มรดกของพลเอกเปรม : การขยายมวลชนจัดตั้งของรัฐ

มรดกของพลเอกเปรม : การขยายมวลชนจัดตั้งของรัฐ

พวงทอง ภวัครพันธุ์ เรื่อง

shin egkantrong ภาพประกอบ

 

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ทิ้งมรดกหลายประการให้กับการเมืองไทย แต่บทความนี้จะกล่าวเฉพาะการขยายอำนาจทางการเมืองของกองทัพในช่วงปลายของสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผ่านกลไกการจัดตั้งมวลชนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

 

ปัญหาของความเข้าใจกระแสหลัก 2 ประการ

 

ประการแรก ความเข้าใจที่ว่าแปดปีภายใต้การนำของพลเอกเปรม ได้ช่วยนำพาประเทศเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการขวาจัด ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ และเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบเมื่อพลเอกเปรมยินดีลงจากอำนาจในปี 2531 พลเอกเปรมยังทำให้อำนาจทางการเมืองของทหารลดลง และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เป็นนโยบายที่ใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร ทำให้รัฐไทยเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) ได้ในที่สุด ความเข้าใจนี้ไม่ผิดทั้งหมด แต่ไม่ถูกทั้งหมดเช่นกัน

ประการที่สอง เวลาเอ่ยถึงบทบาทของ ‘มวลชนฝ่ายขวา’ หรือ ‘มวลชนจัดตั้งของรัฐ’ หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่นักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ความรุนแรงในครั้งนั้นไม่ได้เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่มีมวลชนนับพันร่วมมือด้วย ดังที่บทความ การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา: ใคร อย่างไร ทำไม โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ และธงชัย วินิจจะกูล[1] ได้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำให้ 6 ตุลา เป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากที่สุด คือพฤติกรรมอันโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา อันได้แก่การทำร้ายร่างที่ไร้ชีวิตของเหยื่อในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอ ทุบตี ทิ่มแทง ตอกอก เผา ฉี่รด เปลือยกายศพหญิงสาว ฯลฯ ที่สำคัญคือพฤติกรรมเหล่านี้เป็นฝีมือของประชาชนธรรมดาที่อยู่ในภาวะบ้าคลั่ง ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา การเคลื่อนไหวของมวลชนฝ่ายขวา ไม่ว่าจะเป็นลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ฯลฯ ​ค่อยๆ เลือนหายไป ส่วน 6 ตุลากลับมีสถานะเป็นประวัติศาสตร์อัปลักษณ์ที่ชนชั้นนำฝ่ายขวาต่างไม่กล้ารับสมอ้างว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย  บทบาทของ กอ.รมน. ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวา ก็จางหายไปเช่นกัน จนผู้คนต่างเข้าใจว่าพวกเขาคงละเลิกการจัดตั้งมวลชนกันไปแล้ว แต่ความเป็นจริงคือสิ่งที่ตรงกันข้าม พวกเขาไม่เคยละทิ้งแนวคิดจัดตั้งมวลชนเลย

 

จัดระเบียบองค์กรมวลชน

 

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้รวมรายชื่อมวลชนฝ่ายขวาที่เป็นที่รู้จักในช่วงปี 2518-2519 ได้แก่ ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ชมรมอาชีวะเสรี เพชรไทย ช้างดำ พิทักษ์ไทย สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย แนวรวมรักชาติ ประชาชนผู้รักชาติ แนวร่วมต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ สหพันธ์ครูอาชีวะ ค้างคาวไทย กล้วยไม้ไทย วิหคสายฟ้า สหภาพแรงงานเอกชน และชมรมแม่บ้าน[2] แต่รายชื่อเหล่านี้ยกเว้นกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน เป็นกลุ่มจัดตั้งแบบไม่เป็นทางการ อาจได้รับการสนับสนุนทางใดทางหนึ่งจากรัฐ แต่ไม่มีกฎหมายรับรอง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง พวกเขาก็สลายตัวไปในที่สุด

