fbpx
“ถ้าเลือกได้จะไม่เกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย” พอแสนโซ บรี

“ถ้าเลือกได้จะไม่เกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย” พอแสนโซ บรี

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

 

ไม่มีใครอยากมีชีวิตที่ไม่มั่นคง ต้องหนีตาย ทิ้งบ้าน ทิ้งทรัพย์สิน พลัดพรากจากครอบครัวเพื่อนฝูง ไปอยู่ในสังคมที่ผู้คนไม่ให้การต้อนรับหรือกระทั่งถูกไล่กลับไปเผชิญความตาย

สภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงประเทศไทยที่รับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานาน โดยจำกัดให้ผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยที่หนีการสู้รบจากเมียนมาอาศัยอยู่เฉพาะในแคมป์ผู้ลี้ภัยตามชายแดน และจำกัดการช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี

การไร้สิทธิไร้สัญชาติเช่นนี้ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากยื่นขอเดินทางไปประเทศที่ 3 ซึ่งแม้ว่าอาจจะต้องแยกจากครอบครัวไปอยู่ในสังคมที่ไม่คุ้นเคยในอีกซีกโลกและอาจไม่ได้กลับบ้านอีกเลย แต่ก็ดีกว่าการอยู่ไปวันๆ โดยมองไม่เห็นอนาคต

พอแสนโซ บรี เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่จังหวัดตาก ตั้งแต่อายุ 6-17 ปี มีชีวิตวัยเด็กอยู่กับวันพรุ่งนี้ที่ไม่มีอนาคต เธอเลือกแสวงหาโอกาสด้วยการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา โดยไม่รู้ว่าวันที่เธอแยกจากครอบครัว จะไม่ได้เห็นหน้าพ่ออีกเลยตลอดชีวิต

การเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยพูดภาษาอังกฤษไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซ้ำยังมีการเลือกปฏิบัติจากโรงเรียน และการถูกมองเป็นคนนอกในสังคมอเมริกา

หลังได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน พอแสนโซจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัยในเมืองที่เธออยู่ ด้วยการรวมตัวกันยื่นฟ้องโรงเรียนที่เลือกปฏิบัติจนชนะคดีในที่สุด ขณะเดียวกันเธอก็พยายามแบ่งปันเรื่องราวของเธอให้คนรอบตัวเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้น

พอแสนโซเรียนปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่วิทยาลัย Hartwick นิวยอร์ก และปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขาสิทธิมนุษยชนและกฎหมายผู้ลี้ภัย มหาวิทยาลัย Webster

หลังเรียนจบเธอไปฝึกงานด้านการพัฒนาเยาวชนในหมู่บ้านเล็กๆ ที่โมรอกโก 2 ปี จึงกลับประเทศไทยและหวังจะทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในไทยต่อไป

พอแสนโซ บรี

คุณเกิดที่ไหน ชีวิตตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ฉันเกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ในพม่าแถวชายแดนติดกับจังหวัดตาก แถวนั้นเรียกว่า ‘วาเลย์’ ใช้ชีวิตอยู่ในป่าแบบเรียบง่าย ไม่มีไฟฟ้า ติดต่อโลกภายนอกไม่ได้ เพราะสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า ทำให้ตอนเด็กต้องหลบๆ ซ่อนๆ เปลี่ยนที่อยู่ใหม่ตลอด อยู่แบบหวาดกลัวว่าทหารพม่าจะบุกรุกเข้ามาถ้ารู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เวลาโจมตีหมู่บ้านเขาจะเอาข้าวของ วัว ควาย ไก่ ข้าว และผักที่เราปลูกไว้ไปหมดเลย ถ้าขัดขืนเขาก็จะเอาชีวิตเราไปด้วย เป็นชีวิตที่อยู่กับอันตรายตลอด พูดอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ ถ้าอยากอยู่แบบสงบต้องทำตามที่เขาบอก เด็กผู้ชายต้องไปเป็นทหาร เด็กผู้หญิงต้องไปทำงานให้เขา

ฉันเป็นลูกคนที่ 6 ในพี่น้อง 8 คน ทุกคนเกิดที่พม่า พ่อเป็นหมอชาวบ้าน ปรุงยารักษาคนในหมู่บ้าน แม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ทำไร่ทำนาไปวันๆ ไม่มีโรงเรียนหรือโรงพยาบาล ไม่มีความมั่นคง แต่ละที่อยู่ได้ไม่เกินปีก็ต้องย้าย สร้างหมู่บ้านไม่ได้เลย

