fbpx
ฉันคือคนดี, นรกคือคนอื่น : ปัญหาของการตระหนักว่าฉันเป็นคนดี

ฉันคือคนดี, นรกคือคนอื่น : ปัญหาของการตระหนักว่าฉันเป็นคนดี

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

เรื่องใหญ่อย่างหนึ่งในสังคมไทยทุกวันนี้ คือการมี ‘การตระหนักรู้’ ต่อตัวเอง (Self-Awareness) ว่าตัวฉัน ตัวกู ตัวข้า ตัวอั๊วะ อัญขยม ฯลฯ คือสิ่งมีชีวิตที่ดีเลิศที่สุดในโลก และดังนั้น ความคิด ความเห็น ความเชื่อ อุมดการณ์ นักการเมืองที่เลือก ฝั่งข้างการเมืองที่ฉันเลือก — จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในโลกไปด้วย

ที่จริงแล้ว — ความคิดนี้ไม่ผิด

ช่วยไม่ได้ ที่ ‘ฉัน’ จะคิดว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นสิ่งล้ำค่าของสากลโลก เพราะนั่นคือแนวโน้มตามธรรมชาติที่ทำให้ ‘ฉัน’ ยังคงยืดหน้าภาคภูมิใจในความคิด ความเชื่อ และความเห็นของฉันได้ ต่อให้ ‘ฉัน’ ใช้วิธี ‘แถ’ มากน้อยแค่ไหน ‘ฉัน’ ก็มักไม่รู้สึกซิบๆ กับอาการถลอกของสีข้างใดๆ เนื่องเพราะความปลื้มปริ่มในความดีอันล้นพ้นของ ‘ฉัน’ ทำให้เกิดอาการ ‘ไฮ’ ในความดีงามล้ำเลิศของตัวเองเสียจนไม่อาจรู้สึกอย่างอื่นได้

ความรู้สึกแบบนี้ เคยมีนักจิตวิทยาจากคอร์แนลศึกษาไว้ แล้วเรียกมันว่าปรากฏการณ์ ‘Holier than Thau’ หรือ ‘(กู) ศักดิ์สิทธิ์กว่า (มึง)’ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่)

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มีการทดลองเพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริง โดย นิค เอพลีย์ (Nick Epley) และเดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) ให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลทำนายผลตัวเองว่า หากจะมีงานการกุศล (ที่เป็นการกุศลจริงๆ ทำแล้วได้ผลดีจริงๆ ไม่ใช่การกุศลเอาหน้าแบบคุณหญิงคุณนายในบางประเทศ) เกิดขึ้น  ‘ตัวเอง’ จะซื้อดอกไม้ในงานกี่ดอก โดยเงินจะได้นำไปใช้ประโยชน์จริง รวมถึงทำนายว่า ‘คนอื่น’ จะซื้อดอกไม้กี่ดอก

การทดลองที่สองคือ ให้คนมาร่วมเล่นเกม แล้วทำนายว่า ‘ตัวเอง’ กับ ‘คนอื่น’ จะเล่นเกมแบบให้ความร่วมมือหรือเล่นแบบเห็นแก่ตัวมากกว่ากัน พบว่าในสองการทดลองที่ว่านี้ คนถึง 84% คิดว่า ‘ตัวเอง’ จะทำสิ่งที่ดี (คือซื้อดอกไม้มากกว่า และเล่นเกมแบบร่วมมือมากกว่า) ส่วนกลุ่มคนที่คิดว่า ‘คนอื่น’ น่าจะมีคนทำดี มีน้อยกว่า คือแค่ 64% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองที่สาม ด้วยการให้เงินผู้เข้าร่วมทดลองคนละ 5 เหรียญ แล้วสมมติว่ามีการขอรับบริจาคจากเงิน 5 เหรียญนั่น พวกเขาคิดว่า ‘ตัวเอง’ และ ‘คนอื่น’ จะบริจาคเงินเท่าไหร่ พบว่าโดยเฉลี่ย ผู้เข้าทดลองตอบว่า ‘ตัวเอง’ จะบริจาค 2.44 เหรียญ และ ‘คนอื่น’ จะบริจาคแค่ 1.83 เหรียญ แต่เมื่อมีการทดลองซ้ำโดยให้บริจาคจริงๆ พบว่าค่าเฉลี่ยของการบริจาคอยู่ที่ 1.53 เหรียญ

