fbpx
ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 1)  

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : The Finalists (ตอนที่ 1)  

กองบรรณาธิการ The101.world  เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังจากเปิดโปรเจ็กต์อย่างเป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ก่อน ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะได้มาลุ้นพร้อมๆ กันว่า ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019’ นั้นจะมีเล่มไหนติดโผเข้ามาบ้าง!

จากการสำรวจความเห็นบรรณาธิการและนักอ่านกว่าร้อยคน มีผู้ส่งคำตอบกลับมาทั้งสิ้น 51 คน ทำให้เราได้ลิสต์รายชื่อหนังสือมาทั้งหมด 116 เล่ม ซึ่งเราจะเรียกว่าเป็น ‘The Finalists’ ของความน่าจะอ่าน 2018-2019

ความน่าสนใจคือในลิสต์ทั้ง 116 เล่มนี้ มีเล่มที่ถูกเลือกซ้ำกันอยู่จำนวนหนึ่ง และมีบางเล่มที่ได้รับการแนะนำมากกว่าใครเพื่อน

ถึงตรงนี้ เราขอเพิ่มความตื่นเต้นเข้าไปอีกนิด เพราะทุกคนจะยังไม่รู้ว่า ‘บางเล่ม’ นั้นคือเล่มไหนบ้าง จนกว่าเราจะปล่อยลิสต์ทั้งหมดออกมาครบ โดยเราจะทยอยปล่อยลิสต์หนังสือออกมาทีละชุด ทั้งหมด 3 ชุด โดยแบ่งเป็นชุดละ 17 คน ว่าแต่ละคนเลือกหนังสือเล่มใด ด้วยเหตุผลใดบ้าง

ทั้งนี้ หลังจากปล่อยลิสต์ครบทั้งหมดแล้ว เราจะชวนนักเขียนมาเขียนถึงเล่มที่เป็น ‘Top Highlight’ เป็นบทความรีวิวแบบจัดเต็มว่าเล่มนั้นๆ น่าสนใจอย่างไร ก่อนปิดท้ายด้วยงานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : Final Round’

 

 

และต่อไปนี้คือ ‘The Finalists’ ชุดแรก จำนวน 47 เล่ม แนะนำโดยบรรณาธิการและนักอ่าน 17 คน

 

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง

เจ้าของร้านหนังสือก็องดิด และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘ระหว่างบรรทัด’

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ฤดูหนาวที่เราพราก        

ผู้เขียน: Fuminori Nakamura

ผู้แปล: พรพิรุณ กิจสมเจตน์

สำนักพิมพ์: กำมะหยี่

“ปรกตินักอ่านจะรู้จัก สนพ.กำมะหยี่ จากงานแปลของนักเขียนตัวท็อปอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ แต่นักเขียนที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักอย่างคุณฟูมิโนริคนนี้ สำนักพิมพ์ก็ยังคงพิมพ์งานเขาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้พิมพ์ไปแล้วสองเล่มคือ ‘นักล้วง’ และ ‘ฤดูหนาวที่เราพราก’ เล่มนี้ คุณูปการคือทำให้เรารู้จักนักเขียนร่วมสมัยสายดาร์กของญี่ปุ่นที่ฝีมือจัดจ้านมาก การอ่านไม่กระจุกตัวอยู่แต่นักเขียนเบสต์เซลเลอร์”

 

 

2. มือสมัครเล่น (Beginners)

ผู้เขียน : เรย์มอนด์ คาร์เวอร์

ผู้แปล : ภชภร ด่านวิรุฬหวณิช

สำนักพิมพ์: บทจร

“ทั้งในฐานะคนอ่านและคนที่ต้องขายหนังสือ เฝ้ามองหานักเขียนใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีผลงานตีพิมพ์ฉบับแปลมาก่อน และบทจรก็ทำให้เราค้นพบนักเขียนอย่าง เรมอนด์ คาร์เวอร์ เจ้าพ่อสายดาร์กอีกคน และไม่ได้หยุดอยู่แค่นำนักเขียนที่ยังไม่เคยมีผลงานแปลไทยเข้าสู่วงการการอ่าน บทจรตีพิมพ์เวอร์ชั่นที่ไม่ได้ถูกแก้ไขโดยบรรณาธิการ ซึ่งต้นฉบับนี้ไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนัก นับเป็นความกล้าหาญของสำนักพิมพ์ที่เลือกแปลฉบับนี้ออกมา”

 

 

3. มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ          

ผู้เขียน : ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

สำนักพิมพ์ : อ่าน

“บันทึกในคุกที่หนาราวกับไบเบิ้ล ซึ่งเป็นความตั้งใจของสำนักพิมพ์ที่ทำให้รูปเล่มเหมือนหนังสือพระคัมภีร์ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคุก เรื่องจริงที่เล่าได้ลื่นไหลราวกับวรรณกรรมชั้นเยี่ยม บันทึกที่อ่านแล้วให้อารมณ์หลากหลาย เศร้า ฮึกเหิม ระทดท้อ และกลับไปมีความหวัง เป็นการอ่านที่ให้อารมณ์อันหลากหลาย เป็นหนังสือแห่งปีที่ไม่ควรพลาด”

 

 

โตมร ศุขปรีชา

นักเขียน นักแปล บรรณาธิการ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. Sport Light เกมนอกสนาม             

ผู้เขียน: วิศรุต สินพงศพร

สำนักพิมพ์ : Salmon Books

“เป็นหนังสือเกี่ยวกับกีฬาที่พูดถึงชีวิต มีความลึก เลือกประเด็นที่คนไม่คาดคิด และเขียนอย่างประณีต”

