fbpx
สุทิน คลังแสง : ผู้แทนราษฎร อาวุธฝ่ายค้าน และปราการเถื่อน

สุทิน คลังแสง : ผู้แทนราษฎร อาวุธฝ่ายค้าน และปราการเถื่อน

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

รัฐสภาไทยกำลังเดินเครื่องเต็มกำลัง หลังชะงักไปกว่า 5 ปี ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องที่สังคมไทยได้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี สืบทอดอำนาจต่อไปอีกสมัย พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรคก็ผนึกกำลังกันทำหน้าที่อภิปรายถึงความไม่ชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจดังกล่าว

หนึ่งในตัวละครฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่น เล่นเอาประชาชนตั้งใจฟังเมื่อครั้งที่รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาคือ สุทิน คลังแสง ส.ส. เขต 5 มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย น้ำเสียงของเขาเรียบนิ่ง ประเด็นคมชัด อัดไปที่บทบาทการใช้อำนาจมาตรา 44 กรณี ‘เหมืองทองอัครา’ นานกว่า 20 นาที กลายเป็นการอภิปรายที่ว่ากันว่าทรงพลังที่สุดของการเปิดสภาในรอบ 5 ปี

ชื่อ ‘สุทิน’ ไม่ใช่ชื่อใหม่ในสนามการเมือง เขาคือสมาชิกรุ่นก่อตั้งพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปี 2541 เป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบและตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเมื่อปี 2551 จนทำให้เขาสวมหมวกแกนนำ นปช. มหาสารคาม ลงถนนประท้วงรัฐบาล ก่อนถูกปราบปรามและกลับมาลงสนามการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ

25 กรกฎาคม ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ‘สุทิน’ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) คิดอ่านการเมืองไทย 2562 อย่างไร

จากบทบาทที่เป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาเป็นส่วนใหญ่ เมื่อต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เขาตั้งธงอย่างไร, อะไรคืออาวุธของฝ่ายค้านต่อหน้าปราการเถื่อนทะมึนที่เขารู้สึกว่ายากและท้าทายที่สุดตั้งแต่อยู่ในสนามการเมืองมา, และอะไรคือสิ่งที่เขาคาดหวังต่อผู้แทนราษฎรด้วยกัน โดยเฉพาะ ‘ค่ายเพื่อไทย’ กระทั่งในนาม personal คนอย่างสุทินเติบโตมาแบบไหน

101 ชวนฟังทรรศนะของผู้แทนราษฎรที่ชาวมหาสารคามเรียกเขาว่า “ผู้แทนติดดิน”

 

 

 

ได้ฉายา “ผู้แทนติดดิน” มาจากไหน

ชาวบ้านเขาตั้งให้ ไม่ใช่ผมตั้งเอง เขามองว่าผมเป็นคนที่มีสถานะ เคยเป็นอาจารย์มา แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการวางเนื้อวางตัว เขาคิดว่าเป็นคนคบหาง่าย ไม่ถือตัว อยู่ง่ายกินง่าย ที่เขาเรียกว่าสุทินติดดิน เพราะเวลาผมไปในหมู่บ้านชาวบ้าน เขากล้าเข้ามาคุยด้วย บางครั้งเขาเห็น ส.ส. ที่มีฟอร์ม อาจจะดูหน้าดูหลังแล้วค่อยเข้าไปหา แต่กับผม ชาวบ้านทุกระดับจะเข้ามาคุยได้ทุกเวลา เราไม่ได้เสแสร้ง ทำทุกอย่างเหมือนใช้ชีวิตปกติ ตอนไม่ได้เป็น ส.ส. ก็เป็นแบบนี้

จริงๆ อาจเพราะผมเป็นเด็กบ้านนอก มีพ่อเป็นครู พอพ่อได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ตอนผมเด็กๆ จะเห็นชาวบ้านเข้ามาหาพ่อเพื่อปรึกษาปัญหาสารพัดเรื่อง ผมก็ซึบซับมาตั้งแต่เด็ก มันเลยเกิดความรู้สึกผูกพันกับชาวบ้าน พอโตมาหน่อยก็เห็น ส.ส. เข้าไปในหมู่บ้าน เราก็ติดตามดูว่าทำไมชาวบ้านต้องพึ่ง ส.ส. เวลาชาวบ้านขาดแคลน ทำไมเขาไม่พึ่งหน่วยงานอื่น แต่เขาพึ่ง ส.ส. ภาพแบบนี้เห็นมาตลอด จนกลายเป็นคนชอบการเมือง บวกกับปัญหาบ้านเมือง ความขาดแคลนของชาวบ้านที่มาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ระบบการเมืองที่มันไม่ให้ความเป็นธรรมกับคน สิ่งเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผมอยากทำงานการเมือง

 

พูดได้ไหมว่าเจริญตามรอยพ่อ

จะว่าแบบนั้นก็ได้, พอผมเรียนจบก็ไปเป็นครูที่ขอนแก่นสิบกว่าปี

 

