fbpx
เจาะจักรวาลสมอง กับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

เจาะจักรวาลสมอง กับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

หากหลุมดำคือความลึกลับของจักรวาล การศึกษาเซลล์ในสมองก็เป็นความล้ำลึกของการเข้าใจมนุษย์

กี่ปีต่อกี่ปี ศตวรรษต่อศตวรรษที่เราพยายามทำความเข้าใจก้อนเนื้อในหัวเรา อะไรทำให้มนุษย์คิดถึงตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง ขณะเดียวกันก็ใฝ่ฝันถึงโลกอันไกลโพ้นที่ไม่เคยมองเห็นได้ สมองมนุษย์ทำงานแบบไหน เราจึงนั่งฟังเพลง มองท้องฟ้า รู้สึกหนาวเหน็บกับลมฝน และแว้บคิดถึงคนที่ไม่อยู่ตรงหน้าได้ในเวลาเดียวกัน

และเพราะอะไร แค่เลือดออกในสมองเพียงจุดเล็กๆ ก็ทำให้คนเดินไม่ได้ไปตลอดชีวิต

หลายต่อหลายคำถามเกี่ยวกับสมองที่ทั้งเป็นปริศนา และมีเรื่องราวสนุกๆ ที่เราคาดไม่ถึงอีกหลายอย่าง หลอกล่อให้เราใช้สมองคิดเกี่ยวกับสมอง ทับซ้อนซ่อนชั้นกันอยู่อย่างน่าประหลาดใจ

101 ชวน ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ หรือ หมอกิ๊ก แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาพูดคุยเกี่ยวกับสมอง ให้คันสมอง

จากเด็กที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ ชอบอ่านนิยายสืบสวนสอบสวน และเรื่องจิตวิทยา เคยฝันไว้ว่าอยากเป็นจิตแพทย์ที่สั่งยาให้คนไข้ด้วย ‘หนัง’ และ ‘หนังสือ’ แต่พอเข้าไปเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับเจอหลายสิ่งที่เปลี่ยนความคิดไป

หมอกิ๊กพูดด้วยเสียงหัวเราะว่า “พอได้มาดูคนไข้ จิตแพทย์ก็ยังน่าสนใจมากอยู่ แต่มันไม่มีเวลามากพอที่จะคุยกับคนไข้ แล้วก็ไม่ได้สั่งยาเป็นหนังหรือหนังสืออย่างที่เราคิดไว้ ในระหว่างเรียนก็คิดว่าจิตกับสมองเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกัน”

ความสนใจเรื่องสมองของหมอกิ๊กค่อยๆ ขยายขอบเขตไปไกลขึ้น เมื่อได้ไปฟังบรรยาย วิธีการรักษาโรค Phantom Limb Pain แก้ความเจ็บปวดด้วยการปรับการรับรู้ของสมอง ของ V.S. Ramachandran นักประสาทวิทยาชื่อดัง หมอกิ๊กตัดสินใจติดต่อไปที่ University of California San Diego (UCSD) มหาวิทยาลัยที่ V.S. Ramachandran สอนอยู่ ก่อนจะบินไปเรียนปริญญาเอกด้าน Experimental Psychology ที่นั่น

เป็นที่รู้กันว่า UCSD มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสมองที่ ‘ดีป’ จนถึงแก่น มีนักประสาทวิทยา และนักพฤติกรรมศาสตร์ระดับโลกรวมกันอยู่มากมาย ทำให้หมอกิ๊กได้เรียนรู้เรื่องสมองใหม่ๆ ที่เขายอมรับว่าก่อนไปถึง คิดว่าตัวเองรู้ว่าสมองทำงานอย่างไรประมาณหนึ่งแล้ว แต่พอไปถึงจึงพบว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย

ปัจจุบันหมอกิ๊กกลับมาประจำที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นทั้งอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ และเป็นหมอที่รักษาโรคทางสมอง อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือยังพยายามศึกษาเรื่องใหม่ๆ ของ Cognitive Science อยู่เสมอ

การสัมภาษณ์เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และความน่าตื่นเต้นของกลไกสมอง เคลียร์สมองให้ว่าง ยังมีเรื่องให้ปวดหมอง และมันหมองอีกเยอะด้านล่างนี้

ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณรู้สึกว่าการศึกษาสมองน่าสนใจ

สมองมีระบบการทำงานที่น่าสนใจ เวลาดูคนไข้ ถ้าเราถามรายละเอียดจากประวัติเยอะๆ เราก็สามารถดึงข้อมูลที่น่าสนใจออกมาได้เยอะ มันมีความเป็นนักสืบ และความคาบเกี่ยวระหว่างสิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่าอาการทางจิตกับอาการทางสมอง ยิ่งได้ไปดูคนไข้โรคสมอง ก็ยิ่งตื่นเต้นว่า เออ… สมองมันทำงานแบบนี้เหรอ

เคสที่ผมจำได้เลยคือ คนไข้เป็นรอยโรคที่สมองข้างขวา เป็นหลอดเลือดสมองตีบ เขามาโรงพยาบาลด้วยอาการอ่อนแรงข้างซ้าย ตอนที่ผมเข้าไปคุยด้วย เขานอนอยู่ที่เตียง หน้ามองไปทางขวานิดๆ เพื่อนผมก็เข้าไปทางขวา ส่วนผมเข้าไปทางซ้าย แต่เขาดูไม่สนใจผม ผมก็คิดว่าเขาคงไม่ชอบขี้หน้าเรา มารู้ทีหลังว่าพอมีปัญหาในสมอง เลยทำให้เขาสนใจสิ่งแวดล้อมแค่ข้างเดียว คือเขาจะไม่สนใจอะไรที่อยู่ข้างซ้ายเลย ความสนใจถูกถ่ายไปที่ข้างขวา แต่ถ้าเรียกเขาเยอะๆ เขาก็หันมา

