fbpx
ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 3)

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 3)

กองบรรณาธิการ The101.world  เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังจากที่เราทยอยปล่อย The Finalists ความน่าจะอ่าน 2018-2019 ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ เชื่อว่าหลายคนอาจเริ่มสังเกตเห็นคร่าวๆ แล้วว่า หนังสือเล่มใดบ้างที่ถูกเสนอชื่อเข้ามามากกว่าใครเพื่อน

ทว่าเรายังเหลือลิสต์ชุดสุดท้าย ที่จะเข้ามาเติมเต็มให้ The Finalists ครบถ้วนตามที่เราได้ทำการสำรวจมา และเป็นตอนที่ชี้ขาดว่า เล่มใดจะเป็น ‘Top Highlight’ ที่มีคนแนะนำเข้ามามากที่สุด

ว่าแล้วก็ไปดูกันเลยว่าจะมีเล่มไหนติดโผเข้ามาบ้าง ไม่แน่ว่าอาจมีเล่มที่คุณแอบเชียร์อยู่ก็เป็นได้!

 

 

ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์

เจ้าของร้านหนังสือ Fathom Bookspace

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. Why Grow up? – เติบโตอย่างไรไม่เจ็บปวด

ผู้เขียน : Susan Neiman

ผู้แปล : โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์ : Salt

” ‘..การเติบโตเป็นเรื่องของความกล้าหาญมากกว่าความรู้ ต่อให้รู้ข้อมูลทั้งหมดในโลก ก็ไม่สู้มีความกล้าที่จะใช้ดุลพินิจได้…’ การเติบโตของคนยุคนี้ไม่เหมือนการเติบโตของคนยุคก่อน การเติบโตเป็นเรื่องเดียวกับการได้รับการยอมรับ เก่ง ดัง ประสบความสำเร็จ หรือปรับตัวได้รึเปล่า หนังสือมองการเติบโตด้วยสายตาของนักปรัชญา ทบทวนวิธีคิด มองโลก การศึกษา เรียนรู้คุณค่า และใช้ชีวิตของเรา ในโลกที่ดูไม่ใช่ของคนยุคเรา มากกว่าที่เคยรู้สึกมา

เป็นปีที่ความซึมเศร้า และคนรุ่นใหม่ อยู่ในหน้าความเคลื่อนไหวของสังคมตลอดเวลา คิดว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับยุคสมัยมาก และเหมาะมากขึ้นถ้าคุณเป็นคนอายุประมาณ 20-35 หนังสือเล่มนี้จะช่วยทำให้เห็นว่า ทำไมการเติบโต ถึงได้เจ็บปวดนัก (ซึ่งเมื่อเห็นแล้ว มันก็จะหายไปเยอะเลย…แล้วเจ็บปวดกับเรื่องอื่นๆ ต่อ ฮ่า)”

 

 

2. ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ

ผู้เขียน : Higashino Keigo

ผู้แปล : กนกวรรณ เกตุชัยมาศ

สำนักพิมพ์ : น้ำพุสำนักพิมพ์

“เรื่องเล่าแบบญี่ปุ่น ที่ช่วยคลี่คลายและทำความเข้าใจชีวิต ผ่านเรื่องกึ่งแฟนตาซี เมื่อกลุ่มโจรเข้าขโมยของในร้านชำ แล้วพบจดหมายต่างๆ สอดผ่านใต้ประตูเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิต จดหมายมาจากอดีต เพื่อขอคำแนะนำจากคุณนามิยะที่ตายไปแล้ว นังสืออ่อนโยน เสพง่าย ตรงไปตรงมา ทำให้เราได้มีโอกาสคุยกับตัวเองอีกครั้ง ขายดีต่อเนื่องหลายเดือน

เราว่าเราอยู่ในยุคของคนเหงาและเศร้า ชีวิตไม่ง่าย และยากขึ้นไปอีกเมื่อไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไรแบบที่ไม่มีใครให้หันไปหา สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการอ่านคุณนามิยะ คือการรู้ว่า คุณไม่ได้โดดเดี่ยวในโลกนี้ และไม่ว่าโชคชะตาจะเล่นตลกแค่ไหน คุณจะเผชิญกับชีวิตโหดร้ายอย่างไร ความคิดความรู้สึกและการตัดสินใจในชีวิตนั้น อยู่ในมือเราอย่างแท้จริง”

 

 

3. โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

ผู้เขียน : ปีเตอร์ เซงเก้ และคณะ

ผู้แปล : กิตติพล เอี่ยมกมล

“หนังสือเล่มหนาจากปีเตอร์ เซงเก้ และคณะ ว่าด้วยการศึกษา โดยเฉพาะการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ว่ามันจะเป็นที่แห่งการ ‘เรียนรู้’ มากกว่าที่โรงเรียนเป็นอยู่ได้ยังไง ผ่านทั้งเรื่องเล่า เทคนิค วิธีการ ที่แม้หนังสือจะหนา แต่กลับอ่านง่าย และเข้าใจความเจ็บปวดที่คนในระบบการศึกษาต้องเผชิญ ซึ่งในที่นี้ ครอบคลุมตั้งแต่ผู้บริหาร ครู นักวิชาการ ผู้ปกครอง ไปจนถึงทุกคนที่ยังสนใจการเรียนรู้

ปีที่ผ่านมานี้ แวดวงการศึกษา โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรม หรือนักการศึกษารุ่นใหม่ๆ กระทั่งกลุ่มพ่อแม่ต่างๆ คึกคัก ตื่นตัว และมีหลายกลุ่มมากๆ เป็นสัญญาณที่น่าสนใจ ว่าเรากำลังช่วยกันแผ้วถางทางใหม่ สร้างอนาคตใหม่ให้กับสังคมนี้”

 

อรรถ บุนนาค

บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ J-LIT

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.เมืองมธุรส

ผู้เขียน : แก้วเก้า

สำนักพิมพ์ : อรุณ

“เนื่องจากเป็นแฟนคลับของแก้วเก้า และ อาจารย์ ว. แต่เรื่องนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะนำเสนอโดยเอานิยายของดอกไม้สด ซึ่งเป็นหมุดหมายวรรณกรรมสมัยใหม่ ขึ้นมาเขียนใหม่ โดยที่ให้ตัวเอกในเรื่องเมืองมธุรสหลุดเข้าไปในเมืองแห่งนวนิยายของดอกไม้สดนั้น มันเลยมีการ corraboration ระหว่าง ตัวละครในนิยายดอกไม้สด กับตัวละครที่แก้วเก้ารังสรรค์ขึ้นมา

น่าสนใจว่าเรื่องแนวๆ นี้ ยังไม่ค่อยมีคนไทยเขียน ถ้าเป็นของฝรั่ง ญี่ปุ่น หรือของชาติอื่นๆ จะเห็นแล้วแหละว่า เขามีการเขียนเรื่องที่เอานิยายเก่ามาผลิตซ้ำ หรือเอามาทำเป็นซอมบี้ เช่นของ เจน ออสติน เราเลยคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายของการเขียนนวนิยายของไทยที่น่าสนใจชิ้นนึง”

 

 

2. หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา

ผู้เขียน: อุรุดา โควินท์

สำนักพิมพ์: มติชน

“เนื่องจากว่าเป็นแฟนคลับของพี่พู-อุรุดา โควินท์ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องน้ำพริกของพี่พู เราก็ซื้อ ที่ผ่านมาเราก็ชอบอ่าน essay ของอุรุดา โควินท์ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร แต่ว่าเรื่องนี้พอเป็นนวนิยาย ที่คิดว่า based on true story ในชีวิตจริงของอุรุดา เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันน่าสนใจมาก เรียกว่ามันถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงคนนึงได้ดี”

 

 

อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี

นักแปลนิยายจีนร่วมสมัย เจ้าของสำนักพิมพ์ Mangmoom Book

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เรื่องเล่าจากดาวอื่น

ผู้เขียน : Atompakon

สำนักพิมพ์ : 10 มิลลิเมตร

“หนึ่งในหนังสือขายดีตอนไปเปิดบูธในงานหนังสือ แม้ปัจจัยหนึ่งจะมาจากความเป็น Youtuber ของผู้เขียน แต่ก็บอกได้เต็มปากว่า มันมีเนื้อหาทรงคุณค่าในตัวของมันเอง ในเล่มจะเป็นเรื่องสั้นสามเรื่อง ที่ตั้งคำถามอย่างแยบยล เกี่ยวกับ passion เกี่ยวกับเพศ เกี่ยวกับคุณค่าในตัวเอง เล่าด้วยภาษาเรียบง่าย ไม่หวือหวาซับซ้อน ตามสไตล์นักเขียนรุ่นใหม่ ทดลองเปิดใจอ่าน กลับได้มุมมองและแง่คิด อย่างคาดไม่ถึง”

 

 

2. เรือรัตติกาล (Fevre Dream)

