fbpx
กึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักการเมืองชื่อ ชวน หลีกภัย (1) : ลูกที่ดีของพรรค นักการเมืองที่รักของระบบราชการ

กึ่งศตวรรษบนเส้นทางนักการเมืองชื่อ ชวน หลีกภัย (1) : ลูกที่ดีของพรรค นักการเมืองที่รักของระบบราชการ

ธนาพล อิ๋วสกุล เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ภาพของชวน หลีกภัย (2481–) ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองอาชีพที่คร่ำหวอดมากึ่งศตวรรษภายใต้พรรคเดียว (2512-2562) นั่งท้ายรถปิกอัพหาเสียงด้วยสีหน้ากังวล ออกมาไล่เลี่ยกับผลการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประสบความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ

 

 

จากปี 2554 ที่เป็นพรรคอันดับ 2 มี 159 เสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 4 ได้เพียง 52 เสียง ขณะที่คะแนนระบบบัญชีรายชื่อจากเดิม 11,435,640 คะแนน เหลือเพียง 3,947,726 คะแนนในปี 2562 และที่เลวร้ายที่สุดสำหรับชวน หลีกภัย คือตรัง เขต 1 พื้นที่แจ้งเกิดทางการเมือง ที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะมาได้ตั้งแต่ปี 2512 กลับต้องพลาดท่าให้นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.หน้าใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ[1]

เท่านั้นยังไม่พอ หลังความพ่ายแพ้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ประสบปัญหาความขัดแย้งในการเลือกหัวหน้าพรรค โดยพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตหัวหน้าพรรค ได้โจมตีชวนซึ่งสนับสนุนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อีกหนึ่งแคนดิเดตอย่างรุนแรงว่า

“ผมเพิ่งจะประจักษ์ด้วยตัวผมเองว่าผู้ใหญ่บางคนที่ผมเคยเคารพนับถือมาเกือบ 30 ปี ที่ผมเคยเชื่อว่าดี แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงภาพลวงตา ใครไม่ยอมอยู่ในอาณัติหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกันเมื่อใดก็กลายเป็นคนที่ต้องถูกพิฆาต แผ่บารมีต่อต้านวาดภาพให้เป็นคนไม่ดี เป็นคนของคนนั้นคนนี้ เพื่อให้ดูไม่ดีในสายตาเพื่อน บารมีมากล้นที่ควรจะวางตัวเป็นกลางเพื่อสร้างเอกภาพ กลายเป็นตัวตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น”[2]

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนกับชวน หลีกภัย นับตั้งแต่เข้ามาเล่นการเมืองในปี 2512  รายงานชิ้นนี้จะสำรวจว่าบนเส้นทางนักการเมืองชื่อชวน หลีกภัย เขาได้ผ่านอะไรมาบ้าง โดยจะแบ่งเป็น 2 ตอน

ตอนแรก นับจากเข้ามาเล่นการเมืองปี 2512 จากการเป็น ส.ส.สมัยแรก จนถึงต้นปี 2534 ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ตอนที่สอง จากการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาจนถึงปัจจุบันที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา

การเมืองตรังก่อนชวนลงสนาม

 

ก่อเกียรติ ษัฏเสน คือนักการเมืองที่โด่งดังที่สุดของจังหวัดตรังก่อนที่ชวน หลีกภัย จะลงสนาม ก่อเกียรติเป็น ส.ส.ครั้งแรกในปี 2491 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการหาเสียงที่มีลักษณะเฉพาะ คือการขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามท้องที่ต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขประชาชน ต่อต้านข้าราชการทุจริต และมักเจ็บร้อนแทนประชาชนที่ถูกเอาเปรียบ  เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหาร 2494 แล้วมีการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2495 พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง ก่อเกียรติจึงเข้าร่วมด้วย และได้ออกไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร พร้อมศึกษาธรรมะเพื่อประยุกต์ใช้กับการเมือง

ในปีนั้นเองจังหวัดตรังก็มีทนายความหัวก้าวหน้า ประภาส คงสมัย ผู้สมัครอิสระ ได้เป็น ส.ส.ตรัง หลังรัฐประหาร 2500 ประภาสหนีภัยไปเมืองจีน ก่อนจะมาอยู่ศูนย์การนำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่จังหวัดน่าน ใช้ชื่อว่า สหายมิ่ง