ที่น่าสนใจมากคือเราลองวาดวงกลมเปล่าๆ ให้ แล้วบอกว่า ลุงครับ สมมติว่านี่เป็นนาฬิกา ช่วยวาดตัวเลขลงในนาฬิกาให้หน่อย แล้วเขาวาดออกมาเป็นประมาณนี้

จะเห็นว่าเลข 1 ถึง 12 มีครบ แต่ถูกขยุมมาอยู่ข้างเดียว แสดงว่า หนึ่ง เขามีคอนเซ็ปต์ของนาฬิกาว่ามีเลข 1 ถึง 12 เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็อาจจะวาดแค่เลข 1 ถึง 6

สอง คือไม่ใช่ว่าเขามองไม่เห็น เพราะไม่อย่างนั้นหากเขาขยับศีรษะนิดนึง ก็จะวาดต่อให้ครบวงได้ แต่เขาไม่มีความสนใจสิ่งแวดล้อมข้างซ้ายเลย โลกทั้งโลกจึงถูกเทมาอยู่ข้างขวาข้างเดียว ตอนนั้นผม โอ้โห มันคืออะไร น่าสนใจมาก หลังจากนั้นเวลาเจอคนไข้คล้ายๆ กันอีก ก็จะขอให้เขียนนาฬิกาแบบนั้นเก็บสะสมไว้เป็นโหลๆ เลย

คำอธิบายของอาการนี้คืออะไร

ข้อมูลที่เข้ามาสู่ประสาทสัมผัสของเราในแต่ละช่วงเวลา มีปริมาณมหาศาลเกินกว่าที่สมองของเราจะประมวลผลข้อมูลทั้งหมดพร้อมๆ กันได้ เฉพาะเรื่องของการมองเห็นเองก็มีข้อมูลมหาศาลแล้ว สมองเราจึงมีระบบเลือกกรองข้อมูลบางส่วนที่สำคัญมาประมวลผลอย่างละเอียด โดยเพิกเฉยหรือประมวลผลข้อมูลที่เหลืออย่างหยาบๆ อันนี้คือระบบ attention เหมือนเป็นตะแกรงกรองข้อมูล

ในกรณีปรกติ คนเราจะสามารถควบคุมตะแกรงให้เลือกกรองข้อมูลได้ระดับหนึ่ง เช่น ประมวลผลของสิ่งที่เรามองเห็น จากตำแหน่งทางด้านซ้าย ด้านขวา ด้านบน ด้านล่าง ฯลฯ คำอธิบายของอาการนี้ก็คือ เขาเชื่อกันว่าสมองข้างขวาควบคุมการเลือกประมวลผลได้จากทั้งทางซ้ายและทางขวาของตัวเรา ส่วนสมองข้างซ้ายจะเลือกประมวลผลเฉพาะข้างขวาของตัวเราเท่านั้น พอสมองซีกขวาเสียไปเลยเหลือแต่การทำงานของสมองซีกซ้าย ซึ่งเลือกประมวลเฉพาะสิ่งที่อยู่ข้างขวา และเพิกเฉยสิ่งที่อยู่ทางข้างซ้ายไป (เช่น นาฬิกาก็จะวาดแต่ข้างขวา) ก็ค่อนข้างซับซ้อน

 

หลังจากเห็นการรักษาโรคสมองที่ไทย พอไปเรียนที่ UCSD แล้ว มีองค์ความรู้อะไรใหม่ๆ ที่ทำให้ตื่นเต้นบ้าง

เราคิดว่าเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองในระดับหนึ่งผ่านการดูแลคนไข้ แต่พอไปที่โน่น ได้เจอสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของสมองในคนปกติ ซึ่งองค์ความรู้เขาลึกมาก ก่อนไปผมรู้สึกว่าเราก็สามารถแอบศึกษาการทำงานของสมองได้ผ่านคนไข้ คิดว่าคนปกติก็คือสมองที่สมบูรณ์ แต่พอไปเรียนถึงรู้ว่า โอ้โห สมองคนปรกติก็มีข้อจำกัดเยอะมาก จนรู้สึกว่าแค่ปรากฏการณ์ในคนปรกติก็น่าสนใจมากๆ แล้วนะ ห่างไกลจากความสมบูรณ์ไปมาก

ยกตัวอย่างที่ซับซ้อนน้อยที่สุดคือเรื่องของการมองเห็น ถ้าโจทย์คือ คุณจะต้องสร้างสมองคนออกมาเพื่อให้ทำงานได้เหมือนระบบการมองเห็นที่เรามี คุณต้องการอะไรบ้าง ถ้ามีภาพเข้ามา แล้วบอกได้ว่านี่คือขวดน้ำ นี่คือโทรศัพท์ นี่คือกล้อง คุณต้องทำยังไง มีสาขาวิชาหนึ่ง คือ Computer Vision เขาพยายามสร้างคอมพิวเตอร์เพื่อจะตอบโจทย์นี้

สมมติว่าเราส่งภาพหนึ่งเข้าไปในคอมพิวเตอร์ แล้วให้คอมพิวเตอร์พยายามบอกเราว่ามีของอะไรบ้างในภาพนี้ ฟังดูเหมือนง่าย แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบางทีของก็ซ้อนกัน ข้อมูลมีความกำกวมสูง แต่สำหรับตาของคนเรา แค่ฉายภาพสั้นๆ แว้บเดียว 1 ใน 10 ของวินาที คนก็บอกได้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่คอมพิวเตอร์ต้อง process นานกว่า แม่นยำน้อยกว่า

คำถามคือ ทำไมสมองเราถึงมีประสิทธิภาพสูงมาก ทั้งๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มเซลล์แค่นั้นเอง มันไม่ได้มีพลังในการประมวลผลเท่ากับ super computer เลย แต่มันทำยังไงให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสิ่งสำคัญกลายเป็นว่า สมอง ‘ไม่สามารถ’ และ ‘ไม่ได้พยายาม’ จะประมวลผลข้อมูลตามความเป็นจริง แต่ใช้วิธีเทียบข้อมูลที่มีโดยอ้างอิงจากประสบการณ์เก่าที่สั่งสมมา

