fbpx
วาระสุดท้ายในนาม Journalist : สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร ‘The Nation’

วาระสุดท้ายในนาม Journalist : สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการบริหาร ‘The Nation’

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี เริ่มงานนักหนังสือพิมพ์หลังเรียนจบนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กับ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทำหน้าที่นั่งแปลข่าวต่างประเทศอยู่ในออฟฟิศ

เมื่อสนามรบเปลี่ยนเป็นสนามการค้า ข่าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลพรั่งพรู ความที่สนใจปัญหาอินโดจีนอยู่แล้วทำให้เขาเรียกร้องตัวเองลงสนาม journalist เต็มตัว โดยย้ายไปสังกัดกับ ‘ผู้จัดการ’ ดูแลศูนย์อินโดจีน กระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจจู่โจมสังคมไทยในปี 2540 เครือผู้จัดการเจอพิษค่าเงินบาทลอยตัว ศูนย์อินโดจีนก็ถูกปิดตามไปด้วย

สุภลักษณ์เข้าไปบ่มเพาะวิชาชีพอย่างเข้มข้นต่อที่สำนักข่าว ‘เกียวโด’ ของญี่ปุ่นอยู่อีก 3 ปี ก่อนจะย้ายมาประจำการที่ ‘The Nation’ ถาวรในฐานะนักข่าวอาวุโส และค่อยๆ ขยับมาเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ รวมเวลา 18 ปีพอดี

ปัจจุบันเขาสวมหมวกบรรณาธิการบริหาร ดูแล ‘The Nation’ ให้เป็น independent newspaper อย่างที่เขาสืบทอดมาจากคนรุ่นก่อตั้งนามสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งปัจจุบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วเนื่องจากเครือเนชั่นเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่

101 สนทนากับสุภลักษณ์ ในวันที่สังคมทราบล่วงหน้าว่า ‘The Nation’ กำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางการนับถอยหลังของแวดวงสื่อมวลชน กระทั่งหลายคนเริ่มนับถอยหลังสู่วาระสุดท้ายของหนังสือพิมพ์กระดาษ, เขามองไปข้างหน้าอย่างไร

และแน่นอน เขาย่อมไม่พลาดที่จะอธิบายย้อนกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของวงการหนังสือพิมพ์ไทย ไล่เป็นฉากๆ จากการฝ่ามรสุมเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะยุครัฐประหาร 2549 มาถึงปัจจุบัน

ถ้าชีวิตเราๆ ท่านๆ เกาะเกี่ยวกับสภาพสังคมกันอยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยมีสื่อมวลชนคอยสะท้อนความเป็นไป ถ้อยคำของสุภลักษณ์ต่อจากนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด…

 

 

ในยุคที่คุณเป็นนักข่าวเต็มตัว การทำข่าวต่างประเทศเป็นอย่างไร

สมัยที่เริ่มทำงานหนังสือพิมพ์แรกๆ ผมคิดว่าปัญหาการเมืองมันจะจบเมื่อนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และตอนนั้นโลกก็เปลี่ยนมาก ประเทศคอมมิวนิสต์มีอะไรน่าสนใจเยอะ หลังปี 1986 เวียดนามเพิ่งเปิดประเทศ ในไทยเองรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ปัญหาเขมรแดงกำลังจะจบลงพอดี ทุกอย่างมาบรรจบกัน ข่าวต่างประเทศตอนนั้นน่าสนใจมากในแง่ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง

ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ พอดีผมสนใจปัญหาเขมร ปัญหาอินโดจีน ก็เลยไปสมัครหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ แต่เน้นแปลข่าวอย่างเดียว หลังๆ ไม่ได้ออกไปไหน แต่ใจเราอยากทำข่าว เลยย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

6 ปีที่ผู้จัดการ ผมทำข่าวอยู่ศูนย์อินโดจีน ก่อนจะมีการปิดศูนย์ไปเพราะมันใช้ฟุ่มเฟือย คือผลิตข่าวน้อยแต่ใช้เงินเยอะ เพราะว่าที่ที่เราไปทำงานมันอยู่ไกล เดินทางเยอะ ต้นทุนสูงมาก บางครั้งทำสกู๊ปข่าวสักชิ้นใช้เงินเป็นแสน เพราะมันต้องเข้าไปในประเทศที่ยากและท้าทาย อย่างสมัยเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่เขมร ปี 1993 นักข่าวไปเยอะมาก เฉพาะทีมผมก็ปาเข้าไป 2-3 คนแล้ว แถมจ้างล่ามไปจากเมืองไทยด้วยนะ เป็นคนสุรินทร์ที่รู้ภาษาเขมรระดับอาจารย์เลย หมดไปหลายบาท เพราะว่าอยู่เกือบเดือน ติดตามการสู้กันทางการเมืองระหว่างกลุ่มสีหนุกับกลุ่มฮุนเซน แล้วตอนนั้นปัญหาเขมรแดงก็ยังไม่จบดี ยังมีป้วนเปี้ยนอยู่แถวชายแดน สุดท้ายพวกเขาถูก outlaw เข้าร่วมการเลือกตั้งไม่ได้ กลายเป็นพรรคนอกกฎหมาย มีประเด็นที่น่าสนใจเยอะมาก

 

ทำไมหนังสือพิมพ์ผู้จัดการจึงจริงจังกับข่าวต่างประเทศมากขนาดนั้น

ก็อย่างที่รู้ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ว่าส่วนตัวเขาจะเป็นยังไง แต่คุณูปการที่เขามีให้กับวงการสื่อสารมวลชนถือว่าสุดยอดแล้ว ไม่มีใครทุ่มเทขนาดเขานะ ในแง่งบประมาณการลงทุน สติปัญญา วิชาความรู้ ใครที่คิดว่าเจ๋งเขาจ้างหมด พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาหลายรัฐบาลนี่คือที่ปรึกษาสนธิด้วย นักเขียนชื่อดังอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์, เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนผู้จัดการทั้งนั้นแหละ ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของวงการหนังสือพิมพ์เลย ค่าตัวนักข่าวก็แพงมาก

สมัยนั้นผู้จัดการมี resource เยอะ อย่างตอนไปจีนตอนใต้ก็ไปยาก เพราะมันยังไม่เปิด และเขาก็เพิ่งเปิดเศรษฐกิจใหม่ๆ พวกเศรษฐีที่เพิ่งรวยก็อยากใช้รถหรูกัน แต่ว่าจีนไม่มีรถหรู เขาเลยแอบมาซื้อกับเศรษฐีไทย พ่อค้าไทยก็ซื้อรถจากดูไบขับขึ้นไปขายให้ถึงจีนตอนใต้

คุณพันศักดิ์บอกว่า “เฮ้ย พวกลื้อนั่งรถไปด้วย เขียนสารคดีแบบสวยๆ เลยนะ” ผมจำได้ เราไปกัน 2 คนกับนักข่าวที่อยู่ศูนย์เชียงใหม่ เขาชำนาญเส้นทาง พวกเราข้ามชายแดนโดยไม่ใช้เอกสารเลยนะ ใช้แบงค์ดอลล่าร์แทน มันสะท้อนว่าถ้าคุณจะทำงาน journalist จริงๆ มันต้องประมาณนี้ คุณต้องกล้าลงทุน กล้าจ่าย สิ่งที่ได้มันคุ้ม เฉพาะตัวนักข่าวก็คุ้มแล้ว ทั้งประสบการณ์อะไรต่างๆ ไม่มีใครได้เจอเรื่องพวกนี้

 

ในยุคนั้นดูเหมือนเป็นวิชาชีพที่หอมหวาน

วงการสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่เป็นผู้สังเกตการณ์ แต่ความคิดของสนธิต่างออกไปมากเลย เขาเป็นพวกที่มีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่อง ฉะนั้นคุณจะเห็นว่าพักหลังที่เขามาทำงานการเมือง ข่าวการเมืองของเขาจะเข้มข้นมาก เขาพาลูกน้องของเขาลงถนน คือกลุ่มพันธมิตรฯ นี่คือสไตล์ที่แตกต่าง

 

ในแง่ข่าว หนังสือพิมพ์ผู้จัดการพยายามจะสร้างข่าวที่เป็น original ใช่ไหม

ใช่ๆ เวลาเราไปทำข่าวต่างๆ เราแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของเขาเลย อย่างที่เขาส่งผมไปจีน พวกพ่อค้าเขานัดกันแล้วมันคลาดกัน เขาขึ้นไปก่อน เราไปไม่ทัน ต้องเหมารถตามเขาไปบนเส้นทางเดียวกับที่เขาใช้ แล้วก็ไปเจอกันที่สิบสองปันนา เมืองเชียงรุ่ง เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับเขาหลายวัน เขาไปเจรจาธุรกิจที่ไหน นัดเจอกันที่โรงแรมไหน ผมเขียนสตอรี่ชิ้นนึงเริ่มตั้งแต่ว่าเขาหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์ใส่เงินดอลล่าร์มานั่งคุยกัน เจรจาต่อรองราคารถกัน ตอนนั้นรู้สึกว่าจะเป็น Lexus หรูมากและขายดีในหมู่เศรษฐี