 

 

2. นิยายรักในราชสำนักฝ่ายใน         

ผู้เขียน : แอนนา เลียวโนเวนส์

ผู้แปล : อบ ไชยวสุ / คำนำเสนอโดย วาด รวี

“ชอบตั้งแต่คำนำเสนอ ลึก ละเอียด และมีข้อมูลต่างๆ ตัวบทที่แปลออกมาก็ดีมาก อ่านสนุก และทำให้เห็นภาพอดีต”

 

 

3. สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน (Two Years Eight Months & Twenty-Eight Night)

ผู้เขียน : ซัลแมน รัชดี

ผู้แปล : สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

“เป็นเรื่องสั้นที่สอดร้อยกันไปทั้งเล่มด้วยตัวเลขที่เป็นชื่อเรื่อง สะเทือนใจ แปลกประหลาด มีลักษณะสัจนิยมมหัศจรรย์แฝงอยู่ แต่เป็นแบบอินเดีย ไม่ใช่อเมริกาใต้ จึงให้รสวรรณกรรมที่งดงามมาก”

 

 

นรา (พรชัย วิริยะประภานนท์)

นักเขียน นักอ่าน นักดูหนังและซีรีส์ ดีเจ และคอลัมนิสต์วิจารณ์ภาพยนตร์

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. อีธาน โฟรม (Ethan Frome)

ผู้เขียน : Edith Wharton

ผู้แปล : โรเบอต้า เอนกาล๊อก

สำนักพิมพ์ : Library House

 

 

 

2. บริทท์มารีอยู่ตรงนี้ (Britt-Marie Was Here)

ผู้เขียน : Fredrik Backman

ผู้แปล : โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

สำนักพิมพ์ : Merry-Go-Round Publishing

 

 

3. ใต้เวิ้งฟ้า (The Sheltering Sky)

ผู้เขียน : Paul Bowles

ผู้แปล : อทิมา

สำนักพิมพ์ : มติชน

 

 

ประธาน ธีระธาดา

บรรณาธิการบริหารนิตยสารอาร์ตโฟร์ดี (Art4d)

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. PRESENT ปัญญาจักรวาล

ผู้เขียน : ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

สำนักพิมพ์ : Openbooks

“เนื้อหาโดยรวมว่าด้วยความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ทั้งเชิงวัฒนธรรม นวัตกรรม ประเพณี ความเชื่อ ปรัชญา เลยไปถึงอภิปรัชญา มันคือการเดินทางด้านในของนักเขียน นักเล่าเรื่องราวความเป็นไปของโลกผ่านผู้คน อารยธรรม หลักไมล์ และบันทึกโบราณจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หัวใจของ PRESENT คือ พระกฤษณะ ตัวแทนแห่งปัญญา ความรู้ คุณธรรม หรือ พรแห่งชัยชนะต่อมหาศึกทั้งปวง”

 

 

 

2. เรือนญี่ปุ่น พื้นที่ ความทรงจำ และถ้อยคำ

ผู้เขียน : ทะเคะชิ นะคะกะวะ

ผู้แปล/ถ่ายภาพประกอบ : ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์

“ถ้าเคยติดตาม หิมะ พระจันทร์ ดอกไม้ สวนญี่ปุ่น ของอาจารย์ชัยยศมาก่อน เรือนญี่ปุ่นเล่มนี้ยังคงแสดงถึงความหมกมุ่นในเรื่องของความงามอย่างถึงที่สุดของอาจารย์ชัยยศ ที่ลงทุนลงแรงทั้งแปลและจัดพิมพ์เองเลยด้วย เรือนญี่ปุ่นมีเนื้อหาครอบคลุม บ้านแบบประเพณีญี่ปุ่น ที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ องค์ประกอบ เครื่องเรือน วัสดุ ขอบเขตเรื่อยไปถึงวิถีชีวิตตามยุคสมัย ชอบมากๆ ตรงคำศัพท์เฉพาะทางในภาคผนวกท้ายเล่ม ชอบมากกว่านั้นเห็นจะเป็นภาพถ่ายตลอดทั้งเล่ม ที่ทำหน้าที่อธิบายความมากมาย สวยงามจับใจ ดูแล้วดูอีก ช่างไร้กาลเวลา…”

 

 

3. สนทนากับพระเจ้า การพูดคุยที่ไม่ธรรมดา (เล่ม 1)

ผู้เขียน : Neale Donald Walsch

ผู้แปล : รวิวาร รวิวารสกุล

สำนักพิมพ์ : OMG Books

“ผมมีนิสัยประจำตัวอย่างหนึ่งคือชอบซื้อหนังสือซ้ำอีกเวลาที่สำนักพิมพ์เขาจัดพิมพ์ออกมาใหม่อีกครั้ง แม้ว่าเวลาซื้อมาใหม่นี่มักจะไม่ได้อ่านจริงจังเท่าไรนัก แต่ความรู้สึกปิติย้อนนึกถึงวันที่ได้รับประสบการณ์ดีๆ ในการอ่านครั้งแรกนั้น มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก  หนังสือชุด ‘บทสนทนากับพระเจ้า’ 3 เล่ม ที่สำนักพิมพ์ OMG พิมพ์เล่มแรกออกมาใหม่นั้น ก็ให้ความรู้สึกดังกล่าว สำหรับตัวเราผู้ที่สนใจเรื่องของความคิดทางศาสนาในมิติที่ข้ามเลยขอบเขตของความเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม… ด้วยสมมติฐานที่เชื่อว่าเมื่อมนุษย์เราเริ่มออกเดินทางค้นหาภายในตัวเอง แล้วท้ายสุดเป้าหมายร่วมกันน่าจะเป็นการบรรลุถึงสภาวะไร้รูปทรงบางประการที่ยากจะอธิบายด้วยคำพูด