ผู้เขียน : George R.R. Martin

ผู้แปล : ดาวิษ ชาญชัยวานิช

สำนักพิมพ์ : Words Wonder

“ยังไม่ได้อ่านเอง แต่นักรีวิวหนังสือทุกคนที่รู้จักที่ได้อ่าน โหวตเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นนิยายยอดเยี่ยมแห่งปี ที่อ่านรวดเดียวจบ วางไม่ลง”

 

อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ OMG

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. อยู่กับความซับซ้อน (Living with Complexity)

ผู้เขียน : Donald A. Norman

ผู้แปล : พินดา พิสิฐบุตร

สำนักพิมพ์ : ลายเส้น พับบลิชชิ่ง

“อ่านแล้วทำให้เราละเอียดอ่อนขึ้นกับสิ่งต่างๆ และความเป็นไปรอบตัว ให้รู้จักหาความหมายจากสัญญะที่อยู่รายรอบ”

 

 

 

2. พลัง ชีวิต และความฝัน เรื่องเล่าจากห้องบำบัด (Creatures of a Day: And Other Tales of Psychotherapy)

ผู้เขียน : Irvin D. Yalom

ผู้แปล : ปริญดา วิรานุวัตร

สำนักพิมพ์ : Sidea

“คนเขียนเป็นจิตแพทย์ชั้นครู เล่มนี้เป็นทั้งหนังสือจิตวิทยาและเป็นงานวรรณกรรมชั้นดี ละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง ซับซ้อน สะท้อนความงาม ความปวดร้าว และความหมายของการเป็นมนุษย์”

 

 

3. วิถีแห่งเต๋า

ผู้เขียน : ปราชญ์เหลาจื่อ

ผู้แปล : พจนา จันทรสันติ

สำนักพิมพ์ : openbooks

“เกินบรรยายทั้งเนื้อหา การแปล และการออกแบบ – ที่สุดของที่สุด”

 

 

วรงค์ หลูไพบูลย์

บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์บทจร

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

ผู้เขียน : ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

สำนักพิมพ์ : อ่าน

“เป็นหมุดหมายแห่งยุคสมัยของเรา อัปลักษณ์ที่เกิดขึ้นและได้รับการบันทึกไว้”

 

 

2. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย

ผู้เขียน : กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

ผู้แปล : อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู

สำนักพิมพ์: ฟ้าเดียวกัน

“เป็นหนังสือเล่มสำคัญของบ้านเรา กับปัญหาที่สำคัญมากๆ ถ้าอยากเข้าใจสังคมการเมืองไทย”

 

 

3. ทุ่ง กุลา ลุกไหม้

ผู้เขียน : Juan Rulfo

ผู้แปล : พีระ ส่องคืนอธรรม

สำนักพิมพ์ : อ่าน

“เป็นวรรณกรรมเล่มสำคัญของโลก ของนักเขียนคนสำคัญของโลก แปลเป็นภาษาที่เกือบจะถูกลืมจากโลกนี้ไปแล้ว”

 

 

ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์

บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Bookscape

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1.มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ

ผู้เขียน : Murata Sayaka

ผู้แปล : พรรณวิมล จิตราวิริยะกุล

สำนักพิมพ์ : Animag

“เสียดสีและพิลึกพิลั่นได้แบบญี่ปุ่นสุดๆ ยกประเด็น ‘ความปกติ’ มาผูกกับชีวิตประจำวันในร้านสะดวกซื้อได้แบบอ่านเพลินสุดๆ อ่านจบแล้วก็ได้แต่ถามตัวเองว่า เราเป็นมนุษย์ ‘ปกติ’ ในร้านสะดวกซื้อ หรือมนุษย์ร้านสะดวกซื้อในโลกบิดเบี้ยว?”

 

 

2. ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง

ผู้เขียน : อุทิศ เหมะมูล

สำนักพิมพ์ : จุติ

“เราติดหนังสือเล่มนี้ไปอ่านระหว่างเดินทาง พอการเดินทางจบลง เรารู้สึกเหมือนยังติดอยู่ในหนังสือเล่มนี้”

 

 

3. เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร

ผู้เขียน : Mary Roach

ผู้แปล : สฤณี อาชวานันทกุล

สำนักพิมพ์ : Salt

“ภาพจำของอวกาศคือเรื่องยิ่งใหญ่และไกลตัว แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้อวกาศเขยิบเข้ามาใกล้อีกนิด แถมยังเป็นมิตรและฉายความเป็นมนุษย์ของนักบินอวกาศ แม้แต่ในเรื่องง่ายๆ ที่เราอาจลืมไปว่า นักบินอวกาศก็ขึ้นยานแล้วเมาอ้วกได้เหมือนเราๆ นี่แหละ”

