fbpx
เมื่อกัญชาแคนาดาไฟเขียว : เบื้องหลังและคำแนะนำจาก 'ดร.เจอร์เกน ไรห์ม' นักวิทยาศาสตร์อาวุโส

เมื่อกัญชาแคนาดาไฟเขียว : เบื้องหลังและคำแนะนำจาก ‘ดร.เจอร์เกน ไรห์ม’ นักวิทยาศาสตร์อาวุโส

ธิติ มีแต้ม, กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

– 1 –

 

ขณะที่ไทยกำลังลองผิดลองถูกในการใช้กัญชาทางการแพทย์ หลังองค์การอาหารและยา (อย.) เปิดให้ลงทะเบียนสำหรับผู้ป่วยที่แสดงความจำนงใช้กัญชา และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ครอบครองกัญชาไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่แคนาดานั้นใช้กัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2001 แล้ว และ พ.ร.บ.กัญชา ฉบับใหม่ ก็เพิ่งผ่านไฟเขียวไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา

พูดง่ายๆ คือนอกจากใช้ทางการแพทย์ได้เป็นปกติอยู่แล้ว กฎหมายแคนาดาล่าสุดอนุญาตให้ประชาชนของเขาใช้เพื่อสันทนาการได้ด้วย แคนาดาเลยกลายเป็นประเทศที่ 2 ในโลกต่อจากอุรุกวัยที่ประชาชนเสพกัญชาได้อย่างสบายใจ (ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด)

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อกฎหมายกัญชาไฟเขียว การเพาะปลูกไปจนถึงการซื้อขายก็ทำให้ตลาดกัญชาแคนาดาโตวันโตคืน กระทั่งตลาดกัญชาในแคนาดากำลังใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

ท่ามกลางการคลำทางในที่มืดของสังคมไทยว่าจะเอาอย่างไรกับนโยบายกัญชาดี ทรรศนะของ ดร.เจอร์เกน ไรห์ม นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จาก ‘Institute for Mental Health Policy Research’ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำการเก็บข้อมูลและวิจัยนโยบายกัญชาจนรัฐบาลแคนาดานำไปต่อยอด ก็นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

อะไรคือเบื้องหลังของการเปิดไฟเขียวผ่านกฎหมายกัญชา และอะไรคือคำแนะนำที่เขาบอกกับชาวไทย

 

– 2 –

 

แคนาดาเป็นประเทศในกลุ่มรายได้สูงที่อนุญาตให้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย เขาบอกว่าในสหรัฐฯ กัญชายังไม่ถูกกฎหมายทั้งหมด นี่เลยเป็นเหตุให้แคนาดาครอบครองตลาดอุตสาหกรรมกัญชาในระดับโลก ซึ่งมีผู้ใช้กัญชามากกว่า 30 ล้านคน

สัดส่วนผู้ใช้ที่มากขึ้นทำให้ตลาดธุรกิจกัญชาเติบโต และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ด็อกเตอร์ไรห์มชวนมองปรากฏการณ์ความนิยมกัญชาในตลาดว่าปัจจุบันที่เยอรมนีมีโรงปลูกกัญชาแล้ว แม้ไม่มีแสงอาทิตย์แต่พวกเขาก็ยังปลูก เพราะว่าพวกเขาต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในตลาด หรืออย่างที่อินเดียก็เพิ่งจะมีการใช้ทางการแพทย์มาได้ประมาณ 5 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อินเดียก็จะสามารถเปิดเสรีกัญชาได้

“มีคนเป็นพันล้านคนที่พร้อมจะใช้กัญชา นี่เป็นโอกาสทอง ผมเพิ่งเช็คตลาดกัญชาในอินเทอร์เน็ต ทุกประเทศเริ่มมองหาช่องทางรวย หลายประเทศกำลังพยายามเข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดนี้” ด็อกเตอร์ไรห์ม ระบุ

 

 

– 3 –

 

“อะไรคือคำถามสำคัญสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์”

“ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายหรือไม่จ่ายกัญชาให้ประชาชนที่จำเป็นต้องใช้”

“กฎหมายของคุณคืออะไร”

โจทย์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคำถามหลายร้อยคำถาม ที่นักวิทยาศาสตร์อาวุโสผู้นี้ได้ยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนกับบุคลากรที่ต้องเกี่ยวข้องกับการออกนโยบายด้านกัญชา เขาบอกว่าสิ่งที่จำเป็นคือการรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อการวิจัย และให้ความรู้กับสาธารณะ และเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

