fbpx
“อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” อ่านจุดยืนของจีนในการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐฯ จากหนังสือปกขาว

“อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” อ่านจุดยืนของจีนในการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐฯ จากหนังสือปกขาว

แซนด์ ธรรมมงกุฎ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนดำเนินมาสักพัก ผ่านการเจรจาหลายหน ดูเหมือนว่าความอดทนจีนเริ่มจะน้อยลง ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2019 หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนได้ใช้ประโยค “อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” (ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นภาษาจีน แต่ CNBC สื่อยักษ์ใหญ่แปลว่า Don’t say we didn’t warn you.)

ในประวัติศาสตร์การทูต หนังสือพิมพ์ People’s Daily เคยใช้ประโยค “อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” เพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น โดยครั้งแรกปรากฏในปี 1962 ในช่วงความขัดแย้งพรมแดนระหว่างจีนกับอินเดีย หลังเหตุการณ์ที่ทหารอินเดียบุกเข้ามาในพรมแดนจีน ครั้งที่สองในปี 1978 หลังสหรัฐถอนทหารจากเวียดนามและเริ่มมีความขัดแย้งกับจีน โดยเวียดนามได้รับการสนับสนุนจากโซเวียตและใช้ทหารบุกเข้ามาในพรมแดนจีน (นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้ประโยคนี้อีกหนึ่งครั้งโดยสำนักข่าว Xinhua.ในปี 1968 ช่วงความสัมพันธ์จีน-โซเวียตตกต่ำ และจีนจับสายลับของโซเวียตที่กำลังพยายามขโมยข้อมูลในจีนได้)

หากประโยค “อย่าหาว่าเราไม่เตือนคุณ” สะท้อนห้วงอารมณ์ทางการทูตและนโยบายการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลจีนในขณะนี้ หนังสือ ‘หนังสือปกขาวว่าด้วยจุดยืนของจีนในการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ’ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2019 ก็เสมือนเป็นรูปธรรมเชิงนโยบายของห้วงอารมณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

สาระสำคัญของหนังสือปกขาวฉบับดังกล่าว สะท้อนจุดยืนในการเจรจาการค้าของจีนที่มีต่อสหรัฐ ดังนี้

 

1. จีนไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐกล่าวว่า ความสัมพันธ์การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่สหรัฐเสียเปรียบ

ใน 40 ปีที่ผ่านมา การลงทุนระหว่างกันของจีนกับสหรัฐ เริ่มต้นตั้งแต่ 0 มาจนมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลดีที่มาจากการร่วมมือ ถ้าพิจารณาภาพรวมของการค้าทวิภาคีด้านสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนระหว่างกัน การค้าไปมาระหว่างกันของจีนกับสหรัฐเป็นความสัมพันธ์ที่เมตตากรุณาต่อกัน ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ ‘เสียเปรียบ’ ดังที่สหรัฐกล่าว โดยจีนมองว่าการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐเป็นการทำร้ายผู้อื่นที่ไม่ได้ส่งผลดีกับตัวเอง และสงครามการค้าครั้งนี้จะไม่ได้ทำให้ ​America Great Again แต่วิถีในการเป็นมหาอำนาจทางการค้าของสหรัฐจะนำมาซึ่งหายนะของทั้งโลก

 

2. ในการเจรจาหาทางออกของสงครามทางการค้าของทั้งสองฝ่าย สหรัฐ ‘กลับกลอก’ ถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรก : ตั้งแต่ต้นจีนยืนหยัดว่าควรใช้การเจรจาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เมื่อสหรัฐเสนอให้จีนส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเจรจาปัญหาที่สหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเสียดุลการค้าของสหรัฐ จีนเห็นด้วย สนับสนุนและพยายามอย่างมากจนสามารถตกลงเบื้องต้นกันได้ รวมถึงเรื่องการเพิ่มการนำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรและพลังงานจากสหรัฐ แต่พอถึงปลายเดือนมีนาคม 2018 สหรัฐกลับมีรายงานการตรวจสอบตามมาตรา 301 ของ พ.ร.บ.การค้า 1974 ของสหรัฐ (Section 301 Investigation) ออกมา โดยกล่าวหาจีนในหลายกรณีรวมถึงเรื่องการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Theft) และการบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี (Transfer of Technology) นอกจากนี้ยังประกาศว่าจะเริ่มเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าของจีนที่มีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ครั้งที่สอง : 19 พฤษภาคม 2018 ทั้งสองฝ่ายออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะไม่ทำสงครามทางการค้า และจะให้มีการพูดคุยกันในระดับสูงเพื่อเร่งแก้ไขประเด็นที่แต่ละฝ่ายเห็นว่าเป็นปัญหาต่อไป หลังจากนั้นสหรัฐก็ประกาศระงับแผนการขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจีนชั่วคราว ทว่าเพียงสิบวันหลังจากนั้น สหรัฐกลับเริ่มโจมตีจีนเรื่องระบอบเศรษฐกิจ วิจารณ์นโยบายการค้าของจีนอย่างไร้เหตุผล และประกาศจะผลักดันแผนการขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนอีกครั้ง โดยไม่สนใจเสียงจากแวดวงธุรกิจและประชาชนในประเทศ

ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นมา สหรัฐทำการขึ้นภาษีกับสินค้าจีนถึงสามครั้ง เริ่มจากการเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 10% ต่อสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 จะปรับเป็น 25% และจะเก็บภาษีต่อสินค้าประเภทอื่นอีกด้วย เพื่อรักษาเกียรติภูมิของชาติและประโยชน์ของประชาชนจีน จีนจึงเริ่มตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์

ครั้งที่สาม : ในช่วงธันวาคม 2018 ประธานาธิบดีของจีนและสหรัฐได้พบกันที่อาร์เจนตินา ตกลงกันว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาและระงับการขึ้นกำแพงภาษีระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ในช่วงสามเดือนนี้มีการเจรจาระดับสูงจำนวน 3 ครั้ง ทั้งที่ปักกิ่งและวอชิงตัน ดี.ซี. โดยสามารถตกลงเบื้องต้นกันได้ในหลายประเด็น หลังจากนั้นก็มีการต่อเวลาการเจรจาออกไป โดยสหรัฐเลื่อนกำหนดที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ออกไป

ต่อมาในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2019​ มีการเจรจาระดับสูงกันอีก 3 ครั้ง โดยรวมสามารถแก้ปัญหาส่วนใหญ่ได้หมดแล้ว สำหรับปัญหาที่เหลืออยู่ ทางจีนก็เสนอให้ประนีประนอมแล้วร่วมกันหาทางออกต่อไป ทว่าเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2019 สหรัฐกลับพยายามกล่าวหาว่าท่าทีจีน ‘ถอยหลัง’ เพื่อผลักความผิดว่าการเจรจาที่ไม่สำเร็จนั้นเป็นเพราะจีน

นอกจากนี้ สหรัฐกลับขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์โดยเก็บในอัตรา 25% จากเดิมที่เก็บ 10% รวมถึงประกาศว่าจะนำประเภทของสินค้าอื่นที่ยังไม่ถูกขึ้นภาษีมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ มาเข้าสู่กระบวนการเก็บภาษีด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตัวเอง จีนจึงจำเป็นจะต้องขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐด้วยเช่นกัน

 

3. จีนย้ำว่า นวัตกรรมจีนนั้นพัฒนามาได้ด้วยลำแข้งของตนเอง การกล่าวหาว่านวัตกรรมจีนมาจากการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา (IP) หรือจากการบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้น ไม่มีหลักฐานใดๆ

จีนให้ความสำคัญกับการปกป้อง IP สูงมาก จีนได้สร้างระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศทุกอย่าง และปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคมของจีนแล้ว สำหรับการปราบปรามการละเมิด IP จีนใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นสำคัญในการปกป้อง IP ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญ​ โดยในปัจจุบันความตระหนักรู้ของประชาชนชาวจีนต่อเรื่อง IP สูงขึ้นเป็นอย่างมาก มูลค่าการจ่ายค่าใช้ IP ให้แก่ต่างประเทศสูงขึ้นอย่างมหาศาล ยอดการยื่นและการจดทะเบียน IP เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในปี 2017 จีนลงทุนกว่า 2.54 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเรื่อง R&D ถือว่ามากสุดเป็นอันดับสองของโลก มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรมากถึง 1.382 ล้านใบ ถือว่ามากที่สุดในโลก ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 7 ปีซ้อน มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรของจีน (IP licensing) กว่า 3.2 แสนชิ้น ถือว่าเพิ่มขึ้น 8.2% ต่อปี และมีสิทธิบัตรที่ยังไม่หมดอายุอยู่มากเป็นอันดับสามของโลก

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนสนับสนุนและเคารพการร่วมทุนเพื่อร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างบริษัทจีนกับต่างชาติอย่างอิสระ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาด จีนยึดมั่นในการต่อต้านการบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี จีนดำเนินการจัดการปัญหาการละเมิด IP ด้วยการเอาผิดตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นการกล่าวหาว่าจีนบังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้นไม่มีหลักฐานใดๆ