ส่วนก่อเกียรติ ษัฏเสน ได้กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งในปี 2500 ได้รับเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เพราะถูกรัฐประหารในปี 2501 หลังจากนั้นก่อเกียรติก็ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ทิ้งไว้เพียงตำนานนักการเมืองที่มีอุดมการณ์ของจังหวัดตรัง[3]

ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มากก็น้อย ก่อเกียรติน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับชวน หลีกภัย ในวันเวลานั้น หันมาสนใจการเมืองและเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ในเวลาต่อมา

 

.ส. สมัยแรกที่ถูกออกแบบเพื่อให้เป็นแค่ฝ่ายค้าน

 

หลังจากการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 คณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร ยุบพรรคการเมือง และเริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนาน จนจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตในปี 2506 ก็ยังไม่คืบหน้า ภารกิจดังกล่าวมาเสร็จสิ้นในปี 2511 ในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร พร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2511 ที่ออกแบบไว้สืบทอดอำนาจ โดยมีวุฒิสภาที่คณะรัฐประหารตั้งมากับมือเป็นเสาค้ำยัน ต่อมามีการเลือกตั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 โดยคณะรัฐประหารได้จัดตั้งพรรคสหประชาไทย เพื่อสนับสนุนให้จอมพลถนอม กิตติขจร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์หลังสิ้นสุดยุคที่มีหัวหน้าพรรคชื่อควง อภัยวงศ์ ก็เปลี่ยนมาเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้ลงสนามเลือกตั้งด้วย นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่ปรากฏตามกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 มีเนื้อหาว่า

“พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายในอันที่จะดำเนินการเมืองโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติและประชาชน อาศัยหลักกฎหมายและเหตุผล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนิยมนับถือ ตลอดจนเสียสละเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุดังกล่าว พรรคนี้จึงเป็นศัตรูต่อระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดๆ และไม่สนับสนุนวิธีการแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการของรัฐบาลใด

สามสิบกว่าปีที่แล้วมา การเปลี่ยนรัฐบาลใช้วิธีปฏิวัติรัฐประหาร มิได้เปลี่ยนไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจของปวงชน จึงไม่มีอะไรก้าวหน้า บัดนี้ พลเมืองได้รับการศึกษามากขึ้นและสูงขึ้น ปัญญาชนได้แสดงออกแล้วด้วยประการต่างๆ ว่าพร้อมที่จะเข้ารับภาระในทางการเมือง จึงเป็นโอกาสที่ปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะได้เข้ามาเป็นใหญ่ ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสักที” [4]

การประกาศชัดเจนตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคสหประชาไทย ที่เป็นพรรคสืบทอดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ถือเป็นการประกาศไปในตัวว่าถ้าแพ้เลือกตั้งก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน

ชวน หลีกภัย เคยเล่าไว้ด้วยตัวเองว่า เขาอายุเพียง 31 ปี ตอนเดินเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอาสาลง ส.ส. จังหวัดตรัง แต่เดิมพรรคฯ ก็ไม่คิดว่าจะส่งเขาลง เพราะยังไม่มีใครรู้จักทนายหนุ่มที่ชื่อชวน หลีกภัย แต่เนื่องจากครูบุญเหลือ สินไชย ได้ขอถอนตัว เขาจึงได้ลงสนามเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์  ชวนหาเสียงด้วยวิธีลงไปพบปะและปราศรัยตามพื้นที่ต่างๆ ด้วยรถจี๊ปคู่ใจ จนทำให้ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเป็นที่ 1 ของจังหวัด ส่วนอีกที่นั่งเป็นของ พร ศรีไตรรัตน์ จากพรรคสหประชาไทย[5]

 

นายชวน หลีกภัย ขณะปราศรัยหาเสียงที่จังหวัดตรัง ในการเลือกตั้งครั้งแรก โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (ชุดขาว) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นั่งไขว่ห้างฟังอยู่ข้างล่าง

 

ผลการเลือกตั้ง 10 กุมภาพันธ์ 2512 พรรคสหประชาไทยได้รับเลือกตั้งมากที่สุด คือ 95 ที่นั่ง แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 219 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับ 2 คือมี ส.ส. 50 ที่นั่ง แต่พรรคคณะรัฐประหารยังมีวุฒิสภาอีก 164 ที่นั่งมาช่วยค้ำยันรัฐบาลอยู่ด้วย