ก่อนที่ข้อมูลจะไปถึงสมอง ต้องผ่านตาก่อน แล้วเนื่องจากตาเป็นกลุ่มเซลล์ ก็จะมีความไม่แน่นอนในระดับหนึ่ง ถ้ากระตุ้นไปแบบเดียวกันเป๊ะๆ ครั้งหนึ่งอาจทำงาน อีกครั้งอาจไม่ทำงาน ไม่ใช่กดสวิทช์ปุ๊บ ทำงานปั๊บ มีความขึ้นๆ ลงๆ มีความติสท์ของมัน ทีนี้คิดสภาพว่าจากลูกตาเรา สัญญาณต้องวิ่งผ่านเส้นประสาท รับส่งกันเป็นทอดๆ ไปจนถึงสมอง กว่าข้อมูลจะถึงสมอง ข้อมูลก็ฮ้วยห่วย แต่เวลาเรามองเห็นภาพ ไม่ห่วยเลยนะ ไม่มีปัญหาเลย คือภาพมีความรู้สึกในระดับประสบการณ์ของเรา ราวกับว่าเราเห็นคมชัดทุกพิกเซล อย่างเวลาดูพระอาทิตย์ตก บางทีไปถ่ายรูปกล้องดีขนาดไหน ก็สู้ตาเราไม่ได้ คือมันมหัศจรรย์ขนาดนั้น

คำอธิบายคือ สมองอาศัยข้อมูลที่ห่วยก็จริง แต่เวลามองเห็น สมองจะทำงานเหมือนเป็น ‘เครื่องสร้างสมมติฐาน’ พอได้รับข้อมูลแล้ว เขาอาจจะคิดว่าจากข้อมูลอันจำกัดนั้นพอจะเป็นอะไรได้บ้าง แล้วก็ดูสมมติฐานที่มีความน่าจะเป็นมากที่สุด พอได้คำตอบปุ๊บก็สรุปภายใต้ข้อมูลอันจำกัดว่า อันนี้แหละมีความน่าจะเป็นสูงสุด แล้วเราก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นสิ่งที่เรามองและรับรู้ จึงไม่ใช่ข้อมูลที่เราได้ แต่เป็นข้อมูลที่เราได้บวกกับสิ่งที่เราคาดหวังหรือประสบการณ์เก่า กลายมาเป็นของที่เรามองเห็น

สมมติว่าเราเห็นขวดน้ำครั้งแรก เราจะเห็นมันแตกต่างจากครั้งที่ 10 ยังไง

ตอนเด็กๆ ที่เราเห็นขวดน้ำครั้งแรกในชีวิตจะเป็นยังไงไม่รู้เนอะ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นตอนเราเด็กๆ แต่เราอนุมานได้ว่า สมมติว่าเด็กเห็นขวดน้ำวางอยู่บนโต๊ะ ถ้าเขาไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องขวดน้ำกับโต๊ะ เขาจะไม่รู้เลยว่าทั้งหมดนั้นคือของคนละอย่างหรือเป็นของอย่างเดียวกัน ถ้าขวดน้ำวางซ้อนกับแก้วน้ำ เขาก็จะไม่รู้อีกว่านี่คือของหนึ่งอย่างหรือของสองอย่างซ้อนกัน แต่เราเป็นผู้ใหญ่ เราเห็นปุ๊บเรารู้เลยว่านี่คือโต๊ะ แก้วน้ำ ขวดน้ำ ทั้งหมดเป็นของที่แยกออกจากกันได้

เราไปศึกษาทารกไม่ได้ เพราะเขาพูดให้เราฟังไม่ได้ แต่หลักฐานที่มีก็คือว่า คนที่เป็นต้อกระจกสองข้าง ตาบอดมาตลอดชีวิต เขาได้รับการผ่าตัดต้อกระจก โดยการผ่าตัดเป็นไปด้วยดี ในวันที่เขาเปิดตามองเห็นภรรยาเป็นครั้งแรก เขาดีใจน้ำตาไหลเลย แต่ปรากฏว่าการมองเห็นเป็นเรื่องซับซ้อนมากกว่าแค่การมีดวงตา ถึงเขาจะมีดวงตาในการรับข้อมูล แต่เขากลับยังมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ทั้งๆ ที่ข้อมูลทุกอย่างก็ตกถึงสมองเหมือนกับเรา แต่เขาไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรอยู่หน้า อะไรอยู่หลัง การรับรู้สามมิติไม่มีเลย ทำให้ไปไหนมาไหนไม่สะดวก

ประสบการณ์ในอดีตจึงมีความสำคัญมากต่อการมองเห็น เพราะมันทำให้การสร้างสมมติฐานมีความน่าจะเป็นที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงได้มากที่สุด และผิดพลาดน้อยที่สุด

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในเรื่องการสร้างสมมติฐานของสมองก็คือ สมองของเราไม่ชอบความกำกวม ถ้ามีข้อมูลที่บังเอิญมีสองสมมติฐาน โดยมีความเป็นไปได้เท่าๆ กัน สมองก็จะตัดสินใจเลือกเพียงหนึ่งสมมติฐานอยู่ดี แต่ถ้ายังมีอีกความเป็นไปได้ สมองเราจะเปลี่ยนการตัดสินใจได้ แต่จะเป็นลักษณะของการเปลี่ยนกลับไปกลับมา เห็นได้ทีละสมมติฐานเท่านั้น พอเห็นความน่าจะเป็นที่ 1 จะไม่เห็นความน่าจะเป็นที่ 2 แต่พอเห็น 2 จะไม่เห็น 1 ยกตัวอย่างรูปนี้ (necker cube)

 

 

คนส่วนมากจะเห็นเป็นโครงลูกเต๋า ซึ่งจริงๆ การที่เราเห็นเป็นลูกเต๋าก็ประหลาดแล้ว เพราะถ้าเด็กทารกมอง จะไม่เห็นเป็นลูกเต๋า ถ้าไม่เคยรู้ว่าลูกเต๋าคืออะไร หรือไม่เห็นรูปทรงสามมิติมาก่อน ก็จะจินตนาการสามมิติไม่ออก คิดเป็นภาพแบนๆ

