fbpx
เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? เศรษฐศาสตร์ในโลกที่ไร้ข้อจำกัด : ธานี ชัยวัฒน์

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว? เศรษฐศาสตร์ในโลกที่ไร้ข้อจำกัด : ธานี ชัยวัฒน์

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

‘บ้าน วัด โรงเรียน’ คือเบ้าหลอมความโกง 

ภาษาที่ใช้ในการเขียนข่าวทำให้คอร์รัปชั่นมีความน่ารักขึ้น  

การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเริ่มจากตั้งคำถามว่า ‘ความเจ็บปวด’ (pain) คืออะไร

วัฒนธรรม ‘หวย’ สะท้อนสังคมที่ ‘ไร้ความหวัง-ไม่กล้าเปลี่ยน’

‘ความไร้บ้านทางใจ’ ของคนไร้บ้านในประเทศไทย

ข้างต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นความรู้ที่ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง นำเสนอต่อสังคมในรอบหลายปีที่ผ่านมา คำอธิบายของธานีไม่เพียงแต่สดใหม่ แหลมคม และชวนคิดเท่านั้น หากแต่ยังเล่าเรื่องได้อย่างมีพลังและน่าเชื่อถือ

‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ คือ แว่นตาหลักที่ธานีใช้สำรวจปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคม ในโลกใหม่ที่ดูจะไร้ข้อจำกัด ศาสตร์นี้นับเป็นศาสตร์ที่กำลังมาแรง เพราะใช้ระเบียบวิธีวิจัยและเครื่องมือใหม่ที่ทะลุข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแบบดั้งเดิม ยิ่งเมื่อบวกกับพลังของเทคโนโลยีและข้อมูลจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งอธิบายโลกและทำความเข้าใจมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น

‘เศรษฐศาสตร์ตายหรือยัง’ นี่คือหัวข้อที่ 101 ชวนธานี – หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ไทยที่อยู่ใกล้พรมแดนความรู้มากที่สุดสนทนา

 

 

องค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มีที่ทางอย่างไรในโลกที่ปั่นป่วน

เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ (Human Science) ดังนั้น ตราบใดที่มีมนุษย์ เศรษฐศาสตร์จะยังคงอยู่ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า เศรษฐศาสตร์ถึงจุดที่ต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะสังคมมนุษย์กำลังถูกปฏิวัติจากความเป็นสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง โดยมีอยู่สองเรื่องที่กระทบต่อองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง

เรื่องที่หนึ่งคือ มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวมากขึ้น เพราะว่าโลกมันเปิดกว้างมากขึ้น วิชาเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมเคยมีจุดหมายเฉพาะการกินดีอยู่ดีเท่านั้น แต่ตอนนี้มนุษย์เริ่มมีจุดหมายในมิติอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การแสวงหาความสุข การแสวงหาความหมายของชีวิต การแสวงหาตัวตน  พูดง่ายๆคือ เป้าหมายในการศึกษาของวิชาเศรษฐศาสตร์กำลังเปิดกว้างขึ้น โดยมีเป้าหมายในเชิงอารมณ์ และตัวตนของคนมากกว่าเมื่อก่อน

การที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวมากขึ้นนี้ได้สร้างโจทย์ใหม่ที่น่าสนใจหลายโจทย์ เช่น เราจะตีความความสุขอย่างไร เราจะตีความตัวตนของเราอย่างไร อะไรบ้างที่ทำให้เรา Feel Good อะไรบ้างที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายในชีวิต ที่อาจไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม ความเป็นธรรม เป็นต้น โจทย์เหล่านี้กำลังเป็นโจทย์สำคัญใน Human Science ซึ่งเศรษฐศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทในการอธิบายมากขึ้น

เรื่องที่สอง มนุษย์ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับโลกมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองมากขึ้นในทุกเรื่องของชีวิต ในทุกเวลาของชีวิต ทั้งความสัมพันธ์ผ่านโลกจริงและโลกดิจิตอล เพราะฉะนั้น ปัจจัยจากคนอื่นในสังคมจึงมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจไม่ได้เป็นเจ้าของการตัดสินใจของตัวเราเองอย่างสัมบูรณ์อีกต่อไป และมันทำให้พฤติกรรมของคนในสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น คาดเดาได้ยาก และเปลี่ยนแปลงตามคลื่นการตัดสินใจของคนอื่นตลอดเวลา

