fbpx
“พลเอกประยุทธ์ ครับ” / “พลเอกประยุทธ์ ค่ะ” คำถามจากชายแดนใต้ เมื่อพิราบเลือกเหยี่ยว

“พลเอกประยุทธ์ ครับ” / “พลเอกประยุทธ์ ค่ะ” คำถามจากชายแดนใต้ เมื่อพิราบเลือกเหยี่ยว

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

ผลการประชุมรัฐสภาครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เพื่อพิจารณาเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ ชนะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากการโหวตร่วมกันของสองสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ด้วยมติ 500 ต่อ 244 เสียง

ในบรรดาแวดวงนักกิจกรรมและนักวิชาการที่ทำงานในประเด็นสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ ต่างเปิดเผยความรู้สึกออกมาทันทีเมื่อได้ยินเสียงขานรับโหวตเลือก “พลเอกประยุทธ์” เป็นนายกฯ ตามลำดับ จากคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติวิธีในพื้นที่มายาวนาน ก่อนผันตัวมาเป็นนักการเมือง

“156. นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล”

“พลเอกประยุทธ์ ครับ”

“385. นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา”

“พลเอกประยุทธ์ ค่ะ”

“726. นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ”

“ท่านประยุทธ์ ครับ”

 

เสียงครวญจากพื้นที่ชายแดนใต้ปรากฏเต็มไปทั่วโซเชียลมีเดีย ทำนองว่า

“ส.ส.จากปาตานีหลายคนเลือกประยุทธ์เป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่คนปาตานีโดนทหารกระทำมาตลอด สันติภาพปาตานีก็คงยังเลือนราง”

“ ‘หะยีสุหลง’ คงร้องไห้ถ้ารู้ว่าหลานสาวหนุนเผด็จการ”

“น่าเศร้าใจยิ่งนักที่ทนายความสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านได้ไปหนุนประยุทธ์”

“อาจารย์คนเดิมได้จากพวกเราไปอย่างถาวรแล้ว”

“ตอนโหวตแอบลุ้นเล็กๆ ว่าอาจารย์คงงดออกเสียง แต่ท้ายที่สุดก็โหวตให้ประยุทธ์ เออ ลืมไปแล้วว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง ของ คสช.”

 

จุดที่น่าสนใจคือ เหตุใดนักกิจกรรมชายแดนใต้จึงแสดงออกถึงความผิดหวังและตั้งคำถามอย่างถึงลูกถึงคนกับ 1 สมาชิกวุฒิสภาที่ชื่อ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล และ 2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชื่อ เพชรดาว โต๊ะมีนา และ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ

สำหรับซากีย์ พิทักษ์คุมพล เป็นบุตรของอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เขาเป็นอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และรองเลขานุการสำนักจุฬาราชมนตรี

‘ซากีย์’ เป็นอาจารย์คนหนึ่งที่พูดถึงหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยและแนวทางสันติวิธีอย่างสม่ำเสมอ ในการแสดงความเห็นทางวิชาการในเวทีสามจังหวัดชายแดนใต้

ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557 อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้ส่งหนังสือขอถอนชื่อจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยระบุเหตุผลว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่ผู้นำทางศาสนาอิสลามจะเป็น สนช. หลังจากถูกเสนอชื่อภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการ รัชกาลที่ 10 ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และลำดับที่ 49 ก็ปรากฏชื่อของ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

ท่ามกลางเสียงลุ้นให้เขาส่งหนังสือขอถอนชื่อจากสมาชิกวุฒิสภา แต่สิ่งนั้นก็ไม่เกิดขึ้นจนถึงวันที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลายคนยังหวังว่าเขาจะงดออกเสียง แต่คำตอบก็อย่างที่รู้กันว่า เขาขานชื่อ “พลเอกประยุทธ์ ครับ”

 

สำหรับแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2544 เธอเคยสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เขตหนองจอก-ลาดกระบัง กทม. ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ แต่ก็สอบตก ต่อมาในปี 2557 เธอลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี ทว่าสอบตกอีก

ล่าสุดเธอลาออกจากผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 กรมสุขภาพจิต เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย และท้ายสุดเธอก็สมหวังกับการเป็น ส.ส. ครั้งแรก

จากการได้เป็นผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตฯ นี่เอง ที่เธอได้ทำงานเยียวยาจิตใจให้เหยื่อของความรุนแรง ทั้งจากฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธที่ต่อสู้กันมา 15 ปี

ที่น่าสนใจคือเธอเป็นบุตรสาวคนโตของ เด่น โต๊ะมีนา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้ากลุ่มวาดะห์คนแรก ก่อนจะผ่องถ่ายให้ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ

เด่น โต๊ะมีนา พ่อของหมอเพชรดาว เป็นบุตรชายของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ผู้นำทางความคิดของชาวมลายูมุสลิมที่เคยเสนอ ‘ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ’ กับรัฐไทยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ แต่รัฐไทยกลับจำคุกหะยีสุหลงเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

กระทั่งเช้าตรู่วันที่ 13 สิงหาคม 2497 หะยีสุหลง กับ อาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน คือ หะยีวันอุสมาน และ หะยีเจ๊ะอิสเฮาะ ถูกทำให้หายสาบสูญไปตลอดกาล