เขาเปรียบเทียบการดีเบตเรื่องการเริ่มเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์กับกรณีแอลกอฮอล์อย่างติดตลกว่า “ตอนนี้เรารู้กันว่าแอลกอฮอล์ถูกกฎหมาย ถ้าคุณดื่มมาตั้งแต่ห้าปีที่แล้ว ทำไมพวกเราถึงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลองกัญชาล่ะ”

 

– 4 –

 

หนึ่งในประสบการณ์ที่ชาวแคนาเดียนจดจำและถือเป็นบทเรียนคลาสสิคเมื่อกัญชาถูกไฮไลท์ขึ้นมาเป็นสิ่งที่ควรถูกกฎหมายคือเรื่อง ‘สิทธิ’

‘สิทธิ’ สั้นๆ คำเดียวที่ด็อกเตอร์ไรห์มอธิบายเพิ่มต่อว่าแคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ใช้เพราะมันถูกกฎหมาย ผู้ป่วยต้องการสิ่งนี้ แต่คนอื่นๆ ที่ต้องการใช้ก็จะไปที่ศาล เพื่อให้ศาลรับประกันสิทธิในการใช้กัญชาของพวกเขา และพวกเขาก็ชนะ

“แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะบอกว่าไม่ต้องการเปิดเสรีกัญชา แต่ศาลจะบอกว่าการปฏิเสธสิทธิของประชาชนเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องเปิดเสรี นี่คือเหตุผลที่เราเริ่มจากการใช้กัญชาทางการแพทย์”

ด็อกเตอร์ไรห์มเล่าว่า ที่ผ่านมาในแคนาดามีการประท้วงหลายพันครั้ง ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละรัฐ แต่สุดท้ายปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายลงไป เมื่อศาลสูงแคนาดาบอกว่าต่อจากนี้ไปต้องไม่มีปัญหาลักลั่น

 

– 5 –

 

ฟังดูเหมือนง่ายดาย แต่เอาเข้าจริงด็อกเตอร์ไรห์มบอกว่า ประเด็นสำคัญเมื่อเปิดให้มีการใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย ระบบตรวจสอบและติดตามต้องมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะกรณีการจราจรบนท้องถนนที่เขาบอกว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราต่างรู้ว่าถ้าใช้กัญชาเมื่อไหร่ ต้องห้ามไปเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรหรือการขับรถในช่วงเวลา 6 ชั่วโมงหลังการใช้กัญชา จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ 6 ชั่วโมงคือระยะเวลาที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมเรื่องพวกนี้ได้แบบเดียวกับที่ควบคุมเรื่องแอลกอฮอล์บนท้องถนน แต่ปัญหาที่เขาพบเจอคือ คนส่วนใหญ่ที่สูบกัญชายังไม่เชื่อว่าจะไม่สามารถควบคุมเครื่องจักรได้

“เหมือนความเชื่อในการดื่มแอลกอฮอล์เมื่อก่อน คุณเชื่อว่าดื่มก็สามารถขับได้ แต่วันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำให้ความสามารถในการขับขี่น้อยลง”

กัญชาก็เช่นเดียวกัน ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ช้าลงโดยเฉลี่ย ด็อกเตอร์ไรห์มบอกว่า ปฏิกิริยาตอบกลับทางร่างกายของผู้ใช้กัญชาจะช้าลงในกรณีที่เจอสถานการณ์ที่ไม่อาจจัดการได้

“จากการศึกษาวิจัย เราพบว่าคนใช้กัญชาและขับรถ จะเพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุเป็นสองเท่า ซึ่งมันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการที่คุณใช้กัญชาตอนอยู่บนเตียงนอน ซึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างมากคุณอาจนอนตกเตียง (หัวเราะ) การวิจัยเราให้คนลองใช้โปรแกรมขับรถจำลอง เปรียบเทียบระหว่างคนที่สูบและไม่สูบกัญชา เราพบว่าเวลาคุณเห็นรถกำลังแล่นมาหาคุณแบบเร็วมากๆ ถ้าไม่ได้สูบกัญชาคุณจะมีปฏิกิริยาตอบกลับเฉลี่ยภายใน 0.5 วินาที แต่ถ้าคุณสูบคุณจะมีปฏิกิริยาตอบกลับเฉลี่ย 8 วินาที

ด็อกเตอร์ไรห์มย้ำว่า เราต้องแยกการใช้กัญชาจากการใช้เครื่องจักรทุกชนิด โดยเฉพาะถ้าคนๆ นั้นเป็นคนขับรถ ขับเครื่องบิน ขับเรือ เพราะเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของการจราจร ก็ต้องระลึกไว้ว่าเรามีส่วนรับผิดชอบชีวิตของคนอื่นด้วย

 

– 6 –

 