เรื่องนี้เป็นชิ้นนึงที่ลงทุนแล้วคุ้มค่า ผู้จัดการไม่ได้บอกว่าคุณต้องได้ข่าวมากี่ข่าว หรือต้องได้มาภายในวันนั้นวันนี้ เดดไลน์ไม่มี แต่คุณต้องทำมาให้ได้ ต้องได้ประเด็น คุณใช้เวลาเท่าไหร่ก็ได้ ใช้ทรัพยากรยังไงก็ได้ คุณทำทุกอย่างให้มันได้มา ถ้าตัวเราทุ่มเทขนาดนั้นก็แปลว่า back up เราเต็มที่

 

การลงทุนจริงจังกับการทำข่าวแบบนี้ ช่วยยกระดับวงการสื่ออย่างไรบ้าง

ช่วงนั้นถือว่าหนังสือพิมพ์เข้าสู่ยุค professional journalism ประกอบกับช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นช่วงพีคของเศรษฐกิจด้วย สื่อกลายเป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว ไม่ใช่งานศิลป์แบบที่คนรุ่นคุณสุทธิชัย หยุ่น หรือคุณสนธิทำ คนรุ่นนี้เขาขายบ้านขายที่มาทำหนังสือพิมพ์ (หัวเราะ) มันเป็นอุดมคติของพวกเขา ใช้ชีวิตอยู่ในโรงพิมพ์ ตกเย็นกินเหล้าเมากัน พอดึกๆ ออกไปหาแหล่งข่าว แล้วตื่นสายๆ บ่ายๆ เข้าออฟฟิศ เมื่อก่อนเขาพูดกันว่า ‘คุณภาพเที่ยงธรรม’ คือถ้าไม่เที่ยงกูไม่เริ่มทำงาน (หัวเราะ)

พอมายุคของผม สมัยนั้นประชาชาติธุรกิจมีเกือบ 100 หน้า กระดาษปอนด์ 4 สี มีโฆษณาแทบทุกหน้าเลย นี่คือยุคอุตสาหกรรมสื่อ จุดเปลี่ยนมันเริ่มขึ้นตอนสงครามเย็นสิ้นสุด เศรษฐกิจโลกเป็นช่วงขาขึ้น เข้าสู่ยุค liberalization รวมถึงภูมิภาคอาเซียนด้วยเหมือนกัน ทุกประเทศเปิดเข้าหากัน เรื่องในอินโดจีนไม่เกี่ยวอะไรกับอุดมการณ์แล้ว มันเข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสาร และอีกราวๆ 10 ปีต่อมาก็เป็นยุค information technology มีอินเทอร์เน็ตเข้ามา ก่อนนั้นเรายังใช้พิมพ์ดีด

ตอนนั้นในวงการสื่อจะฝันหาสิ่งที่เรียกว่า professional journalism ไม่ได้โฟกัสที่อุดมการณ์ซ้ายหรือขวา การทำหนังสือพิมพ์ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมือง ต่างจากยุคก่อนหน้านั้นที่การทำหนังสือพิมพ์มันคือการต่อสู้ทางการเมือง คุณขายอุดมการณ์ของคุณผ่านตัวหนังสือ ยุคศรีบูรพา, อิศรา อมันตกุล เขาทำแบบนั้น เพราะคนเหล่านั้นมีความเป็น activist อยู่ด้วย

พวกฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่เขาเชื่อในการใช้ตัวหนังสือเปลี่ยนแปลงโลก แต่พอโลกมันพัฒนา ทำให้คนต้องบริโภคข้อมูลข่าวสาร หนังสือพิมพ์ก็เลยเกิดขึ้นเยอะแยะ และมันก็อยู่ได้ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตอนนั้นมีหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจเต็มไปหมด

ค่ายเนชั่นก็มีกรุงเทพธุรกิจ ข่าวที่เป็น business orientation, economics orientation เป็นข่าวที่คนให้ความสนใจ เรื่องในตลาดหลักทรัพย์เป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมาก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าข่าวรบราฆ่าฟัน พวกที่ทำข่าว journal news เรียกว่านั่งแถวหลังเลย

ในภูมิภาคเรา พอปัญหาเขมรมันจบ การลงทุนเข้ามาแทน ใครๆ ก็พูดกันเรื่องลงทุนในอินโดจีน พล.อ.ชาติชายสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 การเก็งกำไรที่ดินตามเมืองชายแดนขึ้นตาม แต่ละวันเราต้องการข่าวมากว่าการพัฒนาจะไปทิศทางไหน สังคมอยากรู้ว่า infrastructure จะไปทางไหน เพราะฉะนั้นสื่อก็ต้องการนักข่าวที่อินไซด์ทางธุรกิจเก่งๆ นักข่าวยุคก่อนก็เลยเล่นหุ้นกัน เขียนข่าวเชียร์หุ้นกันสนุกสนาน

 

ว่ากันว่าบริษัทไหนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ นักข่าวก็ได้หุ้นด้วย

ใช่ นักข่าวได้รับการแจกหุ้นราคาพาร์มา เมื่อก่อนแจกกันฟรี ผมว่านี่คือยุครุ่งเรืองทางอุตสาหกรรมของสื่อ เพราะมันเป็นไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองมันหมด หน้าที่ของสื่อมวลชนก็คือเขียนสะท้อนในสิ่งที่มันเป็น ทำหน้าที่ให้ข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้น

 

ในเชิงปรัชญา สมัยนั้นก็เริ่มว่ากันว่า “ความจริงไม่ได้มีชุดเดียว”

ใช่ ตอนนั้น post-modern มาแรง นักวิชาการเริ่มพูดถึง ‘ฟูโกต์’ ถ้าสื่อยุคแรกคือการค้นหาสัจธรรม ตอนหลังเรามองเห็นว่า fact กับ truth ไม่เหมือนกัน เพราะข้อเท็จจริงมันถูกสร้างขึ้น ความจริงถูกผลิตขึ้น แล้วแต่ใครจะเขียนให้โลกมันเป็นแบบไหน แน่นอนทุกคนมีส่วนร่วมในการเขียน วงการสื่อสารมวลชนด้วย แล้ว fact ก็มีอุดมการณ์บางอย่างซ่อนอยู่

ที่ผมบอกว่าอุดมการณ์มันเริ่มหมดไป จริงๆ แล้วอุดมการณ์ที่มันครอบงำอยู่คือเสรีนิยม ตอนหลังก็เปลี่ยนมาเป็นเสรีนิยมใหม่ นักวิชาการที่อธิบายเรื่อง post-modern ทั้งหลายก็พยายามบอกว่าโลกมันเป็นแบบนี้นะ มันไม่ได้มีอุดมคติอะไรที่สวยงาม ทุกอย่างมันถูกเซ็ตขึ้น แม้แต่ในเชิงประวัติศาสตร์ก็บอกกันว่าประวัติศาสตร์เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อวานนี้เอง

นักวิชาการอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็พยายามอธิบายใหม่ว่าบันทึกเรื่องราวความเจ็บปวดของชาติ เป็นประวัติศาสตร์นิยายที่โกหก ปัญญาชนในหมู่สื่อมวลชน นักวิชาการ ก็เริ่มมาเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ บางคนคิดว่าการเลคเชอร์ในมหาวิทยาลัยไม่ดึงดูดเท่ากับการเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำไป ช่วงนั้นคอลัมนิสต์ดีๆ ก็ค่าต้นฉบับแพงนะ หนังสือพิมพ์ทุกค่ายก็อยากได้นักเขียนที่มีแฟนคลับเยอะ

 

พอสื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเต็มตัว คุณมองกลับไปยุคศรีบูรพา ถือว่าเชยแล้วหรือยัง

จะเรียกว่าเชยก็ได้นะ เมื่อก่อนผมอาจจะหัวเราะเยาะเย้ย ถากถางการเขียนเพื่อแสวงหาความจริง เวลาพูดเรื่องความจริง ผมก็บอก เฮ้ย ไม่ใช่ ความจริงราคา 5 บาทเอง (หัวเราะ) เพราะหนังสือพิมพ์ราคา 5 บาท แต่จริงๆ แล้วเราพยายามอธิบายว่ามันถูกกระบวนการที่ใหญ่กว่านั้นสร้างความจริงขึ้นมา เราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ เป็นฟันเฟืองหนึ่งของอุตสาหกรรม

เราชอบพูดกันในออฟฟิศเวลานักข่าวส่งข่าวช้า บอกว่าเราอยู่ในยุคอุตสาหกรรม เดดไลน์มาถึงแล้ว คุณทำเหมือนช่างทำรองเท้าในอดีตที่คนสั่งมาแล้วค่อยๆ ทำไม่ได้ เหมือนการตัดเสื้อผ้า ยุคของเราเราตัดแขนเสื้อข้างเดียว เหลืออีกข้างหนึ่งเพื่อนต้องเอามาใส่ให้ คนทำกราฟฟิกเขารอข้อมูลจากคุณอยู่ แล้วถ้าคุณช้า เขาก็ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นการทำข่าวแบบเมื่อคืนไปกินเหล้ากับแหล่งข่าวมา แล้วเขาให้ hint เด็ดๆ มาเนี่ย มันจะเหลือคนพวกนี้น้อยมาก

