fbpx
สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (ตอนจบ) : ทลายชาวเล - ทะเลทวาย

สารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (ตอนจบ) : ทลายชาวเล – ทะเลทวาย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

1

 

หลังจากอองซาน ซูจี พูดกับชาวเมียนมาร์ที่ตลาดปลามหาชัย เมื่อปี 2559 ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ ว่าจะพยายามช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานเมียนมาร์ดีขึ้น และชวนพวกเขา ‘กลับบ้าน’ ไปทำงานในวันที่เศรษฐกิจของเมียนมาร์ฟื้นฟู เมื่อนั้นหัวใจของแรงงานชาวเมียนมาร์ก็ฟูฟ่อง มีความหวังว่าจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวพร้อมๆ กับหาเลี้ยงชีพได้ แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็รู้ว่าอาจยังต้องรอเวลาอีกพักใหญ่

ในช่วง 10 ปีหลัง เลข GDP ของพม่าไต่ระดับดีขึ้นเรื่อยๆ มีความพยายามจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 3 แห่ง คือ ติวาลา เจ้าผิวก์ และทวาย แต่ในความเป็นจริง ‘งาน’ ในพม่าก็ยังไม่ได้มีพอรองรับผู้คนจำนวนมาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ยิ่งโดยเฉพาะกับทวายที่แม้จะมีการเซ็นสัญญาเริ่มต้นโครงการมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ตอนนี้มีเพียงพื้นที่โล่งเปล่า มีตลาดและแคมป์คนงาน ‘อิตาเลียนไทย’ ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ห่างจากชายหาดไม่ไกล

ในตอนแรก แผนที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมีขนาดกว้างใหญ่กว่า 250 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1.5 แสนไร่ แต่หลังจากอิตาเลียนไทยเข้ามาดำเนินโครงการได้ 3 ปี (2553-2556) โครงการทวายก็ถูกปรับให้มีขนาดลดลงไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีขนาดอยู่ที่ 196.5 ตารางกิโลเมตร

 

แผนที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตรงเนินเขาเล็กๆ กลางทุ่งกว้าง

 

เหตุผลสำคัญที่ทำให้โครงการทวายยังยักแย่ยักยัน เดินต่อไม่ได้ หลักๆ ก็มาจากความขัดแย้งในพื้นที่ เมื่อรัฐบาลเมียนมาร์และบริษัทอิตาเลียนไทยตกลงกับชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ว่าจะมีรูปแบบการทำงานแบบไหน ทั้งยังเข้าไปรุกรานพื้นที่ทำกินของชาวบ้านจำนวนมาก ยังไม่นับว่า พอไม่มีเสถียรภาพในการดำเนินงานแบบนี้ นักลงทุนจึงยังไม่กล้าเข้าร่วมขบวนด้วย พื้นที่ร้างว่างเปล่าตรงนี้จึงยังไม่เกิดประโยชน์โพดผลใดๆ ทั้งสิ้น

มีการคาดการณ์ว่า มีประชากรกว่า 43,000 คน ใน 36 หมู่บ้าน ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ หลายหมู่บ้านในบริเวณนาบูเล่ ซึ่งเป็นส่วนหลักของพื้นที่โครงการ ต้องย้ายบ้านจากชายหาดออกไปอยู่ที่อื่น ดูเหมือนว่าหากสิ่งไหนไม่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ สิ่งนั้นก็ต้องถูกหยิบออกจากแผนที่ แม้ว่าจะเป็นวิถีชาวเลที่ดำรงมานานกว่าร้อยปีก็ตาม

 

2

 

 

พวกเรายืนอยู่บนพื้นกรวดทรายสีขาวขุ่น ลมจากทะเลอันดามันพัดเข้าหน้าเป็นระยะ แต่แปลก พื้นที่แห่งนี้แทบไม่มีจิตวิญญาณของทะเลหลงเหลืออยู่เลย แม้ภูเขาจะโอบล้อมให้เห็นลิบๆ ผืนทรายอยู่ใต้เท้า แต่พื้นที่แห้งแล้งกินบริเวณกว้างที่กำลังจะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมนั้น กำจัดความงามของทะเลไปสิ้น

