fbpx
แดน สเลเตอร์ : มุมมองใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยในเอเชีย

แดน สเลเตอร์ : มุมมองใหม่ว่าด้วยประชาธิปไตยในเอเชีย

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรียบเรียง

สมัชญา แซ่จั่น ภาพ

 

ประเทศไทยอยู่ในวิกฤตการเมืองมากว่าทศวรรษครึ่ง สองรัฐประหาร สามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร สองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และเจ็ดนายกรัฐมนตรี ย่อมบ่งบอกวิบากกรรมทางการเมืองของคนไทยในห้วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี ที่น่าเศร้าคือ วิกฤตและวิบากกรรมนี้ดูจะไม่จบลงง่ายๆ

แม้คำอธิบายวิกฤตและมุมมองต่อปัญหาการเมืองไทยจะมีหลายแง่มุม แต่ปัญหา ‘การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย’ (democratisation) เป็นหนึ่งในปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุด หากจะพูดในประเด็นนี้ให้สั้นคือ ประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้

ส่วนใหญ่เวลาสำรวจปัญหาประชาธิปไตย เรามักมองหาบทเรียนจากประเทศตะวันตก แต่มักไม่ค่อยสนใจประเทศในเอเชียตะวันออกเท่าไหร่ ด้วยเหตุที่ว่า ประเทศเหล่านี้ล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ หลายประเทศดูจะ ‘ล้าหลัง’ กว่าไทยเสียด้วยซ้ำ

แต่นี่เป็น ‘มายาคติ’ สำคัญที่ แดน สเลเตอร์ (Dan Slater) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) พยายามจะทำลาย พร้อมทั้งเชื่อว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกสามารถเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจากกันและกันได้ หากแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการมอง

แดนติดตามการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยสนใจและมีความเชี่ยวชาญในประเด็นการคงอยู่ของเผด็จการและอำนาจนิยมในประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Ordering Power: Contentious Politics and Authoritarian Leviathans in Southeast Asia ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงเล่มสำคัญในการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากบทบาทในฐานะนักวิชาการแล้ว แดนยังเป็นที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในหลายประเทศ อาทิ ฟิจิ เอธิโอเปีย และปากีสถาน

นอกจากนี้ แดนยังสนใจวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

“ในฐานะที่เคยเป็นที่แชมเปี้ยนด้านประชาธิปไตยในภูมิภาค ประเทศไทยเรียนรู้อะไรจากเพื่อนบ้านได้บ้าง” นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ 101 อยากชวนเขาสนทนา

แต่เมื่อได้คุยกับเขาทั้งที แน่นอนว่า เราไม่ลืมที่จะชวนเขาวิเคราะห์เรื่องจีนและประชาธิปไตยโลกด้วย

 

หลังสงครามเย็น การเมืองเปรียบเทียบในพื้นที่เอเชียตะวันออก ดูจะไม่ค่อยเป็นที่สนใจของนักวิชาการตะวันตกสักเท่าไหร่ ทำไมคุณจึงยังสนใจทำการเมืองเปรียบเทียบในพื้นที่นี้

เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ที่มีเรื่องพลิกความคาดหมายอยู่เสมอ และมีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิด

สำหรับผม มีปริศนาทางการเมืองอยู่สองเรื่องหลักที่น่าสนใจ ปริศนาแรกคือทำไมระบอบอำนาจนิยมถึงอยู่ได้ยืนยาวในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมไปถึงคำถามเรื่องกระบวนการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย (democratisation) ในภูมิภาคที่มีความหลากหลายมาก ปริศนาที่สองคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจีนในฐานะมหาอำนาจใหม่กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดให้เจาะจงคือ ผมตั้งคำถามว่า ทำไมจีนจึงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการพยายามแผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ แม้ว่าจีนจะมีอำนาจมากขึ้นก็ตาม

 