 

พอสื่อเป็นอุตสาหกรรมเต็มตัว ทำไมคนทำสื่อรุ่นที่โตมากับอุตสาหกรรมยังชอบอ้างถึงยุคอิศรา อมันตกุล เด็กนิเทศศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ก็ยังถูกกล่อมด้วยอุดมการณ์สื่อรุ่นนั้นอยู่

ความคลาสสิคของยุคนั้นก็เหมือนอย่างที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ เคยเขียนไว้ว่า พวกเขาสร้าง fundamental stone หรือหลักศิลาแห่งความรุ่งเรืองของการสื่อสารมวลชนขึ้นมา ไอ้คุณธรรมบางอย่างที่มันกำกับวิชาชีพนี้อยู่ มันถูกถ่ายทอดลงมา เช่น สิ่งที่เราต้องตระหนักอยู่เสมอคือเมื่อข้อมูลนั้นถูกสร้างขึ้น เราจะต้องทำอย่างหนึ่งก็คือการ cross check ข้อมูลว่ามันถูกต้องไหม ไม่ใช่ว่าใครปล่อยอะไรมาเราก็ทำข่าว

จริงๆ ผมไม่คิดว่าอาจารย์สุภาคิดว่าตัวเองเป็น journalist สักเท่าไหร่นะในยุคนั้น แม้แต่อิศราก็ตาม ผมว่าพวกเขาคิดว่าตัวเองเป็น activist มากกว่า คือมีอุดมคติประมาณนึง

กระทั่งทุกวันนี้ เราก็ต้องการสิ่งนี้ไง เพราะเมื่อมันอยู่ในอุตสาหกรรมมากๆ คนอย่างผมจะรู้สึกว่า เออว่ะ ถ้าเรามีโอกาสได้ทำข่าวชิ้นหนึ่งด้วยตนเองสำเร็จตั้งแต่ต้นจนจบ เราจะรู้สึกภูมิใจมาก กลายเป็นอะไรที่เราถวิลหา ไม่ใช่แบบเอาข่าวมาต่อๆ กัน

แล้วพอเจอกระแส fake news มากเข้า เราเริ่มถามหาหลักการทำงาน ผมคิดว่าคนรุ่นผมที่ผ่านโลกอุตสาหกรรมสื่อมา จะรู้สึกว่าบางทีเราต้องการหลักอะไรบางอย่างที่คอยกำกับอยู่ด้วย เราชอบพูดให้ใครต่อใครฟังว่าทุกอาชีพต้องมี morality มีจรรยาบรรณ มี code of conduct คุณขายก๋วยเตี๋ยวคุณต้องก็ make sure ว่ากินแล้วท้องไม่เสีย แม้แต่ใส่กัญชาแล้วคุณเชื่อว่ามันอร่อย คุณก็ต้องบอกอย่างซื่อสัตย์ว่าคุณใส่กัญชานะ ที่อร่อยไม่ใช่แค่ก๋วยเตี๋ยวหรอก

ยุคนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่คุณเขียนมันรับใช้อุดมการณ์อะไรบางอย่างอยู่ด้วย ผมก็เข้าใจว่าคนยุคหลังๆ หรือแม้กระทั่งผู้อ่าน ก็มองหาอะไรที่มันน่าเชื่อถือ

 

อีกประเด็นคือวงการสื่อชอบพูดว่าข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น อย่าไปดูถูกคนอ่าน คนอ่านคิดเองได้ ในขณะเดียวกันก็ยังเถียงกันด้วยว่า อะไรคือเรื่องที่สื่อควรทำให้คนอ่าน

เหมือนที่อาจารย์บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา เขียนว่าระหว่างกระจกกับตะเกียง คุณจะเป็นอะไร บางคราคุณก็เป็นกระจกสะท้อนสภาพของสังคม แต่บางคราพวก journalist พวก intellectual ทั้งหลายแหล่ที่เขารู้สึกว่ามีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิด อะไรเหมาะอะไรควร ก็คิดว่าตัวเองทำหน้าที่เป็นตะเกียง เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนถูก blame มากที่สุด รวมทั้งพวกนักวิชาการด้วย

ประเด็นคือยุควิกฤตเศรษฐกิจ เราเพลิดเพลินกับการรายงานข่าวเรื่องเศรษฐกิจเสรี การค้าเสรี การเปิดเสรี แต่ไม่มีใครระวังเลยว่าภายใต้ความเสรีนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ ไม่มีใครเตือนเลยว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองก็ตาม สื่อมวลชนไม่ต้องพูดถึง แทบไม่มีความรู้เลยว่าวิกฤตนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร

หลังปี 1997 พวกผมก็มานั่งทบทวนกันว่าสิ่งที่เราพลาดมาก คือเราเพลิดเพลินกับการรายงานข่าวในทิศทางเดียวจนเกินไป จนกระทั่งไม่เคยตักเตือนสังคม หรือถ้าเตือนอาจจะไม่มีใครฟัง แต่ที่แน่ๆ คือไม่มีใครเตือน แม้แต่พวกนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าเอกอุในประเทศนี้ สื่อมวลชนที่ทำข่าวเข้าไปดูอินไซด์ในบริษัทต่างๆ รู้ว่าเขาบริหารเฮงซวย แต่ไม่ว่าอะไร บริษัทไม่มี good governance ก็ไม่เป็นไร ถ้ามันยังให้หุ้นเรา เราก็เอา

 

อะไรบังตาสื่ออยู่

เงิน ผลประโยชน์นั่นแหละ เพราะว่านักข่าวมันเป็นอาชีพที่ชาตินี้ไม่มีทางร่ำรวย ถ้าใครหันหน้าเข้ามาสู่อาชีพนี้ แปลว่าคุณได้ละทิ้งโอกาสที่คุณจะร่ำรวยแล้ว

 

ว่ากันว่าคนที่เริ่มงานเป็นนักข่าวยุคนั้น เชื่อว่าชีวิตนี้คงได้แค่อยู่แฟลต คงไม่มีรถ ไม่มีบ้านแน่ๆ

ถูก ยุคนั้นเงินเดือน 3,000 บาท ถ้าคุณอยากทำอะไรเพื่อสังคม อยากเป็น intellectual คุณเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชน คุณได้เขียนในสิ่งที่คุณคิด คุณได้ค้นหาในสิ่งที่คุณอยากรู้ มันตอบโจทย์ด้านนี้ แต่คนอย่างคุณสนธิสร้างมาตรฐานใหม่ เงินเหรอ คุณได้ เกียรติยศชื่อเสียงเหรอ คุณได้ คุณทำสิ เราสนับสนุนให้คุณเต็มที่ เขาเชื่อว่าคุณภาพที่ดีย่อมขายได้ คนย่อมอยากอ่านสิ่งที่มีคุณภาพดี

ตรงนี้ก็กลับมาสู่ประเด็นว่า เมื่อเป็นสิ่งที่เราตามใจคนอ่านมาก ถ้าพูดภาษาเก่าเขาจะเรียกว่า “ระหว่างสิ่งที่คนควรรู้กับสิ่งที่คนอยากรู้” สิ่งที่คนอยากรู้บางทีไม่มีประโยชน์ ข่าวดาราตีกันนี่อยากรู้กับฉิบหายเลย แต่เรื่องที่ควรรู้อย่างการเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาสังคม อ่านแล้วเครียดชิบหาย เปิดหนังสือพิมพ์มาแต่ละวันไม่มีข่าวดีเลย ข่าวดีคือข่าวร้าย ข่าวร้ายคือข่าวดี

ถ้าถามผม ผมคิดว่าอย่างข่าวดาราปี้กัน ในมุมหนึ่งมันก็ถูกบิ้วท์นะ ผู้มีอำนาจเขาอยากให้มีข่าวแบบนี้แหละ รัฐบาลจะบอกให้ไปทำข่าวตรวจสอบเขาทำไม เรื่องแบบนี้ไม่มีประโยชน์หรอก ไม่มีใครสนใจ แล้วก็ปล่อยให้ข่าวดาราแย่งผัวแย่งเมียกันเกิดขึ้น แล้วสื่อมวลชนก็แห่ไปทางนั้น

หลังๆ มาเริ่มมีความคิดเรื่อง privacy แต่ก็มีคนท้วงว่าภายใต้สิทธิความเป็นส่วนตัว มันก็ฉาบไว้ด้วยความชั่วร้ายอะไรบางอย่างหรือเปล่า คุณไม่มีสิทธิที่จะทำร้ายประชาชน คุณอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนที่บอกว่าระหว่างกิจการภายในของรัฐกับสิทธิในการทำร้ายประชาชนเป็นอย่างเดียวกันไหม มันไม่ใช่อยู่แล้ว

ฉะนั้นหนังสือพิมพ์ก็พยายามหาทางที่ดีที่สุดที่จะยืนอยู่ให้ได้ แล้วก็รายงานระหว่างสิ่งที่คนอยากรู้กับสิ่งที่คนจำเป็นต้องรู้ให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมได้