ทีนี้รูปนี้มันมองได้สองแบบ คนส่วนใหญ่จะมองเห็นสี่เหลี่ยมซ้ายล่างอยู่หน้าสุด (รูป A) เหมือนเรามองลูกเต๋าจากด้านบน อีกแบบคือ สี่เหลี่ยมขวาบนอยู่หน้าสุด (รูป B) เหมือนเรามองลูกเต๋าจากทางด้านล่าง ประเด็นคือ คุณสามารถมองเห็นลูกเต๋าเป็นสองสภาวะพร้อมกันได้มั้ย

 

คำตอบคือ ไม่ได้ เรามองเห็นทั้งสองแบบได้ แต่มองเห็นได้ทีละแบบ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า ambiguous figures คือภาพกำกวมที่แปลผลได้หลายแบบ มีรูปที่คนคุ้นกันเยอะๆ เช่น รูปหญิงสาวกับคนแก่ เป็ดกับกระต่าย

ภาพเป็ดกับกระต่าย คุณมองเห็นอะไรก่อน ?

 

สิ่งสำคัญคือ การตัดสินใจว่าสิ่งไหนจะเป็นไปได้มากที่สุด ไม่ได้อยู่ในระดับการรู้ตัว (awareness) คือไม่ใช่ตัวเราที่ตัดสินใจว่าจะมองเห็นแบบนั้น แต่คือสมอง เช่น ตอนที่เราเห็นเป็น cube ครั้งแรก เราไม่ทันรู้ตัว หรือไม่ได้พยายามคิดหรอกว่า เออ ไอ้นี่เป็นอะไรได้บ้าง สมองเราตัดสินใจว่ามันเป็น cube ก่อนที่เราจะรู้ตัว สมองตัดสินใจไปเลย โดยไม่ได้ถาม ​’เรา’

สรุปง่ายๆ คือ สิ่งที่เรามองเห็น ไม่ได้มาจากความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงสมมติฐานที่สมองสร้างขึ้นมาภายใต้ข้อจำกัด คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่า เฮ้ย ไอ้พวกนี้มันเป็นภาพที่ทำมาหลอกสมอง (illusions หรือ ภาพมายา) แต่ความเป็นจริงแล้วของที่เราเห็นอยู่ ณ ขณะนี้ก็เหมือนกันนั่นแหละ ทั้งหมดก็เป็น illusions ทั้งนั้น พอผมไปเจอเรื่องพวกนี้ ผมเลยสนุกใหญ่เลย ลืมไปเลยว่าตัวเองเรียนหมอมา เรียนจบแล้วต้องกลับไปเป็นหมอด้วย (หัวเราะ)

 

ไปเจอเรื่องสนุกๆ มาเยอะ แล้วประเด็นที่คุณศึกษาวิจัยช่วงที่เรียนที่ UCSD คือเรื่องอะไร มีเรื่องอะไรที่ต่อยอดจากองค์ความรู้ที่สอนกันมาบ้าง

ผมศึกษาเรื่องธรรมชาติความจำ ในที่นี้หมายถึง เรารำลึกถึงของที่ไม่มีอยู่แล้ว เช่น ชีวิตวัยเด็ก หรือจำได้ว่าเมื่อกี๊เดินผ่านอะไรมา

ก่อนไปศึกษาต่อ ผมคิดว่าความจำเหมือนเราถ่ายภาพ สมัยก่อนถ้าล้างเป็นภาพฟิล์ม ทิ้งไว้นานๆ ภาพก็ซีดจางลง ผมคิดว่าความทรงจำที่เลือนรางก็คงประมาณนั้น เป็นความทรงจำสีจางเหมือนในเพลงใช่มั้ย แต่ถ้าเราคิดต่อยอดจากเรื่องการรับรู้ที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่ว่า สมองทำงานด้วยการอาศัยการสร้างสมมติฐานมาครอบ มาเติมแต่งข้อมูลอันจำกัด พอเป็นเรื่องความจำ คุณภาพข้อมูลยิ่งแย่ตามกาลเวลา ฉะนั้นก็เป็นไปได้มากว่าข้อมูลจะยิ่งถูกปรับให้เข้ากับสมมติฐานที่เรามี ความจำจึงน่าจะเต็มไปด้วยความคาดหวังและการแปรผลยิ่งไปกว่าการรับรู้

ถ้าเป็นเช่นนั้น ความทรงจำของเราก็ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากมายาคติ ทุกครั้งที่เรารำลึกถึง คือการดึงขึ้นมาผ่านมุมมองที่เรามีต่อความจำนั้น แล้วสร้างขึ้นมาเป็นภาพใหม่ ในอดีตเคยมีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า ความทรงจำถูกบิดเบือนได้ มีคนใส่ความทรงจำปลอมเข้ามาได้ ซึ่งน่าสนใจมาก

เขาทดลองโดยเอารูปตอนเด็กๆ มาให้ผู้เข้าร่วมการทดลองอธิบายว่าตอนนี้ไปทำอะไรมา เขาให้ดูรูปจริงๆ แล้วก็แทรกรูปที่นั่งอยู่บนบอลลูนซึ่งแต่งขึ้นมาใหม่เข้าไป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่คนก็สามารถอธิบายได้ บางคนก็พูดยาวเลย ไปกับพ่อ อย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะสงสัยว่า เอาเรื่องมาจากไหน ปรากฏการณ์แบบนี้บอกกับเราว่า ความจำไม่ใช่การเลือนหายของข้อมูลทีละน้อยๆ (​passive process) แต่เป็นกระบวนการสร้างความจำขึ้นใหม่ทุกครั้งที่เราคิดถึงอดีต (active process)

