fbpx

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2562

 

20 ผลงานใหม่ ยอดอ่านสูงสุดของ The101.World เดือนมิถุนายน 2562

 

เวทมนตร์ของ ‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 17 ปี ผู้เลือกออกจากโรงเรียนและมุ่งสู่ซิลิคอนแวลลีย์

 

โดย ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์

ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ คุยกับ ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 17 ปี ที่ลาออกจากโรงเรียนตอน ม.4 ไปท่องโลกแห่งการทำงานที่โรงเรียนไม่ตอบโจทย์ และทำงานในตำแหน่ง Software Developer ในเมืองเทคโนโลยีอย่าง Silicon Valley

“ตอนเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อนเราหรือน้องๆ ชอบถามว่า คณิตศาสตร์เรียนไปทำไม คำถามนี้เราเจอทุกวัน สิ่งที่เราทำ เราจะไม่ตอบ แต่จะเขียนโปรแกรมให้ดู เรารู้สึกว่าการศึกษาไทยไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ อะไรที่มันจับต้องได้ เหมือนเราเรียนเพื่อเป้าหมายที่มัน artificial มากๆ เช่น เพื่อสอบเข้ามหา’ลัย เพื่อได้เกรดดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ มันไม่ใช่เป้าหมายจริง”

“ระบบการศึกษายังเอาวิธีคิดแบบยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมาใช้แบ่งคนออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ให้คนนึงเก่งแค่เรื่องเดียว

“ถ้าเราบอกว่ามันต้องมีวิทย์-คณิต กับศิลป์-คำนวณ มันจะไม่มีสายที่เรียกว่า นักดนตรีคอมพิวเตอร์เลย นี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญ คือการมองว่าทุกศาสตร์เป็นศาสตร์เดียวกัน หรือความ cross-disciplinary”

“เขียนโปรแกรมมันเหมือนกับเรา ‘เสก’ อะไรก็ได้ในโลกความจริง สมมติว่าเดือนนี้ใช้เงินเยอะมาก แต่เราไม่รู้ว่าเราใช้ไปกับอะไร เราก็เขียนโปรแกรมให้อ่าน SMS ที่ธนาคารส่งมา แล้วก็ไปกรุ๊ปเป็นหมวด จะได้รู้ว่าเดือนนี้กินบิงซูไปเยอะ เดือนนี้ไปออนเซนบ่อย แค่นี้ก็ไม่ต้องมานั่งทำบัญชีเหมือนคนอื่นแล้ว”

“ไปเจอโครงการ The Internship เห็นว่าเป็นโครงการที่ให้เด็กมหา’ลัยปี 2-4 เข้าไปฝึกงาน หลังจากอ่าน FAQ ที่เขียนว่า ‘เด็กมัธยมสมัครได้ไหม’ เขาบอกถ้ากล้าก็มา ตอนเข้าไปสัมภาษณ์ก็ตื่นเต้นหน่อย แต่พอเขาอ่าน Resume ก็เห็นและยอมรับ เราเลยเลือกฝึกงานที่บริษัท iTAX ที่ทำโปรแกรมคำนวณภาษี เพราะว่าแม่เราใช้อยู่ แล้วเห็นว่ามันชอบเด้งบ่อยๆ เลยอยากลองเข้าไปแก้ดู

“end goal มันสำคัญมากกับการทำให้เราใช้ชีวิตแบบมีความหมาย เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบอยู่ๆ ไปแล้วก็ตาย คนชอบมาบ่นกันว่า เด็กๆ ไม่ตั้งใจเรียน เด็กๆ ไม่มีเป้าหมายชีวิต แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับมันมากพอหรือเปล่า”

 

“ผมเชื่อว่ายังมีทหารแบบคุณพ่อ” พันตรีพุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลูกชายผู้นำคณะราษฎร 

 

โดย ธิติ มีแต้ม

101 สนทนากับ พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา ลูกชายของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และนายกรัฐมนตรี 5 สมัย

ในวัย 80 ปี เขามองการกระทำอันยิ่งใหญ่ของคณะราษฎรอย่างไร, ในยามสงครามจบสิ้น เขามองตัวเองในฐานะทหารผ่านศึกอย่างไร, ในวันที่ประชาธิปไตยส่องแสงริบหรี่ เวลาได้ยินคำว่าคณะราษฎร ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เขารู้สึกอย่างไร, และในวันที่ทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เขาคิดว่าคนแบบพระยาพหลฯ ยังมีอยู่หรือไม่ ฯลฯ

“สุกหรือห่ามเนี่ยแปลว่ามันเป็นผลไม้แน่ๆ แต่มันจะมีผลไม้ได้มันต้องมีต้น อยู่ดีๆ ผลไม้มันจะออกมาโดยไม่มีต้นไม่ได้ ประเด็นคือต้นมันยังไม่มีเลย แล้วมันจะสุกจะห่ามได้ยังไง คณะราษฎรเขาไปเรียนต่างประเทศ ไปเห็นไอ้ต้นไม้ประชาธิปไตยว่ามันมีประโยชน์แน่ๆ กับแผ่นดินไทยกับราษฎรไทย เขาถึงกล้าเอาหัวพาดเขียงที่จะเอาต้นไม้ต้นนี้มาปลูกในแผ่นดินนี้”

“การเปลี่ยนแปลงการปกครองเนี่ย ถ้าเกิดทำไม่สำเร็จ คุณพ่อจะเป็นคนแรกที่คอขาด และคอขาดถึงเจ็ดชั่วโคตรเลย ในทางโบราณคือตัวเองและลูกเมีย พ่อแม่ปู่ย่าตายายขึ้นไปสามชั้น แล้วลงมาสามชั้นเป็นพวกหลานเหลน เรียกว่าขุดรากถอนโคนไม่ให้เหลือพันธุ์เลย แต่พอดีพวกคุณพ่อทำสำเร็จ ผมก็เลยได้เกิด”

“คุณพ่อบอกคุณแม่ว่าถ้าทำไม่สำเร็จ (ปฏิวัติ) เธออยู่เลี้ยงลูกไป ตอนนั้นพี่สาวคนโตอายุยังไม่ถึงเดือน คุณพ่อถึงได้คิดมาก คุณแม่ก็เพิ่งมีลูกคนแรก แล้วคุณพ่อต้องไปทำงานเอาความตายเข้าแลก ผมมาดูนายพลยุคหลังๆ มีไหมที่กล้าเอาความตายเข้าแลก สุดท้ายก็เขียนกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง เป็นพวกรักชาติโดยการเห่าหอน ไม่ได้รักชาติแบบทหารที่ผมเคยรู้จักมา”
.
“ผมเชื่อว่ายังมีทหารแบบคุณพ่อนะ ป่าไม้มันจะเป็นป่าได้ มันต้องมีต้นไม้หลากหลายพันธุ์ ถ้ามีพันธุ์เดียวหรือ 3-4 พันธุ์ มันไม่ใช่ป่าแน่ๆ เช่นเดียวกับทหาร ทหารจำนวนมากในเวลานี้ถูกทำให้ไม่มีคุณค่า ซี่งไอ้ตัวผู้นำทหารต้องรับผิดชอบ”

 

หนึ่งปีอนาคตใหม่ : จากกรัมชี-ลาคลาว-มูฟ ถึงปฏิบัติการท้า ‘นรก’ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

โดย กองบรรณาธิการ The101.world

 

— 27 พฤษภาคม 2561, อาคารยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต —

นักวิชาการหนุ่มระดับรองศาสตราจารย์ วัย 38 ปี ขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ในฐานะนักการเมืองครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่

ห้าเดือนก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งตัดสินใจแน่วแน่ ก้าวออกจาก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในรั้วมหาวิทยาลัย มาลง ‘นรก’

ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ – นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ผู้นิยมชมชอบการอ่าน-คิด-ถาม-เขียน-เถียง ปิดท้ายคำปราศรัยแรกแห่งชีวิตของเขาด้วยถ้อยความตอนหนึ่งจากวรรณกรรมเรื่อง เมืองที่มองไม่เห็น ของ อิตาโล คัลวีโน

“นรกของคนเป็น หากมีสักขุม ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่อยู่ตรงนี้เบื้องหน้าของเราแล้ว เป็นนรกที่เราอาศัยอยู่ทุกวี่วัน … มีอยู่สองหนทางที่จะทำให้เราไม่เป็นทุกข์กับนรก หนทางหนึ่งนั้นง่ายสําหรับคนทั่วไป นั่นคือ ยอมรับนรกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของนรก จนมองไม่เห็นนรกอีกต่อไป หนทางที่สอง เสี่ยงอันตราย ต้องตั้งใจและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา นั่นคือ พยายามแยกให้ออกว่าใครหรือสิ่งใดในใจกลางนรกที่ไม่ใช่นรก แล้วทำให้สิ่งที่ไม่ใช่นรกนั้น ปรากฏมีพื้นที่และดํารงอยู่อย่างยั่งยืน”

ปิยบุตรประกาศว่า เขาเลือกหนทางของคนไม่ยอมจำนน หนทางที่เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หนทางของคนที่เชื่อในความเป็นไปได้

“พวกเรา ชาวอนาคตใหม่ จะไม่ยอมทนอยู่ในนรก พวกเราจะไม่ยอมถูกกลืนให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนรก แต่พวกเราจะทำให้สิ่งที่ไม่ใช่นรกปรากฏขึ้น และเบียดขับเข้าแทนที่นรก ไม่มีหนทางใดที่เราจะออกจากนรกได้ นอกจากลงมือกําจัดมัน”

สิ้นเสียงปราศรัยไม่นาน เขาเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อย่างเป็นทางการ และออกเดินสู่ประตู ‘นรก’ – การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

 

— 22 มีนาคม 2562, อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง —

อีกสองวันจะถึงวันเลือกตั้งที่หลายคนเฝ้ารอมากว่า 8 ปี ยิ่งค่ำผู้คนยิ่งแน่นขนัดเต็มความจุพื้นที่สนาม ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว แววตาเปี่ยมความหวัง ในมือโบกธงสีส้ม เปล่งเสียงเชียร์พรรคอนาคตใหม่ในการปราศรัยใหญ่เวทีสุดท้ายก่อนเข้าคูหา