 

คุณผ่านประสบการณ์สื่อมานาน สปิริตสื่อแบบที่ต้องการเป็นตะเกียงให้สังคม ถือเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องขององค์กร หรือเป็นเรื่องวิชาชีพ สปิริตนี้ขึ้นอยู่กับอะไร

ผมว่ามันขับเคลื่อนด้วยความคิดของปัจเจกไม่น้อยนะ คนในวงการที่เป็นผู้อาวุโสอย่างสุทธิชัย หยุ่น เขาก็ชอบเทศนาเรื่องความเป็นอิสระ ความเป็นกลาง อันนี้มันเป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้วว่าจะต้องทำ ดังนั้นเราจะต้องรายงานสิ่งที่ถูกต้องให้กับสังคม นี่คือการเป็นกระจก สังคมเป็นยังไงก็สะท้อนสิ่งที่มันเกิดขึ้นไป ดีไม่ดีคนทั่วทั้งสังคมตัดสินกันได้อยู่แล้ว

แต่ในอีกกลุ่มอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล เขาจะบอกว่าเขาเป็นตะเกียง ถ้าคุณคิดว่าสมควรลงถนน คุณก็ออกมากันสิ โลกมันต้องการคุณแล้ว ทักษิณมันอยู่ไม่ได้แล้ว มึงต้องออกไป เพราะฉะนั้นกูจะลงไปไล่มึง

พอหมดจากคนทำสื่อรุ่นนี้แล้ว ผมถือว่าหมดนะ ตอนนี้เขายังมีชีวิตอยู่ก็จริง แต่ในแง่ของการเป็นผู้นำทางความคิดจะค่อยๆ หายไป เหลือสานุศิษย์รุ่นหลัง ซึ่งก็จะกลายพันธุ์ไปเป็นอย่างอื่น คนที่เคยติดตามสนธิอาจกลายเป็นพวกประจบสอพลอ โหนอำนาจ ส่วนคนที่เคยติดตามสุทธิชัยก็กลายไปเป็นพวกหยาบคายหรือชอบด่าทอ

ถ้าพูดภาษาฝ่ายซ้าย สุดท้ายภววิสัยมันเปลี่ยน คือสภาพแวดล้อมของสังคมมันอนุญาตให้คุณสงวนสิ่งที่เป็นอุดมคติของคุณเอาไว้รึเปล่า หรือคุณจะไปตามกระแส แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็คงเลือกที่จะไปตามกระแสเพื่อความอยู่รอด

 

แบบนี้พูดได้ไหมว่าความเป็นองค์กรสื่อมันล้มแล้ว

ผมคิดว่ามันกำลังซวนเซและปรับตัวนะ ยังไม่ล้มโดยสมบูรณ์ แต่ก็อย่างที่บอกว่า สื่อมันยึดติดกับตัวบุคคลค่อนข้างมาก ผู้จัดการเมื่อไม่มีสนธิก็เปลี่ยนไป เนชั่นเมื่อไม่มีสุทธิชัยก็เปลี่ยนไป ยังเหลือมติชน ถ้าไม่มีตระกูลบุนปานแล้วจะเป็นยังไง ถ้ามันต้องเผชิญหน้ากับเทคโนโลยี ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตทำให้ใครๆ ก็รายงานข่าวได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนเป็นสื่อมวลชนนะ แต่ใครๆ ก็สามารถให้ข่าวสารได้ ทุกวันนี้มันเลยแตกกระจัดกระจายกันออกไป การผูกขาดความจริงแบบ monopoly of truth ไม่ได้อยู่กับสื่อหลักแล้ว

ทุกวันนี้เราก็สังเกตเห็นว่าสื่อหลักเองก็ไล่ตามทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียของพวกเซเลบฯ ทั้งหลายแหล่ แล้วก็รายงานในสิ่งที่พวกเขาเขียนกัน เอามาปั้นเป็นก้อนๆ เพื่อจะ repeat ในสิ่งที่พวกเขาทำ นี่คือ mainstream media ในปัจจุบัน คำถามคือองค์กรสื่อจะอยู่ได้ไหมในสภาพแบบนี้ ก็พูดยาก เพราะมันแบกต้นทุนเยอะมาก ในขณะที่มันไม่สามารถสร้างรายได้ได้เลย เมื่อก่อนโฆษณาลงหนังสือพิมพ์หน้านึงเป็นแสนๆ ทุกวันนี้คุณจ่าย 5,000 บาทให้เฟซบุ๊ก คนเห็นเป็นล้านเลย ไหนจะทีวีอีก นาทีนึงเท่าไหร่ เผลอๆ ไม่มีคนดูอีก คุณก็จ่ายให้ยูทูปสิ

 

บางคนแซวว่าต่อไปโฆษณาไม่ต้องจ่ายเข้าองค์กรสื่อแล้ว โอนตรงถึงนักข่าวให้เขียนข่าวเนียนๆ แล้วโพสต์เองเลย

ต่อไปจะเป็นเช่นนั้น องค์กรข่าวไม่มีความจำเป็น ถ้าคุณไม่มีหลักอะไรที่จะกำกับมัน มันจะกระจายไปแบบนั้น ตอนนี้ในแง่คนอ่าน ไม่มีใครมีความจำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ถ้าคุณติดตามเฟซบุ๊กของ ‘แยม’ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย (หัวเราะ) แม้แต่นักข่าวด้วยกันก็รู้สึกว่าตามพี่แยมดีกว่า ได้ข่าวเร็วกว่า ส่วนคนที่สนใจกิจการของทหาร ก็ตามวาสนา นาน่วม สิครับ จะรอทำไม

 

ไม่มีใครคิดว่าหน้าเฟซบุ๊กของฐปนีย์คือช่อง 3 อีกต่อไป

No! แยมจะทำอะไรก็น่าสนใจไปหมด ข่าวช่อง 3 ต่อไปไม่มีใครดูหรอก

 

ถ้าตอนนี้เริ่มเห็นกันว่าวงการสื่อกำลังวิกฤต ต้องปรับตัวกันขนาดใหญ่ ขอย้อนไปตอนที่สื่อยุคคุณผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วมาทบทวนข้อผิดพลาดกัน ตอนนั้นคุยกันว่าอะไรบ้าง มีอะไรคิดว่าที่ควรทำแต่ไม่ได้ทำไหม เผื่อจะเอามาเป็นบทเรียนวันนี้ได้

จริงๆ ไม่ได้เป็นการทบทวนอะไรใหญ่โตมากหรอก เป็นการคุยกันเองระหว่างผมกับเพื่อนๆ สื่อที่เคยทำข่าวอินโดจีนมาด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันก็คือ เราเพลิดเพลินกับการรายงานข่าวทิศทางเดียวมากเกินไป จนกระทั่งสิ่งที่คุณคิดว่าดีมันไม่ได้ดีเสมอไป สิ่งที่เราไม่เคยเตือนกันเลยคือ บางทีความคาดหวังกับความเป็นจริงมันคนละอย่างกัน เราคาดหวังว่าสังคมกับเศรษฐกิจจะเติบโตไม่มีวันหยุด แต่ความจริงคือเศรษฐกิจมีขึ้นมีลง

นักข่าวในกลุ่มสายการเงินไม่รู้เลยเหรอว่าจะเกิดวิกฤตทางการเงิน คนที่รายงานข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจไม่เคยคิดว่าเศรษฐกิจโลกจะมาสู่สภาวะแบบนี้เลยหรือ บทบรรณาธิการของเราไม่เคยมีสักบทเลยที่จะเตือนเรื่องนี้ และผมไม่เคยเห็นดีเบตอะไรใหญ่โตในวงการสื่อสารมวลชนเลย แต่ทุกครั้งที่มันเกิดวิกฤต วงการนี้เจอก่อนเพื่อนทุกที

ตอนนี้ผมคิดว่าพวกนายทุนสื่อคงเริ่มสนทนากันจริงจังมากกว่ายุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ หลังวิกฤตเศรษฐกิจมีหลายบริษัทล้มหายตายจากไป ที่อยู่รอดก็มี เนชั่นเองก็ไปเอาผู้ถือหุ้นอื่นมาช่วย แน่นอนว่าถึงที่สุดมันก็นำมาสู่ความยุ่งยากภายในเองด้วย สุดท้ายก็พบว่าการระดมทุนก็เป็นดาบ 2 คม แต่ว่าในตัว journalist จริงๆ ผมคิดว่าเกือบไม่มีการดีเบตอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าเรามีอะไรผิดพลาด ส่วนตัวผมคิดว่าความผิดพลาดของ journalist คือเรามองโลกด้านเดียว ไม่มีใครตระหนักว่าการบุกตะลุยไปทางเดียวจะเจอหลุมพราง พูดง่ายๆ ว่าสติปัญญาเราไปไม่ถึงก็ได้

