fbpx
หนึ่งปีอนาคตใหม่ : จากกรัมชี-ลาคลาว-มูฟ ถึงปฏิบัติการท้า 'นรก' ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

หนึ่งปีอนาคตใหม่ : จากกรัมชี-ลาคลาว-มูฟ ถึงปฏิบัติการท้า ‘นรก’ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

กองบรรณาธิการ 101 เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

27 พฤษภาคม 2561, อาคารยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

 

นักวิชาการหนุ่มระดับรองศาสตราจารย์ วัย 38 ปี ขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ในฐานะนักการเมืองครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่

ห้าเดือนก่อนหน้านั้น เขาเพิ่งตัดสินใจแน่วแน่ ก้าวออกจาก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในรั้วมหาวิทยาลัย มาลง ‘นรก’

ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ – นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ผู้นิยมชมชอบการอ่าน-คิด-ถาม-เขียน-เถียง ปิดท้ายคำปราศรัยแรกแห่งชีวิตของเขาด้วยถ้อยความตอนหนึ่งจากวรรณกรรมเรื่อง เมืองที่มองไม่เห็น ของ อิตาโล คัลวีโน

นรกของคนเป็น หากมีสักขุม ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่อยู่ตรงนี้เบื้องหน้าของเราแล้ว เป็นนรกที่เราอาศัยอยู่ทุกวี่วัน … มีอยู่สองหนทางที่จะทำให้เราไม่เป็นทุกข์กับนรก หนทางหนึ่งนั้นง่ายสําหรับคนทั่วไป นั่นคือ ยอมรับนรกและกลายเป็นส่วนหนึ่งของนรก จนมองไม่เห็นนรกอีกต่อไป หนทางที่สอง เสี่ยงอันตราย ต้องตั้งใจและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา นั่นคือ พยายามแยกให้ออกว่าใครหรือสิ่งใดในใจกลางนรกที่ไม่ใช่นรก แล้วทำให้สิ่งที่ไม่ใช่นรกนั้น ปรากฏมีพื้นที่และดํารงอยู่อย่างยั่งยืน”

ปิยบุตรประกาศว่า เขาเลือกหนทางของคนไม่ยอมจำนน หนทางที่เชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หนทางของคนที่เชื่อในความเป็นไปได้

“พวกเรา ชาวอนาคตใหม่ จะไม่ยอมทนอยู่ในนรก 

พวกเราจะไม่ยอมถูกกลืนให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนรก 

แต่พวกเราจะทำให้สิ่งที่ไม่ใช่นรกปรากฏขึ้น และเบียดขับเข้าแทนที่นรก

ไม่มีหนทางใดที่เราจะออกจากนรกได้ นอกจากลงมือกําจัดมัน”

สิ้นเสียงปราศรัยไม่นาน เขาเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อย่างเป็นทางการ และออกเดินสู่ประตู ‘นรก’ – การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

 

22 มีนาคม 2562,  อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

 

อีกสองวันจะถึงวันเลือกตั้งที่หลายคนเฝ้ารอมากว่า 8 ปี ยิ่งค่ำผู้คนยิ่งแน่นขนัดเต็มความจุพื้นที่สนาม ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มคนสาว แววตาเปี่ยมความหวัง ในมือโบกธงสีส้ม เปล่งเสียงเชียร์พรรคอนาคตใหม่ในการปราศรัยใหญ่เวทีสุดท้ายก่อนเข้าคูหา

บนเวทีใหญ่และสำคัญที่สุดในการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขา กลับแทบไม่ปรากฏบทบาทของแกนนำพรรค ด้วยตั้งใจยกพื้นที่บนเวทีปราศรัย ซึ่งถูกออกแบบไว้ในวงล้อมประชาชน ให้กับเหล่า ‘คนธรรมดา’ – ผู้สมัคร LGBT คนพิการ เกษตรกร แรงงาน รวมถึงตัวแทนผู้สมัครจากทั่วทุกมุมสยามที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีด้วยภาษาถิ่นและชุดพื้นบ้านของพวกเขา

ย่างเข้าสามทุ่ม ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก้าวขึ้นเวที ท่ามกลางเสียงปรบมือและโห่ร้องต้อนรับดังกระหึ่ม สำหรับเขา ณ นาทีนั้น แม้ตรงใจกลาง ‘นรก’ ก็คงรู้สึกอบอุ่นร่มเย็น

“สำหรับเรา-พรรคอนาคตใหม่ ไม่มีคำว่าโหวตในทางยุทธศาสตร์ มีแต่โหวตเพื่ออนาคต โหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง

พรรคอนาคตใหม่ เรียกร้องให้ Vote for change, Vote for hope, Vote forward – โหวตเพื่อความเปลี่ยนแปลง โหวตเพื่อความหวัง โหวตเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า

ภารกิจที่พรรคอนาคตใหม่แบกรับเอาไว้ ไม่ใช่แค่เพียงแค่หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ไม่ใช่เพียงแค่จัดการมรดกตกทอดของ คสช. ไม่ใช่เพียงแค่เอาประชาธิปไตยกลับมา หากแต่เราต้องการรื้อฟื้นความเชื่อมั่นการเมืองแบบประชาธิปไตย การเมืองแบบผู้แทน การเมืองในระบบรัฐสภาที่ถูกทำลายความเชื่อมั่นตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา

เราต้องการฟื้นความเชื่อมั่นนี้ เพื่อดึงให้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกฝ่าย เข้ามารวมกัน แล้วเชื่อมั่นการเมืองแบบประชาธิปไตยอีกครั้ง”

บนเวที เขาประกาศ ‘สัญญาประชาคม’ อีกครั้ง – หนักแน่น คงเส้นคงวา ไม่เคยเปลี่ยน

 

8 มิถุนายน 2562, หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

“นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น” 

5 มิถุนายน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปิดฉากคำแถลงหลังแพ้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา

หนึ่งปีก่อนหน้านี้ จะมีใครสักกี่คนที่กล้านึกถึงฉากการเมืองฉากนี้

หนึ่งปีเต็มจากการสตาร์ทอัพพรรคอนาคตใหม่อย่างเป็นทางการที่อาคารยิมเนเซียม 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันนี้พรรคอนาคตใหม่เตรียมจัดกิจกรรม “1 ปี อนาคตใหม่ เดินไปด้วยกัน” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ในวันนี้พรรคอนาคตใหม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 81 คน จากระบบบัญชีรายชื่อ 50 คน และจากระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 31 คน  ในวันนี้ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้กลายเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  และในวันนี้ พรรคอนาคตใหม่กลายสภาพจากพรรคทางเลือกเป็นพรรคทางหลักในเวทีการเมืองระดับชาติอย่างเต็มภาคภูมิ

ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมนับหนึ่งจับมือสร้างพรรคอนาคตใหม่กับเพื่อนรักอีกสองคน – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ชัยธวัช ตุลาธน – ทำได้อย่างไร

101 ชวนปิยบุตรหลบร้อนจาก ‘นรก’ มาสนทนา ‘วิชาการ’ ในแบบที่เขาชอบบ่นคิดถึง ว่าด้วยสังคมก้าวหน้า ปรัชญาการเมือง และขบวนการพรรคทางเลือก เพื่อถอดรากความคิด คลี่ความรู้สึก ทบทวนปฏิบัติการ และวิพากษ์ผลงานหนึ่งปีแรกของพรรคอนาคตใหม่อย่างตรงไปตรงมา

“สำหรับผม ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในปีแรกคือ เราพยายามทำสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้”

ใช่หรือไม่ใช่, เราไปแลกเปลี่ยนและถกเถียงกับเขากัน …

 

อาจารย์เคยเล่าว่า ตอนเริ่มก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้นำทฤษฎีการเมืองของปรัชญาเมธีหลายคนมาประยุกต์ใช้ ถ้าเราถอดรากความคิดของพรรคอนาคตใหม่ จะพบใครอยู่เบื้องหลังบ้าง

คนแรกคือ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) เขาอธิบายว่า รัฐ (state) เปรียบเสมือน ‘เซนทอร์’ (centaur) ตัวครึ่งม้าครึ่งคน การประกอบขึ้นเป็นรัฐมีทั้งส่วนที่เป็นม้า เรียกว่า Political Society และส่วนที่เป็นคน เรียกว่า Civil Society ส่วนแรกทำงานโดยใช้การบังคับสั่งการ (coercion) ผ่านกลไกรัฐ เช่น กฎหมาย ทหาร ตำรวจ คุก แตกต่างจากส่วนหลัง ที่อาศัยการยอมรับนับถือ (consent) ผ่านกลไกทางวัฒนธรรม ศาสนา การศึกษา สื่อมวลชน

กรัมชีบอกว่าถ้าคุณต้องการสร้างอำนาจนำ (Hegemony) ให้สำเร็จ ต้องทำงานผ่านด้าน Civil Society เป็นหลัก ใช้อำนาจอ่อน (soft power) ทำให้คนเชื่อและปฏิบัติตาม คิดเองอยู่แล้วว่าต้องทำ โดยที่ไม่ต้องใช้กลไกรัฐเข้าบังคับ แต่เมื่อใดก็ตามที่อำนาจนำเริ่มสั่นคลอน คนเริ่มไม่ฟัง ไม่เชื่อ ไม่ปฏิบัติตาม รัฐก็ต้องหันมาใช้ด้าน Political Society เพื่อปราบปราม

ถ้าเราย้อนมองประเทศไทยจะพบว่า วิกฤตการณ์ทางการเมืองเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา มันคือวิกฤตการณ์ของอำนาจนำ (Crisis of Hegemony) นั่นคือ อำนาจนำที่ฝังตัวไว้แต่เดิมเริ่มทำงานไม่ได้ จากเมื่อก่อนที่ไม่ว่าอย่างไรคนก็พร้อมยอมรับนับถือ มาสู่ภาวะที่คนตั้งคำถาม เลิกเชื่อฟัง รัฐจึงเข้ามาจัดการโดยใช้กฎหมาย คุก ทหาร ตำรวจเข้าปราบปรามแทน ในขณะที่อำนาจนำใหม่ก็ยังขึ้นมาแทนที่ไม่ได้สักที มันเลยเกิดการปะทะกันระหว่างอำนาจนำดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ กับพลังใหม่ที่จะสถาปนาอำนาจนำใหม่ขึ้นมา แต่ยังขึ้นมาได้ไม่สำเร็จ

‘อำนาจนำ’ คืออะไร? มันคือความสามารถในการกำหนดเรื่องเฉพาะให้กลายเป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนต้องยอมรับ แม้แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ตาม เช่น เรื่องประชาธิปไตย ต่อให้คุณเป็นเผด็จการก็ยังต้องบอกเลยว่าคุณเป็นประชาธิปไตย 99.99% นั่นหมายความว่าเรื่องความชอบธรรมในการปกครองต้องให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยเสมอ ต่อให้คนไม่เห็นด้วยก็ยังต้องพยายามเดินทางนี้ เพราะฉะนั้น จังหวะของสถานการณ์การเมืองไทยมันพอเหมาะพอควร พลังทางการเมืองของแต่ละฝ่ายเริ่มอ่อนแรงลง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนำของชนชั้นนำ จารีตประเพณีไทย ในขณะที่อำนาจนำของนักการเมืองจากการเลือกตั้งก็ถูกทำลายลงไปเช่นกัน มันจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการสถาปนาอำนาจนำใหม่

 

พรรคอนาคตใหม่ก็เลยเสนอตัวขึ้นมาเป็นผู้เล่นใหม่ในสมรภูมิการช่วงชิงอำนาจนำใหม่นี้?

