fbpx
เมืองไทยหลังมรณกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ : ความรัก ความภักดี ความเกลียด ความชัง และความหวังที่สูญสิ้น

เมืองไทยหลังมรณกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ : ความรัก ความภักดี ความเกลียด ความชัง และความหวังที่สูญสิ้น

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

อนิจจา วต สังขารา

ความตายเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลก ธรรมเนียมที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยปกติทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งรุนแรงสักเพียงไร เมื่อฝ่ายหนึ่งวายชนม์สิ้นชีพลง อีกฝ่ายก็มักจะอโหสิกรรมให้ เลิกแล้วต่อกัน

ทว่า การเผชิญหน้าทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงปี พ.ศ.2548-2557 ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป

ความตาย-งานศพของใครบางคนบางฝ่าย ในห้วงระหว่างที่ประเทศตกอยู่ภายใต้สภาพซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากสงครามกลางเมืองย่อมๆ สักเท่าใดนัก ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อแสดงถึงความเสียสละ รักชาติบ้านเมืองของบางกลุ่ม บางพวก ผลักให้ฟากตรงกันข้ามแลมีภาพ ดูเสมือนประหนึ่งเป็นข้าศึกศัตรูมาบ่อนทำลายประเทศชาติไปโดยปริยาย

ทั้งๆ ที่ล้วนเป็นเพื่อนร่วมชาติ เลือดเนื้อเชื้อไขเป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น

ฝ่ายหนึ่งได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษบ้าง วีรสตรีบ้าง โดยไม่รู้ว่าการไปม็อบปกปักรักษาอำนาจชนชั้นนำเป็นวีรกรรมความกล้าหาญตรงไหน ขณะที่อีกฟากถูกเข่นฆ่าตายแทนนักการเมืองเหมือนผักปลาข้างถนน นอกจากจะไม่มีใครยกย่องเป็นวีรชนแล้ว ยังถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง สร้างความเคียดแค้นชิงชังตามมา

ลากโยงทุกองคาพยพเข้าร่วมวงไพบูลย์แห่งความขัดแย้ง ไม่มีใครหน้าไหน องค์กรใด สถาบันอะไร ถูกมองว่าหลงเหลือความเป็นกลางอีกต่อไป เมื่อมีการกล่าวอ้างถึงความรู้แจ้ง ตาสว่างของพวกตน

จะจริงหรือเท็จไม่อาจแน่ใจได้นัก เพราะเห็นตาสว่างไม่เอาด้วยกับชนชั้นนำก็จริงอยู่ แต่กลับไพล่ไปเทิดทูนนักการเมือง จงรักภักดีต่อเขาราวกับเป็นเทพเจ้าองค์ใหม่ก็ไม่ปาน

เช่นเดียวกับมรณกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ.2523-2531 รัฐบุรุษและประธานองคมนตรีในวัย 99 ปี ที่มิวายกลายเป็นประเด็นวิวาทะทางการเมือง ตอกย้ำให้เห็นถึงความร้าวฉานแตกแยกของผู้คนในสังคมที่หนักหนาสาหัสเกินจะเยียวยา

ฟากหนึ่งยกย่องเทิดทูนสรรเสริญ ว่าเป็นคนดีของแผ่นดิน เป็นแบบอย่างผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกตัญญุตา จงรักภักดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ฯลฯ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้สร้างผลงานเป็นคุณูปการมากมายให้กับประเทศชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะนโยบาย 66/2523 ที่นำไปสู่การเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยุติสงครามภายใน การรบราฆ่าฟันระหว่างเพื่อนร่วมชาติด้วยกันซึ่งดำเนินมานานกว่าสิบปี

รัฐบาลถึงกับออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีแสดงความคารวะและไว้อาลัย โดยให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐและสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสามีกำหนด 7 วัน พร้อมทั้งให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไว้ทุกข์เป็นเวลา 21 วัน

เทิดเกียรติสูงสุดเท่าที่สามัญชนพึงจะได้รับ

บ้างก็เยินยอเสียจนเคลิบเคลิ้มชวนฝันให้ตกอยู่ในภวังค์บรรยากาศของหนังหรือละครพีเรียด อยากย้อนยุคหวนกลับคืนไปสู่สังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เผื่อจะได้เป็นขุนพลคู่แผ่นดินกับเขาด้วย

แต่ต้องสะดุ้งตื่นแทบไม่ทันเมื่อเผลอไผลไปนึกถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยเฉพาะกับภาพประวัติศาสตร์ รูปปุโรหิตเฒ่าในท่ามกลางเหล่าบรรดาขุนศึกนักรัฐประหาร