สอนเกี่ยวกับอะไร

สอนเด็กพิการ หูหนวก ตาบอด สติปัญญาบกพร่อง สอนหมด ตอนนั้นใจผมไปทางคนพิการ เขาน่าสงสาร และในความเป็นครูมันก็ท้าทายตัวเองด้วย ทั้งภาษามือ อักษรเบรลล์ ผมต้องไปอบรมมาโดยเฉพาะ

อยู่กับเด็กพิการยี่สิบปีจึงย้ายมาอยู่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำงานวิจัยสายสังคมศาสตร์ ระหว่างนั้นกำลังจะไปเรียนต่อที่อังกฤษ แต่ความชอบการเมืองก็ทำให้ได้มาเจอกับ ‘อดิศร เพียงเกษ’ ด้วยความที่ชอบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ผมเลยไปติดตามอดิศร กระทั่งได้ไปเรียนรู้กับพ่อใหญ่ ‘แคล้ว นรปติ’ ผมก็ศึกษาแนวคิดทางการเมืองของท่านทั้งสองคน ได้เห็นการทำหน้าที่ผู้แทนของพวกท่าน เลยเกิดความเชื่อมั่นว่าตัวเองน่าจะมีโอกาสได้เป็นผู้แทนบ้าง

 

ทั้ง อดิศร’ และ ‘แคล้ว’ มีอะไรพิเศษให้คุณติดตามเรียนรู้

ทั้งสองคนเป็นไอดอลสำหรับผม ถ้าพูดสั้นๆ คือทั้งสองคนเป็นนักการเมืองที่ไม่มีเงิน การทำงานการเมืองไม่ได้ใช้เงินนำ พูดง่ายๆ คือทั้งสองคนนี้จน แต่เขาจนแล้วยังต่อสู้ทางการเมืองในยุคที่คนอื่นใช้เงินเยอะ แต่สองคนนี้ก็ฝ่าฟันได้ มันตรงกับชีวิตผมเพราะผมก็จน ถ้าเมื่อก่อนผมไปเดินตามนักการเมืองที่ใช้เงินนำหน้า คงไม่มีผมในวันนี้

เวลาที่มันไม่มีเงิน เราก็ถือแนวทางในการออกไปให้ความคิด ใช้ภูมิปัญญากับชาวบ้าน พูดแข่งกับเงิน คนอื่นอาจจะเหนื่อยกระเป๋าที่ต้องควักเงินจ่าย แต่เราเหนื่อยกาย เหนื่อยพูด เหนื่อยในการใช้สมอง ถ้าคนไม่แกร่งจริงมันจะเดินไม่ไหว ลูกน้องทีมงานก็หนี ลูกน้องเดินตามทั้งวัน ไม่มีกิน หลายๆ วันเข้าก็หายไปทีละคนสองคน หัวคะแนนที่เคยชื่นชม พอไม่ได้เงินก็หายไปทางที่ได้เงิน

 

ถึงแม้จะมีอุดมการณ์เฉียบคม แต่ก็ดึงคนไว้ไม่อยู่ ?

มันเป็นความจริง เราต้องใช้ความเด็ดเดี่ยว

อดิศรเนี่ย คนเดียวแกก็เดิน ตอนเป็น ส.ส. สมัยแรก แกสอบตกมาก่อนหลายรอบนะ ลูกน้องเดินตามต่อไม่ไหว เพราะไม่มีเบี้ย พ่อใหญ่แคล้วก็เหมือนกัน พอผมติดตามทั้งสองคน มันได้เห็นทักษะทางสังคมของเขา แล้วตอนที่มาเป็นนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผมก็ทำงานเป็นนักจัดรายการวิทยุไปด้วย ได้ฝึกพูด ชาวบ้านก็รู้จักมากขึ้น

พอปี 2541 พรรคไทยรักไทยก่อตั้ง ผมก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค แล้ว ‘ทักษิณ ชินวัตร’ คงเห็นแวว ก็ให้ผมเดินสายเป็นวิทยากรจัดสัมมนากับชาวบ้าน ชวนชาวบ้านมาเป็นสมาชิกพรรค พอถึงวันลงสมัครเลือกตั้ง จริงๆ ผมจะลง ส.ส. เขต แต่ความที่ผมสามารถช่วย ส.ส. คนอื่นๆ ปราศรัยได้วงกว้าง พรรคก็เลยให้ลงปาร์ตี้ลิสต์แทน จากนั้นก็ได้เป็น ส.ส. รุ่นแรกของไทยรักไทย ระหว่างนั้นก็เรียนปริญญาเอก ทำวิทยานิพนธ์ที่อินเดียไปด้วย เพราะหลักสูตรมันเอื้อ

 

ทำ ป.เอก’ เกี่ยวกับเรื่องอะไร

ทำเรื่องการปฏิรูปการศึกษา ผมมีฐานเก่าจากการเป็นครูอยู่แล้ว พอได้เป็น ส.ส. ก็มาทำงานด้านการศึกษา เป็นกรรมธิการด้านการศึกษา เขียนกฎหมายปฏิรูปการศึกษาอยู่หลายฉบับ

 

เห็นอะไรในระบบการศึกษาไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน

การศึกษาไทยมีปัญหาเยอะ ทั้งระดับโครงสร้างและระดับบุคคล เรามีกระทรวงศึกษาธิการที่รวบอำนาจไว้ โรงเรียนไม่มีอำนาจในการคิดหลักสูตร คิดกิจกรรม แม้กระทั่งบริหารการเงินก็ไม่มี โครงสร้างเป็นระบบสั่งซ้ายหันขวาหัน คนที่เป็นครูมีภูมิปัญญาก็ไม่ได้ใช้ความคิดในการบริหารการศึกษา

กระทรวงศึกษาฯ แม้จะเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณมากที่สุด แต่มันจัดการงบไม่เป็น งบควรจะไปอยู่ที่โรงเรียน แต่ดันมาอยู่ที่กระทรวง กรม และสำนักงานแทน นี่เป็นปัญหาคลาสสิก และเราผลิตครูออกมาไม่ทันสมัย ก้าวไม่ทันโลก ครูยังเป็นครูแบบเดิม ยุคแรกๆ พอไปได้ แต่โลกมันเปลี่ยนเร็ว ครูก็ปรับตัวไม่ทัน ทุกวันนี้มีกระทรวง มีสพฐ. มีเขตพื้นที่ มีศึกษาธิการจังหวัดไม่พอ ตอนนี้ตั้งศึกษาธิการภาคขึ้นมาอีก จะตีกันเองตายอยู่แล้ว

เรื่องใหญ่ที่สุดคือสังคมไทยเองไม่ใช่สังคมแห่งการเรียนรู้ การจะเรียนรู้มันไม่ใช่ภาระของโรงเรียนกับเด็กอย่างเดียว มันต้องเป็น learning society ที่จะสร้างบรรยากาศให้เด็กอยากเรียนรู้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยล่าสุด คือการตั้งสำนักงานเขตการศึกษาเพิ่มเข้ามาอีก มันไม่ใช่การปฏิรูป

คุณไปดูตามบ้านนอกสิ วันนี้เด็กไทยไม่เรียนหนังสือแล้ว เด็กตามชนบทเรียนไม่จบ ม.3 ออกกลางคันกันเต็มไปหมด เพราะอะไร เพราะการเรียนการสอนปรับเปลี่ยนไม่ทันโลก เด็กทุกวันนี้เรียนรู้จากโซเชียล แต่ครูส่วนใหญ่ใช้ไม่เป็น เด็กอยากได้ความรู้ เขาไม่จำเป็นต้องถามครูแล้ว พอครูไม่ปฏิรูปตัวเอง เด็กมันเซ็ง โอ๊ย ที่ครูพูดน่ะเหรอ หนูรู้หมดแล้ว ตอนนี้ครูจริงๆ สู้ครูอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ พอเป็นแบบนี้เด็กก็ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะไปเรียน

โรงเรียนเริ่มเชย ไม่มีอะไรตื่นเต้น ไม่มีอะไรท้าทาย โจทย์ใหญ่อีกข้อคือประชากรเด็กมันลดลง เด็กเกิดใหม่น้อยลง พอลดลงต่อเนื่องก็กระทบทั้งระบบ วงการการศึกษาก็ไม่ได้คาดหมายอนาคตตรงนี้ไว้ ตอนนี้เลยเซ่อกันหมด ที่สำคัญคือทุกวันนี้เด็กเริ่มเรียนทางออนไลน์กันแล้ว คนไปเรียน ‘Harvard’ ได้โดยไม่จำเป็นต้องบินไป นั่งเรียนออนไลน์ที่บ้านก็ได้

 

เป็นครูมายี่สิบปี คุณเห็นปัญหาการศึกษาทั้งระบบ พอขยับมาเป็นนักการเมือง จนถึงวันนี้ คุณเห็นว่าอะไรคือเรื่องซีเรียสสำหรับการเมืองไทย

อำนาจนอกระบบ (ตอบทันที) เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าปล่อยให้อำนาจประชาชนพัฒนาเติบโตของมันไป สังคมไทยจะมีประชาธิปไตยตั้งนานแล้ว แต่อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา นี่เป็นเรื่องใหญ่ของการเมืองไทย แล้วตอนนี้มันก็คัดง้างกันอยู่ เพราะประชาชนไม่ได้โง่

 

 

ตอนที่คุณยังเด็ก เห็นชาวบ้านมาปรึกษาปัญหากับพ่อ ตอนนั้นเห็นปัญหาอำนาจนอกระบบหรือยัง

ยังไม่เห็น ผมมาเห็นเอาตอนที่เริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว พอเรียนจบปริญญาตรี ได้เข้ามาสัมผัสการเมือง จึงเริ่มเห็นการแทรกแซงของอำนาจนอกระบบ ทำให้การเมืองล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงวันนี้

แล้วอำนาจนี้มันเบี่ยงเบนการรับรู้ของประชาชน สร้างภาพให้คนมองว่าการเมืองแย่ การเมืองไม่มีเสถียรภาพ นักการเมืองเลว นักการเมืองคอร์รัปชัน จากนั้นก็พยายามดึงให้ประชาชนไปหวังกับอำนาจที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้มีการสร้างกันเป็นกระบวนการ มีนวัตกรรมให้ดูว่าการเมืองและประชาธิปไตยเป็นของแย่ นักการเมืองไม่สามารถสนองความต้องการของประชาชนได้

ปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด การเมืองเริ่มมีสองขั้ว พรรคใหญ่กับพรรคใหญ่ มันก็เหมือนสหรัฐฯ กับอังกฤษ ประชาชนมีกลุ่มก้อนความคิดชัดเจน การจะเข้าถึงผลประโยชน์ของรัฐก็ชัดเจนทางอุดมการณ์ ฉันเป็นแบบนี้ ฉันจะต้องไปทางพรรคนี้ ตอนนั้นการเมืองเริ่มมีพัฒนาการ นักการเมืองไม่ไหลไปไหลมาเหมือนตอนนี้ พอรัฐประหารเสร็จก็ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนใหม่ให้พรรคการเมืองเป็นเบี้ยหัวแตก บังคับให้เป็นรัฐบาลผสมมาตั้งแต่ปี 2550 เลย พูดง่ายๆ ก็คือ เขาไม่ให้มีพรรคการเมืองใดได้เสียงมากจนตั้งรัฐบาลได้

พอเป็นแบบนี้ การเมืองก็ไม่มีเสถียรภาพ ถึงเวลาตั้งรัฐบาลก็ทะเลาะกัน เพราะมันเป็นรัฐบาลผสม รัฐธรรมนูญมันเขียนให้นักการเมืองต้องแก่งแย่งชิงดี ยิ่งมาฉบับปัจจุบัน รัฐบาลผสม 19 พรรค ถามว่ามันเป็นสันดานนักการเมืองไหม ผมว่าไม่ใช่ ปัญหามันอยู่ที่กติกา ลองเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้สิ จะไม่เป็นปัญหาแบบนี้ นี่เป็นตัวอย่างบางส่วนของการทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายระบบการแข่งขัน

ที่ผ่านมา อำนาจนอกระบบใช้ทหารเป็นตัวแทรกแทรงทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจ ตอนนี้เขามองว่าใช้กองทัพอย่างเดียวอาจไม่พอ ก็เลยใช้กระบวนการยุติธรรมด้วย กลายเป็นว่ามาทั้งองคาพยพเลย วันนี้การตัดสินยุบพรรคการเมืองคือรูปธรรมของการแทรกแซงทางการเมืองนอกจากรัฐประหาร เป็นการตัดแขนขาชาวบ้านที่เขามีกลุ่มก้อนความคิดในการพัฒนาประชาธิปไตย

แล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยู่ดีๆ ก็ไปโละสมาชิกพรรคเดิมทิ้งหมด ถ้าชาวบ้านไม่มาแสดงความจำนงในวันที่เท่านั้นเท่านี้ ถือว่าหมดสมาชิกภาพ นี่คือการสร้างเงื่อนไขข้อแรก ข้อต่อมาคือชาวบ้านที่จะสมัครสมาชิกพรรคใหม่ต้องเสียเงินด้วย เหล่านี้คือกระบวนการที่พยายามจะกันชาวบ้านออกจากนักการเมือง ชาวบ้านก็เซ็งสิ เรื่องอะไรจะต้องไปเสียเงิน เขาก็ยิ่งห่างจากพรรคการเมืองไปเรื่อยๆ

 

บทบาท ส.. ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

นักการเมืองทำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว บทบาทถูกจำกัดลงมาก จะไปยุ่งกับงบประมาณไม่ได้เลย สมมติว่าวันนี้ผมเป็น ส.ส. ที่นี่ ชาวบ้านมาแจ้งว่าบ่อน้ำมีปัญหา เมื่อก่อนเขาก็มาขอให้ ส.ส. ช่วย ส.ส. ก็มาวิ่งหางบไปลงช่วย ชาวบ้านก็รู้สึกว่าดี เพราะมีนักการเมืองที่พึ่งพาได้ แต่วันนี้ถ้า ส.ส. จัดการงบปุ๊บ ติดคุกปั๊บ วันนี้ถ้าพบว่านายสุทินเอางบประมาณไปลงบ้านนั้นบ้านนี้แล้วขึ้นป้าย ติดคุกทันที นี่คือวิธีทำให้นักการเมืองเป็นที่พึ่งของชาวบ้านไม่ได้ แล้วให้ใครทำ อำนาจก็ไปอยู่ที่นายอำเภอ ผู้ว่าฯ

 

กลับไปอยู่ที่ราชการ ?

มันเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่ดึงอำนาจกลับมาไว้ที่ราชการ แทนที่จะกระจายอำนาจไปให้ชาวบ้าน งบทุกวันนี้ อบต.แทบไม่มีเลย งบไปอยู่ที่นายอำเภอ เพราะอะไร เพราะนายอำเภอสั่งจากส่วนกลางได้ คนใหญ่คนโตนอกระบบจะสั่งผู้ว่าฯ นายอำเภอได้ ราชการพวกนี้ก็ไปขี่คอชาวบ้านอีกที แต่ถ้าสั่ง อบต. สั่ง ส.ส. มันสั่งไม่ได้ เพราะคนใหญ่คนโตมันไม่ใช่พ่อเรานี่ คนเลือกกูคือชาวบ้าน เขาเลยดึงอำนาจตรงนี้กลับไป จากที่การเมืองมีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2540 ถนนทุกสายมุ่งสู่ชาวบ้าน ตอนนี้เลี้ยว 360 องศา ถนนทุกสายมุ่งกลับไปที่ส่วนกลางทั้งหมด

 

หลังรัฐประหาร 2549 คุณผ่านทั้งการเมืองในสภาและการเมืองบนท้องถนน จนปัจจุบันรัฐสภาเปิดอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2557 คุณทบทวนชีวิตทางการเมืองของตัวเองอย่างไร

ไม่ใช่แค่ผม ชีวิตคนไทยมันอยู่กับความไม่เป็นธรรม การเมืองปกติมันโดนปิดหมดทุกช่องทาง ทั้งระบบรัฐสภา ทั้งกระบวนการยุติธรรม ประชาชนมันทนไม่ไหว เขาก็ต้องออกมาสู้ ทั้งเหลืองทั้งแดง แต่สู้มานานคนมันก็เมื่อย สังคมโดยรวมอ่อนล้ากับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามีใครถูกใครผิดนะ แต่หลายคนรู้สึกได้ว่าการเมืองมันควรเปลี่ยนแปลง และวิธีแบบ aggressive อาจไม่ใช่คำตอบแล้ว ส่วนตัวผมคิดว่าการเมืองยุคใหม่ต้องว่ากันด้วยเหตุด้วยผล พูดกันอย่างจริงใจ ผมเชื่อว่าวิธีแบบนี้น่าจะชนะได้

 

การเป็นฝ่ายค้านของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันนี้ กับการเป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ยากหรือง่ายต่างกันยังไง

ปัจจุบันนี้ยากกว่าเดิมมาก เมื่อก่อนมันยากที่มีทั้งการเมืองในและนอกสภา ตอนในสภาสู้กัน นอกสภาก็กดดันมาก เมื่อก่อนแม้ว่าในสภาจะเอาชนะกันด้วยเหตุด้วยผล แต่นอกสภาไม่เอาเหตุเอาผล นี่เป็นความยากอีกแบบ แต่คราวนี้ยากเพราะเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ หลุมระเบิดมันเยอะ

วันนี้ตัวการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ส.ส. ก็คือ ส.ว. การเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาล ไม่ว่าเสียงประชาชนจะได้มาเยอะขนาดไหนก็ตาม แต่ ส.ว. คือด่านแรกที่ลดทอนเสียงประชาชนลง แม้กระทั่งเราจะอภิปรายเพื่อล้มรัฐบาลเผด็จการ  ส.ว. ก็ยังเป็นปราการสำคัญในการค้ำจุนอยู่ โดยมีอำนาจนอกระบบคอยค้ำจุนอยู่อีกที พูดง่ายๆ ว่าการเมืองไทยนอกจากเดาไม่ได้ ยังเป็นการเมืองที่ไม่แคร์โลกด้วย เพราะฉะนั้นประชาชนไทยก็ถูกมองข้ามไปได้ง่ายๆ เลย

ยกตัวอย่างผู้บัญชาการทหารบกคนก่อนๆ ยังมีหิริโอตัปปะ ยัง soft กว่าคนปัจจุบัน จะทำอะไรต้องเนียน เพราะต้องคิดถึงประชาชน เกรงใจประชาชนเกรงใจโลกบ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีเลย คำว่าให้เกียรติกันไม่มีเลย ท่าทีแบบนี้บวกกับอำนาจ ส.ส .ที่เหลืออยู่ตามรัฐธรรมนูญเนี่ย ทำให้มันยากขึ้นหลายเท่า

 

นอกจากยากแล้ว ลึกๆ แล้วคุณกลัวไหม

มันไม่ใช่ความกลัว แต่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยกว่าเดิม รู้สึกว่าภัยจะมาถึงตัวเราได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการมาที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายเหมือนที่ ‘จ่านิว’ ถูกกระทำ เราอยู่ในยุคที่ผู้นำมีบุคลิกไปทางอำนาจนิยม ชอบความรุนแรง สมัยรัฐบาลก่อนๆ ผมไม่เคยรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยแบบนี้นะ ทุกวันนี้ความเถื่อนมันมาได้ทั้งตอนมืดและตอนสว่าง แล้วก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์เป็นตัวกำหนดด้วย ไม่ใช้เหตุใช้ผล

 

ถ้าเงื่อนไขเป็นแบบนี้ ประชาชนจะหวังพึ่งฝ่ายค้านได้อย่างไร คุณมองเห็นวิธีการต่อสู้อย่างไรบ้าง