เมื่อการเปลี่ยนแปลงทั้งสองเรื่องถูกผูกโยงเข้าด้วยกัน การอธิบายความเป็นมนุษย์จึงมีความยากมากขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น ในด้านหนึ่ง มนุษย์ต้องเคารพกฎเกณฑ์ทางสังคม รวมไปถึงพึงมีวิถีชีวิตวิธีปฏิบัติที่มีความเหมือนๆ กันกับคนอื่นๆ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มนุษย์แต่ละคนก็ต้องการบรรลุเป้าหมายของชีวิตที่แทบจะไม่มีใครเหมือนกันเลย ดังนั้น การสร้างระบบหรือกลไกที่ตอบสนองต่อความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายในปัจเจก แต่มีจุดร่วมในสังคมนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งยวดของวิชาเศรษฐศาสตร์ในอนาคต

 

คำถามหลายคำถาม เช่น การมีเป้าหมายชีวิตที่หลากหลาย หรือการอธิบายปัจจัยทางด้านอารมณ์ มีศาสตร์ที่เห็นและตอบคำถามเหล่านี้มาก่อนแล้ว เศรษฐศาสตร์จะตอบคำถาม หรือนำเสนอคำอธิบายที่แตกต่างได้อย่างไร

ศาสตร์สำคัญก่อนหน้านี้ที่มองเห็นปัจจัยทางด้านอารมณ์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของมนุษย์คือ จิตวิทยา แต่ข้อสมมติพื้นฐานของจิตวิทยานั้นมีความแตกต่างจากข้อสมมติพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์อยู่พอสมควร จิตวิทยามุ่งศึกษาอารมณ์และความรู้สึกของปัจเจกบุคคลแต่ละคน ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาทางจิตหรือโรคบางประการ ทำให้ต้องแยกแยะปัญหาที่แตกต่างกันในปัจเจกแต่ละคน ขณะที่เศรษฐศาสตร์จะมุ่งแสวงหาปัจจัยกำหนดที่มีคุณลักษณะร่วมกัน (Common Factor) ของมนุษย์

จากเดิม เราเคยเชื่อว่าพฤติกรรมหรือการตัดสินใจของมนุษย์จะถูกคาดการณ์จากความมีเหตุผลของแต่ละคน ซึ่งในโลกความเป็นจริง ย่อมเบี่ยงเบนออกไปจากการคาดการณ์ดังกล่าว แต่ในปัจจุบัน เราเริ่มเรียนรู้ว่า ความเบี่ยงเบนของพฤติกรรมหรือการตัดสินใจไปจากการคาดการณ์ดังกล่าว สามารถเกิดจากปัจจัยหรือสถานการณ์ที่มีรูปแบบซ้ำๆ กันได้ เช่น เวลาที่เราเหนื่อย เราอาจตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ระวังความเสี่ยงมากขึ้น หรือเวลาที่เราเจอสถานการณ์ที่ยาก เราจะตีความเข้ากับสิ่งที่เรารู้และเข้าใจได้ โดยมีอารมณ์และความรู้สึกเป็นกลไกหนึ่งในการส่งผ่านปัจจัยหรือสถานการณ์ที่มีรูปแบบซ้ำๆ กันไปสู่พฤติกรรมหรือการตัดสินใจของมนุษย์แต่ละคน

เมื่อมนุษย์มีความต้องการและมีความหลากหลายมากขึ้น ภายใต้โครงสร้างหรือสถานการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ จึงทำให้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองเข้ามามีบทบาทในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ เพราะเป็นการศึกษาพฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ภายใต้สถานการณ์บางประการ

 