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งนั้น แม้ส่วนใหญ่จะสงวนความรู้สึกเอาไว้มิให้เสียกิริยา หรือส่งผลกระทบทางจิตวิทยาการเมืองตามมา

แต่หลายคนกลับลิงโลด ตีเกราะเคาะปี๊บแสดงความสะอกสะใจ บางคนผรุสวาท บริภาษสาปส่งด้วยถ้อยคำหยาบคายเท่าที่คิดสรรปั้นแต่งขึ้นมาได้

ก่นด่าสาปแช่งตัวแทนกันสนุกปาก

ราวกับสี่เสาเทเวศร์เป็นสถาบันหลักของชาติ อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นต้นตอตัวการปัญหาของประเทศ

จะแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิติชมอย่างไรก็ทำไป ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย แต่ไม่พึงเอาความตาย สิ่งซึ่งควรสังเวชมาบันเทิง แสดงความสะใจ

เมื่อไม่นาน ตอนเลือกตั้งพูดยุทธศาสตร์โน่นยุทธวิธีนี่กันเป็นตุเป็นตะในการเอาชนะเผด็จการ ถึงตอนนี้ไม่รู้เหมือนกันว่า เฮทสปีช การก่นด่าสาปแช่งคนตาย สอดคล้องต้องด้วยยุทธศาสตร์การต่อสู้ เอาชนะทางการเมืองตรงไหน

บางคนเพ้อฝัน คาดหวังไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะตามมาภายหลังมรณกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทำอย่างกับว่าอดีตประธานองคมนตรีบัญชาบงการประเทศนี้อยู่หลังม่าน ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าที่จะพิจารณาจนเข้าใจว่าปัญหาของประเทศนี้เกี่ยวพันโครงสร้างทั้งระบอบโดยปราศจากข้อยกเว้น

และไม่ใช่เพราะผ่อนปรนยกเว้น ยอมรับเงื่อนไขข้ออ้างจากบางฝ่าย ปฏิรูปบางเรื่อง ยกร่างรัฐธรรมนูญบางหมวดหรอกหรือ ประเทศจึงมาถึงจุดนี้

จริงอยู่ว่าพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจมีความคิดที่ก้าวหน้า ยืดหยุ่นกว่า แต่ก็มีคำถามว่าแล้วไง? ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่

การปล่อยชั่วคราว นายสิรภพ กรณ์อรุษ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ภายหลังถูกจับกุมคุมขังมาเกือบ 5 ปีเต็ม เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลผ่อนคลายการเผชิญหน้าลง แต่ก็มิได้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจริงจังมากไปกว่านั้น

หากพิจารณาถึงการดำรงอยู่ของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจมาจากการทำรัฐประหารโดยกองทัพหรือทหาร มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องพึ่งพาคนทรงเจ้าเข้าผี หรือลัทธิความเชื่อมาหนุนช่วย โดยอาศัยโครงสร้างระบอบปกครองปัจจุบัน อุดมการณ์ทางการเมืองแบบทุกวันนี้ค้ำพยุงซึ่งกันและกัน

ขาดฝั่งใดฝ่ายหนึ่งก็ล้มครืน

ไม่อาจจะใช้กองทัพหรือทหารโจ่งแจ้งเหมือนขณะปกครองในระบอบ คสช. ก็ต้องหวนกลับมาพึ่งพิงมวลชนเช่นก่อนการรัฐประหารอีกครั้ง ใช้การเผชิญหน้า ปลุกระดมมวลชนขึ้นมาปกปักรักษาอำนาจให้กับตัวเอง

กระทั่งคนหนุ่มคนสาวอยากแต่งชุดขาวคอตั้ง ต้องการเข้าไปมีส่วนแบ่งอำนาจกับเขาบ้าง ยังไม่วายถูกหาทางกำจัด กวาดล้างด้วยความรู้สึกไม่วางใจ หวาดหวั่นในความมั่นคงของตัวเอง ใช้พลเรือนด้วยกันเปิดประเด็นกล่าวหาคนนั้นคนนี้ไม่ภักดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง

ไปกันใหญ่ถึงขนาดตีความการชักสีหน้าแสดงอารมณ์ส่วนตัวไปเป็นความผิดในทางอาญา

เด็กยอมหมอบกราบเข้าสู่ระบบก็แล้ว ยอมรับความไม่เหมาะสมหากมี ขออภัยถ้าทำให้ไม่สบายใจก็ยอมเอ่ยปาก ฯลฯ ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ จะไล่ล่าไปจนสุดซอยหรืออย่างไร

แน่ใจนะว่ายังป๊อปปูลาร์เหมือนเมื่อก่อน…

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save