“ที่ตรงนี้เคยเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์มาก พอมีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาก็มากวาดเอาไปหมดเลย” พี่นักข่าวที่ลงพื้นที่ทวายมานานเล่าให้ฟัง ฉันมองไปรอบๆ จินตนาการคำว่าอุดมสมบูรณ์ไม่ออกเลยสักนิด ยังดีที่น้ำทะเลยังพอเป็นสีน้ำเงินให้ชื่นใจ

ในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีต้นไม้ขนาดสูงเท่าเข่าอยู่ประปรายตามรายทาง ที่เหลือคือดินโล้น มองไปไร้ชีวิตชีวา ตรงกันข้ามกับระหว่างทางข้างนอกที่อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่ม หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ตั้งอยู่อย่างเหงาๆ ริมหาด มองกลับไปเห็น Road Link ที่ทอดยาวมาจากด่านพุน้ำร้อน เส้นทางอันยาวไกลกว่า 138 กิโลเมตรสิ้นสุดตรงนี้

แต่เดิมพื้นที่แถวชายหาด มีหมู่บ้านชาวเลที่อาศัยการออกเรือหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ณ ตอนนี้พวกเขาต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น บางครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่กับญาติ บางครอบครัวก็ยกกันไปอยู่หมู่บ้านที่ทางอิตาเลียนไทยจัดสรรไว้ให้สำหรับผู้ที่โดนผลกระทบจากโครงการ

รถตู้ขับออกจากกิโลเมตรที่ศูนย์ไปไม่ไกล เลาะผ่านหมู่บ้านที่ส่วนมากสร้างด้วยไม้ จนเข้ามาสู่หมู่บ้านที่สร้างด้วยปูน แต่ละหลังเรียงติดกันเหมือนบ้านจัดสรร ที่นี่มีชื่อเรียกว่า Relocation site 1 Bawah ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบาวาห์

 

บ้านจัดสรรที่สร้างไว้รองรับชาวบ้านที่ต้องย้ายที่อยู่ ตั้งอยู่ใน Relocation site 1 Bawah เงียบเหงาไร้คนดูแล

 

บ้านปูนจัดสรรเหล่านี้เหมือนบ้านพักข้าราชการที่ไม่มีคนอยู่มานานมากแล้ว แต่ละหลังมีหญ้าขึ้นสูงล้อมบ้าน ใต้ถุนเต็มไปด้วยใบไม้เกลื่อนกลาด บันไดแทบมองไม่เห็นสีที่แท้จริง เพราะหนาเข้มไปด้วยฝุ่น ต้นไม้รอบๆ ก็กลายเป็นสีเขียวผสมสีน้ำตาลจากฝุ่นดิน แทบไม่ต้องเดาว่ามีคนมารดน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

รถตู้พาขับมาจนถึงท้ายๆ หมู่บ้าน จนเจอบ้านปูนหลังหนึ่ง ที่นี่ต้นไม้เป็นสีเขียว หญ้าถูกตัดอย่างดี และมีทางเดินเข้าบ้านเป็นระเบียบ — ชีวิตชีวาของบ้านเป็นแบบนี้

ตอนแรกฉันเข้าใจว่า พวกเรากำลังเข้าไปหาผู้ใหญ่บ้าน แต่เปล่า ที่นี่เป็นบ้านของครอบครัวสุดท้ายที่ยังอยู่ในบ้านจัดสรรแห่งนี้ ก่อนหน้านี้มี 4 ครอบครัวชาวเลที่ย้ายจากหมู่บ้านชาคานมาพร้อมกัน ก่อนจะค่อยๆ ย้ายออกไปหมด จนเหลือแค่ครอบครัวของคุณป้ามะ เล ที่อาศัยอยู่กับคุณลุงเพียงสองคน

 

บ้านของครอบครัวสุดท้ายที่ยังอาศัยอยู่ใน Relocation site 1 Bawah

 

ตอนที่เราไปถึง คุณลุงนั่งชันเข่าอยู่ใต้ถุนบ้านอย่างไม่สบอารมณ์ รู้จากป้ามะ เล ว่าลุงป่วย วันนั้นจึงมีลูกสาว กับหลานวัยเตาะแตะมานั่งดูแลอยู่ด้วย

บ้านปูนสองชั้น เปิดใต้ถุนโล่ง มีตัวหนังสือ S อยู่ตรงเสาเพื่อบอกขนาดของบ้าน จากที่ในหมู่บ้านมีขนาด S M L ต่างกันไป คุณป้ามะ เล บอกว่า น้ำไม่ไหลและไฟไม่ติดมาหลายเดือนแล้ว นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวอื่นๆ ย้ายออกไป