ถูกต้อง วิธีคิดของกรัมชีมองว่าการยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังทางกายภาพ เช่น กำลังทหาร มวลมหาประชาชน หรือที่เรียกว่า ‘สงครามขับเคลื่อนพื้นที่’ (War of Movement) แค่นั้นไม่สำเร็จหรอก ถ้าคุณไม่ได้เปลี่ยนความคิดคน ดังนั้น กรัมชีจึงบอกว่าต้องทำงานผ่าน ‘สงครามทางความคิด’ (War of Position) ด้วย

 

กรัมชีอาจช่วยตอบโจทย์ว่าทำไมถึงต้องมีพรรคอนาคตใหม่ แล้วใครมาช่วยตอบโจทย์ถัดไปว่า แล้วจะสร้างพรรคอนาคตใหม่กันอย่างไร

ขั้นต่อไป เราก็ต้องคิดถึงภาคปฏิบัติ หาเครื่องไม้เครื่องมือในการช่วงชิงการสถาปนาอำนาจนำใหม่  ช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ผมได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส 6 เดือน เพื่อศึกษาเรื่องรัฐประหารในทางกฎหมาย รวมถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ และจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย  เวลาผมไปศึกษาที่ไหนก็มักจะมีของแถมเรื่องการเมืองตลอด ช่วงนั้นผมนั่งหมกตัวศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของยุโรปในเวลานั้น

หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี ค.ศ.1991 หลายคนบอกว่าเป็นจุดสิ้นสุดของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ (The End of Ideology) แล้ว ไม่มีการแข่งขันกันระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์แล้ว ทุกประเทศถูกบังคับให้เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมือนกันหมด ในทางเศรษฐกิจ ก็ไม่มีความคิดในแบบอื่น ระเบียบเศรษฐกิจโลกขีดเส้นให้คุณต้องเดินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) อย่างที่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยบอกว่า There Is No Alternative.” (TINA) คือไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้ว  เลือกตั้งกันไปเถอะ แต่ไม่ว่าเลือกพรรคไหน นโยบายก็เหมือนกันหมด ในอังกฤษ นโยบายของพรรคแรงงานในยุคโทนี แบลร์ ก็แทบไม่แตกต่างจากพรรคอนุรักษนิยม

การขึ้นสู่อำนาจของพรรคขวาจัดในหลายประเทศของยุโรปก็เริ่มต้นแบบนี้ คือคนรู้สึกว่าเลือกตั้งไปแล้ว ก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เลือกขวากลางหรือซ้ายกลางก็ไม่ต่างกัน  พรรคขวาจัดผงาดขึ้นมาได้ เพราะมันกลับไปปลุกระดมความคิดเรื่องการปกป้องประโยชน์ของประชาชน ปกป้องประโยชน์ของชาติ ต่อต้านการเข้ามาทำงานของคนต่างชาติ ต่อต้านการเข้าร่วมสหภาพยุโรป คือมันได้ใจคนที่เสียประโยชน์จากระเบียบโลกใหม่ ในขณะที่พรรคซ้ายจัดแบบคอมมิวนิสต์ มัวแต่หมกมุ่นตัวเองอยู่ในเรื่องเดิมคือการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ

ในสถานการณ์แบบนี้ เออร์เนสโต ลาคลาว (Ernesto Laclau) และชองตาล มูฟ (Chantal Mouffe) นักคิดสองสามีภรรยา ได้สร้างโรงเรียนทางความคิดยุคหลังมาร์กซิสต์ขึ้นมา โดยพยายามตอบคำถามว่าทำไมวิธีคิดของฝ่ายซ้ายถึงแพ้ตลอด ทั้งคู่เห็นว่า ปัญหาของฝ่ายซ้ายเก่าคือติดคัมภีร์ คิดว่าทุกเรื่องคือการต่อสู้ทางชนชั้น ถ้าไม่สร้างทฤษฎีซ้ายใหม่ขึ้นมา เป็นไปได้ว่าพวกขวาจัดจะขึ้นมาแทน

ทุกวันนี้โลกเผชิญกับประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่น่าสนใจเต็มไปหมด เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางเพศ แต่เวลาคุยกับพรรคฝ่ายซ้ายก็จะได้รับคำตอบว่า เฮ้ย ถูกต้องเห็นด้วย สุดยอด แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก แก่นกลางของปัญหามันต้องปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพก่อน ให้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนนำ เสร็จแล้วคุณก็จะอยู่ในวิธีคิดแบบเดิม กีดกันคนเล็กคนน้อยออกไป พวกขวาจัดก็ตามไปเก็บคนกลุ่มนี้ด้วยการปลุกระดมให้คลั่งชาติขึ้นมา ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่คนเคยเลือกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคน มาวันนี้สวิงกลับไปเลือกพรรคขวาจัด เพราะเขารู้สึกว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แบบที่อยู่ภายใต้สหภาพยุโรปทั้งหมด แบบที่มีวิธีแก้ไขปัญหาแบบรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่าย ทำให้ประชาชนในประเทศลำบาก

ลาคลาวบอกว่า สิ่งที่คุณเรียกว่า ‘ประชาชน’ (people) เป็นหนึ่งในวาทกรรม (discourse) และทุกวาทกรรมล้วนเกิดจากการสร้าง ไม่มีอะไรที่มันเป็นอยู่แล้ว  ‘ประชากร’ (population) เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ ‘ประชาชน’ ในฐานะองค์ประธานทางการเมือง ถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นเมื่อมันถูกสร้างขึ้นมา ก็ต้องช่วงชิงการสร้าง ‘ประชาชน’

วิธีคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยจะพยายามหาฉันทมติแบบราบเรียบไม่มีรอยตะเข็บ ไม่ให้มีความขัดแย้งเลย คือคุณทะเลาะกับฉันภายใต้ระบบรัฐสภา แล้วสุดท้ายก็เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มูฟถึงขนาดบอกว่า การผงาดขึ้นมาของพรรคขวาจัดในยุโรปนั้น พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยทั้งหมดต้องรับผิดชอบ เพราะคุณไม่สนใจพวกคนเล็กคนน้อยแล้ว กลับไปเน้นการช่วงชิงนายทุนน้อยและชนชั้นกลางมาจากพรรคสายกลาง ผนึกกำลังกันกลายเป็นชนชั้นนำแบบใหม่ เขาเคยพูดว่า แบลร์ก็คือแธตเชอร์ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แค่ดูอ่อนโยนกว่าเท่านั้นเอง

ทฤษฎีซ้ายใหม่ของลาคลาวและมูฟ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากคาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) มาอีกที บอกว่า การเมืองเป็นเรื่องของขั้วตรงข้าม มีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ แต่ความขัดแย้งในที่นี้ไม่ได้แบ่งครึ่งตามแนวดิ่ง (vertical) แยกซ้าย-ขวาแบบเดิม แต่แบ่งแบบตัดขวางตามแนวนอน (transversal) สิ่งสำคัญภายใต้การแบ่งแบบใหม่นี้คือคุณต้องนิยามให้ได้ว่าใครเป็น ‘เรา’ และใครเป็น ‘เขา’

‘เรา’ ก็คือคนทุกคนที่ประสบปัญหาจากระเบียบโลกใหม่ ยากลำบากจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่ ได้รับผลกระทบจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ บางคนอาจจะชาตินิยมมาก บางคนอาจจะชาตินิยมน้อย คนทำงานการเมืองต้องไปคุยให้หมดทุกกลุ่ม ทุกคนคือ ‘ประชาชน’ คือ ‘เรา’ ซึ่งต้องร่วมกันต่อสู้กับ ‘เขา’ – ชนชั้นนำจำนวนน้อยในสังคม

มูฟบอกว่า นี่คือแนวทางประชานิยมแบบซ้าย (Left Populist) ความต่างจากประชานิยมแบบขวา (Right Populist) คือ ผู้นำของประชานิยมแบบซ้ายไม่ปลุกระดมเรื่องชาตินิยม แต่มีภารกิจสำคัญในการหลอมรวมผู้คนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานอพยพ ข้าราชการ นักศึกษา หรือ LGBT ก็ตาม

ความท้าทายของแนวทางใหม่นี้ คือจะหลอมรวมความต้องการที่แตกต่างหลากหลายของคนทุกกลุ่มทุกประเภท อันเป็นผลพวงจากระบบโครงสร้างที่ผ่านมา มาเป็นความต้องการของสังคม (Social Demand) ที่จะนำไปต่อสู้กับชนชั้นนำได้อย่างไร  ศิลปะที่สำคัญของผู้นำจึงอยู่ที่การสร้าง Chain of Equivalence หรือห่วงโซ่แห่งการเทียบเท่าเชื่อมโยง เพื่อสร้างความต้องการของทั้งสังคม แสวงหาความต้องการร่วมของ ‘เรา’ เพื่อจะไปสู้กับ ‘เขา’

 

ถ้าใช้แว่นตาของลาคลาวและมูฟมามองวิกฤตการณ์การเมืองไทย คุณมองเห็นอะไร

ในกรณีของสังคมไทย มันไม่เหมือนกับปัญหาในยุโรปเสียทีเดียว แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในบางมิติ เมื่อผมเอาทฤษฎีของลาคลาวและมูฟมาตีความประยุกต์ใช้กับประเทศไทยก็พบว่า วิกฤตการณ์การเมืองตลอด 15 ปีมานี้ ได้แบ่งประชาชนตามแนวดิ่งออกเป็นสองฝ่าย เรียกกันหลวมๆ ว่า ‘เหลือง’ กับ ‘แดง’ แบ่งกันแบบมักง่ายเช่นนี้มาเป็นสิบปีจนถึงขนาดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ พูดคุยกันไม่ได้เลย สภาพการณ์แบบนี้ส่งผลให้เกิดการยึดอำนาจมาแล้ว 2 ครั้งในปี พ.ศ. 2549 และ 2557 การแบ่งครึ่งตามแนวดิ่งแบบนี้เป็นเหยื่ออันโอชะของรัฐบาลทหาร ครั้งหลังครองอำนาจยาวนานมา 5 ปีแล้ว

ภายใต้การแบ่งคนแบบนี้ ฝ่ายแดงก็อ้างความชอบธรรมชุดหนึ่ง ฝ่ายเหลืองก็อ้างความชอบธรรมอีกชุดหนึ่ง ฝ่ายแดงมักอ้างชุดความชอบธรรมจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายเหลืองก็จะอ้างชุดความชอบธรรมที่เรียกว่าระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจ ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งสองสีอ้างแบบนี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับจุดยืนของฝ่ายตน แต่ถามว่ามันเป็นความจริงหรือไม่ เขาเชื่อกันเช่นนั้นจริงหรือไม่ – ไม่รู้นะ