วันที่หนีมาฝั่งไทยเกิดอะไรขึ้น

ตอนนั้นอายุ 6 ขวบ จำได้ว่าเล่นอยู่ที่บ้านเพื่อน ห่างจากบ้านประมาณ 5 นาที พอได้ยินเสียงปืนเสียงระเบิดก็รู้ทันทีว่าทหารบุกเข้ามา พ่อสอนตลอดว่าถ้าได้ยินเสียงปืนให้ตามหาครอบครัว ฉันวิ่งกลับมาที่บ้านแต่ไม่เจอแม่ เลยวิ่งตามชาวบ้านที่หนีกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะหลายหมู่บ้านต้องวิ่งผ่านหมู่บ้านของเราเพื่อข้ามไปฝั่งไทย มีคนร้องไห้ น่ากลัว วุ่นวายมาก ฉันอายุแค่ 6 ขวบแต่รู้ว่าต้องวิ่งเอาชีวิตรอด

วิ่งมาประมาณ 45 นาทีก็ถึงฝั่งไทย มีสะพานไม้ไผ่เล็กๆ ข้ามแม่น้ำ บางคนข้ามสะพาน บางคนก็เดินข้ามแม่น้ำ เพราะมากันกลุ่มใหญ่ประมาณสามพันคน ไปถึงก็มีทหารไทยรอต้อนรับเพราะได้ข่าวล่วงหน้าแล้วว่าทหารพม่าโจมตีชนเผ่ากะเหรี่ยง ทหารไทยบอกว่า “เข้ามาเลย” เขาคงพูดไม่ได้ว่า “อย่าเข้ามานี่คือประเทศของเรา” เขาคงไม่อยากเห็นคนสามพันคนต้องตาย เขาบอกว่ามาถึงฝั่งไทยแล้วไม่ต้องกลัว ปลอดภัยแล้ว ไม่มีใครจะเอาชีวิต ไม่มีใครจะทำร้ายแล้ว

ตอนนั้นวุ่นวายมาก ใช้เวลา 2-3 วันกว่าจะเจอแม่ เจ้าหน้าที่พยายามแยกคนตามหมู่บ้าน สอบถามว่าชื่ออะไรมาจากไหน หลายครอบครัวที่แยกจากกันตอนวิ่งหนีก็ได้กลับมาเจอกันในไม่กี่วัน แต่บางครอบครัวก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย เพราะพ่อแม่เขาเสียชีวิตตอนหนีมา ถือว่าฉันโชคดีมากที่ครอบครัวไม่มีใครเสียชีวิตเลย

การโจมตีครั้งนั้นรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาหรือเปล่าคนจึงหนีกันเป็นจำนวนมาก

ช่วงปี 1990-1995 การโจมตีจะรุนแรงมาก แต่ละครั้งชาวกะเหรี่ยงต้องหนีเป็นพันๆ คน เป็นช่วงที่คนกะเหรี่ยงข้ามมาไทยเยอะที่สุด ตอนฉันหนีมาคือปี 1994-1995 อยู่ที่ชายแดนหลายเดือน สุดท้ายรัฐบาลไทย ทหารไทย ยูเอ็น ไอโอเอ็ม และองค์กรระหว่างประเทศก็คุยกันและตั้งแคมป์ที่บ้านนุโพ แถวชายแดนอำเภออุ้มผาง ในปี 1997 ซึ่งไม่ใช่แคมป์แรก ในไทยมีแคมป์ผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่ง ปีที่เรามามีกะเหรี่ยงกว่า 1 ล้านคนข้ามมาอยู่ในแคมป์ฝั่งไทย

แคมป์ที่เราอยู่มีประมาณ 9 พันคน บ้านสร้างติดๆ กัน คนเยอะ เอะอะ เดินจากทางเข้าถึงด้านในสุดประมาณ 20 นาที หนึ่งชั่วโมงก็เดินทั่วแคมป์แล้ว ฉันอยู่ในนั้น 13 ปี ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวี ไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปาในบ้าน แคมป์จะแบ่งเป็น 17-18 หมู่ แต่ละหมู่จะมีน้ำประปาส่วนกลาง ต้องไปยกน้ำมาใช้ในบ้าน ทุกเดือนต้องต่อแถวรอเขามาบริจาคข้าว เสื้อผ้า เกลือ น้ำมัน ไข่ กินแบบนี้ทุกวัน ไม่มีอาหารดีๆ กินแบบง่ายๆ

ตอนอยู่ในแคมป์พ่อยังรักษาคนอยู่ไหม

ผู้ลี้ภัยออกไปข้างนอกไม่ได้และไม่รู้ว่าข้างนอกเป็นยังไง แต่พออยู่กันหลายปีองค์กรต่างประเทศก็เข้ามาสร้างอะไรหลายอย่าง มีโรงเรียน มีโรงพยาบาล พยายามทำให้ข้างในมีชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป พ่อได้ทำงานกับโรงพยาบาลแบบชาวบ้าน ปลูกสมุนไพร ถ้าทำงานกับองค์กรที่เข้ามาช่วยก็จะได้เงินนิดหน่อย เดือนละ 400-500 บาท