คำถามว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไม่ใช่ประเด็นใหม่เสียทีเดียว ที่ผ่านมาก็มีคนที่พยายามอธิบายความสำเร็จและความล้มเหลวของปรากฏการณ์นี้อยู่เรื่อยๆ คุณเห็นข้อจำกัดของคำอธิบายแบบเก่าอย่างไรบ้าง

คำอธิบายว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตย มีพื้นฐานมาจากสองมุมมองหลัก มุมมองแรกมาจากทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernisation theory) ที่คาดการณ์ว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับมุมมองแรกโดยสิ้นเชิงคือ มุมมองค่านิยมแบบเอเชีย (Asian Values) ซึ่งมีคนบอกว่า คุณค่าแบบเอเชียไม่เป็นประชาธิปไตย และประชาธิปไตยก็ไม่มีทางหยั่งรากลึกในเอเชียได้ เพราะประชาธิปไตยเป็นปรากฏการณ์ของตะวันตก ไม่ใช่ของเอเชีย

มุมมองทั้งสองแบบยังอธิบายปรากฏการณ์ในเอเชียได้ไม่ดีนัก เพราะประเทศในเอเชียมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย ความท้าทายจึงเป็นการอธิบายความหลากหลาย มากกว่าจะตั้งสมมติฐานแบบครอบจักรวาลว่าประชาธิปไตยคืออะไร และประยุกต์ใช้มันในทางที่ไม่ได้อธิบายความหลากหลายที่ว่านั่นเลย

 

คุณอธิบายการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้อย่างไร

ผมใช้วิธีการแบ่งคลัสเตอร์ ซึ่งไม่ใช่วิธีใหม่เสียทีเดียว แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราแบ่งอย่างไร ที่ผ่านมาคนส่วนมากมักจะแบ่งภูมิภาคนี้ออกเป็นประเทศฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งค่อนข้างสะดวก แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้บอกอะไรเรามากเท่าไหร่

ผมแบ่งประเทศในเอเชียออกเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะของแต่ละกลุ่มประเทศ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เรียกว่ารัฐพัฒนา (Developmental state) ซึ่งประกอบด้วยญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ กลุ่มที่สองคือกลุ่มรัฐพัฒนาแบบกองทัพนำ (Developmental militarism) คืออินโดนีเซีย ไทย และเมียนมา กลุ่มที่สามคือรัฐพัฒนาแบบบริแทนเนีย (Developmental Britannia) หรือกลุ่มที่เคยเป็นหรือได้รับอิทธิพลจากอาณานิคมอังกฤษ ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง และกลุ่มสุดท้ายคือ รัฐพัฒนาแบบสังคมนิยม (Developmental socialism) ได้แก่ จีน เวียดนาม และกัมพูชา

เกณฑ์การแบ่งกลุ่มคือ ประเทศในกลุ่มเดียวกันจะมีประวัติศาสตร์การเป็นอาณานิคมที่คล้ายกัน หรือมีองค์การทางการเมืองที่แข็งแกร่งคล้ายๆ กัน ในแง่นี้ การศึกษาการเมืองเปรียบเทียบควรเป็นการเปรียบเทียบกันเองภายในกลุ่ม มากกว่าจะนำไปเปรียบเทียบกับประเทศนอกกลุ่ม เช่น ถ้าเราอยากเข้าใจว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร เราจะต้องดูจากอินโดนีเซียหรือเมียนมาว่า พวกเขาเปลี่ยนจากระบอบทหารไปเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร มากกว่าที่จะดูจากมาเลเซียหรือกัมพูชา ที่แม้จะเป็นเพื่อนบ้านของไทย แต่ก็มีประวัติศาสตร์ พรรคการเมือง หรือการเคลื่อนไหวของระบอบทหารที่แตกต่างกัน

 

ถ้าอยากเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย เราควรมองตัวแบบที่สำเร็จแล้วอย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นมากกว่าไม่ใช่หรือ