เอาเข้าจริง การแบ่งแบบนี้มันมักง่ายมาก ถ้าคนหนึ่งบอกว่าผมสนับสนุนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ผมก็พร้อมที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลเลือกตั้งด้วย และก็ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากที่พากันไปลงนรกบ่อยๆ ถ้าพูดแบบนี้ ก็อาจจะโดนคนเสื้อแดงบางคนด่าว่ามึงเป็นเสื้อเหลืองหรือเปล่า อีกด้านหนึ่ง ถ้ามีคนบอกว่าคุณตรวจสอบรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ไม่ตรวจสอบรัฐบาลทหารเลย คนเสื้อเหลืองบางคนก็อาจจะบอกว่า อ้าว นี่มึงเป็นเสื้อแดง ทั้งที่ถ้าเราดูเนื้อใน แต่ละฝ่ายไม่สามารถอ้างความชอบธรรมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ อย่างเช่นมันเกิดภาพลวงตากันมาว่า ถ้าใครอยู่ฝั่งแดงแล้ว คุณจะบอกว่าเลือกตั้งๆๆ เลือกตั้งแล้วดีที่สุด ถูกเสมอ แต่คุณพร้อมจะปิดตาทันทีถ้ารัฐบาลจากการเลือกตั้งมีการใช้อำนาจของเสียงข้างมากไปในทางมิชอบ ส่วนทางฝั่งเหลือง คุณจะบอกว่าตรวจสอบๆๆ แต่คุณจะปิดตาข้างเดียวทันทีถ้าคุณเจอรัฐบาลทหาร สุดท้ายก็คิดแต่จะตรวจสอบรัฐบาลที่คุณไม่ชอบเท่านั้นเอง

จะเห็นว่าแต่ละฝ่ายที่อ้างความชอบธรรมต่างก็มีปัญหาในตัวของมันเอง มันสร้างภาพลวงตาที่ทำให้หลงเงาตนเอง หลงสีที่ตนเองสังกัด นานวันเข้าฝ่ายประชาธิปไตยก็จะบอกว่ามีแต่พวกข้าเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าใครพูดคนละประโยค คนละท่วงทำนอง คนละท่วงท่าภาษา ก็ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าพูดคนละท่วงท่า คนละภาษา ก็โดนกล่าวหาว่าไม่ใช่พวกตรวจสอบนักการเมือง ไม่สนใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

เมื่อผมมองการเมืองไทยผ่านแว่นตาของลาคลาวกับมูฟ ก็คิดว่า มันแบ่งกันตามแนวดิ่งแบบนี้ไม่ได้ ต้องแบ่งแบบตัดขวาง เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่มเหลืองหรือแดง เชียร์พรรคการเมืองคนละพรรค เอาเข้าจริง เราได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มันเป็นอยู่มาหลายทศวรรษเหมือนกัน เรามีความต้องการทางสังคมบางอย่างที่เหมือนกัน ซึ่งมันสืบสาวราวเรื่องโยงใยกันมาจากโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยที่แล้วมา เช่น ระบบรัฐรวมศูนย์ส่วนกลาง หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศแบบไม่สมดุล

 

ในกรณีของประเทศไทย คุณตีโจทย์ว่า Chain of Equivalence ที่จะร้อยรัด ‘เรา’ ที่หลากหลายให้เข้าร่วมกันได้ คืออะไร

หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าคุณจะเป็นเหลืองหรือแดง คุณต่างเป็นเหยื่อ เป็นผู้ประสบภัยของปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าใครก็คงไม่ต้องการเห็นสังคมไทยเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นมากกว่านี้ กลุ่มที่ถูกมองว่าเป็นเหลือง คือคนเมืองหรือคนชั้นกลาง ก็เป็นได้แค่มนุษย์ออฟฟิศไปเรื่อยๆ หลายคนไม่มีวันที่จะขยับชนชั้นขึ้นได้เหมือนกัน ส่วนคนชนบทที่มักถูกมองว่าเป็นแดง ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากกับดักความยากจนชุดเดิมๆ ได้แน่นอน จะเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ร่วมกันของทุกฝ่าย แต่ถ้าคุณเอาแต่ตัดแบ่งคนเป็นกลุ่มตามแนวดิ่ง แยกเหลือง-แดง แค่นี้ก็ไม่คุยกันแล้ว

สอง การกระจายอำนาจ ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ ผมไปภูเก็ต พี่น้องก็อยากได้รูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษเป็นมหานคร เก็บภาษีได้เอง จะได้มีเงินไว้ใช้ในพื้นที่ ผมไปเชียงใหม่ พี่น้องก็อยากเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ อีกหลายจังหวัดทั่วประเทศก็อยากเดินตามแนวทางจังหวัดจัดการตนเอง จะเห็นว่าคนภูเก็ตเลือกพรรคหนึ่ง คนเชียงใหม่เลือกอีกพรรคหนึ่ง ถ้าเราแบ่งคนตามแนวดิ่งก็คุยกันยาก แต่ถ้าแบ่งแบบตัดขวาง จะเห็นว่าเขาเป็นแนวร่วมที่เผชิญปัญหาเดียวกัน

สาม สิทธิเสรีภาพ เรื่องนี้ควรเป็นจุดยืนพื้นฐานไม่ว่าคุณสังกัดสีอะไร พอรัฐบาลทหารครองอำนาจมายาวนานมันยิ่งเห็น ทุกฝ่ายโดนเล่นงานกันหมด ไม่ว่าเหลืองหรือแดง และถ้าคุณดูประเด็นต่างๆ จะเห็นว่าการชุมนุมต่อต้านเรื่องเหมืองแร่ สิ่งแวดล้อม ที่ดิน ฝุ่นพิษ มันมีสารพัดสีอยู่ในนั้น

สี่ การศึกษา ทำอย่างไรให้คนไทยมีเสรีภาพในการหาความรู้ ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยม

ตัวอย่างทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า เราแบ่งครึ่งผ่ากลางประชาชนให้แยกเป็นสองสีแบบนี้ไม่ได้ ต้องตัดแบ่งตามแนวขวาง นิยามกันใหม่ว่า ‘เรา’ คือใคร ‘เขา’ คือใคร  ไม่ว่าชาวนา ชาวประมง คนชนบท คนเมือง คนชั้นกลางระดับล่าง คนชั้นล่าง หรือแม้กระทั่งมนุษย์ออฟฟิศ ข้าราชการประจำ ครู นักธุรกิจ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี แรงงาน ทุกๆ คนมีปัญหาของตัวเองเต็มไปหมด และมีความแตกต่างหลากหลายกันอยู่ในนั้น มันต้องสร้างห่วงโซ่แห่งการเชื่อมโยงปัญหาของคนทุกกลุ่มให้มาเทียบเท่ากันให้ได้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย แล้วหลอมรวมความต้องการของคนทั้งสังคมเหล่านี้มาชนกับคนชั้นนำ ซึ่งเป็นกลุ่มคน 1% ที่ดูดซับเอาทรัพยากร อำนาจ และทุนของประเทศไว้อยู่กระจุกเดียว ส่วนคนที่เหลือไม่ว่าคุณจะชอบสีไหน เชียร์พรรคไหนอะไร ต่างก็ต้องลำบากด้วยกันหมดทั้งสิ้น ในขณะที่คนชั้นนำ 1% ที่ว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือกองทัพ ก็อยู่ได้เหมือนเดิมตลอด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

ทีนี้พอเรามองการเมืองด้วยแว่นตาแบบนี้ ภูมิทัศน์ใหม่ของการเมืองจะเป็นอย่างไร โจทย์ของการจัดการการเมืองใหม่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าหากใช้วิธีแบ่งกลุ่มคนแบบตัดขวาง รวมทุกคนมาเป็น ‘เรา’ หมดแล้ว จะจัดการกับความหลากหลายอย่างไร เพราะ ‘เรา’ ก็มีผลประโยชน์ที่หลากหลาย แถมขัดกันเองอีก ทั้งยังข้ามอุดมการณ์ ข้ามชนชั้นด้วย

มูฟพยายามรวบรวมเอาเหยื่อทั้งหมดของเสรีนิยมใหม่เข้ามารวมกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตอนนี้มันเกิดวิกฤตการณ์อำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ ทุกคนร้อยรัดกันเพื่อต่อสู้ในการสถาปนาอำนาจนำชุดใหม่แทน นี่คือสิ่งเขาคิด ทีนี้ถามว่าแล้วเขาใช้เครื่องมือหรือวิธีการอะไร

คำตอบคือการทำสงครามทางความคิด โดยเข้าไปสู้ทุกสนาม แม้กระทั่งในสนามของคู่แข่ง ลาคลาวพยายามนำเสนอตลอดว่า คุณต้องเข้าไปช่วงชิงการนิยามคำทุกคำที่ถูกสร้างขึ้นเป็นวาทกรรม คำแต่ละคำเริ่มต้นขึ้นมาด้วยความหมายอันว่างเปล่า มันต้องต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงคำนิยาม

พรรคโปเดมอส (Podemos) ของสเปน นำแนวความคิดเหล่านี้มามาประยุกต์ใช้ อย่างเช่นคำว่า ‘ชาติ’ (nation) ซึ่งพวกฝ่ายขวาชอบเอามาใช้บ่อยๆ เวลาพวกฝ่ายซ้ายได้ยินคำนี้ ก็ไม่เอาเลย ทำให้เสียโอกาสในการต่อสู้ช่วงชิงคำนิยาม  พรรคโพเดมอสก็ไปชิงคำว่า ‘ชาติ’ มานิยามเสียใหม่ ว่า ‘ชาติ’ คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือความเท่าเทียมกัน คือการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีตั้งแต่เกิดจนตาย เขาใช้สื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเข้าไปช่วงชิงในทุกสนาม ถ้าสื่อกระแสหลักไม่ทำงาน เขาก็ทำสื่อของเขาขึ้นมาเล่นเอง ปาโบล อิเกลเชียส (Pablo Iglesias) ผู้นำหมายเลขหนึ่งของพรรค อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ที่มาดริด เขารู้ว่าคนสเปนบ้าโทรทัศน์ ก็ตั้งกล้องตัวเดียว ทำรายการของตัวเองขึ้นมา เอาซีรีส์ Game of Thrones มาเล่าในมุมการเมือง ทำจนดัง คนดูมหาศาล