ผมจำได้ว่าวันที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงิน ผมไปทำข่าวอยู่ที่สีป้อในพม่า ผมติดอยู่ในป่าแล้วก็กลับมาดูทีวีถึงได้รู้หลังผ่านไปแล้ว 3 วัน ก่อนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าบริษัทจะล่ม เห็นมีแต่การเลย์ออฟพนักงานเท่านั้น ก็ยังลำพองอยู่ว่าเดี๋ยวลดต้นทุนก็ไปกันต่อได้ กระทั่งวันที่เขาลอยตัวค่าเงินบาท ผมก็ยังไม่ตระหนักเลยนะว่าผู้จัดการคงไม่มีเงินจ่ายให้ผมไปทำข่าวแบบเดิมอีกแล้ว

พอกลับมาจากพม่า ถึงรู้ว่าเขาเริ่มตัดค่าโทรศัพท์ เงินที่เราควักใช้ไปก่อนก็เบิกคืนไม่ได้ เริ่มงงๆ ว่าอะไรวะเนี่ย แล้วเงินที่ไปลงทุนในอินโดจีนมันไม่กลับมาเลยวะ ความฟุ่มเฟือยมันเริ่มถูกกระทบกระเทือน luxury ในการทำข่าวก็ไม่มีแล้ว

หนังสือพิมพ์ Asia Times ที่มีคุณพันศักดิ์เป็นบรรณาธิการ จ้างนักข่าวมือดีทั้งหมด เรื่องพม่านี่เขาไม่เขียนเฉพาะเรื่องชายแดนนะ เขาเขียนมาจากย่างกุ้ง แต่สุดท้ายกระดาษมันแพง เพราะต้องซื้อกระดาษด้วยเงินดอลล่าร์ ก็เลยมีอายุแค่ 18 เดือนเอง พอเป็นแบบนี้เขาก็มองหาวิธีการอื่น หลังจากนั้นคุณสนธิถึงเข้าใจว่ากระดาษมันไม่ใช่คำตอบแล้ว ออนไลน์ต่างหาก ผู้จัดการออนไลน์เมื่อก่อนถึงเป็นอะไรที่แบบ โอ้โห ทุกคนตื่นเช้ามาราวกับถูกมนต์สะกด ต้องเปิดผู้จัดการออนไลน์ดูก่อนเลย

 

ถ้าตอนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คุณบอกว่าวงการสื่อไม่มีการเตือนกัน ถ้ามองในบริบทวิกฤตการเมืองตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 จนล่าสุดรัฐประหารปี 2557 วงการสื่อมีการเตือนกันล่วงหน้าไหม

อันนั้นไม่ใช่แค่ไม่เตือนนะ ผมเขียนวิจารณ์คุณสนธิตั้งแต่วันแรกๆ ที่พวกเขาลงถนนว่า คุณกำลังฆ่าตัวตายในวิชาชีพนะ ตอนนั้นอาจารย์บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา เขียนบทความซึ่งลือลั่นมากคือเรื่อง ‘ปรากฏการณ์สนธิ’ เป็นอะไรที่ใหม่มาก แกเรียกสื่อมวลชนแนวใหม่เลย ผมแย้งว่าไม่ใช่ นั่นเป็นทางที่ผิด ผมคิดว่าการเอาสื่อลงไปเล่นการเมือง สื่อจะมีสภาพไม่ต่างอะไรกับ propaganda machine เพราะขบวนการในการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตใช้สื่อเป็น propaganda

ดูสื่อในประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายแหล่สิ มันทำหน้าที่แบบนั้นหมด คือพูดความจริงเฉพาะด้านของมัน ตอนนั้นที่เนชั่นก็มีดีเบตอยู่เหมือนกันว่าเราควรรายงานข่าวม็อบสนธิอย่างไร และผู้จัดการกับเนชั่นก็เป็นคู่แข่งกันอยู่ คุณสุทธิชัยบอกคำหนึ่งซึ่งผมชอบมากว่า “ถ้าคุณรายงานตามสนธิอย่างเดียว ก็จะมีเฉพาะคนที่ชอบสนธิอ่าน แต่คนอีกจำนวนหนึ่งที่เขาไม่ชอบสนธิล่ะ คุณจะเอาอะไรให้เขาอ่าน” แล้วสุดท้ายผู้จัดการเขาก็ไปไกลมาก วันที่เขาลงถนนวันแรก ผมเขียนบทความลง ‘The Nation’ ว่านี่เป็นจุดที่ผิดพลาด สนธิได้ละทิ้งความเป็นสื่อสารมวลชน กลายเป็นนักการเมือง กลายเป็น activist ไปแล้ว

 

 

ตอนนั้นคุณคิดอะไร ทำไมถึงคิดว่า ‘ผู้จัดการ’ จะกลายเป็น propaganda machine

ผมคิดว่าผมรู้จักสนธิในเซนส์ที่ว่า เวลาเขาทำอะไรเขาทุ่มเทเต็มที่ และสิ่งที่เขาต้องการคือการเอาชนะทักษิณในทางการเมือง เพราะฉะนั้นเขาจะใช้ resource ทุกชนิดที่เขามีอยู่เพื่อเอาชนะทักษิณ ซึ่งสิ่งที่เขามีอยู่คือสื่อสารมวลชน

และเนื่องจากสนธิเป็นคนที่สร้างสแตนดาร์ดในวงการสื่อสารมวลชนไว้สูง ในความเห็นของผม เขาทำข่าว investigative ถึงลูกถึงคน คนทำงานที่ผู้จัดการจะได้ยินสนธิพูดประโยคนึงว่า “คุณต้องมองให้เห็นป่าทั้งป่า คุณจะไปเขียนต้นไม้ต้นเดียวมันไม่บอกอะไร” นี่เป็นสิ่งที่ผมเชื่อและได้รับมามาก เมื่อผมมองทั้งหมดโดยภาพรวมแล้วเห็นว่าคุณสนธิเอาสื่อมาลงถนน ก็ถือว่าไปผิดทางแล้ว

 

กรณีผู้จัดการ นอกจากหมดความเป็นสื่อแล้ว มันกระทบสถานะสื่อโดยรวมอย่างไร

ผมมาจากยุค professional journalism สำหรับผม objectivity หรือภววิสัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นยังไงก็ตาม คุณต้องบาลานซ์ ไม่ว่าคุณจะแชมเปี้ยนเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็ตาม คุณต้องบาลานซ์

ตอนนั้นผมไปนั่งเขียนข่าวที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ สนธิกำลังพูดเรื่องนายกฯ พระราชทาน ผมก็รายงานว่าสนธิเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน เพื่อนผมที่ไปด้วยกันบอกว่า ไหนบอกไม่เห็นด้วยไง ทำไมเขียนล่ะ ผมก็บอกว่าแม้ไม่เห็นด้วยกับสนธิ แต่สนธิมีสิทธิที่จะเป็นข่าวใน The Nation และผมจะเขียนให้ ผมจะปกป้องเสรีภาพของสนธิในการพูดเรื่องที่เขาเชื่อ นี่เป็นสิ่งที่ ‘วอลแตร์’ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยบอกไว้ เพราะฉะนั้นถึงผมไม่เห็นด้วยเรื่องมาตรา 7 แต่ในฐานะสื่อมวลชน ผมก็รายงานอย่างที่เขาพูด เมื่อมีคนไม่เห็นด้วย ผมก็เขียนว่ามีคนไม่เห็นด้วย

หลังจากนั้นมันก็เลยเกิดวาทกรรมเรื่อง ‘สื่อเลือกข้าง’ ซึ่งถูก justify ด้วยชัยชนะของม็อบสนธิ แต่เป็นการชนะบนความพ่ายแพ้ของหลักการทั้งหมดเลย ในความเห็นของผมคือชัยชนะดังกล่าวนำไปสู่การรัฐประหาร และผู้จัดการก็ไม่สามารถฟื้นคืนสถานะของความเป็นสื่อมวลชนได้อีกต่อไป คุณสูญเสียสถานะของ professional journalism ไป นักข่าวหลายคนเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของม็อบ ผมคิดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในวงการสื่อ

ถ้าพูดภาษาฝ่ายซ้าย สิ่งที่มันเริ่มจากอัตวิสัยแล้วกลายเป็นภววิสัยในเวลาต่อมา อัตวิสัยก็คือสนธิ take it personal คือความขัดแย้งส่วนตัวกับทักษิณ แล้วพวกชนชั้นนำ deep state เขามองเห็นความเป็นภัยของทักษิณเช่นกัน ก็เลยร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมให้ทักษิณกลายเป็นภัยคุกคามสังคม จากเป็นอัศวินควายดำ กลายเป็นผีห่าซาตานที่ไหนก็ไม่รู้ คนๆ เดียวกัน ทำอย่างเดียวกัน จากถูกเป็นผิดไปหมด และมันก็ถูกขยายเป็นภาพภัยคุกคามขนาดใหญ่มาเรื่อยๆ

สิ่งที่อาจารย์บุญรักษ์เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์สนธิ’ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ปรากฏการณ์ในเชิงสื่อสารมวลชน แต่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่บังเอิญว่าคนจุดประเด็นเป็นพวกสื่อสารมวลชนอย่างสนธิ ถ้าไม่ใช่สนธิ บางทีอาจไม่ powerful ขนาดนี้ก็ได้