การกลับมาอ่าน บทสนทนากับพระเจ้า อีกครั้งในวัยที่เพิ่มพูนมากขึ้นนั้น ยังไม่แน่ว่าจะได้พบอะไรที่แตกฉานไปกว่าเดิมหรือไม่ ที่แน่ๆ มันทำให้ระลึกถึงกัลยาณมิตรหลายๆ ท่านที่ชักชวนให้ออกเดินทางสายนี้ คิดถึงทุกๆ ท่าน ขอบคุณมากๆ คงมีโอกาสได้หมุนเวียนมาพบเจอกันอีก ณ เวลาหนึ่ง”

 

ศรัณย์ วงศ์ขจิตร

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Paragraph Publishing

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ

ผู้เขียน : มุราตะ ซายากะ

ผู้แปล : พรรณวิมล จิตราวิริยะกุล

สำนักพิมพ์ : อนิแม็ก บุ๊คส์

“เป็นนวนิยายเล่มบางที่ชวนไปสังเกต ‘ความปกติ’ ของสังคมเมือง ที่สุดท้ายชวนตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษย์’ “

 

 

2. ว่างแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักร

ผู้เขียน : นิธิ เอียวศรีวงศ์

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

“ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้อ่านงาน ‘ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ’ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเปรียบเทียบช่วงเวลา ‘กรุงแตก’ ของสามราชอาณาจักรสำคัญในภาคพื้นทวีปนี้ การเปรียบเทียบจึงอาจช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ จากเรื่องที่เราคิดว่าเรา ‘รู้’ อยู่แล้ว ให้กลับมาตั้งคำถามกับ ‘ความรู้’ ในเรื่องนั้นๆ อีกครั้ง โดยเฉพาะกับประวัติศาสตร์ไทย”

 

 

3. ประวัติศาสตร์หยาดฝน

ผู้เขียน : ซินเธีย บาร์เน็ตต์

ผู้แปล : พลอยแสง เอกญาติ

สำนักพิมพ์ : Openworlds

“แม้ไทยอาจจัดได้ว่าเป็นประเทศในเขตฝนตกชุก แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นงานเขียนที่เกี่ยวกับ ‘ฝน’ ในมิติต่างๆ เท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้จึงชวนเราไปรู้จัก ‘ฝน’ ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในมิติวัฒนธรรม ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราสัมผัสตั้งแต่เกิดจนตายมากขึ้น ซึ่งบางเรื่องเราอาจไม่เคยตระหนักมาก่อน”

 

คธาวุฒิ เกนุ้ย

กรรมการผู้จัดการ บจก.ยิปซีกรุ๊ป

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ชีวิตติดปีกด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง (The Subtle Art of Not Giving A Fuck)

ผู้เขียน: Mark Manson

ผู้แปล: ยอดเถา ยอดนิ่ง

สำนักพิมพ์ : บิงโก

“หนังสือหมวดพัฒนาตนเองที่มีวิธีการเขียนแบบยียวนกวนประสาท และการนำเสนอที่ไม่เหมือนใคร ผ่านประสบการณ์การเดินทางของผู้เขียนที่ชีวิตเขาเคยผ่านจุดที่ย่ำแย่ที่สุด จนกระทั่งมีโอกาสได้ทำบล็อกและเขียนบทความเชิงพัฒนาตนเองจนมีผู้ติดตามนับล้าน เขานำประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางบรรยายทั่วโลก ได้เห็นแง่มุมอันหลากหลายของชีวิต และผสมผสานวิธีการเล่าเรื่องเข้ากับหลักปรัชญาและศาสนา ที่ชี้แนะให้เรามองโลกในมุมกลับ จัดลำดับเรื่องราวความสำคัญของชีวิต ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้ง มองหาความสุขกับตัวตนของเรา

ผู้เขียนพยายามจะบอกว่า เรามันแค่มนุษย์คนหนึ่งไม่ได้มีความพิเศษอะไรมากกว่าใคร ดังนั้นมันต้องมีทั้งเรื่องที่เรารับมือได้และไม่ได้ เรื่องไหนที่จัดลำดับความสำคัญแล้วมันเกินจะเยียวยา ก็ปล่อยวาง และ ‘ช่างแม่ง’ กับเรื่องที่บั่นทอนนั้นซะ”

 

 

2. บิ๊กดาต้ามหาประลัย: เมื่อการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เป็นภัยต่อสังคม

ผู้เขียน: Cathy O’Neil

ผู้แปล: ทีปกร วุฒิพิทยางมคล

สำนักพิมพ์ : Salt Publishing

“สารคดีที่นำเสนออีกแง่มุมของ Big Data ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และลาออกมาเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ทำให้เขาพบว่าวิกฤตการเงินทั่วโลกหลายครั้ง ล้วนเกิดจากระบบอัลกอริทึม หรือโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ผิดพลาด และโมเดลนี้แทรกซึมเข้าไปในการดำเนินชีวิตของเราทุกด้าน นับตั้งแต่การสมัครงาน การขอกู้เงิน การใช้จ่ายแต่ละวัน เขาจึงต้องการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการค้นคว้าและวิจัยเพื่อให้เราเห็น ‘ด้านมืด’ ของ Big Data และระมัดระวังมากขึ้นในการใช้งานและอยู่ร่วมกับอัลกอริทึมนี้”