พอแคมป์เริ่มใหญ่ขึ้นก็มีคนข้างนอกเข้ามาขายของอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เป็นการซื้อขายแบบแลกเปลี่ยนข้าวของกัน คนในแคมป์จะขายของเก่า ขยะรีไซเคิล นานไปคนในแคมป์ก็มีร้านขายของของตัวเอง ไม่ใช่ว่าผู้ลี้ภัยทุกคนไม่มีเงิน ไม่มีการศึกษา บางคนมีการศึกษาดี มีเงิน มีทุกอย่าง แต่อยู่ไม่ได้เพราะศาสนาหรือเป็นชนเผ่าที่รัฐบาลไม่ต้องการ พออยู่ในแคมป์เขาก็พยายามสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง หลายคนทำธุรกิจในแคมป์ ค้าขาย ร้านอาหาร องค์กรต่างประเทศก็เข้ามาสอนทักษะต่างๆ ตามความสนใจ งานฝีมือ ทำอาหาร ผ้าทอ วาดรูป เพราะทุกคนคิดว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับไปแผ่นดินตัวเอง และอยากมีฝีมือเพื่อสร้างชีวิตใหม่อีกครั้ง

พ่อแม่อธิบายกับเรายังไงที่ต้องย้ายบ้านบ่อย พออยู่ในแคมป์ก็ออกไปข้างนอกไม่ได้

ตอนเด็กก็ถามพ่อว่าทำไมต้องหนี ทำไมเขาอยากเอาชีวิตเรา ทำไมเขาอยากเอาข้าวของของเราทั้งที่เราไม่มีอะไรจะให้ พ่อบอกว่าโตขึ้นจะเข้าใจเองแหละ บอกแค่ว่าที่นี่ไม่ปลอดภัย เขาจะมาเอาชีวิตเรา และเราต้องเอาชีวิตรอด ถ้าได้ยินเสียงปืนให้อยู่ไกลๆ แต่ตอนเด็กไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมต้องวิ่ง ทำไมต้องหลบซ่อน บางครั้งย้ายไปได้ 6-7 เดือน เริ่มมีเพื่อนก็ต้องจากกันแล้ว เป็นชีวิตที่ยากจะเข้าใจมากสำหรับเด็ก

ตอนมาอยู่แคมป์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมออกไปข้างนอกไม่ได้ มีรั้ว มีทหารดูแล พ่อบอกว่าข้างนอกอันตราย อยู่ในนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว เราไม่ต้องหนีแล้ว ตอนนี้จะมีเพื่อนก็ได้

ได้เรียนที่โรงเรียนในแคมป์ใช่ไหม

ตอนแรกเรียนในแคมป์ แล้วมีโอกาสได้ไปเรียนในโรงเรียนไทย เพราะครูใหญ่ของโรงเรียนไทยเข้ามาในแคมป์เห็นชีวิตความเป็นอยู่ก็สงสาร เลยเลือกให้เด็กที่เรียนเก่ง เด็กที่อยากเรียน ได้ไปเรียนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่มีโรงเรียนไทยจนจบ ป.6 ก็ไปเรียนต่ออีกหมู่บ้านหนึ่งที่ไกลขึ้น ต้องอยู่หอพักจนจบ ม.3 ไปเรียนต่อในอำเภอถึงม.4 ก็ไปอเมริกา

พอแสนโซ บรี

ตอนอยู่ในแคมป์มองอนาคตตัวเองยังไง

ถือว่าฉันโชคดีกว่าเด็กคนอื่นที่ออกไปข้างนอกไม่ได้ พอมีบัตรนักเรียนทำให้เข้าออกแคมป์ได้ ฉันสงสารที่ทุกคนไม่มีโอกาสเหมือนกันแม้ว่าจะลำบากเหมือนกัน แต่ฉันก็ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรอะไรเลย เรียนไปก็ไม่ได้วุฒิ หลายครั้งน้อยใจที่โรงเรียนบอกว่าเด็กไม่มีสัญชาติทำโน่นนี่ไม่ได้ ตอนเด็กอยากเรียน รด. อยากเรียนเรื่องการป้องกันตัวเอง การอยู่ในป่า ทักษะชีวิต เพราะคิดว่าโตมาในป่าน่าจะเรียนได้ดี (หัวเราะ) แต่มีแค่เด็กสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะเรียนได้ ฉันน้อยใจมาก ไปทัศนศึกษาก็ไม่ได้เพราะเดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้

ตอนเด็กอยากเป็นครู อยากกลับมาสอนเด็กในแคมป์ เพราะเมืองไทยมีวันครู รู้สึกว่าครูเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อาจารย์ที่ให้โอกาสฉันเรียนในโรงเรียนไทยก็ให้ความช่วยเหลือมาก ฉันเองก็อยากช่วยคนอื่นบ้าง

ตอนนั้นคิดไหมว่าไม่มีสัญชาติแล้วจะเป็นครูไม่ได้

คิดค่ะ ครูเองก็บอกว่าจะไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ได้ ครูช่วยได้แค่นี้ เพราะเธอไม่มีบัตร เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ฉันตัดสินใจไปอเมริกา แม้ว่าจะไม่รู้ภาษาอังกฤษและไม่รู้จักประเทศอเมริกาเลย ฉันชอบเมืองไทยมากเพราะโตมาที่นี่ แต่การไปอเมริกาเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้มีโอกาสมากขึ้นและได้ทำตามความฝัน