ครั้งหนึ่งหลังจากกษัตริย์ ฆวน คาร์ลอส (Juan Carlos) สละราชสมบัติ แล้วเจ้าชายเฟลิเป (Felipe) ขึ้นครองราชย์แทน ในการประชุมสภายุโรป เมื่อกษัตริย์เฟลิเปเสด็จเปิดประชุม ตอนนั้นอิเกลเชียสเป็นสมาชิกสภายุโรปในนามพรรคโปเดมอสก่อนมาลงเลือกตั้งในประเทศทีหลัง ตัวเขาไว้ผมยาว หางม้า มัดผม เสื้อเชิ้ตลายสก็อตพับแขน กางเกงยีนส์ ไม่มีการใส่สูทผูกไทด์อะไรทั้งสิ้น เมื่อพบกษัตริย์เฟลิเป อิเกลเชียสก็เชคแฮนด์ทักทาย แล้วให้ของขวัญหนึ่งชิ้น เป็นซีรีส์ Game of Thrones แล้วก็พูดประโยคหนึ่งว่าอยากให้พระองค์ไปดู จะเห็นว่าทุกย่างก้าว มันคือการขยับทางความคิดทั้งหมด ถ้าเทียบกับพรรคฝ่ายซ้ายสมัยก่อน ก็อาจจะบอกว่า เฮ้ย เราไม่ไปเจอ เราไม่สนับสนุนระบอบนี้ ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการต่อสู้ในสนามความคิด

หัวใจสำคัญของการต่อสู้ในสนามความคิดคือ ศิลปะของผู้นำ คนเป็นผู้นำต้องมีความสามารถในการแสวงหาจุดร่วมของ ‘เรา’ ทั้งหมดให้ได้ แล้วโยงให้ได้ว่าสิ่งที่คุณเจอมันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ในทางปฏิบัติตอนนี้ปัญหาที่ทั้งพรรคโปเดมอส และพรรคลา ฟรองซ์ แอ็งซูมิส (La France Insoumise) ของฝรั่งเศสต้องเผชิญ คือข้างในพรรคก็มีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น สิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องรอพิสูจน์กันต่อไปก็คือพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นตามทฤษฎีพวกนี้ยังไม่เคยได้เป็นรัฐบาลเลยสักพรรค เวลาคุณระดมคนขึ้นมาต่อสู้กับพวกชนชั้นนำ ยังไม่มีอำนาจบริหาร โจทย์ก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ในวันที่คุณมีอำนาจบริหาร บทพิสูจน์มันจะยากมากขึ้น

 

พรรคทางเลือกเหล่านี้ตอบโจทย์ยากๆ ของการเปลี่ยนผ่านจากการต่อสู้ในสนามความคิดและคำพูด มาสู่การต่อสู้ในสนามนโยบายที่เป็นรูปธรรมขึ้นอย่างไร

ทั้งพรรคโปเดมอส และพรรคลา ฟร็องซ์ แอ็งซูมิส ต่างพยายามทำฟอรัม ดึงการมีส่วนร่วมของคนให้ทั่วถึงและหลากหลาย จัดเป็นวงต่างๆ ขึ้นทั่วประเทศ ผมเข้าไปดูนโยบายของพรรคโปเดมอสแล้ว พบว่ามันเจ๋งมาก ครอบคลุมคนทุกกลุ่มหลายประเด็นยิบๆ ย่อยๆ เต็มไปหมดเลย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม คือต้องสร้างฟอรัมให้มากที่สุด ผู้นำพรรคจะได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนทั่วถึง และใช้เป็นฐานในการแสวงหาจุดร่วมระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายได้

ในยุโรป เป้าหมายหลักที่มูฟคิดเรื่องประชานิยมแบบซ้ายขึ้นมา ก็เพื่อต่อสู้สองด้าน ด้านหนึ่ง ใช้ต่อสู้กับกลุ่มขวาจัด โดยเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน ถ้าไม่มีซ้ายประชานิยมขึ้นมา เสร็จพวกขวาจัดแน่ อีกด้านหนึ่ง ต้องการผลักดันแนวคิดประชานิยมแบบซ้ายเข้าไปแทนที่เสรีนิยมใหม่

หันกลับมาดูประเทศไทย ผมมานั่งคิดว่าทำไมคนจำนวนมากที่ออกไปไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ถึงหันมาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ คำตอบอาจเป็นเพราะคนเหล่านี้ผิดหวังกับการเมืองในระบบรัฐสภา ทีนี้ประเทศไทยไม่มีพรรคการเมืองขวาจัดแบบยุโรป จึงหันไปหาทหารแทน ดังนั้นเราต้องฟื้นความเชื่อมั่นให้กับระบบการเมืองปกติ ให้คนรู้สึกว่าออกไปเลือกตั้งแล้วมีความหมาย ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จก็เป็นเหมือนเดิม ถ้ามีพรรคการเมืองรูปแบบใหม่เกิดขึ้น มันจะเกิดตัวเลือกใหม่ที่เขย่าการเมืองแบบเดิม

นี่คือที่มาของพรรคอนาคตใหม่ที่เรานำเอาแนวคิดทฤษฎีเหล่านี้มาลองประยุกต์ใช้ … เลือกเรา แล้วการเมืองจะเปลี่ยนเป็นอีกแบบ

 

อยากให้เล่าตัวอย่างรูปธรรมของการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีเหล่านี้ในปฏิบัติการสร้างพรรคอนาคตใหม่

เรื่องแรก การขีดเส้นแบ่งใหม่ เราต้องยุติการแบ่งขั้วแยกข้างแบบเหลือง-แดง และพยายามขีดเส้นแบ่งใหม่ว่านี่เป็นการสู้กันระหว่าง ‘เรา’ ประชาชนคนธรรมดา กับ ‘เขา’ ชนชั้นนำ 1% ที่ได้ประโยชน์โพดผลจากโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจแบบที่เป็นอยู่

เรื่องที่สอง การสร้าง ‘ประชาชน’ โดยการหลอมรวมผู้คนที่แตกต่างหลากหลายมาต่อสู้ในประเด็นก้าวหน้าร่วมกัน เป็นการหลอมรวมที่ยกระดับคุณภาพของการต่อสู้ในเชิงประเด็น ไม่ใช่แค่หลอมรวมเพื่อเอาแต่จำนวนตัวเลขเยอะๆ

เรื่องที่สาม การคืนความเป็นการเมืองให้กลับมาใหม่ ที่ผ่านมาความเป็นการเมืองถูกถอดออกไปจากสังคม (Depoliticization) การเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องสกปรกน่ารังเกียจ เป็นเรื่องของความขัดแย้งรุนแรง เป็นเรื่องน่าเบื่อ นอกจากนั้น การดีเบตถกเถียงในประเด็นสาธารณะไม่หลงเหลืออีกเลย มีแต่เรื่องที่ผู้มีอำนาจ ข้าราชการ เทคโนแครต จัดมาให้แล้ว นั่นหมายความว่า ประชาชนมันหายไปจากการเมืองโดยสิ้นเชิง เราต้องฟื้นประชาชนให้กลายเป็นองค์ประธานทางการเมืองขึ้นมาให้ได้ ให้ประชาชนกลับมาคิดว่าการเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันของเขา จึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองให้มาก

พรรคอนาคตใหม่ตั้งใจเข้าไปต่อสู้ทางความคิด ช่วงชิงการนิยามทางการเมืองในทุกๆ สนาม ยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 นี่คือสนามของเขา เขาออกแบบรัฐธรรมนูญมาชัดเจนเลยว่ายังไงก็ต้องได้จัดตั้งรัฐบาล ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบทุกอย่าง กระนั้น เราต้องลงแข่ง เดินเข้าไปสู้ในสนามของเขา สู้ไปชี้ให้เห็นปัญหาไปเรื่อยๆ เราต้องชิงวาระไปเรื่อยๆ ถ้าเสียงถึงเมื่อไหร่ต้องลองเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แน่นอนว่า ด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่กำหนดไว้ มันแก้ไม่ได้หรอก แต่ก็ต้องทดลองขยับเส้นต่อไป

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ในช่วงหลัง ผมเลยพยายามพูดถึงคำว่า ‘ชาติ’ มากขึ้น พูดถึง ‘ความเป็นไทย’ มากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราอาจจะไม่สนใจ ปล่อยให้พวกอนุรักษนิยมพูดไป แต่วันนี้เราต้องเอา ‘ชาติ’ และ ‘ความเป็นไทย’ กลับมานิยามใหม่

‘ชาติ’ คือประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนรวมกัน ชาติก็ไม่เกิด ดังนั้น ชาติจึงมีความหมายว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตั้งแต่เกิดจนตาย ชาติคือการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะที่ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในชาติ ความรักชาติก็คือการที่คุณมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการทำสิ่งเหล่านี้

ส่วน ‘ความเป็นไทย’ คือสิ่งที่คนไทยยึดมั่นยึดถือ โดยที่ไม่กดทับความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถอยู่กับสากลได้

 

 

เรื่องที่สี่ เทคโนโลยีอยู่ข้างเรา ช่วยให้เราใช้สื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่ความคิดได้อย่างเต็มที่  ในการหาเสียงเลือกตั้งเราไม่ได้ใช้แผ่นพับหรือป้ายหาเสียงมากนัก พรรคอนาคตใหม่ประเมินว่านี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียทำงานเต็มรูปแบบ เราเลยเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ อีกทั้งในเคราะห์ร้ายก็มีโชคอยู่ด้วย เพราะสื่อกระแสหลักไม่ค่อยให้การต้อนรับเราในช่วงแรก ไม่เสนอข่าวเราเลย ดังนั้น เราจึงต้องสร้างทีมสื่อเองในพรรค โดยใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารตรงกับประชาชนเป็นหลัก

เราทำรายการแรกชื่อ คืนวันศุกร์ให้ประชาชน จงใจล้อไปกับรายการ คืนความสุข ให้คนในชาติ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งชื่อให้คล้ายกัน เวลาตรงกันเป๊ะ แล้ววัดกันว่าคนไทยอยากดูอะไร  เวลาเรารณรงค์รับสมัครสมาชิกพรรค เราพยายามสร้างฟอรัม สร้างทาวน์ฮอล ใช้ประเด็นปัญหานำ ชวนคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ มาเข้าร่วม ไม่ใช่สักแต่เกณฑ์คนมากัน ทำงานแต่กับแกนนำ  ตอนเรารณรงค์หาเสียง เราใช้อินโฟกราฟิกเป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้คนเข้าใจประเด็นง่ายๆ ผ่านภาพไม่กี่ภาพ

ในแง่การสื่อสารกับสังคม เราพยายามยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังแก้ตรงนี้ยากอยู่ เนื่องจากการเมืองไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ติดอยู่กับเกมการตลาดการเมือง (Political Marketing) ที่พรรคไทยรักไทยเป็นคนเริ่มต้น กล่าวคือ นโยบายที่ขายคำเท่ๆ สั้นๆ เข้าใจง่ายๆ พูดชื่อนโยบายปุ๊บแล้วได้คะแนนเสียงกลับมาแน่ๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ในสนามนี้ สู้ให้ตาย เราก็แพ้ แล้วโจทย์ของเราคือการสร้าง Chain of Equivalence เราเลยอยากยิงไปให้ถึงใจกลางของปัญหาเชิงโครงสร้าง เราพยายามชูนโยบายในลักษณะที่เป็นเรื่องโครงสร้างของประเทศ แต่ความยากอยู่ตรงที่คนอ่านแล้วเข้าใจยาก ได้คำว่า ไทยสองเท่า มาคนก็ยังไม่ค่อยเก็ต ต้องขยายต่อว่า คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก ก็ต้องสู้กันต่อไป แต่คำที่เราใช้ หลายคำก็ติดตลาด เช่น ปิดสวิตช์ ส.ว.