 

 

3. เวทมนตร์ฉบับพกพา: ชีวิตและเรื่องขีดเขียนของสตีเวน คิง (On Writing: A Memoir of the Craft)

ผู้เขียน : Stephen King

ผู้แปล : นรา สุภัคโรจน์

สำนักพิมพ์ : Merry-Go-Round

“บันทึกความทรงจำว่าด้วยชีวิต งาน และการเขียน ของสตีเฟ่น คิง นักเขียนเบสต์เซลเลอร์แนวเขย่าขวัญที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในหนังสือเล่มนี้เขาพาเราย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการเดินทางในเส้นทางสายนักเขียนของเขา ความผิดหวังทุลักทุเลจากการถูกปฏิเสธต้นฉบับครั้งแล้วครั้งเล่า การแก่งแย่งแข่งขันในวงการหนังสือของอเมริกัน และความในใจของคนคนหนึ่งที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการเขียน เราจะได้เห็นอารมณ์ขันและมุมมองชีวิตของสตีเฟ่น คิง ที่เราไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน เรื่องเล่าอันลื่นไหล ร้อยเรียงด้วยสำบัดสำนวนภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านอย่างเราว่า ลองได้ทุ่มให้กับมันแล้ว ไม่มีอะไรที่สูญเปล่าเลย”

 

 

ศิริวร แก้วกาญจน์

นักเขียน บรรณาธิการ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผจญภัย

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ซอร์บา (Zorba the Greek)

ผู้เขียน : Nikos Kazantzakis

ผู้แปล : ธีรศักดิ์ จิรรัตนไพโรจน์

สำนักพิมพ์ : สามัญชน

 

 

2. เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind)

ผู้เขียน : ยูวัล โนอาห์ แฮรารี

ผู้แปล : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

สำนักพิมพ์ : ยิปซี

 

 

3. สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน (Two Years Eight Months & Twenty-Eight Night)

ผู้เขียน : ซัลแมน รัชดี

ผู้แปล : สุนันทา วรรณสินธ์ เบล

สำนักพิมพ์ : มติชน

 

 

วินทร์ เลียววาริณ

ศิลปินแห่งชาติ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และเจ้าของสำนักพิมพ์ 113

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. The Other Cities : เมืองน่าอยู่ที่รู้สึก

ผู้เขียน : Little Thoughts

สำนักพิมพ์ : Little Thoughts

 

 

2. The Art of Disappointment ศิลปะของความผิดหวัง

ผู้เขียน : กิตติพล สรัคคานนท์

สำนักพิมพ์ : Salmon Books

 

 

3. ผีเสื้อโปรยปราย (It Was Snowing Butterflies)

ผู้เขียน : Charles Darwin

ผู้แปล : ศักดิ์ บวร

สำนักพิมพ์ : สมิต

 

 

ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล

บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์สมมติ

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ย่ำรุ่งอันยาวนาน

ผู้เขียน : รชา พรมภวังค์

บรรณาธิการ : โดย ประกาย  ปรัชญา

สำนักพิมพ์ : Shine Publishing House

“กวีนิพนธ์ที่ให้ภาพประวัติศาสตร์การเมืองยุคใต้ตีนเผด็จการลุงตู่ เป็นกวีนิพนธ์ที่เร้าอารมณ์ กระตุ้นสำนึกและมีสุนทรียะ เชื่อเถอะว่า พลังของบทกวีก็เล่าเรื่อง และให้ภาพประวัติศาสตร์การเมืองได้! เชิญพิสูจน์”

 

 

2. นิตยสาร a day 224 – The Reader’s Secret

บรรณาธิการ โดย จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

“เล่มนี้เล่มเดียว จะได้พบหนังสืออีกกว่า 50 เล่ม จากการแนะนำของบุคคลที่ a day เลือกมาเพื่อมาแนะนำหนังสือ เป็น a day ฉบับว่าด้วยการแนะนำหนังสือ เล่มเดียวคุ้ม เพราะได้รู้จักหนังสือเพิ่มอีกครึ่งร้อยเล่ม!”

 

 

 

3. เรื่องเล่าของสาวรับใช้ (The Handmaid’s Tale)

ผู้เขียน : Margaret Atwood

ผู้แปล : จุฑามาศ แอนเนียน

สำนักพิมพ์ : Library House

“วรรณกรรมดิสโทเปียจากนักเขียนร่วมสมัย Margaret Atwood ว่าด้วยประเด็นแรงๆ ในโลกสมมติ เช่น การเมืองเรื่องเพศ อำนาจและเผด็จการ ศาสนาและการควบคุม ไม่เกินจริงที่จะบอกว่า Atwood จัดใหญ่และจัดหนัก! หากต้องเสียเวลาอ่านวรรณกรรมหนักๆ สักเรื่อง เล่มนี้คุ้มค่า!”