ในปี 2500 มีรายงานจากตำรวจว่าบุคคลทั้ง 4 ถูกสังหารในบังกะโลริมทะเลสาบสงขลา ด้วยการใช้เชือกรัดคอและคว้านท้อง ก่อนจะถูกอำพรางด้วยการนำศพไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ในทะเลสาบสงขลา ใกล้กับเกาะหนู เกาะแมว

 

ส่วน อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ลาออกจากการเป็นประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) จังหวัดยะลา และสมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขต 1 จังหวัดยะลา สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และท้ายสุดเขาก็สมหวังกับการเป็น ส.ส.ครั้งแรก

อาดิลันมีผลงานจากการทำหน้าที่ทนายความช่วยเหลือทางคดีให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฏหมายพิเศษของรัฐไทย ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ถึงขั้นมีคนที่ไม่พอใจจนขนานนามเขาว่าเป็น ‘ทนายโจร’ ไม่ต่างไปจากทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกทำให้หายสาบสูญอีกหนึ่งราย

ที่น่าสนใจคือทนายอาดิลัน เป็นทายาทที่มีสายเลือดใกล้ชิดมากที่สุดกับ หะยีวันอุสมาน บุคคลที่ถูกทำให้หายสาบสูญไปพร้อม หะยีสุหลง เมื่อปี 2497

 

ท่ามกลางเสียงตั้งคำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อนักการเมืองทั้งสามคน ผู้เขียนนึกถึงการทำงานการเมืองบนหลักการที่ให้ความสำคัญกับ ‘วิธีการมาก่อนเป้าหมาย’ แต่เมื่อมองปรากฏการณ์ของนักการเมืองที่ผันตัวมาจากภาคประชาสังคม ซึ่งเคยขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม สันติภาพ และประชาธิปไตยในชายแดนภาคใต้ ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลักษณะของการเลือก ‘เป้าหมายมาก่อนวิธีการ’ ซึ่งนักการเมืองทั้งสามคนดังกล่าวได้เลือกละทิ้งวิธีการไปแล้ว

ผลจากการใช้ความรุนแรง 15 ปีในชายแดนใต้ ทำให้ผู้คนกว่า 6 พันรายล้มตาย และบาดเจ็บกว่า 1 หมื่นคน การใช้อาวุธสู้รบกันระหว่างกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) กับกองทัพไทยเพื่อเป้าหมายของแต่ละฝ่าย ถูกสังคมประณามว่าเป็นการพยายามเอาชนะทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ

หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นต้นมา คนมลายูในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่น้อยเลยที่เลือกต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐไทยโดยคำนึงถึงวิธีการมาก่อนเป้าหมาย แต่ในที่สุดอำนาจอันแข็งแกร่งของรัฐไทยเองที่คำนึงถึงเป้าหมายก่อนวิธีการเสมอ ก็บีบให้พวกเขาเลือกจับอาวุธต่อสู้แทน

เช่นในปี 2480 อดุลย์ ณ สายบุรี หรือ ตนกูอับดุลยาลาล์ นาเซร์ ผู้สืบเชื้อสายตระกูลเจ้าเมืองสายบุรี ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดปัตตานี ต่อมาในปี 2487 พี่ชายของอดุลย์ถูกจับกุมเนื่องจากแต่งกายแบบชาวมลายูขณะเดินในตลาดสายบุรี

ความขับข้องใจ ทำให้อดุลย์อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ข่มเหงรังแกพี่น้องมลายูมุสลิม ทำให้ไม่อยากเป็นคนไทย เพราะรู้สึกเสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรีเป็นอย่างมาก

การอภิปรายในครั้งนั้นทำให้อดุลย์ถูกราชการเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ราษฎรกระด้างกระเดื่องต่อทางราชการ จนถูกติดตามพฤติกรรมและถูกคุกคามความปลอดภัย จนกระทั่งในปี 2488 อดุลย์ตัดสินหลบหนีออกจากไทย ไปอยู่ที่รัฐกลันตัน สหพันธรัฐมาเลเซีย จากนั้นได้ก่อตั้งแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ในปี 2503

ประวัติศาสตร์บาดแผลอีกกรณีคือระหว่างปี 2489-2490 ระหว่างที่ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากปรีดี พนมยงค์ ด้านหะยีสุหลง ได้ยื่น ‘ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ’ ให้กับรัฐบาลผ่านแช่ม พรหมยงค์ สมาชิกคณะราษฎร ผู้เป็นจุฬาราชมนตรีในขณะนั้น แต่อุบัติเหตุทางการเมืองในปลายปี 2490 รัฐบาลหลวงธำรงฯ ก็ถูกรัฐประหารโดยนาวาอากาศเอกกาจ กาจสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัณ และพันเอกสวัสดิ์ สวัสดิรณชัย เสียก่อน