บนเวทีใหญ่และสำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขา กลับแทบไม่ปรากฏบทบาทของแกนนำพรรค ด้วยตั้งใจยกพื้นที่บนเวทีปราศรัย ซึ่งถูกออกแบบไว้ในวงล้อมประชาชน ให้กับเหล่า ‘คนธรรมดา’ – ผู้สมัคร LGBT คนพิการ เกษตรกร แรงงาน รวมถึงตัวแทนผู้สมัครจากทั่วทุกมุมสยามที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วยภาษาถิ่นและชุดพื้นบ้านของพวกเขา

ย่างเข้าสามทุ่ม ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก้าวขึ้นเวที ท่ามกลางเสียงปรบมือและโห่ร้องต้อนรับดังกระหึ่ม สำหรับเขา ณ นาทีนั้น แม้ตรงใจกลาง ‘นรก’ ก็คงรู้สึกอบอุ่นร่มเย็น

“สำหรับเรา-พรรคอนาคตใหม่ ไม่มีคำว่าโหวตในทางยุทธศาสตร์ มีแต่โหวตเพื่ออนาคต โหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง

“พรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้ Vote for change, Vote for hope, Vote forward – โหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง โหวตเพื่อความหวัง โหวตเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า

“ภารกิจที่พรรคอนาคตใหม่แบกรับเอาไว้ ไม่ใช่แค่เพียงแค่หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ใช่เพียงแค่จัดการมรดกตกทอดของ คสช. ไม่ใช่เพียงแค่เอาประชาธิปไตยกลับมา หากแต่เราต้องการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นการเมืองแบบประชาธิปไตย การเมืองแบบผู้แทน การเมืองในระบบรัฐสภาที่ถูกทำลายความเชื่อมั่นตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

“เราต้องการฟื้นความเชื่อมั่นนี้ เพื่อดึงให้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกฝ่าย เข้ามารวมกัน แล้วเชื่อมั่นการเมืองแบบประชาธิปไตยอีกครั้ง”

บนเวที เขาประกาศ ‘สัญญาประชาคม’ อีกครั้ง – หนักแน่น คงเส้นคงวา ไม่เคยเปลี่ยน

 

— 8 มิถุนายน 2562, หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ —

“นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น”

5 มิถุนายน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปิดฉากคำแถลงหลังแพ้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

หนึ่งปีก่อนหน้านี้ จะมีใครสักกี่คนที่กล้านึกถึงฉากการเมืองฉากนี้

หนึ่งปีเต็มจากการสตาร์ทอัพพรรคอนาคตใหม่อย่างเป็นทางการที่อาคารยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันนี้พรรคอนาคตใหม่เตรียมจัดกิจกรรม “1 ปี อนาคตใหม่ เดินไปด้วยกัน” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ในวันนี้พรรคอนาคตใหม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 81 คน จากระบบบัญชีรายชื่อ 50 คน และจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 31 คน ในวันนี้ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้กลายเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในวันนี้ พรรคอนาคตใหม่กลายสภาพจากพรรคทางเลือกเป็นพรรคทางหลักในเวทีการเมืองระดับชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมนับหนึ่งจับมือสร้างพรรคอนาคตใหม่กับเพื่อนรักอีกสองคน – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ชัยธวัช ตุลาธน – ทำได้อย่างไร

 

101 ชวนปิยบุตรหลบร้อนจาก ‘นรก’ มาสนทนา ‘วิชาการ’ ในแบบที่เขาชอบบ่นคิดถึง ว่าด้วยสังคมก้าวหน้า ปรัชญาการเมือง และขบวนการพรรคทางเลือก เพื่อถอดรากความคิด คลี่ความรู้สึก ทบทวนปฏิบัติการ และวิพากษ์ผลงานหนึ่งปีแรกของพรรคอนาคตใหม่อย่างตรงไปตรงมา

“สำหรับผม ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในปีแรกคือ เราพยายามทำสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้”

ใช่หรือไม่ใช่, เราไปแลกเปลี่ยนและถกเถียงกับเขากัน

 

เจาะจักรวาลสมอง กับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เคสที่ผมจำได้เลยคือ คนไข้เป็นรอยโรคที่สมองข้างขวา เป็นหลอดเลือดสมองตีบ เขามาโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนแรงข้างซ้าย ตอนที่ผมเข้าไปคุยด้วย เขานอนอยู่ที่เตียง หน้ามองไปทางขวานิดๆ เพื่อนผมก็เข้าไปทางขวา ส่วนผมเข้าไปทางซ้าย แต่เขาดูไม่สนใจผม ผมก็คิดว่าเขาคงไม่ชอบขี้หน้าเรา มารู้ทีหลังว่าพอมีปัญหาในสมอง เลยทำให้เขาสนใจสิ่งแวดล้อมแค่ข้างเดียว คือเขาจะไม่สนใจอะไรที่อยู่ข้างซ้ายเลย ความสนใจถูกถ่ายไปที่ข้างขวา แต่ถ้าเรียกเขาเยอะๆ เขาก็หันมา

ที่น่าสนใจมากคือเราลองวาดวงกลมเปล่าๆ ให้ แล้วบอกว่า ลุงครับ สมมติว่านี่เป็นนาฬิกา ช่วยวาดตัวเลขลงในนาฬิกาให้หน่อย แล้วเขาวาดออกมาเป็นประมาณนี้

…เลข 1 ถึง 12 มีครบ แต่ถูกขยุมมาอยู่ข้างเดียว แสดงว่า หนึ่ง เขามีคอนเซ็ปต์ของนาฬิกาว่ามีเลข 1 ถึง 12 เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็อาจจะวาดแค่เลข 1 ถึง 6

สอง คือไม่ใช่ว่าเขามองไม่เห็น เพราะไม่อย่างนั้นหากเขาขยับศีรษะนิดนึง ก็จะวาดต่อให้ครบวงได้ แต่เขาไม่มีความสนใจสิ่งแวดล้อมข้างซ้ายเลย โลกทั้งโลกจึงถูกเทมาอยู่ข้างขวาข้างเดียว ตอนนั้นผม โอ้โห มันคืออะไร น่าสนใจมาก”

“สมมติว่าเราส่งภาพหนึ่งเข้าไปในคอมพิวเตอร์ แล้วให้คอมพิวเตอร์พยายามบอกเราว่ามีของอะไรบ้างในภาพนี้ ฟังดูเหมือนง่าย แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบางทีของก็ซ้อนกัน ข้อมูลมีความกำกวมสูง แต่สำหรับตาของคนเรา แค่ฉายภาพสั้นๆ แว้บเดียว 1 ใน 10 ของวินาที คนก็บอกได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่คอมพิวเตอร์ต้อง process นานกว่า แม่นยำน้อยกว่า

“คำถามคือ ทำไมสมองเราถึงมีประสิทธิภาพสูงมาก ทั้งๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มเซลล์แค่นั้นเอง มันไม่ได้มีพลังในการประมวลผลเท่ากับ super computer เลย แต่มันทำยังไงให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งสำคัญกลายเป็นว่า สมอง ‘ไม่สามารถ’ และ ‘ไม่ได้พยายาม’ จะประมวลผลข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ใช้วิธีเทียบข้อมูลที่มีโดยอ้างอิงจากประสบการณ์เก่าที่สั่งสมมา”

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย คุยกับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่าด้วยความลี้ลับและไม่สมบูรณ์ของสมองมนุษย์

 

วาระสุดท้ายในนาม Journalist : สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร ‘The Nation’

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“เมื่อรู้ว่ามันกำลังจะปิด ผมบอกกับเพื่อนร่วมงานว่า “if you need to shut down, I will pull the plug by myself. – ถ้าคุณจะต้องปิดผมขอเป็นคนถอดปลั๊ก”

101 สนทนากับ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร ‘The Nation’ ในวันที่สังคมทราบล่วงหน้าว่า ‘The Nation’ กำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 28 มิถุนายนนี้

ท่ามกลางการนับถอยหลังของแวดวงสื่อมวลชน กระทั่งหลายคนเริ่มนับถอยหลังสู่วาระสุดท้ายของหนังสือพิมพ์กระดาษ, เขามองไปข้างหน้าอย่างไร

 

“สิ่งที่ผมคิดว่าคนในวงการสื่อต้องรักษาเอาไว้ คือการเป็น journalism ที่เขียนเรื่องอย่างเป็นภววิสัย (objectivity) เราควรจะรู้และตระหนักว่าโลกที่ก้าวหน้าเป็นแบบไหน โลกที่ล้าหลังเป็นอย่างไร”

“จริงๆ ผมไม่ได้ติดกับความเป็นกระดาษอะไรมากมายนักหรอก แต่ผมติดกับความเป็น journalism มากกว่า ในแง่ที่ว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราได้เดินทาง ผมคิดไม่ออกเลยว่าคนอย่างผมที่โตมาจากบ้านนอก จะได้ไปอเมริกา ไปคิวบา ไปเกาหลีเหนือได้อย่างไร ประเทศพวกนี้แม้ว่านักข่าวจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกห้ามเข้า แต่ก็เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเชิญด้วยเช่นกัน”

“ถ้าคุณไม่กลัวว่าจะถูกไล่ออก คุณไม่ต้องกลัวอะไรสักอย่าง ผมพบว่าสิ่งที่บรรณาธิการหลายคนกลัว คือกลัวถูกไล่ออก เขาไล่ออกได้ไหม ได้ แต่เขาจะไล่คุณด้วยเหตุอะไร ด้วยเหตุว่าคุณรายงานข่าวอย่างซื่อสัตย์เหรอ โลกจะว่ายังไงถ้าเขาทำอย่างนั้น”