โจทย์คลาสสิคของเศรษฐศาสตร์เรื่องความกินดีอยู่ดี ยังสำคัญอยู่ไหมในโลกใหม่

โจทย์เก่ายังมีความหมายอยู่ เพราะความกินดีอยู่ดีก็ยังเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์ทุกยุค แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ทั้งปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว และกับคนอื่นๆ ในสังคม โจทย์เรื่องปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวก็เช่นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือโจทย์เรื่องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ก็เช่น ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ กฎหมาย หรือ network ก็กำลังจะเป็นเรื่องสำคัญมากของหัวข้อเศรษฐศาสตร์ในอนาคต

 

 

ข้อมูลและเครื่องมือใหม่ๆ เปลี่ยนโลกของวิธีการศึกษาเศรษฐศาสตร์อย่างไรบ้าง

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงโลกเศรษฐศาสตร์ไปอย่างมาก ทุกวันนี้เราสามารถวิเคราะห์ข้อความ (Text) พื้นที่หรือพิกัด (Space) การเคลื่อนไหวของคน (Movement) หรือความสัมพันธ์ผ่านการสื่อสาร โดยพิจารณาจาก Network รวมถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวของดวงตาหรือใบหน้า ให้กลายเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมได้ ปัจจุบัน ศาสตร์อย่าง neuro-economics ก็สามารถวัด activity ของสมองออกมาเป็นข้อมูลได้ ในโลกที่ทุกอย่างวัดในเชิงปริมาณได้ (quantify) นักเศรษฐศาสตร์ก็จะมีข้อมูลเพื่อศึกษาและอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้ดีขึ้น

ในตอนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเราเรียกว่า Incremental Approach ซึ่งมองว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ เครื่องมือใหม่ และวิธีการเก็บข้อมูลแบบใหม่ จะเข้ามาเติมเต็มการให้เหตุผล (Rationality) ของเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิม และทำให้การทำความเข้าใจมนุษย์ดีขึ้น

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม Radical Approach ซึ่งมองว่าเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมกำลังพ่ายแพ้ และกำลังมีแนวคิดใหม่เกิดขึ้น เพื่ออธิบายพฤติกรรมมนุษย์ได้ดีกว่าเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม กลุ่ม Radical Approach เชื่อว่า ตอนนี้เศรษฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนจาก Theorical based Approach ไปสู่ Data – Driven Economics อย่างแท้จริง นั่นคือ ถ้าเรามีข้อมูลครบถ้วน เราอาจไม่ต้องการสมมติฐานและทฤษฎีอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม คงตอบไม่ได้ว่ากลุ่มไหนจะถูกต้องในอนาคต เพราะคงขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากขนาดที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมได้ทุกมิติจริงหรือไม่ และมนุษย์จะมีพลวัตรในการมีตัวตนของตัวเองอย่างไร แต่สิ่งที่ตอบได้ตอนนี้ก็คือ ทั้งสองกลุ่มยอมรับว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อย่างแน่นอน

 

อยากให้ยกตัวอย่าง Data Driven Economics ที่เป็นรูปธรรมสักหน่อย

สมมติว่าลูกค้าเข้าไปซื้อเนื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ต เนื้ออยู่ในแพคเกจที่มีพลาสติกคลุมอยู่ ในแพคเกจมีชิ้นเนื้อ มีราคา แล้วก็มีคำแนะนำที่บอกว่าเนื้อชิ้นนี้เหมาะสมกับการไปประกอบอาหารประเภทใด เช่น เหมาะกับการย่าง ซึ่งข้อมูล 3 อย่างนี้เป็นข้อมูลปกติของแพคเกจขายเนื้อในซุปเปอร์ทั่วไป