โอเค พอเรารู้แล้วว่าความจำของเราถูกบิดเบือนได้ ผมก็ถามต่อไปว่า แล้วไอ้การบิดเบือนของความจำเนี่ย มันบิดเบือนอย่างมั่วซั่วหรือบิดเบือนอย่างเป็นระบบ ตามแต่เป้าหมายว่าเราจะจำไปเพื่ออะไร เช่น ถ้าเราไปเจอคนที่พึ่งรู้จักกันใหม่ๆ สักสิบคนพร้อมๆ กัน ถ้าเป้าหมายคือการพยายามจะจำหน้าทั้งสิบคน เราอาจไม่สามารถจำหน้าแต่ละคนให้ได้เป๊ะๆ สิ่งที่ควรทำอาจเป็นการสรุป ‘ภาพรวม’ ว่าหน้าของทั้งสิบคนเป็นประมาณไหน แม้จะจำแต่ละคนไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็จำภาพรวมได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความทรงจำของหน้าทั้งสิบก็จะไปในทิศทางที่คล้ายกันมากขึ้น

ในทางกลับกัน ถ้าเป้าหมายคือการจำหน้าคนคนหนึ่งให้ได้ ไม่อยากสับสนกับคนที่เหลือ สมองเราควรจะทำตรงกันข้าม คือจำสิ่งที่เป็นลักษณะจำเพาะของคนที่เราอยากจะจำ แล้วทำให้ต่างไปจากภาพรวมของคนที่เหลือ แปลว่าความจำเกี่ยวกับคนคนนั้นจะถูกบิดเบือนในลักษณะที่ยิ่งแตกต่างไปจากความจริง เช่น ถ้าคนนั้นตาโตกว่าคนอื่นๆ เราก็จะจำว่าตาของเขาโตกว่าความเป็นจริง

เมื่อเปลี่ยนจากสมมติฐานนี้เป็นการทดลอง เพื่อลดความซับซ้อน ผมเลยศึกษาคำถามนี้ แต่เปลี่ยนจากการจำใบหน้า เป็นการจำ ‘เฉดสี’ ถ้าเราให้จำเฉดสีที่คล้ายกันมากๆ เช่น สีน้ำเงินสองเฉด คือ น้ำเงินอมเขียว กับ น้ำเงินอมม่วง ความทรงจำจะขยับเข้าใกล้กัน (กลายเป็นสีน้ำเงินทั้งคู่)​ หรือจะสามารถผลักกันได้ไหม (กลายเป็น เขียวกับม่วง) ผลก็เป็นอย่างที่ตั้งสมมติฐาน คือ ถ้าต้องจำเฉดสีที่คล้ายกันหลายๆ เฉด ความจำของแต่ละเฉดสี จะคล้ายกันมากขึ้น แต่ถ้าต้องจำสองเฉดสีแยกจากกัน ความจำของสองสีนั้นก็จะแตกต่างกันมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งรอให้นานก่อนจะทดสอบ ก็ยิ่งต่างมากขึ้นไปอีก

คอนเซ็ปต์สำคัญคือ สมองเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ เราไม่สามารถจะจดจำข้อมูลได้อย่างแม่นยำตามความเป็นจริงหรอก สิ่งที่สมองทำก็คือ โฟกัสที่เป้าหมาย ความจริงคืออะไรไม่สำคัญ ขอให้มีประโยชน์ สมองก็จะยอมแลกความจริงกับสิ่งที่มันมองเห็นว่าเป็นประโยชน์ ไม่สำคัญหรอกว่าความจริงคืออะไร

 

พอพูดเรื่อง ‘จริง-ไม่จริง’ แบบนี้ ก็นึกถึงเรื่องการเมือง มีคำหนึ่งที่พูดกันบ่อยคือคำว่า ‘ล้างสมอง’ สิ่งนี้มีอยู่จริงมั้ย ทำได้จริงมั้ย

พอเห็นว่าแม้แต่การรับรู้ของเราก็ต้องผ่านการตั้งสมมติฐาน ในความรู้สึกผมคือ มันเป็นไปได้นะ ข้อมูลที่แต่ละคนได้รับต้องผ่านชุดความเชื่อที่คนตั้งธงเอาไว้ก่อนแล้ว อย่างที่บอกว่าสมองไม่ใช่คอมพิวเตอร์ ไม่สามารถประมวลข้อมูลทุกอย่างได้ ถึงเรายกเหตุผลเป็นพันๆ ข้อ ไปบอกคนที่มีชุดความคิดตรงข้าม ว่าทำไมไม่ควรเลือกคนคนหนึ่งมาเป็นนายกฯ ก็ไม่มีผลหรอกครับ ถ้าเขามีชุดความเชื่อเดิมอยู่แล้ว พอมีข้อมูลเข้ามาใหม่ก็เข้าไม่ได้ เพราะถูกครอบด้วยชุดความเชื่อเดิม ข้อมูลก็บิดไปตามนั้น ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องแก้ในระดับลึก ในระดับของชุดความเชื่อ

การทำให้คนๆ หนึ่งอยู่ในจุดที่ล้างสมองได้ มันไม่สั่นไหวต่อข้อมูลภายนอกนะ ซึ่งจะว่าไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ ในสภาวะที่สมองมีข้อจำกัด กลไกนี้ทำให้เราเป็นเรา ไม่งั้นคงอยู่ไม่รอด แล้วถ้าเรายิ่งแก่ตัวไป ไม่มีพลังงานจะมาสร้างข้อมูลใหม่ หรือปรับเปลี่ยนความเชื่อของเราใหม่ สู้เราอาศัยชุดความเชื่อที่เรามีอยู่เดิมบวกเข้ากับข้อมูลใหม่ไปเลยไม่ง่ายกว่าเหรอ ก็ใช้มาทั้งชีวิตแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไม่เห็นว่าผิดตรงไหน ทำไมต้องเปลี่ยน

 

เลยเป็นคำอธิบายว่าคนมีอายุส่วนมาก เชื่ออะไรก็เชื่อแบบนั้น

ใช่ ถ้าอยู่ที่เดิม กินอาหารแบบเดิมๆ ทำกิจวัตรแบบเดิมๆ แบบนี้ง่ายที่สุด เพราะการจัดการกับความไม่แน่นอนมันเปลืองพลังงาน เลยอาจทำให้เขาอยากคงอยู่ในสภาวะที่คุ้นเคย เขาจะบอกว่า สิ่งที่เป็นมาในอดีตดีมากอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม คือมันมีที่มาที่ไป เป็นไปตามความเป็นจริงด้านชีวภาพในระดับหนึ่ง จะไปโทษเขาก็ไม่ได้