ปฏิกาล ภาคกาย

บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Salmon Books

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. America First รบเถิดอรชุน

ผู้เขียน : ภาณุ ตรัยเวช

สำนักพิมพ์ : มติชน

“นอกจากจะเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้สนุกแล้ว ยังเป็นหนังสือที่นำเสนอมุมมองว่าท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบเราจะวางตัวอย่างไร หรือเราจะเลือกปฏิบัติตัวแบบไหน จะเป็นแบบนักบินผู้เป็นไอคอนแห่งยุคนั้น หรือนักเขียนผู้จับพลัดจับผลูไปอยู่เบื้องหลังถ้อยคำของประธานาธิบดี”

 

 

2. อเมริคา (ชายผู้สาบสูญ)

ผู้เขียน : ฟรันซ์ คาฟคา

ผู้แปล : ถนอมนวล โอเจริญ

สำนักพิมพ์ : Library House

“เรื่องราวการเอาตัวรอดในดินแดนที่คาดหวังว่าจะมีเสรีภาพของชายหนุ่มวัย 16 ปี ที่เริ่มต้นด้วยความตื่นเต้นและสดใหม่ แต่นานวันไปด้วยสถานการณ์ที่เขาต้องเผชิญ และโชคชะตาที่พัดพา ก็ทำให้คนอ่านอย่างเราต้องลุ้นว่า คนนอกที่ยังแปลกแยกจากสังคม ไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต จะรอดจากการโดนบีบรัดจากสิ่งรอบข้างอยู่เรื่อยไปได้อย่างไร”

 

 

3. วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ (A Lilttle History of Literature)

ผู้เขียน : John Sutherland

ผู้แปล : สุรเดช โชติอุดมพันธ์

สำนักพิมพ์ : Bookscape

“ถึงจะจั่วหัวว่าเป็นวรรณกรรม แต่เรื่องราวที่ถูกคัดสรรมาอย่างพอดีคำก็ทำให้เห็นความสำคัญของการเล่าเรื่อง ที่นอกจากจะเป็นการส่งต่อเรื่องราวจากช่วงเวลาต่างๆ แล้ว ยังทำให้เห็นว่าภายใต้การเล่าเรื่องนั้น บางครั้งมีอะไรซุกซ่อนอยู่”

 

 

 พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ

บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ We Learn

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. สิ่งสำคัญของชีวิต

ผู้เขียน : นิ้วกลม

สำนักพิมพ์ : Koob

 

 

 

2. น้ำหอม (Das Parfum)

ผู้เขียน : Patrick Süskind

ผู้แปล : สีมน

สำนักพิมพ์ : เวิร์ดส์วอนเดอร์ (Words Wonder Publishing)

 

 

3. เซเปียนส์ : ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind)

ผู้เขียน : ยูวัล โนอาห์ แฮรารี

ผู้แปล : ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

สำนักพิมพ์ : ยิปซี

 

 

ธวัช งานรุ่งเรือง

นายแพทย์ผู้หลงใหลการอ่าน เจ้าของเพจ ‘หนังสือปันกันอ่าน : Immortalbook’

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย

ผู้เขียน : ทวีศักดิ์ เผือกสม

สำนักพิมพ์ : Illumination editions

“หลักฐาน บันทึก จดหมายเหตุ แสดงให้เห็นว่า รอยทางอันยาวไกล ของการแพทย์และสาธารณสุขไทย ผ่านเส้นทางมายาวไกลทีเดียว มองในมุมหนึ่งจะบอกว่า เชื้อโรค ช่วยสร้างหมอยุคใหม่ก็ว่าได้

‘ห่าลง’ ในสมัย ร.5 คือการพังทลายของการแพทย์แบบโบราณ/จารีตประเพณี ไข้ทรพิษคือพิษภัย ที่ทำให้รัฐต้องพัฒนาระบบบุคลากร เพื่อกระจายลงไปตามท้องถิ่น เพื่อทำการปลูกฝี  ไข้ป่ามาเลเรีย จุดประกายให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ/ชีวิตประชาชน ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ หากไม่ต้องเจ็บป่วย

การมองพัฒนาการด้านสาธารณสุขในช่วงเวลาที่ยาวนานอย่างนี้ ทำให้เห็นแง่มุมที่ย้อนแย้งประการหนึ่ง นั่นคือ ในอดีตรัฐพยายามที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด เพื่อรักษาชีวิต รักษาสุขภาพ ต้องฟันฝ่ากับความเชื่อแบบโบราณ ความไม่ไว้ใจของประชาชน ครั้นพอมาถึงยุคปัจจุบันเมื่อการแพทย์ยุคใหม่ลงหลักปักฐานมั่นคง กลับได้ยินรัฐคร่ำครวญว่า คนเดี๋ยวนี้พึ่งพารัฐเกินไป ไม่ดูแลตัวเอง จนกระทั่งผู้นำใช้คำว่า ระบบสาธารณสุขเป็น ‘ภาระ’  ในมุมนี้ วิสัยทัศน์ของคนโบราณกลับดูดีมีราคากว่าเยอะเลย”

 

 

2. Shoe Dog บันทึกความทรงจำโดยผู้ก่อตั้ง ไนกี้

ผู้เขียน : Phil Knight

ผู้แปล : ไอริสา ชั้นศิริ

สำนักพิมพ์ : Amarin HOW-TO

“สนุกกว่าที่คิด ตอนแรกนึกว่าจะเป็นงานเขียนอัตชีวประวัติแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ เสียอีก ไม่เคยรู้จักหรือสนใจ ฟิล ไนต์ มาก่อน หยิบมาอ่านเพียงเพราะตอนนั้นกำลังหันมาเริ่มวิ่งเท่านั้นเอง ปรากฏว่าอ่านไปต้องร้องว้าวเลย เขียนดี ภาษาสวย มีลูกเล่นอ่านเพลิน ถึงกับต้องเปิดกลับไปดูว่า มีคนช่วยเขียนหรือเปล่า แต่ก็ลงเครดิตไว้ว่าเขียนคนเดียว เขียนเองจริงๆ