เพียงแค่สมัยแรกชวนก็แสดงบทบาทโดดเด่นในการอภิปรายในฐานะฝ่ายค้าน แต่สภาชุดนั้นมีอายุได้เพียง 2 ปี ก็ถูกจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ และยุบพรรคการเมือง ทำให้เส้นทาง ส.ส. ของชวนต้องหยุดชะงักลง

ต้องบันทึกด้วยว่า นักการเมืองอีกคนหนึ่งที่เริ่มต้นเส้นทางนักการเมืองมาพร้อมกับชวนคือ อุทัย พิมพ์ใจชน (2481–) ซึ่งมีเส้นทางชีวิตแทบจะเหมือนกัน คือเกิดปีเดียวกัน เป็นคนต่างจังหวัดเช่นเดียวกัน จบคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเนติบัณฑิตเหมือนกัน และเข้ามาเป็น ส.ส. ชลบุรีในพรรคประชาธิปัตย์สมัยเดียวกับชวน

อย่างไรก็ตาม อุทัยเลือกเส้นทางชีวิตที่แตกต่างออกไป กล่าวคือ เมื่อเกิดการรัฐประหาร อุทัยร่วมกับเพื่อน ส.ส. คือ บุญเกิด หิรัญคำ (พรรคประชาธิปัตย์) อนันต์ ภักดิ์ประไพ (ส.ส.อิสระ) ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะรัฐประหารและจอมพลถนอม กิตติขจร ในข้อหากบฏ ถือเป็นการท้าทายผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา  ต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2515 ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลสั่งจำคุกอุทัย 10 ปี ส่วนอีก 2 คนถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ขณะที่ชวนเลือกที่จะถอยฉากออกจากการเมืองไปชั่วคราวเช่นเดียวกับนักการเมืองทั่วไป

 

เย็นลมป่า ร้อนไฟการเมือง

 

หลังจากรัฐประหาร 2514 ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ล้มรัฐบาลถนอมโดยการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชน ต่อมามีรัฐธรรมนูญ 2517 มาแทนที่รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกยุบไปหลังรัฐประหาร 2514 ก็กลับมาตั้งใหม่อีกครั้งพร้อมกับการเลือกตั้ง 25 มกราคม 2518

ชวน หลีกภัย เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ เมื่อได้เป็น ส.ส. สมัยที่ 2 อย่างไม่ยากเย็น พร้อมกับนำเพื่อนร่วมทีมประชาธิปัตย์คือ ประกิต รัตตมณี เข้าสภาไปด้วย

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้งในปี 2518 โดยได้ถึง 72 ที่นั่ง จาก 269 ที่นั่ง แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศได้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พ่ายแพ้ในการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องลาออก ปล่อยให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งสามารถรวมพรรคเล็กเป็น ‘สหพรรค’ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ แทน พรรคประชาธิปัตย์และชวนจึงต้องกลับมาทำหน้าที่ฝ่ายค้านอีกครั้ง

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้คือ ชวนได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรก โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมเพียง 26 วัน (15 กุมภาพันธ์ 2518 – 13 มีนาคม 2518)

แต่รัฐบาลสหพรรคของคึกฤทธิ์ก็อยู่ได้เพียง 1 ปี มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 มกราคม 2519  จังหวัดตรังมี ส.ส. เพิ่มเป็น 3 คน ชวนสามารถนำเพื่อนร่วมทีมเข้าสภาได้ทั้งหมด คือ เสริฐแสง ณ นคร และ ประกิต รัตตมณี ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ถึง 114 เสียง

ชวนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปี 2519 ซึ่งรัฐบาลชุดนั้นก็อยู่ได้ไม่ถึงปี ในขณะนั้นกระแสขวาพิฆาตซ้ายรุนแรงมาก พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนฝ่ายซ้าย มีนักการเมือง 3 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ได้แก่ สุรินทร์ มาศดิตถ์, ดำรง ลัทธพิพัฒน์ และชวน หลีกภัย

