fbpx
คำถามที่พบบ่อย และบทเรียน 101 ในยุคที่หันทางไหนก็เจอแต่งาน Projection Mapping

คำถามที่พบบ่อย และบทเรียน 101 ในยุคที่หันทางไหนก็เจอแต่งาน Projection Mapping

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

เลื่อนนิวส์ฟีดเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมดูในช่วงนี้ พบมิตรสหายถ่ายรูปเช็คอินในกิจกรรมทางศิลปะกันมากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่เหล่า art-goers ขาประจำงานศิลป์ หรือคนทำงานศิลปะออกแบบเหมือนแต่ก่อน แต่มิตรสหายนักบัญชี มิตรสหายวิศวกร หรือมิตรสหายหมอก็พากันสนใจงานศิลปะ ไม่รู้ว่าเพราะการเมืองที่ชวนให้สารความเครียดหลั่ง จนต้องใช้ศิลปะนวดสมองให้ผ่อนคลาย หรือเพราะปีนี้ มีงานศิลปะสนุกๆให้ดูมากขึ้น

น่าแปลกใจที่กว่าครึ่งของงานศิลปะสนุกๆ เหล่านั้น เป็นงานศิลปะที่สร้างขึ้นจากเทคนิคกึ่งคุ้นกึ่งไม่คุ้นหู ที่ชื่อว่า Projection Mapping

ไม่ว่าจะเป็น From Monet to Kandinsky ‘Visions Alive’ นิทรรศการที่เปลี่ยนงานศิลปะสมัยใหม่ให้มีชีวิตด้วยภาพเคลื่อนไหว ฉายด้วยเทคนิค Projection Mapping ล้อมรอบคนดูราวกับเดินอยู่ในภาพเขียน จัดแสดงที่ River City กรุงเทพฯ 

Bodhi Theatre นิทรรศการศิลปะดิจิทัลที่ตั้งเป้าให้คนทั่วไปเข้าถึงธรรมะและใกล้ชิดกับวัดมากขึ้น ด้วยวิธีการที่สนุกและตื่นเต้น โดยใช้ Projection Mapping ฉายภาพเคลื่อนไหวที่ตีความจากบทสวดพาหุง ภายในโบสถ์จริงๆ ของวัดสุทธิวราราม

นอกจากสองงานที่เกิดขึ้นพร้อมกันในกรุงเทพฯ มิตรสหายที่มีโอกาสไปเมืองไกลอย่างสิงค์โปร์หรือญี่ปุ่นในช่วงนี้ หลายคนก็ตีตั๋วไปยืนตะลึงในนิทรรศการศิลปะดิจิทัลของ teamLab ซึ่งใช้ Projection Mapping เป็นเทคนิคหลัก ถึงตรงนี้คนที่เพิ่งรู้จักเทคนิคที่ว่า คงเริ่มสนใจว่า Projection Mapping มีดีตรงไหน ส่วนใครที่เคยดูงานที่ว่ามาแล้วอาจจะเริ่มสงสัยว่าทำไมมันถึงเป็นเทคนิคที่กำลังมา ในเวลานี้

(ซ้าย) From Monet to Kandinsky ‘Visions Alive’  (ขวา) Bodhi Theatre  (ล่าง) teamLab
(ซ้าย) From Monet to Kandinsky ‘Visions Alive’  (ขวา) Bodhi Theatre  (ล่าง) teamLab

ท่ามกลางความฮิตของ Projection Mapping เรา Eyedropper Fill คือนักออกแบบประสบการณ์ผ่านสื่อมัลติมีเดียที่ใช้เทคนิคนี้สร้างสรรค์ผลงานอยู่บ่อยๆ  ทำให้เราพบคำถามมากมาย ทั้งจากนักศึกษาที่สนใจว่าเจ้า Projection Mapping คืออะไร ? จากเพื่อนนักออกแบบที่สงสัยว่าถ้าอยากลองทำมัน ต้องใช้อะไรบ้าง ? หรือแม้กระทั่งคำถามจากลูกค้าที่เราทำงานด้วย หลายคนอยากรู้ว่าเทคนิคน่าตื่นตานี้จะช่วยโฆษณาผลิตภัณฑ์ของเขาได้ยังไง และข้อจำกัดมีอะไรบ้าง ?