เรื่องที่ห้า การทำงานการเมืองในฐานะโครงการทางการเมือง (Political Project) พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองเห็นแค่การเลือกตั้งเป็นครั้งๆ เราเลยไม่อยากสู้ด้วยการใช้คำแข่งกันเท่านั้น เราตั้งใจเปลี่ยนเส้นทางทางการเมืองให้ประชาชนเริ่มคิดจากประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การปราศรัยก็พยายามปรับจากแบบเดิมที่ยืนบนโพเดียมเชยๆ คนฟังไม่ได้มีส่วนร่วม โดยออกแบบการปราศรัยแบบใหม่ให้สนุกสนานขึ้น นับรวมทุกคน ทำให้เป็นเวทีที่คนธรรมดามีส่วนร่วมได้

วันปราศรัยใหญ่ก่อนการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ มีแกนนำขึ้นพูดแค่สามคน คือคุณธนาธร คุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) และผม ส่วนคนอื่นๆ เป็นตัวแทนของคนทุกภาค และคนทุกประเภท เมื่อภารกิจของพรรคเราคือการหลอมรวมความต้องการของคนทุกกลุ่ม หัวใจสำคัญคือความหลากหลาย เราต้องการสะท้อนภาพว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของทุกกลุ่ม ตัวแทนภาคเหนือก็ให้มาอู้กำเมืองเลย ภาคอีสานคือสุภาพ ติณรัตน์ หมอลำสุภาพดาวดวงเด่น ก็ร้องหมอลำเลย ส่วนภาคใต้ ก็ใส่ชุดโนราห์เลย ตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.เขตสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มาพูดภาษายาวีบนเวที ในส่วนภาคกลางก็เป็นชาวนาจริงๆ นอกจากนั้น ยังมีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ และ LGBT ขึ้นเวทีปราศรัย

หลังการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่ก็ยังไม่หยุด ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทย เมื่อเลือกตั้งเสร็จ จะกลายเป็นพรรคสภา พรรคการเมืองเปล่งสกาวที่สุดเฉพาะช่วงเลือกตั้ง พอหมดเลือกตั้งปั๊บมันดับเลย ไปอยู่กันแต่ในสภา ในทำเนียบรัฐบาล พอเลือกตั้งใหม่ถึงกลับมาเปิดพรรคการเมืองกันใหม่ ในต่างประเทศไม่ใช่แบบนี้ พรรคการเมืองเขาทำกิจกรรมทุกวันอย่างต่อเนื่อง พรรคอนาคตใหม่เลยเริ่มต้นเดินเครื่องหลังเลือกตั้งทันที ไม่ใช่แค่เดินทางไปขอบคุณคะแนนเสียงในพื้นที่ต่างๆ เท่านั้น แต่เราจะไปสร้างฟอรัม Future is now. อนาคตใหม่เริ่มได้ทันที ทั่วประเทศ ในห้วงยามแห่งความสิ้นหวัง ไม่รู้ว่าเลือกตั้งไปแล้ว สุดท้ายจะเปลี่ยนอะไรได้แค่ไหน พรรคอนาคตใหม่ไม่รอ เราเริ่มทันทีด้วยตัวเอง เราเดินทางไปจังหวัดต่างๆ รณรงค์รับสมัครสมาชิก เปิดบรรยายสาธารณะ จัดกิจกรรมระดมทุน จัดฟอรัมเก็บความรู้ในประเด็นปัญหาต่างๆ ของคนกลุ่มต่างๆ แม้วันนี้ไม่รู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ แต่เราตั้งใจจะทำงานเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ตลอดเวลา หลังจากนี้ เรายังวางแผนว่าจะจัด Future Festival เทศกาลเชิงวัฒนธรรม ดูหนัง ฟังเพลงกัน

ในส่วนของโซเชียลมีเดีย เราเปิดรายการ ตลาดวิชาอนาคตใหม่ เปิดบรรยายความรู้สู่สาธารณะ ขึ้นกระดานสอนเหมือนในห้องเรียนเลย หัวข้อที่ผมสอน เช่น วิชารัฐประหาร 101, ส.ว.101, การสืบทอดอำนาจ 101 กระทั่งคุณธนาธรก็มาเปิดวิชางบการเงิน 101 ส่วนอีกรายการหนึ่งชื่อ Unfinished Democracy หรือ ประชาธิปไตย (ไม่) สมบูรณ์ เพราะประชาธิปไตยคือโครงการทางการเมืองที่ไม่มีวันสิ้นสุด มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ระบอบประชาธิปไตยถูกออกแบบมาให้ปรับตัวทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ รายการนี้จะสะท้อนถึงปัญหาของประชาธิปไตยที่ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา รวมทั้งปัญหาของพรรคอนาคตใหม่เองด้วย

เรายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าพรรคอนาคตใหม่ยังไม่สมบูรณ์ ถ้ามีปัญหาเรื่องอะไร เราจะมาเล่าให้ฟังเลย เช่น เราเคยทำระบบการเลือกตั้งขั้นต้นภายในพรรค (primary) แต่ไม่สำเร็จ ก็จะมาเล่าให้ฟังว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร เราตั้งใจส่งผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงและกลุ่มหลากหลายทางเพศมากกว่านี้ แต่เรายังทำไม่ได้ตามเป้า พรรคเรามี ส.ส. ผู้หญิงแค่ 12 คน ส.ส. กลุ่มหลากหลายทางเพศ 4 คน ซึ่งไม่มากเท่าที่เราต้องการ เรายังจัดปาร์ตี้ลิสต์แบบไขว้ชาย-หญิงไม่ได้ ทั้งหมดนี้เราเปิดเผยความไม่สมบูรณ์ของเราให้คนเห็นว่า เราไม่ใช่คนที่ทำอะไรแล้วสำเร็จทันที แต่พรรคอนาคตใหม่เป็นโครงการทางการเมืองที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

พรรคอนาคตใหม่พยายามทำงานการเมืองในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากพรรคอื่น ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเราไปเรื่อยๆ การนิยามการเมืองใหม่และการเมืองเก่าก็จะเกิดขึ้นทันที หลายคนเริ่มพูดกันแล้วว่า นี่มันพรรคอะไรวะ ไม่เห็นเคยมีพรรคไหนทำแบบนี้เลย ทำไมเลือกตั้งเสร็จแล้วยังมาเหนื่อยทำกิจกรรมพวกนี้อีก สำหรับผม นี่คือการสร้างความแตกต่างระหว่างการเมืองใหม่กับเก่า แล้วทีนี้ถ้าพรรคอื่นเห็นว่าเราทำแล้วดี ก็มาทำด้วยกันเยอะๆ การเมืองไทยก็ดีขึ้นเอง

เรื่องที่หก การกำหนดวาระ ‘ปักธง’ หรือกำหนดวาระใหม่ให้กับสังคม ถ้าลองย้อนกลับไปดู เราเริ่มปักธงได้หลายธงแล้ว ธงแรกคือการใช้คนหน้าใหม่ลงการเมืองทั้งหมด คนไม่เชื่อหรอกว่าการเอาคนหน้าใหม่ลง ส.ส.ทั้งหมดจะเป็นไปได้ คนวิจารณ์ว่าเราส่งโนบอดี้ลงเพื่อเก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้แกนนำเท่านั้น แต่สุดท้ายเราก็ได้ ส.ส.เขตมา 30 คน เราหาเสียงโดยไม่มีหัวคะแนนเลย ใช้การเคาะประตูบ้าน เราใช้งบประมาณหาเสียงน้อยมาก ผมเชื่อว่าน้อยที่สุดในทุกพรรค พอไม่มีเงิน ผู้สมัครหลายคนก็ต้องคิดวิธีหาเสียงอย่างสร้างสรรค์สารพัดวิธี

เราปักธงเรื่องนโยบาย เช่น การปฏิรูปกองทัพ การกระจายอำนาจ เราปักธงทางการเมือง เช่น ชี้ให้เห็นถึงการสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพลเอกประยุทธ์ ชวนดีเบตไปให้ไกลกว่าเรื่องนายกฯ คนใน-คนนอก เราเฟรมให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกระหว่างการเอาหรือไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช.

วันที่เราไปรับเอกสารรับรองการเป็น ส.ส. จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอนแรกผมก็ไม่คิดจะไปเอง เพราะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสลักสำคัญและสามารถมอบอำนาจให้ใครไปรับแทนก็ได้ คุณธนาธรก็คิดเหมือนกันว่าเสียเวลาทำงาน แต่พอกลับไปคิดก็เห็นว่าเราสามารถหยิบบางประเด็นมาทำให้คนเห็นความสำคัญได้ ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะลดทอนเสียงของประชาชนลง โดยมี กกต.เป็นเครื่องมือสำคัญ เราก็เลยถือโอกาสนั้นจุดประเด็น ผมเดาว่าตอนรับเอกสารรับรอง ตามสูตรสื่อก็จะต้องให้เราชูเอกสารถ่ายรูปโชว์ จริงๆ กกต. คงไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งที่ทำเอกสารเสียสวยงาม คงตั้งใจให้เราเก็บไว้เป็นที่ระลึก พอถึงจังหวะที่สื่อให้ชูเอกสารรับรองถ่ายรูป ผมก็ไม่โชว์ และบอกเลยว่า ผมเป็น ส.ส. เพราะประชาชนเลือกผม เพราะบัตรเลือกตั้งที่ประชาชนกาแล้วหย่อนใส่หีบให้อนาคตใหม่ กกต.ไม่เกี่ยว ไม่ใช่ใบปริญญาแบบนี้  หรือตอนผมโดนข้อหาหมิ่นศาล แทนที่จะไปให้จบๆ เราก็ถือโอกาสเปิดบรรยายเรื่องหมิ่นศาลเสียเลย

พูดง่ายๆ ว่า ในทุกจังหวะ ในทุกวิกฤต เราถือว่ามันเป็นโอกาสในการขยับความคิดคนได้ตลอด เราพยายามใช้ประเด็นที่กระแสสังคมสนใจเป็นตัวนำ แล้วพยายามปรับจังหวะก้าวตลอดเวลา ต้องขอบคุณเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่ช่วยเราได้มาก

 

ความยากของการทำพรรคแนวนี้คือการจัดการกับความหลากหลาย ยิ่งพรรคขีดเส้นแบ่งแนวใหม่ พลิกจากเกมเดิม คงต้องต่อสู้กับทั้งกลุ่มเก่าในเกมเก่าและกลุ่มใหม่ในเกมใหม่ เราจัดการกับความยากตรงนี้อย่างไร