“ผมเขียนวิจารณ์คุณสนธิตั้งแต่วันแรกๆ ที่พวกเขาลงถนนว่า คุณกำลังฆ่าตัวตายในวิชาชีพ การเอาสื่อลงไปเล่นการเมือง สื่อจะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ propaganda machine เพราะขบวนการในการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตใช้สื่อเป็น propaganda”

“การรัฐประหารในประเทศไทยมันเป็นอะไรที่ใหม่นักหรือ ไม่มีอะไรที่ใหม่เลย ทหารบอกว่าเคยพาประเทศของเราเจริญรุ่งเรือง เรามีทหารปกครองมาชั่วชีวิต ไม่งั้นประเทศเราเป็นมหาอำนาจไปแล้วสิ ผมไม่คิดว่านี่เป็นสิ่งที่สื่อรุ่นใหม่พึงจะเชื่อ ในความเห็นของผม ไม่ได้มีหลักอะไรซับซ้อนเลย คุณแค่ซื่อสัตย์กับสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามค้นหาให้ได้ว่ามันมีที่มายังไง”

 

ฉันคือคนดี, นรกคือคนอื่น : ปัญหาของการตระหนักว่าฉันเป็นคนดี

 

โดย โตมร ศุขปรีชา 

มีคำอธิบายทางจิตวิทยาบอกว่า มนุษย์ตัดสินคนอื่นจากพฤติกรรมของคนอื่น แต่กับตัวเราเอง เราชอบคิดว่าตัวเรามี ‘ข้อมูลพิเศษ’ เกี่ยวกับตัวเอง เรารู้ว่าเราเป็นอย่างไร ‘จริงๆ’ ดังนั้น เราจึงหาวิธี ‘อธิบาย’ (หรือแก้ตัว) ให้กับการกระทำอันเห็นแก่ตัวของเราได้ง่าย และยึดติดอยู่กับภาพลวงที่ว่าเราดีและศักดิ์สิทธิ์กว่าคนอื่นๆ

นี่คือการทำงานของสมอง เพราะสมองของเราจะพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมเราถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราได้รับการปลูกฝังมาว่า คุณค่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดี เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แย่ เราก็จะเอาเรื่องดีมาแปะป้ายอธิบายตัวเอง และเอาเรื่องแย่ไปแปะป้ายอธิบายคนอื่น

ตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่า ‘ความเป็นผู้นำ’ เป็นเรื่องที่ดี แต่ทีนี้คำว่า ‘ผู้นำ’ มีได้หลายรูปแบบ ถ้าเราเติบโตมากับอำนาจนิยมข่มขู่ พูดจากระโชกโฮกฮาก เราอาจคิดก็ได้ว่าการทำแบบนั้นเป็นเรื่องที่ดี เราก็จะอธิบายตัวเองได้ว่า อ๋อ! ที่ฉันพูดจาแบบนั้นออกไปโดยไม่รู้ตัว เป็นเพราะนั่นคือการแสดงภาวะผู้นำแบบหนึ่ง

คอลัมน์ Trend Rider สัปดาห์นี้ โตมร ศุขปรีชา เขียนถึง ‘คนดี’ เพราะเหตุใดเราจึงเชื่อว่าตัวเองศักดิ์สิทธิ์กว่าผู้อื่น

 

“ถ้าเลือกได้จะไม่เกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย” พอแสนโซ บรี

 

โดย วจนา วรรลยางกูร

“ตอนเด็กไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมต้องวิ่ง ทำไมต้องหลบซ่อน บางครั้งย้ายไปได้ 6-7 เดือน เริ่มมีเพื่อนก็ต้องจากกันแล้ว เป็นชีวิตที่ยากจะเข้าใจมากสำหรับเด็ก

ตอนมาอยู่แคมป์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมออกไปข้างนอกไม่ได้ มีรั้ว มีทหารดูแล พ่อบอกว่าข้างนอกอันตราย อยู่ในนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว เราไม่ต้องหนีแล้ว ตอนนี้จะมีเพื่อนก็ได้”

ชีวิต 13 ปีในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่ จ.ตาก ของ พอแสนโซ บรี ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกตัวเองต้องเผชิญ แต่นั่นเป็นทางเดียวที่จะหนีรอดจากสงครามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลทหารพม่า ก่อนเธอจะหาทางไปเรียนต่อที่อเมริกา เมื่อมองไม่เห็นอนาคตที่นี่

“ตอนอยู่ในแคมป์ไม่เคยได้อ่านเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย ครั้งแรกที่อ่าน ฉันร้องไห้ เพราะไม่รู้เลยว่ามนุษย์คนหนึ่งมีสิทธิที่จะอยู่แบบสงบ มีสิทธิที่จะอยู่แบบปลอดภัยมั่นคง”

“ฉันต้องเรียนในโรงเรียน Newcomer Program ที่มีแต่ผู้ลี้ภัย เขาสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้ไปทำงานโรงงาน งานทำความสะอาด งานลำบากที่คนอเมริกันไม่ทำกัน ไม่ได้มุ่งสอนเพื่อให้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไปเรียนกับคนอื่นไม่ได้ ทำไมโรงเรียนเราไม่มีสนามเด็กเล่น มีแต่ห้องสี่เหลี่ยม ทำไมเราไม่ได้กินอาหารกลางวัน ทั้งที่รัฐบาลจะจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนทุกคน ฉันรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม แต่อธิบายไม่ถูกเพราะพูดภาษาไม่ได้

หลังจากนั้นสองปีฉันถามครูที่สอนภาษาอังกฤษว่าทำไมเป็นแบบนี้ เขาอธิบายว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน”

“ถ้าเลือกได้จะไม่เลือกเกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย อยากเกิดมามีชีวิตธรรมดาที่ไม่ต้องแยกกับครอบครัว ไม่ใช่อยู่กันคนละทิศคนละทาง คนละประเทศ เราหนีมาจากประเทศบ้านเกิด แต่ละครั้งที่ย้ายจะเกิดคำถามที่ตัดสินใจยากว่าย้ายแล้วจะดีหรือเปล่า จะเกิดอะไรขึ้น แล้วครอบครัวเราจะได้เจอกันอีกไหม ถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัยหรอก”

 

สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (ตอนจบ) : ทลายชาวเล – ทะเลทวาย

 

โดย ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“ที่ตรงนี้เคยเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มาก พอมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาก็มากวาดเอาไปหมดเลย” พี่นักข่าวที่ลงพื้นที่ทวายมานานเล่าให้ฟัง ฉันมองไปรอบๆ จินตนาการคำว่าอุดมสมบูรณ์ไม่ออกเลยสักนิด ยังดีที่น้ำทะเลยังพอเป็นสีน้ำเงินให้ชื่นใจ

ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีต้นไม้ขนาดสูงเท่าเข่าอยู่ประปรายตามรายทาง ที่เหลือคือดินโล้น มองไปไร้ชีวิตชีวา ตรงกันข้ามกับระหว่างทางข้างนอกที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่ม หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ตั้งอยู่อย่างเหงาๆ ริมหาด มองกลับไปเห็น Road Link ที่ทอดยาวมาจากด่านพุน้ำร้อน เส้นทางอันยาวไกลกว่า 138 กิโลเมตรสิ้นสุดตรงนี้

แต่เดิมพื้นที่แถวชายหาด มีหมู่บ้านชาวเลที่อาศัยการออกเรือหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ณ ตอนนี้พวกเขาต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น บางครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่กับญาติ บางครอบครัวก็ยกกันไปอยู่หมู่บ้านที่ทางอิตาเลียนไทยจัดสรรไว้ให้สำหรับผู้ที่โดนผลกระทบจากโครงการ

รถตู้ขับออกจากกิโลเมตรที่ศูนย์ไปไม่ไกล เลาะผ่านหมู่บ้านที่ส่วนมากสร้างด้วยไม้ จนเข้ามาสู่หมู่บ้านที่สร้างด้วยปูน แต่ละหลังเรียงติดกันเหมือนบ้านจัดสรร ที่นี่มีชื่อเรียกว่า Relocation site 1 Bawah ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบาวาห์

บ้านปูนจัดสรรเหล่านี้เหมือนบ้านพักข้าราชการที่ไม่มีคนอยู่มานานมากแล้ว แต่ละหลังมีหญ้าขึ้นสูงล้อมบ้าน ใต้ถุนเต็มไปด้วยใบไม้เกลื่อนกลาด บันไดแทบมองไม่เห็นสีที่แท้จริง เพราะหนาเข้มไปด้วยฝุ่น ต้นไม้รอบๆ ก็กลายเป็นสีเขียวผสมสีน้ำตาลจากฝุ่นดิน แทบไม่ต้องเดาว่ามีคนมารดน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

รถตู้พาขับมาจนถึงท้ายๆ หมู่บ้าน จนเจอบ้านปูนหลังหนึ่ง ที่นี่ต้นไม้เป็นสีเขียว หญ้าถูกตัดอย่างดี และมีทางเดินเข้าบ้านเป็นระเบียบ — ชีวิตชีวาของบ้านเป็นแบบนี้

ตอนแรกฉันเข้าใจว่า พวกเรากำลังเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้าน แต่เปล่า ที่นี่เป็นบ้านของครอบครัวสุดท้ายที่ยังอยู่ในบ้านจัดสรรแห่งนี้ ก่อนหน้านี้มี 4 ครอบครัวชาวเลที่ย้ายจากหมู่บ้านชาคานมาพร้อมกัน ก่อนจะค่อยๆ ย้ายออกไปหมด จนเหลือแค่ครอบครัวของคุณป้ามะ เล ที่อาศัยอยู่กับคุณลุงเพียงสองคน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พามาถึงตอนจบของสารคดีเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ว่าด้วยชีวิตผู้คนที่ต้องย้ายออกจากบ้านเดิมของตัวเองในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปอยู่ในบ้านจัดสรรที่ขาดน้ำไฟ และชาวบ้านที่เกือบเสียภูเขา แม่น้ำของพวกเขาให้เขื่อน

 

“อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” อ่านจุดยืนของจีนในการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐฯ จากหนังสือปกขาว

 

โดย แซนด์ ธรรมมงกุฎ

“เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวจีน ประโยชน์ของชาวสหรัฐ และประโยชน์ของประชาคมโลก จีนจะแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล โดยจีนจะไม่เกรงกลัวต่อแรงกดดันใดๆ และได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะรับกับความท้าทายทั้งหลาย ถ้าจะคุย ประตูใหญ่ได้เปิดกว้างไว้แล้ว แต่ถ้าจะรบ จีนก็จะรบด้วยจนถึงที่สุด…”

แซนด์ ธรรมมงกุฎ เขียนถึงใจความสำคัญในหนังสือปกขาว (white paper) ของจีน ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2019 ว่าด้วย ‘จุดยืนล่าสุด’ ของจีนในการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง People’s Daily ยังได้ปล่อยวลีเด็ด “อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” ซึ่งเคยใช้มาแล้วเมื่อเกิดข้อพิพาทครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์

 

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะจบอย่างไร?