เมื่อถามว่า ถ้าไฟไม่ติดแล้วอยู่กันอย่างไร ป้าตอบด้วยท่าทีสบายๆ เหมือนเป็นเรื่องปรกติอย่างที่สุดว่า “ก็จุดตะเกียง”

ในสายตาคนเมือง แค่ไฟดับ 2 นาทีก็นับเป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่ป้ามะ เล ทลายทุกกฎด้วยการบอกว่าชีวิตเป็นอยู่สบายดี น้ำไม่ไหลก็เดินไปตักที่บ่อ หาปลาไม่ได้ก็เปลี่ยนมาปลูกผักแล้วเดินไปขายที่ตลาด — ก็อยู่ได้

 

ป้ามะ เล

 

ฉันไม่แน่ใจว่าเพราะเอาความคิดแบบคนเมืองไปจับรึเปล่า จึงรู้สึกว่า ดูยังไงป้ามะ เล ก็ไม่น่ามีความสุขไปได้ ก็ในเมื่อปัจจัยพื้นฐานยังกะพร่องกะแพร่งขนาดนี้ ยังไม่นับว่า เมื่อคุณลุงป่วยก็ต้องใช้เงินตอนเข้าโรงพยาบาล อาชีพปลูกผักจึงไม่น่าจะเพียงพอกับการอยู่รอดของชีวิต

“จะมองว่าเราเอาสายตาคนเมืองไปจับก็ได้นะ แต่จะมองว่าเป็นความจำยอมก็ได้ เพราะไม่รู้จะดีกว่านี้ได้ยังไง เขาก็เลยมองว่าที่เป็นอยู่นั้นดีแล้ว” พี่ชายจากเสมสิกขาลัยที่เคยมาหาคุณป้าหลายครั้ง แลกเปลี่ยนกับฉัน

“ถ้ามันดี คนอื่นคงไม่ย้ายออกหมดหรอกมั้งพี่” น้องนักข่าวที่ไปด้วยกันพูดจามีเหตุผล

แม้ข้อถกเถียงจะยังไม่จบสิ้น แต่ถึงอย่างนั้น ที่บ้านหลังนี้ก็มีรูปของนายพลอองซาน และ อองซาน ซูจี ติดอยู่บนผนัง คล้ายคอยจุดประกายความหวังไว้เสมอ ว่ากันว่า แม้ในหมู่บ้านที่ห่างไกลที่สุดของเมียนมาร์ ก็จะมีรูปของนายพลอองซาน และอองซาน ซูจีอยู่ สิ่งนี้อาจเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเมียนมาร์ หลายคนเชื่อว่ารัฐบาลเมียนมาร์จะพัฒนาประเทศ และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นได้

 

 

ครัวของป้ามะ เล

 

กลับมามองที่ตัวเลข เมียนมาร์อยู่อันดับท้ายๆ ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง (Lower-middle-income group) จากการจัดอันดับในปี 2017 ของ World Bank โดยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 1,210 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,300 บาท (ไทยมี 5,950 เหรียญสหรัฐฯ / สวิสเซอร์แลนด์ อันดับหนึ่ง มี 81,130 เหรียญสหรัฐ) เห็นได้ชัดว่าหลังจากเปิดประเทศ เมียนมาร์มีความพยายามอย่างมากที่จะขยายธุรกิจ เปิดพื้นที่ที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องให้รัฐบาลและนายทุนต่างชาติเข้ามาพัฒนา เพื่อขยับตัวเองขึ้นไปในกลุ่มประเทศที่ดีขึ้น และขจัดความยากจนออกไปจากประเทศ

ในหลายประเทศที่กฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเข้มงวดมากขึ้น จึงเลือกที่จะมาขยายพรมแดนใหม่ๆ ในประเทศที่ยังไม่มีข้อบังคับมากนักอย่างเมียนมาร์ และที่สำคัญคือพื้นที่มหาศาล ทรัพยากรธรรมชาติเหลือใช้ และประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาโหมเข้ามาในเมียนมาร์ ทั้งจากไทย จีน และญี่ปุ่น ฯลฯ

โครงการทวายถูกหมายมั่นปั้นมือ ให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 10 เท่า มีท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับสินค้าคอนเทนเนอร์ปีละ 20 ล้านตัน มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ส่งมาจำหน่ายในไทย 3,600 เมกะวัตต์ ที่เหลือเก็บใช้ในเมียนมาร์