ยอมรับว่ายากมาก ที่ผ่านมาถ้าเราลองสำรวจโซเชียลมีเดีย พรรคอนาคตใหม่จะโดนกลุ่มที่มักถูกเรียกว่า ‘เสื้อแดง’ ด่าเยอะที่สุด เลย มึงเป็นประชาธิปัตย์หรือเปล่า มึงเป็นสลิ่มหรือเปล่า อีกด้านหนึ่งก็ไม่รอดจากกลุ่มที่ถูกมองเป็น ‘เสื้อเหลือง’ เหมือนกัน นี่เป็นพรรคทักษิณ เป็นพรรคเครือข่าย เป็นพรรคสาขาปลอมตัวมา คือโดนทั้งสองข้าง

พรรคการเมืองที่เอาแนวคิดทฤษฎีของลาคลาวและมูฟไปใช้พยายามจะไม่ยึดติดคำแบบดั้งเดิม (orthodox) ไม่ใช่ทุกอย่างเริ่มที่ปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพหรือสหภาพแรงงาน ถ้าเป็นลัทธิเหมาก็ทุกอย่างเริ่มที่ชาวนา หรือแบบไทยๆ ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงก็เข้าร้านเหล้าเล่นเพลงเพื่อชีวิต ปักธงแดงกลางนคร ปิดอำลาด้วยเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาของจิตร ภูมิศักดิ์  ในทางตรงกันข้าม พรรคการเมืองซ้ายใหม่จะพยายามเปลี่ยนคำใหม่ เปลี่ยนวิธีพูดเพื่อดึงให้คนจำนวนมากสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้

บทความหนึ่งของอิเกลเชียสใน Jacobin Magazine บอกว่า ‘The Left can win.’ แน่นอนว่าเขาไม่ยอมเสียคำว่า Left แต่ Left แบบเขาต้องไม่กีดกันคนอื่นออกไป และต้องชิงคนกลับมาให้ได้ เขาใช้คำว่า ‘สถาปนาประชาชน’ หรืออย่างฌอง-ลุค เมลองชง (Jean-Luc Mélenchon) ของพรรคลา ฟร็องซ์ แอ็งซูมิส มีเยาวชนอาสามาสร้างเกมให้ เป็นเกมฮีโร่สู้กับเหล่าร้าย ไล่ทุบนายทุนร่ำรวยที่หนีภาษี เอาทรัพย์สินไปซ่อนตามเกาะต่างๆ  คือถ้าคุณยังยึดติดกับวิถีฝ่ายซ้ายดั้งเดิม คุณไม่มีทางทำแน่นอน เพราะมัวแต่ตกอยู่ในห้วงเวลาโรแมนติกแบบเดิมที่เคยสำเร็จมาในทศวรรษ 1940-50 อินอยู่แค่นี้

ผมนึกถึงหนังสือ LeftWing Melancholia โดย Enzo Traverso หนังสือเล่มนี้บอกว่ามันเป็นวิกฤตของฝ่ายซ้าย พวกฝ่ายซ้ายจะรู้สึกเศร้าหมองในชีวิตอยู่ตลอดเวลา และรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ อยู่ภายใต้ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ แล้วก็กลับไปคิดถึงอดีตอันหวานชื่นแต่หนหลัง อยู่กันแบบนี้

เหมือนกัน เวลาคุณอยากเปลี่ยนแปลงสังคม คุณก็ไปเปิดเพลง หงา คาราวาน ฟังให้ไฟลุกโชน หรือเปิดดู Les Misérables โอ้โห ไฟเต็มเปี่ยม คุณหล่อหลอมชโลมจิตใจด้วยภาพยนตร์และดนตรี จิบไวน์นั่งกินมีความสุข ดูเสร็จแล้ว โอเค จบ ออกไปทำธุรกิจกันต่อ มันกลายเป็นแบบนี้เต็มไปหมดเลย ในยุคนี้ผมมองว่าต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ โอเค คุณยังเป็น Left แต่ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การต่อสู้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ความหลากหลายของคนมันมากมาย ความหลากหลายของประเด็นก็มหาศาล คนเป็นเสรีชนมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นคุณจะมัวถือหนังสือปกแดง เรียกร้องให้นั่งท่องกันทุกคน ร้องเพลงเพื่อชีวิต แต่งกายแบบ 5 ย. ใครไม่เข้ารูปแบบนี้ ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน ก็กีดกันคนออกไปอีก แบบนี้ไปต่อไม่ได้ มันต้องใช้วิธีการใหม่

 

พรรคอนาคตใหม่รับมือโจทย์นี้อย่างไร

บทพิสูจน์ของเราคือความหลากหลายในพรรค ตอนนี้บทพิสูจน์นี้ยังไม่ถูกทดสอบเพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และกระแสพรรคยังขึ้นสูง นั่นหมายความว่าทุกคนก็รอมชอมต่อกันและกัน เพราะว่าเป้าหมายใหญ่ยังไม่สำเร็จ แต่ความยากจะเกิดขึ้นทันทีถ้าเป็นรัฐบาล เพราะสุดท้ายคุณต้องตัดสินใจว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง จะเลือกทำเรื่องนี้ เลือกไม่ทำเรื่องนั้น อันนี้มีปัญหาแน่นอน

นอกจากนั้นยังมีเรื่องวัฒนธรรมที่ต่างคนต่างคิดและรู้สึกอย่างหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ส.ส.กลุ่มความหลากหลายทางเพศของเราแต่งชุดตามเพศสภาพไปรายงานตัวที่รัฐสภา ปรากฏว่าในเฟซบุ๊ก คนเลือกพรรคอนาคตใหม่จำนวนไม่น้อยไม่พอใจ ไม่ได้รังเกียจเรื่องความหลากหลายทางเพศนะ แต่วิจารณ์ว่าทำไมไม่เคารพสถานที่ หรือเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต เรื่องการทำแท้งถูกกฎหมาย เรายังไม่มีโอกาสหยิบมาเป็นวาระในการพูดคุยกันภายในพรรคเลย เมื่อคุณมีคนที่หลากหลายมาปะปนกันอยู่ในพรรคเดียวกัน มันก็มีความยากในการทำงาน แต่นั่นก็เป็นภารกิจของเราที่ต้องทำงานทางความคิดแม้กระทั่งในหมู่คนในพรรคด้วยกันเองด้วย

สำหรับคนนอกพรรค ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจการตีเส้นการเมืองใหม่ ว่าเราไม่ได้แบ่งคนตามแนวดิ่งแยกเหลือง-แดงแบบเดิม แต่เราแบ่งตัดขวางตามแนวนอน โจทย์สำคัญของเราคือต้องการยุติการแบ่งขั้วแยกข้างเหลือง-แดงแบบเดิม ผมไม่เคยคิดว่าจะต้องสลายสีเหลือง-แดง คนชอบวิจารณ์ว่าสีส้มคือเหลืองกับแดงผสมกันใช่ไหมล่ะ ผมยืนยันตลอดว่าไม่ใช่ เราคิดว่าสีส้มมันอินเทรนด์ สว่างไสวดีต่างหาก แล้วเราก็ไม่เคยบอกให้เลิกแล้วต่อกันผ่านการนิรโทษเหมาเข่ง หลายคนวิจารณ์ว่าคุณลืมคนตายหรือ คุณเหยียบศพคนเสื้อแดงหรือ ยืนยันว่าไม่ใช่ แต่จุดประสงค์ของเราคืออยากชวนให้คุณออกจากภาพลวงตาให้ได้ว่ามีแต่พวกข้าเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย หรือมีแต่พวกข้าเท่านั้นที่ตรวจสอบคอร์รัปชัน ประเด็นเหล่านี้มันถูกแบ่งหยาบๆ โดยสีเสื้อไม่ได้

ตัวผมเชื่อว่า การเมืองคือการทำงานทางความคิด คือการหาพวกเพิ่ม ถ้าคุณขีดแบ่งเส้นแบบนี้มันก็อยู่กันแค่นี้ พลเอกประยุทธ์ก็ยิ้มสิ ดังนั้น มันต้องแสวงหาพลังบางอย่างที่สามารถดึงคนให้ออกมาร่วมกันให้ได้

 

โจทย์ของไทยกับโจทย์ของต่างประเทศ เช่น ยุโรป แตกต่างกันอย่างไร บ้านเรายากกว่าเยอะไหม

โจทย์มันคนละโจทย์เลย โจทย์ของเขาคือประชาชนคนธรรมดาที่เดือดร้อนจากเสรีนิยมใหม่ เลือกซ้ายกลางก็แล้ว เลือกขวากลางก็แล้ว แต่ไม่ได้เรื่องทั้งคู่ ที่ผ่านมาก็มีทางออกสองแบบ ทางหนึ่งคือเลิกสนใจการเมือง จะเห็นว่าคนยุโรปไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกัน อีกทางหนึ่งคือออกไปกาบ้าๆ บอๆ ขวาจัดเลย เอาสะใจเข้าว่า จึงเกิดความพยายามสร้างพรรคซ้ายใหม่ขึ้นมา โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหามันคือเสรีนิยมใหม่ ทางออกคือต้องสร้าง ‘ประชาชน’ ขึ้นมาใหม่ ร่วมกันสู้กับพวก 1%

ความได้เปรียบของยุโรปคือ การมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้เขาทำงานได้ง่ายกว่าเรา ส่วนสิ่งที่เขาทำยากกว่าเราคือการหาประเด็นก้าวหน้ามาผลักดัน หลายเรื่องที่ดูก้าวหน้าเวลาพูดกันในไทย ในยุโรปมันไม่ได้ถือว่าก้าวหน้า เพราะเขาไปไกลกว่านั้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเอาไอเดียเรื่องสภาจับฉลากมาเปิดประเด็นในไทย รับรองว่าคนโห่เต็มเลย ทั้งที่ในยุโรปคนเริ่มคุยกันว่า การออกแบบระบบเลือกตั้งมันเอื้อชนชั้นนำ ไม่ได้สะท้อนหรือส่งเสริมความเท่าเทียม คนที่มีโอกาสชนะเลือกตั้งคือคนมีเงิน มีวุฒิการศึกษา เข้าถึงสื่อ ถ้าคุณเชื่อว่าคนเท่ากันจริง ควรมีสภาประเภทหนึ่งที่สะท้อนความต้องการจริงของคนธรรมดาจริงๆ ให้ใช้วิธีจับสลากหมุนเวียนกันมาเป็นเลย มีหน้าที่ส่งเสียงสะท้อนเป็นหลัก

ผมมานั่งคิดดูเล่นๆ วุฒิสภาที่มีปัญหากันมากเรื่องที่มา ถ้าเราลดอำนาจให้น้อย แล้วให้คนจับสลากสลับกันเป็น พลเมืองทุกคนมีโอกาสเข้ามาเป็นได้ ทำให้เป็นสภาพลเมืองตัวจริง จะเป็นอย่างไร ถ้าพูดเรื่องนี้ในไทยอาจจะเป็นเรื่องหลุดโลก แต่ในยุโรป คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องก้าวหน้า ในประเทศไทยตอนนี้ แค่ถกเถียงกันธรรมดาเรื่องการเลือกตั้งสำคัญอย่างไรก็ก้าวหน้าแล้ว ประเทศไทยหาเรื่องก้าวหน้าได้ง่ายกว่ามาก แค่นิดเดียวก็ก้าวหน้าแล้ว แต่ยากตรงที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความแตกต่างอย่างสำคัญคือ ในประเทศไทย เราสู้กับเผด็จการ ซึ่งมองเห็นเป็นตัวตน แต่ในประเทศตะวันตก เขาสู้กับระบอบทุนนิยม ระบอบบรรษัทนิยม ซึ่งมองไม่เห็นเป็นตัวเป็นๆ แต่ทำงานอยู่ทั่วทั้งโลก ดังนั้นการต่อสู้จะยากกว่า ก็พยายามเอาเรื่องนี้มาปลอบใจ เพื่อนต่างประเทศผมหลายคนบอกว่า บ้านเขายังไม่รู้เลยว่าสู้อยู่กับใคร บ้านเราเห็นชัดเจน เผด็จการทหารเรียงหน้าสลอน

