fbpx
ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย...กว่าการเลือกนายก!

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…กว่าการเลือกนายก!

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ย้อนไปช่วงปลายเดือนมีนาคม เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกหัวใจพองโตขณะเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง ด้วยเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ได้ออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง หย่อนบัตรเลือกผู้แทนของเราที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

ทว่าไม่ทันที่กลิ่นอายประชาธิปไตยจะจางไปจากคูหา เราต่างรับรู้โดยทั่วกันถึงความไม่ชอบมาพากล ผู้มีอำนาจบางกลุ่มบางคนพยายามแทรกแซงผลการเลือกตั้ง ลากยาวมาจนถึงวันเปิดสภา ยิ่งกระจ่างว่าหนึ่งเสียงที่กาไปนั้นแทบไร้ความหมาย

ลุงตู่ได้เป็นนายกอีกหนึ่งสมัย ชนะใสๆ ด้วยคะแนนโหวตจาก ส.ว. ที่เลือกมากับมือ

แต่เรื่องที่เซอร์ไพรส์กว่านั้น คือการที่จู่ๆ ลุงตู่ออกมาแนะนำให้คนไปหาหนังสือ ‘แอนิมอล ฟาร์ม’ มาอ่าน!

ไม่ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ และไม่ว่าลุงตู่จะมีเหตุผลอะไรที่เลือกแนะนำหนังสือเล่มนี้ ผลที่เกิดขึ้นทันทีคือ แอนิมอล ฟาร์ม ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า กลายเป็นหนังสือที่ขาดตลาดในเวลาอันรวดเร็ว

แวดวงหนังสือดูคึกคักขึ้นทันตา

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ทีมงาน 101 ก็กำลังซุ่มทำโปรเจ็กต์ ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ กันอย่างขะมักเขม้น

หากใครที่เคยติดตาม ‘ความน่าจะอ่าน’ ในปีก่อนๆ คงจำกันได้ว่า เราให้ตัวแทนนักเขียน-บรรณาธิการ 5 คน คือโตมร ศุขปรีชา ทีปกร วุฒิพิทยามงคล นิวัต พุทธประสาท สฤณี อาชวานันทกุล และทราย เจริญปุระ มาช่วยกันแนะนำและคัดเลือกหนังสือน่าอ่านแห่งปี โดยยึดจากความชอบส่วนตัวของแต่ละคน แล้วเอามาถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา จนได้เล่มที่ดีที่สุดจำนวนหนึ่ง ภายใต้คอนเซ็ปต์ว่า – นี่คือการแนะนำหนังสือที่ ‘เอาแต่ใจที่สุด’

มาถึงปีนี้ เราคุยกันว่าจะยังคงคอนเซ็ปต์เดิมไว้ เพิ่มเติมคือการสำรวจสุ้มเสียงใหม่ๆ จากคนในแวดวงหนังสือ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ผ่านการคัดสรรของ ‘สภาผู้แทนความน่าจะอ่าน’

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง, ศิริวร แก้วกาญจน์, ธัชชัย ธัญญาวัลย, พิพัฒน์ พสุธารชาติ, กิตติพล สรัคคานนท์, ขจรฤทธิ์ รักษา, วินทร์ เลียววาริณ, ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฎิกาล ภาคกาย, พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ, ธวัช งานรุ่งเรือง, มณฑล ประภากรเกียรติ, อนุรุทธ์ วรรณพิณ, นัฏฐกร ปาระชัย, ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์, อรรถ บุนนาค, ณัฐกานต์ อมาตยกุล, ธนาคาร จันทิมา, ชาตรี ลีศิริวิทย์, ศรัณย์ วงศ์ขจิตร, อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี, สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์, หฤษฎ์ มหาทน, จักรพงษ์ เอี่ยมสะอาด, ธีรภัทร เจริญสุข, อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา, สิริธาดา คงภา, ปณิธิตา เกียรติ์สุพิมล, วรงค์ หลูไพบูลย์, คธาวุฒิ เกนุ้ย, ณัฏฐพรรณ เรืองศิริอนุสรณ์, จรัญ หอมเทียนทอง, สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ, รังสิมา ตันสกุล, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ประธาน ธีระธาดา, นรา, ณขวัญ ศรีอรุโณทัย, จีระวุฒิ เขียวมณี, วชิระ บัวสนธ์, โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ, นิวัต พุทธประสาท, โตมร ศุขปรีชา, นิรัตศัย บุญจันทร์, ภัทรานิษฐ์ พัฒน์ธนพร, พัลลภ สามสี, ชวณัฐ สุวรรณ, เพชรลัดดา แก้วจีน, ธนาพล อิ๋วสกุล, อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, กษมา สัตยาหุรักษ์, สุรเดช โชติอุดมพันธ์, สุธิดา วิมุตติโกศล, สุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ, ทราย เจริญปุระ, วีรพร นิติประภา คือตัวแทนที่เข้ามาร่วมออกเสียงในสภาความน่าจะอ่านครั้งนี้

ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา เราจึงไม่สามารถสำรวจความเห็นจากประชากรทุกคนในแวดวงการอ่านการเขียนได้ แต่อย่างน้อยๆ เราเชื่อว่าผลที่ออกมา น่าจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าการยกมือโหวตนายกฯ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปแน่นอน

ในเบื้องต้น เราให้แต่ละคนเลือกแนะนำหนังสือที่น่าอ่าน (หนังสือภาษาไทย) จากปี 2018-2019 มาคนละ 3 เล่ม พร้อมด้วยเหตุผลสั้นๆ โดยมีเพียงข้อแม้เดียวว่า ถ้าคุณเป็นบรรณาธิการหรือเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ห้ามคุณเลือกหนังสือที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อป้องกัน ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’

ถัดจากนั้น ทีมงานจะรวบรวมรายชื่อหนังสือทั้งหมด ประมวลออกมาเป็นลิสต์ ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ แล้วจึงมาไล่ดูกันว่า หนังสือเล่มไหนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามามากที่สุด

อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของโปรเจ็กต์นี้ไม่ใช่การเฟ้นหาหนังสือที่ดีที่สุด กระทั่งไม่ได้มีการมอบรางวัลหรือยศตำแหน่งใดๆ ให้เป็นพิเศษ ทว่าเป็นเพียงการ ‘แนะนำ’ หนังสือผ่านสายตาของผู้แทนจำนวนหนึ่งที่มีมุมมองน่าสนใจ เพื่อให้หนังสือเล่มนั้นๆ กระจายไปสู่สายตาผู้อ่านในวงกว้าง เสมือนการชี้เป้าหนังสือที่น่าสนใจ แต่อาจยังไม่เป็นที่รับรู้หรือถูกมองเห็นเท่าไรนัก

นอกเหนือจากนี้ เราจะจัดกิจกรรมอภิปราย ‘ไว้วางใจ’ ขักชวนผู้คนนักอ่าน-นักเขียน มาร่วมเขียนบทความแนะนำหนังสือบางเล่มที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการจัดเวทีเสวนา ด้วยเชื่อว่าคุณค่าของหนังสือไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหน้ากระดาษเท่านั้น แต่สามารถต่อยอดจากการได้มาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันแบบตัวเป็นๆ

 

ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทีมงานได้ทำการรวบรวมลิสต์รายชื่อจากผู้แทนทั้งหมดครบเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ารายชื่อหนังสือและเหตุผลที่แต่ละคนส่งมา นับว่าหลากหลายและ ‘เซอร์ไพรส์’ กว่าที่เราคาดคิดไว้พอสมควร แต่น่าเสียดายที่วาระการประชุมนัดแรกนี้หมดเสียก่อน….

ขอให้ทุกท่านเฝ้าติดตาม ‘วาระ’ ต่อไปอย่างใกล้ชิด

ลิสต์รายชื่อทั้งหมดอยู่ในมือเราแล้ว

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

24 Dec 2018

‘สิงโตนอกคอก’ กับมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล เขียนถึงเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ ของจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ที่ตั้งคำถามกับประเด็นจริยธรรม เชื่อมโยงกับมุมมองเรื่องความเหลื่อมล้ำของ อดัม สมิธ

ธร ปีติดล

24 Dec 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save