 

4. ท่าทีของจีนในการเจรจา

1) จีนยึดหลักว่าการเจรจาต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และเอื้อประโยชน์แก่กันอย่างเท่าเทียม

หากการเจรจาอยู่บนพื้นฐานของการที่ฝ่ายหนึ่งบังคับให้อีกฝ่ายเจรจา หรือผลการเจรจามีเพียงฝ่ายเดียวที่ได้ประโยชน์ ย่อมไม่ใช่การเจรจาที่จะประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ จีนยังตั้งข้อสังเกตว่าการที่สหรัฐบอกว่าเสียดุลทางการค้า สหรัฐเสียเปรียบจากจีนจริงหรือไม่ หรือเป็นการคำนวณหลักบัญชีดุลการค้าที่ผิดวิธีเสียมากกว่า

2) การเจรจาต้อง “เดินหน้าเข้าหากัน” และ “อยู่บนพื้นฐานของความสุจริต”

ระหว่างการเจรจา จีนให้ความสำคัญกับการรักษาคำพูด และเน้นย้ำหลายครั้งว่าหากเราตกลงกันได้ จีนจะปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้อย่างจริงจัง และทำให้มันเป็นจริงทั้งหมด

3) ถ้าเป็นเรื่องหลักการ จีนจะไม่มีทางถอย

เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวจีน ประโยชน์ของชาวสหรัฐ และประโยชน์ของประชาคมโลก จีนจะแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล โดยจีนจะไม่เกรงกลัวต่อแรงกดดันใดๆ และได้เตรียมพร้อมแล้วที่จะรับกับความท้าทายทั้งหลาย ถ้าจะคุย ประตูใหญ่ได้เปิดกว้างไว้แล้ว แต่ถ้าจะรบ จีนก็จะรบด้วยจนถึงที่สุด

4) ความท้าทายใดๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาไปข้างหน้าของจีนได้แล้ว

จีนเชื่อว่าการพัฒนาของจีนไม่มีทางที่จะราบรื่นตลอดรอดฝั่ง จำเป็นจะต้องเจอกับอุปสรรค ความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งคลื่นใหญ่บ้างอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงหรือความท้าทายใดๆ จีนมั่นใจว่าจะฝ่าฟันขึ้นไปข้างบนได้ จีนจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส และจะบุกเบิกผืนดินแดนแห่งโลกใหม่

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สงครามการค้ากำลังเข้มข้นขึ้นและส่งผลไปยังภาคเอกชน บริษัทบางรายกลายเป็นหมากบนกระดานที่จีนกับสหรัฐใช้ในการตอบโต้กัน โดยล่าสุดจีนเริ่มตรวจสอบบริษัท FedEx ว่าอาจเป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพื่อเป็นการตอบโต้กรณีที่สหรัฐขึ้นบัญชีดำ Huawei ของจีน

นอกจากนี้ สงครามการค้ากำลังขยายวงกว้าง ไม่เพียงแค่จีนที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของสหรัฐ แต่สงครามได้เริ่มลุกลามไปถึงอินเดีย โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2019 สหรัฐออกมาประกาศยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่สินค้านำเข้าจากอินเดีย ซึ่งทางอินเดียได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย โดยประกาศว่าจะยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และจะไม่ละทิ้งโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพียงเพื่อแลกกับสิทธิพิเศษทางภาษีของสหรัฐ

 

หนังสือปกขาวเล่มนี้ถูกเผยแพร่ออกมาในวันที่สถานการณ์ของสงครามการค้ากำลังตึงเครียดมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง แต่จีนก็ได้แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า จีนยังเปิดประตูใหญ่ไว้ และพร้อมที่จะคุย แต่หากสหรัฐเลือกที่จะรบจริง จีนก็จะทำสงครามนี้ด้วยจนถึงที่สุด อย่างที่จีนย้ำหลักการที่ไม่เคยเปลี่ยนของตัวเองว่า “จีนไม่อยากจะรบ ไม่กลัวที่จะรบ หากจำเป็นต้องรบก็จะรบ”

ข้อความสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จีนตั้งใจจะส่งผ่านหนังสือปกขาวเล่มนี้ไปยังชาวจีน ชาวสหรัฐ และชาวโลกที่ล้วนได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ คงเป็นประโยคที่ว่า “การเจรจาที่ล่มนั้น ไม่ได้เป็นเพราะความผิดจีน!”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save