ชีวิตของป้ามะ เล อาจจะดีขึ้นจากโครงการ? ไม่มีใครรู้ ไฟอาจจะไม่ต้องดับแบบนี้ ลูกหลานอาจจะได้งานทำในโรงงานอุตสาหกรรม เงินอาจจะสะพัดในทวายมหาศาล แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ชีวิตของป้ามะ เล ยังไม่ได้เข้าใกล้คำว่าคุณภาพชีวิตที่ดี และในอนาคตก็ไม่แน่ว่า เม็ดเงินจำนวนมากที่จะไหลมาสู่ทวายนั้น ไหลเข้าสู่กระเป๋าใครกันแน่

ป้ามะ เล ยังนั่งเล่นกับหลาน และพูดคุยกับลูกสาวที่ย้ายออกไปมีครอบครัวที่อื่น หากไม่ใช่วันนี้ ป้ากับลุงจะอยู่ด้วยกันเพียงลำพัง ปลูกผัก นั่งก่อฟืน ผ่านคืนวันไปอย่างสมถะ มีวันนี้ที่ลูกหลานมาหา แววตาจึงมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง

พอตกเย็น ชาวบ้านหลายคนที่อยู่ถัดไปหน่อย ก็เดินมารดน้ำที่แปลงผัก ตักน้ำจากบ่อ ยกถังเทินหัว แล้วเดินรดอย่างคล่องแคล่ว ส่วนมากคนที่นี่จะหากินด้วยการปลูกผัก แล้วเดินไปขายที่ตลาด

ที่กลางหมู่บ้าน มีบ้านไม้หลังใหญ่หลังเดียวที่ยังเหลืออยู่ท่ามกลางบ้านปูน อายุกว่า 100 ปี มีลานดินกว้างขวาง เด็กหนุ่ม 4-5 คนจับกลุ่มกันเล่นตะกร้อ มีเชือกเส้นบางขึงแทนตาข่าย  ที่ใต้ถุนบ้าน มีกลุ่มผู้หญิงนั่งคั้นกะทิ แกะเปลือกหอย เตรียมเป็นอาหารเย็นและเตรียมขายพรุ่งนี้

วิถีชีวิตยังดำเนินไป เด็กหนุ่มเด็กสาวยังวิ่งเล่นและเติบโต ผู้เฒ่าผู้แก่ยังเจ็บป่วยและโรยรา ในชั่วชีวิตคน ยังไม่มีคำตอบว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้แค่ไหน

 

 

3

 

ที่ทวาย พระอาทิตย์ขึ้นตั้งแต่ตี 5 พวกเราออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้ามืด เพื่อมาช็อปปิ้งที่ตลาดปลาตะบอเส็ก ตลาดปลาขนาดใหญ่ที่รับปลาสดๆ ลงจากเรือที่ล่องมาทั้งคืน มานั่งขายกันบนพื้นทรายอย่างคึกคัก

หากร้านอาหารริมทะเลบอกเราว่า ปลาของเขาสดใหม่แค่ไหน เชื่อเถอะว่าไม่มีทางสดใหม่กว่าปลาจากตะบอเส็ก

ปลาบางตัวยังสะบัดครีบบนพื้นทราย ไม่รู้ว่าตัวว่าขึ้นมาอยู่บนบกแล้ว และด้วยลมหายใจที่สดใหม่แบบนี้ ทำเอาฉันหายใจไม่ทั่วท้อง แต่สำหรับคนที่สนใจเรื่องปลา หรืออยากจะแข่งแฟนพันธุ์แท้ปลาน้ำเค็ม ที่นี่มีทุกอย่างให้ตื่นตาตื่นใจ มองไปทางซ้ายก็ปลากระเบน มองไปทางขวาก็ปลากระทงร่ม และปลาอีกจำนวนมากที่ฉันไม่รู้จักชื่อ

 

 