 

พรรคอนาคตใหม่บอกว่าอยากรวมคนหลากหลายเข้าด้วยกัน เรากวาดใครก็ได้มาหมดไหม หรือต้องมี ‘ขั้นต่ำ’ เรื่องอะไรถึงจะเรียกตัวเองได้ว่าเป็นคนอนาคตใหม่

ในคู่มือพรรคอนาคตใหม่ได้เขียนถึงคุณค่าพื้นฐานที่สมาชิกพรรคจะต้องยึดถือ เป็นกรอบความคิดที่เป็นหลักยึดร่วมกันในหมู่สมาชิกพรรค เช่น การปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพความแตกต่างหลากหลาย การไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ ชาติ ศาสนา วัย รวมทั้งการต่อต้านเผด็จการ และความพยายามสร้างการอภิปรายถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดมติมหาชนขึ้นมาให้ได้ ถ้าคุณยังไม่ใช่แบบนี้ก็ต้องพยายามทำให้ได้

ถ้าทบทวนตัวเอง หลายเรื่องเราก็ทำได้ดี มีบางเรื่องที่ยังทำไม่ได้สมบูรณ์ดังใจบ้าง ยกตัวอย่างเช่น การพูดจาเหยียดเพศ บางทียังได้ยินบางคนพูดตามประสาสังคมที่เคยชินกับวิถีชายเป็นใหญ่ เราก็ต้องเตือนกัน พรรคเรากำลังเอาการเมืองใหม่ ความคิดใหม่ เข้ามาใช้ในไทย ไม่ใช่แค่สู้กับข้างนอกอย่างเดียว ยังต้องสู้กับข้างในด้วย เพราะวัฒนธรรมทั้งประเทศมันเก่าหมด เราก็ต้องเรียนรู้กันเป็นเรื่องๆ ไป ตอนเราสัมมนา ส.ส. ก็พยายามเปิดคลิปให้ดูว่าการอภิปรายในสภาแบบนี้ดี-ไม่ดีอย่างไร เช่น กรณีประธานสภาพูดเหยียดเพศว่า สุดสวย นั่งลงเถอะ อดีตดาราสวยที่สุดแล้วนั่งลง แล้วก็มีอีกคนประท้วงขึ้นมาว่า ดิฉันทั้งสาวทั้งสวยกว่า ท่านประธานต้องให้พูดก่อน อย่างนี้มันกลายเป็นเหยียดซ้อนเหยียดเข้าไปอีก ประธานสภาผู้ชายเหยียดผู้หญิงไปแล้ว ส.ส.หญิงเองยังเหยียดเพศซ้ำอีก เราก็บอกกันว่าอย่างนี้อย่าทำ

 

ในปฏิบัติการการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ ที่เข้ามาตัดขวางการเมืองอีกแบบหนึ่ง นิยามซ้าย-ขวาในการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  

ในวิธีคิดแบบตะวันตก มันแบ่งซ้าย-ขวามานานแล้ว ตอนเริ่มต้นแบ่งซ้าย-ขวาเกิดจากการที่ฝ่ายก้าวหน้านั่งอยู่ในสภาฝั่งซ้าย แล้วฝ่ายอนุรักษนิยมนั่งอยู่ฝั่งขวา แต่พอเข้าสู่ยุคจุดจบแห่งอุดมการณ์ แทบทุกประเทศเดินตามแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตยกันหมด เรื่องซ้าย-ขวาก็ขยับมาเป็นเรื่องเศรษฐกิจกันมากขึ้น ซ้ายทางเศรษฐกิจคือรัฐมีอำนาจแทรกแซง เน้นความเสมอภาค ขวาทางเศรษฐกิจคือรัฐมีอำนาจน้อย ปล่อยให้มันเป็นไปตามกลไกตลาด

ส่วนกรณีประเทศไทยนั้น มันไม่มีเรื่องเหล่านี้เลย เรากำลังสู้กันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ยังไม่มีโอกาสดีเบตเรื่องซ้าย-ขวาทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าคนที่สนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมากที่ไม่ชอบเผด็จการทหาร เป็นขวาทางเศรษฐกิจเยอะนะ พวกซ้ายทางเศรษฐกิจมีน้อยมากในประเทศไทย แล้วก็มีพื้นที่ให้ได้พูดในที่สาธารณะน้อยมากด้วย เพราะพูดแล้วคนก็จะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ๆ ตลอดเวลา เมื่อโจทย์ของเรายังติดอยู่แค่ประชาธิปไตย-เผด็จการ ไม่ได้เถียงกันจริงจังเรื่องซ้าย-ขวาในทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เราต่างจากยุโรปพอสมควร

 

พรรคอนาคตใหม่ตั้งขึ้นมาได้หนึ่งปีเต็มตั้งแต่ประชุมใหญ่ จากแนวคิดทฤษฎีสู่ประสบการณ์ของการลงมือทำจริง ผ่านสนามเลือกตั้งมาแล้วครั้งหนึ่ง มองเห็นปัญหาอะไรบ้าง อะไรคือคอขวดที่ทะลุไปยาก อะไรคือเพดานที่ขวางให้ขึ้นไปต่อไม่ได้

ข้อจำกัดแรก คือกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายรัฐธรรมนูญ นี่เป็นข้อจำกัดในเชิงประจักษ์ที่เราเห็นชัดที่สุด เราอยากจะทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทะลุทะลวงมากกว่านี้ หรือขายของออนไลน์ ก็ทำไม่ได้ มันทำให้เราต้องมาเสียเวลา ต้องคอยแก้ปัญหาจุกจิกหยุมหยิม ยังไม่นับรวมเรื่องคดีความเลอะๆ เทอะๆ เต็มไปหมด มันทำให้เราทำงานเชิงรุก เชิงสร้างสรรค์ได้น้อยลง ต้องมาทำงานเชิงรับคือแก้คดี ป้องกันตนเองจากการถูกคุกคามโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตลอดเวลา มันเสียสมองไปกับเรื่องนี้มาก แทนที่จะได้ทำงานสร้างสรรค์

ข้อจำกัดที่สอง เวลาเราต่อสู้อยู่ภายใต้สังคมที่เป็นเผด็จการ มันยังมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมครอบงำอยู่ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไปได้ไม่สุด พอไปได้ไม่สุดก็ต้องมีจุดประนีประนอม ประเด็นจึงอยู่ที่คุณจะประนีประนอมในเรื่องใด แค่ไหน อย่างไร

สำหรับผม การที่เราตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ในระบบ ลงเลือกตั้ง ทำงานในรัฐสภา อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองใหญ่แบบที่เป็นอยู่ มันคือการประนีประนอมโดยตัวมันเองแล้ว แต่ปัญหาคือว่า การทำงานการเมืองในลักษณะนี้ คุณจะผลักดันประเด็นก้าวหน้าได้มากแค่ไหน หรือภารกิจคือการเอาทหารออกไปจากการเมืองก่อน เอาประชาธิปไตยกลับมาก่อน เมื่อสำเร็จแล้ว สังคมค่อยว่ากันอีกรอบว่าจะถกเถียงกันในเรื่องต่างๆ อย่างไร ตอนนี้มันเหมือนอยู่ในห้องมืดที่ปิดตาย ไม่มีโอกาสได้ถกเถียงประเด็นสาธารณะเลย เพราะผู้ทรงอำนาจยึดไว้หมด ลองดูบรรยากาศช่วงเลือกตั้งสิครับ ในการดีเบต ทุกพรรคเอาเรื่องนโยบายสาธารณะมาพูดกันสนุกเลย แต่พอเลือกตั้งเสร็จ ไฟก็ดับอีกแล้ว เพราะทหารยังสืบทอดอำนาจต่อ

 

แล้วข้อจำกัดภายในพรรคที่เจอมีอะไรบ้าง

โจทย์ของเราคือพยายามทำให้พรรคอนาคตใหม่มีลักษณะเป็นสถาบันมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่าจุดเริ่มต้นของพรรคคือความเป็นผู้นำของคุณธนาธร แต่คำถามคือ เราจะใช้เวลานานขนาดไหนที่จะทำให้พรรคนี้สามารถเป็นสถาบันทางการเมืองได้จริงๆ ข้อจำกัดในห้วงยามของการต่อสู้ยกแรก ด้วยทฤษฎีที่ผมว่ามา มันต้องมีผู้นำที่จะดึงดูดคนให้หลอมรวมกันได้ แต่สำหรับการต่อสู้ในอนาคต เราจะออกแบบพรรคอย่างไรให้สามารถมีผู้นำรุ่นต่อๆ ไปได้ เราจะสร้างผู้นำแห่งอนาคตขึ้นมาได้อย่างไร

 

ทุกวันนี้วางแผนสร้างพรรคให้มีความเป็นสถาบันอย่างไร

ก็ต้องทำงานทางความคิดอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่คุณธนาธรเติบโตมาจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เขาจึงเชื่อเรื่องศักยภาพของคนมาโดยตลอด หลายครั้งที่ผมเถียงกับเขาก็คือเรื่องนี้ เขาบอกว่ามันต้องไว้ใจคน ให้งานไปแล้วก็ให้เขาลุยเลย อย่าคิดมากเสียเวลา ลงมือทำเลย แต่ผมมักมองในมิติของการสร้างพรรคการเมืองในประเทศที่มีกติกาบ้าๆ บอๆ เต็มไปหมด ทำให้ต้องคอยเฝ้าระวังว่า จะโดนทิ่มเรื่องนั้นเรื่องนี้  เวลาเราคิดผลักดันศักยภาพคนในเรื่องต่างๆ เลยมีความกังวลใจตลอดว่าจะเป็นอันตรายต่อพรรคไหม จะโดนเล่นงานไหม

จริงๆ แล้ว ข้อจำกัดภายในมันก็เชื่อมโยงกับภายนอกด้วย ระบบกฎหมาย พรรคการเมือง และองค์กรอิสระที่รายล้อมอยู่รอบๆ ก็พร้อมจะทิ่มแทงเราตลอดเวลา ถ้าเอาพรรคอนาคตใหม่ไปสร้างในประเทศที่เปิดมากกว่านี้ ผมว่ามันทำอะไรได้เร็วและมากกว่านี้เยอะ

 

 