ถ้าคุณเปรียบเทียบแบบนั้น ปัญหาแรกที่จะเจอคือ กลไกของรัฐ (State apparatus) ซึ่งของไทยไม่ได้แข็งแกร่งอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อีกทั้งไทยก็ไม่ได้มีพรรคการเมืองที่เป็นอนุรักษนิยมหรือทันสมัยมากพอที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมจนชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นในญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ คนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมทุกคนรู้ว่า พวกเขามีโอกาสดีมากที่จะชนะการเลือกตั้ง

อันที่จริง กลุ่มอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งเสมอในญี่ปุ่น จึงไม่มีเหตุผลให้ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตยที่จะถูกบ่อนทำลายเลย อีกทั้งกองทัพญี่ปุ่นยังถอนตัวออกจากการเมืองตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย กองทัพจึงไม่มีบทบาททั้งหน้าฉากและหลังฉาก (หัวเราะ) เหมือนอย่างที่ประเทศในรัฐพัฒนาแบบกองทัพนำ

พูดอีกแบบคือ สถาบันทางการเมืองในไทยไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น องค์กรทางการเมืองต่างๆ ไม่ได้สร้างรากฐานที่แข็งแรงที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพแบบในกลุ่มรัฐพัฒนา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพในประเทศไทยได้ ลองดูกรณีอินโดนีเซียเป็นตัวอย่าง เพราะอินโดนีเซียมีประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพได้ มีพรรคการเมืองที่มีระบบการจัดการที่ดี และระบบราชการที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้เกิดทั้งการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพด้วย

 

ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ หากไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ ไทยก็จะมีรูปแบบประชาธิปไตยของตนเองที่อาจไม่ได้เหมือนกับประชาธิปไตยในประเทศอื่นเสียทีเดียว

คำถามนี้เป็นคำถามหลุมพราง (tricky) เพราะแต่ละประเทศย่อมมีรูปแบบและมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะแตกต่างจากประเทศอื่นโดยสิ้นเชิง

ไทยมีความขัดแย้งระหว่างทหารและพลเรือน หรือทหารกับนักการเมืองที่ทหารไม่ชอบ แต่นี่เป็นสิ่งที่อินโดนีเซียเคยผ่านมา และเมียนมากำลังเจอเหมือนกัน ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าคือ การศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เพื่อที่จะดูว่าวิธีไหนถึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดี และวิธีไหนจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แย่

 

 

เราพอที่จะสรุปแนวโน้มของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกได้ไหม

กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในเอเชียมีความหลากหลาย มากกว่าที่จะมีกระแสแบบใดแบบหนึ่งเด่นออกมาชัดเจน แต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่า ระบอบอำนาจนิยมต้องเจอกับความยากลำบากมากขึ้นในการทำสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยที่ไม่กระตุ้นให้คนที่ร่ำรวยขึ้นและเรียกร้องมากขึ้นออกมาท้าทายระบบ

อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดว่าพัฒนาการทางการเมืองจะเป็นไปตามที่ทฤษฎีภาวะทันสมัยอธิบาย การต่อรองและแรงกดดันต่างๆ จะมีความซับซ้อน ซึ่งก็อยู่ที่ว่าระบอบอำนาจนิยมจะจัดการปัญหานี้อย่างไร บางรัฐอาจยอมให้มีเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าตนเองสามารถควบคุมการเลือกตั้งได้ แต่บางรัฐจะไม่มีวันยอมให้เกิดการเลือกตั้งอย่างแน่นอนในเร็ววัน

 

คุณแปลกใจไหมที่ระบอบทหารปกครองไทยได้เป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน

ไม่เลย มีสองสามปัจจัยที่ทำให้พวกเขาอยู่ได้นาน เรื่องแรกคือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมืองระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้นตึงเครียดมาก จนคนเริ่มจะยอมรับกับภาวะที่ไม่มีการเรียกร้องทางการเมืองใดๆ เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทหารก็จะมีข้ออ้างที่ดีในการอยู่ในตำแหน่งนานขึ้น เพราะคนกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งเหมือนช่วงที่ผ่านมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ระบอบทหารเข้ามามีอำนาจในช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของไทย การสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้คนไทยโศกเศร้า และทำให้เกิดความไม่มั่นคงหรือไม่แน่นอนขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งข้ออ้างที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เหตุผลในการอยู่ในอำนาจของทหารจะลดลง