ท่ามกลางเสียงดังจอแจของผู้คน มีจุดหนึ่งที่เสียงดังกว่าที่อื่น ฉันเดินเข้าไปมุงกับเขาด้วย นึกว่ามีการเซลล์ลดล้างสต็อก ที่ไหนได้ สิ่งที่วางบนพื้นคือปลาทูกองพะเนินเทินทึก ทุกคนต่างคัดสรร หยิบจับ แล้วจ่ายเงิน การค้าขายเป็นไปอย่างคล่องตัวและเป็นธรรมชาติอย่างยิ่ง พี่ล่ามบอกฉันว่า ในทุกวันจะมีปลาที่เป็นพระเอกของวัน ชนิดไหนเป็นที่ต้องการมาก หรือจับได้มาก ก็จะเป็นที่สนใจของผู้คน สลับสับเปลี่ยนกันไปทุกสัปดาห์

แม่ค้าปลาปักเป้านั่งขายอยู่บนพื้น ส่วนสามีที่เป็นคนไปจับมาก็ยืนมองอยู่ใกล้ๆ ฉันแอบเห็นแม่ค้านับเงินอย่างเอาจริงเอาจัง นั่งจดๆ ลงกระดาษที่เปียกและเปื้อนทราย บางกลุ่มก็ทะเลาะถกเถียงอะไรกันอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ดีกันในเวลาอันสั้น แม่ลูกบางคู่ก็ช่วยกันเทปลาใส่กะละมัง ยกขึ้นเทินหัว เดินชิลล์ๆ เพื่อไปขายต่อที่ตลาดขนาดเล็กในเมือง

 

 

ฉันเดินเลาะไปดูตลาดที่ลึกขึ้นไปทางบก มีผักสด ขนม บุหรี่ ของเล่น วางขายละลานตา กลุ่มแม่ค้า 4-5 คนหอบปลาและผักขึ้นรถสองแถว เห็นฉันมองตาม เลยตะโกนมาเป็นภาษาไทยว่า “ไปด้วยกันม้ายย” ฉันยิ้มรับ และอยากจะกระโดดขึ้นรถไปจริงๆ ถ้าไม่ติดว่ารถคันนั้นกระชากตัวออกไปอย่างรวดเร็ว เลยได้แต่โบกมือบ๊ายบาย

ความคึกคักที่ว่ามาทั้งหมด ดำเนินมาอย่างยาวนาน โดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทะเล ความช่ำชองในการหาปลาของชาวเล และทักษะการค้าขายของแม่ค้าพ่อค้า สายพานจากธรรมชาติมาสู่เส้นทางการค้าที่ดำเนินเป็นระบบ ยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตของชาวบ้านจนกลมมน

หากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก หนึ่งในโครงการสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตลาดปลาตะบอเส็กจะได้รับผลกระทบทางตรงทันที ระบบนิเวศของน้ำทะเลจะแปรเปลี่ยน แพลงก์ตอนที่เคยเป็นอาหารของปลาอาจหายไป อุณหภูมิของน้ำทะเลอาจขึ้นๆ ลงๆ จนปลาอยู่ไม่ได้ ฯลฯ และชีวิตของปลา อาจหมายถึงชีวิตของมนุษย์ด้วย

 

 

 

เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านกาโลนท่า แม้ไม่ได้อยู่ติดทะเล แต่บนแถบเนินเขาสูงมีแม่น้ำตะไลง์ยาหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน และเทือกเขาล้อมหมู่บ้าน ก็ถูกหมายมั่นว่าจะกลายเป็นพื้นที่สร้างเขื่อน เพื่อผลิตน้ำป้อนเข้าไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

โชคดีที่ชาวบ้านรวมตัวกันได้เข้มแข็ง โดยมีหลวงพ่อปัญญาวันทะ เป็นผู้นำชุมชน  ทันทีที่อิตาเลียนไทยเข้ามาพูดคุยว่าอยากจะสร้างเขื่อน และบอกชาวบ้านว่ามีที่อยู่อาศัยที่ดีกว่านี้ให้ย้ายไป ชาวบ้านหลายคนก็ใจเอนเอียง แต่เมื่อหลวงพ่อเข้ามาบอกว่า ทั้งสวนหมาก ป่าชุมชน กับธรรมชาติที่อยู่รอบตัวนั้นมีคุณค่ากับพวกเขาแค่ไหน ชาวบ้านกาโลนท่าก็หันมาร่วมมือกัน ทุกวันนี้ที่นี่มีโครงการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community – Based Tourism : CBT) เพื่อให้ชุมชนดูแลบ้านของตัวเองได้ โดยการสร้างคุณค่าของตัวเองขึ้นมา