 

โดย อาร์ม ตั้งนิรันดร

“พอรบกันไประยะหนึ่ง จนสหรัฐฯ เริ่มเจ็บตัว เช่น ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกว่าราคาสินค้าสูงขึ้น เกษตรกรสหรัฐฯ ขายถั่วเหลืองไปจีนไม่ได้ บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ค้าขายในจีนลำบาก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มร่วงไม่หยุด ฯลฯ ทรัมป์ก็คงจำเป็นต้องกลับมารื้อฟื้นการเจรจา และแสดงท่าทีว่าการเจรจากำลังเป็นไปได้สวย…”

อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียนถึงสถานการณ์ล่าสุดของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงชิงไหวชิงพริบ พร้อมวิเคราะห์ก้าวต่อไปของละฝ่าย ว่าสุดท้ายจะนำไปสู่บทสรุปเช่นไร

“ในปัจจุบัน จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ในความเป็นจริง GDP ต่อหัวของจีนยังด้อยกว่าสหรัฐฯ หลายเท่าตัว และไม่มีทีท่าว่าจีนจะตามทันได้เลย ขณะที่ระบบการเมืองของจีนก็ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่เรียกแรงบันดาลใจให้ใครได้ และจีนเองก็ไม่เคยมีเป้าหมายจะขยายลัทธิการเมืองของตัวเองออกไปนอกประเทศ

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้น แม้ว่าจีนจะก้าวหน้าอย่างน่าทึ่ง และมีการต่อยอดเทคโนโลยีจนขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และปัญญาประดิษฐ์ แต่เทคโนโลยีพื้นฐานหลายอย่างยังเป็นของตะวันตก ในความเป็นจริงแล้วจีนยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตกอยู่มากทีเดียว ดังที่เห็นได้จากการคาดการณ์ว่า ถ้าบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ หยุดค้าขายกับ Huawei จริง ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการสำหรับ Huawei

ความขัดแย้งที่สหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งในวันนี้ ส่วนหนึ่งจึงเป็นการตอบโจทย์การเมืองภายในประเทศตัวเอง เรียกว่ายิงนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือ หนึ่ง ได้ตัวร้ายที่เอามากล่าวโทษได้ว่าเป็นสาเหตุที่รายได้ของชนชั้นกลางสหรัฐฯ ติดหล่มมานาน (เพราะงานดีๆ จำนวนมากย้ายไปจีน แม้ความเป็นจริงจะมีปัจจัยอื่นอีกมากที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดหล่ม) สอง ได้ตัวปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และสาม ได้ศัตรูเป็นเป้าหมายร่วมให้ทุกคนอ้างอิงถึง”

 

มรดกของพลเอกเปรม : การขยายมวลชนจัดตั้งของรัฐ

 

โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์ 

พวงทอง ภวัครพันธุ์ สำรวจมรดกทางการเมืองและการทหารของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยชวนตั้งคำถามใหม่ต่อคำสั่งฯ ที่ 66/23 ว่าด้วย ‘นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์’ และคำสั่งฯ ที่ 65/2525 ว่าด้วย ‘แผนรุกทางการเมือง’ ซึ่งมักถูกอธิบายว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องเยี่ยมยอด ที่ทำให้รัฐไทยเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้อย่างรวดเร็ว

คำกล่าวยกย่องดังกล่าวทำให้เรามองข้ามอะไรไปบ้าง และผลในทางปฏิบัติที่แท้จริงของคำสั่งทั้งสองคืออะไรกันแน่? หาคำตอบได้ในบทความที่เปิดประเด็นถกเถียงใหม่ในเรื่องนี้

:: ปัญหาของความเข้าใจกระแสหลัก 2 ประการ ::

ประการแรก ความเข้าใจที่ว่าแปดปีภายใต้การนำของพลเอกเปรม ได้ช่วยนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการขวาจัด ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ และเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบเมื่อพลเอกเปรมยินดีลงจากอำนาจในปี 2531 พลเอกเปรมยังทำให้อำนาจทางการเมืองของทหารลดลง และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นนโยบายที่ใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร ทำให้รัฐไทยเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) ได้ในที่สุด ความเข้าใจนี้ไม่ผิดทั้งหมด แต่ไม่ถูกทั้งหมดเช่นกัน

ประการที่สอง เวลาเอ่ยถึงบทบาทของ ‘มวลชนฝ่ายขวา’ หรือ ‘มวลชนจัดตั้งของรัฐ’ หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ความรุนแรงในครั้งนั้นไม่ได้เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่มีมวลชนนับพันร่วมมือด้วย …

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา การเคลื่อนไหวของมวลชนฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็นลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ฯลฯ ​ค่อยๆ เลือนหายไป ส่วน 6 ตุลากลับมีสถานะเป็นประวัติศาสตร์อัปลักษณ์ที่ชนชั้นนำฝ่ายขวาต่างไม่กล้ารับสมอ้างว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย บทบาทของ กอ.รมน. ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา ก็จางหายไปเช่นกัน จนผู้คนต่างเข้าใจว่าพวกเขาคงละเลิกการจัดตั้งมวลชนกันไปแล้ว แต่ความเป็นจริงคือสิ่งที่ตรงกันข้าม พวกเขาไม่เคยละทิ้งแนวคิดจัดตั้งมวลชนเลย

 

การแก้ปัญหากฎหมายอาญาที่ไม่จำเป็น ด้วยการออกกฎหมายที่ไม่จำเป็น

 

โดย ปกป้อง ศรีสนิท

ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา ประเดิมคอลัมน์ใหม่ใน 101 ว่าด้วยปัญหาของการมี ‘กฎหมายอาญาที่ไม่จำเป็น’ พร้อมชี้ให้เห็นวิธีแก้ปัญหาอันลักลั่น ด้วยการออกกฎหมายที่ไม่จำเป็นเพิ่มมาอีกหนึ่งฉบับ เพื่อแก้ปัญหากฎหมายที่ไม่จำเป็น

“31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ‘พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562’ ได้ประกาศใช้ และจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวอยู่ที่มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

ผมไม่เห็นด้วยกับมาตรา 6 ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ให้อำนาจที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีอำนาจ ‘ทำลาย’ หรือ ‘สร้าง’ กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

หนึ่ง ขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ นิติบัญญัติมีอำนาจออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารมีอำนาจบังคับกฎหมาย และฝ่ายตุลาการเป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติกำหนด กลไกของมาตรา 6 วรรคหนึ่ง เท่ากับให้ศาลยุติธรรมสามารถทำลายและสร้างกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

สอง ขัดกับหลัก ‘ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย’ (nulla poena sine lege) ในส่วนที่ว่า ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสามารถกำหนดสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายอื่น แทนที่โทษทางอาญาที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกได้ หลักนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคหนึ่ง และเป็นสิทธิมนุษยชนในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 15 อีกด้วย

สาม ทำให้กฎหมายอาญาไทยเกิดความไม่แน่นอน เป็นที่สงสัยของประชาชนว่ากฎหมายที่ประกาศใช้แล้วอยู่ในสถานะใด อาจอยู่ในสถานะไม่ถูกนำมาใช้เลย หรือ ถูกนำมาใช้บางส่วน หรือ ถูกนำมาใช้แต่ไม่มีโทษอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว เพราะมีสภาพบังคับอื่นไปแล้วสุดแต่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะกำหนดขึ้น ซึ่งเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว จะไม่มีการประกาศลงราชกิจจานุกเบกษาเหมือนตอนประกาศใช้กฎหมาย ทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ยาก”

 

เมืองไทยหลังมรณกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ : ความรัก ความภักดี ความเกลียด ความชัง และความหวังที่สูญสิ้น

 

โดย อายุษ ประทีป ณ ถลาง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เขียนถึงท่าทีของแต่ละฝ่ายการเมือง หลังมรณกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อันสะท้อนให้เห็นถึงความร้าวฉานของผู้คนในสังคมในระดับที่เกินเยียวยา

“คงไม่มีใครปฏิเสธว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้สร้างผลงานเป็นคุณูปการมากมายให้กับประเทศชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะนโยบาย 66/2523 ที่นำไปสู่การเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยุติสงครามภายใน การรบราฆ่าฟันระหว่างเพื่อนร่วมชาติด้วยกันซึ่งดำเนินมานานกว่าสิบปี

รัฐบาลถึงกับออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแสดงความคารวะและไว้อาลัย โดยให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา มีกำหนด 7 วัน พร้อมทั้งให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไว้ทุกข์เป็นเวลา 21 วัน

เทิดเกียรติสูงสุดเท่าที่สามัญชนพึงจะได้รับ

บ้างก็เยินยอเสียจนเคลิบเคลิ้มชวนฝันให้ตกอยู่ในภวังค์บรรยากาศของหนังหรือละครพีเรียด อยากย้อนยุคหวนกลับคืนไปสู่สังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผื่อจะได้เป็นขุนพลคู่แผ่นดินกับเขาด้วย