 

คุณประเมินกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยรอบใหม่ของไทยอย่างไร

ผมมีความหวังมากพอสมควรเลยแหละ เพราะถ้าดูจากประวัติศาสตร์ ระบอบอำนาจนิยมในไทยไม่ได้เป็นระบอบเหมือนสิงคโปร์หรือจีน อันที่จริง ไม่มีอะไรในการเมืองไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน (หัวเราะ) ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยมก็ตาม ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องยากที่ผู้นำทหารจะห้ามไม่ให้เกิดกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยเหมือนอย่างที่เกิดในทศวรรษ 1980 แต่บางสิ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นมากกว่า

เมื่อสักครู่ผมพูดถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดง ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอะไรที่ล้าสมัยไปแล้ว คนไทยจะเริ่มนึกถึงความทรงจำสมัยที่การเมืองที่มีเสถียรภาพ มีการเลือกตั้ง สื่อมีเสรีภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ และเป็นหนึ่งในประเทศประชาธิปไตยที่แข็งแรงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงทศวรรษที่ 1990 จนถึงต้นทศวรรษที่ 2000 คนไทยจะจดจำสิ่งนั้น และตระหนักว่า เมื่อมีคนบอกว่า ประชาธิปไตยคือความวุ่นวายและความไร้เสถียรภาพ นั่นไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของพวกเขา และไทยสามารถเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพในเวลาเดียวกัน ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีตได้

 

ครั้งหนึ่งไทยเคยเป็นต้นแบบของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ แต่ตอนนี้ ไทยได้กลายเป็นตัวอย่างปัญหาของระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว การถดถอยของระบอบประชาธิปไตยในไทย จะกระทบกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้หรือไม่ อย่างไร

ผมไม่มั่นใจว่า ไทยมีอิทธิพลกับประเทศอื่นในภูมิภาคมากขนาดนั้นหรือไม่ ถ้ามองในย้อนในประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยของไทยอาจจะแปลกประหลาดไปบ้าง แต่ในภาพรวมก็ยังดีกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาค

ผมเชื่อว่าสิ่งที่คนไทยจะตระหนักและเรียนรู้คือ ตราบเท่าที่การเลือกตั้งไม่ได้มอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่งมากเกินไป และตราบเท่าที่อำนาจยังคงเป็นของคนในวงกว้าง เมื่อนั้นไทยจะสามารถเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเสถียรภาพได้

 

โจทย์ใหญ่ของประชาธิปไตยไทย คือการทำให้ชนชั้นกลางกลับมาเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา แต่ตราบเท่าที่คนกลุ่มนี้ยังสนับสนุนระบอบทหาร การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยก็ยังคงลำบาก

ชนชั้นกลางในไทยไม่ได้แตกต่างจากชนชั้นกลางในประเทศอื่นๆ พวกเขาเกลียดการคอร์รัปชัน ต้องการเสถียรภาพทางการเมือง และการเมืองที่คาดการณ์ได้ นี่คือสิ่งที่ชนชั้นกลางในทุกๆ ที่ต้องการ คำถามจึงจะกลายเป็นว่า ‘คุณจะได้สิ่งเหล่านี้มาอย่างไร?’ และ ‘คุณจะได้สิ่งเหล่านี้มาด้วยการปกครองของทหารหรือด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตย?’