ทุกวันนี้ที่วัดกาโลนท่ายังเป็นศูนย์รวมจิตใจเวลามีกิจกรรมของชาวบ้าน ที่เมียนมาร์ พระมีบทบาทสำคัญในการนำผู้คน ทั้งทัศนคติและวิธีปฏิบัติต่างๆ จนมีคำพูดที่ว่า หากอยากจะเปลี่ยนความคิดชาวบ้าน ต้องเปลี่ยนความคิดหลวงพ่อให้ได้ก่อน

 

หลวงพ่อปัญญาวันทะ เจ้าอาวาสวัดกาโลนท่า

 

แม่น้ำตะไลง์ยา

 

วันที่เราไป ชาวบ้านเข้ามาช่วยทำกับข้าวที่วัด พอกินเสร็จแล้วจึงช่วยกันล้างจาน ฉันเข้าไปนั่งคุยด้วยสักพัก

“อยากล้างมั้ย” พี่เซดา ชาวบ้านกาโลนท่า พูดหยอกล้อกับฉันด้วยภาษาไทย “ล้อเล่นๆ” พี่เซดารีบโบกมือห้าม เมื่อฉันจะเข้าไปช่วยจริงๆ

เมื่อ 16 ปีที่แล้ว พี่เซดาเคยไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ไทย อยู่ยาวถึง 10 ปี ทำให้ภาษาไทยแข็งแรงพอจะล้อเล่นล้อจริงได้ ตอนนี้ย้ายมาอยู่ที่กาโลนท่าได้ 6 ปีแล้ว ลูกคนโตของพี่เซดาเกิดที่ไทย แล้วค่อยหอบหิ้วกลับมาอยู่ทวายตั้งแต่ตัวยังเล็ก ตอนนี้พี่เซดาเลี้ยงลูกอยู่บ้าน วันไหนมีงานก็จะมาช่วยงานที่วัด ส่วนสามีออกไปรับจ้างทำสวนหมาก ได้วันละ 6,000-9,000 จ๊าต (ประมาณ 120-190 บาท)

“ที่บ้านก็มีสวนหมากของตัวเองนะ ที่ประมาณ 10 ไร่ ถือว่าน้อยสำหรับที่นี่”

ฉันนั่งนับนิ้ว ถ้า 10 ไร่ถือว่าน้อย คอนโด 32 ตารางเมตรใจกลางกรุง คงไม่อาจนับเป็นที่อยู่อาศัย

พี่เซดามีความสุขกับชีวิตที่นี่ หวังจะเห็นลูกเรียนจบปริญญา สวนหมากของตัวเองก็ทำไป และไม่คิดจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

 

พี่เซดา ชาวบ้านกาโลนท่า

4

 

ณ วันนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ยังเกิดขึ้นไม่สำเร็จ และถ้าวันนึงจะมีการนิยามความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงๆ คำถามก็คือ ความสำเร็จนี้นิยามโดยใคร เสียงของผู้ที่เสียผลประโยชน์นั้นถูกนับด้วยไหม

เวลามีคำอธิบายถึงความสำคัญในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ มักมีคำกล่าวอ้างถึง ‘การสร้างงาน’ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงสิทธิด้านแรงงาน และสวัสดิการที่เป็นธรรม และเวลาคิดต้นทุนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มักไม่คำนวณถึงต้นทุนการสูญเสียทรัพยากรที่แท้จริง

เรามีท่าเรือน้ำลึกก็จริง แต่เราก็อาจสูญเสียปลาทะเลไปหลายชนิด เราได้เขื่อนมาก็จริง แต่ชาวบ้านก็อาจสูญเสียสวนหมากและแม่น้ำใสสะอาดไปตลอดกาล เราอาจได้งานเพิ่มขึ้นก็จริง แต่เงินที่เพิ่มขึ้นอาจจะอยู่ในกระเป๋าของนายทุน

และหากใครสักคนจะกลับบ้าน เขาก็คงอยากกลับบ้านของตัวเองจริงๆ

 

 


 

อ่านสารคดีในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตอนที่ 1 : เส้นทางสู่กิโลเมตรที่ศูนย์ (เปล่า) ?

อ่านน้ำเสียงของ ‘หนุ่มสาวเมืองทวาย’ เพิ่มเติมได้ที่บทความ ‘หนุ่มสาว Gen ทวาย : ในม่านหมอกของเขตเศรษฐกิจพิเศษ’

 

 

[box]

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

[/box]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save