fbpx
สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะจบอย่างไร?

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะจบอย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

 

ตอนนี้เริ่มชัดแล้วว่า สงครามการค้า เป็นมากกว่าเรื่องการค้า แต่หลายคนยังสงสัยอยู่ว่า สงครามการค้ารอบนี้จะจบอย่างไร?

เพื่อให้เข้าใจที่มาของความขัดแย้ง ผมมักเรียกติดตลกว่าเราต้องเข้าใจ ‘ทฤษฎีหมูสามชั้น’ นั่นก็คือ ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ มี 3 ชั้น คือ การค้า เทคโนโลยี ความมั่นคง

ชั้นแรก คือ ความตึงเครียดเรื่องการค้า ที่สหรัฐฯ ออกมาบอกว่า ขาดดุลการค้ากับจีน ที่จริงแล้วนั่นเป็นเพียงเรื่องผิวๆ ครับ ยังมีชั้นที่สอง คือ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ฝั่งจีนก้าวหน้าขึ้นมามาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีไม่ใช่เพียงเรื่องว่าใครจะได้ส่วนแบ่งการตลาดมากกว่ากันเท่านั้นนะครับ แต่ยังมีมิติชั้นที่สามด้วย คือเรื่องของความมั่นคง เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และอาจนำไปปรับใช้ด้านการทหารได้ด้วย

ดังนั้น ถ้าสงครามการค้ายังยืดเยื้อต่อไป ก็อาจยกระดับเป็น ‘สงครามเย็น 2.0’ ได้ครับ หลายคนยังจดจำสงครามเย็นรอบที่แล้วได้ดี ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนรอบนี้เรียกได้ว่าประชันกันทุกมิติยิ่งกว่าสมัยต่อสู้กับโซเวียตอีก เพราะจีนกับสหรัฐฯ มีระบบเศรษฐกิจ การปกครอง วัฒนธรรม เชื้อชาติที่แตกต่างกัน แถมบวกเสริมเข้าไปด้วย ‘หมูสามชั้น’ ที่ผมพูดถึง คือ จีนยังเป็นมหาอำนาจใหม่ที่ค้าขายเก่ง และมีเทคโนโลยีสำคัญแห่งอนาคต ซึ่งอาจเป็นตัวตัดสินเรื่องความมั่นคงในโลกยุคใหม่ด้วย

ลักษณะสำคัญของสงครามเย็น คือการยกระดับการต่อสู้เป็นการเดินและแลกหมากรอบด้าน เช่น การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ก็อาจเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมกระดาน เช่นเดียวกับหมาก Huawei ที่สหรัฐฯ หยิบขึ้นมาเล่น แต่นอกจากนี้ยังมีหมากอีกหลายตัวที่ทั้งสองฝ่ายสามารถนำมาเล่นและแลกกันได้ในเกมความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกาหลีเหนือ เรื่องไต้หวัน เรื่องทะเลจีนใต้ ฯลฯ ดังนั้นถ้าจะสังเกตการเดินหมากของทั้งสองประเทศ จึงต้องฝึกมองให้กว้างทั้งกระดาน ไม่ใช่จำกัดที่เกมสงครามการค้าแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ควรตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ความก้าวหน้าของจีนในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และความมั่นคงที่พูดกันมากนั้น แน่นอนว่ามีส่วนจริง แต่ก็มีส่วนที่เป็นการปั่นกระแสจากฝั่งสหรัฐฯ โหมไฟยกระดับความหวาดกลัวจนเกินจริงด้วย

มีนักวิชาการในสหรัฐฯ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามสมัยสหภาพโซเวียต (ในช่วงทศวรรษ 50) หรือการเติบโตของญี่ปุ่น (ในช่วงทศวรรษ 80) การปั่นกระแสว่าโซเวียตและญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามล้วนแฝงด้วยมิติทางการเมืองภายในสหรัฐฯ เอง ที่ชนชั้นนำในสหรัฐฯ ต้องการหาศัตรูร่วมกัน จนทำให้ทั้งสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นดูน่ากลัวและดูเป็นภัยคุกคามเกินความเป็นจริง

ในปัจจุบัน จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ในความเป็นจริง GDP ต่อหัวของจีนยังด้อยกว่าสหรัฐฯ หลายเท่าตัวและไม่มีทีท่าว่าจีนจะตามทันได้เลย ขณะที่ระบบการเมืองของจีนก็ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่เรียกแรงบันดาลใจให้ใครได้ และจีนเองก็ไม่เคยมีเป้าหมายจะขยายลัทธิการเมืองของตัวเองออกไปนอกประเทศ