ประเด็นคือ ชนชั้นกลางไม่ได้หยุดนิ่ง ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไป ชนชั้นกลางก็จะมีมุมมองที่แตกต่างออกไป ในอดีต กลุ่มชนชั้นกลางเห็นการมีอำนาจของทักษิณ ซึ่งผูกโยงกับการคอร์รัปชัน พร้อมกับเห็นการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ นี่เป็นเหตุที่ทำให้พวกเขาวิตกกังวลกับประชาธิปไตย แต่ตอนนี้บางส่วนก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ทหารเองก็อาจไม่ใช่คำตอบในสิ่งที่พวกเขาอยากได้

ถ้าทำให้คนชั้นกลางเห็นได้ว่า กระบวนการทางการเมืองแบบรัฐสภา กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ช่วยลดการคอร์รัปชัน ช่วยสร้างเสถียรภาพ และรับประกันว่าไม่มีนักการเมืองแบบประชานิยมคนใดได้อำนาจมากเกินไป แนวคิดที่ว่าชนชั้นกลางสนับสนุนทหารและไม่เป็นประชาธิปไตยจะลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับในอดีต ชนชั้นกลางของไทยจะสนับสนุนประชาธิปไตยเหมือนที่เคยเป็นมาในช่วงต้นทศวรรษ 2000

 

 

ในส่วนของปริศนาที่สอง ที่ว่าด้วยการสร้างอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คุณค้นพบอะไรที่น่าสนใจ

จีนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการมีอิทธิพลเหนือประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าประเทศที่อยู่ไกลออกไป ถ้ามองในระดับโลก เราเห็นจีนมีอำนาจเหนือประเทศในแอฟริกา หรือในลาตินอเมริกา ดังนั้น คนจึงคิดว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจระดับโลก แต่จีนกลับต้องเผชิญความยากลำบากอย่างยิ่งในสวนหลังบ้านของตัวเอง

จีนยังมีความพยายามเอาไต้หวันและฮ่องกงกลับมาเป็นของตน แต่คนไต้หวันกำลังถอยห่างออกไปจากจีนทุกทีๆ ส่วนคนในฮ่องกงก็ยังต่อต้านอิทธิพลของจีนอยู่ เช่นเดียวกับกรณีของเมียนมา จีนเคยมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเมียนมามาก จนกระทั่งในปี 2011 ระบอบทหารของพม่าตัดสินใจเปิดประเทศ เปิดรับการลงทุนจากตะวันตก ญี่ปุ่น และเกาหลีมากขึ้น และเริ่มถอยห่างออกจากจีนไป

คำถามคือ ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้? ผมพบว่า การแบ่งกลุ่มประเทศแบบที่ผมใช้ สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกได้ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง และเมียนมา อยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกัน มีเศรษฐกิจการเมืองที่แตกต่างกับจีน ดังนั้น จีนจึงไม่สามารถใช้รูปแบบของตนเองกับทุกประเทศที่ว่ามาได้ ไต้หวันกับฮ่องกงอยู่ในกลุ่มรัฐพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ และพวกเขาก็อยากจะอยู่ในกลุ่มนั้นต่อไป

แต่ถ้าเราดูประเทศที่จีนมีอิทธิพลสูงมากอย่างกัมพูชา จะเห็นว่า กัมพูชามองว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเดียวกับจีน เป็นแบบพรรคเดี่ยวครอบงำ (Single dominance party) โดยพลเรือน ไม่มีพื้นที่ให้ทหารเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจ มีการคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่สูง ฯลฯ จะเห็นว่าทั้งสองประเทศมีอะไรที่คล้ายกันมาก

 

แต่ในกรณีของไทย เรากำลังเห็นปรากฏการณ์ที่จีนก็กำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนว่ารัฐไทยเองก็เปิดรับจีนมากพอสมควร นักวิเคราะห์หลายคนอธิบายว่า รัฐไทยสนใจโมเดลแบบจีน เพราะจีนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ โดยที่ยังเป็นรัฐอำนาจนิยมและไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย

เรื่องนี้ต้องมองแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรก เวลาที่บอกว่าจีนมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเพราะจีนเริ่มจากการไม่มีอิทธิพลเลย ในช่วงทศวรรษ 1970 จีนแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้เลย นอกจากการสนับสนุนฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวในบางประเทศ ก่อนหน้านี้ ตัวแบบที่ไทยสนใจคือ ตัวแบบของรัฐพัฒนาที่มุ่งส่งเสริมการส่งออกโดยมีรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ทำได้ ถ้าคุณจะพูดถึงอิทธิพล กระทั่งทุกวันนี้รัฐพัฒนายังคงมีอิทธิพลต่อรัฐไทยมากกว่าจีนด้วยซ้ำ

ประเด็นที่สอง ไทยสนใจรูปแบบรัฐของจีนจริงหรือ? ผมคิดว่าไม่ใช่ รัฐไทยไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ตลอดประวัติศาสตร์การพัฒนา รัฐไทยค่อนข้างปล่อยให้ภาคเอกชนมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ กระทั่งเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศคล้ายกัน รัฐไทยก็จำกัดบทบาทของตัวเองมาก ดังนั้น ผมไม่คิดว่ารัฐไทยจะสามารถเข้าไปมีบทบาทได้อย่างเข้มข้นเหมือนที่จีนเป็น

 

แต่เราจะปฏิเสธความสำเร็จของจีนในช่วงตลอด 40 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร

เอาเข้าจริง จีนไม่ได้เป็นต้นแบบที่ชัดเจนสักเท่าไหร่ การพัฒนาของจีนเป็นเหมือนการทดลองด้วยวิธีที่แตกต่างกันในภูมิภาคที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณจึงไม่อาจพูดได้ว่า จีนทำสิ่งนี้ ไทยจึงควรจะทำสิ่งนี้ด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ จีนมีสิ่งหนึ่งซึ่งไทยไม่มีอย่างแน่นอน คือพรรคการเมืองที่ทำงานโดยเน้นลำดับศักดิ์ (Hierarchy) ประชาชนก็ทำตามคำสั่งและมีความจงรักภักดี และยังยอมที่จะอดทนเมื่อพรรคตัดสินใจอะไรที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

ประเด็นที่ผมอยากเน้นย้ำคือ การพัฒนาไม่ใช่ผลผลิตของอำนาจนิยมในตัวมันเอง แต่เกิดมาจากสถาบันที่แข็งแรง กฎหมายที่แข็งแกร่ง รัฐบาลและพรรคการเมืองที่มีประสิทธิภาพที่จะสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาได้ มีบางกรณีที่ระบอบอำนาจนิยมจะสามารถสร้างสถาบันที่แข็งแรงได้ แต่ก็จะยังหนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ คือถ้าสถาบันเหล่านี้ทำงานได้ไม่ดีพอ และผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยขึ้นกับความสัมพันธ์ส่วนตัว ก็จะเกิดปัญหาการคอร์รัปชัน คุณจะต้องเสียทรัพยากรจำนวนมากไปกับการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนกลุ่มหนึ่งจะรวยขึ้นมากๆ แต่ประเทศโดยรวมจะไม่ได้รุ่งเรือง ซึ่งผมคิดว่า จีนเองกำลังเผชิญอยู่

ถ้าถามผม ประเทศไทยมีทางเลือกที่ง่ายกว่า นั่นคือการส่งเสริมผู้ผลิตภาคเอกชน ป้องกันไม่ให้กลุ่มทุนเข้าไปผนวกรวมกับรัฐ การเพิ่มความโปร่งใสให้มากขึ้น ให้เสรีภาพสื่อ และจัดการศึกษาแบบที่ดีกว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยสถาบันและองค์กรทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพและแข็งแรง แต่ไทยไม่เคยสร้างสิ่งเหล่านี้เลย

 

วิกฤตประชาธิปไตยและกระแสการเมืองแบบอเสรีนิยม (illiberalism) ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกตะวันตก ส่งผลหรือไม่อย่างไรกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในเอเชีย

ภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดคือการติดโรคของความไม่เป็นเสรีนิยม ซึ่งก็คือการที่ผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้งอาจใช้อำนาจในทางมิชอบ และผู้สนับสนุนก็ไม่ได้สนใจว่าผู้นำกำลังใช้อำนาจในทางมิชอบ