เมื่อเราลองทบทวนคำถามที่ได้รับมา และคำตอบที่พวกเราตอบกลับไป เราคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย หากเรานำคำถามคำตอบเหล่านี้ มาให้คุณ — คนอ่าน ที่อาจจะเป็นคนชอบดูงานศิลปะ เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ นักโฆษณา นักออกแบบ นักศึกษา หรือใครก็ตาม ได้อ่านและเข้าใจ Projection Mapping ไปพร้อมกัน เผื่อจะได้ดูมันอย่างเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้

Q: เพิ่งไปดูมา สวยดีนะคะ ชอบเลย แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่า Projection Mapping ต่างกับการฉายภาพเคลื่อนไหวปกติยังไงเหรอคะ

คุณ . / ทีม Brand Marketing ที่อยากนำ Projection Mapping ไปใช้ในการโฆษณาคอนโดฯ โครงการใหม่ยี่ห้อหนึ่ง

A : เร่ิมแรก เราต้องบอกว่า Projection Mapping ใช้เครื่องมือหลักคือโปรเจ็กเตอร์ หรือเครื่องฉาย อุปกรณ์ชนิดเดียวกับที่เราใช้ฉายพรีเซนเทชั่นในห้องเลคเชอร์ หรือใช้ฉายหนังในโรงภาพยนตร์นั่นแหละครับ โดยปกติเราจะมองเห็นภาพจากโปรเจ็กเตอร์ได้ก็ต่อเมื่อภาพไปตกกระทบลงบนฉากรับภาพ หรือ screen เช่นในโรงหนัง แต่กับ Projection Mapping เราเปลี่ยนฉากรับภาพแบนๆ เป็น ‘วัตถุสามมิติ’ ครับ

เช่น กล่องลูกบาศก์ที่มีพื้นผิวสีขาวเรียบๆ ในวิดีโอนี้ เมื่อถูกฉายภาพกราฟิกลงไปในตำแหน่ง ขนาด และสัดส่วนที่พอดีกับระนาบแต่ละด้านของกล่อง เราสามารถสร้างการรับรู้ทางตาที่ต่างจากเดิมให้กับลูกบาศก์ได้ เช่น สว่างขึ้นเป็นแสง เปลี่ยนสี บางช่วงเล่นกับแสงเงา บางช่วงลวงตาดูเหมือนแต่ละด้านเป็นหลุมลึก บางช่วงทำให้ดูเหมือนกล่องแตกกระจายออก

โดยสรุปแล้ว Projection Mapping คือรูปแบบหนึ่งของการลวงตา หรือความจริงเสริม (Augmented Reality) ด้วยการใช้ภาพเคลื่อนไหว สร้างพื้นผิวใหม่ สร้างระนาบใหม่ สร้างความเคลื่อนไหว และสร้างความหมายใหม่ให้กับวัตถุที่ตั้งอยู่นิ่งๆ ยิ่งสร้างสรรค์วิธีการลวงตาได้น่าสนใจ ก็ยิ่งว้าว 

(ซ้าย) กระบวนการ Mapping ภาพลงบนวัตถุ  (ขวา) Resolume Arena ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในงาน Projection Mapping
(ซ้าย) กระบวนการ Mapping ภาพลงบนวัตถุ  (ขวา) Resolume Arena ซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้ในงาน Projection Mapping

Q: เอ๋ ? ก็ดูไม่ต่างกับฉายภาพปกติเยอะนี่ ทำไมราคาต่างกันเยอะจังเลยคะ

คุณ . / ฝ่ายจัดซื้อ บริษัทเครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง

A : อ๋า คืองี้ครับ กระบวนการฉายภาพของ Projection Mapping ซับซ้อนกว่าการฉายภาพ (Projection) ธรรมดาอย่างการฉายภาพยนตร์นะครับ ตรงที่เราต้องกำหนดขอบเขตของภาพที่จะฉายลงไปบนระนาบของวัตถุให้ดูสมจริง ราวกับเป็นพื้นผิวของวัตถุนั้น หากวัตถุเป็นทรงกลมก็ต้องปรับภาพที่ฉายให้โค้งกลมตามวัตถุ หากฉายลงบนระนาบเอียงๆ ก็ต้องปรับให้ภาพดูเอียงตาม ซึ่งกระบวนการต้องใช้ทักษะทั้งทางซอฟแวร์เฉพาะ อย่างเช่น  madMapper, Resolume Arena ฯลฯ หรืออาจต้องมีกระบวนการอย่างการสร้างวัตถุสามมิติที่เหมือนกับวัตถุที่จะฉายแบบเป๊ะๆ ขึ้นมาในคอมพิวเตอร์ก่อน เพื่อทำให้ภาพที่ฉายไปสมบูรณ์ที่สุด  ยิ่งฉายลงบนวัตถุที่ซับซ้อนมาก ระยะเวลาการทำก็มากตาม และค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นด้วย

กระบวนการ Projection Mapping ไม่ได้ทำได้กับแค่วัตถุเล็กๆ อย่างลูกบาศก์และทรงกลมนี้นะครับ แต่สามารถทำได้กับวัตถุขนาดใหญ่มหึมาที่มีรูปทรงและระนาบที่ซับซ้อน อย่างสถาปัตยกรรมภายในโบสถ์ Notre-Dame Basilica แห่งนี้

YouTube video

Moment Factory – AURA

Q: หนูเคยไปดูงาน Projection Mapping งานนึงที่ต่างประเทศ ประทับใจมากเลยค่ะพี่ แต่ทำไมพองานเดียวกันยกมาจัดที่ไทย ถึงไม่ว้าวอย่างที่เคยดู ดูแล้วเฟลนิดนึง เลยอยากรู้ค่ะ ว่าองค์ประกอบอะไรบ้าง ที่ทำให้งาน Projection Mapping ดีหรือไม่ดี

น้อง . / นักศึกษา ผู้หลงใหลงานศิลปะ

A : ก่อนอื่นต้องบอกว่า งาน Projection Mapping ที่ดีเนี่ย เกิดขึ้นจากสองส่วนประกอบกันครับน้อง .

ส่วนแรกคือเรื่องของเนื้อหาและการออกแบบ ทีมงานในส่วนนี้หลักๆ ประกอบด้วย ครีเอทีฟ ผู้คิดริเริ่มสร้างสรรค์ไอเดียของงาน Projection Mapping, สถาปนิกหรือนักออกแบบ ผู้ออกแบบพื้นที่หรือวัตถุที่ Projection Mapping จะฉายลงไป อาจจะเป็นสิ่งของ ฉากบนเวที หรือห้องสักห้อง และนักออกแบบภาพเคลื่อนไหว ผู้ผลิตภาพเคลื่อนไหวที่ใช้ฉาย หากเรามีงบประมาณ ระยะเวลาการทำงาน และทีมงานที่มีคุณภาพมากพอ สร้างสรรค์ในส่วนเนื้อหาและการออกแบบให้ออกมาดีได้ งานของเราก็ถือว่านำไปครึ่งทางแล้วครับ

(ซ้าย) Projection Mapping ในงานที่ละเอียดซับซ้อนมาก สถาปนิกมักปั้นโมเดล 3 มิติเสมือนจริงของพื้นที่ที่ถูกฉายขึ้นมาก่อน  (ขวา) นักออกแบบภาพเคลื่อนไหวจึงนำโมเดล 3 มิตินั้นไปออกแบบภาพเคลื่อนไหว เพื่อฉายลงไปในส่วนต่างๆ  
(ซ้าย) Projection Mapping ในงานที่ละเอียดซับซ้อนมาก สถาปนิกมักปั้นโมเดล 3 มิติเสมือนจริงของพื้นที่ที่ถูกฉายขึ้นมาก่อน 
(ขวา) นักออกแบบภาพเคลื่อนไหวจึงนำโมเดล 3 มิตินั้นไปออกแบบภาพเคลื่อนไหว เพื่อฉายลงไปในส่วนต่างๆ  
https://momentfactory.com/work/all/all/aura