การยื่นขอไปประเทศที่สามยากไหม

ยากค่ะ เพราะผู้ลี้ภัยทั่วโลกมีเป็นล้านๆ คน มีแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ไปประเทศที่สาม โชคดีที่เขาตอบรับใบสมัคร มีการสัมภาษณ์ 3 ครั้งแล้วตรวจสุขภาพ ถ้าไม่มีโรคติดต่ออะไรก็ไปได้ ถ้ามีโรคก็ต้องรักษาก่อน

ที่จริงพี่ๆ ของฉันไปอเมริกาก่อนแล้ว ตอนอยู่ในแคมป์พี่สาวคนโตป่วยเป็นลูคีเมียหนักมาก รักษาในไทยไม่ได้เลยถูกส่งไปอเมริกา โดยมีพี่ชายกับพี่สาวอีกคนไปดูแลและให้ไขกระดูกกับพี่สาวที่ป่วย พ่อต้องยอมให้ไปเพราะถ้าไม่ยอมลูกสาวจะตาย วันที่ทั้งสามคนไปเป็นวันที่พ่อเสียใจที่สุดในชีวิต ฉันเพิ่งเคยเห็นพ่อร้องไห้วันนั้น เพราะพ่อไม่มั่นใจว่าจะได้เห็นลูกอีกหรือเปล่า

พ่อไม่อยากให้ใครไปไหน พ่ออยากให้พี่น้องอยู่ด้วยกันทุกคน พ่อแม่เชื่อตลอดว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับไปอยู่ในผืนแผ่นดินของเรา ตอนนั้นฉันอายุ 17 ปี พ่อบอกว่าลูกไม่ต้องไปไหน แต่ฉันบอกว่าอยู่ที่นี่ไม่ได้ อยากมีชีวิตที่รู้ว่าอนาคตเป็นยังไง อยู่ในแคมป์มันมืดไปหมด ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอะไรบ้าง ชีวิตจะมั่นคงหรือเปล่า ต้องอยู่ที่นี่นานไหม ตอนเด็กพ่อบอกว่าเราจะอยู่แคมป์แค่ 1-2 ปีก็จะได้กลับประเทศ แต่เราอยู่มาหลายปีจนรู้ว่าไม่มีทางได้กลับไปแล้ว ฉันอยากมีการศึกษาที่ดีขึ้น อยู่ไทยเราไม่มีโอกาสนี้ ถ้าไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเราจะอยู่ไม่ได้ สุดท้ายพ่อให้ไป แต่บอกว่าให้ไปเรียน 5 ปีแล้วกลับมา

อย่างน้อยก็มีพี่สาวพี่ชายที่ไปอยู่อเมริกาก่อนแล้ว

ฉันไปถึงอเมริกาหลังพี่ๆ 2 ปี ตอนนั้นพี่สาวที่ป่วยเริ่มอาการดีขึ้นแล้ว พอไปถึงต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะพูดภาษาเขาไม่ได้ ทำงานก็ไม่ได้ ก้าวแรกคือเรียนภาษาประมาณ 2 ปี แล้วทำงานทำความสะอาดห้องน้ำที่ห้องสมุดสาธารณะไปด้วย พอเริ่มพูดได้ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาอีก 1 ปี ถึงจะได้เรียนแบบปกติเหมือนฝรั่ง

ฉันเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขากฎหมายสิทธิมนุษยชน ตอนอยู่ในแคมป์ไม่เคยได้อ่านเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย ครั้งแรกที่อ่าน ฉันร้องไห้ เพราะไม่รู้เลยว่ามนุษย์คนหนึ่งมีสิทธิที่จะอยู่แบบสงบ มีสิทธิที่จะอยู่แบบปลอดภัยมั่นคง ตั้งแต่นั้นมาก็ตัดสินใจเรียนด้านนี้ แต่พอจะจบอนุปริญญาพ่อก็เสียชีวิต ตอนนั้นยังไม่ได้สัญชาติอเมริกา ผู้ลี้ภัยต้องอยู่ 5 ปีจึงจะได้สัญชาติเลยไม่ได้กลับมางานศพพ่อ จนปีที่ 6 ถึงได้กลับมาเยี่ยมแม่และไปหลุมศพพ่อ

ก่อนไปเมืองนอกพ่อกลัวว่าจะไม่ได้เห็นลูกอีก แล้วเขาก็ไม่ได้เห็นลูกอีกจริงๆ ทำให้บางทีฉันก็ไม่แน่ใจว่าทำไมต้องไปอเมริกา เพราะทำให้ไม่ได้เจอพ่ออีกเลย