ต้องสู้ในที่แจ้ง เอาความจริงมาพูดในที่แจ้ง อย่าไปยืนในที่มืด ยืนสู้ในสภา มีอะไรก็พูดให้สังคมรับรู้ เช่น เรื่องของจ่านิวถูกทำร้าย ก็อย่าปล่อยให้มันเงียบ เราต้องลากออกมาพูดในที่สว่าง และตามให้ถึงที่สุด ถ้า ส.ส. ฝ่ายค้านปล่อยให้เรื่องแบบนี้เงียบ นักการเมืองเองก็จะตกอยู่ในอันตรายไปด้วย อะไรที่มันนอกลู่นอกทาง ไม่ใช่ประโยชน์ของชาวบ้าน ก็อย่าไปทำ เพราะอำนาจนอกระบบมันจะเอามาอ้างทำลายเราได้

 

แล้วกับบทบาทของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา คุณมองอย่างไร

ผมเห็นความผิดปกติอยู่บ้าง คือมีลักษณะเป็นคนแก่ที่มีความไม่แม่นในระเบียบข้อบังคับ และมีความจุกจิกอยู่พอสมควร บางเรื่องไม่จำเป็นต้องจุกจิกเซ้าซี้ ที่สำคัญคือผมเห็นว่า นายชวนมีเป้าหมายที่จะทำอะไรบางอย่างให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกฟื้นฟูกลับมาให้ได้ พูดง่ายๆ คือการกลับมาครั้งนี้ คือกลับมาฟื้นฟูพรรค ทั้งๆ ที่นายชวนนั่งอยู่ในตำแหน่งประธานรัฐสภา ไม่ใช่หัวหน้าพรรค

ถามว่าผมเห็นยังไง เพราะนายชวนและประชาธิปัตย์เป็นปีกหนึ่งที่จะช่วยสร้างเครดิตให้รัฐบาลได้ รัฐบาลก็จะเอื้อประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมีน้ำมีนวลขึ้นมา เพราะลำพังแค่ให้คนในประชาธิปัตย์ซุกใต้ปีกรัฐบาล อาจซื้อใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้ นายชวนต้องช่วยซื้อใจด้วย

แต่การเล่นแบบนี้ ผมมองว่าในระยะยาวชาวบ้านจะยิ่งไม่ยอมรับ และยิ่งหมั่นไส้ แค่เข้าร่วมรัฐบาลก็หมั่นไส้กันจะแย่อยู่แล้ว เพราะคุณไปโกหกเขา แล้วถ้านายชวนไปเล่นบทรับใช้รัฐบาลประยุทธ์ออกหน้ามากๆ หรือใช้รัฐสภาเอื้อรัฐบาลมากๆ เข้าก็จะยิ่งหนัก เพราะชาวบ้านเขามองออก เขารู้ทันนักการเมืองจะตาย

 

ในสายตาคุณตอนนี้ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นอย่างไร แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่รัฐสภาเคยมีฝ่ายค้านมาหรือยัง

เท่าที่ผมอยู่ในการเมืองมาเนี่ย ฝ่ายค้านเราดูเป็นรูปธรรมและแข็งแกร่งที่สุด

หนึ่ง เพราะเรามีสถานการณ์ที่ถูกกระทำร่วมกันจากรัฐธรรมนูญ และส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ๆ เข้ามา การที่เป็น ส.ส. หน้าใหม่ก็ไม่มีสารตกค้างมาเป็นอุปสรรค เช่น พรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น ความใหม่ของนักการเมืองมันเริ่มต้นอะไรได้ง่าย

สอง เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน เมื่อเราถูกกระทำจากรัฐธรรมนูญร่วมกัน เป้าหมายสูงสุดก็คือการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญร่วมกัน

ในอดีต การรวมกันของ ส.ส. แต่ละฝ่ายมันไม่ได้มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน ต่างคนต่างตี มีเพียงว่าเราไม่ได้สิ่งที่หวัง เราก็มารวมกัน แต่แบบนั้นมันเปราะ แต่วันนี้เราผนึกกำลังกัน เพราะเราตระหนักว่าการเมืองแบบนี้ทำให้ประชาชนอยู่ไม่ได้ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าผู้มีอำนาจไม่ยอมให้แก้ แต่เราก็จะแก้ เป้าที่ชัดเจนทำให้เราเดินแตกแถวไม่ได้

อุปสรรคในพรรคร่วมฝ่ายค้านมีอย่างเดียว คือสถานการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมีขึ้น โดยธรรมชาติมันก็ต้องแข่งกัน แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้พูดคุยกันบนหลักการที่เข้าใจกัน เรื่องนี้อาจจะเป็นปัญหาทำให้เกิดรอยร้าวได้ ไม่นานเดี๋ยวก็เลือกผู้ว่า กทม. ต่อด้วย นายก อบจ. จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ เพราะฉะนั้นเราควรมาคุยกันก่อนว่า แม้เราจะต้องมีท่าทีที่แข่งขันกัน แต่เรายังเป็นมิตรกันอยู่ ต่างฝ่ายต่างยังระมัดระวังไม่ให้กระทบกระทั่งกัน

ความที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความคิดการเมืองแบบใหม่ มันเลยคุยกันง่าย แต่ถ้า ส.ส. มีเป้าหมายต่างกัน มีความคิดแบบเก่ามาด้วย เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้เขาบอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาล จะเป็นฝ่ายค้านอิสระ แปลว่ามันร่วมกันไม่ได้ ถึงต้องแยกเป็นอิสระ บางพรรคก็ออกอาการงอนตอนที่เกือบจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี แล้วอ้างว่าจะออกมาเป็นฝ่ายค้านอิสระเหมือนกัน แบบนี้คือออกมาเพื่อรอวันกลับเข้าไปเอาผลประโยชน์

