อพ่อแม่ย้ายไปเพราะไม่มีงาน จะทำยังไงให้งานกลับมาในชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียง แทนที่จะต้องเดินทางไปอยู่ที่อื่น 4-5 เดือน ไม่ได้เจอลูก อย่างน้อยก็เปลี่ยนเป็นเดินทาง ได้เจอลูกเสาร์อาทิตย์ ก็ยังจะดีกว่า เอางานมาในพื้นที่ที่คนอยู่จะดีกว่าไหม

 

แล้วข้อเสนอต่อผู้ประกอบการและรัฐ อาจารย์มีข้อเสนอแนะอย่างไร

มองว่าโดยทั่วไปผู้ประกอบการอาจกังวลเรื่องกำไร จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนที่ทำงานให้คุณ ถามว่าคุณภาพของคนที่ทำงานให้คุณมาจากไหน ก็มาจากการที่เขาได้รับการดูแลดีๆ ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นการที่ทำให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กที่ดี มันก็ดีต่อสวัสดิภาพของคนทำงานในปัจจุบันเอง ถ้าพูดถึงความพึงพอใจในการทำงาน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมผลิตภาพของพนักงานได้หมดเลย

อย่างนิคมอุตสาหกรรม อย่างน้อยก็น่าจะทำศูนย์เลี้ยงเด็กได้ คือไม่ใช่แค่ตั้งอาคารเป็นหลังนะ แต่ต้องมีคนที่รู้จริง เป็นบุคลากรที่รู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กจริงๆ

ส่วนในประเด็นของรัฐ นโยบายของรัฐก็ต้องเอาให้ครบว่า คุณจะดูแลคนตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่ต้องให้วิธีการ ให้อะไรที่นอกเหนือจากเงิน แล้วถ้าจะมีนโยบายที่อยากเพิ่มจำนวนประชากร มันไม่ใช่แค่กระตุ้นให้ผู้หญิงมีลูก ปัญหาไม่จบ เพราะคนก็คิดไปไกลว่าฉันมีลูก แล้วฉันจะดูแลลูกยังไง สุดท้ายพอฉันมีลูกแล้วก็ทิ้งฉันเลยเหรอ

ครัวเรือนแหว่งกลาง ไม่ได้แหว่งกลางตลอดชีวิต แต่มันจะแหว่งกลางในช่วงเกิดจนกระทั่งช่วงแรกๆ เพราะฉะนั้นวิธีแก้อย่างแรก คือนโยบายในการลาคลอด และนโยบายที่จะการันตีว่าเมื่อคุณกลับมาจากการลาคลอดแล้ว จะสามารถกลับไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ แล้วก็เป็นการลาคลอดที่ให้ทั้งพ่อและแม่ ถ้าแม่อยากทำงานก็สลับให้พ่อดูแลได้ ไม่ใช่ว่าหน้าที่การดูแลลูกต้องเป็นของคนที่คลอดอย่างเดียว ในกฎหมายปัจจุบันของประเทศไทยไม่ได้เปิดโอกาสให้พ่อทำตรงนี้ได้ ลาบวชได้ ลาเกณฑ์ทหารได้ แต่ลาเลี้ยงบุตรไม่ได้

แล้วการที่คุณมีนโยบายบอกว่า แม่ต้องให้นมบุตร 6 เดือน แต่คุณให้แม่ลาได้แค่ 3 เดือน มันขัดแย้งกันอยู่ในประเด็นของเขาเอง แต่ก็เห็นใจว่าสมมติคนงานคนหนึ่ง ออกไป 6 เดือน แล้วบริษัทจะทำยังไง มันก็ควรมีการให้แรงจูงใจ บางอย่างที่ทำให้คนงานทำงานออนไลน์ได้ นโยบายก็ต้องคิดถึงผลเสียของสถานประกอบการด้วย

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save