fbpx
เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว ? เศรษฐศาสตร์ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ : สันติธาร เสถียรไทย

เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว ? เศรษฐศาสตร์ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ : สันติธาร เสถียรไทย

สมคิด พุทธศรี และ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ในยุคที่ข้อมูลมหาศาลไหลเวียนอยู่ในโลกดิจิทัล ผู้คนเปลี่ยนวิถีการบริโภคจากหน้ามือเป็นหลังมือ จนมีการพูดกันว่า หลายศาสตร์วิชาอาจหมดอายุไปแล้วหรือไม่ในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะกับวิชาเศรษฐศาสตร์ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ ที่ถูกตั้งคำถามว่า เศรษฐศาสตร์ตายแล้วหรือยัง ?

ทฤษฎีที่สอนกันมาเมื่อหลายร้อยปีก่อนอาจตกยุคไปแล้วหรือไม่ ในโลกที่อุตสาหกรรมอาจไม่ได้มีหน้าตาเป็นเครื่องจักร การจับจ่ายของผู้คนอยู่ที่ปลายนิ้ว และการค้าโลกเปลี่ยนโฉมหน้าไปเช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์เองจะสามารถปรับเปลี่ยน ‘ศาสตร์’ ของตัวเองให้ทันโลกหรือไม่

ในประเด็นนี้ เราชวน ดร. สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีรุ่นใหม่ Group Chief Economist แห่ง Sea Limited ยูนิคอร์น ซึ่งมีกิจการในเครืออย่าง AirPay, Shopee และ Garena

ดร. สันติธาร จบการศึกษาปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะ (Public Policy) และ ปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจ (Public Administration) จาก Harvard University รวมถึงยังจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะจาก London School of Economics and Political Science ทำให้มีเลนส์ที่หลากหลายในการมองวิชาเศรษฐศาสตร์

เขาใช้เศรษฐศาสตร์ประยุกต์เข้ากับโจทย์ใหม่ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งยังเป็นเจ้าของหนังสือ Futuration ที่ผสานเอาคำว่า Future + Generation ว่าด้วยเรื่องคนรุ่นใหม่กับโอกาสใหม่และความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล ดร. สันติธาร ยืนยันว่าเศรษฐศาสตร์ยังไม่ตาย แต่ภายใต้คำตอบยังมีรายละเอียดที่น่ารับฟัง

 

มีคนวิจารณ์ว่าเศรษฐศาสตร์ตายแล้ว หรือกำลังจะตาย คุณเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร

ผมคิดว่าเศรษฐศาสตร์ยังไม่ตายนะครับ แต่อาจจะต้องมีการผลัดใบ เป็นเรื่องปรกติของศาสตร์ต่างๆ เมื่อเราเห็นโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โจทย์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ก็จะทำให้เกิดคำถามว่า ศาสตร์ที่มีมานานแล้ว รวมถึงเศรษฐศาสตร์นั้น ยังสามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้ทันรึเปล่า

ในหลายศาสตร์ก็เจอความท้าทายนี้มาหลายครั้งแล้ว แล้วก็เป็นเรื่องจำเป็น ถ้าวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่เจอความท้าทายอย่างนี้เลย ก็จะไม่มีการวิวัฒนาการและพัฒนาปรับให้ทันโลก ซึ่งเคยผ่านมาหลายรอบแล้ว รอบนี้ก็น่าจะผ่านไปได้

 

ความท้าทายของเศรษฐศาสตร์ในโลกใหม่คืออะไร และเศรษฐศาสตร์ต้องปรับตัวอย่างไร

เวลาพูดถึงความท้าทายของเศรษฐศาสตร์ ผมคิดว่าต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน

หนึ่ง คือเรื่องของตัวศาสตร์ หรือตัววิชา ในโลกที่เทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว วิธีคิดของเศรษฐศาสตร์อาจจะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะยิ่งโลกซับซ้อนเท่าไหร่ ความไม่แน่นอนสูงเท่าไหร่ เรายิ่งต้องการหลักคิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐศาสตร์เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ในประวัติศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์รอดพ้นจากความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการหยิบยืมแนวคิดของศาสตร์อื่นเข้ามา เช่น รัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ เป็นต้น ส่วนในตอนนี้เราก็เริ่มเห็นเทรนด์ใหม่ๆ เช่น การใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) จิตวิทยาพฤติกรรมและการทดลองเข้ามาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์