ตอนนี้ทั้งธนาธรและปิยบุตรโดนเล่นงานสารพัด ถ้าพรรคอนาคตใหม่ขาดธนาธรและปิยบุตรไปจะเป็นอย่างไร

สมมติตัวอย่างง่ายที่สุดเลยคือ เขาสามารถกันคุณธนาธรกับผมออกจากสภาได้ ทำงานในฐานะ ส.ส. ไม่ได้ทั้งคู่ เราก็จะมาทำพรรค เดินหน้าพรรคต่อ รณรงค์รับสมัครสมาชิกพรรค ทำฟอรัม รับฟังปัญหาและความคิดเห็นของพี่น้องทั่วประเทศ ทำงานทางความคิดกับประชาชน  ข้อดีคือเรายิ่งมีเวลามากขึ้นด้วยซ้ำในการทำให้พรรคเข้มแข็งขึ้นตามที่เราต้องการ และที่สำคัญ คล่องตัวกว่าด้วย ไม่อยู่ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์รูปแบบทางการแบบงานในสภา

แต่ก็ต้องยอมรับปัญหาเชิงระบบของประเทศไทยว่า เราไม่ผลักดันให้คนแสดงศักยภาพออกมา คนแต่ละคนในทุกวงการเลยนะ ไม่ใช่เฉพาะการเมือง ถูกกดด้วยการบอกว่าทำอย่างนี้ได้-ไม่ได้ ทำแล้วดูดีไหม เหมาะไหม ไม่ว่าจะถูกกดด้วยค่านิยมหรือกฎหมายก็ตาม ระบบของประเทศนี้มีลักษณะที่ทำให้คนไม่กล้ายืนตรงและแสดงความสามารถตัวเองออกมา มันสนับสนุนให้คนต้องสวามิภักดิ์ ไม่ยอมให้คนเป็นดาวฤกษ์ เป็นได้แค่ดาวเคราะห์ที่ต้องไปหาที่เกาะ วนโคจรรอบดาวฤกษ์ตลอดเวลา

ผมเชื่อว่าในสังคมมีคนเต็มไปด้วยศักยภาพอยู่มากมาย แต่มันมีความกังวลในตนเองว่าจะพูดได้ไหม พูดแล้วจะผิดหรือเปล่า คำถามแบบนี้สะท้อนถึงระบบกฎหมายที่ถูกออกแบบมา แล้วพอเผด็จการครองอำนาจยาวนาน ความกล้าของคนที่จะตัดสินใจทำเรื่องที่ถูกต้องก็ลดน้อยลง เมื่อก่อนเราอยากทำอะไร ก็ทำตัวเป็นเรื่องปกติ แต่ตอนนี้พอทำแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าทำได้หรือเปล่า ผิดหรือเปล่า นี่คือปัจจัยภายนอกที่ทำให้พรรคทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้ากฎหมายเปิดกว้างกว่านี้ เราจะยิ่งไปได้อีกไกล

 

แล้วถ้าเขาเล่นงานถึงขนาดยุบพรรค อนาคตใหม่จะไปกันอย่างไรต่อ

ตอนนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องยุบพรรคเลยสักนิด ผมว่าพรรคยังไปได้รอดอยู่ ถ้าชนชั้นนำอนุรักษนิยมทั้งหลายคิดเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะอยากกำจัดความคิดแบบธนาธร-ปิยบุตร แบบอนาคตใหม่ การยุบพรรคไม่ใช่ทางออก พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล คุณยุบได้แต่นิติบุคคล แต่คุณยุบความคิดของคนไม่ได้ เอาตัวอย่างใกล้ๆ คุณยุบพรรคเขามา 3-4 พรรคแล้ว ก็ยังมีคนเลือกเขาอยู่ดี ถ้าชนชั้นนำอนุรักษนิยมมองยาวๆ ต้องคิดเสียอีกว่า ความคิดแบบอนาคตใหม่ มันเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ ในสังคม คุณต้องยอมรับว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วต้องหาทางพูดคุยกันว่า ‘อนาคตใหม่’ ที่จะเขียนร่วมกันสำหรับประเทศนี้คืออะไร

ผมยืนยันมาตลอดว่าเราไม่ได้สร้างพรรคอนาคตใหม่เพื่อกวาดล้างหรือล้มล้างอะไร ไม่มีทาง ผมเชื่อว่าถ้าคนคิดแบบนี้เขาไม่ตั้งพรรคเพื่อลงเลือกตั้งหรอกครับ การสร้างพรรคการเมืองคือการหลอมรวมมติมหาชน แล้วเปล่งมติมหาชนเหล่านั้นออกมาให้สาธารณะเห็น ไม่ต้องกังวลว่าเราเป็นภัยคุกคามหรอก เราแค่เป็นคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น แล้วความต้องการนี้ก็ไม่ใช่แค่ของคุณธนาธรหรือผมเท่านั้น มีคนจำนวนมากในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง นี่ไม่ใช่กระแส แต่เป็นปรากฏการณ์

เราอยากชวนสังคมมาร่วมกันคิดว่าจะเอากันแบบนี้จริงๆ หรือ จะให้ทหารปกครองประเทศไปเรื่อยๆ หรือ จะเอาความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกเรื่อยๆ แบบนี้หรือ จะเอาอำนาจรวมศูนย์ส่วนกลางแบบนี้หรือ จะเอาระบบการศึกษาที่ไร้อนาคตสำหรับลูกหลานแบบนี้หรือ ผมคิดว่านี่คือปัญหาร่วมกันของทุกคน แล้วทุกคนก็เป็นเพื่อนร่วมชาติกัน ควรมานั่งหาทางออกด้วยกัน อย่ามองเพื่อนร่วมชาติว่าเป็นภัย เราเดินมาถึงจุดนี้เพราะที่ผ่านมา คุณเที่ยวไปชี้นิ้วว่าคนนั้นคนนี้เป็นภัยคุกคาม แล้วคุณก็ไปจับเขา มันพิสูจน์มาแล้วว่ามันแก้ไม่ได้ คุณกำจัดผู้นำเขา แต่ความคิด ความรู้สึก ความต้องการของผู้คนก็ยังคงอยู่ เพราะฉะนั้น ยอมรับความเป็นจริงดีกว่า มันถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว บ้านเมืองอยู่แบบนี้มา 15 ปีแล้ว มันไปต่อไม่ได้

 

พรรคอนาคตใหม่นิยามตัวเองเป็นทางใหม่ที่ต้องการหลอมรวมทุกฝ่ายให้เข้ามานิยามการเมืองใหม่ แต่คนจำนวนไม่น้อยกลับมองผู้นำพรรคทั้งสองคนเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง หรือเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง พรรคอนาคตใหม่จัดการโจทย์นี้อย่างไร

เราสร้างพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่จากศูนย์ ไม่เหมือนพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมทั้งหมด มันหนีไม่พ้นหรอกว่าสิ่งที่คุณออกแบบมาใหม่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ จากสิ่งที่มีอยู่เดิม จากพรรคการเมืองทุกฝ่ายทุกสี เพราะเราสร้างให้มันเป็นแบบใหม่ แน่นอนว่าบางช่วงบางตอนของความขัดแย้งชุดเดิม เรามีบทบาทอยู่บ้าง นั่นก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะพลเมือง การปกปักรักษารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การต่อต้านรัฐประหาร การต่อต้านการสังหารหมู่กลางมหานคร ไม่ใช่เรื่องสี เรื่องข้างนะ มันเป็นเรื่องความถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะบอกว่าเราไปอยู่ในความขัดแย้งชุดเดิมมันก็ไม่ใช่

พวกเราทราบกันดีว่าในการรัฐประหาร ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ นายพลคนหนึ่งอยากยึดอำนาจ ตื่นเช้าก็เข็นรถถังออกมายึด โลกนี้ไม่ยอมรับหรอก มันต้องสร้างเรื่องเล่า ปั้นแต่งเรื่องขึ้นมาทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ครองอำนาจเดิมเสียก่อน ต้องทำลายความชอบธรรมของระบบรัฐสภา ตัวเองจะได้สร้างความชอบธรรมใหม่ขึ้นมาได้ ดังนั้น เราจึงคิดว่าถ้าเราทำการเมืองให้มันดี ทหารก็ยึดอำนาจไม่ได้หรอก ถ้ารัฐบาลคุณปลอดเรื่องคอร์รัปชัน ไม่ใช้เสียงข้างมากลากไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่บริหารประเทศแบบเห็นทุกคนเป็นลูกน้องคุณหมด ไม่ทำเหมือนประเทศเป็นบริษัทจำกัด เราก็จะรักษาสนามการเมืองไว้ได้ ไม่สร้างเงื่อนไขที่กองทัพใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้ง่ายๆ

ดังนั้น การออกมาตั้งพรรคใหม่ของเรา เพื่อทำงานการเมืองรูปแบบใหม่ ด้านหนึ่งก็คือการวิจารณ์สิ่งที่มันเป็นอยู่เดิม ผมไม่คิดว่าตัวละครเดิมๆ ที่มีอยู่ในพรรคการเมืองเดิมๆ จะพาประเทศไทยออกไปจากความขัดแย้งชุดนี้ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองถือว่าเป็นตัวละครใหม่หรือเก่า แต่วิธีการที่เราทำ – ใหม่แน่นอน

 

หนึ่งปีของพรรคอนาคตใหม่ อะไรคือความสำเร็จที่คิดว่าก้าวหน้าที่สุด

มันอาจจะไม่ใช่วาระหรือนโยบายชุดใดชุดหนึ่ง แต่เป็นภาพรวมของการสร้างพรรคแนวใหม่มากกว่า ที่ผ่านมาเคยมีคนฝันอยากมีพรรคเล็กๆ ที่เป็นทางเลือกหลายคน เคยมีคนพยายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ ผมคิดว่าพรรคอนาคตใหม่คือความก้าวหน้าที่เราทำสำเร็จในระดับหนึ่ง เราสามารถทำให้คนเห็นว่าการสร้างพรรคแบบนี้เป็นไปได้ จากจุดเริ่มต้นที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้สำคัญมาก ผมย้ำบ่อยๆ ว่าการเมืองคือความเป็นได้ ถ้าเราเชื่อว่าเป็นไปได้ พอลงมือทำมันก็ขยับขึ้นแล้ว

เราโดนท้าทายตลอดเส้นทาง ตั้งแต่วันแรก … ตั้งพรรคการเมืองเป็นไปไม่ได้ ส่งคนธรรมดาเป็นผู้สมัคร ส.ส. เป็นไปไม่ได้ ใช้งบหาเสียงแค่นี้เป็นไปไม่ได้ ไม่มีหัวคะแนนเป็นไปไม่ได้ พอได้เข้าสภา ไม่มีประสบการณ์ในสภาเป็นไปไม่ได้ ไม่มีนักการเมืองอาชีพคอยติวเป็นไปไม่ได้ … เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป ต้องท้าทายตัวเองต่อไป

สำหรับผม ความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ในปีแรกคือ เราพยายามทำสิ่งที่คนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

 

 

สัมภาษณ์: วันที่ 16 พฤษภาคม 2562

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save