เราเห็นกรณีแบบนี้ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ต่อให้มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหรือเสียงข้างมากเป็นผู้ปกครอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเสียงข้างน้อยหรือชนกลุ่มน้อยจะได้รับการปกป้อง คุณอาจเห็นปรากฏการณ์เดียวกันนี้ในสหรัฐฯ ฮังการี หรือตุรกี ที่คนจะบอกว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชนกลุ่มเฉพาะ นับถือศาสนานี้ ชาติพันธุ์นี้ ไม่ใช่ศาสนาหรือชาติพันธุ์นั้น” ซึ่งนี่เป็นความตึงเครียดของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะชี้ว่า ประชาธิปไตยอเสรีนิยมนั้นแตกต่างจากระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง (Electoral authoritarianism) ซึ่งแบบหลังนี้จะเป็นระบบที่มีกลุ่มคณาธิปไตยที่ถือครองอำนาจ ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และเสรีเกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นการท้าทายพวกเขาโดยตรง แต่พวกเขาก็หลีกเลี่ยงที่จะยอมให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ รูปแบบนี้เห็นได้ในพรรคการเมืองของสิงคโปร์ หรืออาจจะเกิดขึ้นในไทยด้วย

 

ภูมิภาคเอเชียเรียนรู้อะไรจากวิกฤตประชาธิปไตยในตะวันตกได้บ้าง

บทเรียนสำคัญคือความคิดที่ว่า ‘ประชาธิปไตยเป็นปรากฏการณ์ของตะวันตก’ อาจไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไหร่นัก เพราะประเทศในเอเชียมีประชาธิปไตยและสร้างประชาธิปไตยของตนเอง และคุณสามารถเห็นตัวอย่างประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคนี้เต็มไปหมด

ในอดีต ประเทศตะวันตกอาจรู้สึกราวกับว่าพวกเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประชาธิปไตย และมองเหตุการณ์ในเอเชียเป็นบทเรียน ซึ่งความทรนงตัวแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเลยแม้แต่น้อย ผมหวังว่า คนที่อาศัยอยู่ในประเทศเอเชียที่เป็นประชาธิปไตย จะเห็นแรงบันดาลใจมากมายที่เกิดขึ้นในเอเชียจากกรณีที่ประสบความสำเร็จได้

ในห้วงเวลาที่ประชาธิปไตยในตะวันตกเปราะบางมากๆ และมีภัยคุกคามเต็มไปหมด สิ่งที่เราต้องตระหนักคือประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของตะวันตกหรือตะวันออก แต่เป็นหนทางในการแก้ปัญหา เป็นหนทางการในการจัดการการเมือง เพื่อรับประกันว่าคนทั่วไปจะได้รับสิทธิที่เสมอภาคกัน และรัฐบาลจะไม่ปฏิบัติแย่ๆ กับพวกเขา

 

ประชาธิปไตยเสรีนิยมมีปัญหาอะไรบ้าง และเราควรจะปฏิรูปมันอย่างไร

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และต้องคุยกันยาว แต่ผมอยากทิ้งประเด็นสั้นๆ ในเรื่องนี้

กับดักสำคัญยามคิดเรื่องประชาธิปไตยคือ ประชาธิปไตยไม่ได้มีแบบเดียว เราอาจพูดประชาธิปไตยเสรีนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิของปัจเจกบุคคล นั่นก็เป็นโมเดลหนึ่ง แต่ก็มีประชาธิปไตยแบบอื่น เช่น สังคมนิยมประชาธิปไตย (social democracy) ซึ่งให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบร่วมกัน (collective responsibility)

ถ้าอยากปฏิรูปประชาธิปไตย เราต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามตั้งแต่แรกเลยว่า ประชาธิปไตยแบบไหนที่เราอยากได้

 

 


*หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561

 

 

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save