การเข้ามาของเทคโนโลยี Eye Tracking ทำการพิจารณา focus และ movement ของดวงตา โดยเก็บข้อมูลทั้งตำแหน่งที่ดวงตา focus การเคลื่อนไหวของดวงตา และระยะเวลาที่มอง ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า คนที่กำลังเลือกเนื้อเขาสนใจอะไร เช่น ในซุปเปอร์ไฮโซ สิ่งแรกที่ผู้ซื้อจะมอง คือเขามองชิ้นเนื้อ ซึ่งหมายถึงการมองคุณภาพ โดยใช้ช่วงเวลาประมาณหนึ่ง จากนั้นจึงไปมองที่ราคา โดยใช้เวลาสั้นกว่า และสุดท้ายมองคำแนะนำว่าควรเอาเนื้อไปทำอะไร ข้อมูลเหล่านี้อาจตีความได้ว่า ผู้ซื้อที่มีรายได้สูงจะเริ่มมองที่คุณภาพ ก่อนราคา และยังสนใจคำแนะนำด้วยว่าจะเอาไปทำอะไร

ลองนึกเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นการขายเนื้อในซุปเปอร์สำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะมองราคาก่อน และใช้เวลามองราคานานที่สุด ต่อมาจึงมองคุณภาพของเนื้อในเวลาสั้นๆ และไม่ได้ดูด้วยว่าควรเอาไปทำอะไร

เทคโนโลยี eye tracking จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจรสนิยม (preference) ของผู้ซื้อแต่ละกลุ่ม ผ่านลำดับและระยะเวลาที่ใช้ในการมอง ซึ่งแสดงถึงลำดับการให้ความสำคัญ เช่น ผู้ซื้อรายได้สูงสนใจคุณภาพ มากกว่าราคา และมากกว่าคำแนะนำ ขณะที่ผู้ซื้อรายได้น้อยอ่อนไหวต่อราคามากที่สุด และแทบจะเป็นปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ

 

ทักษะเดิมของนักเศรษฐศาสตร์ เช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ จะสำคัญน้อยลงไหม ในโลกที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ที่เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์

ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ยังคงสำคัญเหมือนเดิม เพียงแต่ว่านักเศรษฐศาสตร์อาจจะใช้เวลากับทฤษฎีและข้อสมมติน้อยลงเมื่อเทียบกับในอดีต โดยโจทย์ยุคใหม่ จะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง Big Data และข้อมูลขนาดเล็กอย่าง Experimental Data ทั้งที่มาจากการทดลองในห้องแล็บ และในพื้นที่ทดลอง

แต่นักเศรษฐศาสตร์เองก็จะใช้พลังกับการวิเคราะห์ การตีความ รวมไปถึงการสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของมนุษย์จะหลากหลาย ซับซ้อน และมีพลวัตรรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพียงแค่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ความสุข หรือความรู้สึกถึงความเป็นธรรม เท่านี้ก็เปิดพรมแดนทางเศรษฐศาสตร์มหาศาลอยู่แล้ว

 

 

หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย ในภาพรวมต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนไป

เศรษฐศาสตร์กำลังให้ความสำคัญกับ Data-driven Economics จากเดิมที่เคยเน้น Theoretical-based Model หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ที่จะดำรงอยู่ได้ต้องพยายามปรับตัวเข้าสู่การวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่และข้อมูลในเชิงทดลอง

หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่จึงต้องมุ่งสร้างนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเข้าใจในสองเรื่อง หนึ่งคือ ต้องเข้าใจข้อมูล และสอง ที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจมนุษย์ เพราะในอดีตที่ผ่านมา วิชาเศรษฐศาสตร์มีความแปลกตรงที่ เรามักจะสอนให้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการก้มหน้าดูตัวเลข โดยแทบจะไม่เคยเงยหน้าคุยกับมนุษย์ด้วยกันเองเลย และเราก็เชื่อเสียด้วยว่า ตัวเลขที่เราเห็น คือมนุษย์ในโลกจริงที่พึงเป็น

การสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของมนุษย์ในโลกความเป็นจริง เป็น robustness check ของข้อสรุปทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำ robustness check ในแบบจำลอง และการที่นักเศรษฐศาสตร์เงยหน้าคุยกับมนุษย์นี่แหล่ะที่จะทำให้เราพูดได้เต็มปากว่า เศรษฐศาสตร์คือวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์ (Human Science) อย่างแท้จริง

 

เศรษฐศาสตร์ไทยจะปรับตัวทันใช่ไหม

ก็เป็นเรื่องท้าทายครับ ผมไม่ค่อยแน่ใจ (หัวเราะ)