แต่ต้องสะดุ้งตื่นแทบไม่ทันเมื่อเผลอไผลไปนึกถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยเฉพาะกับภาพประวัติศาสตร์ รูปปุโรหิตเฒ่าในท่ามกลางเหล่าบรรดาขุนศึกนักรัฐประหาร

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งนั้น แม้ส่วนใหญ่จะสงวนความรู้สึกเอาไว้มิให้เสียกิริยา หรือส่งผลกระทบทางจิตวิทยาการเมืองตามมา

แต่หลายคนกลับลิงโลด ตีเกราะเคาะปี๊บแสดงความสะอกสะใจ บางคนผรุสวาท บริภาษสาปส่งด้วยถ้อยคำหยาบคายเท่าที่คิดสรรปั้นแต่งขึ้นมาได้

ก่นด่าสาปแช่งตัวแทนกันสนุกปาก

ราวกับสี่เสาเทเวศร์เป็นสถาบันหลักของชาติ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นต้นตอตัวการปัญหาของประเทศ”

 

กึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักการเมืองชื่อ ชวน หลีกภัย (1) : ลูกที่ดีของพรรค นักการเมืองที่รักของระบบราชการ

 

โดย ธนาพล อิ๋วสกุล

สำรวจชีวิต 50 ปีบนเส้นทางนักการเมืองของ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานสภาผู้แทนราษฎร (อีกครั้ง) ในปัจจุบัน

ในตอนแรก “ธนาพล อิ๋วสกุล” พาย้อนรอยการเมืองสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่ง “ชวน หลีกภัย” ลงสนาม ส.ส.ตรัง เป็นครั้งแรก ในปี 2512

ผ่าน 14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19 สู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบในรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์

จนถึงรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนที่ “ชวน หลีกภัย” จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2534

เรามองเห็นอะไรใน 22 ปีแรกของชีวิตนักการเมืองอาชีพชื่อ “ชวน หลีกภัย”

 

เปิดงานวิจัยที่เก็บข้อมูลนานที่สุดในโลก กับคำตอบว่า ‘ความสุข’ นั้นอยู่ที่ใด

 

โดย เอกศาสตร์ สรรพช่าง

ความสุขของคนเราเกิดจากอะไรบ้าง ?

โครงการ Harvard Study of Adult Development เป็นหนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยแบบต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดในโลก ศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของกลุ่มตัวอย่าง ว่าด้วย ‘ความสุขของชีวิต’

คำตอบที่ได้ออกมาน่าสนใจ และทำให้เราหันมองตัวเองละเอียดขึ้น

เช่น ความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ชีวิต เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี เพราะนั่นจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาดูแลตัวเองเพื่อคนที่เรารัก, การดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ไม่น้อยไปกว่ากันคือการดูแลความสัมพันธ์รอบๆ ตัว, มากกว่าเรื่องชื่อเสียงและเงินทอง สิ่งสำคัญที่ทำให้คนมีความสุขคือความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งแนบแน่นกับคนรอบข้าง ฯลฯ

พวกเขาเริ่มโครงการนี้จากการติดตามนักศึกษาจำนวน 268 คนที่จบการศึกษาในระหว่างปี 1939 – 1944 จากนั้นในช่วงทศวรรษถัดมา ช่วงปี 1950 – 1960 มีการขยายกลุ่มตัวอย่างให้กว้างขึ้นเกือบ 1,300 คน และอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ก็เพิ่มคนในบอสตันเข้ามาอีก 456 คน ซึ่ง 40 คนจากกลุ่มสุดท้ายนี้ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ (งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2017)

โรเบิร์ต วาร์ลดิงเกอร์ (Robert Waldinger) ผู้ดูแลโครงการบอกว่าการเก็บข้อมูลนี้เป็นการเก็บข้อมูลแบบทุกซอกทุกมุมของกลุ่มตัวอย่างจริงๆ ตั้งแต่ข้อมูลเรื่องสุขภาพทั้งทางกายและใจ เรื่องความรัก การแต่งงาน มีลูก ความล้มเหลวในหน้าที่การงาน ติดยาเสพติด การป่วยทั้งทางกายและจิต ฯลฯ

นับตั้งแต่การเก็บข้อมูลมามีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นหมอ เป็นทนายก็หลายคน หรือคนที่ล้มเหลวสุดๆ ติดสุราเรื้อรัง ป่วยเป็นโรคจิตเภท ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ การเก็บข้อมูลอย่างยาวนานนี้เองทำให้ได้ข้อสรุปว่า ในเชิงวิทยาศาสตร์ปัจจัยของความสุขของชีวิตเรานั้น ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง หยิบเอางานวิจัยจากฮาร์วาร์ด ที่หาคำตอบของ ‘ความสุข’

 

แดน สเลเตอร์ : มุมมองใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยในเอเชีย

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“สำหรับผม มีปริศนาทางการเมืองอยู่สองเรื่องหลักที่น่าสนใจ ปริศนาแรกคือทำไมระบอบอำนาจนิยมถึงอยู่ได้ยืนยาวในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมถึงคำถามเรื่องกระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย (democratisation) ในภูมิภาคที่มีความหลากหลายมาก

ปริศนาที่สองคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดให้เจาะจงคือ ผมตั้งคำถามว่า ทำไมจีนจึงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการพยายามแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ แม้ว่าจีนจะมีอำนาจมากขึ้นก็ตาม…”

ส่วนใหญ่เวลาสำรวจปัญหาประชาธิปไตย เรามักมองหาบทเรียนจากประเทศตะวันตก ในขณะที่มักไม่ค่อยสนใจประเทศในเอเชียตะวันออกเท่าไหร่ ด้วยเหตุที่ว่า ประเทศเหล่านี้ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ หลายประเทศดูจะ ‘ล้าหลัง’ กว่าไทยเสียด้วยซ้ำ

แต่นี่เป็น ‘มายาคติ’ สำคัญที่ แดน สเลเตอร์ (Dan Slater) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน (University of Michigan) พยายามจะทำลาย พร้อมทั้งเชื่อว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สามารถเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจากกันและกันได้ หากแต่ต้องเปลี่ยน ‘วิธีการมอง’

สมคิด พุทธศรี ชวนแดน สเลเตอร์ คุยถึงมุมมองใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยเปรียบเทียบในเอเชีย

“ชนชั้นกลางในไทยไม่ได้แตกต่างจากชนชั้นกลางในประเทศอื่นๆ พวกเขาเกลียดการคอร์รัปชัน ต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และการเมืองที่คาดการณ์ได้ นี่คือสิ่งที่ชนชั้นกลางในทุกๆ ประเทศต้องการ คำถามจึงกลายเป็นว่า ‘คุณจะได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างไร?’ และ ‘คุณจะได้สิ่งเหล่านี้มาด้วยการปกครองของทหาร หรือด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตย?’

ไทยมีความขัดแย้งระหว่างทหารและพลเรือน หรือทหารกับนักการเมืองที่ทหารไม่ชอบ แต่นี่เป็นสิ่งที่อินโดนีเซียเคยผ่านมา และเมียนมากำลังเจอเหมือนกัน ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าคือ การศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เพื่อที่จะดูว่าวิธีไหนถึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี และวิธีไหนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่

ถ้าดูจากประวัติศาสตร์ ระบอบอำนาจนิยมในไทยไม่ได้เป็นระบอบเหมือนสิงคโปร์หรือจีน อันที่จริง ไม่มีอะไรในการเมืองไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน (หัวเราะ) ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยมก็ตาม ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องยาก ที่ผู้นำทหารจะห้ามไม่ให้เกิดกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยเหมือนอย่างที่เกิดในทศวรรษ 1980 แต่บางสิ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นมากกว่า

ผมเชื่อว่าสิ่งที่คนไทยจะตระหนักและเรียนรู้คือ ตราบเท่าที่การเลือกตั้งไม่ได้มอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป และตราบเท่าที่อำนาจยังคงเป็นของคนในวงกว้าง เมื่อนั้นไทยจะสามารถเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเสถียรภาพได้”

 

“พลเอกประยุทธ์ ครับ” / “พลเอกประยุทธ์ ค่ะ” คำถามจากชายแดนใต้ เมื่อพิราบเลือกเหยี่ยว

 

โดย ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ

การโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดย ส.ส. และ ส.ว. ที่เคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม สันติภาพ และประชาธิปไตย ในพื้นที่ชายแดนใต้มายาวนาน สะท้อนภาพการเมืองเรื่องชายแดนใต้อย่างไร

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ตั้งคำถามถึงสันติภาพในชายแดนภาคใต้ ในวันที่ ‘พิราบ’ เลือก ‘เหยี่ยว’

“ปรากฏการณ์การเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ จาก 3 นักการเมือง ‘สายพิราบ’ สะท้อนถึงภาวะกระอักกระอ่วนของสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประมุขฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจกองทัพกระทำรัฐประหารมาก่อนหน้านั้น ย่อมไร้ความชอบธรรมในวิธีการเข้าสู่การเมือง ยังไม่นับถึงผลพวงรัฐประหารที่ยังคงเป็นมรดกตกค้างอยู่ในสังคมอีกมากมาย”

“ตลอดช่วงประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าคนมลายูมุสลิม เลือกใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามแนวทางที่ชอบธรรมมาเสมอ ซึ่งมีทั้งกรณีที่ได้ผลและไม่ได้ผล แต่วิธีการดำเนินการของรัฐเอง กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่คำนึงถึงวิธีการ นั่นคือจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐไทย”

“อย่างไรก็ดี หากการสู้รบของ ‘สายเหยี่ยว’ จากทั้งกลุ่ม BRN และกองทัพ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยมีภาคประชาชน นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ‘สายพิราบ’ คอยวิพากษ์วิจารณ์และประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น กระทั่งร่วมเสนอทางออกอย่างสันติที่สุด คำถามคือในวันเวลาที่พิราบหันไปเลือกเหยี่ยวที่มีส่วนในการใช้ความรุนแรงเข้ามาปกครองต่อ สันติภาพในชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