สอง ความท้าทายของนักเศรษฐศาสตร์ คำถามใหญ่ในเรื่องนี้คือ นักเศรษฐศาสตร์จะสูญพันธุ์รึเปล่า เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่คนทำงานในภาคเอกชนบางภาค เช่น ธนาคาร ถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้น มีคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า ในโลกที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เก่งขึ้นเรื่อยๆ นักเศรษฐศาสตร์ยังมีบทบาทและความสำคัญอยู่แค่ไหน และอะไรคือทักษะใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องมี

สาม ความท้าทายของการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ คือศาสตร์วิชาอาจจะไม่ได้ตกรุ่นก็ได้ แต่วิธีการเรียนการสอนอาจจะตกยุค เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องปรับอาจจะเป็นเรื่องของหลักสูตร หรือการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรม

ผมว่า โจทย์เรื่องนักเศรษฐศาสตร์ล้าสมัยมั้ยในยุคของ AI หรือวิธีการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ต้องเปลี่ยนตามยุคสมัย เป็นคำถามที่ท้าทายมากกว่าตัวคำถามว่า ตัวศาสตร์ได้ตายไปแล้วหรือยังด้วยซ้ำ

 

พรมแดนความรู้เศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ ปรับตัวไปในทิศทางไหน อะไรเป็นโจทย์ใหม่ ประเด็นใหม่ ในโลกเศรษฐกิจใหม่และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสนามที่คุณทำงานอยู่

ต้องขอออกตัวว่า ผมไม่ใช่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น ถ้าถามว่า พรมแดนความรู้เชิงวิชาการอยู่ตรงไหน ผมอาจจะไม่สามารถบอกได้ แต่ที่พอจะพูดได้คือ ปัจจุบันผมอยู่ในฐานะ Group Chief Economist ของบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นยูนิคอร์น

ในโลกเศรษฐกิจใหม่ มีโจทย์ท้าทายที่ใช้เศรษฐศาสตร์ในการวิเคราะห์มากมายเต็มไปหมด เช่น ปัจจุบันเราอยู่ในโลกของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น กูเกิ้ล ยูทูป เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ e-commerce อย่าง shopee แพลตฟอร์มเหล่านี้บางทีก็ไม่ได้ผลิตอะไรออกมาชัดเจน มีลักษณะเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตอยู่ด้วยกัน บางคนก็จะเข้าใจได้ยากว่า ทำไมบริษัท e-commerce ถึงมีการแข่งขันกันมากมายเข้มข้นเหลือเกิน ทำไมถึงให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตมากเหลือเกิน ทุ่มเงินลงทุนเพื่อให้แพลตฟอร์มใหญ่ขึ้น การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ของแพลตฟอร์มช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้มากขึ้น

แพลตฟอร์มก็เหมือนตลาด (market place) ลองนึกภาพตลาดจตุจักร ถ้าสามารถดึงผู้ขายจำนวนมากมาอยู่ในตลาดนั้นได้ ก็จะมีสินค้าที่หลากหลายมาก พอสินค้าหลากหลาย ตลาดหลากหลาย คนก็อยากเดิน เมื่อคนมาเดินมากๆ เข้า ร้านค้าอื่นๆ ก็อยากมาอยู่ในตลาดนี้อีก เพราะว่าได้ลูกค้า ในทางเศรษฐศาสตร์ เราวิเคราะห์ได้ว่าแพลตฟอร์มมีสิ่งที่เรียกว่า network effect นั่นคือ ยิ่งมีขนาดใหญ่ คนก็ยิ่งใช้เยอะ ยิ่งทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นไปอีก ดึงกันและกันไปเรื่อยๆ  ตลาดก็ยิ่งขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ในแง่นี้ การที่บริษัท e-commerce มีการแข่งขันกันสูงมากในช่วงปีแรกๆ และยอมทุ่มเงินเยอะ เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า การประหยัดขนาด (Increasing returns to scale) อยู่