อีกประเด็นที่เราชวนด็อกเตอร์ไรห์มกลับไปครุ่นคิดและให้ช่วยอธิบายคือ ในกรณีการใช้กัญชาในประเทศไทย ก่อนหน้าที่จะมีการปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 ให้คนใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยได้นั้น ผู้ป่วยที่เป็นเด็กจำนวนมากโดยเฉพาะการป่วยไข้จากโรคสมองพิการ โรคลมชัก ได้รับการใช้น้ำมันกัญชาจากผู้ปกครองที่รับมาจากการผลิตแบบผิดกฎหมาย เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้หมดหวังในการใช้ยาแผนปัจจุบัน และน้ำมันกัญชาเป็นความหวังสุดท้ายที่พวกเขาเชื่อ เพราะว่ามันได้ผลทันตาเห็น ลูกๆ ของพวกเขาอาการดีขึ้น

ขณะเดียวกัน พ่อแม่ของพวกเขากลับได้รับถ้อยคำดูหมิ่นจากสังคมทำนองว่า “ทำไมทำแบบนี้กับลูก ทำไมถึงใช้ยาเสพติดกับลูก คุณเป็นพ่อแม่ที่ไม่ได้เรื่อง”

คำถามคือเมื่อกัญชาถูกพิสูจน์ว่าใช้ในทางการแพทย์ได้ผล คำดูหมิ่นเหล่านั้นก็อันตรธานไป แต่ภาวะที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ และในทางกฎหมายก็ยังก้ำกึ่งไม่ชัดเจน เราควรรับผิดชอบกับสิ่งที่ครอบครัวผู้ป่วยต้องแบกรับความไม่เข้าใจนี้อย่างไร

“เรื่องแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้น” ด็อกเตอร์ไรห์มตอบทันที

เขาบอกว่าเรื่องการตีตราบาปเป็นปัญหาเสมอ พฤติกรรมเช่นนี้ควรถูกยับยั้ง

“ในแคนาดา ปัจจุบันพวกเราไม่มีปัญหาเรื่องการตีตราบาปอีกต่อไป ก่อนหน้านี้ช่วงที่เราอยู่ในขั้นเริ่มต้นการใช้ทางการแพทย์ เราก็พบปัญหาการตีตราบาปเช่นเดียวกัน นี่เป็นปัญหาในการสร้างวาทกรรมของสื่อ”

สิ่งที่ถูกต้องสำหรับด็อกเตอร์ไรห์มที่เขาอธิบาย คือการรักษาคนด้วยกัญชานั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องทางสังคม เราต้องเลี่ยงทั้งการตีตราและการทำให้กัญชากลายเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเหมือนภาพยนตร์

“ผมคิดว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมากที่จะสู้กับการตีตรานี้ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่กัญชาถูกเยินยอว่าเป็นยาวิเศษที่ใช้ทำอะไรกับใครก็ได้ เราเจอการสร้างวาทกรรมจากสื่อตั้งแต่กัญชาเป็นสิ่งที่แย่ที่สุดและกัญชาเป็นยาวิเศษ”

 

– 7 –

 

เมื่อประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ด็อกเตอร์ไรห์มให้คำแนะนำเมื่อเขารู้ว่านโยบายเกี่ยวกับกัญชาของไทยกำลังได้รับความสำคัญอย่างสูงว่ารัฐบาลจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9 เดือน เพื่อเก็บรวบรวมงานวิจัยที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ในแคนาดาใช้เวลาราว 1 ปี ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่จะทำให้มันถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ด็อกเตอร์ไรห์มบอกว่ามันเป็นเพียงการเริ่มต้น เหมือนการเดินทางร้อยเมตร และตอนนี้เราก็เดินไปได้สิบเมตรแล้ว

“ผมมีเรื่องที่อยากให้คำนึง คือ ข้อแรก การจะผลิตกัญชาทางการแพทย์สำหรับตลาดการแพทย์ ควรผลิตจำนวนน้อยก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา และข้อสุดท้าย ถ้าคุณอยากจะเป็นผู้เล่นในระดับนานาชาติ คุณต้องคิดถึงการเป็นผู้ประกอบการด้วย ผมคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันในไทยตอนนี้ คือการหารูปแบบการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อที่จะแก้กฎหมายปัจจุบันที่ยังเป็นปัญหา นี่เป็นอย่างแรกที่คุณต้องทำ ไม่ใช่คาดหวังว่าจะเป็นผู้เล่นระดับนานาชาติ” ด็อกเตอร์ไรห์ม ทิ้งท้าย

 


หมายเหตุ – เก็บความจากการบรรยาย หัวข้อ ‘บทเรียนการจัดการนโยบายจากประเทศแคนาดา และข้อเสนอเพื่อป้องกันผลกระทบประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save