 

 

ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยมาถึงพรรคเพื่อไทย ช่วงเวลาของ ส.ส. พรรคนี้มักได้เป็นฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน วินาทีนี้คุณเห็นการยกระดับของ ส.ส. เพื่อไทยอย่างไร ทรรศนะของผู้แทนส่วนใหญ่เท่าทันอำนาจนอกระบบแบบที่คุณอธิบายมาหรือยัง

ส่วนนี้ก็เป็นอีกปัญหา ส.ส. เพื่อไทยยุคใหม่กำลังเดินต่อไปข้างหน้า ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฝ่ายค้านไปอีกนานแค่ไหน แต่การเป็นฝ่ายค้านไม่ควรเป็นปัญหาของพวกเราเอง เพราะประชาชนเขาไว้ใจเลือกให้เรามาทำหน้าที่แล้ว ทุกคนจะต้องหนักแน่นและตรวจสอบอุดมการณ์ของตัวเอง

มันเป็นความจริงที่ว่า พอเที่ยวนี้เป็นฝ่ายค้าน บางส่วนก็เริ่มจะไม่มีความสุขเหมือนเป็นฝ่ายรัฐบาล แล้วอำนาจนอกระบบเขามีเป้าหมายว่าจะให้เราเป็นฝ่ายค้านต่อไป เขาจะทำตามทุกวิธีทางเพื่อไม่ให้เราเป็นรัฐบาล ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือเราต้องถามใจตัวเองว่า “แน่พอไหมที่จะยืนอยู่แบบนี้” เพราะเมื่อฝ่ายเผด็จการได้อำนาจ เขาก็จะพยายามสืบทอดอำนาจต่อไป เขาผูกเงื่อนโยงยางไว้หลายขั้นตอนแล้ว อาจจะสิบปีหรือยี่สิบปี เพราะฉะนั้นฝ่ายเราก็ต้องพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านยาวนาน

อีกเรื่องคือเทคโนโลยี การต่อสู้เดี๋ยวนี้มันเป็นสงครามเทคโนโลยี พรรคอนาคตใหม่เป็นตัวอย่าง การที่คนรุ่นใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว นอกจากอุดมการณ์ชัดเจน เขาใช้เทคโนโลยีช่วยมาก แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรู้เท่าทันอำนาจนอกระบบ ส.ส. ทุกคนต้องศึกษากลยุทธ์ของอำนาจนอกระบบอย่างจริงจัง ถ้าตามไม่ทัน มองเกมเขาไม่ออก เราจะเสียเวลามาทะเลาะกันเอง

 

ประชาชนอุตส่าห์ให้เกียรติเรียกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว แต่ถ้าว่ากันรายบุคคลแล้ว ถือว่ายังมีเยอะไหม ความไม่เท่าทันแบบที่คุณว่า

ก็ยังมีอยู่ ทุกวันนี้คนที่อยู่ในพรรคนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริง แต่อีกส่วนคืออยู่เพราะเชื่อว่าอยู่แล้วจะได้เป็น ส.ส. แม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ถ้าเขาออกจากพรรคไปมันจบเลย

ฉะนั้นมันมีอยู่สองแบบ แบบหนึ่งคือมีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่สนเรื่องแพ้ชนะ กับอยู่เพราะอยากเป็น ส.ส. อยากเป็นรัฐบาล

 

เหมือนเข้าบ่อนไปแล้วสบช่องว่าแทงข้างไหนจะชนะ

ใช่, ยิ่งถ้าฝั่งตรงข้ามพยายามสร้างเงื่อนไขให้ได้เปรียบทุกอย่าง คนเหล่านี้ก็มีโอกาสโบยบินไป กลุ่มที่อ่อนไหวมากก็บินไปแล้ว กลุ่มที่ยังหวั่นไหวอยู่ก็ยังมี แม้จะมีความหนักแน่นมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่หวั่นไหว ถ้าเกิดเที่ยวนี้เป็นฝ่ายค้าน เที่ยวหน้าเป็นฝ่ายค้านอีก มองไม่เห็นทางชนะ ก็อาจจะมีปัญหา

เพราะฉะนั้นมันเลี่ยงความจริงไม่ได้ ส.ส. ต้องปรับตัว ต้องหนักแน่น อุดมการณ์คือเรื่องสำคัญ นี่เป็นโจทย์สำคัญของพรรคว่าจะทำยังไงให้ ส.ส. ในพรรคมีขวัญกำลังใจ หนักแน่นกับอุดมการณ์ และเป็นฝ่ายค้านอย่างมีความสุข เคียงข้างประชาชนต่อไปได้ การสร้างขวัญกำลังใจไม่ได้หมายถึงเรื่องเงินเรื่องทองนะ แต่หมายถึงการให้โอกาสในการทำงานรับใช้ชาวบ้าน โอกาสที่เขาจะมีชื่อเสียงเกียรติยศตามแนวทางประชาธิปไตย