 

 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

บรรณาธิการบริหาร นิตยสารสารคดี

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เงียบ – Silence in the Age of Noise

ผู้เขียน : Erling Kagge

ผู้แปล : วรรธนา วงษ์ฉัตร

สำนักพิมพ์ : OMG BOOKS

“ประสบการณ์สุดขั้วที่ทำให้เราเห็นค่าของความเงียบ ท่ามกลางโลกอันแสนวุ่นวาย”

 

 

2. London Museums

ผู้เขียน : โอ๊ต มณเฑียร

สำนักพิมพ์ : a book

“อ่านประวัติศาสตร์โลกผ่านพิพิธภัณฑ์ ด้วยอักษรและภาพประกอบคอลลาจสุดสวยของผู้เขียน”

 

 

3. รุไบยาต

ผู้เขียน : Omar Khayyam

ผู้แปล : แคน สังคีต

สำนักพิมพ์ : แสงดาว

“ดื่มด่ำถ้อยทำนองของเอกกวี ใคร่ครวญความหมายของชีวิต”

 

 

รังสิมา ตันสกุล

บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Library House

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. รักของคนเขลา

ผู้เขียน : Jun’ichirō Tanizaki

ผู้แปล : พรพิรุณ กิจสมเจตน์

สำนักพิมพ์ : JLIT

 

 

2. ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต (เวอร์ชั่นแปลภาษาอังกฤษ)

ผู้เขียน : วีรพร นิติประภา

ผู้แปล : ก้อง ฤทธิ์ดี

สำนักพิมพ์ : River Books

 

 

วรพจน์ พันธุ์พงศ์

นักเขียน และเจ้าของสำนักพิมพ์บางลำพู

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ประเทศเทา

ผู้เขียน : ธิติ มีแต้ม

 

 

2. ศูนย์

ผู้เขียน :  อนุชา วรรณาสุนทรไชยู

สำนักพิมพ์ : สมมติ

 

 

3. Between Hello and Goodbye

ผู้เขียน : จิรเดช โอภาสพันธวงศ์

สำนักพิมพ์ : SALMON BOOKS

 

“จงใจเลือกหนังสือของคนหนุ่มสาวทั้งสามเล่ม เพราะ time ‘n space ในเมืองไทยตอนนี้ถูกปกคลุมปกครองด้วยผู้เฒ่าสติปัญญาทารก – เลือก โดยไม่สนใจเรื่องความสมบูรณ์ และดีเด่น แต่เลือกด้วยสนใจ ให้คุณค่าในเรื่อง artistic, original และ powerful เชื่อมั่นว่านักเขียนทุกคนยังแอกทีฟและจะ powerful มากขึ้นตามพรรษาและเหงื่อจากงานหนัก

สังคมไทยยามนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฟังเสียงของคนหนุ่มสาว – ความสดใหม่และพลังเร่าร้อนไม่ถูกต้องดีงามทุกอย่างหรอก แต่พวกเขาและเธอต้องมีสนามเล่น ลับ ปะทะ เคี่ยวกรำ -ไม่กล้าเลือกไม่กล้าปล่อย โลกก็มีแต่สุสาน – ทว่าหากกล้าหาญพอ สวนสวรรค์แห่งดอกไม้จะรออยู่เบื้องหน้า”

 

 

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ

กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์สุขภาพใจ และนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เพลิงแค้นปีศาจ จาก นิยายชุด ราชสีห์

ผู้เขียน : ดวงตะวัน

สำนักพิมพ์ : ดวงตะวัน

“อ่านแล้วสนุก สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ ที่มีทั้งความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง คนดีคนไม่ดีแบบที่สุดมันไม่มี มันมีความเทาๆ ในแต่ละคน การเล่าเรื่องทำให้เห็นทั้งด้านสว่างและด้านมืดของหัวใจมนุษย์ ทุกคนเกิดมาผ่านชีวิต มีปมชีวิต มีปัญหาชีวิต แต่เราต้องก้าวข้ามให้ได้และดำเนินชีวิตต่อไป สำหรับการผูกเรื่อง อ่านแล้วสนุก พลิกไปมา และหลายครั้งคิดเดาทางไม่ถูก”

 

 

2. ‘ธิโมส์’ series by ดวงตะวัน

ผู้เขียน : ดวงตะวัน

สำนักพิมพ์ : ดวงตะวัน

 

 

พัลลภ สามสี

ผู้จัดการบริษัทแอปพลิเคชันหนังสือออนไลน์ IReader

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind)