ชีวิตผู้ลี้ภัยยากลำบากมาก ถ้าเลือกได้จะไม่เกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย อยากเกิดมามีชีวิตธรรมดาที่ไม่ต้องแยกกับครอบครัว ไม่ใช่อยู่กันคนละทิศคนละทาง คนละประเทศ เราหนีมาจากประเทศบ้านเกิด แต่ละครั้งที่ย้ายจะเกิดคำถามที่ตัดสินใจยากว่า ไปแล้วจะดีหรือเปล่า จะเกิดอะไรขึ้น แล้วครอบครัวเราจะได้เจอกันอีกไหม ถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากเป็นผู้ลี้ภัยหรอก

 

ตอนอยู่ที่อเมริกาเจอการเลือกปฏิบัติหรือท่าทีที่ไม่ดีไหม

เยอะเลย เพราะอเมริกามีปัญหาการเลือกปฏิบัติมาก ช่วง 1-2 ปีแรกฉันไม่มีเพื่อนเป็นอเมริกันเลย เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ มีคนบอกให้ฉันกลับไปบ้านเกิด เพราะหน้าตาไม่เหมือนเขา เวลาเรียกชื่อเขาก็จะหัวเราะว่าชื่อฉันประหลาด ไม่เหมือนชื่อคนอื่น เพื่อนชาวกะเหรี่ยงหลายคนเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาอังกฤษให้อ่านง่าย อย่าง เอมี่ อลิซาเบธ ตอนห่อข้าวไปกินที่โรงเรียนมีข้าว น้ำพริก ผักต้ม ก็ไม่มีใครอยากกินข้าวใกล้ๆ เขามองว่ากินไม่เหมือนเขา เวลาเล่นในสนามบาสก็จะเล่นคนเดียวหรือเล่นกับผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศอื่น เป็นอย่างนั้นอยู่หลายปี

ที่สำคัญคือปี 2008 ที่เราไปถึง เขาเริ่มโครงการแยกผู้ลี้ภัยออกจากนักเรียนอเมริกันเป็นปีแรกพอดี เขาบอกว่าเราเข้าโรงเรียนรัฐทั่วไปไม่ได้ เพราะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้และเป็นผู้ลี้ภัย ตอนนั้นไม่เข้าใจว่ามันขัดกับกฎหมาย กฎหมายการศึกษาของนิวยอร์ก คนอายุไม่เกิน 21 ปีมีสิทธิเข้าโรงเรียนรัฐบาลโรงเรียนไหนก็ได้ ไม่มีใครมีสิทธิห้ามไม่ให้เข้าโรงเรียนเพราะเป็นผู้ลี้ภัย

ฉันต้องเรียนในโรงเรียน Newcomer Program ที่มีแต่ผู้ลี้ภัย เขาสอนภาษาอังกฤษเพื่อให้ไปทำงานโรงงาน งานทำความสะอาด งานลำบากที่คนอเมริกันไม่ทำกัน ไม่ได้มุ่งสอนเพื่อให้ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไปเรียนกับคนอื่นไม่ได้ ทำไมโรงเรียนเราไม่มีสนามเด็กเล่น มีแต่ห้องสี่เหลี่ยม ทำไมเราไม่ได้กินอาหารกลางวัน ทั้งที่รัฐบาลจะจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนทุกคน ฉันรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม แต่อธิบายไม่ถูกเพราะพูดภาษาไม่ได้

หลังจากนั้นสองปีฉันถามครูที่สอนภาษาอังกฤษว่าทำไมเป็นแบบนี้ เขาอธิบายว่านี่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ฉันตั้งใจเรียนมากจนเป็นคนแรกในกลุ่มที่เข้ามหาวิทยาลัยได้โดยมีครูคนนี้คอยสอนและช่วยทุกอย่าง เราสนิทกันจนรู้สึกเหมือนครูเป็นแม่ แต่ครูไม่ให้บอกคนอื่นว่าครูให้ความช่วยเหลือ ที่จริงนี่เป็นหน้าที่เขา แต่ที่ผ่านมาเขาไม่กล้าทำอะไรเพราะคนข้างบนสั่งมา

พอเข้ามหาวิทยาลัยฉันจัดตั้งกลุ่มเยาวชนผู้ลี้ภัยกับคนอเมริกันที่อยากเรียนรู้และช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เราทำกิจกรรมอาสาสมัครในมหาวิทยาลัยและชุมชน ทำความสะอาดโบสถ์ มัสยิด และวัดหลายแห่ง ช่วยเหลือองค์กรต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกัน ฉันเล่าเรื่องผู้ลี้ภัยให้ทุกองค์กรและทุกคนที่ได้เจอฟัง พยายามให้คนในเมืองยอมรับผู้ลี้ภัยและกระตุ้นให้เขาอยากรู้เรื่องของผู้ลี้ภัยมากขึ้น จัดกิจกรรมสุดสัปดาห์ เดินป่า เล่นกีฬา เล่นเกม ดูหนัง สเกตน้ำแข็ง กลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนฉันได้ไปเล่าเรื่องผู้ลี้ภัยที่ถูกแยกโรงเรียนออกจากเด็กทั่วไปในงานประชุมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเมือง มีทนายจากหลายรัฐในอเมริกามาร่วมประชุม และมีทนายตัดสินใจช่วยต่อสู้เรื่องนี้ ปี 2013 เรารวบรวมผู้ลี้ภัย นักเรียน และนักศึกษาหลายคนเพื่อฟ้องโรงเรียนที่เลือกปฏิบัติกับผู้ลี้ภัย ใช้เวลา 2 ปี ในที่สุดเราก็ชนะ ตั้งแต่ปี 2015 จึงไม่มีโรงเรียนที่แบ่งแยกผู้ลี้ภัยกับเด็กในเมืองอีกแล้ว