แต่งานจะถึงเส้นชัยและออกมาดีจริงๆ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับส่วนที่สองด้วยครับ คือเรื่องของ การก่อสร้างและอุปกรณ์ที่ใช้

ในส่วนนี้ประกอบด้วย ทีมงานก่อสร้าง สำหรับเนรมิตพื้นที่หรือวัตถุที่จะถูกฉายขึ้นมา, ทีมเทคนิค (Technician) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สำหรับติดตั้งเครื่องโปรเจ็กเตอร์ เชื่อมต่อระบบสายสัญญาณต่างๆ และบางครั้งเป็นคนทำกระบวนการ Mapping ภาพเคลื่อนไหวลงไปในส่วนต่าง ด้วย และสุดท้ายคือ อุปกรณ์ ครับ ซึ่งในที่นี้ก็เครื่องโปรเจ็กเตอร์ แม้ดูเผินๆ หน้าตาของเครื่องอาจจะดูคล้ายกัน แต่เครื่องโปรเจ็กเตอร์แต่ละรุ่น แต่ละราคา มีคุณสมบัติต่างกันครับ

ความแตกต่างหลักๆ คือเรื่องของ ความสว่าง และความละเอียดภาพของโปรเจ็กเตอร์  ความสว่างของโปรเจ็กเตอร์ เค้าวัดกันด้วยหน่วยชื่อแปลกๆ ว่า ANSI Lumen ครับ ยิ่งโปรเจ็กเตอร์มีความสว่างสูง ราคาก็ยิ่งสูงตาม โปรเจ็กเตอร์ความสว่าง 800 ANSI Lumens อาจจะสว่างเพียงพอสำหรับฉายเนื้อหาบทเรียนในห้องเลคเชอร์ แต่อาจสว่างไม่พอสำหรับนำมาฉายภาพบนผนังตึกริมถนนที่มีแสงไฟส่องสว่าง งาน Projection Mapping บนผนังอาคาร Opera House นี้ อาจต้องใช้โปรเจ็กเตอร์ที่สว่างมากกว่า 20,000 ANSI Lumens เลยทีเดียว

Opera House Facade Projection Mapping

เรื่องของความละเอียดของภาพก็มีผลกับความว้าวเช่นกัน เหมือนดูหนังผ่านจอคมชัดในโรง กับดูผ่านทีวีรุ่นเก่าที่ภาพแตกเป็นเม็ด ย่อมให้ความรู้สึกที่ต่างกัน 

โปรเจ็กเตอร์ที่ใช้ในงานประเภทนี้แบ่งความละเอียดออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่ WXGA (1280 x 800 พิกเซล) ไปจนถึง 4K (3840 x 2160 พิกเซล) ความแตกต่างระหว่างโปรเจ็กเตอร์และจอภาพก็คือ สำหรับโปรเจ็กเตอร์ เราสามารถขยายภาพที่ฉายจากโปรเจ็กเตอร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ด้วยการถอยให้ระยะห่างระหว่างโปรเจคเตอร์กับวัตถุรับภาพอยู่ไกลกันมากขึ้น แต่ตรงนี้ห้ามลืมว่า หากเราใช้โปรเจ็กเตอร์ที่มีความละเอียดต่ำไปฉายภาพในขนาดที่ใหญ่มาก เม็ดพิกเซลในภาพก็จะยิ่งถูกขยายให้เห็นชัดขึ้นด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความรู้สึกเหมือนดูดีวีดีเถื่อนภาพแตกๆ อรรถรสในการชมก็ลดน้อยลง เพราะฉะนั้นในงานที่มีขนาดใหญ่ จึงมักใช้โปรเจ็กเตอร์ที่มีความละเอียดสูง และใช้โปรเจ็กเตอร์หลายตัวฉายภาพประกอบกันครับ

ในตัวอย่างด้านล่างนี้ การฉายภาพลงไปบนผนังอาคารรัฐสภาในโรมาเนียที่กว้างกว่า 270 เมตร ต้องใช้โปรเจคเตอร์กว่า 104 ตัวเลยทีเดียว !