อันที่จริง เด็กรุ่นใหม่ก็ตั้งคำถามเยอะว่ากรอบของอุปสงค์และอุปทานยังใช้ได้อยู่ไหมในโลกยุคใหม่ เพราะเขาเริ่มเห็นว่า คนอาจไม่ได้ตอบสนองต่อกรอบคิดดังกล่าวอย่างแท้จริง หรือการสมมติให้ตลาดมีสินค้าที่เหมือนกันหมดยังเป็นจริงอยู่ไหม ในเมื่อในโลกจริงแทบจะไม่มีสินค้าที่เหมือนกันเลย ถ้าเราก้มหน้าก้มตาสอนเหมือนเดิม โดยไม่สนใจคำถามเหล่านี้ เศรษฐศาสตร์แบบนี้ก็จะตายไปในที่สุด

ลึกๆ ผมยังมีความเชื่อว่า กรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์ (Conceptual Framework) ยังใช้ได้เหมือนเดิม เพียงแต่มันคงไม่มีตัวอย่างที่ง่ายและตรงไปตรงมาเหมือนเมื่อก่อน วิธีการอธิบายเรื่องราวทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนไป

 

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังเชื่อว่า คำอธิบายที่ดีคือคำอธิบายที่เรียบง่าย แต่ทำให้เราเข้าใจโลก อาจารย์เห็นเหมือนหรือเห็นต่างอย่างไร

นึกถึงประโยคที่ Leonardo da Vinci นักคิดชาว Florence เคยกล่าวว่า “Simplicity is the ultimate sophistication.” ซึ่งสังคมมนุษย์ในมิติเศรษฐศาสตร์กำลังเป็นแบบนั้น ในด้านหนึ่ง เราอาจบอกว่า “Human is too lazy to think.” เป็นหลักคิดสำคัญประการหนึ่งของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม แต่อันที่จริง ความขี้เกียจคิดนี่แหล่ะ ที่ทำให้พฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ตอบสนองต่อปัจจัยภายนอกและมนุษย์คนอื่นๆ ได้อย่างซับซ้อน คาดเดาได้ยาก และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ยกตัวอย่างเช่น ในทาง Neuro-economics เรามักใช้คำว่า Domain Expertise ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์ตอบสนองต่อเรื่องแต่ละเรื่อง แต่ละสถานการณ์ แต่ละเวลาไม่เหมือนกัน ทั้งความต้องการ เป้าหมาย และเหตุผล ซึ่งแม้แต่คลื่นสมองก็ยังมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่า ข้อสมมติของความมีเหตุมีผลของปัจเจกบุคคลในเชิงทฤษฎีอาจจะกำลังมีพลังในการอธิบายน้อยลง ในโลกที่เสรีภาพกำลังก้าวไปข้างหน้า ส่งผลให้คนแต่ละคนมีอิสรภาพและมีตัวตนของตัวเองที่แตกต่างกันมากขึ้น ดังนั้น คำอธิบายที่เรียบง่ายจึงยังคงมีพลัง แต่ต้องเป็นคำอธิบายที่สอดคล้องหรือเปลี่ยนไปตามบริบทภายนอกอย่างมีรายละเอียดและรวดเร็ว

 

อะไรคือข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์ในโลกใหม่

เศรษฐศาสตร์ในโลกใหม่ต้องไม่มีข้อจำกัด และต้องเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะเหตุแห่งการตัดสินใจของมนุษย์ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยจะไม่มีทางกลับไปที่เดิมอีกต่อไป

 

 

ติดตามซีรีส์ “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว?” ทั้งหมดได้ที่ :

สำรวจโลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์กับ 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้วจริงหรือ?’ (คลิปวิดีโอ)

บทสัมภาษณ์ ‘ศรษฐศาสตร์ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ : สันติธาร เสถียรไทย

บทสัมภาษณ์ ‘เศรษฐศาสตร์ในโลก Big Data : โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

บทสัมภาษณ์ ‘โลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนา : ธร ปีติดล’ 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save