แต่ก่อนผมจะรู้สึกว่า เราแก่ไปจะเป็นแบบนี้มั้ย แบบที่ฟังประโยคสองประโยค แล้วสรุปเลย ฟังปุ๊บ ฟันธงแล้ว แต่พอไปศึกษาก็รู้สึกว่า ถ้าไม่มีพลังงานเหลือแล้ว สุดท้ายเราก็อาจเป็นอย่างนี้ก็ได้นะ (หัวเราะ) มันเป็นกฎธรรมชาติ

ยิ่งพอรู้ว่าส่วนหนึ่งเป็นไปโดยไม่รู้ตัวด้วย มีกลไกบางอย่างที่อยู่เหนือการควบคุมของจิตใจเรา ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนเลือกที่จะคิดแบบนั้น แต่สมองตัดสินให้เลย ไม่ถามด้วยซ้ำ เปลืองพลังงานและเวลา จะมีกี่อย่างที่มันทำอย่างนี้ให้เรา คงไม่น้อยเลย

เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจคนอื่น รู้ทันตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนที่เห็นต่างได้มากขึ้น แต่ก็ยังแอบมีความเชื่อลึกๆ ว่า ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรซ้ำๆ เดิมๆ จมอยู่ในชุดความเชื่อแบบเดิมๆ พยายามจะไม่ด่วนตัดสิน ก็อาจทำให้หลุมชุดความคิดของเราไม่ลึกมาก ถ้าเกิดมีชุดความคิดเป็นหลุมลึก ไม่ว่าอะไรมาก็ไหลลงหลุมนี้หมด อย่างนี้ก็คงไม่ดี

ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

มาถึงจุดหนึ่ง พอศึกษาเยอะๆ แล้ว เราต้องการอะไรจากการพยายามทำความเข้าใจ Cognitive Science

ผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่อง cognitive science แค่เข้าใจคนปรกติได้ เขาก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผมเคยถามเหมือนกันว่าเขาต้องการอะไร ต้องการจะสร้างสมองเทียม สิ่งมีชีวิตเทียมเหรอ แต่ผมคิดว่าเขาไม่จำเป็นจะต้องมีเป้าหมายอะไรที่จับต้องได้ชัดเจน

ส่วนตัวผมคิดว่าการศึกษาเรื่องสมองทำให้เกิดความเข้าใจตัวเราเอง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดแล้ว คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกก็สำคัญ แต่ความเข้าใจว่าเรามีที่มายังไง ความคิดเราคืออะไร ในความเห็นของผมไม่มีคำถามไหนสำคัญเท่าคำถามเหล่านี้อีกแล้ว แค่ตอบคำถามที่ว่า อะไรทำให้เราเป็นเราก็พอแล้ว

แต่ถ้าเป็นรูปธรรมหน่อย ผมก็อยากให้มีคนที่สนใจเรื่องพวกนี้มารวมกลุ่มกัน ให้มีกลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องนี้ร่วมกันในประเทศเราเยอะขึ้น เพราะผมว่าคนสนใจน่าจะมีมาก

แต่ถ้าเราเข้าใจทั้งหมดเลย ว่าอะไรเกิดขึ้นเพราะอะไร ดูจะไม่โรแมนติกเลยนะ

ไม่โรแมนติกเหรอ (หัวเราะ) นี่เป็นประเด็นที่น่าชวนคุยมากเลย ตอนไปเรียนมีอาจารย์คนหนึ่งสอนผมว่า สมมติว่าวิชา neurosciences ทำสำเร็จ คือเรารู้แม้กระทั่งว่าเซลล์นั้นเซลล์นี้ทำงานยังไง สื่อสารกันยังไงจนมาเป็นความคิด มาเป็นตัวเรา จะเป็นการลดทอนคุณค่าความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์รึเปล่า เขาก็ยกตัวอย่างว่า ก็รู้นะว่าเครื่องบินมีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ความจริงที่ว่าเครื่องบินพามนุษย์บินขึ้นไปบนฟ้าได้ มันทำให้ความสวยงามความมหัศจรรย์ของการบินลดลงหรือเปล่า สำหรับผมคิดว่าไม่

ถึงเราจะเข้าใจว่าธรรมชาติของคนเป็นยังไง แต่ก็ยังมีความโรแมนติกในระดับพฤติกรรม คนเรารักกัน ไม่ได้เป็นแค่สารเคมี มันก็ยังเป็นความรักอยู่ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ เราเรียนรู้ให้เข้าใจ แต่เราไม่ได้พรากความโรแมนติกออกไป มนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากๆ อยู่ มันเป็นเหตุผลที่เราอยากไปศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไปลดทอนความหัศจรรย์นั้น

แล้ว ณ ตอนนี้ สิ่งที่มนุษย์รู้เกี่ยวกับสมองไปถึงขนาดไหนแล้ว

ไม่เท่าไหร่เลยครับ ไม่น่าจะถึง 1% ที่ผมแสดงให้เห็นเป็นระดับการรับรู้ ซึ่งเข้าใจง่าย ตอนนี้จากการรับรู้เรื่องความจำ เราก็พยายามจะไต่สเกลขึ้นไปเรื่อยๆ การรับรู้ยังเชื่อมกับอีกหลายอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจ ไปจนถึงเรื่องคุณค่ามนุษยธรรม ถ้าเราอยากจะไปไกลขนาดนั้นคือยากมาก

เอาแค่กลไกทางสมองที่แท้จริงที่นำมาสู่การรับรู้ก็ยังจำกัดเลย เราก็ไม่รู้ว่าอะไรคือสารหลัก ไม่รู้ว่าเวลาเซลล์นี้คุยกับเซลล์นี้ มันคุยกันกี่ครั้ง นี่คือสัญญาณรึเปล่า หรือมันมีวิธีอื่น ยังมีเรื่องให้ค้นกันอีกเยอะมาก จนผมตายก็อาจจะยังไม่ได้คำตอบ ผมคิดว่านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสมองส่วนใหญ่ ไม่ได้หวังแก้ปัญหาในช่วงชีวิตของเขา แต่ต้องการศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้สะสมไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งใครสักคนก็คงจะเจอคำตอบ

คล้ายๆ กับนักดาราศาสตร์ศึกษาจักรวาล?

