fbpx
เปิดงานวิจัยที่เก็บข้อมูลนานที่สุดในโลก กับคำตอบว่า 'ความสุข' นั้นอยู่ที่ใด

เปิดงานวิจัยที่เก็บข้อมูลนานที่สุดในโลก กับคำตอบว่า ‘ความสุข’ นั้นอยู่ที่ใด

เอกศาสตร์ สรรพช่าง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ความมั่นคงทางการเงิน ?

การมีสุขภาพที่ดี ?

การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ?

มีคู่เด็ก ?

หน้าดูตึงกว่าหู ?

อะไรกันแน่ที่นำความสุขมาให้เรา ?

 

ปัญหาเรื่องการตามหาความสุขในโลกนี้มีมาทุกยุคทุกสมัยนะครับ ยิ่งระบอบทุนนิยมไปไกลเท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนว่าการโหยหาความสุขของคนทั่วโลกก็มากขึ้นตามไปด้วย

ในโลกแห่งศาสนา ความสุขหาได้จากการสร้างศรัทธาต่อสิ่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยว อันนี้คือทางพ้นทุกข์แบบกว้างๆ ของเกือบจะทุกความเชื่อบนโลก แต่จะแยกย่อยแตกต่างกันออกไปแล้วแต่คำสอน หากให้พูดถึงความสุขในศาสนาพุทธที่เราคุ้นเคยหน่อย ก็ต้องบอกว่าศาสนาพุทธเชื่อเสมอว่า หากเราหาต้นตอแห่งทุกข์เจอ แล้วหาทางดับทุกข์ โดยใช้เครื่องมืออย่าง ศีล สมาธิ ปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเห็นหนทางพ้นทุกข์ ซึ่งขั้นตอนการเรียนรู้และได้มาของทางดับทุกข์ของแต่ละคนก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากๆ หากอยากพ้นทุกข์ พบกับสุขที่ยั่งยืน ก็ต้องลงมือทำและลองศึกษากันเอาเองว่าแต่ละคนจะเจออะไร

แล้วโลกของวิทยาศาสตร์ล่ะ มีการศึกษาเรื่องความสุขของคนเราไว้มากแค่ไหน ?

วิทยาศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่ง ‘ศาสนา’ สมัยใหม่ที่กวาดสาวกได้มากด้วยการอาศัยคำสอนที่ชื่อว่า ตรรกะ เหตุและผล การทดลองเชิงประจักษ์ และการพิสูจน์ แต่สำหรับเรื่องที่เป็นนามธรรมมากๆ อย่าง ‘ความสุข’ นั้น วิทยาศาสตร์ได้ศึกษาและสรุปอะไรมาได้บ้างหรือยัง

คำตอบคือ มีความพยายามในการศึกษาเรื่องความสุขของมนุษย์เรามาโดยตลอด ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยเรื่องความสุขเลยก็มี (ดูที่นี่)

ศาสตราจารย์โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาชาวอเมริกัน เขียนหนังสือชื่อ The Happiness Hypothesis (สมมติฐานแห่งความสุข) การศึกษาของเขาได้ผสมผสานความรู้ทางปรัชญาและความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณแบบโบราณ เข้ากับการวิจัยแบบสมัยใหม่ จนได้ข้อสรุปว่า ความสุขของคนเรานั้น เกิดจากความสามารถในการเข้าถึงหลักคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า (ในกรณีนี้คุณโจนาธานศึกษาบนพื้นฐานความเชื่อแบบตะวันตก)

ในทางจิตวิทยาแสดงให้เห็นว่า คนที่มีประสบการณ์ ‘สัมผัสกับกับพระเจ้า’ ได้ หรือคนที่สามารถรู้แจ้งในคำสอนจะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว

“ศาสนาทำให้คุณมีความสุขถ้าไม่ดื้อรั้นเกินไป”

ตัวเขาเองบอกว่า เขาไม่ใช่คนเคร่งศาสนาและไม่ได้เชื่อในเรื่องพระเจ้า แต่การศึกษาของเขาสนับสนุนเหตุผลว่าการมีความเชื่อในศาสนาสามารถสร้างค่านิยมทางจิตวิญญาณที่เป็นบวกและนำมาซึ่งความสุขในใจ

“ถ้าเราสามารถสร้าง จุดสมดุลของทุกอย่างได้ทั้งโลกเก่า โลกใหม่ ทั้งเสรีนิยม อนุรักษนิยม และเรามีอิสระในการเลือกได้ มันจะนำเราไปสู่ความพึงพอใจ ความสุข และความรู้สึกว่าเราอยู่อย่างมีเป้าหมาย”