พูดอีกแบบคือ สิ่งที่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่กำลังทำคือ การลงทุนเพื่อสร้างสร้างศักยภาพในการผลิตและความสามารถในการให้บริการที่ดีขึ้น เพราะการดึงร้านค้าและผู้บริโภคให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม จะได้ทั้งปริมาณการซื้อ (volume) และทั้งข้อมูล (data) ที่สามารถไปพัฒนาบริการต่อยอดต่างๆ ที่แพลตฟอร์มทำได้ ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ยุทธศาสตร์สร้าง scale ในธุรกิจที่มี network effect สูงแบบนี้มีเหตุผลค่อนข้างชัดเจน แต่ถ้ามองในมุมธุรกิจดั้งเดิมหรือมุมอื่น อาจจะไม่เห็นภาพใหญ่ของยุทธศาสตร์นี้

 

นอกจากโจทย์เรื่องแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นงานที่คุณทำอยู่ ยังมีโจทย์สนุกๆ หรือคำถามแหลมคมที่น่าสนใจอีกไหม

เราอยู่ในยุคที่ข้อมูลกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเปรียบเปรยว่าข้อมูลเหมือนน้ำมัน ถ้ารู้วิธี ‘ขุดเจาะ’ และ ‘กลั่น’ ได้ (เช่นด้วยการใช้เทคนิควิเคราะห์ข้อมูล แบบ Machine Learning) ก็สามารถหาเงินได้

แต่อันที่จริง มีโจทย์เกี่ยวกับข้อมูลที่น่าสนใจมากคือ เราตีมูลค่าข้อมูลอย่างไร เพราะในบางลักษณะคล้ายกับว่าเราย้อนกลับไปในยุคของการค้าต่างตอบแทน (barter trade system) ที่แต่ละคนเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันโดยตรง ในเศรษฐกิจใหม่ เราไม่ได้แลกเปลี่ยนด้วยเงินตราอย่างเดียว แต่เรายอมให้สิทธิ์บริษัทเข้ามาใช้ข้อมูลส่วนตัวแลกกับบริการบางอย่างที่เราอยากจะได้กลับมา

แต่ใน ‘ราคา’ เท่าไหร่ ประเด็นคือ เราไม่มีทางรู้เลยว่า ข้อมูลที่เราให้ไปกับบริการที่ได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ไม่ต้องพูดถึงว่าในแต่ละบริบท แต่ละประเทศ แต่ละห้วงเวลา การประเมินในเรื่องนี้อาจไม่เหมือนกันเลย

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Harvard  Business Review ทดลองถามว่า ผู้บริโภคแต่ละประเทศจะยอมจ่ายเงินเท่าไหร่ เพื่อที่จะให้มีความเป็นส่วนตัว (privacy) กล่าวคือ ไม่ยอมให้ข้อมูลของตัวเองถูกเอาไปใช้ ซึ่งปรากฏว่า แต่ละประเทศไม่เหมือนกันเลย ประเทศตะวันตกอย่างยุโรป อเมริกา ชัดเจนว่ายอมจ่ายเงินในราคาสูงเพื่อจะรักษาความเป็นส่วนตัว ในขณะที่ให้ความสำคัญกับบริการที่ได้รับจากออนไลน์รองลงมา ในขณะที่คนในประเทศกำลังพัฒนาให้น้ำหนักของความส่วนตัวน้อยกว่าและยอมให้ข้อมูลบางส่วนเพื่อแลกกับคุณภาพและการเข้าถึงบริการออนไลน์ต่างๆ ที่ดีกว่า

คำถามที่ตามมาคือ ระบบอภิบาล (governance) หรือการกำกับดูแล (regulation) ควรจะเป็นอย่างไร เราควรมีกติกากลางที่แต่ละประเทศยึดถือร่วมกัน หรือควรจะมีการออกแบบที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่มาก ซึ่งความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และนโยบายจะมีบทบาทอย่างสูงในการตอบโจทย์ลักษณะนี้

 

ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ มีโจทย์คลาสสิกที่เศรษฐศาสตร์เข้าไปมีบทบาทในการทำความเข้าใจบ้างไหม

โจทย์หนึ่งที่ผมสนใจตอนนี้คือ แพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ยังไง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก

เวลาพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เรามักจะคิดว่าน่าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง เพราะเทคโนโลยีมาป่วนทำให้คนตกงาน ในขณะที่ผลตอบแทนของทุนกลับเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีสามารถเอามาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีพลัง โดยเฉพาะการเสริมกำลังให้กลุ่มคนชายขอบ หรือคนที่เข้าเคยเข้าไม่ถึงโอกาส เช่น การนำ e-commerce มาใช้เติมพลังให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากมาย

ประเด็นที่คนอาจจะยังไม่คิดถึงก็คือ การใช้ e-commerce เพื่อลดความเสี่ยงของการทำธุรกิจ เพราะการเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะของคนรุ่นใหม่ มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เราอยากจะทำเวิร์กจริงรึเปล่า มีตลาดจริงรึเปล่า การที่ e-commerce ทำได้ง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงาน ทำให้เราสามารถทดลองไอเดียได้ง่าย อันที่จริงไม่ใช่แค่ดูว่าไอเดียเราไปได้ไหม ธุรกิจเราไปได้ไหม แต่มันไปถึงขั้นว่า เราชอบการเป็นผู้ประกอบการมั้ย พอทดลองเสร็จแล้ว ถ้าเราไม่ชอบ เราก็เลิก โดยยังอาจจะไม่ต้องออกจากงาน ก็ทำงานประจำต่อไป

นอกจากนี้มีคนจำนวนมากที่ปกติไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อย ใช้ e-commerce ในการหารายได้เสริม เช่น กลุ่มแม่บ้านที่ต้องออกจากงานมาดูแลลูกหลาน กลุ่มคนที่ไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกบ้านแบบฟูลไทม์ได้ เพราะมีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านต้องคอยดูแล หรือบางคนเป็นนักเรียนก็เรียนไป ทำไป

นอกจากนี้ เทคโนโลยียังเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยเขาถึงบริการเหล่านี้มาก่อนสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ กลุ่มคนที่ไม่เคยมีรายได้ เมื่อทำธุรกิจในแพลตฟอร์มก็เข้าถึงบริการทางการเงินโดยปริยาย ซึ่งในหลายๆ ที่ก็มีความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินจะปล่อยกู้เพื่อไปต่อยอดได้ เพราะธุรกรรมที่พวกเขาทำล้วนแปลงเป็นข้อมูลเครดิตได้ ซึ่งจะตอบโจทย์ต่อไปได้อีกยาวเลย

 

เวลาที่เศรษฐศาสตร์เข้าไปในโลกของเศรษฐกิจใหม่และเทคโนโลยี ความรู้เดิมของเศรษฐศาสตร์เพียงพอที่จะใช้ทำความเข้าใจโลกใหม่จริงหรือ เมื่อสักครู่คุณยกตัวอย่างเรื่องการวิเคราะห์แพลตฟอร์ม คนที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้างอาจตั้งคำถามว่า มันเรียบง่ายขนาดนี้เลยหรือ

ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่สะสมมา เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการทำความเข้าใจโลกของเทคโนโลยี แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เราจะเลือกใช้อย่างไร

ตั้งแต่เด็กผมเชื่อว่า คำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์นั้นเป็นเรื่องสูงสุดคืนสู่สามัญ คือยิ่งอธิบายได้เรียบง่ายเท่าไหร่ ยิ่งทรงพลังเท่านั้น หลักคิดและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ยังเป็นประโยชน์อยู่มาก เพียงแต่อย่าไปตกใจกลัวกับฟอร์มใหม่ๆ ของธุรกิจที่เราอาจจะไม่รู้จัก ถ้าถอดออกมาจริงๆ แล้วเราเข้าใจว่าตลาดเป็นยังไง สุดท้ายเราก็สามารถเอาเศรษฐศาสตร์มาใช้ได้

สิ่งสำคัญ (และยาก) คือการตั้งคำถามให้ถูกและเลือกโมเดลมาตอบโจทย์ให้แม่น

 

ในทางกลับกัน โลกใหม่มีส่วนช่วยสร้างความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไร

โลกใหม่เป็นสนามเด็กเล่นของนักเศรษฐศาสตร์เลย เพราะเดิมมีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อยู่มากมาย โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งบางอย่างไม่สามารถทำการทดลองได้ เพราะข้อมูลไม่เพียงพอ เพราะกว่าจะไปเก็บข้อมูลหรือทำแบบสำรวจก็ใช้ต้นทุนมาก แต่โลกที่ข้อมูลมากมายมหาศาล นักเศรษฐศาสตร์สามารถทดลองทฤษฎีต่างๆ หรือสมมติฐานที่มีอยู่อย่างมากมายได้เลย หรือไม่ก็สามารถพัฒนา ต่อยอด สร้างแนวคิดและทฤษฎีใหม่จากข้อมูลเลยก็ได้

 

เศรษฐศาสตร์ยังมีประโยชน์สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากอยู่หรือไม่ อย่างไร

ในสถานการณ์ที่ข้อมูลหายาก วิชาเศรษฐศาสตร์ยิ่งมีประโยชน์ เพราะเรายิ่งต้องมีสมมติฐานและหลักคิดเชิงทฤษฎีที่แม่นยำ ยิ่งในโลกธุรกิจ การตั้งคำถามที่ ‘ถูกต้อง’ ตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงและต้นทุนได้อย่างมหาศาล

การที่ในโลกใหม่มีข้อมูลเป็นจำนวนมากก็ทำให้เราถูกสปอยล์เหมือนกัน เผลอคิดไปว่าจะทำอะไรก็ต้องมีข้อมูลสมบูรณ์พร้อมถึงทำได้ ซึ่งไม่จำเป็นเสมอไป

 

คุณพูดถึงความท้าทายของนักเศรษฐศาสตร์ในโลกที่ AI เก่งขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้พัฒนาการของ AI ที่สามารถคิดแทนนักเศรษฐศาสตร์ได้ถึงขั้นไหนแล้ว

ปัญหาของ AI กับนักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้ต่างจากอาชีพอื่นนัก คือ งานบางแบบ AI สามารถแทนได้ดี แต่ก็มีงานที่ AI ไม่สารถแทนได้หรือได้ไม่ค่อยดี งานที่ AI สามารถแทนได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คืองานที่มีความเป็นมนุษย์สูง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) สูง และใช้ความเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทรต่อกัน (compassion) สูง

 

เวลาบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ต้องมีความเป็นมนุษย์ คนอาจจะคิดภาพไม่ออก

(ยิ้ม) นักเศรษฐศาสตร์แท้จริงแล้วต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก แต่ไม่ค่อยรู้ตัว แม้เศรษฐศาสตร์จะมีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้างและพยายามที่จะเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่การหยิบมาประยุกต์ใช้ว่าโมเดลไหนใช้เมื่อไหร่ ในบริบทอะไร เป็น ‘ศิลปะ’ และใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงมาก การประยุกต์ใช้นี้เป็นส่วนที่มีความเป็นมนุษย์มากเลย และหุ่นยนต์และ AI ยังแทนที่ไม่ได้ง่ายๆ

เช่น ทุกวันนี้ AI สามารถเขียนได้แล้วว่า GDP ออกมาเป็นเท่าไหร่ หรือสามารถคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ AI อย่างเดียวไม่สามารถตั้งคำถามที่ตรงจุด เช่น เราอาจจะอยากรู้เรื่องความรู้สึกผู้คนด้วยว่า ตอนนี้พวกเขา ‘รู้สึก’ อย่างไรกับเศรษฐกิจ เดือดร้อน และคับข้องใจหรือไม่ ทำไมตัวเลข GDP ดีแต่คนรู้สึกเศรษฐกิจไม่ดี การตั้งคำถามประเด็นเหล่านี้ ยังเป็นโซนที่นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นมนุษย์ยังสามารถสร้างประโยชน์เสริมกันกับ AI ได้อย่างมาก และสำคัญเพราะอาจทำให้เรารู้ว่าวิธีวัดสภาวะเศรษฐกิจที่ใช้มาตลอดอาจมีข้อจำกัดมากขึ้นในยุคใหม่

พูดให้ถึงที่สุด นักเศรษฐศาสตร์จะยังคงมีบทบาทในการตั้งคำถามและสร้างโจทย์ใหม่ๆ ส่วน AI จะมาช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นักเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องมีทักษะอะไรใหม่ๆ บ้าง

Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมด้วย เคยเขียนหนังสือชื่อ One Economics, Many Recipes แปลว่า เศรษฐศาสตร์อาจจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์ของมันอยู่ แต่การหยิบเศรษฐศาสตร์มาใช้ ว่าจะใช้โมเดลไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นศิลปะ แล้วเป็นทักษะที่ต้องฝึก

เวลาที่คนบอกว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว’ อาจเป็นเพราะหลายคนที่หยิบเศรษฐศาสตร์มาใช้ อาจใช้ผิดโมเดล ใช้ผิดจังหวะ ตอบโจทย์ผิดอัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ควรจะมีมากๆ เลย คือ การพัฒนากล้ามเนื้อทักษะตรงนี้ ใช้มันกับหลายๆ ศาสตร์ หลายๆ บริบท หลายๆ โจทย์ เทคโนโลยีก็เป็นโจทย์นึง การเมืองก็อีกโจทย์นึง เกษตรก็อีกโจทย์นึง ยิ่งโลกเปลี่ยนไป ยิ่งเราเอามาใช้ในบริบทใหม่ๆ จะทำให้เครื่องมือแหลมคมยิ่งขึ้นไป

ถ้าถามว่าควรจะทำยังไง ข้อแนะนำดีที่สุดคือ นักเศรษฐศาสตร์ควรจะเจอกับคนที่มาจากหลากหลายแบ็คกราวน์ให้มากที่สุด ไม่ต้องกังวลว่า วิธีคิดอาจจะไม่เหมือนนักเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่ เพราะยิ่งแตกต่าง ยิ่งดี

 

การเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในไทยต้องปรับตัวยังไงบ้าง

ประเด็นสำคัญคือ ช่องว่างระหว่างวิชาการกับอุตสาหกรรมกำลังกว้างและถ่างขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้าหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ยังคงเน้นแต่ทฤษฎีกระแสหลักและการทำโมเดลต่างๆ โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับกับโจทย์ใหม่ๆ ในโลกเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้คนเรียนยิ่งรู้สึกถอยห่าง มีช่องว่างจากโลกความเป็นจริงและสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

อันที่จริง ไม่ใช่แค่วิชาเศรษฐศาสตร์เท่านั้น จริงๆ แล้วทุกศาสตร์ล้วนมีช่องว่างระหว่างวิชาการและอุตสาหกรรม ที่มักจะถ่างขึ้นในยุคที่อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีสะพานเชื่อมสองฝั่งระหว่างภาควิชาการและเอกชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญขึ้นยิ่งกว่าเดิม

 

ในโลกใหม่ข้อจำกัดของเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนไปหรือไม่

โดยมากสิ่งที่เราคิดว่าเป็นข้อจำกัดของวิชาเศรษฐศาสตร์อาจจะมาจากตัวนักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้นำศาสตร์มาใช้มากกว่า ไม่ได้มาจากตัววิชาสักเท่าไหร่ เช่น นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักหลายคนมักเชื่อสำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบเดียว แล้วนำความเชื่อนั้นไปวิเคราะห์ปัญหาทุกอย่าง โดยไม่ยอมรับแนวคิดอื่นหรือศาสตร์อื่นๆ มาใช้ประกอบ

ในโลกปั่นป่วน ถ้าเรายึดอยู่กับกรอบเดียว เฟรมเดียว จะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราวิเคราะห์อะไรผิดพลาดได้ง่ายมาก แต่นี่คือปัญหาเรื่อง ‘ทัศนคติของคน’ มากกว่าที่ตัวศาสตร์วิชา และอาจต้องถามต่อไปว่า mindset นี้ได้มาจากระบบวิธีการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันหรือไม่

 

 

ติดตามซีรีส์ “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว?” ทั้งหมดได้ที่ :

สำรวจโลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์กับ 4 นักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า ‘เศรษฐศาสตร์ตายแล้วจริงหรือ?’ (คลิปวิดีโอ)

บทสัมภาษณ์ ‘เศรษฐศาสตร์ในโลก Big Data : โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

บทสัมภาษณ์ ‘เศรษฐศาสตร์ในโลกที่ไร้ข้อจำกัด : ธานี ชัยวัฒน์

บทสัมภาษณ์ ‘โลกใหม่ของเศรษฐศาสตร์การเมืองและเศรษฐศาสตร์พัฒนา : ธร ปีติดล’ 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save