หลายที่ในอเมริกายังมีการแบ่งแยกผู้ลี้ภัย เขาจะมองว่าเราไม่รู้วัฒนธรรมหรือระบบของเขา ยิ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ยิ่งทำอะไรไม่ถูก ทำให้โดนเลือกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ฉันหวังอยากช่วยให้ผู้ลี้ภัยเข้าใจสิทธิของตัวเอง เข้าใจว่าเขามีสิทธิสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองในอเมริกา พยายามสอนน้องๆ ที่มาทีหลังว่า เธอเป็นอเมริกันแล้ว เธอต้องพูด ไม่ต้องกลัว และเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับสิบปีที่แล้ว

ตอนนี้กระแสชาตินิยมเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในอเมริกา คุณได้รับผลกระทบบ้างไหม

ตอน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี ฉันร้องไห้เลย กลัวเขาส่งผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพกลับประเทศบ้านเกิด ฉันยังมีน้องชายน้องสาวที่ยังไม่ได้สัญชาติเพราะยังอยู่ไม่ถึง 5 ปี เพื่อนชาวกะเหรี่ยงคนหนึ่งบอกว่าเขาสมัครขอสัญชาติแล้วไม่ได้ ทั้งที่อยู่มา 10 ปีแล้ว ฉันเห็นข่าวรัฐบาลส่งคนเม็กซิโกหรือแอฟริกากลับประเทศแม้ว่าจะอยู่อเมริกามา 20-40 ปี มีลูกที่เกิดและโตที่นั่น เรื่องสัญชาติจึงเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน

คนที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยบอกว่าอย่ามาที่นี่ เราไม่อยากช่วยเธอ เธอเป็นภาระของประเทศเรา ได้ยินแล้วเสียใจและน้อยใจ รู้สึกว่าโลกเราไม่มีมนุษยธรรมและความเห็นอกเห็นใจกันแล้ว ทุกคนให้ความสนใจมากกับเรื่องเอกสาร สิ่งของ สถานะ และลืมไปว่าความเป็นมนุษย์สำคัญที่สุด

อยากบอกทุกคนที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยว่า ไม่มีใครอยากเกิดมาเป็นผู้ลี้ภัยหรอก ไม่มีใครอยากเกิดมาในสงครามแล้วทิ้งบ้านเกิด ทิ้งทุกอย่างแล้วเริ่มต้นจากศูนย์ ทุกคนสามารถกลายเป็นผู้ลี้ภัยได้ แม้ว่าวันนี้ประเทศบ้านเกิดเราจะดี แต่อีก 50-60 ปีข้างหน้าเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันมั่นคง ประเทศที่มีสงครามเขาก็ไม่คิดหรอกว่าอีกสิบปีประเทศเขาจะเป็นแบบนั้น แล้วถ้าคนหนึ่งคนที่ต้องทิ้งบ้านเกิดตัวเองเพราะกำลังจะโดนฆ่ามายืนอยู่ตรงหน้าคุณ คุณจะยอมปล่อยให้เขาตายหรือว่าจะช่วยเขา

สำหรับฉันความเป็นมนุษย์สำคัญกว่าสิ่งอื่น ถ้าเธอเป็นผู้ลี้ภัยแล้วยืนตรงหน้าฉัน ฉันจะมองว่าเธอต้องการความช่วยเหลือไหม หากช่วยได้ฉันก็จะช่วย เพราะถ้ามันเกิดขึ้นกับฉัน ฉันก็อยากให้เธอทำแบบเดียวกัน

พอแสนโซ บรี

ตอนนี้แม่กับพี่น้องยังอยู่ในแคมป์ที่ไทยเหมือนเดิม?