สถานการณ์ตอนนั้นมีการปลุกความเกลียดชังจนนำไปสู่รัฐประหารนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 โดยคณะรัฐประหารก็ทำเช่นเดิมอีกคือฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร ยุบพรรคการเมือง และที่รุนแรงกว่านั้นคือมีการไล่ล่านักการเมืองฝ่ายซ้ายด้วย ชวนคือเหยื่อคนหนึ่งที่ต้องหลบหนีไปต่างจังหวัด และช่วงเวลานั้นเองที่เขาเขียนหนังสือ เย็นลมป่า[6] ที่บันทึกยุคสมัยนั้นไว้ด้วย แม้เนื้อหาจะแสดงถึงความโหดร้ายของระบอบเผด็จการทหารและเห็นใจเหยื่อ แต่ตัวหนังสือของชวนก็ไม่ได้มีลักษณะปลุกระดมให้คนต่อต้านอำนาจเผด็จการโดยตรง ต่างจากงานของบรรดาฝ่ายซ้ายคนอื่นๆ ในยุคนั้น

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รัฐบาลของคณะรัฐประหารธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้สร้างบาดแผลและความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคม จนเกิดรัฐประหารซ้อนในปี 2520 ซึ่งชนชั้นนำผลักดันให้พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2521 ที่เป็นการประนีประนอมกัน และถือได้ว่าเป็นแบบฉบับของประชาธิปไตยครึ่งใบ จากนั้นจึงมีการเลือกตั้ง 22 เมษายน 2522 ทว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ย้อนกลับไปดำเนินรอยตามการเลือกตั้งปี 2512 เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจผ่านวุฒิสภาที่มีอำนาจโหวตเลือกนายก และสามารถเข้าประชุมร่วมกับ ส.ส. เป็นเวลา 4 ปี ขณะเดียวกันก็กำหนดด้วยว่าไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง โดยให้มีสถานะเป็นเพียงกลุ่มการเมืองเท่านั้น

 

ปักษ์ใต้บ้านเราใต้เงาเปรม

 

ผลของกระแสขวาพิฆาตซ้ายทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยได้ 114 เสียงในปี 2519 เหลือเพียง 34 เสียงในปี 2522 กรุงเทพฯ ที่เคยยึดครองมาตลอดเหลือเพียง 1 เสียง ส่วนจังหวัดตรัง จากที่เคยได้ยกจังหวัด 3 คน ก็เหลือชวน หลีกภัย เพียงคนเดียว อีก 2 คนมาจากพรรคกิจสังคม คือ นคร ชาลปติ และพร ศรีไตรรัตน์ อดีต ส.ส. พรรคสหประชาไทยที่เคยขับเคี่ยวกับชวนเมื่อ 10 ปีก่อน

สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วยก็คือ อุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่เติบโตมาพร้อมชวน แต่เลือกเส้นทางที่ต่างกันดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ได้บอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2521 ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่อยากไปเป็นเครื่องประดับให้เผด็จการ

หลังการเลือกตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ยังเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การสนับสนุนของวุฒิสภา และพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคฝ่ายค้านต่อไป จนกระทั่งรัฐบาลเกรียงศักดิ์ล้มในเดือนมีนาคม 2523 มีการตั้งรัฐบาลใหม่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ‘เปรม 1’ พร้อมกับความสัมพันธ์อันดีของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นคนปักษ์ใต้เช่นเดียวกับพลเอกเปรม ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือชวน หลีกภัย

ตลอด 8 ปี 5 เดือนของรัฐบาลเปรม ความเป็นคนใต้นี่เองทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเอกเปรมกับพรรคประชาธิปัตย์แนบแน่นมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ แม้ว่าพลเอกเปรมจะมีวิธีปฏิบัติต่อพรรคการเมืองด้วยวิธีการเฉพาะตัว กล่าวคือ

พลเอกเปรมไม่ปฏิเสธพรรคการเมืองเหมือนกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร หรือแม้แต่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งที่เรียกกันภายหลังว่า ‘ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ’ โดยในการบริหารพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลนั้น พลเอกเปรมมีทั้งการให้รางวัล (ดึงมาร่วมรัฐบาล) และการลงโทษ (ขับออกจากรัฐบาล) โดยไม่ยึดติดว่าเคยมีปัญหากันมาก่อน เช่น กรณีพรรคกิจสังคมในปี 2524 หรือพรรคชาติไทยในปี 2526 พร้อมกันนั้นหลังฉากเปรมก็ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการข่มขู่พรรคการเมืองที่ทำตัวออกนอกแถว จึงเกิดมายาคติว่าด้วยการยินยอมพร้อมใจของนักการเมืองในการสนับสนุนพลเอกเปรม[7]