ในแง่การทำธุรกิจ หากเอาตามที่เขาเขียน นี่เป็นธุรกิจแบบแหกตำรามากมาย ลืมไปเลยความรอบคอบ ความพอประมาณ หรือความสมเหตุสมผล นี่คือการทำธุรกิจแบบลุยไปข้างหน้า ไม่หยุด ไม่ยั้ง ไม่อิงต้นทุน ไม่เชื่อหลักการใดๆ การทุ่มเทพัฒนา ทุ่มทุนสร้าง ยังกับเล่นเดิมพันตลอดเวลา เรียกว่า ผ่านไปหลายปีแม้จะสร้างแบรนด์ได้ ผลิตรองเท้าที่ขายถล่มทลายได้ตลอด แต่ไม่มีความมั่นคงใดๆ ต้นทุนติดลบตลอด เรียกว่า ถ้ามีสักรุ่นที่ออกมาแล้วสะดุด ก็พังครืนได้เลย

นอกเหนือจากแง่มุมทางธุรกิจ บันทึกความทรงจำยังพาเราไปถึงจุดกำเนิดของรองเท้า ที่เป็นมากกว่ารองเท้า การล้มลุกคลุกคลานของคนรักการวิ่ง แล้วลามปามมากลายเป็นการบ้ารองเท้า และในฐานะที่เราอยู่ในกระแสการวิ่งบูมอย่างทุกวันนี้ เรื่องในอดีตก็มีอะไรที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว”

 

 

3. บริทท์มารีอยู่ตรงนี้ (Britt-Marie Was Here)

ผู้เขียน : Fredrik Backman

ผู้แปล : โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

สำนักพิมพ์ : Merry-Go-Round Publishing

“ใครบางคนที่อยู่แบบไร้ตัวตน ใครบางคนที่พยายามรักษาพื้นที่ อยู่อย่างเงียบงัน ใครบางคนที่ตรึงตัวเองไว้กับที่ เพราะต้องการเพียงเท่านี้ ความต้องการที่น้อยนิดเหลือเกิน แค่ให้ฉันอยู่ในพื้นที่ของฉัน บ้าน ห้องครัว ระเบียง กับต้นไม้ของฉัน กับคนที่ฉันเลือก เพียงเท่านี้ โลกนี้ก็ไม่มีให้เธอ บริทท์มารี จึงต้องออกมาจาก safe zone เพื่อหางานทำในวัย 63 เพื่อเป็นโค้ชฟุตบอล กีฬาที่เธอรังเกียจ ไม่สนใจและไม่คิดจะทำความเข้าใจ เพื่อรู้จักผู้คนที่มากกว่า เคนต์ อดีตสามีของเธอ เธอจึงได้พบผู้คนที่มีอะไรๆ มอบให้เธอมากกว่าที่เคนต์ให้เธอมาทั้งชีวิต เธอจึงได้เห็นพลังของกีฬาที่ฉุดให้ผู้คนมารวมตัวกันได้ เธอจึงได้พบว่า โลกนี้ไม่ปลอดภัยหรอก แต่เธอก็แกร่งกว่าที่เธอคิด

ท้ายสุด เธอบอกกับเราว่า ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ เป็นนิยายฟีลกู๊ดที่เดินเรื่องด้วย ‘มนุษย์ป้า’ ที่มาครบเครื่องทั้งอายุ พฤติกรรม และความคิด แต่เชื่อเถอว่า อ่านไปอ่านมา คุณจะทั้งเห็นอกเห็นใจและตกหลุมรักมนุษย์ป้าคนนี้โดยไม่รู้ตัว

อ่านไปอ่านมา คุณอาจจะสงสัยเหมือนผมว่า คนเขียนนี่ เขาทำไมช่างรู้ใจผู้หญิงวัยทองได้ดีขนาดนี้”

 

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (พิมพ์ครั้งที่ 7, 2561)

ผู้เขียน : คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

สำนักพิมพ์ : มติชน

“ให้ภาพรวมและวิเคราะห์ปัจจัยและผลการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจการเมืองไทยในรอบสองศตวรรษครึ่งจนถึงปลายทศวรรษ 2550 ได้อย่างที่ยังไม่มีงานวิชาการใดเทียบเคียงได้ในทศวรรษนี้”

 

 

2. เผด็จการวิทยา

ผู้เขียน : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สำนักพิมพ์ : มติชน

“เพียงแค่ชื่อหนังสือก็ทำให้เราตระหนักได้อย่างยิ่งว่าเราอาจไม่เข้าใจรัฐทหารไทยที่มีมาอย่างยาวนานได้เลย หากเราไม่พยายามศึกษาเข้าใจในทุกมุมที่ทำให้รัฐทหารไทยดำรงอยู่ได้จนถึงวันนี้”

 

 

3. นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง : ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2550

ผู้เขียน : สมชาย ปรีชาศิลปกุล

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

“เป็นงานสำรวจและวิเคราะห์สถานภาพและบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีพลวัตในการเมืองไทย ผ่านรัฐธรรมนูญมากฉบับของไทยได้อย่างคิดไม่ถึง”

 

 

The Paperless

นิรัตศัย บุญจันทร์ และ ภัทรานิษฐ์ พัฒน์ธนพร สองผู้อยู่เบื้องหลังคอนเทนต์ของ The Paperless เว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับแวดวงวรรณกรรมอย่างถึงแก่น