 

มองในมุมกลับ สถานการณ์แบบนี้ถือว่าก็ดีไหม ส.ส. จะได้ฝึกลับสมองตัวเอง ทบทวนตัวเองด้วย

ใช่, ผมเองก็มีความสุขที่เป็นฝ่ายค้านนะวันนี้ เราเป็นนักการเมือง ก็ควรจะได้ทำหน้าที่ทั้งสองฝ่าย รัฐบาลเป็นมามากแล้ว ได้เป็นฝ่ายค้านบ้าง ก็มีโอกาสได้แสดงบทบาทอีกมิติหนึ่ง พูดตรงๆ คือได้ทำงานมากกว่าเป็นรัฐบาลอีก

 

มากกว่ายังไง

ได้สะท้อนปัญหาชาวบ้าน ได้ตรวจสอบรัฐบาล เพราะการเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลมันมีข้อจำกัด เช่น ถ้ารัฐบาลมีนโยบายแบบนี้ออกมาแล้ว จะถูกจะผิดก็จำเป็นต้องเห็นตาม เพื่อภาพใหญ่ของรัฐบาล บางอย่างอยากพูดก็ไม่ได้พูด แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านแล้ว พูดได้ทุกอย่าง

โดยข้อเท็จจริง การเป็นฝ่ายค้านมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าฝ่ายรัฐบาลนะ ถ้าทุกคนคิดได้แบบนี้มันจะมีความสุขกับการเป็นฝ่ายค้าน

 

ถ้าบอกว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอาจต้องเป็นฝ่ายค้านไปอีกยี่สิบปี คุณเห็นช่องทางอะไรบ้างที่จะทำให้ประชาชนไม่สิ้นหวังกับการอยู่ในการเมืองไทยต่อไป

สิ่งที่เราต้องทำ พูดง่ายๆ คือทำลายอำนาจที่มันไม่ชอบธรรม ทำให้ประชาชนเห็นว่าความชอบธรรมที่เผด็จการสร้างขึ้นมันไม่ชอบธรรมอย่างไร เช่น ความไม่ชอบธรรมของ ส.ว. หรือกองทัพที่พยายามแทรกแทรงการเมือง อำนาจของพวกนี้พยายามทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมอยู่เสมอ การใช้อภินิหารทางกฎหมาย คนพวกนี้อาศัยต้นทุนของตัวเองไปเบียดเบียนทำลายนิติรัฐนิติธรรม มันทำให้ต้องเราทำงานหนักขึ้น

 

ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

เช่น คนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี คุณก็ไปพูดให้เขามีคุณสมบัติได้ ถ้าเป็นรัฐบาลอื่น พูดแบบนี้โดนตีตายแล้ว เราต้องทำลายความชอบธรรมของวิธีคิดเหล่านี้ สังคมควรได้เห็นว่า ส.ว. ไม่มีความชอบธรรมที่จะยกมือเลือกรัฐบาล เขาควรจะทำหน้าที่ๆ เขาควรทำ เช่น ผ่านกฎหมายไปอย่างเดียว

ยิ่งต่อไปนี้ทำท่าว่าจะตีความกฎหมายให้เป็นกฎหมายปฏิรูป แล้ว ส.ว. มีสิทธิยกมือด้วย อันนี้อันตรายมาก เป็นเรื่องร้ายแรงที่เราต้องทำลายความชอบธรรมตรงนี้

ถ้าเราอดทนพอที่จะเดินหน้าไปแบบนี้ ความไม่ชอบธรรมมันก็จะอยู่ไม่ได้ การทำการเมืองแบบตัดต่อพันธุกรรมผิดๆ หยิบกลุ่มนั้นกลุ่มนี้มารวมกันสารพัด ผมเชื่อว่าไม่นานก็แตก หน้าที่ของเราก็คือขยายภาพความไม่ชอบธรรมให้ชัดขึ้น เผลอๆ การเลือกตั้งครั้งหน้าเขาจะเจอปัญหาภายในทันที พลังประชารัฐอาจจะได้ไม่ถึงครึ่ง ประชาธิปัตย์ดีไม่ดีต่ำกว่ารอบล่าสุด

 

ถ้าใช้สำนวนไทยคือสนิมเกิดแต่เนื้อในตน

นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องทำหน้าที่ของเราด้วย จากรูที่มันเล็กๆ ก็ไปเจาะให้มันใหญ่ขึ้น สุดท้ายก็ไปไม่รอด

แล้วการรวมตัวของนักการเมืองฝ่ายเผด็จการเนี่ย มันเป็นการรวมตัวคนละแบบกับฝ่ายค้านที่มีเป้าหมายชัดเจน แต่เขารวมกันด้วยตำแหน่ง ด้วยผลประโยชน์ แม้แต่พวกที่ออกมาโวยวายก่อนหน้านี้ ทำเป็นงอนๆ ก็จบด้วยเงิน พวกที่พลาดตำแหน่งก็ต้องรอเอาตำแหน่งคืน กัดกันเองจนในที่สุดมันจะพังเข้าสักวัน.

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save