Installation Art Light on Architecture

https://panasonic.net/cns/projector/casestudies/048.html

Q: สรุปคือ ที่งานออกมาไม่ดี เพราะประเทศไทยเราไม่มีคนเก่งด้านนี้ แล้วก็ไม่มีอุปกรณ์สเปคโหดๆ ให้ใช้ใช่ปะพี่

น้อง . เพื่อนน้อง . / นักศึกษา ผู้หลงใหลงานศิลปะเหมือนกัน

A : โอ้ มีสิครับ หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าในประเทศไทยเรา มีทีมสร้างสรรค์ระดับคุณภาพทั้งในส่วนของเนื้อหาและการออกแบบ ทีมที่รักษาคุณภาพมายาวนาน และหลายคนน่าจะเห็นผลงานผ่านตาก็เช่น Kor.Bor.Vor : The Labour Party Of Visual Creation หรือ DuckUnit

ส่วนการก่อสร้างและอุปกรณ์ เราก็มีเจ้าที่ฝีมือพรั่งพร้อม และอุปกรณ์คุณภาพดี พร้อมเนรมิตงานในระดับเวิลด์คลาสได้ (ส่วนรายละเอียดว่ามีบริษัทไหนบ้าง และราคาค่าจ้าง / ค่าเช่า อยู่ที่เท่าไหร่ คงต้องทักมาถามกันหลังไมค์จะดีกว่า)

จากเคสงานที่น้อง ก. ยกมาถามเรา สาเหตุคงไม่ได้มาจากประเทศไทยขาดคุณภาพเรื่องคนและอุปกรณ์นะครับ แต่ปัญหาอาจมีสาเหตุมาจากผู้จัดมีงบประมาณไม่พอ ระยะเวลาการทำงานไม่มากพอสำหรับการสร้างงานให้ได้ตามมาตรฐาน หรืออาจเลือกทีมงานที่ไม่มีคุณภาพมาทำ ผลที่ออกมาอาจทำให้งานมีขนาดเล็กเกินไปจนทำให้หมดความทรงพลัง โปรเจ็กเตอร์สเปคไม่ถึง ทำให้สว่างน้อยหรือความละเอียดต่ำเกินไป จนทำให้ภาพเคลื่อนไหวสวยๆ แสดงแสนยานุภาพได้ไม่เต็มที่ หรือเก็บงานโครงสร้างไม่เนี้ยบ ฯลฯ

จากงานต้นทางที่ดี ว้าว และน่าประทับใจ จึงกลายเป็นงานที่เฟลไปอย่างน่าเสียดาย

Q: “เอาจริงๆ พี่เบื่องาน Projection Mapping ที่ฉายลงวัตถุหรือตึกแล้วอะ พี่อยากปรึกษาว่าเราจะทำยังไง ให้ Projection Mapping น่าสนใจขึ้นได้อีกบ้าง

พี่ . / ครีเอทีฟโฆษณาในเอเจนซี่ชั้นนำ

A : งาน Projection Mapping ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักคือ วัตถุที่ถูกฉาย ภาพเคลื่อนไหวที่ฉาย และบริบทชิ้นงานตั้งอยู่ ความน่าสนใจจะเกิดขึ้นได้จากการ ‘เล่นแร่แปรธาตุ’ องค์ประกอบทั้งสามนี้ ผมจะยก case study การเล่นแร่แปรธาตุที่น่าสนใจ เพื่อให้พี่ . เห็นภาพนะครับ ว่า Projection Mapping มันไปได้ถึงตรงไหน