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. The Four : เปิดโปงด้านสีเทาของ 4 พ่อมดไอที Amazon, Apple, Facebook, Google

ผู้เขียน : Scott Galloway

ผู้แปล : ธนากร นำรับพร

สำนักพิมพ์ : Se-Ed

“เป็นหนังสือขนาดกลางที่ราคาไม่แพงนัก แต่ที่สำคัญคือเนื้อใน เพราะไม่ว่าจะเปิดหน้าไหนก็อ่านสนุก แต่มากกว่าความสนุกคือข้อมูลอีกด้านของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่ครองโลกอยู่ ณ ตอนนี้ ถ้าเป็นคนดีหน่อยตอนอ่านคงรู้สึกโมโห แต่ถ้าเป็นคนเทาๆ ตอนจบจะทึ่งกับกลเม็ดการโกงความได้เปรียบเล็กๆ น้อยๆ หรือการหลบเลี่ยงข้อกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับผมนี่คือหนังสือ How-to ที่ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่ง”

 

 

2. Concept is Everything : 1000 ไอเดียหรือจะสู้ 1 คอนเซปต์

ผู้เขียน: ยะมะดะ โซ

สำนักพิมพ์: We learn

“เป็นหนังสือเล่มบาง ที่เหมาะกับยุคสมัย ไม่มีอะไรหวือหวางดงาม แต่เต็มไปด้วยข้อมูลที่โลกออนไลน์ให้ไม่ได้

ในยุคที่การดิ้นรนเอาชีวิตรอดหลังตกงานมาสักพัก ไม่ว่าคุณจะเริ่มทำธุรกิจที่ชอบ ไม่ว่าคุณจะทำตามความฝันที่กินไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีคอนเซ็ปท์ และหนังสือเล่มนี่ดันเข้ามาในเวลาที่ผมหัวตันกับเรื่องงานเรื่องเงิน แน่นอนมันเป็นเหมือนแสงจากไฟฉายกระบอกน้อยสาดลงยังตัวความท้อแท้ ที่กำลังกัดกินความหวังของผมอยู่ ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแสงส่องยังตัวความท้อแท้ที่กำลังกัดกินความหวังของหลายคนให้กระเจิงหนีไปได้

คำเตือน : มันไม่ใช่หนังสือเสริมกำลังใจอะไรเทือกนั้น บางทีความเข้มข้นที่ได้มาอาจทำให้คุณล้มเลิกสิ่งที่ทำเลยก็ได้”

 

 

3. ศตวรรษแห่งความพ่ายแพ้

ผู้เขียน : ชญรัตน์ ชญารัตน์

สำนักพิมพ์ : สมมติ

“พูดถึงการต่อสู้ดิ้นรนในสังคมปัจจุบัน ไม้ว่าจะด้านชีวิตทั่วไปหรือในเชิงภาพใหญ่ระดับประเทศ มีเสียงของความเลือดร้อนแต่ก็แสดงจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ต่อความไม่เป็นใจหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับสถานการณ์ในตอนนี้”

 

 

Whale & Rabbit Library

ชวณัฐ สุวรรณ และ เพชรลัดดา แก้วจีน สองกราฟิกดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันในนามของเจ้าวาฬกับเจ้ากระต่าย

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. เบสเมนต์ มูน

ผู้เขียน : ปราบดา หยุ่น

สำนักพิมพ์ : Typhoon Studio

“เราคิดว่านวนิยายเล่มนี้กล้าเสนอไอเดียใหม่ๆ และสร้างกลไกต่างๆ มารองรับไอเดียนั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนวนิยายไซไฟ ผู้เขียนพูดถึง ‘จิตสำนึกประดิษฐ์’ (Artificial Consciousness) ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมขั้นกว่าของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และมันได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการควบคุมผู้คนในระดับที่ละเอียดกว่าความนึกคิด ผู้เขียนใช้รูปแบบนวนิยายดิสโทเปียไซไฟในการนำเสนอก็จริง หากสิ่งที่อยู่ในนั้นนอกจากเรื่องการเมืองแล้วยังโยงใยไปสู่หลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวตน แนวคิดทางปรัชญา และอำนาจของภาษา

เบสเมนต์ มูน เป็นงานที่ต้องใช้สติในการอ่านสูงมาก เพราะมันมีทั้งศัพท์เฉพาะและการอ้างอิงในหลายๆ ส่วน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีความสนุกและคงกลิ่นอายความตลกร้ายในแบบเฉพาะตัวของผู้เขียนไว้อย่างเต็มเปี่ยม ถึงแม้ส่วนตัวจะอยากให้นวนิยายเรื่องนี้ยาวกว่านี้อีกนิด แต่ประเด็นต่างๆ ที่เปิดไว้ก็ชวนให้คิดต่อได้ไม่รู้จบ”

 

 

2. ดินเเดนคนตาบอด (The Country of the Blind)

ผู้เขียน : H. G. Wells.