หนังสือที่ผู้เขียนพยายามอธิบายความสุข หรือการสร้างความสุขนั้นมีมากมายจริงๆ ครับ แต่โดยมาก จะเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน หรือไม่ก็อิงกับหลักความเชื่อทางศาสนา ไม่ก็เป็นเรื่องวิถีชีวิต ค่านิยมของคนกลุ่มหนึ่งที่ ‘เชื่อกันว่า’ ​เป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น แต่เมื่อปี 2017 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดเผยงานวิจัยที่พวกเขาเก็บข้อมูลมากว่า 80 ปีในโครงการวิจัยว่าด้วยเรื่อง ‘ความสุขของชีวิต’ สำหรับผม เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เพราะการเก็บข้อมูลระยะยาวแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หากไม่มีเงิน เอาแค่เงินเรื่องเดียวก็ยากแล้ว ยังไม่นับเรื่องทีมเก็บข้อมูล การตามเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง และอื่นๆ อีกมาก

งานศึกษาครั้งนี้ไม่ได้หวังผลกำไร เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ และสถาบันผู้สูงวัยแห่งชาติ เพื่อร่วมกันหาคำตอบและรับมือกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคต เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีชื่อว่า Harvard Study of Adult Development หนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยแบบต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดในโลก เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของกลุ่มตัวอย่าง

พวกเขาเริ่มโครงการนี้จากการติดตามนักศึกษาจำนวน 268 คนที่จบการศึกษาในระหว่างปี 1939 – 1944 จากนั้นในช่วงทศวรรษถัดมา ช่วงปี 1950 – 1960 มีการขยายกลุ่มตัวอย่างให้กว้างขึ้นเกือบ 1,300 คน และอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ก็เพิ่มคนในบอสตันเข้ามาอีก 456 คน ซึ่ง 40 คนจากกลุ่มสุดท้ายนี้ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ (งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2017)

โรเบิร์ต วาร์ลดิงเกอร์ (Robert Waldinger) ผู้ดูแลโครงการบอกว่าการเก็บข้อมูลนี้เป็นการเก็บข้อมูลแบบทุกซอกทุกมุมของกลุ่มตัวอย่างจริงๆ ตั้งแต่ข้อมูลเรื่องสุขภาพทั้งทางกายและใจ เรื่องความรัก การแต่งงาน มีลูก ความล้มเหลวในหน้าที่การงาน ติดยาเสพติด การป่วยทั้งทางกายและจิต ฯลฯ

นับตั้งแต่การเก็บข้อมูลมามีทั้งคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นหมอ เป็นทนายก็หลายคน หรือคนที่ล้มเหลวสุดๆ ติดสุราเรื้อรัง ป่วยเป็นโรคจิตเภท ครอบครัวแตกแยก ฯลฯ การเก็บข้อมูลอย่างยาวนานนี้เองทำให้ได้ข้อสรุปว่า ในเชิงวิทยาศาสตร์ปัจจัยของความสุขของชีวิตเรานั้น ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

นอกเหนือจากการเป็นผู้ดูแลโครงการนี้อยู่ หน้าที่หลักของวาร์ลดิงเกอร์คือเป็นจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่วิทยาลัยการแพทย์ของฮาร์วาร์ด เขาได้ให้สัมภาษณ์ในวารสารของฮาร์วาร์ด The Harvard Gazette ถึงข้อสรุปที่ได้จากการศึกษานี้ ผมเลยอยากสรุปเป็นข้อๆ มาให้ได้อ่านกันว่า องค์ประกอบความสุขของคนเรานั้น ควรมีส่วนผสมของอะไรบ้าง

 

1.ความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ชีวิต เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี เพราะนั่นจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาดูแลตัวเองเพื่อคนที่เรารัก

2.การดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่ไม่น้อยไปกว่ากันคือการดูแลความสัมพันธ์รอบๆ ตัว การวิจัยพบว่าคนที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างจะมีอายุยืนยาวกว่าคนไม่มีทักษะการเข้าสังคมที่ดีนัก

3.มากกว่าเรื่องชื่อเสียงและเงินทอง สิ่งสำคัญที่ทำให้คนมีความสุขคือความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งแนบแน่นกับคนรอบข้าง

4.ความสัมพันธ์ที่ดีและแนบแน่นช่วยชลอและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งหากคุณพอใจกับความสัมพันธ์ จะส่งผลดีมากกว่าการมีไอคิวที่ดี มีสถานภาพทางสังคมที่ดี หรือมียีนที่ดีเสียอีก (การศึกษาครั้งนี้พบว่าการมีบรรพบุรุษที่มียีนที่ดีไม่ได้การันตีว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดี มีอายุยืนยาว หรือมีความสุขกับชีวิต)

5.เนื่องจากการวิจัยนี้ทำกับผู้ชายทั้งหมด (เพราะตอนที่เริ่มต้น สังคมตะวันตกไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฮาร์วาร์ดไม่รับนักศึกษาผู้หญิง จนกระทั่งปี 1946 ถึงได้เริ่มรับนักศึกษาผู้หญิงอย่างเป็นทางการ) ในงานวิจัยนี้คุณวาลดิงเกอร์ยังพูดถึงช่วงอายุที่ผู้ชายมักเริ่มมีความสัมพันธ์ที่เข้าที่เข้าทางก็เมื่อเข้าอายุประมาณ 50 ปี ทั้งกับครอบครัว เพื่อนฝูงและชุมชน จากการวิจัยพบว่าความพอใจในความสัมพันธ์ของผู้ชายเมื่อตอนอายุ 50 ปี เป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพทางกายของพวกเขาเองได้ดีกว่าระดับคลอเรสเตอรอลของพวกเขาเสียอีก จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้ชายในวัย 50 ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางกายมากขึ้นจะมีสุขภาพแข็งแรงไปจนถึงอายุ 80 ปี หากพวกเขามีความพึงพอใจกับความสัมพันธ์ที่เขามีอยู่ (หากไม่ประสบอุบัติเหตุซะก่อน)