ในความเป็นจริง ยังมีกลุ่มเป็นทางการอีกหลายกลุ่มที่อยู่ในการดูแลของรัฐโดยตรง บันทึกของพลเอกสายหยุด เกิดผล ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการ กอ.รมน. ระบุว่ามีมากกว่า 20 กลุ่ม โดยในเอกสาร กอ.รมน. ระบุชื่อบางส่วนไว้ดังนี้ : อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ราษฎรรักษาความสงบและพัฒนาหมู่บ้าน ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ไทยอาสาป้องกันตนเอง ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มเสียงชาวบ้าน กลุ่มบางระจัน ชาวบ้านพิทักษ์ถิ่น ราษฎรสามัคคี ราษฎรอาสาสมัครป้องกันชายแดน  อาสาป้องกันอาชญากรรมและอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย และราษฎรอาสาสมัครป้องกันผู้ก่อการร้าย กลุ่มเหล่านี้กระจายอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของมหาดไทย กลาโหม กอ.รมน.ส่วนกลางและระดับจังหวัด

หลังจากรัฐบาลขวาจัดของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยคณะรัฐประหาร ‘คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน’ รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์  มีดำริให้จัดระบบองค์กรมวลชนของรัฐที่เติบโตราวดอกเห็ดเสียใหม่ เพราะซ้ำซ้อน มักแข่งขันแย่งชิงงบประมาณกันเอง สิ้นเปลืองงบ และไม่มีประสิทธิภาพ โดยในเดือนกันยายน 2521 รัฐบาลเกรียงศักดิ์ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย ‘ไทยอาสาป้องกันชาติ’ เป็นองค์กรใหม่ที่รวมสมาชิกของสารพัดกลุ่มข้างต้นไว้ด้วยกัน ยุบกลุ่มข้างต้นทิ้ง คงเหลือไว้แต่กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน และอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง การยุบรวมทำให้การควบคุม-สั่งการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรวจสอบเช็คยอดได้ง่ายขึ้น และการจัดสรรงบประมาณทำได้ดีขึ้น

ต่อมาในปี 2524 พลเอกเปรมได้ออกคำสั่งจัดตั้ง ‘กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ’ ให้อยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพบก ต่อมาย้ายไปอยู่ใต้ กอ.รมน. โดยมองว่าทหารกองหนุนส่วนใหญ่มีพื้นเพเป็นชาวนาชาวไร่ ซึ่งถือเป็นมวลชนพื้นฐานของ พคท. รัฐจึงควรเข้าไปมีบทบาทป้องกันไม่ให้มวลชนกลุ่มนี้ถูก พคท. แย่งชิงไปในอนาคต

คำสั่งทั้งสองข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าชนชั้นนำในขณะนั้นให้ความสำคัญกับการจัดตั้งมวลชน กระนั้นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525

คำสั่ง 66/2523 และ 65/2525

 

ในเดือนเมษายน 2523 ไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากพลเอกเปรมขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพลเอกเกรียงศักดิ์ เขาได้ออกคำสั่ง 66/2523 ว่าด้วย ‘นโยบายต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์’ และในปี 2525 ได้ออกคำสั่งที่ 65/2525 ว่าด้วย ‘แผนรุกทางการเมือง’ นโยบายทั้งสองมักถูกอธิบายว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เยี่ยมยอด ที่ทำให้รัฐไทยเอาชนะคอมมิวนิสต์ได้อย่างรวดเร็ว ความสำเร็จของนโยบายทั้งสองถูกอ้างอิงโดยกองทัพบ่อยครั้ง แม้แต่รัฐบาล คสช. ก็ยังอ้างถึง ด้านหนึ่งเพื่อย้ำเตือนว่าไทยรอดพ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ได้ก็เพราะแนวทางการเมืองของกองทัพ ในอีกด้านหนึ่งเพื่อย้ำว่าแม้ในปัจจุบันจะไม่มีภัยคอมมิวนิสต์แล้ว แต่ก็ยังมีภัยความมั่นคงในรูปแบบอื่นๆ อยู่ กองทัพซึ่งมีภาระหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ ยังคงมุ่งมั่นใช้แนวทางการเมืองแก้ปัญหาความมั่นคงภายในของชาติต่อไป

ปัญหาคือการย้ำความสำเร็จของคำสั่งทั้งสองอย่างเกินเลย ทำให้เรามองข้ามปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ของ พคท.​ กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่คำสั่ง 66/2523 ออกมานั้น เริ่มมีสัญญาณให้เห็นถึงปัญหาภายในของ พคท. แล้ว ซึ่งเป็นผลจากสองปัจจัยคือ

หนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างผู้นำ พคท. ที่โน้มเอียงไปในทางจีน กับนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าร่วมกับ พคท. หลัง 6 ตุลา ฝ่ายหลังเริ่มเดินทางออกจากป่าก่อนคำสั่ง 66/2523 จะประกาศออกมาด้วยซ้ำ แต่เมื่อมีคำสั่งนี้ออกมา ก็ทำให้การหลั่งไหลออกจากป่ารวดเร็วมากขึ้น เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเอาผิด

สอง จีนยุติความช่วยเหลือต่อ พคท. อันเป็นผลจากกรณีเวียดนามบุกกัมพูชาเพื่อโค่นล้มระบอบเขมรแดงในเดือนมกราคม 2522 ทำให้จีนเปลี่ยนมาทำความตกลงกับรัฐบาลไทยว่าตนยินดียุติการสนับสนุน พคท. แต่จะร่วมมือกับไทยและสหรัฐฯ ต่อต้านเวียดนามและโซเวียต ด้วยการสนับสนุนกองกำลังเขมรแดงและเขมรกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ให้สู้รบกับเวียดนาม ปัจจัยที่สองส่งผลให้ในเดือนกรกฎาคม 2522 จีนสั่งยุติการออกอากาศวิทยุ ‘เสียงประชาชน’ ของ พคท. ทันที

ยุทธศาสตร์ของจีนยังส่งผลต่อความสามารถในการรบของ พคท. โดย พคท. ต้องปิดเขตงานของตนเองในเวียดนามและลาว พลพรรค พคท. ต้องเดินทางออกจากสองประเทศในทันที เส้นทางยุทธปัจจัยจากจีนที่ผ่านลาวก็ถูกปิด เป็นต้น

สภาวะดังกล่าวส่งผลให้ในปี 2525 เพียงสองปีหลังคำสั่ง 66/2523 ถูกประกาศใช้ กองทัพสามารถยึดฐานที่มั่นสำคัญของ พคท. บนเขาค้อได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นยุทธภูมิที่ยากลำบากสำหรับกองทัพอย่างยิ่ง ฝ่ายรัฐสูญเสียกำลังทหารและตำรวจไปมากมายในพื้นที่ และพอถึงเดือนตุลาคม 2526 กอ.รมน. ได้รายงานว่ากองทัพสามารถทำลายฐานที่มั่นของ พคท. ทั้งหมดได้แล้ว จนประกาศชัยชนะเหนือ พคท. ในที่สุด

ชัยชนะอันรวดเร็วนี้เป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นได้หากไม่มีปัจจัยทั้งสองข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ามีรายงานของ กอ.รมน. หลายฉบับที่ชี้ว่าจนถึงปี 2520 กองทัพมีข้อจำกัดหรือถึงขั้นล้มเหลวในการใช้ ‘แนวทางการเมือง’ เพื่อเอาชนะจิตใจประชาชน อันเป็นหัวใจสำคัญของการก่อตั้ง กอ.รมน. ในปี 2508 (จะขอกล่าวถึงประเด็นนี้ในโอกาสต่อไป)

การกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อทำลายเครดิตของคำสั่ง 66/2523 เพราะผู้เขียนเห็นว่าคำสั่งนี้ก็มีคุณูปการอยู่ไม่น้อยเช่นกัน กล่าวคือ มันแสดงถึงความสามารถในการปรับตัวและประนีประนอมของชนชั้นนำอนุรักษนิยมไทยในขณะนั้น ที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาประชาชนกลับคืนสู่สังคมได้อย่างค่อนข้างราบรื่น เป็นนโยบายที่ออกมาอย่างเท่าทันสถานการณ์ กระนั้นก็ตาม การยกย่องจนเกินจริงทำให้เรามองข้ามนัยสำคัญของคำสั่งทั้งสองที่อุบัติขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐไทยเริ่มเห็นจุดจบของ พคทแล้ว ซึ่งผู้เขียนมองว่าผลในทางปฏิบัติที่แท้จริงของคำสั่งทั้งสองก็คือ การปูทางให้กับการขยายบทบาทของกองทัพในยุคหลังสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์มากกว่า