ผู้แปล : มโนราห์

สำนักพิมพ์ : สมมติ

“บ่อยครั้งหนังสือบางเล่มเหมือนมาก่อนกาลเวลาเสมอ ดินเเดนคนตาบอด ของ H.G. Wells  เรื่องราวของนูเนซ นักปีนเขาที่หลงเข้าไปในหุบเขาที่ปิดตาย เเละที่เเห่งนั้นเรียกว่า ดินเเดนคนตาบอด มีเพียงคนตาบอดที่อาศัยอยู่ในหุบเขาเเห่งนี้ ตัดขาดจากโลกภายนอก เชื่อเเละศรัทธาต่อเบื้องบน จนนูเนซได้เข้ามาในที่เเห่งนี้ ซึ่งเขาคิดว่าเขาจะเปลี่ยนเเปลงดินเเดนคนตาบอดได้ เเละคิดเสมอว่า ‘ในดินเเดนคนตาบอด คนตาเดียวคือพระราชา’ เเต่ไม่ว่าเขาจะพยายามเท่าไร เขาก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเเปลงสิ่งต่างๆ ในดินเเดนนี้ได้ มันพิสูจน์ได้ว่าคนตาดีไม่ได้มีอำนาจเเละความสามารถเหนือไปกว่าคนตาบอดได้เลย เพราะพวกเขาเหล่านั้นต่างมืดบอดในความคิด ศรัทธากับสิ่งที่อาจจะไม่มีอยู่จริง เเละนูเนซไม่สามารถทลายกำเเพงศรัทธาเหล่านั้นได้

H.G. Wells เขียนตอนจบไว้สองเเบบ ตอนจบทั้งสองแบบเป็นการตีความที่ต่างกัน เหมือนเป็นตัวเลือกให้กับคนอ่านว่าเราอยากจะเป็นคนเเบบไหน ตาบอดหรือตาดี เเละเปิดพื้นที่ให้เราได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ ศรัทธาความเชื่อต่างๆ ที่เรายึดถือไว้นั้น มันนำเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือครอบงำเราไว้ให้มืดบอดเดินไปข้างหน้าไม่ได้หรือไม่ เป็นหนังสือที่อยากเเนะนำให้อ่านมากๆ นิยายเเนวดิสโทเปีย ที่สะท้อนประเด็นทางสังคม การเมือง ชนชั้นได้อย่างคมคาย”

 

 

3. My name is red

ผู้เขียน : Orhan Pamuk

ผู้แปล : นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

สำนักพิมพ์ : มติชน

“นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เดินเรื่องผ่านการสืบสวนคดีฆาตกรรมจิตรกรในราชสำนักของอาณาจักรออตโตมัน ฉายภาพให้เห็นบรรยากาศและวัฒนธรรมอันผสมผสานในเมืองอิสตันบูลที่มีเสน่ห์อย่างประหลาด ผู้เขียนใช้ชั้นเชิงระดับสูงในการเล่าเรื่องแต่ละบทโดยเปลี่ยนเสียงผู้เล่าไปเรื่อยๆ จึงทำให้ผู้อ่านได้รับฟังเรื่องราวผ่าน point of view จากหลายตัวละคร หลอกล่อให้เราเกิดความความเคลือบแคลงจนไม่อาจไว้ใจในคำพูดใครได้ทั้งหมด นอกจากนั้นตัวนวนิยายยังฉายให้เห็นการปะทะกันระหว่างความเชื่อแบบเก่าและแบบใหม่ ความเป็นตะวันออกและตะวันตก ความเชื่อในพระเจ้าและความเชื่อในตัวมนุษย์ ตลอดจนความขัดแย้งภายในจิตใจของมนุษย์

My Name is Red เป็นงานที่ส่งให้ออร์ฮาน ปามุกได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2006 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสองคนตกหลุมรักผลงานของเขาจนต้องหาเล่มอื่นๆ มาอ่านเพิ่มในที่สุด”

 

 

สุธิดา วิมุตติโกศล

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘Read aloud : อ่านออกเสียง’

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย

ผู้เขียน : กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

 

 

 

2. มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ          

ผู้เขียน : ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

สำนักพิมพ์ : อ่าน

 

 

 

3. หนูนิ้วโป้ง: วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลนเนียล (Thumbelina : The Culture and Technology of Millennials)

ผู้เขียน : Michel Serres

ผู้แปล: สายพิณ ศุพุทธมงคล

สำนักพิมพ์ : พารากราฟ

 

 

มณฑล ประภากรเกียรติ

บรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน

 

เล่มที่แนะนำ :

 

 

1. ศาสนาและความรุนแรง

ผู้เขียน : ปรีดี หงษ์สต้น และ อัมพร หมาดเด็น

สำนักพิมพ์ : Illuminations Edition

“หนังสือที่ตีแผ่ปมขัดแย้งของจักรวาลศาสนาต่างๆ ทั้งในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ(ดังที่กล่าวอ้างกัน) สมควรแก่การอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างยิ่ง”

 

 

2. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย

ผู้เขียน : กุลลดา เกษบุญชู มี้ด

สำนักพิมพ์ : ฟ้าเดียวกัน

“ในโลกไทยๆ ที่สับสนวุ่นวายอลมาน ทั้งระบบโครงสร้างการศึกษา สาธารณสุข และที่สำคัญ ระบบราชการแบบไทยๆ ที่ทุกคนแทบจะร้องยี้ ล้วนเป็นผลผลิตจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงพลังในระบบราชการเหลือเกิน”

 

 

3. เมา : ประวัติศาสตร์แห่งการร่ำสุรา (A Short History of Drunkenness)

ผู้เขียน : Mark Forsyth

ผู้แปล : ลลิตา ผลผลา

สำนักพิมพ์ : Bookscape

“เพียงแค่ชื่อและปก ก็ไม่ควรพลาดแล้วสำหรับคอหนังสือ Non-Fiction และคอร่ำสุรา…”

 


 

ย้อนอ่านที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้ :

ความน่าจะอ่าน 2018-2019 : การแนะนำหนังสือที่เป็นประชาธิปไตย…ยิ่งกว่าการเลือกนายก!

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save