ส่วนเรื่องเทคโนโลยีนั้น แม้ว่าจีนจะก้าวหน้าอย่างน่าทึ่ง และมีการต่อยอดเทคโนโลยีจนขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G และปัญญาประดิษฐ์ แต่เทคโนโลยีพื้นฐานหลายอย่างยังเป็นของตะวันตก ในความเป็นจริงแล้วจีนยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตกอยู่มากทีเดียว ดังที่เห็นได้จากการคาดการณ์ว่า ถ้าบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ หยุดค้าขายกับ Huawei จริง ก็ถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการสำหรับ Huawei

ความขัดแย้งที่สหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งในวันนี้ ส่วนหนึ่งจึงเป็นการตอบโจทย์การเมืองภายในประเทศตัวเอง เรียกว่ายิงนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือ หนึ่ง ได้ตัวร้ายที่เอามากล่าวโทษได้ว่าเป็นสาเหตุที่รายได้ของชนชั้นกลางสหรัฐฯ ติดหล่มมานาน (เพราะงานดีๆ จำนวนมากย้ายไปจีน แม้ความเป็นจริงจะมีปัจจัยอื่นอีกมากที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ติดหล่ม) สอง ได้ตัวปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และสาม ได้ศัตรูเป็นเป้าหมายร่วมให้ทุกคนอ้างอิงถึง

ส่วนจีนเอง ที่แต่เดิมบางคนนึกว่าสงครามการค้าอาจส่งผลสะเทือนการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเคยยึดผลงานทางเศรษฐกิจเป็นความชอบธรรมสำคัญในการปกครอง แต่ผลปรากฏว่า ท่ามกลางสงครามการค้า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับมีความชอบธรรมและได้รับความนิยมมากขึ้น ในฐานะเป็นรัฐบาลที่สามารถสร้างความปึกแผ่นและดำรงเสถียรภาพเพื่อต่อกรกับภัยคุกคามจากภายนอกได้

เมื่อปมความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ซับซ้อนเช่นนี้ มีทั้งความขัดแย้งแบบ ‘หมูสามชั้น’ ทั้งเกมแลกหมากแบบสงครามเย็น 2.0 ผนวกกับทั้งปัจจัยการเมืองภายในสหรัฐฯ และจีนเสริมด้วย คำถามที่หลายคนถามต่อมาก็คือสงครามครั้งนี้จะจบได้ไหม และจะจบอย่างไร?

ปัจจัยแรกอยู่ที่ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จากพรรครีพับลิกันจะชนะการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2020 หรือไม่ หากเป็นผู้แทนจากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนนโยบายต่อจีนเพื่อลดความตึงเครียดและให้มีลักษณะที่หวือหวาน้อยลง อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นรัฐบาลพรรคเดโมแครต การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศ ก็จะยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่รูปแบบอาจเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น อาจกลับไปดำเนินแนวทางการหาพันธมิตรร่วมปิดล้อมจีน และจัดทำข้อตกลงทางการค้า TPP (มีประเทศหลักทุกประเทศเข้าร่วม ยกเว้นจีน) เพื่อทัดทานจีน ดังเช่นที่เคยพยายามทำมาในสมัยประธานาธิบดีโอบามา

แต่ถ้าหากว่าประธานาธิบดีทรัมป์ชนะและอยู่ต่อ ลักษณะของสงครามการค้าน่าจะเป็นการรบ แล้วพักรบ แล้วรบต่อ ชนิดหวือหวาเร้าใจแบบขึ้นลงรถไฟเหาะ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ความผันผวนจะยังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว

ทรัมป์คงไม่สามารถรบเต็มอัตราศึกได้ เพราะจีนแตกต่างกับสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเศรษฐกิจจีนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากเหลือเกิน เพราะในอดีต การเติบโตของจีนก็มาจากการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากค่าแรงราคาถูก และส่งออกไปทั่วโลก แม้กระทั่งในด้านเทคโนโลยีเอง พอสหรัฐฯ ขู่จะให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ เลิกคบค้ากับ Huawei สีจิ้นผิงก็เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานแร่ Rare Earth ซึ่งสหรัฐฯ เองจำเป็นต้องอาศัยแร่ดังกล่าวจากจีนเพื่อผลิตชิปคอมพิวเตอร์