อะไรอย่างนั้น แต่เป็นจักรวาลภายใน ซึ่งมีความซับซ้อนไม่น้อยไปกว่ากัน

 

ถามในกรอบของการเข้าใจกลไกของสมอง ในมุมมองของคุณ มนุษย์สุดยอด หรือ ไม่มีอะไรจริงเลย

ผมรู้สึกว่าเป็นทั้งสองอย่าง ในทางหนึ่งสมองนี่ห่วยมากเลยนะ เพราะมีข้อจำกัดเยอะมาก ประมวลผลข้อมูลทั้งหมดก็ไม่ได้ ต้องเลือกแค่บางส่วน ส่วนที่ประมวลก็ใช้วิธีไปผสมกับประสบการณ์ การรับรู้ ความจำ กลายเป็นมายา ในทางหนึ่งก็ดูฮ้วยห่วย แต่อีกทางหนึ่งก็มหัศจรรย์มาก เพราะขนาดมันฮ้วยห่วย ยังทำให้เรารู้สึกนึกคิดได้ขนาดนี้ มีจินตนาการได้ขนาดนี้ คิดถึงเรื่องของโลก เรื่องของจักรวาล เรื่องของตัวเอง มันยังมหัศจรรย์อยู่สำหรับผม ถึงแม้ว่าไอ้ตัวฮาร์ดแวร์คือสมอง จะมีข้อจำกัดทางชีวภาพเต็มไปหมด แต่ในระดับพฤติกรรมก็ยังสวยงามอยู่ ทั้งห่วยทั้งมหัศจรรย์

มีความเชื่อแต่เดิมซึ่งตกสมัยไปแล้ว ที่ว่าสมองของแต่ละชาติพันธุ์ต่างกัน คนขาว คนดำ คนเอเชีย มีระดับความฉลาดต่างกัน เรื่องนี้มีคำอธิบายอย่างไรบ้าง

เป็นคำถามที่หาคำตอบชัดเจนได้ยาก เพราะพื้นฐานการศึกษาต่างกัน ประสบการณ์ชีวิต โอกาส การเลี้ยงดูก็ต่างกัน เทียบกันลำบาก โอเค คุณอาจพยายามจะควบคุมสิ่งต่างๆ แต่ไม่มีทางทำให้เท่ากันได้ 100% นอกจากนั้นคนที่คิด ​IQ test ก็เป็นคนขาว ชุดคำถามก็อาจไม่เหมาะสม

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญนอกจากนั้นคือ ความเฉลียวฉลาดเป็นอะไรที่นามธรรมมากๆ วัดด้วย IQ test ก็ได้ผลตามที่ทดสอบ แต่ต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้วัดรอบด้านอย่างแท้จริง ยังมีบริบทอีกหลายๆ อย่าง จะมาวัด IQ แล้วตัดสินระดับความฉลาดไม่ได้ ไม่แฟร์ เพราะมันไม่สามารถเปรียบเทียบอะไรได้ แต่เรื่องแบบนี้คนก็จะชอบ เพราะฟังดูง่ายดี ซึ่งผมคิดว่านอกจากไม่แฟร์แล้ว ยังไม่มีประโยชน์ด้วย แต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว การเอามาตรฐานเดียวไปวัด เป็นการ discriminate

แต่พฤติกรรมการแบ่งพรรคแบ่งพวกในลักษณะทางกายภาพ ก็มีคำอธิบายนะ คือมีความจำเป็นบางอย่างของสมองที่จะต้องประยุกต์กฎง่ายๆ เพื่อพยายามจะแยกแยะว่าคนนี้คือกลุ่มเรา คนนี้ไม่ใช่กลุ่มเรา เพื่อการอยู่รอด เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ก็อยากกลับไปที่ประเด็นเดิมก็คือว่า ไม่ใช่ว่าพอมีคำอธิบายทางชีวภาพแล้วแปลว่า เออ..มันก็เป็นแบบนั้นแหละ แปลว่าความขัดแย้งมันต้องมี มันเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ คือถ้าเรารู้อยู่แล้วว่ามันจะนำไปสู่ความรุนแรง ถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ถ้าเรารู้ว่ามันนำไปสู่ความวุ่นวาย มนุษย์เราก็ควรสร้างกลไกควบคุมเพื่อไม่ให้เป็นอย่างนั้น

ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

ตัดกลับมาที่โรคทางสมองในไทย มีโรคยอดฮิตอะไรบ้าง หรือมีโรคไหนที่น่าสนใจบ้าง

โรคที่เจอบ่อยๆ ก็คือโรคหลอดเลือดสมอง ที่มาจากโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันโลหิตสูง ข้อสำคัญที่อยากจะฝากก็คือ หากมีอาการที่น่าสงสัย เช่น อ่อนแรง ปากเบี้ยว ชาร่างกาย พูดไม่ชัด เดินเซ ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ควรรอช้า เพราะช่วงเวลาที่การรักษาบางชนิดจะได้ผลดี มีระยะเวลาจำกัด