ผู้เขียน: Yuval Noah Harari

ผู้แปล: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

สำนักพิมพ์: ยิปซี

“หนังสือสารคดีวิชาการที่ไม่อ่านไม่ได้ เรื่องราวของมนุษย์ยุคหิน การทำลายล้าง การเอาตัวรอด จนเหลือรอดแต่เซเปียนส์ เผ่าพันธุ์อันเป็นบรรพบุรุษของเรา ถามว่าอ่านไปทำไม ทั้งที่ก็ไม่ได้เพลิดเพลินลุ้นระทึกอย่างแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ออกจะเต็มไปด้วยเรื่องราวความหลังครั้งไกลโพ้นเสียด้วยซ้ำ แต่ที่ใครๆ อ่านกันทั้งโลก ก็เพราะยูวัลมีแง่มุมใหม่ๆ มีคำถามชุดใหม่ๆ ที่ทำให้มนุษย์เราเห็นกำพืดที่มีร่วมกันของตัวเองชัดเจนอย่างไม่เคยมีมาก่อนนั่นเอง”

 

 

2. ใต้ฝุ่น

ผู้เขียน : โกลาบ จัน

สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์

“มหัศจรรย์ – พล็อตเรื่องอินเตอร์ หนีความน่าเบื่อหน่ายของนิยายไทยที่เต็มไปด้วยจินตนาการที่ไม่สมจริง เป็นไปได้ยังไงที่นักเขียนไทยคนหนึ่งสามารถเขียนถึงเรื่องราวความขัดแย้งในอัฟกานิสถานได้แจ่มชัดราวกับเธอเกิดและเติบโตขึ้นที่นั่น ผู้เขียนยังสามารถย่อยและเล่าปัญหาที่สลับซับซ้อนนับร้อยปีของอัฟกานิสถานออกมาได้อย่างเชื่อมโยง เต็มไปด้วยสีสัน และง่ายงาม ผ่านเรื่องราวความรักต่างวรรณะของด็อกเตอร์หนุ่มและลูกสาวของหญิงรับใช้”

 

 

3. อย่าเรียกฉันว่านังแพศยา

ผู้เขียน : หลิวเจิ้นอวิ๋น

ผู้แปล : ศุณิษา เทพธารากุลการ

สำนักพิมพ์ : มติชน

“แสบสัน เล่าเรื่องผู้คนและการเมืองจีนอันแสนยุ่งเหยิงให้บันเทิงไปด้วยชีวิตอันผกผันของตัวละคร การที่หนังสือเล่มนี้ไม่ถูกเซ็นเซอร์ในจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นเพราะชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ระดับเทพเซียน แม้จะคับคล้ายคับคลาว่าเป็นเป็นการตีแผ่นโยบายลูกคนเดียวของจีน ความล้มเหลวของระบบรวมศูนย์การปกครอง และนโยบายท้องถิ่นที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่เรื่องเล่าอันพิสดารนี้ก็ทำให้เห็นว่า เกมการเมืองของจีนนั้นไม่ใช่ระนาบเดียวที่มองอย่างผิวเผินก็คาดเดาได้

สิ่งสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้รอดออกมาเป็นเล่มได้ น่าจะเป็นเพราะประเด็นเรื่องปัจเจกบุคคล ความสุข และความต้องการของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งควรถูกแก้ไขตั้งแต่แรกเริ่มปัญหา มิใช่ปล่อยให้ลุกลามจนกลายเป็นเรื่องระดับประเทศเช่นที่เกิดขึ้นในนิยาย

อาเป็นว่าเรื่องนี้แสบสันทั้งภาษา การเล่าเรื่อง ครบรส และแสบถึงขนาดว่าผู้เขียนสามารถแขวะรัฐบาลได้อย่างออกรส แม้จะลงให้บ้างในประเด็นใหญ่ แต่ประเด็นยิบย่อยนี่ ก็ซัดเอาซะกระอักอยู่เหมือนกัน”

 

 

ธนาพล อิ๋วสกุล

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ความงามของชีวิต โดยป้าลม และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร (โครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 20)

ผู้เขียน : ป้าลม (วิมล พลจันทร), เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์, ไอดา อรุณวงศ์

สำนักพิมพ์ : อ่าน

 

 

2. 2475: เส้นทางคนแพ้

ผู้เขียน : บัญชร ชวาลศิลป์

สำนักพิมพ์ : แสงดาว

 

 

3. การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น

ผู้เขียน : พวงทอง ภวัครพันธุ์

สำนักพิมพ์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

นิวัต พุทธประสาท

บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ฉันขังความรักไว้ในหนังสือ

ผู้เขียน : อภิชาติ เพชรลีลา

สำนักพิมพ์ : นกดวงจันทร์

“หนังสือเล่มใหม่ของอภิชาติ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่นักอ่านของเขาเฝ้ารอมานาน แม้หลายๆ เรื่องจะเคยตีพิมพ์มาแล้ว แต่การมารวมเอาไว้เป็นชุดก็ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจ นี่คือหมุดหมายนักเขียนไทยที่มีงานไม่มากชิ้น แต่งานของเขาสามารถกระทบใจผู้อ่านอย่างน่าทึ่ง”

 

 

2. มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

ผู้เขียน : ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

สำนักพิมพ์ : อ่าน

“บทบันทึกของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เล่มนี้ เขียนขึ้นเพื่อบันทึกช่วงเวลาที่เธอถูกจับในคดี 112 เนื่องจากแสดงละครเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ เธอต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถจะปกป้องสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา เธอต้องขึ้นศาล ได้รับการพิพากษา และจองจำ แต่ทั้งหมดไม่ทำให้จิตใจของเด็กสาวท้อแท้ บันทึกเล่มนี้จึงไม่เพียงแค่บันทึกความทรงจำ แต่มันแสดงให้เห็นว่าจิตใจที่เข้มแข็ง ต่อให้เหล็กหรือกรงขังก็ไม่อาจต้านทานเสรีภาพไปได้”

 

 

3. The Cult of Monte Cristo

ผู้เขียน : นพพันธ์ บุญใหญ่

สำนักพิมพ์ : a book

“หนังสือเล่มนี้คือความทะเยอทะยานที่คุ้มค่าของผู้เขียน เป็นการเดินทางที่พ้นไปจากบริบทความเป็นไทยอย่างมากที่สุด แต่กลับสะท้อนความสะเทือนอารมณ์ในแบบสังคมไทยได้ครบถ้วน ท่วงทำนองภาษายังบอกได้ว่าคนร่วมสมัยต่างหากที่จะสร้างแนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา”

 

 

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

บรรณาธิการประจำฉบับ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ว่างแผ่นดิน ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักร

ผู้เขียน : นิธิ เอียวศรีวงศ์

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราฯ

 

 

2. ยัญพิธีเชือดแพะ

ผู้เขียน : มาริโอ บากัส โยซ่า

ผู้แปล : พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์

สำนักพิมพ์ : บทจร

 

 

3. พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (The Museum of Innocence)

ผู้เขียน : ออร์ฮาน ปามุก

ผู้แปล : นพมาส แววหงส์

สำนักพิมพ์ : มติชน

 

 

สุรเดช โชติอุดมพันธ์

รองคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. หนูนิ้วโป้ง: วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลนเนียล

ผู้เขียน : Michel Serres

ผู้แปล : สายพิณ ศุพุทธมงคล

สำนักพิมพ์ : พารากราฟ ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มิแช็ล แซรส์ เป็นนักปรัชญาตัวอย่างที่แม้ว่าอายุอานามจะมากแล้ว แต่ยังสนใจศึกษาสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะวัฒนธรรมของคนรุ่นหลัง หนูนิ้วโป้ง เป็นการสำรวจสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนมิลเลนเนียลที่ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและเทคโนโลยี ความรู้ต่างๆ และวิธีการเข้าถึงองค์ความรู้จึงเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากในสภาวการณ์ดังกล่าว จึงทำให้นักคิด เช่น แซรส์ ต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามและใคร่ครวญถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้”

 

 

2. ผจญภัยตามใครเลือก

ผู้เขียน : กิตติพล สรัคคานนท์

สำนักพิมพ์ : SALMON BOOKS

“เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความกล้าคิดกล้าทดลองของผู้เขียน ใช้รูปแบบการเล่าเรื่องแบบ ‘เกมหนังสือ’ ที่ผู้อ่านมีสิทธิเลือกให้เหตุการณ์ดำเนินไปเมื่อถึงทางแพร่ง หลายคนอาจจำรูปแบบหนังสือแนวนี้ได้จากที่เคยอ่านตอนเป็นเด็ก แต่กิตติพลสามารถนำเอารูปแบบการเล่าเรื่องแบบดังกล่าวมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยได้อย่างแยบคาย”

 

 