ผลจากการเรียกร้องดังกล่าว ปี 2492 หะยีสุหลงก็ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาล และเมื่อพ้นโทษออกมา กลางปี 2497 หะยีสุหลงกับพรรคพวกก็ถูกบังคับให้หายสาบสูญไปตลอดกาล กรณีนี้ย่อมกล่าวได้ว่าคนมลายูมุสลิมเลือกวิธีการก่อนเป้าหมายแล้ว แต่รัฐไทยกลับเลือกใช้ความรุนแรงจัดการแทน

ถึงกระนั้นในปี 2500 อามีน โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลง ได้นำเรื่องศาสนาและสิทธิเสรีภาพของคนมลายูมุสลิมมาปราศรัยหาเสียงจนได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดปัตตานี แต่ปี 2501 อามีนก็ถูกจับในข้อหาแบ่งแยกดินแดน สาเหตุจากการที่เขาพิมพ์หนังสือซึ่งมีเนื้อหาเน้นถึงความเป็นมลายู และรัฐก็สั่งเผาหนังสือของเขาทิ้ง กระทั่งเมื่อพ้นโทษแล้ว เขายังถูกขึ้นบัญชีดำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัว จนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่รัฐกลันตัน สหพันธรัฐมาเลเซีย และต่อมาก็ได้เข้าร่วมกับ BRN ในปี 2509

 

ถามว่าคนมลายูมุสลิมในรุ่นถัดมา มีการต่อสู้ทางการเมืองโดยคำนึงวิธีการก่อนเป้าหมายหรือไม่ คำตอบคือมี

เช่น ระหว่างปี 2530-2531 มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน เรียกร้องให้มีการแก้ระเบียบให้นักศึกษาสตรีสามารถสวมใส่ฮิญาบได้ในวิทยาลัยครูยะลา กระทั่งปลายเดือนมีนาคม 2531 ทางรัฐบาลจึงยอมรับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม แก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์โดยให้สิทธิเสรีภาพในการแต่งกายตามบทบัญญัติอิสลามแก่ชาวมุสลิมทุกคนในสังคมไทย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ช่วงปี 2530-2533 ก็มีการเคลื่อนไหวของประชาชนเรียกร้องให้เพิกถอนมัสยิดกรือเซะ จากการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วรัฐจะไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะการละหมาดซึ่งเป็นวิถีปกติของชาวมุสลิม ซึ่งการเรียกร้องของประชาชนทำให้รัฐยอมให้ดำเนินการละหมาดได้ตามปกติ แม้จะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วก็ตาม

ปี 2535-2540 คนลุ่มน้ำสายบุรีไปร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนเพื่อให้รัฐบาลหยุดโครงการเขื่อนสายบุรี จนคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 ให้ยกเลิกการดำเนินการโครงการเขื่อนสายบุรี จังหวัดยะลาไว้ก่อน ต่อมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีดำเนินการต่อ แต่สุดท้ายโครงการก็ชะงักไปหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2547

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวปัตตานีได้ชุมนุมประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานี ให้รัฐแก้ปัญหาเกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมาย และในปี 2546 กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบเรือตรวจการณ์ให้ชุมชนในอ่าวปัตตานีลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจจับเรืออวนลากอวนรุน

ในปี 2550 มีการชุมนุมหน้ามัสยิดกลางปัตตานีอีกครั้ง โดยนักศึกษาเรียกร้องให้รัฐบาลถอนทหารออกจากพื้นที่ ยกเลิกกฎอัยการศึก และยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากการใช้กฎหมายพิเศษได้เปิดช่องให้ประชาชนถูกเจ้าหน้ารัฐละเมิดสิทธิ การเรียกร้องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐรับข้อเสนอ แล้วนำไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แม้ว่ากฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินยังถูกบังคับใช้อยู่ก็ตาม

 

ตลอดช่วงประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าคนมลายูมุสลิมเลือกใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองตามแนวทางที่ชอบธรรมมาเสมอ ซึ่งมีทั้งกรณีที่ได้ผลและไม่ได้ผล แต่วิธีการดำเนินการของรัฐได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่คำนึงถึงวิธีการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง นั่นคือจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐไทย

ทว่าปรากฏการณ์การเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จาก 3 นักการเมืองสายพิราบดังที่กล่าวมา กลับสะท้อนถึงภาวะกระอักกระอ่วนของสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะพลเอกประยุทธ์เป็นประมุขฝ่ายบริหารที่ใช้อำนาจกองทัพกระทำรัฐประหารมาก่อนหน้านั้น ย่อมไร้ความชอบธรรมในวิธีการเข้าสู่การเมือง ยังไม่นับผลพวงรัฐประหารที่ยังคงเป็นมรดกตกค้างอยู่ในสังคมอีกมากมาย

หากในช่วงเวลาที่ผ่านมา การสู้รบของ ‘สายเหยี่ยว’ จากทั้งกลุ่ม BRN และกองทัพ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยมีภาคประชาชน นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ ‘สายพิราบ’ คอยวิพากษ์วิจารณ์และประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น กระทั่งร่วมเสนอทางออกอย่างสันติที่สุด

ทว่าในวันเวลาที่ ‘พิราบ’ หันไปเลือก ‘เหยี่ยว’ เข้ามาปกครองต่อ คำถามคือสันติภาพในชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save