พอชนชั้นนำไทยกลัว การเมืองยุคทักษิณเป็นความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาตามไม่ทัน พวกเขาเดินทางไปเมืองนอกมากกว่าจะอยู่ในแถวชนบท แต่กลับพูดเรื่องชีวิตพอเพียงในชนบทอย่างกับไปอยู่มาทั้งชีวิต แล้วก็ผลิตวาทกรรมขึ้นมาเพื่อสร้างให้สิ่งที่ทักษิณทำคือ globalization กลายเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดจากอัตวิสัย กลายมาเป็นภววิสัยในหมู่ของอีลีท มีการผลิตวาทกรรมขึ้นมาเต็มไปหมด อดีตฝ่ายซ้ายในอดีตทั้งหลาย ปัจจุบันก็กลายมาเป็นรอยัลลิสต์กันหมด เพราะเขาเชื่อว่าสังคมมันไม่มีทางเป็นประชาธิปไตยได้ ซึ่งมันมาจากอัตวิสัยของสนธิที่ทำจนกลายเป็นภววิสัยขึ้นมา

วิกฤตการเมืองไทยที่เกิดขึ้น ผมว่าหลายอย่างมันก็ขับเคลื่อนกันด้วยเรื่องส่วนตัว แม้แต่ทหารก็ take it personal บ้านเมืองฉิบหายไปด้วยก็เพราะความแค้นส่วนตัวนี่แหละ

 

บอกได้ไหมว่าวิกฤตที่สังคมไทยเผชิญอยู่ วงการสื่อช่วยเร่งให้วิกฤตในสัดส่วนขนาดไหน

ผมคิดว่าราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ได้นะ คือความเสียหายหลายกรณี บางทีคนที่ควบคุมการรับรู้ของคนก็คือสื่อ เช่น ทักษิณเป็นคนเลวอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อก่อนบางคนอาจไม่เห็นว่าเขาเป็นคนเลว พอสื่อพูดมากๆ ก็มองว่าเขาเลวแล้ว บางสื่อตั้งตนเป็นผู้กำจัดทักษิณ ชาตินี้ต้องกำจัดทักษิณให้ได้ ไม่งั้นนอนตายตาไม่หลับ เว็บไซต์เนชั่นยุคแรกที่ต่อสู้กับทักษิณ คีย์เวิร์ดสำคัญในการเสิร์ชเว็บเนชั่นคือทักษิณ Bangkok, Thaksin, Thailand เป็นการดึงพวกศัตรูทักษิณให้มาอ่านเนชั่น

ทุกวันนี้อีลีทยังคงมีศัตรูเป็นทักษิณเหมือนเดิม ถ้าเขาไม่เห็นทักษิณเป็นศัตรู ผมก็นึกไม่ออกว่าเขาจะหาศัตรูที่ไหน คือมันเป็นทรรศนะแบบกองทัพ เขาไม่ได้ถูกสร้างมาปกครองประเทศ เขาถูกสร้างมาเพื่อกำจัดศัตรู และทักษิณก็เป็นศัตรูที่ดีสุด เพราะมีอำนาจมากทั้งในแง่เงิน ความนิยม และมี organization ที่ดี กองทัพก็มีเหมือนกัน แต่ความนิยมไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ประเด็นคือถ้าพูดแบบ Noam Chomsky ที่บอกว่าสื่อกระแสหลักทั้งหมดมันเขียนข่าวใน agenda ของอีลีทอยู่แล้ว อีลีทว่าทักษิณเป็นศัตรู อีลีทว่าธนาธรเป็นศัตรู อีลีทว่าอะไรสื่อก็ต้องว่าอย่างนั้น

เมื่อพวกอนุรักษนิยมขึ้นมามีอำนาจ เขามักจะพาโลกกลับไปหาของเก่า สื่อมวลชนเองก็สะท้อนสิ่งเหล่านี้ แต่สถานการณ์ตอนนี้คือ เทคโนโลยีมันเปิดให้คนจำนวนมากเข้าถึงสื่อง่ายขึ้น พวก mainstream ก็กำลังหมดแรง เมื่อก่อนมันนำพาทั้งสังคม พาผิดก็ผิด พาถูกก็ถูก ผมถึงบอกว่าตอนวิกฤตเศรษฐกิจ สื่อพาไปผิดทางเพราะว่าไม่มีการเตือนกัน แต่ปัจจุบันนี้คุณไม่ต้องเตือน เดี๋ยวมีคนเตือนเต็มไปหมด ข่าวที่คุณคิดว่า fake news อยู่ได้กี่ชั่วโมงกัน

ผมรู้สึกว่าสังคมทุกวันนี้มันดีอย่างคือมันไม่อนุญาตให้คุณโกหกได้นาน เลนินบอกว่าโกหกบ่อยๆ เดี๋ยวก็จริง แต่ว่าโชคร้ายหน่อย เลนินพูดตอนที่ไม่มีมือถือ ไม่มีเฟซบุ๊ก ตอนนี้คุณโกหกได้เกิน 3 ครั้งไหม ผมว่าไม่นะ ผมคิดว่าถ้าคุณปล่อย fake news ออกมา ไม่น่าจะเกิน 2-3 ชั่วโมง มันจะเปลี่ยนไป เหมือนการเซ็นเซอร์ ตอนนี้ถ้าบอกว่าคุณจะเซ็นเซอร์ ง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก ง่ายคือมันลบง่าย กดลบแป๊บเดียว แต่ยากคือคนอื่นแคปไว้แล้ว โลกสมัยนี้มันไม่อนุญาตให้พวกเขา powerful อีกต่อไป ประเทศไทยมันไม่ได้อยู่ในกะลาจริงๆ แม้ว่าพวกเขาจะอยากให้อยู่ก็ตาม

 

ที่พูดมาทั้งหมด สำหรับสื่อรุ่นใหม่จะเดินไปข้างหน้าต่อยังไง ไม่ให้ตัวเองกลายเป็น propaganda machine

ผมคิดว่าถ้าคุณเป็น professional คุณไม่ควรทิ้ง objectivity ซึ่งสำคัญมาก เพราะมันเป็นภววิสัย คุณควรเห็นให้ครบทุกด้าน ถ้าคุณจะเป็นกระจก คุณอย่าส่องข้างเดียว คุณพยายามส่องให้มันรอบ แน่นอนว่าเรามักมองเห็นจากสิ่งที่เราชอบ แต่คุณต้องมองมุมอื่นด้วย

สมัยนี้เทคโนโลยีช่วยได้เยอะ คุณจมอยู่กับข้อมูลมากๆ แล้วมันจะช่วยคุณมาก คุณจะจำได้ว่าครั้งหนึ่งเรื่องนี้มันเคยเป็นแบบนี้ ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นใหม่แบบ absolutely new อีกแล้ว ทุกอย่างล้วนมีที่มา ไม่ว่าใครก็ตาม ธนาธรเป็นใคร มาจากไหน ประยุทธ์เป็นใคร มาจากไหน อย่าทำเป็นลืมข้อเท็จจริงบางด้าน เช่น เรื่องที่ดินของเขา คุณอย่าลืมสิ อย่าทำเสมือนเขาเป็นเทวดา หรือนาฬิกาประวิตร อย่าลืมสิ จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้

การรัฐประหารในประเทศไทยมันเป็นอะไรที่ใหม่นักหรือ ไม่มีอะไรที่ใหม่เลย ทหารบอกว่าเคยพาประเทศของเราเจริญรุ่งเรือง เรามีทหารปกครองมาชั่วชีวิต ไม่งั้นประเทศเราเป็นมหาอำนาจไปแล้วสิ ผมไม่คิดว่านี่เป็นสิ่งที่สื่อรุ่นใหม่พึงจะเชื่อ ในความเห็นของผมไม่ได้มีหลักอะไรซับซ้อน คุณซื่อสัตย์กับสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามค้นหาให้ได้ว่ามันมีที่มายังไง

 

ทั้งวิกฤตสื่อและวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น สื่อรุ่นคุณรู้ตัวไหมว่าทำพลาด และกลายเป็น propaganda machine

สื่อส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัว ผมคิดว่านี่เป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ประเทศอื่นไม่ค่อยเยอะขนาดนี้ แบบที่ข่าวการเมือง dominate หน้าสื่อเราตลอดเวลา อย่างในญี่ปุ่น topic ของเขาบางทีก็เป็นเรื่องแมว เรื่องอาหาร

จริงๆ หลายคนในภูมิภาคนี้อิจฉาสื่อมวลชนไทย เรามี luxury พอสมควรในแง่ของการทำงาน ถึงแม้ว่าเราจะมีข้อห้ามเต็มไปหมด แต่สังคมอื่นก็มี เราก็หาวิธีพูดสิ ผมไม่เคยอับจน การรู้เท่าทันมันไม่ได้มีอะไรมาก มันมาจากความรู้ของคุณนั่นแหละ คุณไม่ต้องเรียนปรัชญาสูงส่งอะไร แค่ไปหา record เก่าๆ คุยกับคนที่เขาน่าจะให้ภาพใหญ่กับคุณได้