เพราะฉะนั้น พอรบกันไประยะหนึ่ง จนสหรัฐฯ เริ่มเจ็บตัว เช่น ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกว่าราคาสินค้าสูงขึ้น เกษตรกรสหรัฐฯ ขายถั่วเหลืองไปจีนไม่ได้ บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ค้าขายในจีนลำบาก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มร่วงไม่หยุด ฯลฯ ทรัมป์ก็คงจำเป็นต้องกลับมารื้อฟื้นการเจรจาและแสดงท่าทีว่าการเจรจากำลังเป็นไปได้สวย (และหุ้นก็จะขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีสุดท้ายตอนหาเสียงเลือกตั้ง) แต่สุดท้ายในระยะยาว การเจรจาก็ไม่มีทางที่จะทำให้ความขัดแย้งทั้งหมดจบลงได้ แล้วทั้งสองฝ่ายก็จะกลับมาเปิดศึกรบกันต่อ

ส่วนที่ว่าเมื่อเปิดศึกรบกันระยะยาว ใครจะอยู่ใครจะไป? ก็ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของทั้งสองฝ่ายในการแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส สุดท้ายสงครามการค้าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวกับใครมากกว่า ย่อมอยู่ที่ยุทธศาสตร์และนโยบายภายในประเทศของทั้งสองฝ่ายเองด้วย

ในภาพใหญ่ จุดประสงค์ของยุทธศาสตร์สหรัฐฯ คือการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากจีน จากที่เคยเชื่อมโยงกันจนทำให้สหรัฐฯ เริ่มเสียอำนาจการต่อรอง (เพราะเมื่อทำให้จีนไม่พอใจเมื่อไร จีนก็ขู่จะทำให้บริษัทสหรัฐฯ ในจีนเจ็บตัว) ดังนั้นสหรัฐฯ ต้องการเปลี่ยนมาเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมากนัก คือบีบให้ทุนสหรัฐฯ เคลื่อนย้ายการลงทุนออกจากจีน (เพราะอยู่จีนต่อจะโดนกำแพงภาษี) จนตอนนี้มีคำพูดทั่วไปในวงธุรกิจสหรัฐฯ ว่า ABC คือ “Anything But China” (“ไปที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่จีน”)

นักวิเคราะห์หลายคนยังสงสัยว่า ในความเป็นจริงแล้ว แนวคิดแยกทุนสหรัฐฯ ออกจากจีนเป็นไปได้จริงหรือไม่? เพราะในหลายภาคการผลิต ยากมากที่จะหาฐานการผลิตที่ดีได้เท่าจีน ไม่ใช่เพราะค่าแรงจีนถูก (ค่าแรงในจีนเริ่มสูงขึ้นแล้ว) แต่เป็นเพราะในจีนมีห่วงโซ่การผลิตที่พร้อม และปริมาณแรงงานทักษะ อันได้แก่ นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมากที่สุดในโลก

ส่วนทางฝั่งจีน ในภาคนโยบาย ก็พยายามพูดกันว่าต้อง “แปลงทรัมป์เป็นโอกาส” คือต้องเร่งเครื่องพัฒนาเทคโนโลยีของตน ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีสหรัฐฯ รวมทั้งปรับฐานห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกใหม่แยกออกจากสหรัฐฯ ไปเน้นตลาดใหม่ในเอเชียและแอฟริกา

เฉพาะในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีจีนให้เป็นอิสระจากสหรัฐฯ นั้น ก็มีคำถามตัวโตๆ เช่นกันว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ในวันที่สหรัฐฯ กีดกันและเตะขาจีนทุกทาง

ศึกครั้งนี้จึงเพิ่งเริ่มต้น และน่าจะยังมีสมรภูมิย่อยอีกหลายยกให้เราต้องติดตามต่อไปด้วยใจระทึก

ในระหว่างนี้ ก็ขอให้ทุกท่าน (และไทย) รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากสองยักษ์ใหญ่รบกันครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

9 Mar 2018

สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

อาร์ม ตั้งนิรันดร วิเคราะห์เส้นทางการเมืองของสีจิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่สามารถรวบอำนาจมาอยู่ในมือได้สำเร็จเด็ดขาด สีจิ้นผิงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? และสุดท้ายเขาจะพาจีนพังกันหมดหรือไม่?

อาร์ม ตั้งนิรันดร

9 Mar 2018

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save