6.ความพอใจในชีวิตการแต่งงานก็เป็นตัวช่วยให้มีความทุกข์น้อยลงด้วย จากกลุ่มตัวอย่าง พบว่าคู่รักวัย 80 ปีที่มีปัญหาการเจ็บป่วยทางกาย ไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์มากเท่ากับคนที่ไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงานหรืออยู่คนเดียวซึ่งคนเหล่านี้จะรู้สึกเจ็บปวดและทนทุกข์ทรมานมากกว่า

7.การศึกษาในคู่ที่ยังมีชีวิตอยู่ พบด้วยว่าคนที่รู้สึกมั่นคงในความสัมพันธ์กับคนรัก จะรู้สึกกดดันในชีวิตน้อยกว่า มีความสุขมากกว่าและยังมี ‘ความจำ’ ที่ดีมากกว่าคู่ที่มีปัญหากันบ่อยๆ อีกด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้ปกป้องความจำ แต่ว่ามันปกป้อง ‘สมอง’ ของเรา การศึกษาพบว่าการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างวันของคู่รักที่มีความมั่นคงในความสัมพันธ์ถูกมองเป็นเรื่องปกติและจะส่งผลบวก ผิดกับคู่รักที่ความสัมพันธ์ไม่มั่นคง ความกระวนกระวายใจหรือความรู้สึกไม่มั่นคงจะบั่นทอนความสามารถของสมอง

8.ท้ายที่สุด ความโดดเดี่ยวสามารถฆ่าเราได้ มันมีอานุภาพร้ายแรงไม่ต่างจากการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าทุกวัน

 

จอร์จ เวลแลนท์ (George Vaillant) หนึ่งในทีมนักวิจัยที่ทำงานช่วงปี 1972 – 2004 บอกไว้ว่า

“ช่วงแรกที่ผมเริ่มทำงานวิจัยนี้ ไม่มีใครสนใจปัจจัยเรื่องความเอาใจใส่เห็นอกเห็นใจหรือประเด็นเรื่องคู่ครองเลย แต่ ณ เวลานี้ผมพูดได้เลยว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เรามีความสุขก็คือ ความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ และความสัมพันธ์” ต่อมาเวลแลนท์เขียนหนังสือของเขาเองเรื่อง Aging Well ซึ่งเป็นประสบการณ์ของเขาที่ได้จากการทำงานในโครงการนี้ และเขียนไว้ถึงปัจจัยหกข้อของการมีความสุขของ ‘ผู้ชายฮาร์วาร์ด’ ซึ่งก็หมายถึงกลุ่มที่เขาทำการศึกษานี้ว่า หากอยากมีความสุขนั้นเราสามารถสร้างได้โดย

1.ทำตัวให้กระฉับกระเฉงกระเฉงอยู่เสมอ

2.อย่าสูบบุหรี่

3.มองโลกในแง่บวกเมื่อเจอกับความไม่แน่นอนของชีวิต

4.มีความรักที่มั่นคง

5.กินให้พอเหมาะ

6.ดื่มแอลกอฮอล์ได้นะ แต่เอาให้พอดี

 

โครงการวิจัยนี้ผ่านผู้ดูแลโครงการมาแล้ว 4 คน ตลอดการศึกษาที่ผ่านมาได้ขยายขอบข่ายการทำงานจากคนเจเนอเรชั่นเดียว กลายเป็นสองเจเนอเรชั่น ตอนนี้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีแผนขยายการศึกษานี้ต่อไปอีก โดยศึกษาในกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มตัวอย่างเดิมแต่ขยายออกไปสู่ภรรยา ลูกและหลานของพวกเขา เพื่อหาว่าชีวิตและประสบการณ์ในวัยเด็กนั้นมีผลกระทบต่อพัฒนาการของสุขภาพทั้งกายและใจอย่างไรบ้างเมื่อมนุษย์แก่ตัวลง

หากสำเร็จ นี่จะเป็นงานวิจัยแรกที่ศึกษาคนกลุ่มเดิมที่เกี่ยวเนื่องกันตั้งคนรุ่นปู่ไปจนถึงรุ่นหลานและมันอาจจะย้ำให้เราเห็นข้อเท็จจริงที่ชัดเข้าไปอีกว่า เราไม่ต้องรอรัฐบาลไหนมาคืนความสุข

ความสุขจริงๆ นั้นราคาไม่แพงและหาได้ง่ายกว่านั้นมาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save