มีแม่ พี่สาว แล้วก็พี่ชาย ทั้งพี่สาวพี่ชายมีครอบครัว มีงานทำอยู่ในหมู่บ้านนอกแคมป์ พี่สาวแต่งงานกับคนไทยเลยได้สัญชาติไทย ส่วนพี่ชายได้สัญชาติไทยเพราะยื่นตามป้าที่ย้ายมาอยู่ไทยนานแล้ว แต่แม่ไม่มีสัญชาติอะไรเลย เพราะป่วย บางครั้งจำความอะไรไม่ได้ ทำให้ยื่นขอสัญชาติยาก แม่ไม่อยากย้ายไปที่อื่น อยากอยู่ในหมู่บ้านเดิมที่พ่อเสียชีวิตและมีหลุมฝังศพที่นั่น

คิดว่าตัวเองมีความเป็นคนชาติไหนมากที่สุด

ฉันบอกเสมอว่าตัวเองเป็นคนกะเหรี่ยง เวลาคนอื่นถามว่ามาจากประเทศไหน พอบอกว่ามาจากพม่า เขาก็จะนึกว่าเป็นคนพม่า ถ้าบอกว่ามาจากไทย เขาจะนึกว่าเป็นคนไทย เลยต้องบอกว่าเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง เกิดระหว่างไทยกับพม่า เพื่อนฝรั่งหลายคนไม่รู้เลยว่าไทยกับพม่าอยู่ตรงไหน ก็ต้องอธิบายให้เขารู้ว่าเป็นมายังไง แต่เวลาไปไหนมาไหนจะบอกว่าเป็นคนอเมริกันหรือคนนิวยอร์ก เพราะได้สัญชาติอเมริกา

การเป็นผู้ลี้ภัยและอยู่มาหลายประเทศ มองว่าความเป็นชาติสำคัญแค่ไหน

ความเป็นชาติสำคัญ แต่ไม่ควรสำคัญมากกว่าความเป็นมนุษย์ ในโลกมีคนสองล้านกว่าคนที่ไม่มีสัญชาติ ถ้าเราให้ความสำคัญมากกับเรื่องสัญชาติหรือความเป็นชาติ แล้วคนกลุ่มนี้คือใคร บ้านของเขาคือที่ไหน เขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เราไม่ควรลืมเขา เราไม่ควรแบ่งแยกเขา

แม่เราไม่มีสัญชาติ จะพาแม่ไปเที่ยวทะเลก็ไม่ง่าย เรามีสัญชาติอเมริกาจะไปไหนก็ได้ทุกที่ในโลกนี้ มันไม่แฟร์

มองว่าบ้านของตัวเองคือที่ไหน

บ้าน สำหรับฉันไม่ใช่เรื่องประเทศหรือสถานที่ที่ฉันเกิด แต่เป็นสังคมที่ตอบรับทุกคนและยอมรับความแตกต่าง

บ้านไม่ใช่เรื่องสถานที่ แต่คือที่ไหนสักแห่งที่ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง คือที่ซึ่งคนอื่นยอมรับฉัน ยอมรับผู้ลี้ภัย ความแตกต่าง ความเชื่อและภูมิหลังของฉัน เป็นที่ซึ่งฉันจะกลมกลืนและอยู่ได้อย่างสงบ อาจจะเป็นที่อเมริกา ไทย หรือยุโรปก็ได้ ฉันไม่รู้หรอกว่าบ้านของฉันคือที่ไหน ฉันยังคงหาที่นั่นอยู่

คิดว่าจะทำยังไงให้ผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในแคมป์ตามชายแดนไทยเข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้มากขึ้น

ยากมาก ไทยไม่ได้ลงนามรับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ตามกฎหมายจึงไม่ใช่หน้าที่คนไทยที่จะต้องช่วยผู้ลี้ภัย แต่คนไทยก็ให้ที่อยู่ผู้ลี้ภัยและให้อิสระส่วนหนึ่งกับองค์กรต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไทยอยากช่วยผู้ลี้ภัยจริงๆ ก็ควรเปิดโอกาสหรือสนับสนุนให้ยูเอ็นและไอโอเอ็มเข้ามาทำงานได้อย่างเต็มที่ ถ้าองค์กรต่างๆ เข้ามาทำงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉันคิดว่าชีวิตผู้ลี้ภัยจะดีกว่านี้

ปัญหาผู้ลี้ภัยไม่ว่าในประเทศไหน ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องที่อยู่ ความมีกิน แต่เป็นปัญหาการเมืองของรัฐบาลด้วย หลายประเทศไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้เพราะมีประเทศอื่นเข้ามามีอิทธิพลและอำนาจเหนือกว่า ปัญหาการเมืองเข้ามามีบทบาทมากจนยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องผู้ลี้ภัย

ปัจจุบันเกิดกระแสต่อต้านผู้ลี้ภัย จนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองหลีกเลี่ยงที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะกลัวกระแสด้านลบ

ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นอ่อนไหวเพราะส่วนหนึ่งเกิดปัญหามาจากข้างบน ถ้ามองไปที่ปัญหาผู้ลี้ภัยในพม่า ซึ่งเป็นความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ คนต่างชาติพันธุ์ต่อสู้กัน แล้วประชาชนของพวกเขาก็กลายเป็นผู้ลี้ภัย ผู้นำชาติพันธุ์ต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากชาติอื่น เช่น ชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธุ์ได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษและอเมริกา ขณะที่รัฐบาลพม่าได้รับการสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย ดังนั้นแม้คุณอยากจะช่วยแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในพม่า คุณก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคุณไม่อยากมีปัญหากับรัฐบาลจีนหรือรัฐบาลอเมริกาแน่ นี่เป็นปัญหาระหว่างประเทศ