 

เมื่ออินเดียไม่อยากเป็นเพียงมหาอำนาจของเอเชียใต้

 

โดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

รัฐบาลใหม่ของอินเดียภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี เริ่มทำงานมาแล้วกว่า 1 เดือน สิ่งที่น่าจับตาคือการเปลี่ยนแปลงท่าทีในนโยบายต่างประเทศของอินเดียที่เริ่มเผยให้เห็นตั้งแต่วันสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก มองการขยับตัวครั้งสำคัญของอินเดีย เมื่อนายกฯโมดีเลือกเชิญประเทศสมาชิก BIMSTEC ซึ่งรวมถึงไทยและพม่า มาเป็นสักขีพยานการสาบานตนรับตำแหน่ง แทนที่จะเชิญประเทศสมาชิก SAARC เหมือนที่ผ่านมา

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าอินเดียพยายามละทิ้งปากีสถานจากเหตุความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาในปี 2016 จนทำให้การประชุม SAARC ล้มไม่เป็นท่า ขณะเดียวกันก็หันมาฟื้นฟู BIMSTEC ที่เงียบเหงามาเนิ่นนาน จนคล้ายเป็นการประชุมกลุ่ม SAARC ขนาดย่อมที่ปราศจากปากีสถาน

“อินเดียเริ่มเปลี่ยนเกมใหม่ มาให้ความสำคัญกับ BIMSTEC มากขึ้น เพราะนอกจากจะไม่มีปากีสถานเป็นสมาชิกแล้ว ยังมีประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างไทย และพม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นประตูสำคัญสำหรับอินเดีย ในการขยายอิทธิพลเข้าไปในมหาสมุทรแปซิฟิก”

“อินเดียไม่ได้หวังเป็นเพียงมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่อินเดียต้องการขยับขยายตัวเองเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย และในท้ายที่สุดอินเดียก็หวังว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะไปยืนเป็นหนึ่งในแถวหน้าของมหาอำนาจโลกด้วย”

 

คำถามที่พบบ่อย และบทเรียน 101 ในยุคที่หันทางไหนก็เจอแต่งาน Projection Mapping

 

โดย Eyedropper Fill

คอลัมน์ Third-Eye View สัปดาห์นี้ Eyedropper Fill เขียนถึง Projection Mapping เทคโนโลยีฉายภาพลงบนวัตถุที่ล้ำยุคและน่าตื่นเต้น

กว่าครึ่งของงานศิลปะสนุกๆ ที่กำลังได้รับความสนใจ เป็นงานศิลปะที่สร้างขึ้นจากเทคนิคกึ่งคุ้นกึ่งไม่คุ้นหู ที่ชื่อว่า Projection Mapping

ไม่ว่าจะเป็น From Monet to Kandinsky ‘Visions Alive’ นิทรรศการที่เปลี่ยนงานศิลปะสมัยใหม่ให้มีชีวิตด้วยภาพเคลื่อนไหว ฉายด้วยเทคนิค Projection Mapping ล้อมรอบคนดูราวกับเดินอยู่ในภาพเขียน จัดแสดงที่ River City กรุงเทพฯ

Bodhi Theatre นิทรรศการศิลปะดิจิทัลที่ตั้งเป้าให้คนทั่วไปเข้าถึงธรรมะและใกล้ชิดกับวัดมากขึ้น ด้วยวิธีการที่สนุกและตื่นเต้น โดยใช้ Projection Mapping ฉายภาพเคลื่อนไหวที่ตีความจากบทสวดพาหุง ภายในโบสถ์จริงๆ ของวัดสุทธิวราราม

นอกจากสองงานที่เกิดขึ้นพร้อมกันในกรุงเทพฯ มิตรสหายที่มีโอกาสไปเมืองไกลอย่างสิงค์โปร์หรือญี่ปุ่นในช่วงนี้ หลายคนก็ตีตั๋วไปยืนตะลึงในนิทรรศการศิลปะดิจิทัลของ teamLab ซึ่งใช้ Projection Mapping เป็นเทคนิคหลัก ถึงตรงนี้คนที่เพิ่งรู้จักเทคนิคที่ว่า คงเริ่มสนใจว่าProjection Mapping มีดีตรงไหน ส่วนใครที่เคยดูงานที่ว่ามาแล้วอาจจะเริ่มสงสัยว่าทำไมมันถึงเป็นเทคนิคที่กำลัง ‘มา’ ในเวลานี้

 

เมื่อกัญชาแคนาดาไฟเขียว : เบื้องหลังและคำแนะนำจาก ‘ดร.เจอร์เกน ไรห์ม’ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส

 

โดย ธิติ มีแต้ม

“อะไรคือคำถามสำคัญสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์”

“ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายหรือไม่จ่ายกัญชาให้ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้”

“กฎหมายของคุณคืออะไร”

ท่ามกลางการคลำทางในที่มืดของสังคมไทย ว่าจะเอาอย่างไรกับนโยบาย ‘กัญชา’ 101 ชวนฟังทรรศนะของ ดร.เจอร์เกน ไรห์ม นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จาก ‘Institute for Mental Health Policy Research’ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำการเก็บข้อมูลและวิจัยนโยบายกัญชา จนรัฐบาลแคนาดานำไปต่อยอด และหลายประเทศกำลังดำเนินการตาม

อะไรคือเบื้องหลังของการเปิดไฟเขียวผ่านกฎหมายกัญชา และอะไรคือคำแนะนำที่เขาบอกกับชาวไทย

“แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะบอกว่าไม่ต้องการเปิดเสรีกัญชา แต่ศาลจะบอกว่า การปฏิเสธสิทธิของประชาชนเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องเปิดเสรี นี่คือเหตุผลที่เรา (แคนาดา) เริ่มจากการใช้กัญชาทางการแพทย์”

“การตีตราบาปเป็นปัญหาเสมอ พฤติกรรมเช่นนี้ควรถูกยับยั้ง ในแคนาดาปัจจุบันพวกเราไม่มีปัญหาเรื่องการตีตราบาปอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ช่วงที่เราอยู่ในขั้นเริ่มต้นการใช้ทางการแพทย์ เราก็พบปัญหาการตีตราบาปเช่นเดียวกัน นี่เป็นปัญหาในการสร้างวาทกรรมของสื่อ”

“การจะผลิตกัญชาทางการแพทย์สำหรับตลาดการแพทย์ ควรผลิตจำนวนน้อยก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา ผมคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันในไทยตอนนี้ คือการหารูปแบบการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อที่จะแก้กฎหมายปัจจุบันที่ยังเป็นปัญหา นี่เป็นอย่างแรกที่คุณต้องทำ ไม่ใช่คาดหวังว่าจะเป็นผู้เล่นระดับนานาชาติ”

 

ซีรีส์ว่าด้วยอนาคตวิชาเศรษฐศาสตร์ “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว?”

โดย 101world

เมื่อโลกเปลี่ยน เศรษฐศาสตร์ก็ต้องเปลี่ยน!!

จากศาสตร์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในรอบทศวรรษจนมีคำกล่าวว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว’ องค์ความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ปรับตัวอย่างไรและกำลังเคลื่อนไปในทิศทางไหน

สำรวจโลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์กับ 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่เพื่อตอบคำถามว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้วจริงหรือ?’

……

“ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเปลี่ยนเร็วมาก เศรษฐศาสตร์น่าจะเป็นศาสตร์ที่มีชีวิตชีวามากขึ้น สร้างสรรค์มากขึ้น” โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

“จะตายได้ยังไง คบกันอยู่ทุกวัน (หัวเราะ) … ผมคิดว่า การที่คนจะเลือกเรียนอะไรก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองที่แวดล้อมด้วย ทุกวันนี้คนอาจจะหันไปเรียนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือ..โรงเรียนนายร้อย” ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์ในโลกยุคใหม่ คือ โลกที่ไม่มีข้อจำกัด อะไรที่เคยอธิบายได้กับคนๆ นี้ กับคนกลุ่มนี้ กับพื้นที่แห่งนี้ ณ เวลานี้ อาจจะอธิบายไม่ได้อีกแล้ว…เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์ในอนาคต จะต้องไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนตลอดเวลา” ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เมื่อเราเห็นโลกและอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โจทย์ใหม่เกิดขึ้นมามากมาย ก็จะทำให้เกิดคำถามประจำว่า ศาสตร์ที่มีมานานแล้วรวมถึงเศรษฐศาสตร์ ยังสามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้ทันรึเปล่า…ถ้าวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่เจอความท้าทายอย่างนี้เลย ก็จะไม่มีการวิวัฒนาการและไม่สามารถปรับตัวให้ทันโลก” สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist, Sea Limited

……

 

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว ? เศรษฐศาสตร์ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ : สันติธาร เสถียรไทย

 

โดย สมคิด พุทธศรี และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

“เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเปรียบเปรยว่าข้อมูลเหมือนน้ำมัน ถ้ารู้วิธี ‘ขุดเจาะ’ และ ‘กลั่น’ ได้ (เช่นด้วยการใช้เทคนิควิเคราะห์ข้อมูล แบบ Machine Learning) ก็สามารถหาเงินได้

“แต่อันที่จริง มีโจทย์เกี่ยวกับข้อมูลที่น่าสนใจมากคือ เราตีมูลค่าข้อมูลอย่างไร เพราะในบางลักษณะคล้ายกับว่าเราย้อนกลับไปในยุคของการค้าต่างตอบแทน (barter trade system) ที่แต่ละคนเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ในเศรษฐกิจใหม่ เราไม่ได้แลกเปลี่ยนด้วยเงินตราอย่างเดียว แต่เรายอมให้สิทธิ์บริษัทเข้ามาใช้ข้อมูลส่วนตัวแลกกับบริการบางอย่างที่เราอยากจะได้กลับมา

“แต่ใน ‘ราคา’ เท่าไหร่ ประเด็นคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่า ข้อมูลที่เราให้ไปกับบริการที่ได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร “

“ในโลกที่เทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว วิธีคิดของเศรษฐศาสตร์อาจจะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะยิ่งโลกซับซ้อนเท่าไหร่ ความไม่แน่นอนสูงเท่าไหร่ เรายิ่งต้องการหลักคิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

ในประวัติศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์รอดพ้นจากความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการหยิบยืมแนวคิดของศาสตร์อื่นเข้ามา เช่น รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์”

“ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์ยังไม่ตาย… แต่อาจจะต้องมีการผลัดใบ”

101 ชวน ดร. สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีรุ่นใหม่ Group Chief Economist แห่ง Sea Limited ยูนิคอร์น ซึ่งมีกิจการในเครืออย่าง AirPay, Shopee และ Garena มาคุยว่าด้วยคำถาม เศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง ? ในโลกเศรษฐกิจใหม่

เขาใช้เศรษฐศาสตร์ประยุกต์เข้ากับโจทย์ใหม่ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังเป็นเจ้าของหนังสือ Futuration ที่ผสานเอาคำว่า Future + Generation ว่าด้วยเรื่องคนรุ่นใหม่กับโอกาสใหม่และความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล

ดร. สันติธาร ยืนยันว่าเศรษฐศาสตร์ยังไม่ตาย แต่ภายใต้คำตอบยังมีรายละเอียดที่น่ารับฟัง

 

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? เศรษฐศาสตร์ในโลก Big Data : โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

 

โดย วิโรจน์ สุขพิศาล 

“การมองแค่ข้อมูลมหภาคก็เหมือนการตรวจร่างกายภายนอก บอกได้ว่ายังไม่ตาย หรือร่างกายอ่อนแอ แต่อาจบอกไม่ได้ว่าเป็นอะไรแน่ และควรจะรักษาตรงไหน”

ในโลกที่ข้อมูลท่วมท้น บางสำนักคิดเสนอว่า ทฤษฎีหรือหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะข้อมูลทำให้เราเห็น ‘ความจริง’ ได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยทฤษฎีมาสร้างคำอธิบายหรือสมมติฐานอีกต่อไป

หากเป็นเช่นนั้นจริง คำถามที่ตามมาคือ แล้วเศรษฐศาสตร์ยังหลงเหลือคุณค่าใดบ้างในโลกสมัยใหม่ กระทั่งต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้ไม่กลายเป็นศาสตร์ที่ตายแล้ว

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย คือหนี่งในผู้ที่ยืนยันว่า ‘เศรษฐศาสตร์ยังไม่ตาย’ ทว่าการจะอยู่รอดได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าต้องปรับตัวในหลายมิติ

“โจทย์ข้อหนึ่งที่สำคัญคือ เราจะใช้ประโยชน์จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและข้อมูลที่มีอย่างมหาศาลได้อย่างไร เพื่อจะทำให้เราสามารถ ‘observe the unobservable’ หรือค้นหาสิ่งที่ไม่เคยมองเห็นได้ดีขึ้น

คำว่า ‘unobservable’ คือตัวแปรที่เราไม่สามารถหรือไม่เคยมองเห็นได้ด้วยข้อมูลแบบเก่า แต่ข้อมูลมหาศาลในปัจจุบันทำให้เราเห็นได้ เช่น ลักษณะเศรษฐกิจและสังคม พฤติกรรมและความสัมพันธ์ของหน่วยเศรษฐกิจระดับย่อยๆ เช่น คน ครัวเรือน หน่วยธุรกิจ หรือสถาบัน พลวัตและความเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ ถ้าเราเข้าใจตัวแปรเหล่านี้ ก็จะสามารถออกแบบนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

การทำงานของนักเศรษฐศาสตร์ในยุคแห่งข้อมูล บิ๊กดาต้าจะเข้ามาเสริมการนำทฤษฎีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่างหาก และในอีกด้านหนึ่ง ทฤษฎีเก่าที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ หรือข้อมูลไม่พอในการพิสูจน์ เมื่อมีข้อมูลจำนวนมากก็จะช่วยให้การทดลองและพิสูจน์ทฤษฎีมีความเป็นไปได้มากขึ้น และต้นทุนถูกลง

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐศาสตร์มีความเป็นศิลปะ ก็เป็นดาบสองคม เพราะหากนักเศรษฐศาสตร์หรือการเรียนการสอนทำให้นักเศรษฐศาสตร์คิดไม่เป็น หรือมีความยึดติด ก็อาจจะตกขบวนรถไฟแห่งโอกาสในโลกยุคใหม่ได้เช่นกัน”

 

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? เศรษฐศาสตร์ในโลกที่ไร้ข้อจำกัด : ธานี ชัยวัฒน์

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“ในอดีตที่ผ่านมา วิชาเศรษฐศาสตร์มีความแปลกตรงที่ว่า เรามักจะสอนให้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการก้มหน้าดูตัวเลข โดยแทบจะไม่เคยเงยหน้าคุยกับมนุษย์ด้วยกันเองเลย และเราก็เชื่อเสียด้วยว่า ตัวเลขที่เราเห็น คือมนุษย์ในโลกจริงที่พึงเป็น…”

สมคิด พุทธศรี คุยกับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่อยู่ใกล้พรมแดนความรู้มากที่สุด เพื่อสำรวจว่า เศรษฐศาสตร์รับมือกับโลกที่ไร้ข้อจำกัดอย่างไร

‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ คือ แว่นตาหลักที่ธานีใช้สำรวจปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ในโลกใหม่ที่ดูจะไร้ข้อจำกัด ศาสตร์นี้นับเป็นศาสตร์ที่กำลังมาแรง เพราะใช้ระเบียบวิธีวิจัยและเครื่องมือใหม่ที่ทะลุข้อจำกัดของ ‘เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก’ แบบดั้งเดิม ยิ่งเมื่อบวกกับพลังของเทคโนโลยีและข้อมูลจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งอธิบายโลกและทำความเข้าใจมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น

“การสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของมนุษย์ในโลกความเป็นจริง เป็น robustness check ของข้อสรุปทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำ robustness check ในแบบจำลอง และการที่นักเศรษฐศาสตร์เงยหน้าคุยกับมนุษย์นี่แหละที่จะทำให้เราพูดได้เต็มปากว่า เศรษฐศาสตร์คือวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์ (Human Science) อย่างแท้จริง

ความกินดีอยู่ดี ยังเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ทุกยุคสมัย แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป โจทย์เรื่องปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงโจทย์เรื่องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่น ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ กฎหมาย กำลังจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมากของหัวข้อเศรษฐศาสตร์ในอนาคต

เด็กรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามเยอะว่า กรอบของอุปสงค์และอุปทานยังใช้ได้อยู่ไหมในโลกยุคใหม่ เพราะเขาเริ่มเห็นว่า คนอาจไม่ได้ตอบสนองต่อกรอบคิดดังกล่าวอย่างแท้จริง หรือการสมมติให้ตลาดมีสินค้าที่เหมือนกันหมด ยังเป็นจริงอยู่ไหม ในเมื่อในโลกจริงแทบจะไม่มีสินค้าที่เหมือนกันเลย–ถ้าเราก้มหน้าก้มตาสอนเหมือนเดิม โดยไม่สนใจคำถามเหล่านี้ เศรษฐศาสตร์แบบนี้ก็จะตายไปในที่สุด”

 

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? โลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนา : ธร ปีติดล

 

โดย สมคิด พุทธศรี

“นักเศรษฐศาสตร์ต้องเรียนรู้ว่า ความรู้ของตัวเองเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม อย่าหลงสถานะตัวเองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เหนือใคร…”

สมคิด พุทธศรี ชวน ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยกันถึงแวดวงเศรษฐศาสตร์ไทยที่ยืนอยู่ท่ามกลางคำถามใหญ่ว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว?”

ธร เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เพียงเฝ้าติดตาม-ตรวจสอบสังคมไทยผ่านแค่ตัวเลขเท่านั้น หากยังหยิบรายละเอียดชีวิตของผู้คน ทรรศนะทางการเมือง ไปจนถึงผลกระทบทางการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสังคมไทยด้วย

บทสนทนาต่อไปนี้คือการกลับไปทบทวนตัวตนของวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าปัญหาคืออะไร เกิดจากอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร

“ในโลกของเศรษฐศาสตร์พัฒนาและเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นวิชาที่ผมสนใจ มีการปรับตัวไปมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการนำวิธีวิจัยใหม่ๆ เช่น การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ซึ่งเปรียบเสมือนการทำการทดลอง (experiment) จากพื้นที่ วิธีวิจัยแบบใหม่นี้ขยับกระบวนการผลิตความรู้ของเศรษฐศาสตร์จากเดิมที่นั่งดูตัวเลขสถิติและทำวิจัยในห้องสมุด ออกไปเจอความจริงจากพื้นที่มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวิธีการทำความเข้าใจปัญหาการพัฒนาแบบเดิมไปเลย

แต่เดิม ถ้ามีสมมติฐานว่า มนุษย์มีเหตุมีผลโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ถ้าชาวบ้านได้รับเงินทุน หรือสวัสดิการต่างๆ ก็ต้องคาดหวังว่า เขาควรจะใช้มันอย่างมีเหตุผล หรือมีความสามารถในการวางแผน แต่ในโลกของความเป็นจริง นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องแปลกใจอยู่เสมอว่า ทำไมนโยบายหลายอย่างจึงไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการ และอาจไปเกิดอคติว่าคนจนวางแผนไม่เป็น ไม่มีเหตุผล ไม่มีความรู้

“ในบริบทสากล เศรษฐศาสตร์ยังมุ่งเน้นความรู้เชิงเทคนิคมากเกินไป ซึ่งพอให้น้ำหนักเรื่องเทคนิคมาก ภาษาทางเศรษฐศาสตร์เลยเป็นภาษาเฉพาะ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึง โลกของเศรษฐศาสตร์จึงเป็นโลกเฉพาะของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากให้เศรษฐศาสตร์ถอยออกมาจากความแปลกแยก และเชื่อมโยงกับผู้คนให้มากขึ้น”

 

ความน่าจะอ่าน 2018-2019

 

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก!