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการทดลองถัดไป คือให้ได้รับรู้ว่า ‘ค่าเฉลี่ย’ ของการบริจาคคือเท่าไหร่ (คือ 1.53 เหรียญ) แล้วให้ทำนายใหม่ ว่าตัวเองจะบริจาคเท่าไหร่ แล้วคนอื่นจะบริจาคเท่าไหร่

ผลลัพธ์ที่ได้น่าทึ่งมาก เพราะเมื่อรู้เสียแล้วว่า ‘ค่าเฉลี่ย’ มัน ‘ต่ำ’ ก็แปลว่าต้องมีคนฉุดค่าเฉลี่ยลงไป คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ตัวเองยังคงบริจาคเท่าเดิม (คือ 2.44 เหรียญ) ในขณะที่เป็น ‘คนอื่น’ ต่างหาก ที่บริจาคน้อยลงไปมาก เพื่อดึงค่าเฉลี่ยให้ตกลงไปอยู่ที่ 1.53 เหรียญ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเกิดเรื่องแย่ๆ อะไรขึ้นในสังคมจนทำให้ค่าเฉลี่ยต่ำลง เราก็พร้อมจะ ‘ชี้นิ้ว’ บอกได้ในทันที ว่ามันคือการกระทำของ ‘คนอื่น’ ไม่ใช่ของเราเอง

เพราะเรานั้น ‘ศักดิ์สิทธิ์’ กว่าผู้อื่น!

มีคำอธิบายทางจิตวิทยาบอกว่า มนุษย์ตัดสินคนอื่นจากพฤติกรรมของคนอื่น แต่กับตัวเราเอง เราชอบคิดว่าตัวเรามี ‘ข้อมูลพิเศษ’ เกี่ยวกับตัวเอง เรารู้ว่าเราเป็นอย่างไร ‘จริงๆ’ ดังนั้น เราจึงหาวิธี ‘อธิบาย’ (หรือแก้ตัว) ให้กับการกระทำอันเห็นแก่ตัวของเราได้ง่าย และยึดติดอยู่กับภาพลวงที่ว่าเราดีและศักดิ์สิทธิ์กว่าคนอื่นๆ

นี่คือการทำงานของสมอง เพราะสมองของเราจะพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมเราถึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราได้รับการปลูกฝังมาว่า คุณค่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดี เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นสิ่งที่แย่ เราก็จะเอาเรื่องดีมาแปะป้ายอธิบายตัวเอง และเอาเรื่องแย่ไปแปะป้ายอธิบายคนอื่น

ตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่า ‘ความเป็นผู้นำ’ เป็นเรื่องที่ดี แต่ทีนี้คำว่า ‘ผู้นำ’ มีได้หลายรูปแบบ ถ้าเราเติบโตมากับอำนาจนิยมข่มขู่ พูดจากระโชกโฮกฮาก เราอาจคิดก็ได้ว่าการทำแบบนั้นเป็นเรื่องที่ดี เราก็จะอธิบายตัวเองได้ว่า อ๋อ! ที่ฉันพูดจาแบบนั้นออกไปโดยไม่รู้ตัว เป็นเพราะนั่นคือการแสดงภาวะผู้นำแบบหนึ่ง

แล้วยิ่งเราพบ ‘หลักฐาน’ ที่มายืนยันความคิดของเรา เช่น เราขู่ฟ่อออกไปราวกับเป็นงูพิษไร้สติ แล้วดันมีลูกน้องลูกไล่ทั้งหลายมาสยบยอม (รวมไปถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างทำรัฐประหารหรือโกงเลือกตั้งแล้วคนในสังคมไม่ว่าอะไร แถมยังอาศัยและเสพกินเศษซากของอำนาจอยู่ใน ‘ฟองสบู่’ ของความคิดความเชื่อแบบเดียวกัน) เราก็จะยิ่งคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันถูกต้องเข้าไปใหญ่

มีการศึกษานักเรียนไฮสคูลชาวอเมริกัน 1 ล้านคน จะพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์คิดว่าตัวเองมีความเป็นผู้นำเหนือค่าเฉลี่ย และมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าตัวเองอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะทุกคนสามารถหาทักษะบางอย่างที่ ‘เกี่ยวพัน’ กับความเป็นผู้นำที่อยู่ในตัวเองได้