โรคที่เจอบ่อยแต่คนไม่ค่อยพูดถึงกัน คือโรคลมชัก เป็นโรคที่คนเข้าใจผิดเยอะ พอพูดถึงโรคลมชักว่ามีอาการชัก คนส่วนใหญ่จะชอบคิดว่า เขาไปทำผิดบาปอะไรมา โดนผีเข้า เป็นมาตั้งแต่อดีต คนในอดีตบ้างก็มองว่าโรคนี้เป็นโรคทางจิต พอมันเกิดจากไฟฟ้าผิดปรกติในสมอง ทำให้อาการเป็นๆ หายๆ คนก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นโรคจริงๆ เวลาไปทำงานแล้วทำงานไม่ได้ ก็เกิดความไม่เข้าใจ คิดว่าแกล้งทำหรือเป็นภาวะทางจิตใจ แต่ความจริงคือ โรคลมชักเป็นโรคที่รักษาได้ดีมากๆ ด้วยยา และการผ่าตัดในบางราย แต่คนส่วนหนึ่งก็เข้าใจว่ารักษาไม่ค่อยได้ เลยมีคนไข้ที่ยังไม่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ ซึ่งน่าเสียดาย

โรคที่กำลังจะเจอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน พอเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัลไซเมอร์กับพาร์กินสันจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้น ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นว่ามีการรักษาที่ได้ผลขนาดทำให้โรคหยุดหรือว่าหายเป็นปกติ แต่ก็มีการรักษาที่ช่วยให้อาการและคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนคนที่ยังไม่มีอาการ ก็อยากแนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนให้เพียงพอ ใช้ชีวิตให้ไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ อะไรแบบนั้น

ถึงที่สุดโรคแห่งความเสื่อมก็ยังรักษาไม่ค่อยได้ ประเด็นนี้สำคัญเหมือนกัน ตอนที่ผมมาเรียนระบบประสาท เพื่อนผมหลายคนก็เตือนว่า เรียนทำไมโรคทางสมอง รักษาอะไรไม่ค่อยได้

ไม่ใช่โรคที่จะมาหาหมอแล้วหายขาด ?

ส่วนมากโรคทางระบบประสาทไม่ใช่โรคที่จะหายขาด ตอนแรกก็คิดเหมือนกัน ทำไมเราถึงอยากจะมาดูแลโรคที่รักษายาก หรือรักษาไม่ได้ แต่เอาจริงๆ แล้ว ในฐานะหมออายุรกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคไต​ โรคตับ หรือโรคใดๆ เวลาเจอคนมาหาหมอเป็นประจำที่แผนกผู้ป่วยนอก ส่วนมากคือคนที่ยังมีโรคที่ต้องรักษากันอยู่ เป็นโรคที่ไม่หายขาด เกี่ยวข้องกับความเสื่อมอยู่เยอะ คำถามที่ผมถามตัวเองก็คือ เป้าหมายสำคัญคือการรักษาให้หายขาดจริงหรือเปล่า

ถ้าเปรียบเทียบความไม่สบายเป็นการเดินขึ้นภูเขา ในฐานะหมอ เราพยายามช่วยให้เขาลงมาจากภูเขา แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราต่างก็รู้ว่า มันจะต้องมีภูเขาลูกสุดท้ายที่เขาจะไม่ได้ลงมา เราจะทำยังไง

ตอนผมจบเป็นหมอใหม่ๆ และคิดว่าคุณหมอที่จบใหม่ๆ คงเป็นเหมือนกัน คือเราจะรู้สึกว่าหน้าที่ของเราในฐานะหมอ คือต้องรักษาโรคให้หาย แต่พอแก่ขึ้น ผมว่ามันไม่ใช่แล้วละ เพราะหน้าที่หลักของเราคือรักษาคนที่รักษาไม่หายต่างหาก  ตอนที่เป้าหมายคือการรักษาให้หาย ถ้าเจอโรคที่เขาต้องขึ้นภูเขาไป แล้วรู้ว่าเอาเขาลงมาไม่ได้ เราก็จะโบกมือบ๊ายบายเลย คือปากเราพูดให้เขามีกำลังใจสู้ แต่ใจเราไม่ได้ไปกับเขาจริงๆ แต่พอเปลี่ยนแนวคิดว่า เออ งานของเราคือการ ‘ดูแล’ คนไข้ ที่อาจจะมีโรคที่รักษาไม่หายนะ นี่แหละคือส่วนหนึ่งที่เราต้องเจอ เพราะเราหนีไปไม่ได้

สุดท้ายทุกคนก็ต้องขึ้นไปบนภูเขาที่กลับลงมาไม่ได้ เราก็ควรจะเดินขึ้นภูเขาไปกับคนไข้ บอกได้เต็มปากว่าเรามาสู้ไปด้วยกันนะ ซึ่งมันอาจไม่ใช่แค่รายการยาที่สั่งให้เขา พอทัศนคติเปลี่ยนปุ๊บ วิธีคุยกับคนไข้เราก็จะเปลี่ยน ถึงรักษาไม่หายก็ไม่สำคัญแล้ว

ตอนเด็กๆ สมัยเรียน เราจะเชื่อว่าหมอเป็นฝั่งเดียวกับพระเจ้า ช่วยคนได้ สักพักเราเริ่มรู้สึกว่า เอ หรือไม่ใช่วะ เราคือฝั่งตรงข้ามกับพระเจ้ารึเปล่า คือเราพยายามจะไปฝืนในสิ่งที่มันควรจะเป็นรึเปล่า พอเรายอมศิโรราบต่อสิ่งที่กำหนดไม่ได้ เราก็เลิกเครียดกับการพยายามฝืนสิ่งที่เป็นไปแล้ว และแก้ไขไม่ได้

แต่ถึงแม้เราจะแก้ไขอะไรไม่ได้ เราก็พยายามให้ดีที่สุดของเรา นี่คือทัศนคติของผมในปัจจุบัน ให้มาถามอีกทีตอนแก่กว่านี้ ไม่รู้ผมจะเปลี่ยนใจรึเปล่า (หัวเราะ)

คำถามสุดท้าย ถามสนุกๆ คุณหมอคิดว่ามีสิ่งไหนไหมที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ที่ถ้าเกิดขึ้นให้รู้เลยว่าสมองมันเล่นเราแล้ว

เอาจริงๆ สมองมันเล่นเราตลอดเวลาอยู่แล้ว

ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save