อย่างไรก็ดี พรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ร่วมรัฐบาลเปรมตลอด ในสมัยรัฐบาลเปรม 1-3 ชวนได้เป็นรัฐมนตรีตลอดเช่นกัน โดยสมัยเปรม 1 ชวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (3 มีนาคม 2523 – 5 มีนาคม 2524) สมัยเปรม 2 ชวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (11 มีนาคม 2524 – 19 ธันวาคม 2524) สมัยเปรม 3 ชวนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (19 ธันวาคม 2524 – 19 มีนาคม 2526)

รัฐบาลเปรม 3 อยู่เกือบครบวาระ  4 ปี แต่ชิงยุบสภาเสียก่อน นำมาสู่การเลือกตั้ง 18 เมษายน 2526 สนามเลือกตั้งที่ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยึดครองได้เช่นเดิม นอกจากชวน หลีกภัย และประกิต รัตตมณี แล้ว ยังมี ส.ส.หน้าใหม่ คือวิเชียร คันฉ่อง ชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภาด้วย นอกจากนั้นการลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพัทลุงของวีระ มุสิกพงศ์ ก็ได้ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์แข็งแกร่งขึ้น

ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ หลังจากมีการรวมพรรคการเมืองกันแล้ว พรรคชาติไทยที่มีพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรคได้ 110 เสียง พรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ 99 เสียง และพรรคประชาธิปัตย์ของพิชัย รัตตกุล ได้ 56 เสียง ที่เหลือเป็นพรรคเล็ก จากทั้งหมด 324 เสียง

ในช่วงเริ่มต้น พรรคชาติไทยพยายามจัดตั้งรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากทหารไปข่มขู่พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ให้ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติไทยที่จะให้พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นนายกฯ ทำให้ต่อมาพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชากรไทย ตกลงกันที่จะสนับสนุน พลเอกเปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ขณะที่พรรคชาติไทยที่อาจหาญจะมาแย่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจากพลเอกเปรมต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะ ส.ส.ปักษ์ใต้กับเปรม ก็ยิ่งดีขึ้นในรัฐบาลเปรม 4 (เมษายน 2526 – กรกฎาคม 2529)

ชวนดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดรัฐบาลเปรม 4 โดยพรรคประชาธิปัตย์ทำงานเข้าขากันดีกับพลเอกเปรม ซึ่งก็คือตัวแทนของระบบราชการนั่นเอง

เมื่อมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 พรรคประชาธิปัตย์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้ 2 ขุนพลหลักคือ ชวน หลีกภัย และวีระ มุสิกพงศ์ โดยกวาดที่นั่ง ส.ส. เกือบยกภาคเช่นเดิม ที่จังหวัดตรังยังคงเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ แต่มีการเปลี่ยนผู้สมัครจากประกิต รัตตมณี เป็นนายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์

ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ พรรคประชาธิปัตย์สามารถกลับมาชนะเลือกตั้งอีกครั้ง โดยได้ 99 ที่นั่งจาก 347 ที่นั่ง แต่กลายเป็นว่าความสัมพันธ์ที่ดีกับพลเอกเปรมกลับทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถส่งให้พิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะในพื้นที่ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ยังชูเปรม ‘นายกคนใต้’ ว่าเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ด้านพลเอกเปรมที่บอกมาตลอดว่า ‘ไม่ยึดติดกับเก้าอี้’ ก็ไม่ยอมลงจากอำนาจ และใช้วิธีการเดิมคือให้ผู้จัดการรัฐบาลคือ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ไปบีบพรรคการเมืองอื่นไม่ให้สนับสนุนพิชัย รัตตกุล เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลัวว่าจะต้องเป็นฝ่ายค้านเหมือนพรรคชาติไทยในปี 2526

ด้วยเหตุนี้ พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องเข้าร่วมรัฐบาลเปรม 5 (กรกฎาคม 2529 – สิงหาคม 2531) โดยหารู้ไม่ว่านี่จะเป็นหนทางหายนะ เพราะเกิดความขัดแย้งในการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี (เพราะจำนวนหนึ่งต้องมอบให้กับพลเอกเปรม) จนเป็นที่มาของ ‘กลุ่ม 10 มกรา’ ที่นำโดยเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และวีระ มุสิกพงศ์ ขณะที่ชวนไปดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงสามารถลอยตัวเหนือความขัดแย้ง แต่ก็ไม่มีบทบาทที่โดดเด่น

ความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์สมัยรัฐบาลเปรม 5 เป็นที่มาของคำว่า ‘พรรคประชาธิกัด’ ไม่เพียงแต่กลุ่ม 10 มกราจะออกไปตั้งพรรคประชาชน ในพรรคก็แตกแยกกันจนนำไปสู่การโหวตสวนมติพรรคของกลุ่ม 10 มกรา ที่ทำให้เปรมต้องยุบสภาในวันที่ 29 เมษายน และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

อย่างไรก็ตาม เปรมในปี 2531 ไม่ใช่เปรมในปี 2523  กระแส ‘เบื่อป๋า เซ็งเปรม’ พุ่งขึ้นสูง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมที่เคยอุ้มพลเอกเปรมมาโดยตลอด ได้กล่าวไปถึงพลเอกเปรมว่า “ผมขอประกาศว่าจะยอมตายกลางทุ่งสนามหลวงเป็นคนแรก และขอประท้วงอย่างรุนแรงสุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทยให้จงได้”

สุดท้ายคือฎีกา 99 นักวิชาการ ซึ่งจำนวนมากเคยทำงานกับพลเอกเปรม แต่ได้ออกมาไล่พลเอกเปรมก่อนเลือกตั้ง ส่วนผลการเลือกตั้ง 2531 ก็เป็นอีกหนึ่งความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ จากที่เคยได้ 99 ที่นั่ง ก็เหลือเพียง 48 ที่นั่ง

ขณะที่สนามเลือกตั้งในจังหวัดตรังก็หนักหนาสำหรับชวนเช่นกัน เพราะกระแสพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำลงไปมาก จนต้องไปดึงทวี สุระบาล นักธุรกิจที่เคยลงสมัครพรรคชาติไทยในปี 2526 มาร่วมทีม กระนั้นก็ตาม ผลการเลือกตั้งออกมาก็ยังเสียที่นั่งให้พิทักษ์ รังสีธรรม จากพรรคชาติไทย

ถึงตอนนี้ พลเอกเปรมที่พรรคประชาธิปัตย์เคยอาศัยใบบุญร่วมรัฐบาลก็ถึงเวลาอำลา เนื่องจากการต่อต้านเปรมสูงขึ้นหลังจากการดำรงตำแหน่งมา 8 ปี 5 เดือน ปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลางที่ต้องไปหาทางออกของตัวเองต่อไป

 

ใต้เงาชาติชาย ไม่ทิ้งลายประชาธิปัตย์

 

ผลการเลือกตั้ง 24 กรกฎาคม 2531 ปรากฏว่า พรรคชาติไทย (พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ) 87 เสียง พรรคกิจสังคม (พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา) 53 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ (พิชัย รัตตกุล) 48 เสียง พรรครวมไทย (ณรงค์ วงศ์วรรณ) 34 เสียง พรรคประชากรไทย (สมัคร สุนทรเวช) 31 เสียง พรรคราษฎร (พลเอก เทียนชัย ศิริสัมพันธ์) 21 เสียง พรรคประชาชน (เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์) 19 เสียง พรรคปวงชนชาวไทย (พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก) 17 เสียง พรรคพลังธรรม (พลตรี จำลอง ศรีเมือง) 15 เสียง ที่เหลือเป็นพรรคต่ำสิบ

รัฐบาลใหม่จึงนำโดยพรรคชาติไทยที่มีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นแกนนำ ทั้งๆ ที่พรรคชาติไทยได้เพียง 87 ที่นั่งเท่านั้น (น้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยได้ 99 ที่นั่ง) ในสมัยนั้น รัฐบาลชาติชายสามารถสร้างผลงานมากมายจากการคิดค้นนโยบายใหม่ๆ ที่ออกนอกกรอบที่รัฐบาลเปรมวางไว้เกือบทศวรรษ พร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมสูง[8] ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้โดดเด่น โดยชวนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับ

ในสมัยรัฐบาลชาติชาย เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ จึงมีการยกเลิก ปร.42 ที่ปิดกั้นเสรีภาพหนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้สื่อมวลชนสามารถขุดคุ้ยปัญหาคอร์รัปชันได้มากขึ้น จนรัฐบาลพลเอกชาติชายถูกกล่าวหาในเรื่องการทุจริตและคอร์รัปชัน เกิดฉายาจากสื่อมวลชนว่า ‘บุฟเฟต์คาบิเน็ต’