จีนกับอเมริกาพยายามแข่งขันกันทุกทาง ทั้งในทางการเมือง ทรัพยากร การขยายอิทธิพล การทหาร จนถึงการแข่งขันกันเป็นมหาอำนาจโลก การสนับสนุนอาวุธสงครามและทรัพยากรจำนวนมากกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และเป็นปัญหาใหญ่เช่นกัน ต่อให้แก้ปัญหาได้ เขาก็ไม่ทำ เพราะเขาสร้างเงินมหาศาลจากปัญหาที่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลไทยอยากจะช่วย แต่ฉันคิดว่ารัฐบาลไทยไม่อยากขัดใจอเมริกาหรือจีน นี่จึงเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่อ่อนไหวมาก ทุกคนกังวลว่าทำอะไรลงไปแล้วจะไปกระทบประเทศอื่น พวกเขาคิดถึงประเทศอื่นๆ มากกว่าชีวิตมนุษย์ ผู้ลี้ภัยเป็นแค่เครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อสร้างอำนาจและธุรกิจ

ประเทศเล็กอย่างพม่าเป็นแค่กระดานหมากรุกให้อเมริกา จีน และรัสเซียเดินหมาก พวกเขาจะชนะทุกฝ่าย แต่ประชาชนและประเทศเล็กจะถูกทำลาย เช่นเดียวกับปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในอิสราเอลหรือทิเบต ฉันพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้เพราะศึกษาเรื่องนี้โดยตรง บางครั้งก็ทำให้รู้สึกหดหู่ เราหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเขาไม่อยากให้แก้ปัญหา

สุดท้ายฉันพยายามมองการช่วยเหลือคนเล็กคนน้อยที่พอจะทำได้ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมันยากเพราะเรื่องการเมืองส่วนใหญ่เกิดจากอำนาจรัฐ

มองว่าตัวเองพอจะทำอะไรได้บ้าง

สิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องการที่สุดคือความปลอดภัยและการยอมรับ เขาต้องการใครสักคนเป็นเพื่อน เพราะเขาสูญเสียทุกสิ่ง เขาไม่มีบ้าน ไม่มีเพื่อน เขาต้องการใครสักคนที่จะเข้าใจ ให้ความเป็นมนุษย์กับเขาโดยไม่มองที่ความแตกต่าง ฉันอยากช่วยให้เขาอยู่ในที่ปลอดภัยและได้ความต้องการพื้นฐาน เช่น บ้าน เสื้อผ้า อาหาร การรักษาพยาบาล การศึกษา

ในเมืองไทยมีผู้อพยพจำนวนมากที่ยังอยู่ในสถานะที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีอิสระ ไม่มีความปลดภัย ไม่มีอะไรเลย ถ้าฉันพอจะช่วยอะไรได้ก็จะช่วย ฉันพยายามกลับไปสอนภาษาอังกฤษที่หมู่บ้าน หาเงินทุนให้เด็ก และเล่าเรื่องของเขาให้คนอื่นฟัง เพื่อนที่อเมริกาได้ฟังแล้วอยากมาเจอน้องๆ ฉันก็จะพาไป เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ทำอยู่และจะสนับสนุนให้คนอื่นทำด้วย ฉันแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุไม่ได้ จึงหวังว่าทุกคนจะมองเห็นผู้ลี้ภัยและช่วยกันเท่าที่จะช่วยได้

ถ้ามีโอกาสอยากจะทำงานร่วมกับองค์กรที่ช่วยผู้ลี้ภัยโดยตรงไหม

ตอนนี้กำลังมองหาองค์กรที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยโดยตรง แต่ก็ไม่ง่าย เพราะตอนไปอยู่โมรอกโกทำงานกับองค์กรพัฒนาสังคมของรัฐบาลอเมริกา ก็ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล ในอนาคตฉันอยากมีองค์กรของตัวเองเพื่อช่วยคนที่เราอยากช่วย ทำแบบที่เราอยากทำ ไม่ใช่แค่ทำตามนโยบายหรือเอกสาร ฉันไม่อยากเจอสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้เพราะกฎหมายไม่ให้ทำ การยึดกฎหมายแล้วมองว่าการช่วยเหลือคนอื่นเป็นเรื่องผิดไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย หลายองค์กรในอเมริกาพยายามช่วยผู้อพยพที่มาจากเม็กซิโก รัฐบาลอเมริกาก็บอกว่าทำโน่นทำนี่ไม่ได้ ทำไมช่วยคนอื่นต้องมีข้อยกเว้น

วันนี้ฉันอยากเรียนรู้เพื่อให้ได้ประสบการณ์ แต่วันหนึ่งฉันอยากมีองค์กรของตัวเองในเมืองไทยเพื่อช่วยเหลือเด็กแถวชายแดน

พอแสนโซ บรี

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save