3. On Literature : ว่าด้วยวรรณกรรม

บรรณาธิการ : วริศ ลิขิตอนุสรณ์

สำนักพิมพ์ : สมมติ

“เป็นหนังสือรวมบทความที่แสดงให้เห็นถึงความคิดความอ่านของคนรุ่นใหม่และมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่อวรรณกรรมคลาสสิก และวรรณกรรมที่เรารู้จักกันดี ตั้งแต่งานเขียนของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เทนเนสซี วิลเลียมส์ ไปจนถึงนักเขียนไทยร่วมสมัย อาทิ วีรพร นิติประภา อุทิศ เหมะมูล และวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา บทความเหล่านี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่แล้ว ยังเห็นถึงบทบาทของสำนักพิมพ์ที่ควรจะสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้มีที่ทางในการนำเสนอความคิดเห็นในวงกว้าง”

 

 

กษมา สัตยาหุรักษ์

นักแปล และเจ้าของเพจ ‘โลกในมือนักอ่าน’

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. สำนึกของช้าง

ผู้เขียน : Marco Missiroli

ผู้แปล : นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

สำนักพิมพ์ : กำมะหยี่

“ตอนที่อ่านเล่มนี้จบแล้วรู้สึกเศร้าใจลึกๆ กับความรักของคนที่ต้องมาเป็นพ่อแม่ โดยที่ตัวเองไม่สามารถจะรับมือกับมันได้ คือถ้าสังคมมนุษย์ไม่มากำหนดและทำให้ครอบครัวเป็นสถาบันขึ้นมา มนุษย์อาจจะทุกข์น้อยกว่านี้ และโลกก็อาจจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก ถ้าเราแค่รักกัน แต่เพราะความรักที่มากับครอบครัวมันติดตัวเราจนกลายเป็นคำสาปไปแล้ว”

 

 

2. Colorful

ผู้เขียน :  Mori Eto

ผู้แปล : วิยะดา คะงะงุจิ

สำนักพิมพ์ : แจ่มใส

“เป็นหนังสือที่ทำให้เข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ในมุมของวัยรุ่น ในเวลาที่เป็นทุกข์ ความเป็นวัยรุ่น คือการยังไม่เข้าใจว่าชีวิตคืออะไร แต่อยู่ในช่วงที่กำลังค้นหา จึงน่าเสียดายหากวัยรุ่นคนไหนตัดโอกาสในการค้นหาความหมายด้วยการฆ่าตัวตายไปก่อน คิดว่าคนที่กำลังหมกมุ่นกับความตายอาจยอมให้โอกาสยืดเวลาตัวเองออกไปเพื่อหานิยามนั้นให้เจอ จากการอ่านเล่มนี้”

 

 

3. พอล แรนด์ : บทสนทนากับนักเรียน

ผู้เขียน : ไมเคิล โครเกอร์

ผู้แปล : สันติ ลอรัชวี

สำนักพิมพ์ : Li-Zenn

“การมีความสามารถในการทำบางสิ่ง อธิบายบางอย่าง และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่นั้น มันก็คล้ายกับการนั่งอยู่ในเก้าอี้สบายๆ สักตัว เหมือนอย่างที่ อองรี มาติส เคยพูดไว้ และในที่สุด มันก็จะนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งนั่นเอง”

 

 

พิทยะ วีระศักดิ์วงศ์

นักวาดการ์ตูน ผู้ร่วมก่อตั้ง Kai3 Studio

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เขียนบทหนัง ซัดคนดูให้อยู่หมัด

ผู้เขียน : ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

สำนักพิมพ์ Geek Book

“เป็นสุดยอดตำราเขียนบทหนัง ที่ใช้ได้จริง ทั้งคนวงการการ์ตูน,นิยาย,ภาพยนตร์ ภาษาที่เข้าใจง่ายอ่านสนุก ไม่เหมือนอ่านตำราสอนเขียนบทเลย”

 

2. My Home Hero

ผู้เขียน : Naoki Yamakawa

สำนักพิมพ์ : วิบูลย์กิจ

“นอกจากความสนุกแบบหนังทริลเลอร์ชั้นดี การ์ตูนเรื่องนี้ทำให้เราตั้งคำถามกับสถาบันครอบครัวด้วย”

 

 

3. Kingdom

ผู้เขียน : Yasuhisa Hara

สำนักพิมพ์ : สยามอินเตอร์ คอมมิคส์

“ความมหัศจรรย์ของ Kingdom คือมันเป็นการ์ตูนเล่าเรื่องสงครามสไตล์สามก๊ก ที่มีความสนุกแบบการ์ตูนบู๊แอ็คชั่นแฟนตาซีญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็มีชั้นเชิงการเขียนบทพูดช่วงบุ๋นยอดเยี่ยม”