การใช้ Projection Mapping ในบริบทของเวทีคอนเสิร์ตไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ แต่เมื่อทีมสร้างประสบการณ์เวทีคอนเสิร์ตระดับพระกาฬอย่าง DuckUnit นำเทคนิคนี้ไปใช้ในคอนเสิร์ตของ Blackhead ย่อมไม่ธรรมดา เพราะเมื่อวัตถุที่ถูกฉายเปลี่ยนจากฉากเวทีธรรมดาๆ กลายเป็นประติมากรรมรูปหัวคน ล้อกับชื่อ Blackhead นอกจากคนดูจะรู้สึกเหมือนมีใบหน้าขนาดยักษ์จ้องมองจากเวที โดยใบหน้านี้สามารถเปลี่ยนสี เปลี่ยนพื้นผิว เปลี่ยนอารมณ์ไปตามเพลงได้ ผ่านเทคนิค Projection Mapping แล้ว การออกแบบภาพเคลื่อนไหวที่ฉายยังใช้เทคนิคแฮนด์เมด โดยถ่ายวิดีโอจากโมเดลหัวคนแบบเดียวกันในขนาดย่อมกว่า น่าสนใจทั้งวัตถุที่ถูกฉาย และภาพเคลื่อนไหวที่ถูกฉายลงไป แถมยังเข้ากับบริบทคอนเสิร์ตสุดๆ

พี่ . อาจจะสงสัยว่า นอกจากวัตถุทึบๆ แข็งๆ อย่างเวทีคอนเสิร์ตแล้ว Projection Mapping สามารถฉายลงบนพื้นผิวประหลาดๆ ได้อีกมั้ย ผมอยากให้ชมงานที่ชื่อ TABEGAMI SAMA จากทีมสร้างประสบการณ์ระดับโลกที่ชื่อ Moment Factory งานนี้เขาใช้ Projection Mapping ฉายลงบนสิ่งที่คนเอเชียอย่างเราคุ้นเคยอย่างข้าวสาร ในนิทรรศการที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่น   

Installation Art Tabegami Sama
https://momentfactory.com/work/all/all/tabegami-sama

ในขณะที่ทีมระดับเวิร์ลคลาสอีกทีมอย่าง teamLab ทำ Projection Mapping ให้กินได้ โดยฉายภาพดอกไม้ลงในถ้วยชาเขียวที่คนสามารถยกดื่มได้จริง เจอแบบนี้ถึงชาจะรสชาติไม่ถูกปาก แต่เห็นภาพดอกไม้ในถ้วยเข้าไปก็คงอดรู้สึกอร่อยไม่ได้

YouTube video

teamLab – EN TEA HOUSE

Q: ก็ว้าวนะ แต่มีว้าวกว่านี้อีกปะ

พี่ . / โปรดิวเซอร์เอเจนซี่ชั้นนำ

A : มีแน่นอนครับพี่ ใช่ว่า Projection Mapping จะทำได้แต่วัตถุไม่มีชีวิตนะครับ สิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ก็กลายเป็นวัตถุฉายภาพได้เหมือนกัน งานชื่อ OMOTE ใช้เทคนิคนี้ฉายภาพลงบนใบหน้าคน ด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น นอกจากเทคนิคจะล้ำแล้ว การใช้ Projection Mapping ฉายลงบนใบหน้าเสมือนหน้ากากยังเป็นสัญลักษณ์ใช้เล่าเรื่องตัวตนได้อย่างดี

Nobumichi Asai – OMOTE

เคยเห็น Projection Mapping ฉายภาพเคลื่อนไหวมาเยอะแล้ว มาดู Projection Mapping ที่เครื่องฉายโปรเจ็กเตอร์เคลื่อนไหวเองดูบ้าง บนเวทีแฟชั่นโชว์ของ Rag & Bone โปรเจ็กเตอร์ติดกลไกให้สามารถหมุนรอบตัวเองแบบ 360 องศา ฉายภาพไปบนผนังได้รอบทิศทาง ราวอยู่ในโลก virtual world แถมลำแสงโปรเจ็กเตอร์ที่กวาดรอบทิศ ยังทำให้โชว์นี้น่าตื่นเต้นขึ้นไปอีก

Rag & Bone Spring/Summer 2017 Fashion Show

Projection Mapping ทำให้วัตถุไม่มีชีวิต มีชีวิตด้วยภาพเคลื่อนไหว แต่จะเป็นอย่างไร หากภาพเคลื่อนไหวที่ถูกฉาย สามารถตอบโต้กับเราได้เหมือนมีชีวิตไปด้วย ในงานของ teamLab คนดูสามารถเล่นกับภาพฉาย เช่น เมื่อเราเอามือไปสัมผัสภาพของสายน้ำ สายน้ำก็สามารถโต้ตอบด้วยการไหลเปลี่ยนทิศทางได้