อนึ่ง คำสั่งทั้งสองมีสถานะเป็นนโยบายระดับชาติที่รัฐบาลพลเอกเปรมสั่งให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดพึงปฏิบัติตาม​ และให้อำนาจกับ กอ.รมน. ในฐานะผู้มีอำนาจประสานหน่วยงานรัฐและผลักดันนโยบายให้เกิดผล แม้ว่าในทางหลักการ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการโดยตำแหน่ง แต่ตำแหน่งบริหารอื่นๆ ใน กอ.รมน. ล้วนถูกครอบงำด้วยกองทัพบก การให้ กอ.รมน. มีอำนาจมากขึ้นจึงหมายถึงอำนาจของกองทัพบกโดยตรง

ทั้งนี้ เมื่ออ่านคำสั่งทั้งสองอย่างละเอียด จะพบว่ารัฐบาลพลเอกเปรมกำลังขยายวิธีการรับมือกับภัยความมั่นคงภายในออกไปอย่างกว้างขวาง คำสั่ง 66/2523 ระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในทางการเมือง และ ‘สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตย’ ซึ่งก็คือการจัดตั้งกลุ่มมวลชนต่างๆ ในนามของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

คำสั่ง 65/2525 ยังได้ขยายภารกิจการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ไปสู่ การต่อสู้กับภัย ‘เผด็จการทุกรูปแบบ’ ด้วย

รายละเอียดของการจัดตั้งมวลชนปรากฏอยู่ในหัวข้อยุทธศาสตร์ของคำสั่ง 65/2525 ซึ่งระบุว่าจะต้อง “สร้างองค์กรนำที่มีเอกภาพ โดยมีข้าราชการและประชาชนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นแกนนำ” “ต้องจัดให้มีการอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยแก่สื่อมวลชน” “ใช้องค์กรนำที่จัดตั้งขึ้นไปสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น” ฯลฯ

ทั้งนี้ ประชาธิปไตยในทัศนะของกองทัพนั้น ย่อมไม่ได้หมายถึงระบอบเสรีนิยมแบบตะวันตก แต่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยที่เน้นแนวคิดราชาชาตินิยม

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของคำสั่ง 65/2525 คือการระบุกลุ่มที่เป็นเป้าหมายการจัดตั้งของรัฐ ได้แก่ นักธุรกิจ ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวไร่ นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชน

แม้ว่าการจัดตั้งมวลชนโดยรัฐจะมีมาก่อนยุคพลเอกเปรม แต่ก็เป็นการจัดตั้งเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีคอมมิวนิสต์แทรกซึมอยู่ เพื่อให้ชาวบ้านเป็นทั้งตัวแทนการพัฒนา รักษาความปลอดภัย และเป็นหูเป็นตาให้กับรัฐ ส่วนมวลชนฝ่ายขวาในเมืองนั้นก็เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ขบวนการนักศึกษา มากกว่าจะเกิดจากนโยบายอย่างเป็นทางการ หากแต่คำสั่งของพลเอกเปรม ได้ขยายการจัดตั้งมวลชนไปสู่ประชาชนที่หลากหลายกลุ่มมากขึ้นทั้งในเมืองและต่างจังหวัดอย่างไม่เคยมีมาก่อน

จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อเปิดเข้าไปดูเว็บไซต์ของ กอ.รมน. ในปัจจุบัน[3] เราจะเห็นการจัดตั้งและอบรมมวลชนสารพัดกลุ่ม ทั้งที่เป็นมวลชนถาวร เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน ไทยอาสาป้องกันชาติ กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัย และกลุ่มชั่วคราวที่ไม่ถาวร เช่น กลุ่มนักธุรกิจเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ กลุ่มศาสนา กลุ่มบิ๊กไบค์ใจรักแผ่นดิน กิจกรรมอบรมนักเรียน นักศึกษา สื่อมวลชน โดยมุ่งสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ และให้พวกเขาคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อชาติ

นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา เมื่อสังคมไทยเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น กิจกรรมเหล่านี้ก็คึกคักตามไปด้วย พร้อมๆ กับอำนาจการควบคุมสังคมของกองทัพที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน และนี่คือแนวทางการเมืองนำการทหารของกองทัพที่ยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

 


 

อ้างอิง

[1] พวงทอง ภวัครพันธุ์ และธงชัย วินิจจะกูล. “การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา: ใคร อย่างไร ทำไม,” ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (ก.ค.-ธ.ค. 2561)

[2] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ.​ เหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้นได้อย่างไร.

[3] https://www.isoc.go.th/?page_id=112; //www.massisoc.isoc.go.th/

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save