ในสังคมอเมริกัน การเป็นผู้นำ พูดจาฉาดฉาน แสดงความคิดเห็นตรงไปตรงมา อาจเป็นลักษณะร่วมสำคัญของสังคม แต่ในสังคมไทย ลักษณะร่วมสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำอะไรก็ได้ไม่ให้เด่นมากนัก แต่ต้องเป็นคนดี คนสงบเรียบร้อย เสงี่ยมหงิม ไม่เผยอผยอง ดังนั้น ในกรณีของภาวะผู้นำ เราจึงเห็นภาพการ ‘อยากเป็นผู้นำจนตัวซี่ตัวสั่น แต่ปากต้องบอกว่าไม่อยากรับตำแหน่ง’ อยู่บ่อยๆ

‘คุณธรรม’ ในสังคมอเมริกันที่ทำให้คนสามารถหาเหตุผลต่างๆ มารองรับตัวเองได้อาจคือภาวะผู้นำ แต่ในสังคมไทยนั้น แทบพูดได้เลยว่าคือความเป็น ‘คนดี’ ซึ่งแม้แตกต่างกัน แต่ล้วนเป็นเรื่องนามธรรมจับต้องไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเรื่องจับต้องได้ วัดได้ มองเห็น มนุษย์ทั่วไปจะถ่อมตัวกว่านั้นมาก

ทั้งหมดนี้เรียกว่า ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ทำให้คนที่ชื่นชมตัวเองมีสุขภาพจิตดี เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ชื่นชอบจากคนอื่นมากกว่า (ทั้งที่จริงๆ อาจเป็นภาพลวง) แต่ในเวลาเดียวกัน อคติแบบนี้ก็ทำให้เรารู้สึกตัวเราเอง ‘สมควร’ แล้วที่จะได้รับอะไรๆ เหนือกว่า ‘คนอื่น’ ในสังคม

ยิ่งในสังคมที่สำนึกทางชนชั้นรุนแรง อคติชื่นชมตัวเองก็จะยิ่งแรงขึ้นโดยไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่รู้จบกับ ‘คนอื่น’ ที่ก็อาจมีอคติชื่นชมตัวเองมากพอๆ กัน

อคติพวกนี้มองเห็นได้ยากมาก แต่ก็เคยมีการทดลองของ เอมิลี โพรนิน (Emily Pronin) จากพรินซ์ตัน และลี รอส (Lee Ross) จากสแตนฟอร์ด ด้วยการบอกและแสดงให้ผู้เข้าร่วมทดลองเห็นว่าตัวเองมีอคติอะไรบ้าง แล้วจากนั้นก็ตั้งคำถามว่า พวกเขาอยากพูดถึงตัวเองแบบอื่นบ้างไหม ในแบบที่มีอคติลดลง

ผลการศึกษาก็คือ ‘ไม่’ ต่อให้รู้แล้วว่าตัวเองมีอคติ เราก็ยังเลือกที่จะชื่นชมตัวเองเหมือนเดิม เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองว่าตัวเองดีเกินจริง และมักชี้นิ้วไปที่คนอื่น บอกว่าเป็นคนอื่นต่างหาก ที่มีอคติกับพวกเขา

โพรนินและรอสเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘สัจนิยมไร้เดียงสา’ (Naive Realism) คือทุกคนคิดว่าโลกที่ตัวเองเห็น ที่ตัวเองรับรู้ ที่ตัวเองรู้ ที่ตัวเองเชื่อถือ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งที่นั่นอาจเป็นหลักฐานแสดงถึง ‘ความโง่’ (Ignorance) ในระดับที่ไม่อาจมองเห็นความจริงในตัวเองได้ด้วยซ้ำ

โจนาธาน เฮดท์ ผู้เขียนหนังสือ Happiness Hypothesis บอกว่า เป็นเจ้าสัจนิยมไร้เดียงสานี่แหละ ที่เป็น ‘อุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อสันติภาพโลกและความสงบของสังคม’

‘นรกคือคนอื่น’ หรือคือคนที่คิดแบบอื่น จึงคือปมใหญ่ของหลายสังคม รวมถึงสังคมไทยด้วย

เสียใจ, ที่ต้องบอกคุณว่า — นี่เป็น ‘ปม’ ที่คลี่ได้ยากเย็นยิ่ง

โดยเฉพาะกับสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่ห่อหุ้มหัวใจตัวเองด้วยความคับแคบของอคติ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save