ผมชอบยุคนี้จริงๆ คืออยากรู้อะไรก็ได้รู้ ผมสามารถฟังเลคเชอร์จากโปรเฟสเซอร์ดังที่สุดในโลกได้ผ่านยูทูป เราไม่ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนเมืองนอก ผมก็ฟังโปรเฟสเซอร์คนเดียวกับคุณนั่นแหละ โง่หรือฉลาดก็อยู่ที่ผมแล้วว่ามีปัญญาเข้าถึงหรือเปล่า

 

 

หลายคนพูดกันมานานแล้ว เรื่องวาระสุดท้ายของหนังสือพิมพ์ คุณรู้สึกว่ามันกำลังมาถึงตั้งแต่เมื่อไหร่

เราพูดเรื่องนี้กันประมาณ 10 ปีที่แล้วว่าสุดท้ายสิ่งพิมพ์อยู่ไม่รอด และนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะรักษาไว้ทำไมด้วย เพื่อตอบโจทย์อะไรเหรอ เราผูกขาดความจริงได้ไหม ก็ไม่ เขียนลงเฟซบุ๊กเดี๋ยวนี้คนก็รู้แล้ว ทำไมต้องรอหนังสือพิมพ์พรุ่งนี้วะ ไม่รอแล้ว 30 บาทไม่มีใครซื้อด้วย แจกฟรียังเขวี้ยงทิ้งต่อหน้าเลย

ยิ่งถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เนื่องจากคนอ่านในประเทศไทยน้อย ผมถามเพื่อนผมที่เรียนเมืองนอกว่า เฮ้ย มึงไม่อ่านหนังสือพิมพ์กูเลยเหรอวะ มันบอกทำไมกูต้องอ่านของมึง อยากรู้ข่าวต่างประเทศ กูก็อ่านของฝรั่งดิ มันเขียนดีกว่ามึงแน่นอน เออจริง ถ้ากูอยากรู้เรื่องไทย กูก็อ่านภาษาไทยดิ มันเขียนดีกว่ามึงแน่นอน เออจริง แล้วตกลงว่าใครจะอ่านของกู มันไม่ตอบโจทย์อะไรสักอย่างนึง จริงๆ สิ่งพิมพ์มันจบมาสักพักนึงแล้ว และในทางธุรกิจวันนี้ก็จบอย่างสมบูรณ์แบบ เนื่องจากไม่สามารถหารายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องไป

 

ตั้งแต่ค่ายเนชั่นเปลี่ยนเจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่มา ส่วนตัวคุณรู้สึกอย่างไร มีอะไรที่กระทบการทำงานบ้าง

จริงๆ ผมรู้สึกว่าตอนที่เขาสู้กันระหว่างกลุ่มคุณสุทธิชัยกับกลุ่มคุณฉาย (บุนนาค) ผมไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ ก็ดูๆ ไปว่าจะเป็นยังไง ไม่ได้คิดอะไรมาก บางวันผมเขียนข่าวทิ้งไว้ ไม่มีใครเปิดดูด้วยซ้ำ ค่อยไปเปิดหนังสือพิมพ์รุ่งเช้าดูว่ามีข่าวเราเปล่าวะ มีก็มี ไม่มีก็ไม่เป็นไร บางทีเขาคงลืมข่าวผม คือผมก็ทำเหมือนเมื่อก่อนที่อยู่สำนักข่าวญี่ปุ่น ระบบจะเหมือนสำนักข่าวรอยเตอร์, AP เราส่งข่าวเข้าไปที่สำนักงานใหญ่ เขาดู อีดิทเสร็จก็ขึ้นออนไลน์ ผมก็ทำตัวอย่างนั้น

สมัยก่อนในกองบรรณาธิการมันมีสภาพเป็นโต๊ะข่าวอยู่นะ เรามีโต๊ะข่าวต่างประเทศ พอมาช่วงหลัง ข่าวด้านนี้มันแพง เขาก็ไม่ค่อยลงทุนแล้ว และเราก็ไม่ค่อยได้เข้าไปในพื้นที่เท่าไหร่ ไม่ได้ไปเกาะอยู่ในกระทรวงต่างประเทศเหมือนสมัยยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรแล้ว สมัยนั้นมันมีความริเริ่มในแง่นโยบายต่างประเทศเยอะ ผมก็ติดสอยห้อยตามเข้าไป

 

ถ้าคุณเห็นว่าธุรกิจหนังสือพิมพ์มันจบแล้วในวันนี้ บวกกับวิกฤตการเมืองของบุคลากรสื่อใน The Nation เอง ทำไมคุณเลือกที่จะอยู่ที่นี่

ผมอยากปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ด้วยตัวเอง เนชั่นเป็น passion ส่วนตัวผม ผมสนใจปัญหาเขมร เนชั่นเป็นหนังสือพิมพ์ไทยฉบับเดียวที่เป็นภาษาอังกฤษที่รายงานข่าวเรื่องเขมรด้วยตัวเอง ไม่ได้ใช้ข่าวฝรั่ง เมื่อก่อนเวลาเรารายงานข่าวประเทศเพื่อนบ้าน มันมาจากมุมมองของฝรั่ง เนชั่นลงทุนเรื่องนี้ และทำก่อนค่ายผู้จัดการด้วย พี่กวี (จงกิจถาวร) ไปตั้งออฟฟิศนักข่าวที่พนมเปญตอนที่เขมรเริ่มเปลี่ยนใหม่ๆ พี่กวีเข้าเนชั่นตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษา ผมตามอ่านเรื่องที่พี่แกเขียน ปัญหากัมพูชาเกิดขึ้นข้างบ้าน คนตายไป 1.7 ล้านคน เพราะถูกเขมรแดงฆ่า เราก็รู้สึกว่าจะมารอฝรั่งบอกทำไม ไปทำเองเลยดีกว่า

จนถึงตอนนี้ เมื่อรู้ว่ามันกำลังจะปิด ผมบอกกับเพื่อนร่วมงานว่า “if you need to shut down, I will pull the plug by myself.” “ถ้าคุณจะต้องปิด ผมขอเป็นคนถอดปลั๊ก”

พอผมคิดแบบนี้ ก็เอ็นจอยที่จะอยู่ทำ บางคนในออฟฟิศนี่ ผมอยู่มา 18 ปียังไม่เคยพูดกับเขาสักคำเดียว จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งได้คุยกัน (หัวเราะ) มันก็เป็นอะไรที่ท้าทายนะ เรามาถึงจุดพีคในการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งเราชื่นชมมาแต่ในอดีต และก็จะปิดมันด้วยตัวเอง ในความเห็นผมว่าดูโรแมนติกมาก เพื่อนของผมคนหนึ่งพูดว่า ยินดีที่ได้อยู่และกอดอุดมคติเอาไว้จนวันสุดท้าย พอตื่นขึ้นมาอีกทีมันหายไปแล้วก็ช่างมัน ไม่มีอะไรน่าเสียใจ

จริงๆ คือผมไม่ได้ติดกับความเป็นกระดาษอะไรมากมายนักหรอก แต่ผมติดกับความเป็น journalism มากกว่า ในแง่ที่ว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราได้เดินทาง ผมคิดไม่ออกหรอกว่าคนอย่างผมที่โตมาจากบ้านนอก จะได้ไปอเมริกา ไปคิวบา ไปเกาหลีเหนือได้ยังไง ประเทศพวกนี้แม้ว่านักข่าวจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกห้ามเข้า แต่มันก็เป็นกลุ่มแรกที่ถูกเชิญด้วยเช่นกัน หรือประเทศในแอฟริกา ชาตินี้ทั้งชาติ ถ้าผมไม่ได้เป็นนักข่าว ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปทำไม

ถ้าถามว่าทำไมถึงอยู่นาน ก็เพราะมันมีเสรีภาพ ความดีของมันอย่างหนึ่งคือมันไม่ค่อยสนใจซึ่งกันและกัน มันเลยดูมีเสรีภาพมากเลย ตอนที่ผมเขียนเรื่องเขาพระวิหารเนี่ย ขอโทษนะ มัน against editorial line เขาไม่ชอบสิ่งที่ผมเขียนหรอก แต่เขาก็ปฎิเสธไม่ได้ ต้องให้ลง บทบรรณาธิการว่าอย่าง ข่าวว่าอย่าง แต่มัน respect กัน ตอนเกิดรัฐประหารล่าสุด ผมก็จวกตั้งแต่วันแรกเลย ตอนนั้นผมแก่พอที่เขาจะให้เขียนบทบรรณาธิการแล้ว