 

 

ทราย เจริญปุระ

นักเขียนและนักแสดง

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. สวนสัตว์กระดาษ

ผู้เขียน : Ken Liu

ผู้แปล : ลมตะวัน

สำนักพิมพ์ : Salt Publishing

“เรื่องที่ติดในใจฉัน ก็คือเรื่องสั้นชื่อเดียวกับหนังสือ -สวนสัตว์กระดาษ- มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เป็นเรื่องของแม่และลูกชายที่ยิ่งเติบใหญ่ก็ยิ่งห่างกัน ความไม่เข้าใจนั้นยืดยาวกั้นกลางความสัมพันธ์ ภาษาและเชื้อชาติของแม่กลายเป็นปราการกั้นขวางคนทั้งสอง กระทั่งวันที่สายเกินไป และเขาได้ค้นพบความจริงในฝูงสัตว์กระดาษที่แม่เขาเคยเป่าลมหายใจแบ่งลงไปเป็นของเล่นให้ลูกชาย มันคือเรื่องที่ถูกเล่า ฉายซ้ำ เขียนต่อมาแล้วเป็นพันพันครั้ง และหากนับรวมกับความเป็นจริง ภาพชีวิตนี้คงถูกทำซ้ำเกินจำนวนจะนับได้”

 

 

2. เรื่องฝัน (Traumnovelle)

ผู้เขียน : Arthur Schnitzler

ผู้แปล : เฟย์ อัศเวศน์

สำนักพิมพ์ : Typhoon studio

“เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่เล่าถึงฟริโดลิน-นายแพทย์ใหญ่รวยเสน่ห์ มีชีวิตเพียบพร้อม ทั้งภรรยาผู้เลอโฉม ลูกเล็กน่ารัก และหน้าที่การงานมั่นคง แต่ในคืนแห่งอารมณ์แปรปรวนร้อนรุ่ม เขาต้องผจญภัยไปในด้านมืดของตัวเอง การกระทำมากมายของเขาในคืนนั้นสะท้อนความอัปลักษณ์ในจิตใจออกมาอย่างเปิดเปลือย รวมทั้งในความรู้สึกที่เขามีต่ออัลแบร์ทีเน่ ภรรยาที่เขาทั้งรักและแค้นอย่างลึกซึ้งพอๆ กัน

ปัญหาของฉัน -ในแบบออกตัวตามสังคม- คือฉันเอง

ปัญหาของฉัน -ในแบบสัญชาตญาณบอก- คือแม่ฉัน”

 

 

3. The Art of Disappointment ศิลปะของความผิดหวัง

ผู้เขียน : กิตติพล สรัคคานนท์

สำนักพิมพ์ : SALMON BOOKS

“แทบทุกหน้าในหนังสือสามารถยกขึ้นมาให้คำจำกัดความถึงหนังสือเล่มนี้ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีประโยคไหนเลยจะกล่าวได้อย่างครอบคลุม มันคือความคลุมเครือผลิตซ้ำของความผิดหวังที่จบยังไงก็ผิดหวัง เพราะชีวิตของมนุษย์ย่อมเป็นเช่นนั้นเอง บางทีจะดีที่สุด ถ้าให้ผู้รวบรวมได้กล่าวเอง

‘….อย่างไรก็ตาม ระดับชั้นของศิลปะแห่งความผิดหวังอาจขึ้นกับประสบการณ์ หรือระยะยืนที่เรารับรู้ เช่นถ้าเราอยู่ใจกลางหายนะบางอย่าง ทั้งที่เราสร้าง หรือมีผู้อื่นสร้างนั้น ขีดขั้นของความผิดหวังก็อาจจะแตกต่างไปจากคนที่ยืนไกลออกมา เช่นเดียวกับระยะเวลา ศิลปะแห่งความผิดหวังหลายชิ้นถูกสลักเสลาด้วยกาลเวลา การเกิดซ้ำ และความบากบั่นอุตสาหะของผู้สร้างสรรค์โดยแท้…’ ”

 


 

**โปรดติดตาม**

ช่วงสัปดาห์หน้า เราจะสรุปอันดับทั้งหมดให้ทราบกันอีกครั้ง พร้อมเผยแพร่บทความรีวิวเล่มที่เป็น ‘Top Highlight’ แบบจัดเต็ม ว่าเล่มนั้นๆ น่าสนใจอย่างไร

จากนั้นจึงปิดท้ายด้วยงานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round’ ในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนนี้ เวลา 14.00-16.00 ที่ Open House ชั้น 6 Central Embassy

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save