 

โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล 

สภาผู้แทนราษฎรเปิดแล้ว 101 ขอเปิดสภา ‘ความน่าจะอ่าน’ แข่งกับลุงตู่บ้าง!

ประเดิมวาระแรก ด้วยที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้ พร้อมกฎกติกาต่างๆ ที่สภาความน่าจะอ่านต้องปฏิบัติ เพื่อร่วมกันคัดสรร ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’

“ในปีนี้ เราคุยกันว่าจะยังคงคอนเซ็ปต์เดิมไว้ เพิ่มเติมคือการสำรวจสุ้มเสียงใหม่ๆ จากคนในแวดวงหนังสือ เพิ่มความหลากหลายและความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผ่านการคัดสรรของ ‘สภาผู้แทนความน่าจะอ่าน’

จุดประสงค์ของโปรเจ็กต์นี้ ไม่ใช่การเฟ้นหาหนังสือที่ดีที่สุด กระทั่งไม่ได้มีการมอบรางวัลหรือยศตำแหน่งใดๆ ให้เป็นพิเศษ ทว่าเป็นเพียงการ ‘แนะนำ’ หนังสือผ่านสายตาของผู้แทนจำนวนหนึ่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้หนังสือเล่มนั้นๆ กระจายไปสู่สายตาผู้อ่านในวงกว้าง เสมือนการชี้เป้าหนังสือที่น่าสนใจ แต่อาจยังไม่เป็นที่รับรู้หรือถูกมองเห็นเท่าไรนัก

นอกเหนือจากนี้ เราจะจัดกิจกรรมอภิปราย ‘ไว้วางใจ’ ขักชวนผู้คนนักอ่าน-นักเขียน มาร่วมเขียนบทความแนะนำหนังสือบางเล่มที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการจัดเวทีเสวนา ด้วยเชื่อว่าคุณค่าของหนังสือไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหน้ากระดาษเท่านั้น แต่สามารถต่อยอดจากการได้มาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันแบบตัวเป็นๆ

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา เราจึงไม่สามารถสำรวจความเห็นจากประชากรทุกคนในแวดวงการอ่านการเขียนได้ แต่อย่างน้อยๆ เราเชื่อว่าผลที่ออกมา น่าจะมี ‘ความเป็นประชาธิปไตย’ มากกว่าการยกมือโหวตนายกฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปแน่นอน…”

 

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 1)  

 

โดย 101world 

หลังจากเปิดโปรเจ็กต์อย่างเป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะได้มาลุ้นพร้อมๆ กันว่า ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ จะมีเล่มไหนติดโผเข้ามาบ้าง

จากการสำรวจความเห็นบรรณาธิการและนักอ่านกว่าร้อยคน มีผู้ส่งคำตอบกลับมาทั้งสิ้น 51 คน ทำให้เราได้ลิสต์รายชื่อหนังสือมาทั้งหมด 116 เล่ม ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็น ‘The Finalists’ ของความน่าจะอ่าน 2018-2019

ความน่าสนใจคือ ในลิสต์ทั้ง 116 เล่มนี้ มีเล่มที่ถูกเลือกซ้ำกันอยู่จำนวนหนึ่ง และมีบางเล่มที่ได้รับการแนะนำมากกว่าใครเพื่อน

ถึงตรงนี้ เราขอเพิ่มความตื่นเต้นเข้าไปอีกนิด เพราะทุกคนจะยังไม่รู้ว่า ‘บางเล่ม’ นั้นคือเล่มไหนบ้าง จนกว่าเราจะปล่อยลิสต์ทั้งหมดออกมาครบ โดยเราจะทยอยปล่อยลิสต์หนังสือออกมาทีละชุด ทั้งหมด 3 ชุด โดยแบ่งเป็นชุดละ 17 คน ว่าแต่ละคนเลือกหนังสือเล่มใด ด้วยเหตุผลอะไร

ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่า ว่า ‘The Finalists’ ชุดแรก มีเล่มไหนบ้าง!

 

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 2)

 

โดย 101world 

Black Cherry ความโหยหาคือชื่อยาเสพติด / เขียนชนบทให้เป็นชาติ / คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต / สวนสัตว์กระดาษ / ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ / ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว / China 5.0 / สายสตรีท มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา / Nine Lives : The Broken Song ฯลฯ

ที่ว่ามาคือรายชื่อส่วนหนึ่งของ #TheFinalists ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ตอนที่ 2

ความสนุกของลิสต์ชุดนี้ คือมีตั้งแต่งานวรรณกรรมชั้นครู หนังสือฮาวทูสามัญประจำบ้าน นิยายจีนระดับตำนาน งานวิชาการอ่านสนุก ไปจนถึงมังงะยอดนิยมอย่างคินดะอิจิ!

 

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 3)

 

โดย 101world 

หลังจากที่เราทยอยปล่อย ‘The Finalists’ ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เชื่อว่าหลายคนอาจเริ่มสังเกตเห็นคร่าวๆ แล้วว่า หนังสือเล่มใดบ้างที่ ‘ติดโผ’ เข้ามามากกว่าใครเพื่อน

ทว่าเรายังเหลือลิสต์ชุดสุดท้าย ที่จะเข้ามาเติมเต็มให้ The Finalists ครบถ้วนตามที่เราได้ทำการสำรวจมา และเป็นตอนที่ชี้ขาดว่า เล่มใดจะเป็น ‘Top Highlight’ ที่มีคนแนะนำเข้ามามากที่สุด

ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยดีกว่า ว่ามีเล่มใดบ้างที่ติดเข้ามาในลิสต์ชุดสุดท้ายนี้ ไม่แน่ว่าอาจมีเล่มที่คุณแอบเชียร์อยู่ก็เป็นได้!

 

เปิดโผ ‘Top Highlights’ ความน่าจะอ่าน 2018-2019

 

โดย 101world 

มาแล้ว! Top Highlights ความน่าจะอ่าน 2018-2019

หลังจากที่เราทยอยปล่อย ‘The Finalists’ ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ทั้งหมดไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะได้ทราบว่า เล่มใดบ้างที่ได้รับ ‘คะแนนสูงสุด’ จากการแนะนำของบรรณาธิการและนักอ่านร่วม 50 คน

ทั้งนี้ จากลิสต์หนังสือทั้งหมด 118 เล่มในรอบ The Finalists มีหนังสือที่ตีพิมพ์ภายในปี 2018-2019 ติดเข้ามาในรอบ Top Highlights ทั้งสิ้น 19 เล่ม โดยเล่มที่ได้รับคะแนนสูงสุด ได้ 7 คะแนน คือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ โดย ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

ส่วนเล่มอื่นๆ จะเป็นเล่มใด และถูกเลือกโดยใครบ้าง ตามไปดูกันเลย!

สนใจหนังสือที่ติดชาร์ต The Finalists ในโครงการ “ความน่าจะอ่าน” เลือกซื้อได้ทาง Readery ที่ https://readery.co/the101-notable-book-2019

 

รายการ 101 One-on-One

 

101​ one-on-one Ep.73 “Reading Strategy : เล่มนี้…กำลังมา” กับ อนุรุจน์ วรรณ​พิณ และ นัฏฐกร ปาระชัย

 

โดย 101 One-On-One 

:: Live :: 101​ one-on-one Ep.73

‘Reading Strategy : เล่มนี้…กำลังมา’คุยกับ อนุรุจน์ วรรณ​พิณ และ นัฏฐกร ปาระชัย สองผู้ก่อตั้ง Readery ร้านหนังสือออนไลน์ที่เซ็กซี่ที่สุดในจักรวาล!

เจาะกลยุทธ์การขายหนังสือในยุคออนไลน์ สำรวจเทรนด์การอ่านปี 2019 หมวดไหนกำลังฮิต เล่มไหนกำลังมา พร้อมพูดคุยถึงโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน’​ ที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง

ติดตามชมพร้อมกัน วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายนนี้ สองทุ่มตรงเป็นต้นไป ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

 

101 One-On-One Ep.74 “จับตาอาเซียน” กับ กิตติ ประเสริฐสุข

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One EP.74 “จับตาอาเซียน” กับ กิตติ ประเสริฐสุข
 
วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2562 เวลาสองทุ่มตรง
“จับตาอาเซียน” รับการประชุมสุดยอดอาเซียนในประเทศไทยเดือนนี้
 
ประชุมอาเซียนซัมมิทมีอะไรที่น่าจับตามอง การเมืองภายในไทยส่งผลกระทบต่อบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนมากน้อยแค่ไหน และอะไรคือความท้าทายของอาเซียนในภูมิศาตร์การเมืองโลกปัจจุบัน
 
คุยกับ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ ASEAN watch สกว.
 
ดำเนินรายการโดย จิรัฐิติ ขันติพะโล

 

101 One-on-One Ep.75 “อ่าน 2475” กับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

โดย 101 One-On-One 

:: LIVE :: 101 One-on-One Ep.75 จันทร์ที่ 24 มิถุนายน ชวนผู้อ่าน 101 ร่วมสนทนาเรื่อง “2475” กับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

สำรวจวิบากกรรมประชาธิปไตยไทย จาก 2475 ถึง 2562 ผ่านสายตาของนักประวัติศาสตร์สยาม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตอบทุกคำถาม คลี่ทุกมายาคติเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 และชวนเจาะเวลาหาอดีตเพื่อเข้าใจการเมืองไทยในอนาคต ในวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน เวลาย่ำค่ำ สองทุ่มตรง ทาง The101.world

ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Spotlights

30 Jun 2020

“ไม่มี Theory of Everything ในโลกของ IR” จิตติภัทร พูนขำ

101 สนทนากับ จิตติภัทร พูนขำ เกี่ยวกับองค์ความรู้และโลกของ IR ไปจนถึงการเรียนการสอน และการปรับตัวของ IR ในยุคที่โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย

30 Jun 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save