ตอนนั้นผู้บริหารก็มาหา บอกว่าเอาหัวโขกกำแพงอย่างนี้ได้ไง ทหารเพิ่งยึดอำนาจใหม่ๆ กำจัดยิ่งลักษณ์ได้ทุกคนก็ดีใจกันใหญ่ ผมว่ามันไม่น่าดีใจนะ ไม่ใช่เรื่องที่ควรฉลอง เป็นเรื่องที่น่าเสียใจสำหรับประเทศชาติที่คุณต้องแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหารตลอดเวลา ผมเขียนอย่างนี้ เขาก็ไม่ค่อยพอใจ หลังๆ มาบอกว่าจะเขียนบทบรรณาธิการ ก็ปรึกษากันก่อน ผมก็ว่าตั้งแต่เมื่อไหร่เหรอที่เราต้องปรึกษากัน ผมเป็นคนดื้ออย่างนี้ รู้สึกว่าเขาปฏิเสธผมไม่ได้หรอก ในแง่ที่ว่าจำเป็นจะต้องมีเสียงที่คัดค้านอยู่ที่นี่

 

ความดื้อของคุณต้องแลกกับอะไรไหม

มีเยอะ ทั้งทุบโต๊ะ ด่าทอ วันแรกๆ ที่ผมรับตำแหน่งบรรณาธิการ ในบทบรรณาธิการมีคำพาดพิงถึงกษัตริย์ ผู้บริหารก็ไม่สบายใจ คสช.โทรมา ผมบอกใครจ่ายเงินเดือนคุณ คสช.เหรอ เขาไม่ได้จ่ายเงินเดือนเรานี่ ผมบอกว่าผมอยู่กับคุณสุทธิชัยมา เราเคารพกันบนหลักการ ทำไมคุณสุทธิชัยไม่ไล่ผมออกสักที เพราะผมพูดเรื่องหลักการ ผมอาจไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยกับคุณก็ได้ แต่เราต้องยืนยันหลักการประชาธิปไตย มันให้เสรีภาพ ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้

 

ถ้าคุณชัดเจนทางนี้ ทำไมผู้บริหารถึงยอมให้คุณขึ้นเป็นบรรณาธิการ

ก่อนหน้านั้นผมก็ให้เขาไปเลือกคนอื่นก่อนนะ อดีตบ.ก.หลายคนที่น่าจะใกล้ชิดหรือว่ามีแนวทางที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่เขาก็ไม่เลือก สุดท้ายเขายืนยันว่าเป็นผม ผมก็โอเค ผมก็เซ็ตโทนตั้งแต่วันแรกๆ ว่าผมจะไม่ยอมหาเงิน เพราะผมหาไม่เป็น นั่นไม่ใช่หน้าที่ผม ถ้าคุณมา force เรื่องนี้ ผมออก และคุณต้องให้ผมทำอย่างที่ผมอยากจะทำ จุดแข็งหนังสือพิมพ์เนชั่นอยู่ที่ความเป็นอิสระ คุณสุทธิชัยเคลมมันมาตลอดชีวิตว่าเป็น independent and insightful newspaper เพราะฉะนั้นผมก็พยายามจะรักษาสิ่งนี้ไว้ แม้จะต้องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้บริหาร นี่เป็นราคาที่เราต้องจ่าย

มีครั้งนึงที่ออฟฟิศแทบแตก คือตอนที่มีข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ เราก็ดีเบตกันใหญ่ว่าจะเล่นข่าวนี้ได้ไหม ผมบอกว่าเล่นสิ มันเป็นข่าว คุณรออะไร ขึ้นหน้า 1 ได้ยิ่งดี ผมรู้ว่าทุกคนไม่เห็นด้วย ผู้บริหารไม่เห็นด้วยแน่ๆ ผมบอกข่าวนี้ต้องเล่น นี่หลักการปกติ เนื้อหามัน open source นะ ใครๆ เขาก็รู้ทั้งนั้น ถ้าเราไม่เล่น สื่อภาษาอังกฤษฉบับอื่นเขาก็เล่น แล้วเราจะเอาหน้าไว้ที่ไหน เหมือนเราพยายามปกปิดอะไรบางอย่างหรือเปล่า คุณเห็น elephant in the room แล้วจะไม่พูดถึงเหรอ ผมยืนยันว่ายังไงก็ต้องเล่น สุดท้ายเขาก็ยอมเล่น บางคนบอกว่างั้นพี่รับผิดชอบนะ ผมบอกผมรับผิดชอบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเล่นหรือไม่เล่น หน้าที่ตำแหน่งผมก็รับผิดชอบอยู่แล้ว

ถ้าคุณไม่กลัวว่าจะถูกไล่ออก คุณไม่ต้องกลัวอะไรสักอย่าง จริงๆ ผมพบว่าสิ่งที่บรรณาธิการหลายคนกลัว คือกลัวถูกไล่ออก เขาไล่ออกได้ไหม ได้ แต่เขาจะไล่คุณด้วยเหตุอะไร ด้วยเหตุว่าคุณรายงานข่าวอย่างซื่อสัตย์เหรอ โลกจะว่ายังไงถ้าเขาทำอย่างนั้น ส่วนผมไม่สนใจหรอกว่าใครจะไล่ผม ผมไม่มีฉบับนี้ ผมก็เขียนให้ฉบับอื่นก็ได้ โลกนี้ไม่ได้จำกัด ต่อให้ไม่มีที่เขียน ผมเขียนบนฝาบ้านผมก็ได้ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ผมควรจะเขียน นี่คือหลักการทั่วไป

ตอนนั้นเกือบทุกคนต่อต้านผม และก็รู้สึกกระอักกระอ่วนใจกันมา หลายๆ คนก็พัฒนาไปเป็นความบาดหมางส่วนตัว ในช่วงปีที่ผ่านมาผมทั้งเครียด อ้วก นอนร้องไห้ เป็นมาหมดแล้ว บางทีเราก็น้อยเนื้อต่ำใจบ้าง ทำขนาดนี้เพื่อนร่วมงานก็ไม่เห็นใจเราเลย ต่อต้านเราตลอดเวลา

 

ถ้าคุณไม่ได้มี passion กับงานขนาดนี้ จะถอดใจไปก่อนไหม

ผมคิดว่าผมแข็งแรงนะ แล้วผมเป็นคนอึด สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้นที่บ้านผมแต่ก่อนมันสอนให้ผมอดทนได้ดี

 

อะไรคือสิ่งที่คุณอยากเห็นกับวงการสื่อหลังจากไม่มี The Nation แล้ว

ผมคิดว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีสื่อภาษาอังกฤษ อันนี้เป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ และผมก็เห็นด้วยกับหลายคนว่าไทยไม่ควรมีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับเดียว ต้องฝากความหวังไว้ที่ Bangkok Post ว่าจะรักษาคุณค่าของ journalism ไว้ได้ ผมคิดว่า Bangkok Post คงไม่ดับสูญไปง่ายๆ

แต่เราก็ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยน เมื่อก่อนเราอ่านกันบนศิลาจารึก ตอนนั้นไม่มีกระดาษ ปัจจุบันเมื่อกระดาษหมดภารกิจ เราก็ไปอ่านบนมือถือบนอะไรก็ว่าไป แต่สิ่งที่ผมคิดว่าคนในวงการสื่อต้องรักษาเอาไว้คือการเป็น journalism ที่เขียนเรื่องอย่างเป็นภววิสัย เป็น objectivity เราควรรู้และตระหนักว่าโลกที่ก้าวหน้าเป็นแบบไหน โลกที่ล้าหลังเป็นอย่างไร ซึ่งแล้วแต่คุณจะเลือก

แต่ถ้าถามส่วนตัวผมเอง หลังจากนี้พอไม่มีเนชั่นแล้วจะทำอะไร จริงๆ ผมคิดว่าผมไม่ได้เข้าวงการนี้เพราะผมอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์เท่าไหร่นัก ผมเรียนจบกฎหมายมา ตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ไม่ชอบกฎหมายเท่าไหร่ แม่สั่งไว้ว่าอย่าเป็นนักกฎหมาย แล้วทำไงล่ะ ก็เราอยากเป็น intellectual เราจะหาทุนไปเรียนเมืองนอกเหมือนเพื่อนๆ เขาก็ไม่ได้ พอดีตอนผมจะเรียนจบ แม่ผมเสีย ก็เลยต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว แล้วงานอะไรที่มันจะรักษา intellectual mind เอาไว้ได้ journalist มันก็ตอบโจทย์ผม

บางทีสิ่งที่คลาสสิคที่สุดในโลกแม่งโคตรเชย แต่สิ่งที่ไม่เชยแม่งอาจไม่มีคุณค่าก็ได้ ทุกวันนี้คนพูดถึงเวลามาร์กซ์เนี่ย ไม่ได้พูดถึงเหมือนตอนศตวรรษที่ 19 นะ เขาพูดถึง communist culture มันพูดเรื่องความเท่าเทียม แล้วเราไม่ใช่แชมเปี้ยนในสิ่งเหล่านี้หรอกเหรอ ฉะนั้นถ้าถามตัวเองว่าคนอย่างผมที่มาจากบ้านนอก มาค้นหาอะไร เรารู้สึกว่าเราแตกตื่น เกิดสภาวะแตกแยก เราเป็นคนบ้านนอก เข้ากันไม่ได้กับคนอื่น เพราะเขาเห็นว่าเราต่ำต้อย เพราะฉะนั้นผมจะทำยังไงก็ได้ให้คนมันรู้สึกมีศักดิ์ศรีเท่ากัน.

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save