YouTube video

teamLab: Transcending Boundaries

Q: โห คูล งี้เคยมีคนเอา Projection Mapping ไปใช้อย่างอื่นนอกจากงานศิลปะกับโฆษณามั้ยอะพี่ นึกไม่ออกเลย

น้อง . / นักศึกษาฝึกงาน

A : จริงๆ แล้ว Projection Mapping ยังสามารถนำไปใช้ในจุดประสงค์อื่นได้ด้วย เช่น จุดประสงค์ทางการเมือง เราเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ Projection Mapping ที่ใช้ในการประท้วงในบทความ จับได้ให้โล่ ด้วยขบวนประท้วงโฮโลแกรม’  และ ​Projection Mapping ที่ใช้ในจุดประสงค์ทางศาสนา ในบทความ ภิกษุ ดนตรี มัลติมีเดีย : เมื่อพุทธธรรมเข้าถึงได้ด้วยงานออกแบบ น้อง . ลองไปอ่านดู

Q: อ่า เดี๊ยนถามตรงๆ นะ.. อีก 5 ปีมันจะเชยมั้ย Projection Mapping ที่เราใช้เนี่ย

คุณ . / เจ้าของธุรกิจที่มีไอเดียอยากทำพิพิธภัณฑ์มัลติมีเดีย

A : อืม คำถามนี้น่าสนใจนะครับ ถ้ามองที่ตัวอุปกรณ์ อย่างเครื่องโปรเจ็กเตอร์ ก็คงต้องยอมรับว่า วันหนึ่ง อุปกรณ์ในวันนี้จะตกรุ่น และกลายเป็นของเชยไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับทุกเทคโนโลยีบนโลก โทรศัพท์มือถือ Nokia 3310 จอขาวดำที่เคยเป็นของใหม่เมื่อ 20 ปีก่อน ก็กลายเป็นรุ่นสุดเชยในวันนี้ที่เรามีสมาร์ทโฟน

แต่ในขณะที่ความเชยไล่ตามหลัง เทคโนโลยีใหม่ก็กำลังพัฒนารอเราอยู่ข้างหน้า

ในวันนี้เทคโนโลยีทำให้โปรเจ็กเตอร์เราได้ภาพฉายคุณภาพสูงในเครื่องที่เล็กลงเรื่อยๆ บางเครื่องเล็กและใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ จนสามารถนำไปติดตั้งบนโดรนเพื่อฉายภาพ พร้อมเคลื่อนที่ไปในอากาศได้อย่างอิสระ มีโปรเจ็กเตอร์ที่เราสามารถสวมใส่ไว้บนศีรษะ อย่าง Superception – Head Light ที่ฉายภาพไปตามทิศทางที่เราหันมองแบบ 360 องศา รวมไอเดียความจริงเสมือน (Virtual Reality)  ความจริงเสริม (Augmented reality) และการฉายภาพ Projection Mapping เข้าในอุปกรณ์เดียว

VR

HeadLight

ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลายปีก่อน มีข่าวรายงานถึงบริษัทสตาร์ทอัพในญี่ปุ่น ชื่อ iSpace Inc. ที่มีแผนจะฉายภาพลงบนดวงจันทร์เพื่อการโฆษณา !

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีการฉายภาพกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ดังนั้น Projection Mapping  เทคนิคที่ใช้เทคโนโลยีการฉายภาพเป็นเครื่องมือในอีก 5 ปีข้างหน้า คงมีการพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบ ในแบบที่เราไม่อาจจินตนาการได้ เช่นเดียวกับที่มนุษย์คนแรก ผู้คิดค้นเทคนิคนี้ในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ก็คงนึกไม่ถึงว่าเทคนิคง่ายๆ ของเขา จะถูกพัฒนาจนสามารถสร้างความเป็นไปได้ไม่รู้จบในวันนี้

จะล้ำ จะว้าว ได้อีกขนาดไหน ขอให้จับตาดูการเดินทางอันเรียบง่ายแต่มหัศจรรย์ของ ‘วัตถุ’ และ ‘ภาพฉาย’ ต่อไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save