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเห็นว่ารัฐบาลชาติชายไปไม่ไหว พร้อมกับข่าวรัฐประหารรายวัน ก็ได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 12 ธันวาคม 2533

อีกไม่นานหลังจากนั้น ได้เกิดความผันผวนทางการเมืองจนนำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

เช่นเดียวกับทุกครั้ง ชวนและพรรคประชาธิปัตย์นิ่งเงียบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

สรุป

 

22 ปีแรกในการเป็นนักการเมืองอาชีพของชวน หลีกภัย (2512-2534) ถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้านับจากชัยชนะในการลงสนามเลือกตั้ง 7 ครั้ง (2512, 2518, 2519, 2522, 2526, 2529, 2531) และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญต่างๆ มากมาย ไม่มีปัญหาอื้อฉาวทั้งเรื่องคอร์รัปชันและส่วนตัว ได้กลายเป็นเหยื่อทางการเมืองในกรณี 6 ตุลาฯ 2519 พร้อมๆ กับเดินอยู่ในเส้นทางประชาธิปไตย แม้จะไม่อาจหาญแบบเพื่อนร่วมรุ่น เช่น อุทัย พิมพ์ใจชน

แต่คำถามก็คือว่า แล้วอะไรคือผลงานของชวน หลีกภัย หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ในระหว่างการบริหารกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงยุติธรรม พาณิชย์ สาธารณสุข ศึกษาธิการ เกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ

นอกจากว่าไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาว คนทั่วไปก็คงนึกถึงคำตอบอื่นๆ ไม่ออก

ในความเห็นของผู้เขียน ชวน หลีกภัย คือนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง เพราะนับตั้งแต่เล่นการเมืองเป็นต้นมา เขาไม่เคยให้ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ หรือกล่าวอะไรที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคในทางสาธารณะ ทั้งๆ ที่ชวนไม่น่าจะเห็นด้วยกับแนวทางของผู้บริหารพรรคทั้งหมด เราจึงยกย่องชวนได้ว่าเป็น ‘ลูกที่ดีของพรรค’

ขณะเดียวกัน แม้ชวนจะไม่เคยทำงานในระบบราชการมาก่อนเล่นการเมือง แต่ชวนก็ดูจะเชื่อมั่นในระบบราชการอย่างเปี่ยมล้น เห็นได้จากแนวทางการบริหารประเทศผ่านหลายกระทรวง ที่ประชาชนไม่เคยเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ใดๆ เลยในทางนโยบายที่ออกมาจากชวนหรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เอง

เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ตลอด 22 ปีแรกบนเส้นทางนักการเมือง ชวน หลีกภัย คือ ‘ลูกที่ดีของพรรค นักการเมืองที่รักของระบบราชการ’

 


 

อ้างอิง

[1] อ่านสัมภาษณ์เบื้องหลังชัยชนะของนิพันธ์ ศิริธร ใน ธิติ มีแต้ม ‘แยก-ยึด-ร่วม’ บทเรียนชัยชนะ ‘ตรัง’ เขต 1 : นิพันธ์ ศิริธร ส.ส.พลังประชารัฐ เว็บไซต์ The101.world

[2] “พีระพันธุ์” ของขึ้น ฉะผู้ใหญ่นับถือ 30 ปี แค่ภาพลวงตา ทำพรรคแตกแยก ไทยรัฐออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2562

[3] บุคคลผู้มีชื่อเสียงทางการเมือง ก่อเกียรติ ษัฏเสน : ผู้ยืนอยู่ข้างประชาชน เว็บไซต์ iamtrang.com

[4] เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Database TPD) “จาก ‘ควง’ ถึง ‘จุรินทร์’ 73 ปี พรรคประชาธิปัตย์ ทาง 2 แพร่ง ร่วม – ไม่ร่วม ขบวนการสืบทอดอำนาจ” 

[5] บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ (เรียบเรียง) ชวน หลีกภัย ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า

[6] ชวน หลีกภัย นักการเมืองครึ่งศตวรรษ ในรอยทาง “เย็นลมป่า” The People  5 เมษายน  2562

[7] ธนาพล อิ๋วสกุล 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (2) : 8 ปี 5 เดือน ของนายกฯ เปรม ภายใต้การเมืองสามเสา

[8] ธนาพล อิ๋วสกุล 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (3) : เงื้อมเงาของเปรมหลังระบอบเปรมาธิปไตย 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save